Tuesday, 22 April 2025
อุตสาหกรรมสร้างชาติ

'เอกนัฏ' สั่งยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปี 35,108 โรงงาน พร้อมเร่งเยียวยา-ฟื้นฟูความเสียหายหลังสถานการณ์ดีขึ้น

(3 ต.ค.67) นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบการโรงงานในพื้นที่น้ำท่วม เร่งเยียวยาความเสียหายหลังสถานการณ์น้ำดีขึ้น โดยมอบหมายกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ดำเนินการรวบรวมข้อมูลและตรวจสอบข้อเท็จจริงประกอบการยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีโรงงานจำพวกที่ 2 และจำพวกที่ 3 และจากข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมใน 57 จังหวัด คาดการณ์ว่าโรงงานจำพวกที่ 2 และ จำพวกที่ 3 ที่จะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปี จำนวน 35,108 โรงงาน มูลค่ากว่า 176 ล้านบาท

กรอ. ได้จัดทำประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม เรื่อง การช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการโรงงาน กรณีโรงงานได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติน้ำท่วม พ.ศ. 2567 ผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วม นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2567 สามารถแจ้งข้อมูล ตามแบบแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับโรงงานและความเสียหายที่โรงงานได้รับจากภัยธรรมชาติน้ำท่วม พ.ศ. 2567 โดยดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้

1.โรงงานที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติน้ำท่วมนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2567 สามารถแจ้งข้อมูลตั้งแต่บัดนี้ - 31 ตุลาคม 2567
2.ดาวน์โหลดแบบแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับโรงงานและความเสียหายที่โรงงานได้รับจากภัยธรรมชาติน้ำท่วมพ.ศ.2567ได้ที่ https://www.diw.go.th/webdiw/25092567-01/
3.กรอกแบบแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับโรงงานและความเสียหายที่โรงงานได้รับจากภัยธรรมชาติน้ำท่วม พ.ศ. 2567
4.กำลังแรงม้าเครื่องจักร / จำนวนคนงาน ต้องกรอกให้ตรงกับ ร.ง.2 หรือ ร.ง.4
5.แนบสำเนา ร.ง.2 หรือ ร.ง.4 พร้อมแนบภาพถ่าย/ข้อมูลความเสียหาย (ถ้ามี)
6.ยื่นเอกสารด้วยตนเอง ณ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดที่โรงงานตั้งอยู่

“การยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่เจ้าของกิจการโรงงาน เป็นหนึ่งในมาตรการให้ความช่วยเหลือ ในการฟื้นฟูกิจการภายหลังสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย เพื่อให้สามารถพลิกฟื้นจนก้าวเดินต่อได้อย่างต่อเนื่อง โดยหลังจากวันที่ 31 ตุลาคม 2567 กรอ.จะรวบรวมข้อมูลความเสียหายและตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ประกอบการที่มีรายชื่อได้รับการยกเว้น สำหรับผู้ประกอบการที่ชำระค่าธรรมเนียมรายปีในปี 2567 แล้ว จะได้รับการยกเว้นในปี 2568” นายพงศ์พล กล่าวปิดท้าย

‘เอกนัฏ’ ปิดช่องนำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐาน สั่งการ!! สมอ.ร่วมกรมศุลฯ คุมเข้มสินค้า ‘กลุ่ม Exempt 5’

(5 ต.ค.67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้ามาตรการป้องกันการนำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐานภายใต้นโยบายปกป้องอุตสาหกรรมไทย โดยบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ล่าสุดสั่ง สมอ. ร่วมกับกรมศุลกากร ปิดช่องทางการนำเข้าสินค้าที่ สมอ. ควบคุม ที่นำเข้ามาโดยมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการจำหน่ายและไม่เกินจำนวนที่กำหนด หรือ EXEMPT 5 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐาน 

