Monday, 21 April 2025
แก้น้ำท่วม

'เพื่อไทย' ชี้!! รัฐต้องหยุดจัดการน้ำแบบสะเปะสะปะ แนะควรเพิ่มบทบาท ‘ศูนย์เตือนภัยแห่งชาติ’ ให้มากขึ้น

เพื่อไทย ชี้รัฐบาล อยู่มา 8 ปี ‘ยิ่งแก้ น้ำยิ่งท่วม’ แนะเพิ่มบทบาท ‘ศูนย์เตือนภัยแห่งชาติ’ เตือน ปชช.ให้มีประสิทธิภาพ - ว่าที่ส.ส.กทม. ส.ก.เพื่อไทย จับมือสำรวจท่อรอบกรุง เปิดทางรอระบายน้ำ

ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานด้านนโยบายปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการน้ำ พรรคเพื่อไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในปี 2565 ภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี บริหารประเทศมา 8 ปี ทำให้ประเทศตกอยู่ในสภาพ ‘ยิ่งแก้ น้ำยิ่งท่วม’ สาเหตุเป็นเพราะ 

1.) กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท เน้นสร้างถนนให้สูงขึ้น เพื่อหนีน้ำ ทำให้ถนนกลายเป็นเขื่อนกั้นน้ำ ป้องกันไม่ให้น้ำท่วมข้างล่าง แต่ด้านบนท่วมหมด เป็นการมองเพียงมิติวิศวกรรม ไม่ได้มองในเรื่องของการระบายน้ำ

2.) กรมโยธาธิการและผังเมือง เน้นทำกำแพงป้องกันตลิ่งจนเกิดปัญหา ‘ล้ำลำน้ำ’ ทำให้คลองมีความแคบลง การระบายน้ำทำได้ยากขึ้น ทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ท้ายน้ำ

3.) ฝ่ายทหารขยันขุดลอกคลอง เอาดินที่ขุดออกมาเสริมกั้นหรือแปะสองข้างตลิ่ง ทำให้ตลิ่งและคลองแคบลง การระบายน้ำจึงเป็นไปได้ยาก 

ดังนั้น รัฐบาลไม่ควรสร้างแหล่งน้ำและระบบชลประทานที่ไม่มีประสิทธิภาพ และต้องหยุดบริหารแบบ ‘สะเปะสะปะ’ เพราะจะทำให้เกิดสถานการณ์ ‘เดี๋ยวท่วมเดี๋ยวแล้ง’ ควรบริหารแต่ละลุ่มน้ำให้ดีก่อน และผันน้ำอย่างเป็นระบบ ขอให้ระมัดระวัง ‘น้ำฟ้า’ มากกว่า’ น้ำท่า’  เป็นหลัก เวลานี้สภาพอากาศแปรปรวนมาก ยากต่อการคาดคะเน จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ประเทศไทยจะเสี่ยงวิกฤต ซึ่งการรับมือและการจัดการกับสถานการณ์ไม่ปกติแบบนี้ จะคิดแบบเดิมไม่ได้ เตือนไทยเตรียมรับมือสถานการณ์ขั้นเลวร้ายที่สุด เช่น ระเบิดฝน (Rain Bomb) แบบที่ขึ้นแล้วในเกาหลีและปากีสถาน สามารถเกิดในไทยได้ 

ดร.ปลอดประสพ กล่าวอีกว่า ขณะที่การรายงานและเตือนภัยของรัฐบาล ควรปรับปรุงอย่างเร่งด่วน เพราะที่ผ่านมาทำแบบ ‘ต่างคนต่างพูด’ การรายงานและการเตือนภัยเป็นไปคนละทิศคนละทาง กรมอุตุวิทยา พูดเรื่องอากาศ และน้ำฝน, กรมชลประทาน พูดเรื่องน้ำท่า, สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA พูดเรื่องภาพถ่ายทางอากาศ ทำให้ประชาชนเอาภาพมาต่อกันไม่ได้ 

ดังนั้น รัฐบาลมีความจำเป็นต้องเพิ่มบทบาทการรายงานและเตือนภัยให้กับ ‘ศูนย์เตือนภัยแห่งชาติ’ เพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนอย่างรอบด้าน หน่วยงานนี้ตนเองเป็นผู้ก่อตั้ง เพื่อทำหน้าที่สื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ และจัดการมหาวิกฤต 2554 มาแล้ว  เสียดายที่หน่วยงานนี้ปัจจุบันไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร

‘นพ.วรรณรัตน์’ แนะ!! รัฐบาลจัดทำแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำ แก้ปัญหาน้ำท่วม-แล้งระยะยาว ช่วยเกษตรกรมีน้ำใช้ตลอดปี

