Monday, 21 April 2025
เผาอ้อย

สอน. หวังทุบสถิติรับอ้อยสด 90% สูงสุดในประวัติศาสตร์ ชี้!! หาก รง.น้ำตาล งดรับอ้อยเผาจะช่วยคุมฝุ่น PM 2.5 ถาวร

(13 ม.ค. 68) นายใบน้อย สุวรรณชาตรี เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (ลอน.) เปิดเผยสถิติการรับอ้อยเผารายวันของโรงงานน้ำตาล 58 แห่งทั่วประเทศ ณ วันที่ 11 มกราคม 2568 พบว่า โรงงานน้ำตาลส่วนใหญ่ให้ ความร่วมมือในการรับอ้อยเผาน้อยกว่า 10% จำนวน 22 แห่ง โรงงานน้ำตาลรับอ้อยเผาเกิน 10-25% จำนวน 32 แห่ง และยังมีโรงงานน้ำตาลที่ไม่ให้ความร่วมมือ ที่ยังคงรับอ้อยเผาเกิน 25% จำนวน 4 แห่ง เฉลี่ยการรับอ้อยเผารายวันทั่วประเทศ คิดเป็น 14.89% ของปริมาณการรับอ้อยเข้าหีบทั้งหมด

โดยภาพรวมเฉลี่ยโรงงานน้ำตาลรับอ้อยเผาสะสมตั้งแต่เปิดหีบอ้อยจนถึงปัจจุบันคิดเป็น 19.57% ซึ่งสะท้อนเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า มาตรการที่กระทรวงอุตสาหกรรมจับมือร่วมกับโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศงดรับอ้อยเผาเข้าหีบในช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ 2568 จวบจนถึงวันเด็กแห่งชาตินี้ มีประสิทธิผลและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน โดยตัวเลขสถิติรับอ้อยเผาเข้าหีบในปัจจุบันที่ลดต่ำลงกว่า 20% ส่งผลให้ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index หรือ AQI) ในหลายพื้นที่ดีขึ้นตามลำดับ 

นายใบน้อยฯ กล่าวว่า แม้ว่าปริมาณการรับอ้อยเผาเข้าหีบจะลดลงทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้น แต่ยังพบว่า มีโรงงานน้ำตาลใน จ.อุดรธานี และพื้นที่ใกล้เคียงที่ไม่ให้ความร่วมมือ และยังคงมีการรับอ้อยเผาเข้าหีบสูงเกิน 25% มาตั้งแต่วันเปิดหีบ ทำให้คุณภาพอากาศโดยรวมยังไม่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน สอน. จึงย้ำมายังผู้บริหารและเจ้าของโรงงานน้ำตาลใน จ.อุดรธานีและพื้นที่ใกล้เคียง ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 อย่างจริงจัง เพื่อคืนอากาศบริสุทธิ์ให้ประชาชนให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันและทำกิจกรรมกลางแจ้งได้อย่างปลอดภัย ตลอดจนให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย กระตุ้นธุรกิจการท่องเที่ยวและการบริการ รวมถึงภาคการผลิตภายในประเทศให้เกิดการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดชะงักจากสภาวะฝุ่นพิษเกินเกณฑ์มาตรฐาน

นายใบน้อยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลของ สอน. พบว่า ถ้าโรงงานน้ำตาลรับอ้อยสดเข้าหีบได้กว่า 90% หรือสามารถลดการรับอ้อยเผาเฉลี่ยทั่วประเทศให้ไม่เกิน 10% ของปริมาณการรับอ้อยเข้าหีบทั้งหมดตลอดฤดูการผลิต 2567/68 จะทำให้สามารถลดการเผาอ้อยจากฤดูกาลผลิตที่แล้วลงได้กว่า 22 ล้านตัน หรือเทียบเท่าลดการเผาป่ากว่า 2.2 ล้านไร่ นอกจากนี้ ยังลดการปลดปล่อย PM2.5 ได้อีกกว่า 5,500 ตัน เมื่อเทียบปีก่อน ซึ่งจะส่งผลให้คุณภาพอากาศทั่วประเทศดีขึ้นเป็นอย่างมาก

ดังนั้น ในฤดูการผลิตปี 2567/68 หากโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศให้ความร่วมมือในการรักษาระดับการรับอ้อยเผาเข้าหีบให้ไม่เกิน 10% ซึ่งเทียบเท่ากับการเผาไร่อ้อยไม่เกิน 10,000 ไร่ต่อวัน จะส่งผลให้ค่า AQI ของอากาศในภาคกลางภาคตะวันออกภาคตะวันออกเฉียงเหนือและกรุงเทพมหานคร อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ไม่ส่งกระทบกับสุขภาพคนไทย ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ในช่วงฤดูหีบอ้อย 4 เดือน คือ ตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงมีนาคมของทุกปีได้อย่างแท้จริง และจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี อากาศบริสุทธิ์ อย่างที่ควรจะเป็น

“พวกเรา อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลจะร่วมกัน คืน “ฟ้าใส ไร้ฝุ่น PM 2.5” ตลอดจนสร้างภาพลักษณ์ ยกระดับศักยภาพการผลิตสู่การเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายตลอดห่วงโซ่อุปทานให้สอดรับกับกติกาสากล ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก สู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ได้อย่างยั่งยืน” นายใบน้อยฯ กล่าวทิ้งท้าย

