Sunday, 19 May 2024
อุตสาหกรรม

‘เอกนัฏ’ เผย กระทรวงอุตฯ ยุคนี้ ให้ความสำคัญกับ ปชช. เรื่องมลพิษ ชงแก้กฎหมาย ให้โรงงานต้นเหตุ ต้องจ่ายค่าเยียวยาเอง

(23 มี.ค.67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ กรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ชี้แจงข้อสงสัยของสมาชิกเกี่ยวกับการชดเชยราคาอ้อยสดว่า ถ้าสามารถเพิ่มราคาน้ำตาลในประเทศได้ก็จะสามารถเก็บเงินเข้ากองทุน ไม่ต้องเป็นภาระนำงบกลาง ซึ่งเป็นภาษีของประชาชนมาใช้ สามารถนำเงินส่วนนี้ไปจ่ายชดเชยราคา ในการตัดอ้อยสดได้เลย

สำหรับ สำหรับงบการอบรมของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่ (กพร.) ความเป็นจริงกพร. ได้รับงบน้อยมาก การรับรู้ของประชาชน และผู้ประกอบการเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจเหมืองแร่ในประเทศยังน้อยมากไม่ควรปรับลดงบลงมา แต่ควร เพิ่มงบให้ด้วย เพื่อให้ข้าราชการในกพร. สามารถออกไปเผยแพร่องค์ความรู้ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการได้มากกว่านี้ ให้พวกเขาได้ร่วมรักษาผลประโยชน์ของประเทศ

นายเอกนัฏ กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมปัจจุบันภารกิจน้อยไป มีการแยกงานบางส่วนไปอยู่กับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. ซึ่งมีกองทุนอยู่ด้วย ถ้าให้มีการนำเงินไปอุดหนุนปัจจัยการผลิตตามที่สมาชิกขอ ก็แทบจะไม่ใช่ภารกิจของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม แต่ภารกิจสำคัญของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมคือการออกไปพัฒนา เพิ่มประสิทธิภาพให้ความรู้กับกลุ่มผู้ประกอบการ และพัฒนาสินค้าต้นแบบ

อย่างไรก็ตาม การจะไปคำนวณว่าใช้เงินต้นทุน ในการพัฒนาผู้ประกอบการต่อหัวเท่าไหร่ อาจจะเป็นมุมที่บิดเบือนวัตถุประสงค์การใช้เงินในก้อนนี้ ได้รับการยืนยันจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมว่า เงินทั้งหมดที่ใช้ในการพัฒนาองค์ความรู้สินค้าต้นแบบ จะทำให้เพิ่มมูลค่าได้ 7,000 กว่าล้านบาท จึงอยากให้สมาชิกได้มองอีกมุมหนึ่ง อย่ามองแต่เรื่องค่าใช้จ่ายรายหัว ให้มองมูลค่าที่เพิ่มจากการทำภารกิจของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

สำหรับ โครงการดีพร้อมชุมชน นายเอกนัฏ ชี้แจงว่า อาจเป็นความเข้าใจผิดในโครงการที่เคยมีปัญหาในอดีต แต่ภารกิจเหล่านั้น ปัจจุบันแทบไม่ได้ทำแล้ว ปัจจุบันนี้งบของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม งบที่ได้มาส่วนใหญ่จะนำไปเพิ่มมูลค่าให้กับกลุ่มผู้ประกอบการและสินค้ามากกว่า ตัวเนื้องานของกลุ่มเสริมส่งเสริมใช้ผู้เชี่ยวชาญที่มีคุณภาพเน้นการออกไปพัฒนามากกว่า

นายเอกนัฏ กล่าวถึงความต้องการที่จะให้ตั้งงบประมาณเพื่อเยียวยาปัญหาจากกากอุตสาหกรรม และมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมว่า น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรมให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก งานหลักของกระทรวงอุตสาหกรรมคือการเพิ่มอุตสาหกรรมของประเทศ แต่สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าคือคุณภาพชีวิตของประชาชน การทำมาหากินการค้าขายหรือการสร้างมูลค่าอุตสาหกรรมต้องไม่ไปทำลาย หรือทำร้ายพี่น้องประชาชน

