Sunday, 20 April 2025
เงินฝาก

'สถาบันคุ้มครองเงินฝาก' เผย เงินฝาก ‘คนไทย’ เริ่มหดตัวตั้งแต่ปี 65 น่ากังวล!! ส่วนใหญ่มีแค่ 'เศษเงินติดบัญชี' มีเงินฝากไม่ถึง 5,000 บาท

(3 พ.ย. 66) นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) กล่าวว่า สิ้นเดือน ส.ค. 2566 มีจำนวนผู้ฝากเงินที่ได้รับความคุ้มครอง อยู่ที่ 93.46 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 0.05 ล้านราย คิดเป็นการเติบโต 3.37% โดยปัจจุบันวงเงินคุ้มครองเงินฝากตามที่กฎหมายกำหนดที่ 1 ล้านบาท ยังคงสามารถคุ้มครองผู้ฝากเงินได้เต็มจำนวน ครอบคลุมผู้ฝากเงินรายย่อยส่วนใหญ่ของประเทศ คิดเป็นสัดส่วน 98.08% ของผู้ฝากเงินที่ได้รับความคุ้มครองทั้งระบบ

ขณะที่จำนวนเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง อยู่ที่ 15.96 ล้านล้านบาท ลดลง 1.32% ซึ่งเกิดจากปัจจัยความผันผวนทางเศรษฐกิจ

โดยในรายละเอียด พบว่า จำนวนผู้ฝากเงินที่มีเงินฝากไม่เกิน 50,000 บาท หรือส่วนมากไม่เกิน 5,000 บาท ในเดือน ส.ค. 2566 อยู่ที่ 81 ล้านราย จากทั้งหมด 93.46 ล้านราย เติบโต 4.45% ซึ่งในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีเงินฝากไม่ถึง 5,000 บาท แต่จำนวนเงินฝากกลับเริ่มมีการหดตัวตั้งแต่ปี 2565 ที่ ติดลบ 0.63% และในเดือน ส.ค. 2566 ติดลบ 3.61%

ทั้งนี้ ผู้มีเงินฝากมากกว่า 50,000 บาท แต่ไม่เกิน 1,000,000 บาท มีการปรับตัวลดลง ทั้งจำนวนเงินฝากและจำนวนผู้ฝากตลอดช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อผู้ฝากที่มีเงินฝากไม่มากนักจึงต้องนำเงินออมมาใช้จ่าย จนอาจทำให้สุขภาวะที่ดีทางการเงินอ่อนแอลงได้

เช่นเดียวกับผู้มีเงินฝากตั้งแต่ 1,000,000-5,000,000 บาท ก็เริ่มมีตัวเลขเงินฝากลดลงในปีนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งเกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แรงกดดันจากภาวะสงคราม ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น และการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่าง ๆ ของโลก ต่างกำหนดนโยบายการเงินที่เข้มงวด เพื่อรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับสูง ส่งผลโดยตรงต่อการบริโภคและการลงทุน

'รศ.ดร.นงนุช' ชี้!! หากนำเงินไปฝากแบงก์-ได้ดอกเบี้ย = ผู้ฝากเงินเป็นเจ้าหนี้ สะท้อนมุม 'เงินสด' ไม่ใช่หนี้-อยู่ฝั่งสินทรัพย์ ส่วน 'หนี้' ก็ไม่มีทางเป็นรายได้

(17 ก.ย. 67) รศ.ดร.นงนุช ตันติสันติวงศ์ นักวิชาการด้านเศรษฐกิจ การเงินและการคลังและภาษี มหาวิทยาลัยนอตทิงแฮม เทรนต์ ประเทศอังกฤษ และ Visiting Academic, School of Electronics & Computer Science, University of Southampton ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ในหัวข้อ 'เงินสดคือหนี้ เงินกู้คือรายได้….จริงหรือไม่ ถูกหรือผิด' ระบุว่า...

ต่อไปนี้จะเป็นคำอธิบายจากคนที่อยู่กับเศรษฐศาสตร์มาปีนี้ ปีที่ 30 เป็นนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ที่ทำทั้ง Macro Economic Model, Policy and Research มา 20 ปี และทำงานที่เกี่ยวกับสายการเงินการธนาคารมาตั้งแต่ปี 1998 ทั้งสอน วิจัย และทำงานตั้งแต่ฝึกงานยันบริหารทีม

📌 เวลาสอนวิชาการเงิน (Finance) 

เงินสด (Cash) คือ เงิน (Money) และเงินกู้ (Loan) คือ หนี้ (Debt)

📌 เวลาสอน Balance Sheet ให้กับคนเรียน Corporate Finance

เงินสด (Cash) อยู่ฝั่งสินทรัพย์ (Assets) ส่วนเงินที่ยืมเขามาใช้ดำเนินกิจการหรือลงทุน ไม่ว่าจะอยู่ในรูปเงินกู้ (Loan) หรือตราสารหนี้ (Debenture) เช่น หุ้นกู้ จะอยู่ฝั่งหนี้สิน (Liabilities) ค่ะ

📌 เวลาสอน Balance Sheet ให้กับคนเรียนสายธนาคาร Banking

เงินสด (Cash) อยู่ฝั่งสินทรัพย์ (Assets) เงินที่ธนาคารให้กู้ (Loans) ก็อยู่ฝั่งสินทรัพย์ (Assets) ค่ะ ส่วนเงินฝาก (Deposits) หรือก็คือเงินที่ธนาคารยืมมาจากผู้ฝากเงินอยู่ฝั่งหนี้สิน (Liabilities)

📌 เวลาสอนหรือทำวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ (Economics) 

เงินสด (Cash: Currency and Notes) รวมเหรียญและธนบัตร คือ ส่วนหนึ่งของอุปทานเงิน (Money Supply)

เงินกู้ (Loan) คือ เงินที่ผู้มีความต้องการใช้เงินกู้ยืมจากผู้มีเงินส่วนเกิน โดยมีกำหนดจ่ายคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยที่ถือเป็นการตอบแทนการให้ใช้เงิน จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของอุปสงค์ต่อเงิน (Money Demand)

เงินสดจึงไม่ใช่หนี้ เพราะผู้ถือเงินสด อยู่ในฝั่ง Money Supply ที่จะได้ดอกเบี้ยหากนำไปให้ผู้อื่นใช้ เช่น เอาเงินไปฝาก ก็ได้ดอกเบี้ยจากธนาคารค่ะ ผู้ฝากเงิน ถือเป็นเจ้าหนี้

ในขณะที่ผู้ที่ก่อหนี้ เป็นลูกหนี้ที่มีภาระจ่ายคืนหนี้พร้อมดอกเบี้ย ส่วนจะเอาหนี้ที่ก่อไปทำอะไร สร้างรายได้เพิ่มหรือผลาญเล่น มันก็อยู่ที่คนก่อหนี้ค่ะ…แต่ยังไงซะ หนี้ (Debt) ไม่มีทางเป็นรายได้ (Income) เป็นได้แค่ตัวที่อาจสามารถนำไปใช้เพื่อทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเท่านั้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top