Wednesday, 23 April 2025
เอกนัฏ

'อรรถวิชช์' เผย 'เอกนัฏ' ให้ปากคำปมคดี 112 ของ 'ทักษิณ' เป็นหน้าที่ตามกฎหมาย ตรงไปตรงมา ไม่เกี่ยวเรื่องตำแหน่ง

(24 ส.ค. 67 ) นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ฝ่ายกฎหมายพรรครวมไทยสร้างชาติ เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีกระแสข่าวนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติเป็นผู้ให้ปากคำในคดี 112 ของนายทักษิณ ชินวัตร และประเด็นคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีนั้น 

ประเด็นการให้ปากคำนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีหมายเรียกนายเอกนัฏ ไปให้ปากคำ จึงเป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องไปให้ปากคำแก่พนักงานสอบสวนตามข้อเท็จจริง มิใช่เสนอตัวไปให้การเอง อีกทั้งการให้ปากคำดังกล่าวยังอยู่ในช่วงต้นปี ไม่ใช่ในช่วงเวลานี้ จึงไม่เกี่ยวข้องกับการต่อรองตำแหน่งใด ๆ ปัจจุบันอัยการสั่งฟ้องคดีไปแล้ว อยู่ในชั้นศาลที่จะตัดสินตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป 

สำหรับประเด็นคุณสมบัติรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญนั้น ถ้าดูตามตัวอักษรในกฎหมาย วิ.อาญามาตรา 15 ประกอบ วิ.แพ่ง มาตรา 145 วรรค 1 ได้วางหลักว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งให้ถือว่าผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่ง นับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่ง จนถึงวันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย ถ้าหากมี

ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมายกฟ้องนายเอกนัฏแล้ว เมื่อพิจารณาตามข้อกฎหมายเบื้องต้นหมายความว่า หากยังไม่มีคำพิพากษาของศาลฎีกาเห็นเป็นอย่างอื่นออกมา นายเอกนัฏเป็นผู้บริสุทธิ์และไม่เคยต้องคำพิพากษาจำคุกมาก่อน 

ดังนั้นประเด็นเรื่องคุณสมบัติของนายเอกนัฏจึงไม่มีปัญหาอย่างใด  นอกจากนี้ยังมีกระบวนการตรวจสอบของสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจำนวนมากอีก คาดว่าจะชัดเจนเร็วๆ นี้

“ข้อกฎหมายชัดเจนว่าคุณเอกนัฏเป็นรัฐมนตรีได้ ใจผมอยากให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าบริหารบ้านเมืองบ้าง” นายอรรถวิชช์ กล่าว

4 รัฐมนตรีรวมไทยสร้างชาติ ลุย!! ตรวจราชการ จ.เชียงราย เร่งดูแลเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัย

(2 ต.ค. 67) ที่สนามบินกองทัพอากาศ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายเอกนัฎ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และคณะ พร้อมเดินทาง ด้วยเครื่องบินของกองทัพอากาศ ไปตรวจราชการ หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ที่จังหวัดเชียงราย หลายพื้นที่ เพื่อกำกับดูแลและเยียวยาผลกระทบที่ประชาชนได้รับจากเหตุอุทกภัย พร้อมบูรณาการความช่วยเหลือให้สำเร็จด้วยความรวดเร็ว 

ทั้งนี้ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่ จ.เชียงราย ล่วงหน้าแล้ว และจะร่วมลงพื้นและพร้อมกับคณะ

โดยกำหนดการในการลงพื้นที่ครั้งนี้อยู่ที่ต.เวียง อ.เวียงป่าเป้า โดยคณะ 4 รัฐมนตรีพร้อมทีมงานจะทำการตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจผู้ประสบอุทกภัยที่พื้นที่หมู่ที่ 9 บ้านแม่ปูนล่าง และสำรวจความเสียหายเส้นทางสัญจรของประชาชน