นอกจากนี้ ได้เร่งรัดให้ สมอ. หารือกับกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อยกระดับการบังคับใช้กฎหมายในการป้องกันและปราบปรามสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ตั้งแต่การนำเข้า ผลิต และจำหน่าย ให้ถึงมือประชาชนด้วยความปลอดภัย ซึ่งเป็นไปตามนโยบายที่ตนได้มอบให้หน่วยงานในสังกัดเดินหน้าปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย เพื่อรับโอกาสใหม่ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของโลก

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สมอ. ได้ร่วมกับกรมศุลกากร ปิดช่องทาง EXEMPT 5 และเปิดเป็น 'ศูนย์เฉพาะกิจรับแจ้งการนำเข้า' ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งเดิม EXEMPT 5 เป็นช่องทางที่อาจมีผู้นำเข้าอาศัยช่องว่างดังกล่าว ลักลอบนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานเข้ามาในประเทศ จึงต้องทำการปิดช่องทางนี้ และเปิดให้มายื่นขอบริการผ่านทางช่องทาง national single window (NSW) แทน ทั้งนี้ หากท่านประสงค์จะนำเข้าสินค้าควบคุมทั้ง 144 รายการ ไม่ว่าจะเพื่อวัตถุประสงค์อื่นใด หรือนำเข้ามาจำนวนเพียงไม่กี่ชิ้นก็ตาม จะต้องยื่นคำขอผ่านระบบ NSW เพื่อแจ้งข้อมูลการนำเข้ากับ สมอ. ทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น สำหรับศูนย์เฉพาะกิจฯ มีผู้ประกอบการและประชาชนเข้ามารับบริการแล้วอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถติดต่อศูนย์เฉพาะกิจฯ ได้ที่ชั้น 1 สมอ. หรือ โทร. 0 2430 6815 ต่อ 3001 – 3003 ในวันและเวลาราชการ

“ฝากถึงผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ลักลอบนำสินค้าไม่ได้มาตรฐานเข้ามาจำหน่าย ไม่ว่าจะช่องทางใด หากตรวจพบ สมอ. จะดำเนินการทางกฎหมายอย่างถึงที่สุด โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน และปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ สำหรับคำแนะนำประชาชนในการเลือกซื้อสินค้าให้สังเกตที่มีเครื่องหมาย มอก. คู่กับ QR Code ที่แสดงข้อมูลผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง อย่าดูที่ราคาถูกเพียงอย่างเดียวอาจได้สินค้าด้อยคุณภาพ” เลขาธิการ สมอ. กล่าว

‘เอกนัฏ’ ยกทีมกระทรวงอุตฯ บุกภูเก็ต หนุนเงินทุน-เทคโนโลยี SME ย้ำชัดพัฒนาศักยภาพ Soft Power เมืองผ่าน ‘อาคาร-อาหาร-อาภรณ์-อารมณ์’

(7 ต.ค. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ร่วมกับปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (นายณัฐพล รังสิตพล) พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เยี่ยมชมสถานประกอบการ SME และชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต 

เพื่อพัฒนาศักยภาพสร้างความเท่าเทียมให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล สอดคล้องกับนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรม” ในการให้ความสำคัญ “Save อุตสาหกรรมไทย” สู่การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการกระจายรายได้สู่ภูมิภาค โดย SME มีความสําคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เป็นกลไกหมุนเวียนรายได้และกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ

จากรายงานสถานการณ์ SME ไทย ของสํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในปี 2566 พบว่า มีผู้ประกอบการกว่า 3.24 ล้านราย กระจายอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ และจากสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจ 

กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต (สอจ.ภูเก็ต) จึงได้ส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมในภูมิภาค ผ่านกิจกรรมสร้างงาน สร้างอาชีพ และการกระจายรายได้ ให้คำปรึกษาพัฒนาบรรจุภัณฑ์และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ด้านกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือดีพร้อม ยังได้จัดฝึกอบรมการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมให้ดีพร้อม หรือ คพอ.ดีพร้อม เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะด้านการบริหารจัดการในทุกมิติผ่านกระบวนการฝึกอบรม ส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่าย สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือทางธุรกิจ สู่การพัฒนาศักยภาพให้สามารถขยายธุรกิจให้เติบโตและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน 

