Tuesday, 20 May 2025
อุตสาหกรรมไทย

‘รมว.ปุ้ย’ ชูกลไก 3 ด้าน ขับเคลื่อน ‘อุตฯ สีเขียว’ ปักธงลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 7.2 ล้านตันต่อปี

เมื่อวานนี้ (12 ก.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการกำหนดทิศทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสีเขียวจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านกลไก 3 ด้าน ประกอบด้วย

>>Green Productivity โดยการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน เพื่อก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตชั้นนำของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค พร้อมสนับสนุนพลังงานสะอาด อาทิ ปลดล็อกเรื่องการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) และโครงการโรงไฟฟ้าสีเขียว (UGT) เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานของภาคธุรกิจ 

ผลักดันการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม Circular แห่งแรกของประเทศในพื้นที่ EEC เน้นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ส่งเสริมการ Recycle เพื่อลดการเกิดของเสีย สนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดี และการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากใบและยอดอ้อยเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าชีวภาพแทนการเผาทิ้ง เพื่อแก้ปัญหา PM 2.5 

พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้นวัตกรรมในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมดำเนินธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining) โครงการอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) และโครงการยกระดับธุรกิจ SME ด้วยการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG

>>Green Marketing เน้นการเตรียมความพร้อมให้กับภาคอุตสาหกรรม และ SME ในตลาดยุคใหม่ที่มีการกีดกันทางการค้า รวมถึงกฎหมาย และกฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดการภาวะโลกร้อนที่เป็นความ ท้าทายในโลกยุคปัจจุบัน พร้อมสนับสนุนการทำ Carbon Footprint of Product และ Carbon Footprint of Organization นอกจากนี้ ยังส่งเสริมบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

>>Green Finance ด้วยการสนับสนุนแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน ผ่านการให้สินเชื่อลดโลกร้อน ต่าง ๆ อาทิ สินเชื่อลดโลกร้อน (Decarbonize Loan) จากกองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ สินเชื่อธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (BCG Loan) จากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) และสินเชื่อธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม (DIPROM Pay for BCG) จากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM)

ทั้งนี้ ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงและความผันผวนจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายต่าง ๆ ให้ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงภาวะโลกเดือด โดยมีสาเหตุหลักมาจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้นจนเกินสมดุล

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า ได้มอบหมายให้ดีพร้อม เร่งสร้างการรับรู้ให้ภาคอุตสาหกรรมได้ตระหนักและให้ความสำคัญ ในการลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและกฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดการภาวะโลกร้อนที่เป็นความท้าทายต่อภาคการผลิตของประเทศ โดยคาดว่าจะสามารถนำร่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมได้มากกว่า 7.2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีดีพร้อม กล่าวว่า ดีพร้อม ได้ดำเนินการจัดกิจกรรม ‘Moving Green Forward ก้าวไปข้างหน้า เพื่อโลก เพื่อเรา’ ซึ่งจะมีเทรนด์ธุรกิจ องค์ความรู้ และมุมมองการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมยุคใหม่ครบทุกมิติ ทั้งการบรรยายและเสวนาจากองค์กรและบริษัทชั้นนำที่ดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงการบริหารจัดการด้านอุตสาหกรรมสีเขียว 

รวมถึงกิจกรรมคลินิกให้คำปรึกษาแนะนำจากหน่วยงานพันธมิตรที่มาจัดแสดงสินค้านวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การให้แนะนำสินเชื่อสำหรับธุรกิจรักษ์โลกจากสถาบันการเงิน 

นอกจากนี้ โครงการยกระดับธุรกิจ SME ด้วยการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ยังมีรูปแบบกิจกรรมที่มุ่งส่งเสริมการใช้นวัตกรรมในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) โดยตั้งเป้ายกระดับผู้ประกอบการให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งประเทศจำนวนกว่า 1,800 ราย และคาดการณ์ว่าการดำเนินโครงการดังกล่าว สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 1,380 ล้านบาท 

"เชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญของภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608"

‘ปธ.กมธ.อุตฯ’ เสนอ 2 ร่าง กม. ปฏิรูปการกำจัดของเสียภาคอุตสาหกรรม เพิ่มโทษผู้ประกอบการละเมิดกฎ - ตั้งกองทุนกำจัดสารพิษ กากของเสีย

