Thursday, 22 May 2025
เรือดำน้ำ

‘หน่วยยามชายฝั่งสหรัฐฯ’ กู้ซาก ‘เรือดำน้ำไททัน’ ขึ้นบกได้แล้ว เผย พบชิ้นส่วนมนุษย์ในซากเรือ เร่งตรวจสอบหาข้อเท็จจริง

วันที่ (29 มิ.ย. 66) หน่วยยามชายฝั่งของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า สามารถกู้คืนชิ้นส่วนของเรือดำน้ำไททัน ที่ประสบอุบัติเหตุระเบิดจากแรงบีบอัดใต้ท้องทะเลลึก 4 กิโลเมตร ขณะลงไปชมซากเรือไททานิกเมื่อสัปดาห์ก่อนขึ้นมาได้แล้ว และพบชิ้นส่วนที่คาดว่าจะเป็น ‘ร่างกายมนุษย์’ ในซากปรักหักพังดังกล่าว

หน่วยยามฝั่งระบุว่า ซากเรือดำน้ำไททันที่ถูกนำขึ้นมาบนบกในวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผานมา ตามเวลาท้องถิ่น จะถูกนำกลับมายังสหรัฐฯ ต่อไป ชิ้นส่วนเหล่านี้จะกลายเป็นหลักฐานสำคัญในการสืบสวนว่าเรือดำน้ำดังกล่าวเกิดระเบิดขึ้นจากสาเหตุใด

ในแถลงการณ์ที่ออกเมื่อวันพุธที่ผ่านมา หน่วยยามฝั่งของสหรัฐฯ ระบุว่า สามารถพบซากชิ้นส่วนและหลักฐานจากพื้นทะเล ซึ่งรวมถึงสิ่งที่ถูกระบุว่าน่าจะเป็น ‘ชิ้นส่วนร่างกายมนุษย์’

‘กัปตันเจสัน นอยบาวเออร์’ ผู้บัญชาการหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ กล่าวขอบคุณ การประสานงานและความร่วมมือจากนานาประเทศ รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ในการให้การสนับสนุนการกู้คืนและรักษาหลักฐานที่สำคัญนี้ ที่จมอยู่ในระยะทางและความลึกอย่างมากนอกชายฝั่ง

“หลักฐานดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ตรวจสอบจากศาลระหว่างประเทศหลายแห่ง ได้รับข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญเกี่ยวกับสาเหตุของโศกนาฏกรรมครั้งนี้ ยังมีงานอีกมากที่ต้องทำ เพื่อให้เรามีความเข้าใจถึงปัจจัยที่นำไปสู่การสูญเสียของเรือดำน้ำไททัน และช่วยให้แน่ใจว่าโศกนาฏกรรมที่คล้ายกันจะไม่เกิดขึ้นอีก” นอยบาวเออร์ กล่าว

ทั้งนี้ ซากชิ้นส่วนของเรือดำน้ำไททันที่บิดเบี้ยวผิดรูปถูกนำขึ้นฝั่งยังท่าเรือเซนต์จอห์น ในรัฐนิวฟันด์แลนด์และแลบราดอร์ของแคนาดา จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะไขปริศนาการเสียชีวิตของผู้โดยสารทั้ง 5 คน บนเรือดำน้ำดังกล่าวต่อไป

 

‘บิ๊กทิน’ แง้ม!! นายกฯ มีทางออกเรื่อง ‘เครื่องยนต์เรือดำน้ำ’ เชื่อ!! หาจุดที่ยอมรับได้ ‘ไทย - เยอรมัน - จีน’ ไม่หมางใจกัน

(7 ก.ย. 66) ที่บ้านพักย่านเกษตร-นวมินทร์ นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงจุดยืนของกองทัพเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเมียนมา และการสร้างจุดสมดุลระหว่าง 2 ขั้วมหาอำนาจ ว่า ทำงานเรื่องนี้ตนมีคณะทำงานที่กำลังศึกษาร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ ว่าจุดยืนควรจะเป็นอย่างไร ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และหลังจากที่ตนได้เข้าทำงานที่กระทรวงกลาโหมแล้วคณะทำงานชุดนี้จะสรุปให้ฟังว่าปัญหาเมียนมาจะเอาอย่างไร