‘นักวิชาการ วิศวะเกษตร’ เผย!! ค่าแรงงานตัด ‘อ้อยสด’ สูงกว่า ‘อ้อยเผา’ ถึง 3 เท่า ชี้!! ต้องสร้างระบบนิเวศน์ที่ยั่งยืน เพิ่มมูลค่าให้ ‘ใบอ้อย’ พัฒนาเทคโนโลยี ที่เหมาะสม

(26 ม.ค. 68) ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ‘Khwan Saeng’ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ ‘การเผาอ้อย’ ในฐานะที่เติบโตมา ในโรงงานผลิตเครื่องจักรกลเกษตร ในจังหวัดที่มีไร่อ้อยเยอะมากๆ จนต่อมาได้ทุนรัฐบาลญี่ปุ่นไปเรียนต่อ แล้วเลือกไปที่ Okinawa เพราะอยากจะทำรถตัดอ้อยขนาดเล็กช่วยชาวไร่จะได้ไม่ต้องเผา จนกลับมาเป็นอาจารย์ที่สาขาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยข้อความที่ ‘Khwan Saeng’ โพสต์นั้นมีใจความว่า ...

วันนี้ขอมาตอบคำถามที่หลายคนที่ไม่คุ้นเคยกับอ้อยสงสัยว่า ‘ทำไมต้องเผาอ้อย’ เท่าที่ตัวเองมีความรู้ที่จะตอบได้นะคะ

ปัญหาการเผาอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยว: สาเหตุ วิธีแก้ไข และอนาคต

• การเผาอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยวเป็นปัญหาสำคัญในอุตสาหกรรมอ้อยไทย เนื่องจากลดต้นทุนแรงงาน แต่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ (PM2.5) และทำลายความอุดมสมบูรณ์ของดิน

• สาเหตุหลักมาจากค่าแรงงานตัด ‘อ้อยสด’ ที่สูงกว่า ‘อ้อยเผา’ ถึง 3 เท่า เจ้าของแปลงเล็กๆ ขาดแคลนแรงงานและเครื่องจักร ทำให้ต้องพึ่งพาระบบการเผาเพื่อลดต้นทุนและขายอ้อยให้ทันเวลา

• แม้จะมีเครื่องจักรกลเกษตรขนาดเล็กสำหรับการตัดอ้อยสด แต่ก็ยังมีข้อจำกัดด้านต้นทุน การใช้งาน และความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ทำให้การเปลี่ยนแปลงยังไม่ครอบคลุม

• การแก้ปัญหาจำเป็นต้องมีมาตรการควบคู่กัน ทั้งการเพิ่มราคาอ้อยสด ลดการรับซื้ออ้อยเผา การให้เงินสนับสนุนและสินเชื่อสำหรับเครื่องจักรกลเกษตร รวมถึงการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากใบอ้อย

• งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เพื่อลดการเผาอ้อย เช่น เครื่องสับกลบใบอ้อย เครื่องอัดใบอ้อยเป็นก้อน และการใช้โดรนในการตรวจสอบการเผา

• อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และการมีส่วนร่วมของชุมชนมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการแก้ปัญหาการเผาอ้อยอย่างยั่งยืน การสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนจึงเป็นสิ่งจำเป็น

• อนาคตของการลดการเผาอ้อยนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ที่ยั่งยืน การเพิ่มมูลค่าให้กับใบอ้อย และการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมจะช่วยให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การจะแก้ปัญหานี้ได้ เรายังคงต้องช่วยกันหาทางสร้าง ‘มูลค่าเพิ่ม’ ให้ใบอ้อย หาทางลดค่าขนส่งใบอ้อย ซึ่งทั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่นและนักวิจัยจากหลายภาคส่วนมากๆ กำลังทำงานวิจัยด้านนี้อยู่ บางอย่างก็สำเร็จแล้วรอนำไปขยายสเกล บางส่วนก็เริ่มทดลองจริงในบางพื้นที่ และสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน นั่นก็คือ 

แผนงานที่ชัดเจนและต่อเนื่อง เป็นแผนที่แปลว่า Action Plan ที่บอกว่าหน่วยงานไหนต้องทำอะไร อย่างไร แค่ไหนในแต่ละปี แผนที่ไม่ใช่แค่ยอดตัวเลขเป้าหมายแต่ไม่บอกว่าต้องทำยัไงให้ถึงเป้า (ตัวอย่างเช่นที่บราซิล รัฐ โรงงานและชาวไร่ 19,000 รายลงนามกันปี 2008 เพื่อจะแบนทุกกิจกรรมการเผาให้หมดสิ้นภายในปี 2017)

กลไกการบังคับใช้กฏหมายที่จริงจังจากภาครัฐที่จริงใจ 

กลไกทางสังคม ชุมชนที่เข้มแข็งที่ทุกคนต้องมีจุดยืนร่วมกันว่า ‘ไม่เอาคนจุดไฟเผาใบอ้อย’ ผ่านการจูงใจรูปแบบต่างๆ 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top