(5 ก.ย. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี เขต 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ และโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม ได้อภิปรายร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2568 ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม ว่า…

ทุกวันนี้ปัญหาในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมที่เป็นปัญหาใหญ่ คือปัญหาในการจัดการสารพิษ กากของเสีย และมลภาวะของโรงงานและผู้ประกอบการ ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต และสุขภาพของพี่น้องประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่จังหวัดราชบุรี จังหวัดระยอง และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

จากปัญหาดังกล่าวตนในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้ดำเนินการให้คณะทำงานของคณะกรรมาธิการยกร่างพระราชบัญญัติโรงงาน 2 ฉบับ ดังนี้

ฉบับแรกจะเป็นการเพิ่มโทษทางอาญาแก่ผู้กระทำความผิดในการปล่อยกากของเสีย มลภาวะสู่สิ่งแวดล้อม เนื่องจากปัจจุบันพระราชบัญญัติโรงงานมีเพียงโทษปรับ 200,000 บาทต่อกรณีเท่านั้น ส่งผลให้ผู้กระทำความผิดไม่มีความเกรงกลัวต่อกฎหมาย ดังนั้นในร่างพระราชบัญญัติโรงงานจะมีการเพิ่มโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีเข้าไปด้วยเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว 

และร่างพระราชบัญญัติอีกฉบับหนึ่งที่ยกร่างเรียบร้อย อยู่ระหว่างการได้รับการรับรองจากนายกรัฐมนตรีเนื่องจากเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน กฎหมายฉบับนี้จะเป็นการจัดตั้งกองทุนโรงงาน หรือกองทุนจัดการของเสียอุตสาหกรรม 

กองทุนจัดการของเสียอุตสาหกรรมนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมในอนาคต โดยที่มาของเงินทุนของกองทุนดังกล่าวจะมาจากการเรียกเก็บจากผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเงินส่วนนี้จะมีการคืนให้แก่ผู้ประกอบการเมื่อเลิกกิจการ 

ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ใช้เงิน 2 ส่วนในการจัดการกับของเสียอุตสาหกรรมที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของพี่น้องประชาชน คือ ส่วนแรกจากงบประมาณของรัฐบาล ซึ่งเป็นการของบกลาง ส่วนที่สองจากกองทุนสิ่งแวดล้อมซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะดำเนินการขออนุมัติได้  

ดังนั้นกฎหมายในการจัดตั้งกองทุนจัดการของเสียอุตสาหกรรมจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากจะช่วยลดภาระงบประมาณของรัฐในการจัดการของเสียอุตสาหกรรมจากผู้ประกอบการที่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคมได้ และงบประมาณส่วนนี้จะได้ใช้สำหรับการลงทุนอื่น ๆ เพื่อสร้างรากฐานของการพัฒนาประเทศต่อไป

และสุดท้ายตนเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่านายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่ ซึ่งเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์ จะสามารถจัดการปัญหาที่กล่าวถึงข้างต้นได้อย่างแน่นอน

'รมว.เอกนัฏ' ปลุก!! 'กนอ.' ตีหลากโจทย์ภาคอุตสาหกรรมไทย 'เศรษฐกิจสีเขียว-ผลักดันอุตฯ ป้องกันประเทศ-สนับสนุน SMEs'

(19 ก.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ย.67 ได้มีโอกาสไปตรวจเยี่ยม และมอบนโยบายให้กับ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งก็ได้รับทราบถึงแผนงาน รวมถึงปัญหาอุปสรรคของ กนอ.หลายเรื่อง โดยได้เน้นย้ำถึงพันธกิจของกระทรวงฯ ที่ กนอ.เป็นหนึ่งในหน่วยงานสำคัญที่ต้องเข้ามาร่วมขับเคลื่อน โดยเฉพาะปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งการยกระดับอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่ ไปถึงการดึงดูดการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีศักยภาพ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) ที่เป็นหัวใจสำคัญของเทคโนโลยีสมัยใหม่ หรืออุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ ที่ผู้ประกอบการในไทยหลายรายมีศักยภาพสูง นอกจากนี้ยังต้องยกระดับเศรษฐกิจไทยไปสู่การเป็นเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ในการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม และรักษาสิ่งแวดล้อม