‘เอกนัฏ’ หนุนพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันภัยพิบัติ เตรียมเปิดตัว ‘กำแพงป้องกันน้ำท่วม’ จากวัสดุเหลือใช้

(29 ต.ค. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสภาวะโลกร้อนที่เพิ่มความรุนแรงขึ้นจนเป็นสภาวะโลกเดือดในปัจจุบัน ส่งผลให้ภูมิอากาศทั่วโลกแปรปรวนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังจะเห็นได้จากภัยน้ำท่วมอย่างรุนแรง และต่อเนื่องในพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินกว่า 3.1 พันล้านบาท 

ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม ตามนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรม ในการสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมผ่านการสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันภัยพิบัติเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ นำร่องการสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ จึงได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เข้าไปส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันภัยพิบัติ เพื่อให้สามารถผลิตอุปกรณ์รองรับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต 

โดยเฉพาะอุปกรณ์ในด้านการป้องกันภัยจากน้ำท่วม ที่เป็นปัญหาสำคัญของไทย และเกิดขึ้นได้เกือบทุกปี ซึ่งจะช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากเหตุอุทกภัย โดยสามารถผลิตได้เองภายในประเทศ ลดการนำเข้าเนื่องจากสินค้ามีราคาสูง รวมทั้งยังสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้อีกด้วย นอกจากนี้ วัสดุที่นำมาใช้มีทั้งที่เป็นนวัตกรรมจากวัสดุคอมโพสิต และวัสดุเหลือใช้ตามแนวคิด BCG ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

ด้าน นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ได้ดำเนินการวิจัย และพัฒนาวัสดุ รวมทั้งบูรณาการกับหน่วยงานภาคเอกชนในการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันภัยพิบัติ เพื่อพัฒนาต้นแบบอุปกรณ์ป้องกันน้ำท่วม 

โดยพัฒนาวัสดุกำแพงป้องกันน้ำท่วมผลิตจากนวัตกรรมวัสดุคอมโพสิต หรือเศษขยะพลาสติกเหลือทิ้งนำมาบดขึ้นรูปใหม่ (upcycling Recycle) ตามแนวคิด BCG โดยมีวัสดุทางเลือกจากการวิจัยมีคุณสมบัติที่โดดเด่นในเรื่องความแข็งแรงทนทาน มีน้ำหนักเบา และมีราคาถูกกว่าการนำเข้า รวมทั้งยังช่วยลดปริมาณขยะพลาสติก และนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้ 

นอกจากนี้ ยังใช้ระบบ KNOCK DOWN ที่สามารถติดตั้งได้อย่างรวดเร็ว แม่นยํา และปลอดภัย เหมาะสำหรับติดตั้งบริเวณประตูทางเข้าออกของโครงการ หรืออาคาร ทางลงชั้นจอดรถใต้ดิน หน้าบันไดเลื่อน หน้าลิฟต์ และล้อมเครื่องจักรมูลค่าสูง เป็นต้น อีกทั้ง จะสามารถนำนวัตกรรมนี้ไปถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ประกอบการเพื่อผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ต่อไปในอนาคตได้อีกด้วย นางสาวณัฏฐิญา กล่าวทิ้งท้าย

สศอ. เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมทรุด จากอุตสาหกรรมหนักส่งออกน้อย แนะ เตรียมปรับตัวรับนโยบายผู้นำสหรัฐคนใหม่ ผ่านปฏิรูปอุตสาหกรรม

(30 ต.ค. 67) นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกันยายน 2567 อยู่ที่ระดับ 92.44 หดตัวร้อยละ 3.51 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 57.47 ส่งผลให้ดัชนี MPI ไตรมาส 3 ปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 94.74 หดตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.23 และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 58.29 หดตัวเฉลี่ยร้อยละ 0.11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการผลิตยานยนต์ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ทั้งตลาดภายในประเทศและการส่งออก จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว กำลังซื้ออ่อนแอ หนี้ครัวเรือนสูง และสถานการณ์หนี้สงสัยจะสูญ (NPL) ยังอยู่ในระดับที่สูง ทำให้สถาบันการเงินยังเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อและยอดปฏิเสธสินเชื่ออยู่ในระดับสูง ขณะเดียวกันต้นทุนพลังงานอยู่ในระดับสูง และปัญหาสินค้านำเข้าราคาถูกมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาถูกกว่าสินค้าของไทย 

โดยเฉพาะการเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์กระทบผู้ประกอบการไทย ซึ่งสินค้านำเข้าที่ทะลักเข้ามามาก ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ และเสื้อผ้า เป็นต้น ขณะที่ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ) ขยายตัวร้อยละ 2.86 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาส 3 ปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 7.05

ด้านการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของไทยเดือนตุลาคม 2567 'ส่งสัญญาณเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น' โดยปัจจัยภายในประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น ตามการลงทุนภาคเอกชนและความเชื่อมั่นทางธุรกิจใน ภาคการผลิตที่ลดลง ผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากกำลังซื้อที่อ่อนแอ และผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น จากภาคการผลิตของสหภาพยุโรปที่ยังคงหดตัว รวมถึงสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา และความกังวลต่อผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี

“สำหรับประเด็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐมีผลต่ออุตสาหกรรมไทยนั้น มองว่ามีทั้งได้รับอานิสงส์และอาจจะได้รับผลกระทบ ดังนั้น สศอ. จึงมีข้อเสนอแนะแก่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยเพื่อให้สามารถปรับตัวและบริหารจัดการทรัพยากรอย่างเหมาะสม ได้แก่ 

1. ปรับตัวสู่เทคโนโลยีพลังงานสะอาด และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงาน 

2. พัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิต โดยตรวจสอบและปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดการใช้พลังงาน หรือการสูญเสียพลังงานในแต่ละขั้นตอนเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต 

3. นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล 

4. ผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดโลก โดยต้องมีความเข้าใจความต้องการและสามารถจัดการกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และ 

5. พัฒนาแรงงานโดยสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นให้สอดคล้องกับความต้องการขององค์กร (Reskill) พัฒนาเพื่อยกระดับทักษะที่มีอยู่เดิมให้ดียิ่งขึ้น (Upskill) เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ นำมาประยุกต์ใช้กับการทำงาน (Newskill) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะของแรงงานให้ตรงตามความต้องการของตลาดโลก” นายภาสกร กล่าว

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนกันยายน 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.54 จากน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเครื่องบิน และน้ำมันเบนซิน เป็นหลัก จากการผลิตกลับมาเป็นปกติในปีนี้หลังผู้ผลิตบางรายหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในปีก่อน

สัตว์น้ำบรรจุกระป๋อง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 49.96 จากปลาทูน่ากระป๋อง เป็นหลัก ตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากอเมริกา แคนาดา และออสเตรเลีย เพื่อสต็อกสินค้าไว้รองรับความต้องการในช่วงเทศกาลและวันหยุดปลายปี ส่งผลให้ตลาดส่งออกขยายตัว

เครื่องจักรอื่นๆ ที่ใช้งานทั่วไป ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.73 จากเครื่องปรับอากาศ เป็นหลัก ตามสภาพอากาศทั่วโลกที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น ลูกค้าจากสหรัฐอเมริกาเร่งให้ส่งมอบสินค้า และผู้ผลิตพัฒนาสินค้าได้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตเดือนกันยายน 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

ยานยนต์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23.48 จากรถบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก รถยนต์ไฮบริดขนาดมากกว่า 1800 ซีซี เป็นหลัก ตามการหดตัวของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว กำลังซื้ออ่อนแอ หนี้ครัวเรือนสูง และสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ

ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.54 จาก Integrated circuits (IC) เป็นหลัก ตามคำสั่งซื้อที่ลดลงและบริษัทแม่ในต่างประเทศยังไม่ฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจ ต่างจากสินค้าเซมิคอนดักเตอร์ที่ค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