(5 ต.ค. 66) นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติพัฒนากล้า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมอภิปรายในญัตติการพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ โดยระบุว่า ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหลายปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อโลกยิ่งร้อนขึ้น การเปลี่ยนแปลงของระบบภูมิอากาศ ก็ยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย และส่งผลกระทบไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก ก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา เช่น การเกิดคลื่นความร้อนที่รุนแรง ฝนตกหนักจนน้ำท่วม พายุหมุนที่รุนแรง ภาวะความแห้งแล้ง เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้ ก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายอย่างมหาศาล ต่อมวลมนุษยชาติ อย่างที่ชาวโลกกำลังประสบอยู่ในเวลานี้

ผู้จัดการธนาคารโลก ประจำประเทศไทย ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีความเสี่ยงด้านอุทกภัยสูง เป็นอันดับที่ 9 ของโลก รองจาก เวียดนาม เมียนมา และกัมพูชา ซึ่งการเกิดอุทกภัยในปี 2554 ที่ผ่านมา นับว่าเป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของไทย นอกจากจะทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 680 ราย และส่งผลกระทบต่อประชากรเกือบ 13 ล้านคนแล้ว ยังสร้างความเสียหาย และเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศคิดเป็นมูลค่าสูงถึงประมาณ 1.4 3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 12.6% ของ GDP หรือประมาณ 40% งบประมาณแผ่นดิน ดังนั้นต้องมีกรอบการทำงานที่เข้มแข็งกว่าเดิม เพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ

เราจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องจัดทำแผนแม่บท เพื่อการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ทั้งการวางแผนระยะสั้นและระยะยาว ในทุกลุ่มน้ำที่สำคัญของประเทศ ทั้ง 25 ลุ่มน้ำ นับตั้งแต่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นต้นไป 

"ไม่ว่าจะต้องใช้เงินงบประมาณ มากน้อยเพียงใด เราก็จำเป็นต้องทำเพราะหากเรามัวแต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าในระยะสั้นเพียงอย่างเดียวแล้ว เราก็จะไม่มีวันที่จะแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่านี้ได้อย่างถาวร"

เมื่อเปรียบเทียบการลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศของภาคอุตสาหกรรมด้านการค้าการลงทุน ที่มีการก่อสร้างทั้งถนนมอเตอร์เวย์, ระบบรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ซึ่งต้องใช้งบประมาณแผ่นดินหลายล้านล้านบาท เราก็ยังกล้าลงทุน แต่เรายังไม่เคยลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตรกรรมกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของน้ำ

ทั้งนี้ การแก้ปัญหาอุทกภัยและปัญหาภัยแล้ง นอกจากจะเป็นการแก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดจากน้ำท่วมขังแล้ว ยังจำเป็นที่จะต้องสร้างระบบเก็บกักน้ำหรือแก้มลิง และระบบชลประทานเพื่อการเกษตร ตลอดจนการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบพร้อมกันไปด้วย เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินจากปัญหาอุทกภัย มีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี และมีน้ำเพื่อการเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมอย่างพอเพียงและยั่งยืน

“ถ้าเรามีน้ำเพื่อการเกษตรกรรมอย่างพอเพียงแล้ว เกษตรกรก็สามารถที่จะทำนาทำไร่ และประกอบอาชีพเกษตรกรรมอื่น ๆ ได้ตามปกติ สามารถสร้างผลิตผลทางการเกษตรออกมาได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และถ้าสามารถนำไปขายได้ในราคาที่เป็นธรรมแล้ว เชื่อมั่นว่าปัญหาหนี้สิน และปัญหาความยากจนของเกษตรกรก็จะหมดสิ้นไป หรือพูดง่าย ๆ ว่าถ้าเราแก้ปัญหาเรื่องน้ำได้ เราก็จะสามารถแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกรได้ จึงขอฝากรัฐบาลพิจารณาดำเนินการ จัดทำแผนแม่บท เพื่อการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ที่เกิดขึ้นซ้ำซากให้หมดไป รวมทั้งการพัฒนาระบบชลประทาน และแหล่งเก็บกักน้ำให้พอเพียงกับความต้องการทางด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม และเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนทั่วทั้งประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป”

'กาฬสินธุ์' นายกลุยแก้น้ำท่วม-น้ำแล้ง พนังกั้นน้ำชีทรุดตัวในพื้นที่กาฬสินธุ์

'เศรษฐา ทวีสิน' นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ลุยแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และป้องกันปัญหาพนังกั้นแม่น้ำชีทรุดตัวในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์

