Tuesday, 13 May 2025
เดลตาครอน

รัฐบาล ชี้ ข้อมูล 'เดลตาครอน' ยังไม่ชัด ‘บิ๊กตู่' วอนให้เชื่อมั่นสาธารณสุขไทย

10 ม.ค. 2565 - นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เฝ้าติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้จากกรณีของความห่วงกังวลเกี่ยวกับการพบเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ ในสาธารณรัฐไซปรัส ที่มีการตั้งชื่อว่า “เดลตาครอน (Deltacron)” ซึ่งเป็นการผสมผสานพันธุกรรมระหว่างสายพันธุ์เดลตากับสายพันธุ์โอมิครอน และพบผู้ติดเชื้อแล้วจำนวน 25 ราย นั้น กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชี้แจงว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลรายงานที่เป็นทางการออกมา อย่างไรก็ดี ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีการติดตามข้อมูลจากทั่วโลกอยู่ตลอดเวลา ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนในเร็วๆ นี้

ขณะเดียวกัน ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมจำนวน 25 ตัวอย่างจากฐานข้อมูลโควิดโลก “GISAID” ซึ่งทางไซปรัสได้อัปโหลดไว้ มาวิเคราะห์และพบว่ารหัสพันธุกรรมทั้ง 25 ตัวอย่างบ่งชี้ว่าเป็นสายพันธุ์เดลตา ซึ่งอาจมีการปนเปื้อนสารพันธุกรรมของโอมิครอนเข้ามาระหว่างการถอดรหัสพันธุกรรม ทั้งนี้ ขอย้ำว่า ข้อมูลดังกล่าวยังคงไม่ชัดเจน จึงอาจต้องใช้เวลาเก็บรวบรวมข้อมูลสักระยะ

ผู้เชี่ยวชาญ ยังกังขา ‘เดลตาครอน’ สายพันธุ์ใหม่จริง หรือถอดรหัสผิดพลาด?

ผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกบางส่วนชี้ โควิด-19 “เดลตาครอน” อาจเกิดจากความผิดพลาดของการถอดรหัสในห้องแล็บ

เมื่อวานนี้ (9 ม.ค.) มีข่าวที่สร้างความตระหนกให้กับคนทั้งโลกอีกครั้ง เมื่อ ลีออนดิออส คอสตริคิส (Leondios Kostrikis) ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพจากมหาวิทยาลัยไซปรัส ประเทศไซปรัส รายงานว่า ตรวจพบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ลูกผสม ระหว่างเชื้อสายพันธุ์เดลตากับโอมิครอน เรียกว่า “เดลตาครอน (Deltacron)”

“ขณะนี้มีการติดเชื้อร่วมของโอมิครอนและเดลตา และเราพบว่าสายพันธุ์นี้เป็นการรวมกันของสองสายพันธุ์นี้” คอสตริคิสบอก

เขาให้เหตุผลว่า ที่เชื่อว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดจากการผสมกัน เนื่องจากมีการระบุลายเซ็นทางพันธุกรรมที่เหมือนโอมิครอนภายในจีโนมของสายพันธุ์เดลตา

คอสตริคิสและทีมวิจัยของเขาได้รายงานพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาครอนแล้ว 25 ราย โดยข้อมูลลำดับพันธุกรรมของผู้ติดเชื้อเดลตาครอนทั้ง 25 รายนี้ได้ถูกส่งไปยัง GISAID หรือฐานข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของไวรัสระหว่างประเทศแล้งเมื่อวันที่ 7 ม.ค. ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ คอสตริคิสเชื่อว่า อย่างไรสายพันธุ์ใหม่นี้จะถูกแทนที่ด้วยสายพันธุ์โอมิครอนที่มีศักยภาพในการแพร่เชื้อได้สูงกว่าอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม หลังสื่อทั่วโลกมีการรายงานการค้นพบนี้ของไซปรัสออกไป ก็มีเสียงแสดงความไม่เห็นด้วยจากผู้เชี่ยวชาญหลายคนทั่วโลก โดยระบุว่า “การค้นพบดังกล่าวเกิดจากความผิดพลาดในห้องแล็บ โดยเป็นการปนเปื้อนของไวรัสที่อยู่ในแล็บ”

ดร.ครูติกา คุปปาลี แพทย์โรคติดเชื้อที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวเพียงว่า “เดลตาครอนไม่มีอยู่จริง” โดยเธอเขียนข้อความบนทวิตเตอร์ว่า “เดลตาครอนไม่ใช่ของจริง และน่าจะเกิดจากการเรียงลำดับพันธุกรรมผิดพลาด จากการปนเปื้อนของชิ้นส่วนโอมิครอนในตัวอย่างสายพันธุ์เดลตาในห้องแล็บ”

ในขณะเดียวกัน ดร.ทอม พีค็อก นักไวรัสวิทยาจากอิมพีเรียลคอลเลจ สหราชอาณาจักร ผู้เชี่ยวชาญการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสระดับโลก กล่าวในทวิตเตอร์ว่า ลำดับพันธุกรรมของโควิด-19 เดลตาครอนที่สื่อต่างๆ ทั่วโลกรายงานออกไปแล้วนั้น มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดจากการปนเปื้อนระหว่างสารพันธุกรรมของโอมิครอนและเดลตาในห้องปฏิบัติการ เวลาถอดรหัสพันธุกรรมจึงมีรหัสปนกันออกมาเสมือนเกิดเป็นสายพันธุ์ลูกผสม