ทั้งนี้ ยังได้เชิญ ธพว. มาร่วมสำรวจพื้นที่ด้วยกันว่ามีกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนมาเพื่อใช้ประกอบกิจการและให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนและเทคโนโลยีได้ง่ายมากยิ่งขึ้น 

“ผมและคณะได้เยี่ยมชมย่านเมืองเก่าภูเก็ต ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ซึ่งในอดีตจะมีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ได้แก่ จีน อินเดีย ยุโรป มุสลิม เข้ามาตั้งถิ่นฐาน และได้สร้างบ้านเป็นตึกแถว มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบ"ชิโน-ยูโรเปียน" ทั้งสองสองฝั่งถนน ถือเป็นจุดท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่นทางสถาปัตยกรรมอันเกิดจากการผสมผสานความแตกต่างทางวัฒนธรรมจนเกิดเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัด 

โดย สอจ.ภูเก็ต ได้เข้าไปส่งเสริมในด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) มาตรฐานอุตสาหกรรมเอส (มอก.เอส) การส่งเสริมสู่การแข่งขันเศรษฐกิจวิถีใหม่ อาทิ การทอเศษผ้าปาเต๊ะด้วยกระบวนการประยุกต์การทอเส้นด้าย การปักลูกปัดสีและเลื่อม สกรีน การเพ้นท์สีลายน้ำให้มีมิติผสมผสานศิลปะ สถาปัตยกรรมจีน เป็นต้น 

นอกจากนี้ ยังได้ไปเยี่ยมชมร้านคุณแม่จู้ของฝากเมืองภูเก็ต (บริษัท แม่จู้ จำกัด) ร้านค้าภูมิปัญญาไทย (DIS SHOP) รายแรกของภาคใต้ ภายใต้การสนับสนุนของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ประกอบกิจการทำขนมอบแห้ง น้ำพริกกุ้งเสียบ น้ำพริกปลาย่าง น้ำพริกตาแดง และจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารพื้นเมืองหลากหลายชนิดและของฝากที่เป็นเอกลักษณ์ของภูเก็ต โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ให้การรับรอง Green Industry ระดับที่ 1 “ความมุ่งมั่นสีเขียว” ให้กับบริษัทฯ ในความมุ่งมั่นของนโยบายเป้าหมายและแผนงานที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีการสื่อสารภายในองค์กรให้ทราบโดยทั่วกัน”

นายเอกนัฏ กล่าวต่อว่า ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมในภูเก็ต โดยเฉพาะกลุ่ม SME ที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ เราเข้าใจถึงความท้าทายที่พวกเขาต้องเผชิญ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะผู้ประกอบการในโครงการสนับสนุนของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่เรียกว่า “โครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมให้ดีพร้อม” หรือ คพอ.(ดีพร้อม) สำหรับภูเก็ตมีการดำเนินงานมาแล้วทั้งหมด 7 รุ่น ซึ่งเป็นการฝึกอบรมที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะด้านการบริหารจัดการ และสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการ ก็พร้อมที่จะสนับสนุนในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด การเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันในตลาดสากลได้  นอกจากนี้อุตสาหกรรมหลักของภูเก็ตคือภาคการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญในการสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจในพื้นที่ 

รวมถึงการเป็นศูนย์กลางด้าน Soft Power ภูเก็ต คือ อาหาร อาคาร อาภรณ์ อารมณ์ โดยเฉพาะในด้านวัฒนธรรมและอาหาร การเชื่อมโยงพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและอาหาร หรือการโปรโมทสินค้าท้องถิ่นและวัฒนธรรมผ่านเวทีนานาชาติสู่การขยายตลาดในกลุ่มนักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งอาจเป็นก้าวสำคัญในการผลักดัน Soft Power ของไทยสู่ตลาดโลก และยังสอดคล้องกับนโยบายปฏิรูปอุตสาหกรรม เน้นการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อมให้เติบโตอย่างยั่งยืน สู่การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภูมิภาคให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามกรอบแนวคิด BCG เพื่อให้สถานประกอบการหรือวิสาหกิจนำองค์ความรู้และเทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้ในการยกระดับผลิตภาพการผลิตและสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมีการใช้ทรัพยากรในภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนอีกด้วย