วันที่ 2 มีนาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมคณะลงพื้นที่ตรวจราชการในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ โดยในช่วงเช้าเวลา 10.45 น.เข้าติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ที่สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้ากุดแคน ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ โดยมีนางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม นายสนั่น พงษ์อักษร ผวจ.กาฬสินธุ์ นายวิรัช พิมพะนิตย์ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 1 นายพลากร พิมพะนิตย์ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 2 นายทินพล ศรีธเรศ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 5 นายประเสริฐ บุญเรือง ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 6 นายชูชาติ รักจิตร อธิการบดีกรมชลประทาน นางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล นายกอบจ.กาฬสินธุ์ นายเดช เล็กวิชัย รองอธิการบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยส.ส.ภาคอีสาน ส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นายอำเภอ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ผู้นำหมู่บ้าน และประชาชนรายงานสภาพปัญหาและให้การต้อนรับ

โดยนายกรัฐมนตรีได้เข้ารับฟังบรรยายสรุปการนำเสนอโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งจากกรมชลประทานก่อนจะเดินพบปะประชาชนที่มาให้การต้อนรับ

ทั้งนี้จากสภาพปัญหาอุทกภัยบริเวณพื้นที่เพาะปลูกโดยรอบกุดวังซอ, กุดกว้างน้อย,กุดกว้างใหญ่ และกุดแคน (กุดขวาง) ซึ่งเป็นพื้นที่ชลประทานของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวนั้น เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี บริเวณสองฝั่งลำห้วยเกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากกว่า 20,000 ไร่ สาเหตุมาจากระดับน้ำในลำน้ำชีมีระดับสูง ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำพื้นที่ด้านในออกลงสู่แม่น้ำชีได้ 

ดังนั้นทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จ.กาฬสินธุ์ จึงได้เสนอโครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย บริเวณพื้นที่ บ.แจ้งจม ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ให้สำนักชลประทานที่ 6 พิจารณาศึกษาโครงการ และเห็นว่ามีความเหมาะสมที่จะดำเนินการก่อสร้างสถานีสูบน้ำถาวร เพื่อสูบน้ำออกจากพื้นที่ชลประทานไม่ให้น้ำท่วมพื้นที่ในฤดูน้ำหลากเมื่อปีพ.ศ. 2552 ทำการก่อสร้างปี 2563 และก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2565 ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับสามารถช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วม และป้องกันอุทกภัยในพื้นที่ประมาณ 20,000 ไร่

อย่างไรก็ตามปัจจุบันเกิดปัญหาแหล่งน้ำมีสภาพตื้นเขิน และมีวัชพืชปกคลุมจำนวนมาก ทำให้น้ำไหลเข้าไม่สะดวก และไม่สามารถระบายน้ำได้ทันในช่วงหน้าฝน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งเรื่องดังกล่าวประชาชน และผู้นำหมู่บ้านได้ร้องขอเข้ามายังหน่วยงานของกรมชลทาน และ นายทินพล ศรีธเรศ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 5 นำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมสภาฯ เพื่อให้ช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน และติดตามการแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการขอรับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการขุดลอกแก้มลิงกุดกว้างน้อย งบประมาณ 24 ล้านบาท แก้มลิงกุดกว้างใหญ่ พร้อมก่อสร้างอาคารประกอบ งบประมาณ 61 ล้านบาท และกำจัดวัชพืชในกุดแคนโดยเครื่องจักร งบประมาณ 5 ล้านบาท เพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งให้กับประชาชน และระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงฤดูฝน 

จากนั้นเวลา 11.30 น.นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะเดินทางไปติดตามการแก้ไขปัญหาพนังกั้นลำน้ำชีทรุดตัว ที่บริเวณพนังกั้นลำน้ำชีชั่วคราวกม.ที่ 2 บ้านโนนแดง ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ โดยมีนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม นายพลากร พิมพะนิตย์ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 2 พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรมทางหลวงชนบท และประชาชนในพื้นที่รายงานสภาพปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดจากพนังกั้นน้ำชีทรุดตัวทำให้ปริมาณน้ำเอ่อเข้าท่วมบ้านเรือน และพื้นที่การเกษตรของประชาชนทุกปี โดยเฉพาะในปี 2565  ส่งผลให้เกิดความเสียหายเป็นบริเวณกว้างพื้นที่เกษตรกรเสียหายหลายหมื่นไร่ และมีบ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบหลายพันหลังคาเรือน ซึ่งทำให้พี่น้องประชาชนเกิดความวิตกกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำขึ้นอีก จึงทำให้นายพลากร พิมพะนิตย์ หรือ ส.ส.บอล เขต 2 นำเรื่องปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าวเข้าหารือในประชุมสภาฯ เพื่อแก้ไขปัญหา ก่อนที่นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับพี่น้องประชาชนชาวกาฬสินธุ์ และพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ และลงพื้นที่มารับปัญหา และกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาให้กับประชาชน

