Monday, 21 April 2025
เจษฎาเด่นดวงบริพันธ์

‘อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์’ เผย!! ‘โรงไฟฟ้านิวเคลียร์’ ที่ ‘รัสเซีย’ จะสร้างให้ ‘เมียนมา’ ชี้!! ใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบ SMR เล็ก ทันสมัย ไม่กระจายกัมมันตรังสี มาที่ไทย

(8 มี.ค. 68) รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า …

"โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่รัสเซียจะสร้างให้เมียนมา น่าจะเป็นแบบนี้ครับ"

ตอนนี้ กำลังเป็นข่าวฮอตเลย กับเรื่องที่ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ของประเทศเมียนมา และประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ได้ลงนามร่วมกันที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ขึ้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งห่างจากชายแดนไทยที่จังหวัดกาญจนบุรีแค่ 132 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพฯ แค่ 300 กิโลเมตร ทำเอาหลายต่อหลายคนกังวลว่า จะเกิดผลกระทบอะไรตามมาหรือเปล่าถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้น ?

ปัญหาคือตอนนี้ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดังกล่าว ว่าจะใช้เทคโนโลยีอะไรบ้าง มีเพียงแค่บอกว่า จะมีขนาดกำลังการผลิต 110 เมกะวัตต์ และใช้เทคโนโลยีของรัสเซียเอง ตามบันทึก MOU เพื่อพัฒนาการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้อย่างสันติ ที่ลงนามไปตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2565 แล้ว

ผมก็ได้สอบถามไปทางผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานนิวเคลียร์ ของจุฬาฯ คือ อาจารย์ดิว (ผศ. ดร. พงษ์แพทย์ เพ่งวาณิชย์) ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ .. 

อาจารย์ดิว ให้ความเห็นว่า แม้ตอนนี้จะยังไม่มีรายงานถึงชนิดของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่เมียนมาจะใช้ แต่ก็น่าจะเป็นเครื่อง RITM-200N จำนวน 2 เครื่อง (เครื่องละ 55 เมกะวัตต์) ตามแบบที่รัสเซียไปเซ็นสัญญาสร้างให้กับประเทศอุซเบกิสถาน เมื่อปีที่แล้ว (มิถุนายน 2024) เพราะปรกติจะไม่ค่อยมีการออกแบบดีไซน์เครื่องกันใหม่บ่อยๆ อย่างมากก็เอาแบบเดิมนี้ไปปรับขยายกำลังการผลิต

ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็น่าจะอยู่ในกลุ่มของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ชุดโมดุลาร์ ขนาดเล็ก หรือที่เรียกว่า SMR (small modular reactor) คล้ายกับที่ผมเคยติดตามคณะทำงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ไปดูงานที่เกาะไหหลำ ประเทศจีนมาแล้ว และไทยเรากำลังสนใจอย่างยิ่งที่จะนำเอามาใช้ผลิตไฟฟ้าบ้าง

โรงงานไฟฟ้าที่ใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบ SMR นี้ มีขนาดเล็กและทันสมัยมาก อุปกรณ์หลักทุกอย่างอยู่ในชุดโมดุลเดียวกัน และติดตั้งอยู่ภายใต้อาคารหลังเดียวได้ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าไม่ได้สูงมากนัก (เช่น เหมาะกับการจ่ายไฟฟ้าในกับเมืองๆ เดียว หรือกับพวกศูนย์เดต้าเซนเตอร์ ของบริษัทเทค ) ทำให้สามารถควบคุมความปลอดภัยได้ง่ายและในวงแคบ แค่ระดับไม่เกิน 1 กิโลเมตรเท่านั้น .. จึงมั่นใจได้ว่า ไม่ได้จะเกิดอันตรายในวงกว้าง เหมือนอย่างโรงไฟฟ้าโบราณ แบบเชอร์โนบิล ที่จะแพร่กระจายกัมมันตรังสีมาถึงไทยเราได้

(แต่ๆๆ อันนี้เป็นเทคโนโลยีที่สร้างโดยรัสเซีย และให้เมียนมาดูแลต่อ ซึ่งก็ยังมีสงครามกลางเมืองกันอยู่ .. ถึงจะมีหน่วยงานสากล อย่าง IAEA มากำกับ ผมก็รับประกันความปลอดภัยไม่ได้เต็มปากเต็มคำนะครับ ฮะๆ)