นายเอกนัฏ กล่าวต่อว่า ในส่วนของการจัดการกากอุตสาหกรรม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยของประชาชน ที่ผ่านมา กนอ.ถือว่าทำได้ดีอยู่แล้ว แต่อาจจะต้องวางแนวทางประสานข้อมูลกับทางกระทรวงฯ และต่อยอดองค์ความรู้ของ กนอ.ไปสู่ผู้ประกอบการนอกนิคมฯ เพื่อให้เกิดโรงงานสีเขียวทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้กระทรวงฯ กำลังจัดฐานข้อมูลของแต่ละหน่วยงานในกระทรวงฯ ให้เป็นหนึ่งเดียวตามแนวนโยบายรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) จึงอยากให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่าง กนอ. และกระทรวงฯ ทั้งในเรื่องการจัดการจากอุตสาหกรรม, ขออนุมัติ-อนุญาต และการรายงานผลประกอบการผ่านแพลตฟอร์มเดียวกัน (Single Form) เพื่อให้ฐานข้อมูลที่ทุกหน่วยงานสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังได้ฝากให้ กนอ.เข้าไปช่วยเหลือส่งเสริม SMEs ไทยในการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย โดยอาจจะจัดพื้นที่ และสนับสนุนเทคโนโลยีที่มีอยู่ภายในนิคมฯ ให้แก่ธุรกิจ SMEs ทั้งในแง่ของการลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ การเข้าถึงแหล่งทุน และการสร้าง Supply Chain หรือห่วงโซ่อุปทานให้เกิดขึ้นระหว่างผู้ประกอบการภายในนิคมอุตสาหกรรมนั้นๆ 

“ผมเห็นแล้วว่า หน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมเรามีเป้าหมายเดียวกัน และเชื่อมั่นว่าการทำงานของเราจะสำเร็จตามเป้าหมาย เพราะเรามองเห็นภาพเดียวกัน และจับมือและเดินไปด้วยกัน การทำงานร่วมกันเป็นทีม และแสวงหาความร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อเป้าหมายเดียวกันในการปฏิรูปอุตสาหกรรม” นายเอกนัฏ ระบุ

ทั้งนี้ โอกาสเดียวกัน นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการ กนอ. ได้กล่าวย้ำถึงบทบาทสำคัญของ กนอ. ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม และส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม พร้อมนำเสนอข้อมูลการลงทุน (Investment Outlook) และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในภาพรวมและในนิคมอุตสาหกรรมที่ผ่านมาว่า พื้นที่นิคมฯที่ กนอ.ดำเนินการเอง และพื้นที่ร่วมดำเนินงาน ยังมีความสามารถที่จะรองรับการลงทุน โดยเฉพาะจากนักลงทุนต่างชาติได้อีกมาก

ด้าน นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ กนอ. รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. ได้นำเสนอวิสัยทัศน์ 'นิคมอุตสาหกรรมสู่มาตรฐานสากลด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน' ที่มุ่งพัฒนานิคมอุตสาหกรรมครบวงจรอย่างยั่งยืน ยกระดับความได้เปรียบในการแข่งขันแก่นักลงทุน และเพิ่มคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย สังคม และสิ่งแวดล้อมบนหลักธรรมาภิบาล พร้อมรายงานความคืบหน้าของโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1, นิคมอุตสาหกรรม Smart Park, การศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือนิคมฯ Circular, นิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับโครงการแลนด์บริดจ์ในพื้นที่ จ.ระนองและ ชุมพร, นิคมอุตสาหกรรมฮาลาล และแนวคิดโครงการเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

นายสุเมธ ยังได้นำเสนอแผนงานตามนโยบาย “การปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส 3 ปฏิรูป 3 แนวทาง” ของ รมว.อุตสาหกรรม ด้วยว่า กนอ.ได้วางแนวทางเพื่อสนับสนุนนโยบายไว้ 3 เรื่องสำคัญที่จะเร่งดำเนินการ คือ 

1.การจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะ SMEs (I-EA-T Incubation) เพื่อสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของ SMEs โดยการใช้นิคมฯ เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ SMEs เบื้องต้นจะเริ่มดำเนินการ และพร้อมเปิดนิคมฯที่นิคมฯลาดกระบัง ภายใน 3 เดือน และการผลักดันแก้ไขปัญหาผังเมืองในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจหรือเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะดำเนินการภายใน 3 เดือนเช่นกัน

