Monday, 19 May 2025
เอเชีย

‘เอเชีย’ จ่อขึ้นแท่น ‘ผู้นำโลก’ ด้านเทคโนโลยีสีเขียวเกิดใหม่ หลายประเทศมุ่งพัฒนาพลังงานหมุนเวียน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

(29 มี.ค. 68) สำนักข่าวซินหัวรายงานจากการประชุมเอเชียโป๋อ๋าว ปี 2025 ในมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ทางตอนใต้ของจีน ระบุว่าเอเชียกำลังก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในด้านเทคโนโลยีใหม่อันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีศักยภาพเป็นผู้นำด้านวัสดุแบตเตอรี่ขั้นสูง พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ และอื่น ๆ ด้วยกำลังการผลิตทางอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งและการสนับสนุนทางนโยบาย

รายงาน ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน : รายงานเอเชียและโลกประจำปี 2025-การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : เอเชียก้าวสู่เส้นทางสีเขียว’ (Sustainable Development: Asia and the World Annual Report 2025 -Addressing Climate Change: Asia Going Green) ของการประชุมฯ ได้เน้นย้ำความก้าวหน้าด้านพลังงานหมุนเวียนของภูมิภาคเอเชีย

ปัจจุบันจีนมีกำลังการผลิตพลังงานใหม่จากพลังงานหมุนเวียนสูงถึงร้อยละ 85 ส่วนอินโดนีเซียและสิงคโปร์กำลังพยายามพัฒนาการดักจับและกักเก็บคาร์บอน ขณะเดียวกันจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เป็นผู้นำในห่วงโซ่อุปทานระดับโลกด้านเทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเธียม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการใช้พลังงานไฟฟ้าในการขนส่ง

จีนยังเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมไฮโดรเจนอันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่กำลังเติบโตของเอเชีย โดยเอเชียครองส่วนแบ่งเกือบร้อยละ 70 ของกำลังการผลิตพลังงานไฮโดรเจนทั่วโลก ส่วนกลุ่มปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุดของเอเชีย ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และซาอุดีอาระเบีย ต่างกำหนดเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ

ขณะประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียนได้พัฒนายุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศระดับชาติที่มีความครอบคลุมรอบด้าน เพื่อดำเนินการตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) และแผนการปรับตัวระดับประเทศ (NAP)

อย่างไรก็ดี แม้มีความก้าวหน้าอย่างมากและบางประเทศแสดงความมุ่งมั่นตั้งใจสร้างความยั่งยืน แต่อีกหลายประเทศยังคงต้องดำเนินงานอีกมากเพื่อบรรลุเป้าหมาย

บทบาทของเอเชียในการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเอเชียเป็นบ้านหลังใหญ่ของประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก สร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ราวครึ่งหนึ่งของโลก และครองส่วนแบ่งการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก

หนีห่าว!! อ้าว!! นึกว่าทักทาย ที่แท้!! ‘เหยียดผิว’ ‘ฝรั่ง’ รุ่นใหม่ ใช้ด้อยค่า ‘เอเชีย’ ในโลกออนไลน์

(20 เม.ย. 68) นายนิธิพัฒน์ พันธุ์ธุมจินดา นักธุรกิจ ฟาร์มปลาสวยงาม โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Nitipat Bhandhumachinda ว่า …

เมื่อวานนั่งถกกับลูกสาว ว่า"หนีห่าว"เป็นการเหยียดตรงไหน

เพราะผมเองก็มองว่า ตนเองเวลาไปต่างประเทศเช่นไปเยอรมัน ก็พูดคำว่า "Good Morning" กับฝรั่งมังค่าเสมอ ไม่เคยพูดว่า "Guten Morgen" ก็ไม่เห็นมีใครเขาว่าอะไร

ลูกสาวก็อธิบายให้ผมเข้าใจว่า การใช้คำว่า"หนีห่าว" ในปัจจุบันนั้น ชาวต่างชาติหลายๆคนจะใช้ ในนัยยะที่ซ่อนความเหยียดผิว ซึ่งคนรุ่นเดียวกับลูกสาวผมจะเจอบ่อยๆในสังคมออนไลน์

มันจะไม่ใช่การทักทายธรรมดา แต่เป็นการจงใจเหยียดแบบเหมารวมที่มีรากฐานมาจากแนวความคิดแบบ Sinophobia ที่ไม่ชอบคนจีน หรือวัฒนธรรมและค่านิยมแบบคนจีน แล้วก็ลามไปสู่คนเอเชียโดยรวม ที่ฝรั่งอาจมองว่าหน้าตาก็คล้ายๆกัน

ซึ่งสำหรับผมก็เป็นความรู้ใหม่ เพราะคนสมัยนี้เขาจะไม่เหมือนสมัยผมเด็กๆที่อยากจะเหยียดก็เหยียดกันตรงๆ เช่นผมเดินอยู่บนถนนในนิวยอร์คช่วงปี พศ. ๒๕๒๔ มีฝรั่งตะโกนมาทางผมว่า "Chink" แล้วเอานิ้มจิ้มตาตัวเองพร้อมกับหัวเราะขำขัน ก็ต้องกลับบ้านมาถามคำแปล แล้วก็เลยรู้ว่าโดนเหยียด