เอาข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ RITM-200N ที่รัสเซียขายและติดตั้งให้กับอุซเบกิสถาน มาให้อ่านด้านล่างนี้ครับ

- ภายหลังจากที่มีการเยือนอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซียไปยังอุซเบกิสถานแล้ว เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2024 หน่วยงานกลางว่าด้วยพลังงานปรมาณู (หรือ Rosatom) ของประเทศรัสเซีย ได้ลงนามสัญญาเพื่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูลาร์ (small modular reactor nuclear power plant หรือ SNPP) ที่ออกแบบโดยรัสเซีย ในประเทศอุซเบกิสถาน นับเป็นการส่งออกโรงไฟฟ้า SNPP ขั้นสูงเป็นครั้งแรกของโลก และจะลงมือสร้างโดยทันที โครงการนี้จะใช้เงินจากอุซเบกิสถาน โดยไม่กู้จากรัฐบาลรัสเซีย

- โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จะสร้างขึ้นในอุซเบกิสถาน จะกลายเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าพื้นฐาน สำหรับระบบพลังงานของประเทศ โดยเครื่องปฏิกรณ์หน่วยแรก มีกำหนดจะเริ่มทำงานในปลายปี 2029 และเครื่องต่อไปจะค่อยๆ ถูกเปิดใช้งานทีละหน่วย ตามประมาณการความต้องการพลังงานของอุซเบกิสถาน ที่จะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ภายในปี 2050 โดยอุชเบกิสถานสนใจทั้งโครงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบโมดูลาร์ขนาดเล็กนี้ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่

- โครงการนี้ จะก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 330 เมกะวัตต์ ในภูมิภาค Jizzakh ของอุซเบกิสถาน และโรงไฟฟ้าจะใช้เครื่องปฏิกรณ์ขนาดเล็กแบบโมดูลาร์ 6 เครื่อง แต่ละเครื่องมีกำลัง 55 เมกะวัตต์ (รวมเป็น 330 เมกะวัตต์) โดยมีบริษัท AtomStroyExport (ASE) ของรัสเซียเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างหลัก และให้บริษัทอื่นๆ ในประเทศเมียนมา เข้าร่วมโครงการก่อสร้างนิวเคลียร์อย่างกว้างขวางด้วย
(บริษัท AtomStroyExport เป็นบริษัทรับเหมาหลักของรัสเซีย ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยเป็นส่วนหนึ่งของ Rosatom มีประสบการณ์ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลายแห่งทั่วโลก เช่น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Kudankulam ในอินเดีย โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Bushehr ในอิหร่าน และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Akkuyu ในตุรกี และมีบทบาทสำคัญในการสร้างโรงไฟฟ้า SNPP ในอุซเบกิสถาน ซึ่งเป็นโครงการส่งออก SNPP แห่งแรกของโลก )

- ได้มีการสำรวจทางวิศวกรรมบนบริเวณที่จะสร้าง เพื่อยืนยันความเหมาะสมสำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่ง ASE กล่าวว่างานก่อสร้างบนสถานที่ จะเริ่มในเดือนกันยายน 2024 โดยเริ่มจากการสำรวจที่ดิน และการจัดตั้งค่ายก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐาน 

- สำหรับเครื่องปฏิกรณ์ตามข้อตกลง จะใช้เครื่องปฏิกรณ์ RITM-200 แบบระบายความร้อนด้วยน้ำ ซึ่งมีอายุการใช้งาน 60 ปี งานออกแบบเครื่องปฏิกรณ์เริ่มขึ้นในปี 2001 โดยบริษัทวิศวกรรมนิวเคลียร์ OKBM Afrikantov ในเครือของ Rosatom 

- ข้อดีสำคัญที่สุดของ RITM-200 คือ มีการติดตั้งหน่วยผลิตไอน้ำขนาดเล็ก รวมเอาไว้อยู่ในเครื่องปฏิกรณ์ (ไม่ได้แยกส่วน เหมือนพวกเครื่องปฏิกรณ์ขนาดใหญ่ ทำให้ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุอันตรายลง) มีแกนเครื่องปฏิกรณ์ที่มีพลังงานสูง และมีเครื่องกำเนิดไอน้ำ ที่มีพื้นผิวแลกเปลี่ยนความร้อน ขนาดกะทัดรัด นอกจากนี้ ระบบความปลอดภัยและควบคุมของเครื่องนั้น เป็นไปตามข้อกำหนดล่าสุด ด้านความปลอดภัยโดยธรรมชาติและการปกป้องสิ่งแวดล้อม และใช้งานง่าย