เมื่อถามว่า ปัญหาเรื่องเรือดำน้ำ จะเป็นอย่างไร นายสุทิน กล่าวว่า นายกฯ จะมีทางออกที่เหมาะสม และสังคมไม่ผิดหวัง

เมื่อถามว่านายกฯ จะใช้เวทีการประชุมสหประชาชาติ ในการพูดคุยเรื่องนี้หรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า อาจเป็นไปได้ แต่นายกฯ มีทางออกที่ดี

เมื่อถามย้ำว่า มีเรื่องที่เกี่ยวกับกองทัพ เรื่องชายแดน เรื่องเมียนมาหรือไม่ เพราะว่าที่ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เดินทางไปด้วย นายสุทิน กล่าวว่า ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีในการพบปะกับนานาชาติ เรื่องไหนที่เป็นประโยชน์ เรื่องไหนที่จะแก้ปัญหาได้ ท่านคงทำ

เมื่อถามว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะเจรจากับเยอรมนี ให้ขายเครื่องยนต์เรือดำน้ำให้กับไทย และเจรจากับจีนหากไม่ใช้เครื่องยนต์ของจีน นายสุทิน บอกว่า ก็เป็นไปได้ซึ่งอาจเป็นแนวทางที่นายกฯ เตรียมไว้ในใจ ซึ่งมีโอกาสเปลี่ยนแปลง ได้หากผู้ใหญ่ระดับรัฐบาลคุยกัน

เมื่อถามว่า จะไม่มีปัญหาระดับประเทศใช่หรือไม่ นายสุทิน ย้ำว่า เราจะทำให้ไม่กระทบ ทั้งจีน เยอรมนี ไทย หากจุดที่พอใจ และกองทัพไม่เสียโอกาส ประเทศชาติไปเสียประโยชน์ พันธมิตรก็ไม่เสียใจ และตนเชื่อว่านายกฯ และ นายปานปรีย์ มหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะหาจุดสมดุล และ โจทก์ที่อยู่ในใจตนก็จะหารือกับนายกฯ เช่นกัน

‘นายกฯ เศรษฐา’ ชี้แจง ปมเครื่องยนต์เรือดำน้ำเยอรมัน บอกได้คุยผู้นำเยอรมันแล้ว แต่ยังไม่ชัดว่าจะใช้หรือไม่

(26 ก.ย. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการเข้าพบผู้นำเยอรมัน เพื่อเจรจา เครื่องยนต์ใส่ในเรือดำน้ำ ระหว่างการเดินทางไปประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญครั้งที่ 78 (UNGA78) ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นายเศรษฐา กล่าวย้อนถามว่า “เรื่องความชัดเจนใช่ไหม” ก่อนนายกฯ กล่าวว่า “ความชัดเจน คือยังไม่มีความชัดเจน”

เมื่อถามว่าการนัดพบไม่ได้ติดอุปสรรคอะไรหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า “ได้พูดคุยกันแล้วแต่ยังไม่มีความชัดเจน”

‘สิงคโปร์’ ทำพิธีปล่อย ‘เรือดำน้ำ’ ลำที่ 4 สุดทันสมัย พร้อมปฏิบัติการในพื้นที่น้ำตื้นของทะเลเขตร้อน

(25 เม.ย.67) เพจเฟซบุ๊ก ‘Thaifighterclub’ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ เรือดำน้ำ Type 218SG ลำล่าสุดของ ทร.สิงคโปร์ โดยระบุว่า…

“พิธีปล่อยเรือดำน้ำลำล่าสุดของ ทร.สิงคโปร์ ซึ่งเป็นลำสุดท้ายจากจำนวนทั้งหมด 4 ลำของเรือดำน้ำชั้น Invincible ที่ทางสิงคโปร์สั่งต่อจากเยอรมนี

ป.ล.มองประเทศเขาแล้วก็ถอนหายใจ เฮ้อเบา ๆ”