คอนกรีต ปูนซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.96 จากพื้นสำเร็จรูปคอนกรีตและเสาเข็มคอนกรีต เป็นหลัก ตามการชะลอตัวของโครงการก่อสร้างของภาครัฐและอสังหาริมทรัพย์ในภาคเอกชน ตามภาวะเศรษฐกิจหนี้ครัวเรือนสูง สถาบันการเงินเข้มงวดอนุมัติสินเชื่อ ขณะที่ราคาที่อยู่อาศัยและวัสดุก่อสร้างปรับตัวเพิ่มขึ้น

เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีที่ผลงานโดดเด่น

แม้จะถูกสื่อมวลชนสายการเมืองตั้งฉายาว่า “รวม(เพื่อ)ไทยอ้างชาติ”  แต่หากสแกนดูผลงานโดยรวมของรัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลผสมหลายพรรคที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ และพิจารณาด้วยความเป็นธรรมจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ‘เลขาขิง’ เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) คือหนึ่งในรัฐมนตรีที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจทำงานตั้งแต่วันแรกที่รับตำแหน่ง

สำหรับ เลขาขิง นับเป็นรัฐมนตรีหน้าใหม่ในรัฐบาลชุดนี้ และอยู่ในกลุ่มรัฐมนตรีที่อายุน้อย ซึ่งมีอายุเพียง 38 ปีเท่านั้น 

เพียงวันแรกของการเดินทางเข้ากระทรวงอุตสาหกรรมเป็นวันแรก เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2567 เลขาขิง ก็ได้ประกาศทันที่ว่า "ผมจะทำทันที ทำทุกวินาที ไม่ยอมจนกว่าจะทำให้สำเร็จ" 

คำพูดที่กล่าวออกมานั้น ไม่ใช่เพียงแค่คำพูดเอาเท่เท่านั้น แต่เลขาขิง ได้ดำเนินการทำตามคำพูดอย่างจริงจังตลอดระยะเวลากว่า 4 เดือน บนเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม 

โดยมีผลงานเด่น ๆ ที่ฝากไว้ในรอบปี 2567 ที่ผ่านมา อาทิ 1) ปลดล็อก "โซลารูฟท็อป" ไม่ต้องขออนุญาตใบอนุญาตโรงงาน 4 ทำให้สามารถติดตั้งได้ง่ายสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น 2) ตรวจสุดซอยโรงงานสีเทา แจ้งมาจับจริง ไม่กลัวอิทธิพล ปราบโรงงานไร้ความรับผิดชอบ กากของเสีย สินค้าไม่ได้มาตรฐาน ได้ดำเนินการไปแล้วถึง 13 จังหวัด 

 3) เซฟยานยนต์ไทย เนื่องจากจากสถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่กำลังเผชิญกับความท้าทาย โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์ญี่ปุ่น ทางเลขาขิงจึงได้เดินทางโรดโชว์คุยระดับทวิภาคีกับ 6 บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำในญี่ปุ่น เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และได้รับสัญญานบวกในการรักษาฐานการผลิตยานยนต์ในไทยและการลงทุนเพิ่ม ต่อยอด ด้วยเม็ดเงินกว่า 1.2 แสนล้าน 
4) จัดสรรเงินผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐ 525 ล้านบาท ดูแลชุมชนรอบเหมือง 5) เติมเงินทุน SME ฮาลาล เติมแรงกระตุ้นภาคอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่

ที่ยกตัวอย่างมานั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการทำงานตลอด 4 เดือนเท่านั้น แน่นอนว่า ด้วยความเป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง เชื่อว่า ในปี 2568 คงจะได้เห็นการทำงานของ ‘เลขาขิง’ ที่รวดเร็วฉับไว สไตล์เชิงรุกแบบ ‘สุดซอย’ อีกอย่างแน่นอน