‘เอกนัฏ’ ตรวจเยี่ยมศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ชี้!! ต้องนำงานวิจัยมาต่อยอดให้อุตสาหกรรมฮาลาล

เมื่อวานนี้ (7 ต.ค. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นำทีมผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เยี่ยมชมศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) โดยมีนางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่ากระทรวงอุตสาหกรรม นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายกฤศ จันทร์สุวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมเยี่ยมชม และมี รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการ ศวฮ. ให้การต้อนรับ 

นายเอกนัฏ กล่าวว่า ขอขอบคุณทาง ศวฮ. ที่ได้ให้ความรู้ และนำเสนอผลการดำเนินงานการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล 

ตนได้มอบนโยบาย 'การปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่' ให้กับข้าราชการกระทรวงอุตสาหกรรม คือ ปฏิรูปที่ 1 'การจัดการกาก สารพิษ ที่ทำร้ายชีวิตประชาชน' โดยปรับการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ แก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืน การเพิ่มโทษอาญา ปฏิรูปที่ 2 'Save อุตสาหกรรมไทย' สร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของ SMEs บังคับใช้กฎหมายกับสินค้าต่างชาติที่ไม่ได้มาตรฐาน ยกระดับขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันได้ ปฏิรูปที่ 3 'การสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่' รองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ปรับเปลี่ยนสายการผลิตและเทคโนโลยีในประเทศ ยกระดับผลิตภาพการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมอุตสาหกรรมให้ก้าวทันโลก ยกระดับผลิตภาพด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ 

“ความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงของโลกต่อจากนี้ คือวิกฤตที่ภาคอุตสาหกรรมไทยต้องเผชิญ และยังถือเป็นโอกาสที่สำคัญและเรามีความได้เปรียบในด้านวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และความรู้ในอุตสาหกรรมฮาลาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมสนับสนุนเพื่อให้นำวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม งานวิจัย มาทำประโยชน์แก่ภาคอุตสาหกรรม ภาคผลิตให้มากที่สุด และกระทรวงจะช่วยสื่อสารและสร้างความเชื่อมั่นให้คนไทยและประชาคมโลกทราบถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของไทย“

ทั้งนี้ศวฮ. เป็นศูนย์พัฒนางานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีฮาลาล โดยมีการพัฒนาระบบมาตรฐานฮาลาล ประยุกต์ใช้นวัตกรรมในหลายขั้นตอนผ่านกระบวนการมาตรฐานฮาลาล HAL-Q การใช้นวัตกรรม H number น้ำยาดินชำระล้าง งานนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาล วางระบบในโรงงานอุตสาหกรรม 1,112 โรงงาน ครอบคลุม 158,823 คน ตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์กว่า 188,731 ตัวอย่าง นำไปสู่การพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การสร้าง Big Data การพัฒนาระบบ 'ฮาลาลบล็อกเชน' เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคในกระบวนการทวนสอบย้อนกลับผ่านแอปพลิเคชันในรูป Thailand Diamond Halal Blockchain และเพื่อให้ก้าวเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีดิจิทัล 