2.การบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมครบวงจร ผ่านความร่วมมือกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ในการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อลดขั้นตอนและเวลา เรื่องนี้จะสามารถดำเนินการได้เต็มรูปแบบภายใน 6 เดือน และ 3.การสร้าง Eco System หรือระบบนิเวศทางธุรกิจใหม่ โดยใช้แพลตฟอร์ม (Platform) ต่างๆ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยุคใหม่ ให้ง่ายต่อการประกอบกิจการ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ภายใน 1 ปี

“กนอ.ขอรับการสนับสนุนจาก รมว.อุตสาหกรรม ในด้านต่างๆ เช่น การผลักดันกฎหมายผังเมือง EEC, การบูรณาการแก้ไขการจัดการกากอุตสาหกรรมครบวงจร, Fast Track Lane (ช่องทางพิเศษเพื่ออำนายความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ) กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง, กรมที่ดิน และ BOI (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) เพื่อให้โครงการตามนโยบายของ รมว.อุตสาหกรรม สำเร็จลุล่วง และที่ต้องการใช้กลไกของกระทรวงอุตสาหกรรม ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ” นายสุเมธ ระบุ

‘รมว.เอกนัฏ’ เยี่ยมชมโรงงานผลิตยา จ.ราชบุรี ชูต่อยอดอุตฯ ด้วยการวิจัย-เทคโนโลยีทันสมัย

เมื่อวานนี้ (25 ก.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าได้ร่วมมอบกายอุปกรณ์สำหรับช่วยเหลือคนพิการ ประเภทรถเข็นนั่งวีลแชร์ (Wheelchair) ครั้งที่ 1 ภายใต้โครงการจัดหากายอุปกรณ์สำหรับช่วยเหลือคนพิการ 72,000 ชุด เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อน้อมนำแนวพระราชดำริ พระราชปณิธาน และพระบรมราโชบายเกี่ยวกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อม พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้อยู่ดีมีสุข มุ่งเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วม 

นอกจากนี้ ทางธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ได้สนับสนุนจัดหาถุงยังชีพแก่ครัวเรือนเปราะบางในจังหวัดราชบุรี จำนวน 500 ราย 

“รถเข็นนั่งวีลแชร์ที่พี่น้องคนพิการได้รับในวันนี้จะเป็นอุปกรณ์ช่วยการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ได้รับโอกาส สิทธิ สวัสดิการที่เท่าเทียม ทั่วถึงให้กับกลุ่มคนพิการ ส่วนถุงยังชีพที่ได้รับ เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและครัวเรือนกลุ่มเปราะบางในเบื้องต้น และต้องขอขอบคุณกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ ธพว. ที่ให้การสนับสนุนสิ่งของดังกล่าว ขอขอบคุณทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ในพื้นที่ที่เข้ามาร่วมมือร่วมใจกันให้สำเร็จลุล่วง ซึ่งเป็นการร่วมสืบสานพระราชประสงค์และพระราชปณิธานที่มุ่งมั่นแน่วแน่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการบำบัดทุกข์และสร้างความผาสุกร่มเย็น ให้แก่ปวงพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า รวมถึงพี่น้องคนพิการทุกคน”

ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ และคณะยังได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมสายการผลิต ศูนย์วิจัยและห้องปฏิบัติการผลิตสารสกัดจากธรรมชาติเพื่อสุขภาพ บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน) ตำบลน้ำพุ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เป็นผู้ผลิตและวิจัยผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ โดยบริษัทฯ ได้มีการยกระดับงานวิจัยและพัฒนาขึ้นเป็นศูนย์วิจัย BLC (BLC Research Center) เพื่อทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาสูตรตำรับผลิตภัณฑ์ รูปแบบยาแผนปัจจุบัน ยาจากสมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอางและสารสกัด รวมทั้งมีการนำเทคโนโลยีที่ได้รับจากหน่วยงานภายนอกมาวิจัยและพัฒนาต่อยอด เพื่อให้สามารถดำเนินการผลิตได้ในระดับอุตสาหกรรม สามารถควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้สม่ำเสมอเท่าเทียมกันในทุกรุ่นการผลิตและเพิ่มคุณค่า คุณประโยชน์ให้กับผลิตภัณฑ์ มีผลิตภัณฑ์สุขภาพครอบคลุมทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย ‘ปฏิรูปอุตสาหกรรม’ ตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ยกระดับผลิตภาพการผลิต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ 

