‘เยอรมนี’ เปลี่ยนท่าทีถอยห่าง ‘อิสราเอล’ วอน!! ให้ปกป้องชีวิตพลเรือนปาเลสไตน์
(13 ธ.ค.66) ‘เยอรมนี’ หวังว่า ‘อิสราเอล’ จะปรับยุทธวิธีทางทหาร หาทางป้องกันความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับพลเรือนปาเลสไตน์ได้ดีกว่าเดิม” ความเห็นจากรัฐมนตรีต่างประเทศ ‘อันนาเลนา แบร์บ็อค’ (Annalena Charlotte Alma Baerbock) เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา
คำพูดดังกล่าวถือเป็นการสะท้อนต่อการปรับเปลี่ยนท่าทีเล็กน้อยของเบอร์ลิน จากเดิมจุดยืนที่ผ่านมา เยอรมนี ออกมาปกป้องอย่างหนักแน่นต่อสิทธิของอิสราเอล ในการป้องกันตนเอง นับตั้งแต่ถูกพวกนักรบฮามาสโจมตีนองเลือดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม โดยเน้นย้ำว่า พวกเขามีหน้าที่ยืนหยัดเคียงข้างอิสราเอล เพื่อไถ่โทษต่อกรณีกระทำผิดในเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว (Holocaust) ซึ่งพบเห็นชาวยิวมากกว่า 6 ล้านคนถูกสังหารโดยนาซีเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนภายหลังรัฐบาลเยอรมนีก็ถูกกล่าวหาต่างๆ นานา ซึ่งในนั้นรวมถึงพลเรือนชาวยิวคนดังที่พำนักอยู่ในเยอรมนีเอง ต่อกรณีให้สัญญาณผิดๆ เปิดทางให้อิสราเอลปฏิบัติการโจมตีตอบโต้ ซึ่งก่อวิกฤตด้านมนุษยธรรมในกาซาด้วย
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนตอนนี้ บรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเยอรมนี ต่างหันมาส่งเสียงเน้นย้ำดังขึ้นเรื่อยๆ ถึงความจำเป็นที่อิสราเอลต้องยึดมั่นในกฎหมายระหว่างประเทศ ในการตอบโต้การโจมตีของพวกฮามาส แต่ส่วนใหญ่แล้วยังคงหลีกเลี่ยงวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาต่อพฤติกรรมต่างๆ นานาของอิสราเอลในฉนวนกาซา ดินแดนของปาเลสไตน์
โดยท่าทีที่ว่านี้ถือเป็นการเปลี่ยนไปเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่แล้ว “เราคาดหมายอิสราเอล จะเปิดทางความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางตอนเหนือ เพื่อรับประกันว่าปฏิบัติการทางทหารของพวกเขา จะเจาะจงเป้าหมายมากกว่าเดิมและก่อความสูญเสียแก่พลเรือนน้อยลง" รัฐมนตรีเยอรมนีรายนี้กล่าวระหว่างแถลงข่าวในดูไบ รอบนอกการประชุมโลกร้อนของสหประชาชาติ
ทั้งนี้ พลเรือนส่วนใหญ่จากประชากรทั้งหมด 2.3 ล้านคนของกาซา ต้องหลบหนีออกจากบ้านพักอาศัย และพวกชาวบ้านบอกว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ที่จะหาที่หลบภัยในฉนวน ที่มีพลเรือนพลุกพล่านแห่งนี้ ในขณะที่ความขัดแย้งหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ได้สังหารผู้คนในกาซาไปแล้วกว่า 18,000 ราย
ขณะที่ด้าน โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ โดยเรียกร้องให้ อิสราเอล เปิดทางความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้เข้าสู่กาซาเพิ่มเติม และประณามการใช้ความรุนแรงของพวกผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยิวในเวสต์แบงก์ ในนั้นรวมถึงระหว่างที่เขาพูดคุยทางโทรศัพท์กับ เบนจามิน เนทันยาฮู เมื่อวันเสาร์ (9ธ.ค.) ที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่กระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี แสดงความยินดีในกรณีที่สหรัฐฯ กำหนดมาตรการคว่ำบาตรพวกผู้ตั้งถิ่นฐานอิสราเอลจำนวนหนึ่ง ต่อเหตุโจมตีชาวปาเลสไตน์ ในดินแดนยึดครองเวสต์แบงก์ และเรียกร้องให้อียู ทำการพิจารณาออกมาตรการคว่ำบาตรแบบเดียวกัน