THE STATES TIMES ไม่อาจกล้าหยิบยกคำใดมาเชิดชู แค่อยากให้รู้ว่า “เราภูมิใจในตัวคุณ”

‘เอกนัฏ’ จ่อถกกรมโยธาฯ แก้ปัญหาผังเมือง รองรับการลงทุน หวังภาคอุตสาหกรรมช่วยดัน GDP ประเทศเพิ่มขึ้นอีก 1%

(3 มี.ค. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในระหว่างการประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา

โดยเป้าหมายหลักของการประชุม ได้แก่ การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมในปีนี้ ตั้งไว้เพิ่ม GDP ขึ้น 1% ให้ได้ภายในปี 2568 ขณะเดียวกันมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน โดยเป้าหมายหลักคือลดขั้นตอนการอนุมัติโครงการ เร่งกระบวนการลงทุน และพัฒนาพื้นที่รองรับการลงทุนในอนาคตกว่า 50,000 ไร่

“ผมกำหนดเป้าหมาย KPIs เพิ่ม GDP ขึ้น 1% ภายในปี 2568 มุ่งเน้นลงทุนเพิ่มในอุตสาหกรรมใหม่ และอุตสาหกรรม สีเขียว การให้ความรู้ (knowledge) แก่บุคลากรให้มีทักษะรองรับอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างความยั่งยืน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” นายเอกนัฏ กล่าว

นายเอกนัฏ กล่าวอีกว่า เตรียมร่างกฎหมายฉบับใหม่เพื่อบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม และขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นระบบ แก้ปัญหาการลักลอบนำเข้าสินค้าผิดกฎหมายและขยะพลาสติก ซึ่งหากประชาชนพบปัญหาเกี่ยวกับโรงงานเถื่อน หรือโรงงานที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน สามารถแจ้งเรื่องได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ 'แจ้งอุต' 

ทั้งนี้ เมื่อได้รับแจ้งกระทรวงฯ จะส่งทีมเฉพาะกิจ 'ตรวจสุดซอย'ลงพื้นที่ตรวจสอบการประกอบกิจการที่ฝ่าฝืนกฎหมายทันทีและจะดำเนินคดีอย่างเด็ดขาดกับผู้กระทำความผิดและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อจัดการกับธุรกิจสีเทาและส่งเสริมผู้ประกอบการที่ปฏิบัติตามกฎหมาย 

นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ กนอ.รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ กนอ. ปรับปรุงกระบวนการอนุมัติจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม จากเดิม 9 ขั้นตอนเหลือเพียง 8 ขั้นตอน เพื่อลดความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในการดำเนินโครงการ รวมทั้งให้เร่งการอนุมัติโครงการโดยอนุญาตให้ประกาศพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมได้ ก่อนรายงาน EIA จะเห็นชอบ 

ปัจจุบันมีพื้นที่อุตสาหกรรมพร้อมขาย 23,662.45 ไร่ และมีพื้นที่เสนอจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมใหม่ 4,959 ไร่ รวมถึงโครงการที่คาดว่าจะจัดตั้งหรือขยายในอนาคตอีก 27 โครงการ ในพื้นที่ EEC 71,243 ไร่  

โดยที่ผ่านมาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม มีการขยายธุรกิจและการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพการทำงานและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจมากขึ้น โดย กนอ. ได้เร่งรัดกระบวนการขออนุญาตเรื่องการประกาศเขตเพื่อให้สามารถขายสินค้าได้เร็วขึ้น 

อย่างไรก็ตาม กนอ. พร้อมเป็นกลไกขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม โดยจะประสานความร่วมมือกับกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เพื่อแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกในการดำเนินโครงการต่างๆ ให้กับผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อสร้างการเติบโต GDP ของภาคอุตสาหกรรมอย่างน้อย 1% ในปี 2568

กมธ.อุตสาหกรรม หนุน ‘เอกนัฏ’ เอาผิดทุนเทา - เร่งขจัดกากพิษ พร้อมเชื่อมั่นทิศทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยเดินมาถูกทาง

(4 มี.ค. 68) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี เขต 4 และโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงกรณีมหากาพย์วินโพรเสส ที่นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ลงพื้นที่ไปดูการขนย้ายสารพิษอะลูมิเนียมดรอสว่า 

ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่กระทบต่อพี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมาก และการที่นายเอกนัฏ ได้ลงพื้นที่ไปติดตามปัญหาดังกล่าวด้วยตนเองก็เป็นสิ่งที่ดีที่สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เอาจริงเอาจังและใส่ใจในความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ หลังจากหน่วยงานในท้องถิ่นไม่ได้สามารถดำเนินการจัดการปัญหาดังกล่าว เพราะติดขัดทั้งในเรื่องงบประมาณ บุคลากร และขั้นตอนต่าง ๆ

ทั้งนี้สิ่งที่ตนอยากขอให้นายเอกนัฏ ดำเนินการต่อ คือ ในเรื่องของมาตรการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำผิดทั้งในส่วนของกากพิษและกลุ่มทุนเทาที่ลักลอบทำธุรกิจผิดกฎหมาย ซึ่งในส่วนของการปราบปราม นายเอกนัฏได้มีการตั้งทีมสุดซอยขึ้นมาดำเนินการตรวจเข้มโรงงานที่ทำผิดกฎหมายแล้ว จะเห็นได้จากข่าวที่มีการจับกุมโรงงานอุตสาหกรรมที่กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง ส่วนในด้านมาตรการการป้องกัน ทราบว่าขณะนี้นายเอกนัฏ กำลังร่างพระราชบัญญัติจัดการกากอุตสาหกรรม ทั้งนี้ตนขอให้เร่งผ่านกฎหมายได้อย่างราบรื่นโดยเร็ว

“มั่นใจว่าทิศทางการทำงานของนายเอกนัฏ เดินมาถูกทางแล้ว จึงขอเป็นกำลังใจให้ และขอให้มุ่งมั่นเดินหน้าปราบปรามผู้กระทำผิดต่อไป โดยเฉพาะกลุ่มทุนเทาที่ลักลอบทำธุรกิจผิดกฎหมาย โดยเฉพาะในเรื่องกากพิษอุตสาหกรรม ที่ปัจจุบันจัดเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของพี่น้องคนไทยอย่างมาก และขอย้ำว่าที่ผ่านมานายเอกนัฏ มีผลงานที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม ทำงานไว และการที่ลงมาจัดการปัญหา ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ก็เป็นข้อดีที่ทำให้ปัญหาต่าง ๆ ถูกแก้ไขได้เป็นอย่างดี” นายอัครเดช กล่าว

‘เอกนัฏ’ สั่งตรวจสอบมาตรฐานเหล็กเส้นในตึก สตง. ถล่มหลังแผ่นดินไหว หวั่นใช้วัสดุไม่ได้มาตรฐาน เตรียมขยายผลไปยังโรงงานผลิตที่เกี่ยวข้อง

(30 มี.ค. 68) นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างถล่มเนื่องจากแผ่นดินไหวที่ผ่านมา 

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ทีมงานพร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าไปเก็บหลักฐานที่จุดเกิดเหตุบริเวณตึก สตง. ที่ถล่ม ซึ่งหากพบว่าผู้ก่อสร้างใช้เหล็กเส้นที่ไม่ได้มาตรฐาน จะดำเนินการตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด รวมถึงขยายผลไปยังโรงงานผลิตเหล็กที่เกี่ยวข้องด้วย