“ความจริงเราไม่ต้องใช้งบประมาณแม้แต่บาทเดียวไม่ต้องมาหากรรมาธิการงบประมาณเพราะรมว.อุตสาหกรรม ให้ความสำคัญกับการแก้กฎหมาย เพื่อให้โรงงานและกลุ่มผู้ประกอบการที่สร้างปัญหาให้ประชาชนเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ต้องมาใช้เงินภาษีของประชาชนในการเยียวยา มีการแก้กฎหมายให้ผู้ประกอบการที่ สร้างมลพิษเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ปัญหาที่เกิดก่อนการแก้กฎหมาย เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นฉุกเฉินไม่มีการตั้งงบไว้ในปี 2567 หวังว่าสัญญานี้ส่งไปถึงรัฐบาลควรตั้งงบกลางมาแก้ปัญหาในกรณีฉุกเฉิน ด้วย”นายเอกนัฏ กล่าว

'กนอ.' มอบส่วนลดพิเศษกระตุ้นเศรษฐกิจ ดึงลงทุนนิคมฯ ภาคใต้ ในส่วน Rubber City

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จัดมาตรการส่งเสริมการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ส่วนของพื้นที่ Rubber City เสนอโปรโมชันเด็ดเปิดจองที่ดินรับส่วนลดสูงสุดถึงร้อยละ 5 หวังดึงดูดการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้

(10 เม.ย.67) นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ. จัดมาตรการส่งเสริมการขายที่ดินนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จังหวัดสงขลา ในส่วนพื้นที่ Rubber City มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2567 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 โดยผู้ประกอบกิจการใหม่ จะได้รับส่วนลดร้อยละ 3 ของอัตราราคาขายที่ดิน และผู้ประกอบกิจการเดิม จะได้รับส่วนลดร้อยละ 5 ของอัตราราคาขายที่ดิน 

สำหรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ผู้ประกอบกิจการใหม่และผู้ประกอบกิจการเดิม จะได้รับมาตรการส่งเสริมการขายที่ดิน ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้...

1) ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน หรือทำสัญญาซื้อขายที่ดินเพื่อประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม ตามแบบที่ กนอ. กำหนด 

2) ชำระค่ามัดจำไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของมูลค่าที่ดินในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน โดยค่าที่ดินส่วนที่เหลือต้องชำระภายใน 30 วัน หลังจากได้รับหนังสือแจ้งจาก กนอ. 

3) แจ้งเริ่มประกอบกิจการภายใน 3 ปี นับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินเพื่อประกอบกิจการจาก กนอ. 

4) ห้ามขายหรือโอนที่ดินบางส่วนหรือทั้งหมดภายใน 9 ปี นับจากวันที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินเพื่อประกอบกิจการจาก กนอ. เว้นแต่ได้รับอนุญาตจาก กนอ. ทั้งนี้ ไม่นับรวมถึงกรณีการควบรวมกิจการ หรือกรณีผู้ขออนุญาตใช้ที่ดินเพื่อประกอบกิจการที่เป็นบุคคลธรรมดามีการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลขึ้นใหม่ภายหลังได้แจ้งกับ กนอ. ไว้แล้วเป็นลายลักษณ์อักษร และผู้ขออนุญาตใช้ที่ดินดังกล่าวถือหุ้นในนิติบุคคลที่จัดตั้งใหม่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุนจดทะเบียน 

และ 5) กรณีผู้ประกอบกิจการใหม่หรือผู้ประกอบกิจการเดิม ไม่ปฏิบัติตามข้อใดข้อหนึ่งที่กำหนดไว้ ให้ถือว่ามาตรการส่งเสริมการขายที่ดินทั้งหมดเป็นอันยุติ ผู้ประกอบกิจการใหม่หรือผู้ประกอบกิจการเดิม ต้องชำระค่าที่ดิน ค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวก และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทั้งหมดให้แก่ กนอ. โดยมีผลย้อนหลังนับตั้งแต่วันทำสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาซื้อขายที่ดินกับ กนอ. และต้องชำระให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่ กนอ. กำหนด

“Rubber City เป็นทางเลือกใหม่ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างมากในขณะนี้ โดยมีความได้เปรียบในด้านทำเลที่ตั้งในจังหวัดสงขลา ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางการค้าขนาดใหญ่ และเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญทางเศรษฐกิจ และยังมีโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพเชื่อมโยงทั้งภายในและต่างประเทศ ที่สำคัญ ยังเป็นศูนย์กลางแหล่งผลิตยางพาราและตลาดการค้ายางที่สำคัญของประเทศอีกด้วย” นายวีริศ กล่าว