โดยมีชาวเน็ตต่างเข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก อาทิ

- ประเทศเรากำลังเป็นกองทัพเรือประมงครับ
- ที่ 1 ในใจเลยของเยอรมนี ตั้งแต่เป็นช่างซ่อมเครื่องจักรมาเกือบ 20 ปี ทุก ๆ อย่าง ของค่ายนี้สุด ๆ ทุก ๆ ด้านจริง ๆ
- ผู้นำเขายอดเยี่ยมจริง ๆ
- แสดงว่าเรือดำน้ำสำคัญ ที่ทุกประเทศอยากมี

ทั้งนี้ เรือดำน้ำชั้น Invincible ลำนี้ ได้รับการปรับปรุงพิเศษด้วยความร่วมมือระหว่าง เรือดำน้ำ Inimitable ของสิงคโปร์ อีกทั้งยังได้รับการออกแบบร่วมกันโดยกองทัพเรือสาธารณรัฐสิงคโปร์, สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม (DSTA) และ Thyssenkrupp Marine Systems ของเยอรมนี

ทำให้มีขีดความสามารถในการปฏิบัติการในพื้นที่น้ำตื้น ที่มีการสัญจรทางทะเลเขตร้อนที่แออัดของสิงคโปร์ ซึ่งถือเป็นเรือที่มีความทันสมัยระดับต้น ๆ ของโลก และนับเป็นเรือดำน้ำลำใหญ่ที่สุดที่สร้างขึ้นในเยอรมนีอีกด้วย

คณะทำงาน ‘ไทย-จีน’ ได้ข้อสรุป!! ไม่ยกเลิกสัญญา จ่อขยายสัญญา 1,200 วัน พร้อมติดเครื่องยนต์จีน

(16 พ.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการเจรจาแก้ปัญหาเรือดำน้ำ ระหว่าง พลเอกสมศักดิ์ รุ่งสิตา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กับตัวแทนหน่วยงานด้านยุทโธปกรณ์ ของกระทรวงกลาโหมจีน และตัวแทนบริษัท CSOC ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิต ที่กระทรวงกลาโหมเมื่อวันที่ 14-15 พฤษภาคม 2567 ได้เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว และมีข้อสรุปเบื้องต้นว่าจะเดินหน้าโครงการจัดหาเรือดำน้ำจีนต่อ 

โดย นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ได้เข้าร่วมรับฟังการประชุม ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ด้วย ทั้งนี้การเจรจาแก้ปัญหาเรือดำน้ำ ระหว่างไทยจีนดำเนินการมาแล้วหลายครั้ง แต่ที่ผ่านมาการเจรจาอาจจะล่าช้า เพราะทางฝ่ายจีน อยู่ในช่วงปรับโครงสร้างกองทัพ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลายหน่วยงาน แต่ขณะนี้ได้รวมศูนย์หน่วยงานด้านยุทโธปกรณ์ เป็นหน่วยงานเดียวขึ้นกับกระทรวงกลาโหมจีน ซึ่งได้เดินทางมาร่วมพูดคุย หาทางออกในครั้งนี้ด้วย

โดยหน่วยงานของจีนที่ส่งมาคือ The Bureau of Military Equipment and Technology Cooperation (BOMETEC) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับรองการขายอาวุธที่มีใช้ในกองทัพจีนให้กับต่างประเทศ และ ‘The State administration of Science, Technology and Industry for national Defense (SASTIND)’ ซึ่งเป็นหน่วยงานรับรองบริษัทที่ขายอาวุธให้ต่างประเทศ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับทางออกในการแก้ปัญหาโครงการเรือดำน้ำ มีเพียง 2 ทาง คือ 1. เดินหน้าต่อ หรือ 2. ยกเลิก ซึ่งหากการเปลี่ยนจากโครงการเรือดำน้ำ เป็นเรือฟริเกต หรือเรือ OPV ก็เท่ากับการยกเลิกโครงการเรือดำน้ำด้วยเช่นกัน ซึ่งจากการหารือ และประเมินข้อดี-ข้อเสียแล้วพบว่า การยกเลิกโครงการจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี โดยฝ่ายไทย อาจต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเรื่องเงินค่างวดที่จ่ายไปล่วงหน้า และอาจได้คืนเพียงบางส่วน ไม่ครบตามจำนวนที่จ่ายไปทั้งหมด ดังนั้น ทั้งสองฝ่ายจึงเลือกเดินหน้าโครงการจัดหาเรือดำน้ำต่อ เพื่อรักษาความสัมพันธ์ไทย-จีนที่มีมาอย่างยาวนาน