นายพงศ์พลกล่าวเพิ่มเติมว่า จากการตรวจสอบแบบแปลนโครงสร้างตึก สตง. ที่กำลังก่อสร้างมีความสูงถึง 30 ชั้น คาดว่าต้องใช้เหล็กเส้นข้ออ้อย (เหล็กเส้นกลมมีบั้ง) ขนาด DB16, DB20, DB25 ในการเสริมแรงโครงสร้างคอนกรีต โดยเฉพาะในส่วนของเสา คานพื้น และฐานราก เพื่อรองรับน้ำหนักและแรงอัด แรงดึง และแรงเฉือน ซึ่งหากมีการใช้เหล็กเส้นที่ไม่ได้มาตรฐานไม่เป็นไปตามหลักทางวิศวกรรม จะทำให้โครงสร้างเปราะและแตกหักง่าย ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อโครงสร้างอาคารในกรณีที่มีแรงกระแทกหรือแผ่นดินไหว

การผลิตและจำหน่ายเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานถือเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงและไม่สามารถปล่อยผ่านได้ เพราะอาจส่งผลเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทั้งนี้ รัฐมนตรีเอกนัฏได้ดำเนินการอย่างจริงจังในเรื่องนี้มาโดยตลอด

โดยก่อนหน้านี้ได้ดำเนินคดีกับผู้ผลิตและจำหน่ายเหล็กที่เป็นบริษัทร่วมจดทะเบียนและบริษัทต่างชาติไปแล้วถึง 7 ราย ล่าสุดได้สั่งปิดโรงงานผลิตเหล็กทุนข้ามชาติยักษ์ใหญ่ที่ไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย และพบเหล็กเส้นข้ออ้อย SD 40 และ SD 50 ที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มอก. 24-2559 จากการทดสอบของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุและอันตรายต่อประชาชน และเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยในทุกขั้นตอนของการก่อสร้างทั่วประเทศ

กมธ.อุตสาหกรรม หนุน ‘รมว.เอกนัฏ’ ตรวจมาตรฐานเหล็กอาคารถล่ม พร้อมเสนอตรวจมาตรฐานคอนกรีตเพิ่ม เร่งปราบเหล็กไร้มาตรฐาน

กมธ.อุตสาหกรรม หนุน รมว.เอกนัฏ เดินหน้าสั่งก.อุตสาหกรรม ลุยตรวจมาตรฐานเหล็กอาคารถล่ม เสนอตรวจมาตรฐานคอนกรีตเพิ่ม ลุยปราบเหล็กไร้มาตรฐานสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน

(31 มี.ค. 68) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี เขต 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงกรณีนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ลงพื้นที่อาคารที่ทรุดตัวจากเหตุแผ่นดินไหว พร้อมได้นำตัวอย่างเหล็กไปตรวจสอบ ว่า 

ทางกรรมาธิการการอุตสาหกรรมขอสนับสนุนนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมที่ได้มีข้อสั่งการที่รวดเร็ว และทันท่วงที ที่ได้ให้ทางสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม(สมอ.) ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างเหล็กข้ออ้อยของอาคารดังกล่าวไปตรวจสอบว่าได้มาตรฐานหรือไม่ เพื่อเป็นข้อมูลที่สำคัญสำหรับการวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริงของการพังทลายของอาคารนั้น ทางคณะกรรมการและวิศวกรที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลที่รับผิดชอบในการตรวจสอบสาเหตุจะมีผลสรุปที่ชัดเจนเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายดังนั้นผลการตรวจสอบของกระทรวงอุตสาหกรรมจะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการพิจารณาตรวจสอบวิเคราะห์หาสาเหตุเรื่องดังกล่าว

โดยในส่วนของมาตรฐานของเหล็กข้ออ้อย คาดว่าในเร็ววันนี้จะได้ทราบผลการทดสอบอย่างแน่ชัด ซึ่งหากไม่ได้มาตรฐาน ตนขอสนับสนุนให้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการสืบหาแหล่งที่มา รวมถึงตรวจสอบอาคารอื่น ๆ ที่อาจจะมีการใช้เหล็กชุดเดียวกันในการก่อสร้างเพื่อหามาตรการแก้ไขอาคารที่มีการนำเหล็กชุดดังกล่าวมาก่อสร้างอาคารไปแล้วหรือหลงเหลืออยู่ในท้องตลาดจะได้ดำเนินการตามกฎหมายโดยเรียกกลับมาตรวจสอบ อายัดไว้เพื่อไม่ให้มีการนำมาใช้ในการก่อสร้างเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชนผู้ใช้อาคาร และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุที่น่าสลดเช่นนี้ซ้ำในอนาคต