- ตั้งแต่ปี 2012 มีเครื่องปฏิกรณ์ RITM-200 จำนวน 10 เครื่อง ได้ถูกผลิตขึ้นสำหรับเรือตัดน้ำแข็งนิวเคลียร์อเนกประสงค์ ห้าลำของรัสเซีย ตาม Project 22220 โดยเครื่องปฏิกรณ์ 6 เครื่อง ได้ติดตั้งบนเรือตัดน้ำแข็ง Arktika, Sibir และ Ural ซึ่งใช้งานอยู่ ขณะที่มีการก่อสร้างอีก 2 ลำ คือเรือ Yakutia และ Chukotka ที่กำลังจะเสร็จสิ้น

- เครื่องปฏิกรณ์ RITM-200 ยังจะถูกติดตั้งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ลอยน้ำ เพื่อจ่ายพลังงานให้กับเหมือง Baimsky GOK ใน Chukotka อีกด้วย และมีการดัดแปลงการออกแบบของเครื่องปฏิกรณ์รุ่นนี้ เพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องปฏิกรณ์หน่วยที่ 1 ของโรงไฟฟ้า SNPP ของสาธารณรัฐ Yakutian หนึ่งในเขตปกครองของสหพันธรัฐรัสเซีย 

- โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ชนิด SNPP นั้นกำลังเป็นที่ต้องการ โดยมีหลายประเทศที่มีความสนใจในเครื่องปฏิกรณ์ขนาดเล็กแบบโมดูลาร์ ที่ออกแบบโดยรัสเซีย ซึ่งเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ปี 2024 รัฐบาลรัสเซียได้อนุมัติร่างข้อตกลงเกี่ยวกับหลักการพื้นฐานของความร่วมมือ ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กในเมียนมา ข้อตกลงดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะสร้าง SNPP ที่มีกำลังไฟฟ้าขั้นต่ำ 110 เมกะวัตต์ในประเทศนี้ และโรงไฟฟ้านี้จะติดตั้งเครื่องปฏิกรณ์แบบระบายความร้อนด้วยน้ำ ของรัสเซีย

- โรงไฟฟ้า SNPP ที่ใช้เครื่องปฏิกรณ์ RITM-200 นั้น ไม่ใช่เทคโนโลยีเดียวที่ประเทศอื่นๆ สนใจ ปลายเดือนพฤษภาคม 2024 ที่ผ่านมา อเล็กซีย์ ลิคาเชฟ ได้จัดการประชุมตามปกติกับ อจิต คุมาร โมฮันตี้ ประธานคณะกรรมการพลังงานปรมาณูของอินเดียและเลขานุการของรัฐบาลอินเดีย กระทรวงพลังงานปรมาณู พวกเขาได้พบกันที่ Seversk ณ สถานที่ก่อสร้างโรงงานผลิตพลังงานสาธิตที่จะประกอบด้วยเครื่องปฏิกรณ์ BREST-300-OD แบบนิวตรอนเร็ว ระบายความร้อนด้วยตะกั่ว และหน่วยแปรรูปเชื้อเพลิงที่ใช้แล้วและการผลิตเชื้อเพลิงใหม่/การผลิตเชื้อเพลิงใหม่ บนสถานที่ ซึ่งสร้างขึ้นภายใต้โครงการ Proryv (ภาษารัสเซีย แปลว่า 'การพัฒนา') ซึ่งตามการจำแนกประเภทของ IAEA เครื่อง BREST-OD-300 นี้ ถูกจัดประเภทเป็นเครื่องปฏิกรณ์กำลังต่ำ (สูงสุด 300 เมกะวัตต์)

‘อ.เจษฎา’ โพสต์ข้อความ!! วอน ‘ท่านนายกฯ’ สั่งย้าย อุเทนถวาย ชี้!! มันจบทุกขั้นตอนแล้ว ก็ยังดื้อ ไม่ยอมไปซักที ทำชาวบ้านเดือดร้อน

(23 มี.ค. 68) รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า …

ขอท่านนายกฯ อิงค์ กรุณาลงนามคำสั่งย้ายอุเทนถวาย เถอะครับ มันจบทุกขั้นตอนแล้ว ก็ยังดื้อ ไม่ยอมไปซักที ชาวบ้านเดือดร้อน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top