Tuesday, 22 April 2025
เตือนภัย

แผ่นดินไหว 5.9 แมกนิจูด เขย่าภาคกลาง ‘ญี่ปุ่น’  ‘โรงไฟฟ้านิวเคลียร์’ ปลอดภัย ไม่มีเตือนภัยสึนามิ

(3 มิ.ย.67) กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น (JMA) เปิดเผยว่า เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.9 แมกนิจูดบริเวณคาบสมุทรโนโตะ จังหวัดอิชิคาวะทางตอนกลางฝั่งตะวันตกของประเทศ เมื่อช่วงเช้าของวันนี้ (3 มิ.ย.) รายงานระบุว่า เหตุแผ่นดินไหวครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเวลา 06.31 น.ตามเวลาท้องถิ่น และความรุนแรงของแผ่นดินไหวอยู่ที่ระดับ 5 จากทั้งหมด 7 ระดับ ซึ่งระดับ 7 เป็นระดับรุนแรงที่สุด และตามมาด้วยแผ่นดินไหวอีกครั้งขนาด 4.8 แมกนิจูด เมื่อเวลา 06.40 น.ตามเวลาท้องถิ่น อย่างไรก็ดีไม่มีการเตือนภัยสึนามิ และไม่มีรายงานความเสียหาย ผู้เสียชีวิต หรือได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว

บริษัทโตเกียว อิเล็กทริกพาวเวอร์คอมพานี หรือ เทปโก (TEPCO) กล่าวว่า ไม่พบความผิดปกติใดๆ ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์คาชิวาซากิ-คาริวะ ในจังหวัดนีงาตะ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง

‘กรมทะเลฯ’ เตือนภัย!! ‘แมงกะพรุนหัวขวด’ พิษร้ายแรง โผล่หาดภูเก็ต ย้ำ นทท.เฝ้าระวัง อาจเสี่ยงถึงตาย พร้อมแนะวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น

(26 มิ.ย.67) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ออกมาแจ้งเตือนว่า มีการพบแมงกะพรุนหัวขวด (Blue Bottle Jellyfish) ซึ่งเป็นแมงกะพรุนพิษร้ายแรง กลุ่มแมงกะพรุนไฟ ที่อ่าวหลา อ่าวทือ เกาะราชาใหญ่ จ.ภูเก็ต ขอให้นักท่องเที่ยว หรือผู้ทำกิจกรรมทางน้ำระวังการสัมผัส หากสัมผัสโดนแมงกะพรุนจะทำให้มีอาการปวดแสบปวดร้อน อาจส่งผลต่อระบบผิวหนัง ระบบประสาทหัวใจ และอาจเสียชีวิตได้ ล่าสุด รับแจ้งจาก Seafarer Divers Phuket บริษัท ซีฟาร์เรอร์ ไดเวอร์ ภูเก็ต จำกัด ว่า เจ้าหน้าที่เรือ 1 นาย สัมผัสแมงกะพรุนหัวขวดได้รับบาดเจ็บ หายใจติดขัด นำส่งโรงพยาบาล ล่าสุดอาการปลอดภัยแล้ว นอกจากนั้น ยังมีนักดำน้ำ สัมผัสอีก 2 คน

อย่างไรก็ตาม หากสัมผัสควรใช้วัสดุแข็งเขี่ยหนวดออกจากร่างกาย ห้ามใช้มือสัมผัสโดยตรง และห้ามนวดหรือทายาใดๆ ใช้น้ำส้มสายชูราดบริเวณที่สัมผัสอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 30 วินาที และห้ามใช้น้ำจืดในการล้างแผลโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้พิษกระจายเร็วขึ้น และรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

สำหรับแมงกะพรุนหัวขวด (Blue Bottle Jellyfish) : สกุล Physalia จัดอยู่ในกลุ่มแมงกะพรุนไฟ ไฟลัม Cnidaria คลาส Hydrozoa แมงกะพรุนหัวขวดมีลักษณะส่วนบนลอยโผล่พ้นน้ำคล้ายลูกโป่งรูปร่างรี ยาว คล้ายหมวกของทหารเรือชาวโปรตุเกส มีหนวดยาวสีฟ้าหรือสีม่วง มีเข็มพิษ (nematocyst) สำหรับป้องกันตัวและจับเหยื่อ กระจายอยู่ทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณหนวด (tentacle) แมงกะพรุนชนิดนี้ทั่วโลกพบ 2 ชนิดคือ แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส (P. physalis) และแมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกสอินโด-แปซิฟิก (P. utriculus)

สำหรับในประเทศไทยมีรายงานพบแมงกะพรุนหัวขวดประปราย ระหว่างเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ บริเวณชายหาดชลาทัศน์ และชายหาดสมิหลา จ. สงขลา ชายหาดแหลมตาชี จ.ปัตตานี หาดนาเทียน หาดละไม และหาดริ้น จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวอ่าวไทยได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้คลื่นลมพัดพาแมงกะพรุนเข้ามาชายฝั่งอ่าวไทยได้

ทั้งนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้จัดทำแอปพลิเคชัน Marine Warning Application on Mobile ระบบเตือนภัยท่องเที่ยวทางทะเล (Marine Tourism Warning System) เป็นระบบแจ้งเตือนภัยนักท่องเที่ยวหรือประชาชนในพื้นที่ใกล้จุดเกิดเหตุ ในการเฝ้าระวังและรวบรวมสถิติการเกิดปรากฏการณ์ภัยทางทะเล เช่น น้ำทะเลเปลี่ยนสี คลื่นย้อนกลับ ปัญหาคราบน้ำมัน จุดที่พบแมงกะพรุนพิษ และการกัดเซาะชายฝั่งในรูปแบบ Web Application และ Mobile Application โดยมีเมนูการใช้งาน ประกอบด้วย แสดงจุดเตือนภัยตามพิกัดที่เกิดเหตุในรัศมีที่กำหนด ระบบแจ้งเตือนบนมือถือ (Notification) พร้อมให้ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับระบบรับแจ้งเหตุฉุกเฉินเกี่ยวกับภัยพิบัติทางทะเลและชายฝั่ง ดาวน์โหลดติดตั้งฟรีได้แล้ววันนี้