โดยทางฝ่ายจีนยินดีที่จะสนับสนุนทางการทหาร เช่น การสนับสนุนยุทโธปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรือดำน้ำ ทั้งเครื่องช่วยฝึก หรือ Simulator และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ รวมถึงเรื่องระบบประกัน / การฝึกศึกษา ซึ่งมีมูลค่าหลายร้อยล้านบาท แต่ทางจีนยังไม่ขอเปิดเผยในรายละเอียด เพราะต้องการให้ โครงการเรือดำน้ำเดินหน้าอย่างชัดเจนก่อน

สำหรับขั้นตอนต่อไป คือ กระทรวงกลาโหมจะสรุปผลการเจรจานำเสนอ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พิจารณา เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะจะต้องมีการแก้สัญญา 2 ส่วน ได้แก่ การขยายเวลาสัญญาต่อเรือดำน้ำออกไปอีกราว 1,200 วัน และ การเปลี่ยนเครื่องยนต์จากเยอรมัน MTU 396 เป็นเครื่องยนต์จีน CHD620 เพื่อให้ ครม. เห็นชอบต่อไป

ทั้งนี้มีข้อมูลว่าเครื่องยนต์ CHD 620 ได้ผ่านมาตรฐานจากสมาคมจัดชั้นเรือของประเทศอังกฤษ และประเทศปากีสถาน ได้จัดซื้อเรือ ดำน้ำจีนที่ติดตั้งเครื่องยนต์ CHD 620 ซึ่งน่าจะได้เห็นประสิทธิภาพของเรือดำน้ำในอีกไม่นานนี้

แหล่งข่าวกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า ในการเจรจาครั้งนี้ หน่วยงานทางการจีนได้รับข้อเสนอของไทยในการเพิ่มเติมการสนับสนุน โดยไม่ได้ใช้คำว่าชดเชย และจะนำกลับไปพูดคุยกับคณะกรรมาธิการกลางทหารของจีนอีกครั้ง เช่นเดียวกับข้อแลกเปลี่ยนสินค้าทางด้านการเกษตรฯ แต่ที่สำคัญคือการจะเดินหน้าต่อ รัฐบาลไทยต้องมีมติในเรื่องการเดินหน้าโครงการเรือดำน้ำ และการเปลี่ยนเครื่องยนต์ ทำให้ทางไทยยังไม่เปิดเผยรายการที่ทางจีนจะให้กับไทยอย่างละเอียด

ขณะที่มี รายงานข่าวในกระทรวงกลาโหมว่า การเจรจากับสาธารณรัฐประชาชนจีนยังไม่จบทั้งหมด แต่ช่วงนี้คณะพูดคุยคงยังไม่เดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีน และอาจจะไม่ไป เพราะจะคุยกันผ่านทางวิดีโอคอล คาดว่าน่าจะจบเร็ว ๆ นี้ และคงต้องไปหานายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่กำกับดูแล เพราะต้องไปรายงานเรื่องเรือดำน้ำ เมื่อมีความคืบหน้าในระดับหนึ่งเมื่อได้ทิศทางที่ชัดเจน

‘ผบ.ทร.’ ลั่น!! เจรจาจีน ปม ‘เรือดำน้ำ’ เรียบร้อย จ่อเสนอ ครม.เคาะ พร้อมเป็นเขี้ยวเล็บให้คนไทย