นอกจากนี้ บริษัทเน้นการสร้างอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิต และลดการปลดปล่อยคาร์บอนตามแนวนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย

ดาต้าเซ็นเตอร์-โลจิสติกส์ โตรับตลาดอีวีในไทย ส่วนนิคมอุตฯได้อานิสงส์ 'ทรัมป์ 2.0' ดันราคาที่ดินพุ่ง

(27 พ.ย.67) เจแอลแอล (JLL) บริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับโลก จัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 35 ปีการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย พร้อมเผยความสำเร็จในการบริหารจัดการพื้นที่เช่าที่ยอดเยี่ยม โดยคาดว่าผลรวมพื้นที่เช่าของบริษัทในสิ้นปีนี้จะถึง 7.5 ล้านตารางเมตร นอกจากนี้ยังได้เปิดมุมมองในแง่ของเทรนด์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย โดยระบุว่า ตลาดอาคารสำนักงานไม่น่ากังวล แต่กำลังเห็นการย้ายจากอาคารเก่าที่คุณภาพต่ำไปยังอาคารใหม่ที่มีมาตรฐานสูงขึ้น ส่วนในภาคอุตสาหกรรม การพัฒนา ‘ดาต้าเซ็นเตอร์’ ยังถือว่าเป็นช่วงเริ่มต้น แม้กระแสความต้องการจะร้อนแรงก็ตาม

นายไมเคิล แกลนซี่ กรรมการผู้จัดการ เจแอลแอล ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ในยุคแรก ๆ โครงการอสังหาริมทรัพย์ในไทยส่วนใหญ่จะเป็นโครงการที่มีการใช้งานแบบเดี่ยว ๆ แต่ต่อมาได้มีการพัฒนาไปเป็นโครงการมิกซ์ยูส (Mixed-Use) ที่นำอสังหาริมทรัพย์ประเภทต่าง ๆ มาผสมผสานกันอย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ โดยมีการพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสที่มีความทันสมัย ทั้งในแง่ของเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่สามารถตอบโจทย์การใช้งานในหลากหลายรูปแบบของผู้เช่า

สำหรับตลาดอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ นายไมเคิลกล่าวว่า อาคารเก่าในกรุงเทพฯ จำนวนมากกำลังเผชิญกับความท้าทายในการแข่งขันกับอาคารใหม่ที่มีคุณภาพสูงขึ้น ทำให้เจ้าของอาคารเก่าต้องทำการปรับปรุงหรืออัปเกรด เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาด ซึ่งเทรนด์ Flight to Quality หรือการย้ายไปยังอาคารที่มีคุณภาพดีกว่า จะยังคงเป็นกระแสที่แข็งแกร่งในตลอดปี 2024 และปี 2025

นายไมเคิลเสริมว่า แม้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2024 จะมีความท้าทาย แต่ตลาดอาคารสำนักงานกลับคึกคัก โดยหลายบริษัทเริ่มย้ายจากอาคารเก่ามายังอาคารใหม่ที่มีคุณภาพดีกว่า ซึ่งแนวโน้มนี้คาดว่าจะดำเนินต่อไปในปี 2025 เนื่องจากมีโครงการใหม่ ๆ ที่จะเปิดตัวในปีหน้า และหลายบริษัทเตรียมย้ายออฟฟิศ

"แม้ราคาค่าเช่าจะสูงขึ้น แต่เทรนด์ Flight to Quality จะยังคงมีความสำคัญอย่างมาก โดยบริษัทต่าง ๆ ยังต้องการย้ายออกจากอาคารเก่าไปยังออฟฟิศใหม่ที่มีมาตรฐานสูง การเติบโตของอาคารสำนักงานในประเทศไทยจะยังเป็นไปในทิศทางที่ดี โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอย่างสิงคโปร์และฮ่องกง" 

นอกจากนี้นายแกลนซี่ ยังกล่าวถึงแนวโน้มธุรกิจและอุตสาหกรรมที่มาแรงในปี 2568 ว่า ในปีหน้าต้องยกให้ธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์มาเป็นอันดับหนึ่ง เนื่องจากมีนักลงทุนเข้ามาสนใจเข้ามาลงทุนในไทยเป็นอย่างมาก สะท้อนจากการที่มีนักลงทุนเข้ามาดูทำเลในเขตนิคมขนาดใหญ่ เช่น พื้นที่ EEC พื้นที่ย่านสมุทรปราการ รวมถึงตอนเหนือของกรุงเทพฯ 

