Friday, 23 May 2025
เขื่อนสิริกิติ์

27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ในพิธี วางศิลาฤกษ์ ‘เขื่อนสิริกิติ์’

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เขื่อนสิริกิติ์ อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์

เดิมเขื่อนนี้มีชื่อว่า 'เขื่อนผาซ่อม' โดยก่อสร้างปิดกั้นแม่น้ำน่าน บริเวณเขาผาซ่อม ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ภายหลังได้รับพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มาขนานนามเขื่อนว่า เขื่อนสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2511

4 มีนาคม พ.ศ. 2520 ครบรอบ 47 ปี ‘ในหลวง ร.9’ เสด็จฯ เปิด ‘เขื่อนสิริกิติ์’ เขื่อนอเนกประสงค์ที่สร้างคุณประโยชน์ให้ปชช.นานัปการ

เขื่อนสิริกิติ์ เป็นเขื่อนดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ก่อสร้างขึ้นตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำน่าน เดิมชื่อ ‘เขื่อนผาซ่อม’ ต่อมาได้รับพระบรมราชานุญาตให้เชิญพระนามาภิไธยของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขนานนามว่า ‘เขื่อนสิริกิติ์’

เขื่อนสิริกิติ์ สร้างปิดกั้นลำน้ำน่านที่ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ดำเนินการก่อสร้างโดยกรมชลประทานเมื่อปีพ.ศ. 2506 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2515 ลักษณะของเขื่อนเป็นเขื่อนดิน แกนกลางเป็นดินเหนียว สูง 113.6 เมตร ยาว 810 เมตร กว้าง 12 เมตร อ่างเก็บน้ำสามารถเก็บกักน้ำได้ 9,510 ล้านลูกบาศก์เมตร ความจุของอ่างมากเป็นที่ 3 รองจากเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนภูมิพลโรงไฟฟ้าและองค์ประกอบดำเนินการก่อสร้างโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อปี พ.ศ. 2511 แล้วเสร็จใน ปี พ.ศ. 2515 ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า รวม 4 เครื่อง กำลังผลิตเครื่องละ 125,000 กิโลวัตต์ รวมกำลังผลิต 500,000 กิโลวัตต์ ให้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยปีละ 1,000 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนสิริกิติ์และโรงไฟฟ้าเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2520

เขื่อนสิริกิติ์ จัดเป็นเขื่อนอเนกประสงค์ โดยประโยชน์ที่ได้จากเขื่อนนี้มีหลายประการ คือ

>> การชลประทาน น้ำจากอ่างเก็บน้ำจะถูกปล่อยออกไปยังพื้นที่เพาะปลูกในทุ่งราบสองฝั่งแม่น้ำน่านกับพื้นที่ทุ่งเจ้าพระยาทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้งในปริมาณที่ได้มีการตกลงร่วมกันไว้กับกรม

>> การบรรเทาอุทกภัย อ่างเก็บน้ำจะช่วยเก็บกักน้ำที่อาจจะไหลบ่าลงมา ช่วยลดการเกิดอุทกภัยในทุ่งราบสองฝั่งแม่น้ำน่าน ตลอดจนทุ่งเจ้าพระยาลงมาถึงกรุงเทพมหานคร

>> การผลิตกระแสไฟฟ้า น้ำที่ปล่อยออกไปเพื่อการชลประทานจะผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทั้ง 4 เครื่อง ให้พลังไฟฟ้า 500,000 กิโลวัตต์ ช่วยเสริมระบบไฟฟ้าของประเทศให้มั่นคงยิ่งขึ้น

>> การประมง กฟผ. ได้นำพันธุ์ปลาน้ำจืดหลายชนิดปล่อยลงอ่างเก็บน้ำเป็นจำนวนมาก ทำให้กลายเป็นแหล่งประมงน้ำจืดขนาดใหญ่ช่วยเสริมรายได้ให้กับราษฎรบริเวณนั้น

>> การคมนาคมทางน้ำ ช่วยให้การคมนาคมทางน้ำบริเวณเหนือเขื่อนไปยังจังหวัดน่านสะดวกและใช้งานได้ตลอดปี