(30 พ.ค.67) ที่สนามฝึกยิงอาวุธทุ่งโปรง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) กล่าวถึงความคืบหน้าจัดหาเรือดำน้ำ ว่า เป็นไปตามขั้นตอนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่จะนำเรียนนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเข้าสู่คณะรัฐมนตรี พิจารณาเป็นครั้งสุดท้ายก็เป็นอันว่าสิ้นสุด ว่าจะเดินหน้าหรืออย่างไร และหากคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาให้เดินหน้าต่อ เราก็มาแก้ไขสัญญา มาถึงขั้นตอนนี้แล้วไม่ยาก และเมื่อแก้สัญญาแล้วก็เดินหน้าต่ออีก 1,217 วัน กองทัพเรือจะมีเรือดำน้ำมาเป็นเขี้ยวเล็บให้กับประชาชนคนไทย 

“หากเราได้เรือดำน้ำลำนี้มา จะเป็นเรือดำน้ำที่ทันสมัย และเป็นลำแรกของภูมิภาคนี้ ที่มีอาวุธนำวิถีปล่อยจากใต้น้ำ ที่เหมือนกับหนังฝรั่งที่เรือดำน้ำอยู่ใต้น้ำและสามารถปล่อยอาวุธจากใต้น้ำ เป็นเขี้ยวเล็บที่สำคัญที่สุดของกองทัพเรือ ซึ่งอาวุธดังกล่าวอยู่ในสัญญาที่ซื้อเรือดำน้ำอยู่แล้ว ผมมั่นใจว่าพี่น้องประชาชนคนไทยจะต้องภูมิใจกับเรือดำน้ำลำนี้” พล.ร.อ.อะดุง กล่าว

เมื่อถามว่าหลังจากได้ลำแรกแล้วเราจะดูลำที่สองลำที่สามต่อเลยหรือไม่ พล.ร.อ.อะดุง กล่าวว่า เราต้องทำให้ประชาชนสบายใจ และมั่นใจ ซึ่งกองทัพเรือมั่นใจว่าลำที่หนึ่งดี 

"เมื่อเราเดินหน้าเรือดำน้ำแล้วไปจนถึงขั้นตอนสุดท้ายแล้วจะเซ็นรับหรือไม่รับ ในปลายปี 2570 หากเป็นไปตามคอนเน็คชั่นส์ที่เราตกลงกันไว้ในตอนนี้ เราก็อาจไม่ต้องเซ็นรับด้วยความสบายใจได้เลย ซึ่งเราไม่ต้องคุยกับทางจีนแล้ว เป็นการเจรจาครั้งสุดท้ายเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา” ผู้บัญชาการทหารทหารเรือ กล่าว 

‘สุทิน’​ เผย ‘นายกฯ’ กำลังดูข้อกฎหมายเรือดำน้ำ ยัน!! หากแล้วเสร็จ จะเร่งนำเข้า ครม. ให้เร็วที่สุด

(25 มิ.ย. 67) นายสุทิน​ คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดซื้อเรือดำน้ำ ที่ขณะนี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี อยู่ระหว่างการดูข้อกฎหมายและจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เมื่อใด ว่า หากพิจารณาเสร็จ ก็จะพยายามนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เร็วที่สุด

ส่วนเรื่องความคืบหน้านโยบายให้เหล่าทัพ จัดซื้อยุทโธปกรณ์แบบแพ็กเกจ มีความคืบหน้าอย่างไร นายสุทิน กล่าวว่า จะมีการประชุมภายในสัปดาห์นี้พร้อมจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา ซึ่งความจริงแล้วได้มีการพูดคุยกันนอกรอบกับผู้บัญชาการเหล่าทัพแล้ว โดยทุกคนมีความเห็นพ้องต้องกัน แต่เพื่อให้มีความละเอียด แต่จะทำอย่างไรให้ออกมาเป็นมาตรฐานเดียวกันในทางปฏิบัติ จึงให้มีการไปศึกษาดู เช่น การแก้กฎหมายหรือออกเป็นคำสั่งหรือตั้งคณะทำงานพิเศษ ซึ่งคิดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในช่วงของปีงบประมาณ 2569 โดยได้มอบหมายให้พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานคณะทำงาน และปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นคณะทำงานพร้อมจะมีการเชิญเหล่าทัพต่าง ๆ เข้ามาร่วมพูดคุยว่าอะไรทำได้เลย และอะไรต้องแก้

