Tuesday, 22 April 2025
แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต

‘นิด้าโพล’ ชี้ ปชช.ส่วนใหญ่หนุน ‘แจกเงินดิจิทัล’ ถ้วนหน้า แบบไม่อิงเงินเดือน-เงินฝาก พร้อมไม่จำกัดรัศมีในการใช้

(5 พ.ย.66) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น ‘นิด้าโพล’ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง ‘หลักเกณฑ์การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต’ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 2 พฤศจิกายน 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง

จากการสำรวจเมื่อถามประชาชนถึงหลักเกณฑ์การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 50.08 ระบุว่า จ่ายทุกกลุ่มโดยไม่ต้องมีเกณฑ์เงินเดือน หรือเงินฝากในบัญชีมาเป็นข้อจำกัด รองลงมา ร้อยละ 26.64 ระบุว่า จ่ายเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ร้อยละ 14.66 ระบุว่า ตัดสิทธิ์ผู้ที่มีรายได้เกินเดือนละ 50,000 บาท หรือมีเงินฝากในบัญชีตั้งแต่ 5 แสนบาท ร้อยละ 8.01 ระบุว่า ตัดสิทธิ์ผู้ที่มีรายได้/เงินเดือน เดือนละ 25,000 บาท หรือมีเงินฝากในบัญชีตั้งแต่ 1 แสนบาท และร้อยละ 0.61 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ด้านเกณฑ์พื้นที่/รัศมีการใช้จ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 69.85 ระบุว่า ควรใช้จ่ายในร้านค้าใดก็ได้ในประเทศไทย โดยไม่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่/รัศมีมากำหนด รองลงมา ร้อยละ 14.50 ระบุว่า ต้องใช้จ่ายในร้านค้าภายในจังหวัด (ตามทะเบียนบ้าน) ร้อยละ 13.59 ระบุว่า ต้องใช้จ่ายในร้านค้าภายในอำเภอ (ตามทะเบียนบ้าน) และร้อยละ 2.06 ระบุว่า ต้องใช้จ่ายในร้านค้ารัศมี 4 กิโลเมตร (ตามทะเบียนบ้าน)

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงระยะเวลาในการใช้จ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 62.60 ระบุว่า ต้องใช้จ่ายเงินภายใน 6 เดือน รองลงมา ร้อยละ 37.09 ระบุว่า ต้องใช้จ่ายเงินภายใน 1 ปี และร้อยละ 0.31 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

‘ซูเปอร์โพล’ ชี้ คนส่วนใหญ่ ยังเชื่อใจ-รอคอย ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ พร้อมหวังให้รัฐบาลเดินหน้านโยบายต่อ ไม่ต้องปรับปรุงอะไร

เมื่อวานนี้ (4 ก.พ. 67) สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เสนอผลการศึกษาเรื่อง ‘เงินดิจิทัลที่ประชาชนเชื่อมั่นและรอคอย’ จากกรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,120 ราย ระหว่างวันที่ 1-3 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พบว่า ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยคือรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท มีความเชื่อมั่นร้อยละ 71.3 และ กลุ่มผู้มีรายได้ระหว่าง 15,000-35,000 บาทต่อเดือน มีความเชื่อมั่นร้อยละ 71.6 ในขณะที่ กลุ่มรายได้เกิน 35,000 บาทขึ้นไป มีความเชื่อมั่นร้อยละ 57.5 ว่าการแจกเงินดิจิทัล ของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

เมื่อแบ่งออกตามภูมิภาคของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พบว่าในกลุ่มคนในภาคเหนือ มีความเชื่อมั่นสูงสุด คือร้อยละ 75.4 รองลงมา กลุ่มคนในภาคกลาง มีความเชื่อมั่นร้อยละ 74.2 กลุ่มคนในภาคอีสาน มีความเชื่อมั่นร้อยละ 73.6 กลุ่มคนกรุงเทพมหานคร มีความเชื่อมั่นร้อยละ 68.7 และกลุ่มคนในภาคใต้ มีความเชื่อมั่นร้อยละ 65.8 ตามลำดับ

ทั้งนี้ กลุ่มคนรุ่นใหม่ ทั้งกลุ่มคนอายุน้อย คือต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 54.1 และกลุ่มคนอายุระหว่าง 20-29 ปี ร้อยละ 47.2 ระบุ, กลุ่มคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 42.5 กลุ่มคนอายุ 40-49 ปี ร้อยละ 31.7 และกลุ่มคนอายุ 50-59 ปี ร้อยละ 26.7 ที่ระบุ ควรเดินหน้านโยบายแจกเงินดิจิทัลต่อไม่ต้องปรับปรุงอะไร เพราะรออยู่

นอกจากนี้ เมื่อแบ่งออกตามภูมิภาค พบว่ากลุ่มคนในภาคกลาง ร้อยละ 59.3 และกลุ่มคนในภาคใต้ ร้อยละ 43.9 ระบุ รออยู่ ควรเดินหน้าต่อไม่ต้องปรับปรุงอะไรเกี่ยวกับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ในขณะที่กลุ่มคนในภาคเหนือ ร้อยละ 36.8 และกลุ่มคนในกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 32.6 ระบุ รออยู่ควรเดินหน้าต่อไม่ต้องปรับปรุงอะไรเกี่ยวกับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top