ส่วนธุรกิจรองลงมาคือ ภาคอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สืบเนื่องจากอานิสงส์ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าที่เข้ามาทำตลาดในไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชลบุรีและระยอง ซึ่งมีความต้องการใช้พื้นที่ตั้งแต่ 20 ถึง 1,000 ไร่

นายแกลนซี่ ยังกล่าวถึง ผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาลทรัมป์ 2.0 จะทำให้หลายภาคอุตสาหกรรมพิจารณาย้ายฐานการผลิตบางส่วนมายังอาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทย คาดว่าจะส่งผลให้ราคาที่ดินในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของไทยปรับตัวสูงขึ้นไปอีก

อีกสองธุรกิจที่มีแนวโน้มน่าจับตาคือ ธุรกิจโรงแรม และอาคารสำนักงาน โดยธุรกิจโรงแรมได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งเปิดใหม่และซื้อกิจการอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการท่องเที่ยวฟื้นตัว ขณะที่อาคารสำนักงานให้เช่า จะเติบโตจากการเปิดโครงการขนาดใหญ่ที่มีความทันสมัยในพื้นที่ใจกลางกรุง

ส่วนตลาดที่อยู่อาศัยปี 2568 จะเป็นปีแห่งการฟื้นตัวของคอนโดมิเนียม โดยเฉพาะตลาดเช่า เนื่องจากปัญหาการกู้สินเชื่อไม่ผ่านยังสูง และเทรนด์คนรุ่นใหม่สนใจเช่ามากกว่าซื้อ คาดว่าจะดันราคาเช่าคอนโดในเขตกรุงเทพสูงอีก 40%

‘เอกนัฏ’ เยือนจีน ปูทางอุตสาหกรรมไทยเติบโต ชูแนวทางยกระดับไทย-จีน เพื่อความยั่งยืนในอนาคต

(7 มี.ค. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดราชบุรี เขต 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ พร้อมคณะ ได้เดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนระหว่างวันที่ 4-7 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา เพื่อยกระดับความร่วมมือทางการค้าการลงทุนระหว่างไทยและจีน โดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรมใหม่และเทคโนโลยีที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว

การเยือนในครั้งนี้ได้มีการหารือกับ รองผู้ว่าการมณฑลอานฮุย เพื่อขยายความร่วมมือในโครงการ Two Country, Twin Parks ซึ่งเป็นการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมร่วมระหว่างมณฑลอานฮุยของจีนและประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการลงทุนจากจีนในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ เช่น พลังงานสะอาด (Clean Energy), เทคโนโลยี AI และอุตสาหกรรมดิจิทัลใหม่ๆ ที่จะช่วยส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต

นอกจากนี้ คณะจากกระทรวงอุตสาหกรรมยังได้มีการหารือกับผู้บริหารระดับสูงของ บริษัท GAC Aion, Huawei และ BYD บริษัทชั้นนำของจีนที่มีความเชี่ยวชาญในด้านยานยนต์ไฟฟ้า, อุปกรณ์เทคโนโลยี และพลังงานสะอาด โดยในระหว่างการพบปะกัน ผู้บริหารของทั้งสามบริษัทได้แสดงความสนใจที่จะเพิ่มการลงทุนในประเทศไทย รวมทั้งเสนอแผนพัฒนาทักษะแรงงานไทยให้พร้อมรองรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้าและพลังงานสะอาด

นายอัครเดช กล่าวว่า “การหารือในครั้งนี้ได้รับการต้อนรับจากบริษัทชั้นนำของจีนอย่างดีเยี่ยม ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยสามารถเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมใหม่ได้อย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี AI หรืออุตสาหกรรมสะอาด ซึ่งจะสร้างโอกาสใหม่ให้กับประเทศและภาคธุรกิจไทยในอนาคต”

สำหรับการเยือนจีนในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนา และยกระดับความร่วมมือทางอุตสาหกรรมระหว่างประเทศไทยกับจีน ซึ่งจะช่วยเปิดโอกาสให้ธุรกิจไทยเติบโตในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงและรองรับความท้าทายของยุคดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top