‘สาว’ แชร์ประสบการณ์ช็อก!! เจองู 7 ตัวซุกในแอร์ห้องนอน หลังได้ยินเสียงกุกกักนานนับเดือน แนะ!! หมั่นสังเกตกันบ่อยๆ

(27 ก.ย. 67) ผู้ใช้ติ๊กต็อก @honeybeediary โพสต์แชร์ประสบการณ์เจองูอาศัยอยู่ในแอร์ถึง 7 ตัว หลังจากได้ยินเสียงกุกกักภายในแอร์ห้องนอนนานเป็นเดือน

โดยระบุว่า บันทึกประสบการณ์ตรง! ใครจะเชื่ออะไรมันอยู่ในแอร์ห้องนอนเรา แล้วเค้าอาศัยกันได้ไง 7 ชีวิต omg เรื่องจริง ๆ ของเราที่เจอเองมากับตัว... ตอนแรก ก็อยากบอกให้แค่เพื่อนที่รู้จัก แต่เราคิด ๆ ไป บางทีการที่ได้เแชร์เล่าให้เพื่อน ๆ ใน Tiktok ได้รู้ เพื่อเป็นการเตือนภัย หรือเฝ้าระวัง ใครไม่เคยสังเกตลองมองช่องแอร์ หรือได้ยินเสียงอะไรในแอร์ อย่าปล่อยทิ้งไว้ละเลย หรือรอเก็บหลักฐานจนนานแบบผึ้งนะคะ เหตุการณ์นี้เกิดมานานแล้วครบ ปีพอดี แต่ยังจำฝังใจเสมอมา

เพราะอันตรายมาก ๆ ปกติคือ ใช้อย่างเดียวแค่ เปิด-ปิด นอน ตื่นไปทำงาน เอาตรง ๆ ตอนนี้เราเองก็ยังหลอนไม่กล้านอนเปิดแอร์เลยเพราะ เปิดทีไรก็กลัวทุกที หวังว่า คลิปนี้ที่แชร์จะเป็นประโยชน์กับเพื่อน ๆ ทุกคนนะคะ

‘สุกฤษฏิ์ชัย ปชป.’ แสดงความเสียใจเหตุแผ่นดินไหวในเมียนมา-ไทย ชี้!! หากมีระบบแจ้งเตือน Real Time จะช่วยลดความสูญเสียได้

เมื่อวานนี้ (28 มี.ค. 68) นายสุกฤษฏิ์ชัย ธีระเริงฤทธิ์ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.2 ริกเตอร์ ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 28 มี.ค. 68 ว่า…

มีจุดศูนย์กลางอยู่ทางฝั่งประเทศเมียนมา ซึ่งถือว่ารุนแรงมาก มีแรงสั่นสะเทือนถึงประเทศไทยของเรา โดยเฉพาะทางพื้นที่ภาคเหนือภาคกลางและกรุงเทพมหานคร อันนำมาซึ่งความสูญเสียและมีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้เป็นจำนวนมาก ทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงต้องขอแสดงความเสียใจ และขอเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องชาวไทยทุกคน 

เหนือสิ่งอื่นใด ช่วงสภาวะวิกฤติในทุกเหตุการณ์ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ข้อมูล ข่าวสาร และการเตือนภัยอย่างเป็นทางการจากทางภาครัฐ ที่รัฐต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบ อาทิ แถลงการณ์ ข้อความสั้น (SMS Alert) เพื่อสร้างการรับรู้ไปในทิศทางเดียวกัน ลดความตื่นตระหนก ลดความโกลาหลในสังคม ลดการรับรู้ข้อมูลที่เป็นเท็จ ไม่ผ่านการตรวจสอบอย่างถูกต้อง แต่ในปัจจุบันก็ยังไม่มีการดำเนินการจากทางรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“ผมเองเคยเสนอแนวคิดเตือนภัยผ่านข้อความสั้น (SMS Alert) ไปแล้วเมื่อ ตุลาคม 2566 และเข้าใจว่าด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบดิจิทัลในปัจจุบันได้มีวิวัฒนาการไปมากกว่าในขณะนั้นแล้ว เป็นเรื่องง่ายและดำเนินการได้ทันที แต่ก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ที่จะนำมาใช้ให้บริการประชาชน”

ระบบเตือนภัยอย่างง่ายนี้ ยังอาจปรับใช้กับการเตือนภัยทางธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ ไฟป่า น้ำท่วม น้ำหลาก ดินถล่ม สึนามิ หรือ อุบัติเหตุร้ายแรง รถชน ไฟไหม้ เป็นต้น ซึ่งใช้ได้ทั้งในเชิงเฉพาะพื้นที่และภาพรวม อีกทั้งสามารถอัปเดตสถานการณ์แบบ Real Time ได้ทุกขณะ มีต้นทุนต่ำ เข้าถึงประชาชนโดยตรงได้อย่างดี

จากเหตุการณ์นี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจต้องทบทวน เร่งรัดและจัดให้มีระบบ สื่อและช่องทางการเตือนภัยอย่างเป็นระบบในทุกภัยที่อาจมีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และนำเทคโนโลยี ระบบดิจิทัลมาใช้ให้เกิดผลสูงสุด รวมถึงนำมาประยุกต์ใช้กับการอนุรักษ์และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top