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จังหวัดสงขลา ในส่วนพื้นที่ Rubber City ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เนื้อที่ 1,043 ไร่ เป็นพื้นที่เขตอุตสาหกรรมทั่วไป 582 ไร่ พื้นที่พาณิชยกรรม 35 ไร่ และพื้นที่ระบบสาธารณูปโภคและพื้นที่สีเขียว 426 ไร่ ปัจจุบันมีผู้ประกอบกิจการแล้ว 12 ราย ใช้พื้นที่รวม 64 ไร่ ประกอบด้วย นักลงทุนไทย ร้อยละ 56 นักลงทุนมาเลเซีย ร้อยละ 21 นักลงทุนญี่ปุ่น ร้อยละ 4 และนักลงทุนอื่นๆ อาทิ อังกฤษ ไต้หวัน ปานามา ร้อยละ 19 ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จังหวัดสงขลา ในส่วนพื้นที่ Rubber City ยังคงเหลือพื้นที่ขาย/ให้เช่า อีก 468 ไร่

ทั้งนี้ นักลงทุนที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการข้างต้นได้จากประกาศและมาตรการส่งเสริมการเช่าที่ดินได้ที่ [email protected] หรือที่โทรศัพท์ 0-2253-0561 ต่อ 1148 ,2124 ,2123 และ 1195 

‘รัดเกล้า’ เผย!! ครม.ไฟเขียวขยายเวลา 2 โครงการใหญ่ชลประทาน เหตุเพราะปัญหาและอุปสรรคจากสถานการณ์โควิด19

(11 พ.ค.67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินโครงการตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอขออนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินโครงการชลประทานขนาดใหญ่ จำนวน 2 โครงการ สาเหตุเนื่องจากปัญหาและอุปสรรคจากสถานการณ์ Covid - 19 ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทางให้อยู่ในวงจำกัด ส่งผลให้ผู้รับจ้างประสบปัญหาขาดแคลนวัสดุก่อสร้างเครื่องจักร เครื่องมือไม่เพียงพอ และไม่สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าสถานที่ก่อสร้างได้ นอกจากนี้ ในส่วนของโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวงฯ ยังมีสาเหตุมาจากสภาพภูมิประเทศ และการใช้ประโยชน์ที่ดินเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จึงมีความจำเป็นที่ต้องแก้ไขแบบก่อสร้างเพื่อให้มีความสอดคล้องกับสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบัน และลดผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ ประกอบกับในขั้นตอนการจัดหาที่ดินมีเจ้าของทรัพย์สินบางส่วนไม่ยอมรับราคาค่าทดแทนทรัพย์สินที่ภาครัฐกำหนดและไม่ยินยอมให้เข้าใช้พื้นที่ รวมถึงที่ดินบางแปลงติดปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย ซึ่งจากปัญหาอุปสรรคดังกล่าว กษ. โดยกรมชลประทานจึงได้อนุมัติให้มีการขยายอายุสัญญาและอนุมัติงดค่าปรับจากการแก้ไขแบบแก้ไขสัญญา และให้ได้รับสิทธิ์กำหนดอัตราค่าปรับร้อยละ 0 ตามมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงแพร่ระบาดโรค Covid - 19 ของทั้ง 2 โครงการด้วยแล้ว

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากข้อเท็จจริงและสภาพปัญหาดังกล่าว กษ. (กรมชลประทาน) จึงมีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการชลประทานขนาดใหญ่ภายใต้กรอบวงเงินโครงการเดิมจำนวน 2 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวง จังหวัดชลบุรี เสนอขออนุมัติขยายระยะเวลาจากเดิม 14 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2553–2566) เป็น 17 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2553–2569) และโครงการกิ่วคอหมา จังหวัดลำปาง จากเดิม 19 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2548–2566) เป็น 22 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2548–2569) 

“โครงการชลประทานขนาดใหญ่เป็นไปเพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำ ทั้งสำหรับพื้นที่เพาะปลูก การอุปโภค บริโภค การอุตสาหกรรม ปศุสัตว์ รักษาสมดุลของระบบนิเวศ และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ รวมทั้งยังสามารถใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ได้ในอนาคตอีกด้วย” รองโฆษกฯ กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top