โดยในวันนี้ได้เสนอโครงการแก้ไขปัญหาคันทางพังทลายและป้องกันน้ำท่วม  ซึ่งเป็นการก่อสร้างพนัง เพื่อป้องกันคันทาง หรือพนังแม่น้ำชีพังทลายจากกระแสน้ำชีกัดเซาะคันทางความยาว 425 เมตร งบประมาณกว่า 51 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาอุทกภัยป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ อ.กมลาไสย และอ.ฆ้องชัย ป้องกันความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตรกว่า 100,000 ไร่ และระบบสาธารณูปโภคบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่

ทั้งนี้ภายหลังจากนายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่และรับฟังปัญหาทั้ง 2 จุด โดยนายกฯระบุว่าวันนี้มาดูการขุดลอกการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และการก่อสร้างพนัง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี 

อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเสร็จสิ้นภารกิจในช่วงเช้า นายกรัฐมนตรีได้รับประทานอาหารที่ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ และในช่วงบ่ายเวลา 13.15 น.มีกำหนดการลงพื้นที่บึงอร่าม อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เพื่อหารือการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแลนด์มาร์ค และจุดแวะพักของ จ.กาฬสินธุ์ และ เวลา 14.15 น.เดินทางไปประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือประเด็นปัญหาและแผนพัฒนา จ.กาฬสินธุ์ ที่ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ และในช่วงเวลา 15.45 น.จะลงพื้นที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยส้มป่อย ต.นาขาม อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ เพื่อหารือประเด็นการบริหารจัดการน้ำ เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ และใช้สำหรับการอุปโภค บริโภคให้กับประชาชน

'นายกฯ' ประชุมวอร์รูมใหญ่แก้น้ำท่วม จ่อลงพื้นที่เชียงรายพรุ่งนี้ ย้ำข้าราชการไม่ต้องมาต้อนรับ ให้หน้างานอยู่กับประชาชนเป็นหลัก สั่งการดูแลอพยพประชาชน-สัตว์เลี้ยง พร้อมวอนผู้ประสบภัยออกจากพื้นที่เสี่ยง หลังจากนี้เรื่องการเยียวยารัฐบาลจะขอรับไว้เอง

(12 ก.ย.67) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและจังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม , นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม , นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคม , นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย , นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม , นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข , นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ , นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยทีมราชการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม 

จากนั้น นายกรัฐมนตรี รับฟังรายงานสถานการณ์ และ การช่วยเหลือที่กำลังดำเนินการ จาก กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ส่วนหน้า) จ.เชียงราย , ปลัดกระทรวงมหาดไทย , ผู้บัญชาการทหารสูงสุด , ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย และ เชียงใหม่ , กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย , กรมชลประทาน , กองทัพบก , กรมทรัพยากรธรณี , กรมอุตุนิยมวิทยา , GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและ ภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

ช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการว่า ตามที่ได้รับรายงานสถานการณ์ และการช่วยเหลือของส่วนราชการในพื้นที่เบื้องต้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเข้าถึงพี่น้องประชาชนโดยเร็วที่สุด ขอให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ดังนี้

1. กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดูแลเรื่องการอพยพประชาชน และสัตว์เลี้ยงให้มีความปลอดภัย ตลอดจนสนับสนุนด้านอาหาร  และน้ำดื่ม รวมถึงอาหารสัตว์ให้เพียงพอ

2. กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงสาธารณสุข ดูแลเรื่องความเป็นอยู่ที่ศูนย์อพยพ และยารักษาโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบาง โดยให้แบ่งมอบพื้นที่ กำหนดภารกิจ และหน่วยปฏิบัติในการให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านต่าง ๆ ให้ชัดเจน เช่น การดูแลด้านการดำรงชีพ การจัดตั้งศูนย์พักพิง การประกอบอาหาร ถุงยังชีพ การแพทย์ และการสาธารณสุข โดยให้มีการใช้ทรัพยากร และอุปกรณ์เครื่องมือของแต่ละหน่วยงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด

3. ให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม บูรณาการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการดูแลความปลอดภัยของทรัพย์สิน และบ้านเรือนของราษฎร

4. เมื่อน้ำลด ให้ทุกส่วนราชการตรวจสอบ ความเสียหายระบบสาธารณูปโภค ถนน สะพาน ระบบไฟฟ้า และประปา เพื่อสร้างความเข้าใจ รับฟังปัญหาความต้องการ และดำเนินการปรับปรุงให้เข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว พร้อมทั้งแสวงหาความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เช่น หน่วยทหารพัฒนา เพื่อช่วยเหลือประชาชน ร่วมกันทำความสะอาดบ้านเรือน ถนน และพื้นที่สาธารณะที่ถูกน้ำท่วม

5. มอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย ตรวจสอบ และเสริมความมั่นคงแข็งแรงเชิงโครงสร้างให้กับคันกั้นน้ำ และระบบระบายน้ำโดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชน พื้นที่เขตเศรษฐกิจสำคัญ และเร่งรัดปรับปรุงให้สามารถใช้งานได้โดยเร็ว

ในเรื่องของงกลาง รัฐบาลได้กำหนดการที่จะมีส่วนช่วยเหลือประชาชน ไม่ใช่แค่ตอนเยียวยาแต่ช่วยตอนนี้ด้วย และอยากให้ทุกฝ่ายรักษาชีวิตประชาชนเป็นหลักโดยด่วน และอพยพออกมาจากพื้นที่น้ำท่วมให้เร็วที่สุด นี่คือเหตุจำเป็นและเร่งด่วน

6. ขอให้กรมทรัพยากรธรณี เร่งรัดการดำเนินงานเกี่ยวกับระบบเตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงภัยสูงโดยด่วน เพื่อให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้า และเตรียมการได้ทันเวลา ซึ่งแม้ว่าระบบเตือนภัยจะมีแล้ว แต่ประชาชนจำนวนหนึ่งยังไม่อยากออกมาจากบ้าน เพราะเสียดายทรัพย์สินซึ่ง เราก็เข้าใจว่าการจะทิ้งทรัพย์สินเป็นเรื่องที่เสียดาย แม้ระบบเตือนภัยได้ทำการเตือนแล้ว ซึ่งตนเองอยากบอกพี่น้องประชาชนว่า เราจะขอรับดูเรื่องการเยียวยาและดูแลประชาชน ดังนั้นขอให้ทุกท่านรักษาชีวิตตัวเองก่อน และ ออกมาจากพื้นทีีประสบภัยโดยเร็วที่สุด ส่วนเรื่องอื่นรัฐบาลจะช่วยได้ในรูปแบบไหนบ้าง จากนี้จะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะช่วยดูแลอย่างดีที่สุด 

7. เนื่องจากประเทศไทยยังคงอยู่ในช่วงฤดูฝน ขอให้ส่วนราชการที่ทำหน้าที่คาดการณ์สภาพอากาศ รวมทั้ง GISTDA ติดตามปริมาณฝน และระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ แนวโน้ม และแจ้งเตือนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งแจ้งเตือนให้ประชาชนในชุมชนและหมู่บ้าน ทราบถึงแนวทาง การปฏิบัติตนอย่างปลอดภัย และช่องทางในการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมในการอพยพ

8. ให้พิจารณาการใช้เงินจากกองทุน และการตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย (หากมีผู้ประสงค์จะร่วมบริจาค) โดยมอบหมายสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

9. ขอมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำในระยะยาวต่อไป

ช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (13 ก.ย.) ตนและคณะรัฐมนตรีบางส่วน ได้วางแผนว่าจะไปลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย เพื่อไปดูสถานการณ์จริง และสั่งการได้อย่างเร่งด่วนกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยขอให้ทุกภาคส่วนดำเนินการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อย่างปกติ ไม่ต้องมาต้อนรับ เพราะไม่อยากให้กระทบถึงพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่รอความช่วยเหลือ ตั้งใจที่จะไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ไม่ได้อยากเป็นเพิ่มภาระให้กับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่

“สุดท้ายนี้ ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลการดำเนินงานต่อท่านเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นรายวัน หรือเร็วกว่านั้นหากมีสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อที่จะได้ประเมินสถานการณ์ได้ทันเวลา และเตรียมรับมือกับปัญหา ตลอดจนหามาตรการเยียวยาประชาชนได้อย่างเหมาะสม ซึ่งดิฉันจะเข้ามาติดตามงานด้วยตนเองอย่างใกล้ชิด” นายกรัฐมตรี กล่าวจบในที่สุด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top