ชม ARMY-2024 งานแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ EP#2 เรือดำน้ำโจมตีสุดล้ำ ศักยภาพไม่ด้อยกว่าค่ายตะวันตก

ตามที่บริษัท ROSOBORONEXPORT รัฐวิสาหกิจ ผู้นำเข้า-ส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์แต่เพียงผู้เดียวของสหพันธรัฐรัสเซีย ได้เชิญผู้เขียนในฐานะสื่อมวลชนจากสำนักข่าว THE STATES TIMES ไปเยี่ยมชมงานนิทรรศการแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ ARMY-2024 (12-14 สิงหาคม พ.ศ. 2567) รวม 3 วัน จึงขอนำเรื่องราวและประสบการณ์ในงานดังกล่าวทั้ง 3 วัน มาบอกเล่าให้ท่านผู้อ่าน THE STATES TIMES ได้ทราบเป็นตอน ๆ พอสังเขป 

ต่อจาก EP#1 ก็ยังเป็นวันแรก (12 สิงหาคม) หลังจากรับฟังการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโดรนพิฆาตหรือโดรนโจมตีของสหพันธรัฐรัสเซีย โดยบริษัท ROSOBORONEXPORT แล้ว ทีมงานก็พาเดินไปยังอาคารของบริษัท United Shipbuilding Corporation (USC) สำนักงานใหญ่ของ USC จะตั้งอยู่ในนคร St. Petersburg แต่ก็มีสำนักงานใน Patriot Park ด้วย 

USC ก่อตั้งขึ้นตามรัฐกฤษฎีกาของประธานาธิบดี Putin แห่งสหพันธรัฐรัสเซียซึ่งลงนามเมื่อเดือนมีนาคม 2007 จดทะเบียนในเดือนพฤศจิกายน 2007 เป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นหลัก เป็นบริษัทต่อเรือที่ใหญ่ที่สุดของสหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งต่อเรือรวม 80% ของเรือที่ต่อในประเทศ USC รวมบริษัทในสาขาต่าง ๆ ที่ประกอบกิจการต่อเรือ ซ่อมแซม และบำรุงรักษา สำหรับภาคตะวันตก ภาคเหนือ และ ภาคตะวันออกไกลของประเทศ โดยมีบริษัทย่อยในเครือ 3 แห่ง ได้แก่...

- อู่ต่อเรือ Admiralty (ศูนย์ต่อเรือตะวันตกใน St. Petersburgและ Kaliningrad) 
- ศูนย์ต่อและบำรุงรักษาเรือภาคเหนือใน Severodvinsk 
- และศูนย์ต่อและบำรุงรักษาเรือภาคตะวันออกไกลใน Vladivostok 

ทั้งนี้ ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ 'Kommersant' มูลค่ารวมของคำสั่งซื้อมีอยู่ที่ 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ USC มีพนักงานประมาณ 95,000 คน

สำหรับ USC รวมบริษัทลูก 3 แห่ง ประกอบไปด้วย อู่ต่อเรือในประเทศ สำนักงานออกแบบ และอู่ซ่อมเรือมากกว่า 60 แห่ง โดยบริษัทของ USC ดำเนินการในท่าเรือ และศูนย์กลางการขนส่งหลักทั้งหมดของประเทศ USC เป็นบริษัทที่รับต่อเรือทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น เรือรบ, เรือสินค้า, เรือบรรทุกน้ำมัน เรือโดยสาร ฯลฯ 