ศวฮ. ยังได้พัฒนาแพลตฟอร์ม THAIs หรือ Thailand Halal Trustworthy A.I. เพื่อสร้างความไว้วางใจต่อผลิตภัณฑ์ ผ่านการประยุกต์ใช้ AI ที่ 1 Actual Implementation ซึ่งเป็นการปฏิบัติงานด้วยมือและสมองของมนุษย์  AI ที่ 2 Artificial Intelligence โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อช่วยให้ภาคอุตสาหกรรม ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นต่อผลิตภัณฑ์ฮาลาลของไทย เป้าหมายเพื่อลดต้นทุน เพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน แก่ผู้ประกอบการเพื่อการเติบโตทางธุรกิจที่ยั่งยืน

‘เอกนัฏ’ เดินสายรับฟังข้อเสนอจาก SME สงขลา พัฒนาศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลาง-ย่อมทั่วไทย

(16 ต.ค. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตนและปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (นายณัฐพล รังสิตพล) นำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา เพื่อประชุมหารือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ (สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ตรัง พัทลุง และสตูล) ณ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม 

ทางภาคเอกชนได้มีข้อเสนอ ดังนี้ 
1) การส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการในพื้นที่ 
2) การพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมท้องถิ่น 
3) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นโดยใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติในพื้นที่เพื่อสร้างอัตลักษณ์ 
4) การยกระดับมาตรฐานการผลิตของวิสาหกิจชุมชน 
5) การส่งเสริมการใช้ 'วู้ดเพลเลท' (Wood pellets) หรือชีวมวลอัดแท่ง ซึ่งเป็นนวัตกรรมเชื้อเพลิงชีวมวลแทนการใช้พลังงานจากถ่านหินและพลังงานฟอสซิล สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 
6) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้าไปยังต่างประเทศ 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากการลงพื้นที่เพื่อรับฟังข้อเสนอของภาคเอกชน กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในพื้นที่และเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบาย 'การปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่' มุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยปัจจุบันประเทศไทยมี SME จำนวน 3.2 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 90 ของวิสาหกิจทั้งประเทศและเป็นแหล่งจ้างงานจำนวนกว่า 12 ล้านคน ด้วยมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของ SME จำนวน 6.32 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 35.2 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของภาคธุรกิจ SME ที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจและมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย การพัฒนาศักยภาพทักษะในการสร้างความยั่งยืนและเทคโนโลยียุคใหม่ 

รวมทั้งสร้างการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างกันให้แก่ธุรกิจ จะช่วยพัฒนาขีดความสามารถสร้างการเติบโต โอกาสทางการค้ารูปแบบใหม่ ๆ และความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจได้ 

กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ จึงมีมาตรการสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนให้กับเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพในการต่อยอดพัฒนาธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ มีแผนการสร้างแรงงานที่มีทักษะสูง โดยการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้และการฝึกอบรมในสายงานที่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ เพื่อให้แรงงานมีความสามารถที่ตรงกับความต้องการของตลาด เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจท้องถิ่นในระยะยาว 

นอกจากนี้ยังมีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการเชื่อมโยงผู้ประกอบการท้องถิ่นกับตลาดต่างประเทศ ส่งเสริมการสร้างแบรนด์สินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล มีการวางแนวทางการปรับปรุงกฎหมายและข้อกำหนดต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจและสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการลงทุน

“ผมได้เน้นย้ำให้ผู้ประกอบการคำนึงถึงความยั่งยืนในการผลิตเพื่อประโยชน์ระยะยาวทั้งต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญของกระบวนการผลิตยางพารา โดยการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความสะอาดตั้งแต่ต้นทาง จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับยางพารา สร้างรายได้เพิ่มให้กับผู้ประกอบการ และยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นการยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานสากล ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือของสินค้ายางพาราในตลาดต่างประเทศ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว 