นอกจากนี้ทางกรรมาธิการการอุตสาหกรรม ยังมีข้อเสนอแนะให้ทางสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม(สมอ.) ได้ขยายผลในการตรวจสอบมาตรฐานของคอนกรีตที่ใช้ในการก่อสร้างด้วย เนื่องจากคอนกรีตเป็นส่วนที่สำคัญในการทำให้อาคารมีความมั่นคงแข็งแรงไม่แพ้เหล็ก นอกจากนี้ยังเป็นผลิตภัณฑ์ควบคุมของ สมอ. อีกด้วย 

"เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชน ทางคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรมขอสนับสนุนทางกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งที่ผ่านมาได้เร่งตรวจสอบเหล็กข้ออ้อยที่ไม่ได้มาตรฐานอย่างต่อเนื่องก่อนเกิดเหตุแผ่นดินไหวในครั้งนี้ตามนโยบายของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเช่น ชุดตรวจการสุดซอย กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการตรวจยึดและดำเนินคดีกับโรงงานผลิตเหล็กที่ผลิตเหล็กไม่ได้มาตรฐานมาแล้ว" นายอัครเดช กล่าว

โฆษกอุตสาหกรรมชี้แจง ไม่มีการต่ออายุ มอก. ให้ ‘ซินเคอหยวน’ เตือนผู้เผยแพร่ข่าวสารปลอม สร้างความสับสนให้สังคม

(6 เม.ย. 68) นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกมาชี้แจงกรณีข่าวที่กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ทำการต่ออายุ มอก. ให้กับบริษัทเหล็กสัญชาติจีน “ซินเคอหยวน” เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

โดยยืนยันว่าเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และขอชี้แจงว่า บริษัทซินเคอหยวนยังคงถูกสั่งพักใบอนุญาตผลิตและจำหน่ายสินค้าเหล็กเส้นที่ทดสอบไม่ผ่านมาตรฐาน ตามมาตรา 40 ของหนังสือเลขที่ อก 0706/1943 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568

นายพงศ์พล กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อมูลที่เผยแพร่เกี่ยวกับการต่ออายุ มอก. ให้บริษัทซินเคอหยวนนั้นไม่เป็นความจริง และกล่าวว่า “ไม่เข้าใจว่าผู้ปล่อยข่าวมีเจตนาอันใด หรือเป็นผู้ไม่หวังดี ที่นำข้อมูลบางส่วนจากหนังสือแก้ไขความบกพร่องในระบบควบคุมคุณภาพ (QC) ลงวันที่ 23 มกราคม 2568 มาผสมโยงกับเรื่องมาตรฐานผลิตภัณฑ์ จนทำให้เกิดความสับสนแก่ประชาชน”

โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวย้ำว่า นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ทำงานอย่างต่อเนื่องและจริงจังในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา เพื่อแก้ไขปัญหามาตรฐานอุตสาหกรรมเหล็กศูนย์เหรียญ ซึ่งไม่เพียงแต่ทำลายรายได้ของประเทศ แต่ยังเป็นอันตรายต่อชีวิตประชาชนและสิ่งแวดล้อม 

ล่าสุด ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวัสดุก่อสร้างเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน และได้ลงนามเสนอปลดสิทธิประโยชน์ BOI ให้กับโรงงานเหล็กสัญชาติจีนเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2568

“ขอให้ทุกฝ่ายติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและผลประโยชน์ของประเทศ” นายพงศ์พลกล่าวทิ้งท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top