ส่วนในด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ USC ต่อเรือบรรทุกเครื่องบิน, เรือรบประเภทต่าง ๆ จนกระทั่ง เรือดำน้ำ โดยผู้บริหารของ USC ได้นำเสนอเรือรบแบบต่าง ๆ ให้กับคณะสื่อมวลชนที่ได้รับเชิญ แต่สิ่งซึ่งผู้เขียนให้ความสนใจมากที่สุดคือ 'เรือดำน้ำ' ที่ต่อโดย อู่ต่อเรือ Admiralty (ศูนย์ต่อเรือตะวันตกใน St. Petersburg) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ USC ได้แก่ 'เรือดำน้ำชั้น LADA' หรือ ชื่อส่งออกคือ 'เรือดำน้ำชั้น Amur'

'เรือดำน้ำชั้น LADA' ออกแบบและต่อขึ้นตามโครงการ 677 (Project 677) ของสหพันธรัฐรัสเซีย เป็นเรือดำน้ำโจมตี 'ดีเซล-ไฟฟ้า' ชั้นก้าวหน้ารุ่นใหม่ ที่ออกแบบโดยสำนักงานออกแบบ Rubin เพื่อพัฒนาเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้า Gen 4 

ทั้งนี้ โครงการ 677 เป็นการออกแบบเรือดำน้ำดีเซลไฟฟ้าของสหพันธรัฐรัสเซียที่พัฒนาขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1990 โดยออกแบบมาเพื่อใช้ในการต่อต้านเรือดำน้ำและเรือผิวน้ำ และการป้องกันฐานทัพเรือ ชายฝั่งทะเล ตลอดจนถึงเส้นทางเดินเรือ รวมถึงใช้ในการลาดตระเวน 

เรือดำน้ำรุ่นนี้ ถือเป็นการนำการออกแบบตัวถังเดียวมาใช้ครั้งแรกของกองทัพเรือรัสเซียสำหรับเรือดำน้ำโจมตีนับตั้งแต่ทศวรรษ 1940 โดยระวางขับน้ำลดลง 25% เมื่อเทียบกับเรือดำน้ำรุ่นก่อนหน้าอย่าง เรือดำน้ำชั้น KILO 

เรือดำน้ำชั้น Amur (เรือดำน้ำชั้น LADA เพื่อการส่งออก)

ไม่เพียงเท่านี้ ขีดความสามารถของเรือดำน้ำชั้น LADA ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นเป็นอย่างมาก โดยมีเสียงที่เบาลง ทำให้คุณสมบัติในการพรางตัวดีขึ้น ขณะที่ระบบอาวุธใหม่ ทั้งตอร์ปิโด, ขีปนาวุธโจมตี และตัวเลือกสำหรับระบบขับเคลื่อนอิสระจากอากาศ (AIP) ความเร็วสูงสุดขณะดำน้ำอยู่ที่ 21 นอต (39 กม./ชม. หรือ 24 ไมล์/ชม.) เพิ่มขึ้นจาก 19 นอต (35 กม./ชม. หรือ 22 ไมล์/ชม.) ในเรือดำน้ำชั้น KILO 

นอกจากนี้ เรือดำน้ำชั้น LADA ได้รับการออกแบบให้สามารถอยู่ในทะเลได้นานถึง 45 วัน โดยมีลูกเรือประจำ 35 นาย 

ทั้งนี้ เรือดำน้ำของสหพันธรัฐรัสเซียเป็นต้นแบบของเรือดำน้ำที่สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นผู้ผลิต มีพัฒนาการในการใช้งานมาอย่างยาวนาน โดยไม่ด้อยไปกว่าเรือดำน้ำของค่ายตะวันตกเลย 

อันที่จริงแล้วกองทัพเรือไทย ซึ่งรับผิดชอบดูแลอธิปไตย 2 ฝั่งทะเลคือ 'อ่าวไทย' และ 'อันดามัน' ซึ่งมีทั้งเรื่องของความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติทั้งแหล่งน้ำมันและก๊าซ ประมง และเส้นทางเดินเรือ ฯลฯ ปีละนับล้านล้านบาทนั้น ทางกองทัพเรือไทยจึงควรที่จะต้องมีเรือดำน้ำประจำการ 3 ลำเป็นอย่างน้อย โดยประจำการฝั่งทะเลละ 1 ลำ และอีก 1 ลำเพื่อผลัดเปลี่ยนสำหรับการซ่อมบำรุง 