จากนั้นรัฐมนตรีฯ เอกนัฏและคณะได้เยี่ยมชมศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม หรือ ศูนย์ไอซีที (Industry Transformation Center : ITC) ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการให้คำปรึกษาและสาธิตการใช้เครื่องจักรอุตสาหกรรมที่ทันสมัย อาทิ การทดลองยืดอายุผลิตภัณฑ์กรือโป๊ะด้วยเครื่องบรรจุสุญญากาศและการฆ่าเชื้อด้วยหม้อนึ่งฆ่าเชื้อภายใต้แรงดัน (retort) และการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากใบสับปะรดเพื่อยืดอายุผักและผลไม้สด เป็นต้น ปัจจุบันศูนย์ไอทีซี มีการให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ โดยยกระดับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมทั้ง 11 แห่ง ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จ.ลำปาง และบูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเป็นศูนย์สนับสนุนและพร้อมให้บริการอย่างครบวงจร รวมทั้งเป็นแหล่งการเรียนรู้พัฒนาบุคลากร

นายกฯ นั่งประธาน ‘บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์’ ดันประเทศสู่ผู้นำอุตสาหกรรม 4.0 ของภูมิภาค

(25 ต.ค. 67)นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงแห่งชาติ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธาน พร้อมแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและเอกชนมาร่วมเป็นกรรมการ ได้แก่ รมว.ต่างประเทศ รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รมว.พลังงาน รมว.อุตสาหกรรม เลขาธิการสภาพัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ม.ล.ชโยทิต กฤดากร นายวุฒินันท์ เจียมศักดิ์ศิริ นายศุภกร คงสมจิตต์ โดยมีเลขาธิการบีโอไอ เป็นกรรมการและเลขานุการ

บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์ฯ จะทำหน้าที่กำหนดทิศทางนโยบาย และเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง (Semiconductor and Advanced Electronics) พร้อมทั้งจัดทำแผนแม่บท (Roadmap) ของการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นรูปธรรมและครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งด้านการส่งเสริมการลงทุน การกำหนดสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสม การพัฒนาบุคลากรทักษะสูงทั้งในระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา การพัฒนา Supply Chain และการพัฒนาระบบนิเวศที่จำเป็นต่อการสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรม นอกจากนี้ บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์ฯ จะมีหน้าที่ในการพิจารณาแผนงานและโครงการต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ รวมทั้งการบูรณาการและติดตามประเมินผลการดำเนินงานให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ถือเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ในระดับโลก ซึ่งมีการแข่งขันดึงดูดการลงทุนระหว่างประเทศที่รุนแรง เนื่องจากเป็นหัวใจสำคัญของหน่วยประมวลผลและผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีขั้นสูงเกือบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน ยานยนต์ไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ เครื่องมือแพทย์ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ รวมถึงเทคโนโลยี AI ต่าง ๆ โดยอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง มีแนวโน้มการเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญ และจะทวีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต จากการแข่งขันทางเทคโนโลยีระหว่างประเทศ

การแต่งตั้งบอร์ดเซมิคอนดักเตอร์ฯ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ที่จะทำให้ประเทศไทยมียุทธศาสตร์และแผนพัฒนาอุตสาหกรรมที่ชัดเจน ช่วยเติมเต็มห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย นอกจากนี้ การที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญ โดยเป็นประธานบอร์ดฯ ด้วยตนเอง สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงของภูมิภาค อีกทั้งจะช่วยให้การประสานนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐเป็นไปอย่างมีเอกภาพ มีเป้าหมายร่วมกัน และเกิดความรวดเร็วในการทำงาน ซึ่งเป็นหัวใจของการแข่งขันในเวทีโลก

‘เอกนัฏ’ บุกอยุธยา ลงพื้นที่ 2 สถานที่ลักลอบทิ้งกากสารพิษ ขึงแผนแก้ปัญหาระยะยาว มั่นใจ!! เขตอุตสาหกรรมน้ำไม่ท่วม

(25 ต.ค. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจราชการ ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อติดตามการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่เพื่อป้องกันผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและประเทศ โดยมีนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) นิคมอุตสาหกรรมนครหลวง สวนอุตสาหกรรมโรจนะ ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เข้าร่วม