>> การท่องเที่ยว เขื่อนสิริกิติ์มีทิวทัศน์ที่สวยงาม โดยเฉพาะในฤดูหนาว ความเงียบสงบของบรรยากาศประกอบกับพืชพันธุ์ไม้ที่งามสะพรั่งเป็นเสน่ห์ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวให้ไปเยือนไม่ขาดสายนอกจากนี้ ในบริเวณเขื่อนยังมีสวนสาธารณะที่ให้ความร่มรื่นอีกแห่งหนึ่งคือ สวนสุมาลัย ซึ่ง กฟผ. สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นราชสักการะแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเป็นสถานที่ท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจแก่ประชาชนโดยทั่วไป ภายในสวนประกอบไป ด้วยพันธุ์ไม้หลากชนิด สระบัว ลานประติมากรรม ซึ่งเป็น สัญลักษณ์ของสวน ชื่อ ‘ประติมากรรมสู่แสงสว่าง’ ลานอเนกประสงค์ และลานสุขภาพ

27 กุมภาพันธ์ 2514 ในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระราชินี เสด็จฯ จ.อุตรดิตถ์ ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ ‘เขื่อนสิริกิติ์’

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 ถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญในประวัติศาสตร์ของจังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์เขื่อนสิริกิติ์ ณ อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ นับเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่มีบทบาทสำคัญต่อการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย

เขื่อนแห่งนี้เดิมมีชื่อว่า 'เขื่อนผาซ่อม' เนื่องจากตั้งอยู่บริเวณเขาผาซ่อม ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา โดยเป็นเขื่อนดินขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นเพื่อกั้นแม่น้ำน่าน ซึ่งเป็นหนึ่งในลำน้ำสำคัญของแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2511 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มาขนานนามใหม่ว่า 'เขื่อนสิริกิติ์' เพื่อเป็นเกียรติแก่พระองค์

เขื่อนสิริกิติ์เป็นเขื่อนดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีบทบาทสำคัญในการกักเก็บน้ำเพื่อการชลประทาน การผลิตกระแสไฟฟ้า และการป้องกันน้ำท่วม โดยเฉพาะพื้นที่ราบสองฝั่งแม่น้ำน่านตั้งแต่จังหวัดอุตรดิตถ์ลงไป ซึ่งแต่เดิมมักประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำ

รัฐบาลได้วางแผนพัฒนาลุ่มน้ำน่านเป็น 3 ระยะ โดยเขื่อนสิริกิติ์เป็นส่วนหนึ่งของแผนในระยะแรก เพื่อใช้กักเก็บน้ำให้เพียงพอต่อการเกษตรและการผลิตไฟฟ้า ส่วนระยะที่สองและสาม มีการวางแผนก่อสร้างเขื่อนนเรศวรและเขื่อนอุตรดิตถ์เพื่อทดน้ำและกระจายน้ำให้ทั่วถึงมากขึ้น

การก่อสร้างเขื่อนสิริกิติ์เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2511 และแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2515 โดยแบ่งการก่อสร้างออกเป็นสองส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนตัวเขื่อนและระบบชลประทาน ซึ่งดำเนินการโดยกรมชลประทาน และส่วนของโรงไฟฟ้า ซึ่งรับผิดชอบโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

ตัวเขื่อนมีโครงสร้างที่แข็งแรง สามารถกักเก็บน้ำได้ในปริมาณมหาศาล และยังมีอุโมงค์ระบายน้ำ อุโมงค์ส่งน้ำเข้าเครื่องกังหันผลิตไฟฟ้า และระบบกระจายน้ำที่ช่วยให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ปัจจุบันเขื่อนสิริกิติ์ยังคงเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ช่วยให้พื้นที่เกษตรกรรมหลายล้านไร่ได้รับน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความสวยงามและดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมชมธรรมชาติรอบเขื่อน รวมถึงศึกษาระบบการจัดการน้ำของไทย

54 ปีผ่านไป นับตั้งแต่พิธีวางศิลาฤกษ์ในวันนั้น เขื่อนสิริกิติ์ยังคงทำหน้าที่เป็นแหล่งน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตของประชาชน และเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของพระราชกรณียกิจที่ทรงคุณค่าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top