มาสมัยนี้การเหยียดกันตรงๆมันทำไม่ได้แล้ว แต่ก็อาจมีบางคนที่ยังมีจิตสำนึกที่อยากจะเหยียดใครต่อใครเพื่อลดปมด้อยของตน ก็อาจหาแนวทางอื่นมาเหยียดกันแบบซ่อนเร้นเช่นนี้เป็นต้น

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการพูดคำว่า"หนีห่าว"กับคนไทย หรือคนเอเชียไหนๆที่ไม่ใช่คนจีน สำหรับผมแล้วก็ต้องมองบริบทโดยรวม เพราะหลายๆครั้งชาวต่างชาตินั้นๆ อาจพูดทักทายเป็นปรกติโดยไม่ได้คิดจะดูถูกอะไรใดๆ ก็เป็นไปได้ด้วยเช่นกัน

กรณีน้องทรายนั้น ผมไม่ได้เคยร่วมกิจกรรม หรือร่วมงานอะไรใดๆด้วย จึงไม่สามารถให้ความเห็นอะไรใดๆได้มากนัก แต่เท่าที่มองจากภายนอกนั้น น้องเขาก็มีจิตสำนึกที่รักธรรมชาติ และมีความชัดเจนเชิงอุดมคติ

แต่ผมเองก็ให้ความเป็นธรรมกับองค์กรและบุคลากรทุกๆคนของกรมอุทยานฯ ที่ต่างก็มุ่งมั่นทำงาน ทำหน้าที่ที่ตนรับผิดชอบ แต่อาจไม่สามารถประสานการทำงานกับน้องทรายได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จะด้วยเหตุผลอะไรใดๆก็ตาม

ส่วนเรื่องการเหยียดนั้น สมัยปัจจุบันที่ทำงานกับลูกค้าซึ่งทุกคนเป็นชาวต่างชาตินั้น หากมีใครถามว่าเคยโดนเหยียดอะไรบ้างไหม
ก็ตอบได้ตรงๆว่าไม่เคยเลย

เพราะเวลาผมทำอะไรผิดพลาด ลูกค้าเขาไม่ต้องหานัยยะมาเหยียดอะไรใดๆให้เสียเวลา
ด่าผมตรงๆเลย ง่ายกว่าเยอะนะครับ

จีน เมียนมา เวียดนาม ลาว และมองโกเลีย จากฝั่งเอเชีย เตรียมเข้าร่วมขบวนพาเหรดใหญ่ ‘วันแห่งชัยชนะ’ ของรัสเซีย

รัสเซียเตรียมจัดงานเฉลิมฉลอง 'วันแห่งชัยชนะ' (Victory Day) อย่างยิ่งใหญ่ในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ ณ กรุงมอสโก โดยมีผู้นำจากหลายทวีปตอบรับเข้าร่วมอย่างคึกคัก รวมถึงประเทศในเอเชียที่เข้าร่วมอย่างโดดเด่น ได้แก่ จีน เวียดนาม เมียนมา มองโกเลีย และลาว สะท้อนทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างมอสโกและภูมิภาคเอเชียที่ใกล้ชิดขึ้นท่ามกลางภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ผันผวน

รายชื่อผู้นำจากเอเชียที่เข้าร่วมมีทั้งระดับประธานาธิบดีและเลขาธิการพรรค โดย ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ของจีนถือเป็นหนึ่งในแขกสำคัญ เช่นเดียวกับ โต เลิม เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม, มิน ออง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา, อุคนากีน คูเรลซูค ประธานาธิบดีมองโกเลีย และ ทองลุน สีสุลิด ผู้นำลาว การเข้าร่วมของผู้นำเหล่านี้มีนัยสำคัญเชิงสัญลักษณ์และการทูต ท่ามกลางแรงกดดันจากตะวันตก

ไม่เพียงแค่ในเอเชีย ผู้นำจากประเทศในละตินอเมริกา แอฟริกา ตะวันออกกลาง และยุโรปตะวันออก เช่น เซอร์เบีย อาร์เมเนีย และเบลารุส ต่างทยอยเข้าร่วมพาเหรดครั้งนี้ รวมถึงประเทศมหาอำนาจจากโลกใต้ เช่น บราซิล และแอฟริกาใต้ ขณะที่อินเดีย แม้ไม่ได้ส่งผู้นำสูงสุด แต่ก็มีตัวแทนระดับสูงเข้าร่วม 

ทั้งนี้ งานวันแห่งชัยชนะถือเป็นเวทีสำคัญที่รัสเซียใช้สื่อสารพลังและพันธมิตรต่อสายตาชาวโลก และปีนี้ยิ่งมีความหมายเป็นพิเศษในยุคที่สงครามยูเครนยังดำเนินอยู่ การรวมตัวของผู้นำโลกตะวันออกและใต้จึงไม่เพียงแค่ 'รำลึกอดีต' แต่ยังสะท้อน 'พันธมิตรโลกใหม่' ที่กำลังก่อตัวอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top