“การลงพื้นที่วันนี้เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ทางนิคมฯ เขตประกอบการฯ สวนอุตสาหกรรม และโรงงานต่าง ๆ มีการเตรียมความพร้อมที่ดีและเพียงพอต่อการรับมือกับสถานการณ์อุทกภัยที่มีแนวโน้มว่าจะค่อนข้างรุนแรงกว่าปีก่อน แม้ว่าขณะนี้พื้นที่โดยรอบของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะได้รับผลกระทบจากอุทกภัยบ้างแล้ว แต่พื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่มีนิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม ตั้งอยู่ยังไม่ได้รับผลกระทบ 

ขอให้เชื่อมั่นว่าเราได้เตรียมการรับมืออย่างเต็มกำลัง มีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย และได้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำหลากอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการและประชาชน ด้วย 8 มาตรการหลัก ได้แก่ 

1.จัดการระบบระบายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ 2.เสริมคันกั้นน้ำ 3.ระบบสูบน้ำพร้อมใช้ 4.อุปกรณ์ครบพร้อมช่วยเหลือ 5.ติดตามสถานการณ์ 24 ชั่วโมง 6.เฝ้าระวังประเมินสถานการณ์ต่อเนื่อง 7.ซ้อมแผนรับมือเป็นประจำ และ 8.สื่อสารแจ้งเตือนผ่านทุกช่องทาง“ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

และช่วงบ่ายนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะ ได้ลงพื้นที่อำเภอภาชีและอำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมใน 2 พื้นที่ คือ 

1) โกดังเก็บของเสียและวัตถุอันตราย อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมประมาณ 4,000 ตัน ถูกเททิ้งอยู่โดยรอบอาคารโกดังเก็บของเสียอันตรายจำนวน 5 โกดัง และมีการลอบวางเพลิงเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ทำให้เกิดปัญหาการแพร่กระจายของมลพิษ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ร่วมกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจัดทำคันดินป้องกันการรั่วซึมและการชะล้างสารเคมีในช่วงฤดูฝน และได้ว่าจ้างบริษัทผู้รับกำจัดเข้าทำการบำบัดกำจัดกากของเสียและสารอันตรายในระยะเร่งด่วน ด้วยงบประมาณ 6.9 ล้านบาท โดยได้เริ่มเข้าดำเนินการตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2567 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวบ้านในเบื้องต้น 

2) บริษัท เอกอุทัย จำกัด อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบการเททิ้งของเสียบริเวณหน้าพื้นที่โรงงาน มีร่องรอยการเททิ้งของเหลวที่เป็นวัตถุอันตรายที่มีสภาพเป็นกรดเข้มข้นเต็มพื้นที่บริเวณโรงงาน ซึ่งปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมได้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน พร้อมดำเนินคดี และสั่งการให้บริษัทฯ นำกากของเสียและสารอันตรายไปกำจัดและบำบัดให้ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน จึงได้จัดทำคันดินป้องกันการรั่วซึมและการชะล้างสารเคมีในช่วงฤดูฝน และได้ว่าจ้างบริษัทผู้รับกำจัดเข้าทำการบำบัดกำจัดกากของเสียและสารอันตรายในระยะเร่งด่วน ด้วยงบประมาณ 4 ล้านบาท โดยได้เริ่มเข้าดำเนินการตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2567 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวบ้านในเบื้องต้น

“กระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ โดยการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้มีการป้องกันและแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว รัดกุม และครอบคลุมถึงการบรรเทาเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบตลอดจนการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในระยะยาว ซึ่งปัจจุบันกำลังเร่งดำเนินการยกร่าง กฎหมายเพื่อการจัดการกากอุตสาหกรรม ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และการจัดตั้งกองทุนเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะทำการตรวจสอบกำกับดูแล เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาลักลอบทิ้งกากของเสียจากภาคอุตสาหกรรมเชิงรุกด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ตรวจกำกับ สั่งการ เพิกถอนใบอนุญาต และขอยืนยันว่าจะมีการดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำความผิดจนถึงที่สุด” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปิดท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top