“และจากการนำเอาข้อมูลรหัสพันธุกรรมมาสร้างเป็นแผนภูมิวิวัฒนาการ Phylogenetic Tree พบว่าตัวอย่างผู้ติดเชื้อทั้ง 25 รายไม่ได้มาจากคลัสเตอร์เดียวกัน ซึ่งแปลก เพราะหากเป็นสายพันธุ์ลูกผสมเพิ่งเกิดใหม่ ยังไม่ระบาดเป็นวงกว้าง ควรจะอยู่ในคลัสเตอร์เดียวกัน” ดร.พีค็อกระบุ

เขาเสริมว่า ลำดับพันธุกรรมของเดลตาที่มีการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์อื่นปรากฏขึ้นมาเป็นเวลานานแล้ว เช่น การพบการกลายพันธุ์ของมิวในเดลตา ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเกิดขึ้น

ด้าน ศ.นิก โลแมน ผู้เชียวชาญด้านจีโนมของจุลินทรีย์จากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม สหราชอาณาจักร ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับไวรัสโคโรนา กล่าวว่า แม้ว่าการเกิดลูกผสมระหว่างเดลตาและโอมิครอนจะไม่ใช่เรื่องน่าแปลก แต่ก็เห็นพ้องกับผู้เชี่ยวชาญท่านอื่นว่า การค้นพบเดลตาครอนของไซปรัสน่าจะเป็นข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในกระบวนการถอดรหัสพันธุกรรมจีโนมของไวรัสมากกว่า

สำหรับประเทศไทยเอง ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์ข้อความระบุว่า “ไวรัสชื่อประหลาดอย่างเดลตาครอน ถ้ามีจริงต้องแยกเชื้อออกมาให้ได้ เพิ่มปริมาณได้ และถอดรหัสออกมาได้ชัดเจน การได้ข้อมูลจากคนป่วยมาโดยตรง รีบถอดรหัส โอกาสสูงมากคือ การปนเปื้อนของไวรัสทั้งเดลตาและโอมิครอนที่อยู่ในแล็บ อย่าได้ขึ้นพาดหัวข่าวรีบเร่งบอกสื่อทั้งๆ ที่ยังไม่วิเคราะห์ผลให้ถี่ถ้วนก่อน

“ส่วนตัวเห็นด้วยกับ ดร.ทอม พีค็อก ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่กับข้อมูลไวรัสทุกวันทั้งวัน บอกว่าหลังดูข้อมูลการถอดรหัสพันธุกรรมว่า ไวรัสชื่อประหลาดนี้ ไม่น่ามีอยู่จริงครับด้วยเหตุผลข้างต้น จำเป็นต้องเพาะออกมาให้เห็นจริงๆ ก่อนค่อยเชื่อ ... ถาม WHO ก่อนก็ดีนะ ก่อนเรียกอะไรแบบเดลตาครอน”

ขณะที่ศูนย์จีโนม รพ.รามาธิบดี ได้เผยแพร่ข้อมูลผ่านเพจเฟซบุ๊กว่า “ถามว่าเกิดสายพันธุ์ลูกผสม “เดลตาครอน” ขึ้นที่ไซปรัสแล้วใช่หรือไม่ คำตอบคือน่าจะไม่ใช่”

โดยศูนย์จีโนมได้นำข้อมูลรหัสพันธุกรรม 25 ตัวอย่างที่ไซปรัสได้แชร์ไว้ให้ GISAID มาวิเคราะห์เอง ก็พบว่า เมื่อนำข้อมูลรหัสพันธุกรรมมาสร้างเป็นแผนภูมิวิวัฒนาการ Phylogenetic Tree ตัวอย่างทั้ง 25 รายไม่ได้มาจากคลัสเตอร์เดียวกัน โดยเพราะหากเป็นสายพันธุ์ลูกผสมเพิ่งเกิดใหม่ มีที่มาจากแหล่งเดียวกันยังไม่ระบาดเป็นวงกว้าง ควรจะอยู่ในคลัสเตอร์เดียวกันไม่แตกกิ่งก้านสาขาไปมากมาย

“และจากรหัสพันธุกรรมทั้ง 25 ตัวอย่างบ่งชี้ว่าเป็นสายพันธุ์ “เดลตา” ซึ่งอาจมีการปนเปื้อนสารพันธุกรรมของ “โอมิครอน” เข้ามาระหว่างการถอดรหัสพันธุกรรม” ศูนย์จีโนมระบุ

คำถามที่ตามมาคือหากมีสายพันธุ์ลูกผสมเกิดขึ้นมาจริงๆ ทางศูนย์จีโนมฯ จะตรวจพบหรือไม่ “คำตอบคือน่าจะตรวจพบ เพราะขณะนี้เราถอดรหัสพันธุกรรมด้วยเทคโนโลยีสายยาว (long-read sequencing) ประมาณ 1,000 - 2,000 ตำแหน่งต่อสาย ดังนั้นหากพบรหัสพันธุกรรมของเดลตาและโอมิครอนผสมปนกันอยู่ในสายเดียวกัน ก็แสดงว่าน่าจะเป็นสายพันธุ์ลูกผสม”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top