หลาย ๆ ท่านอาจไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ แต่ความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่อาจที่ละเลยได้ ด้วยประเทศเพื่อนบ้านของไทยเราทุกประเทศที่แม้จะเป็นพันธมิตรกันใน ASEAN ก็ตามที แต่ในความเป็นจริงแล้วทุกประเทศต่างก็แข่งขันกันสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งไม่มีการยกเว้นแม้แต่ประเทศเล็ก ๆ อย่าง สิงคโปร์ 

ทว่า การจัดซื้อจัดอาวุธยุทโธปกรณ์ ก็ไม่เหมือนสินค้าประเภทอื่น เพราะมีเงินก็ไม่สามารถซื้อได้ทันทีที่ต้องการ ต้องมีขั้นตอน กระบวนการ และระยะเวลาในการจัดซื้อ และหลังจากได้รับอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ต้องการมาแล้ว ผู้ใช้ยังต้องทำการฝึกฝนหาความชำนาญ และทำความคุ้นเคย เพื่อให้สามารถใช้อาวุธยุทโธปกรณ์นั้น ๆ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอีกด้วย

กองทัพเรือสหรัฐฯ เตรียมส่งเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ 4 ลำ ประจำการออสเตรเลีย เพื่อถ่วงดุลจีนในอินโด-แปซิฟิก

(17 มี.ค. 68) กองทัพเรือสหรัฐอเมริกาได้ประกาศแผนการส่งเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ชั้นเวอร์จิเนีย จำนวน 4 ลำ เข้าประจำการที่ฐานทัพเรือ HMAS Stirling รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ภายในปี 2570 โดยภายใต้ข้อตกลง AUKUS ซึ่งเป็นความร่วมมือทางทหารระหว่างสหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย

ขณะนี้ กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ส่งเรือดำน้ำ USS Minnesota (SSN-783) เข้าร่วมการฝึกซ้อมนำร่องที่ฐานทัพเรือในออสเตรเลียแล้ว โดยการฝึกซ้อมดังกล่าวจะช่วยเตรียมความพร้อมให้กับกองทัพเรือสหรัฐฯ ในการส่งเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่เหลือเข้าประจำการในอนาคต นอกจากนี้ กองทัพเรือสหรัฐฯ ยังเตรียมส่งกำลังพล 50-80 นาย เข้าประจำการที่ฐานทัพเรือ HMAS Stirling ภายในกลางปี 2568 เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของเรือดำน้ำเหล่านี้

สำหรับที่ตั้งของ HMAS Stirling ตั้งอยู่ใกล้เอเชียและมหาสมุทรอินเดียมากกว่าที่ตั้งกองบัญชาการกองเรือแปซิฟิกของสหรัฐฯ ที่ฮาวาย มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ต่อสหรัฐฯ “การปกป้องมหาสมุทรอินเดียจากศักยภาพและอำนาจที่เพิ่มขึ้นของจีนเป็นสิ่งสำคัญ” ปีเตอร์ ดีน ผู้อำนวยการด้านนโยบายต่างประเทศและการป้องกันของศูนย์ศึกษาสหรัฐฯ แห่งมหาวิทยาลัยซิดนีย์ กล่าว

การส่งเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์และกำลังพลดังกล่าว ถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของสหรัฐฯ และพันธมิตรในภูมิภาคในการขยายอิทธิพลทางทะเล เพื่อเสริมสร้างการป้องกันและความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยเฉพาะการถ่วงดุลอิทธิพลของจีนที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วในพื้นที่ดังกล่าว

การประจำการของเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ในออสเตรเลียตามข้อตกลง AUKUS จะช่วยเสริมสร้างความสามารถในการปฏิบัติการทางทะเลของพันธมิตรในภูมิภาค และส่งสัญญาณถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ในการสนับสนุนพันธมิตรในออสเตรเลียและภูมิภาคนี้ในการรับมือกับภัยคุกคามต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top