Thursday, 15 May 2025
อีคอมเมิร์ซ

ค้าขายออนไลน์ไทย ใหญ่อันดับ 2 อาเซียน คาดปี 2025 มูลค่าแตะ 1.15 ล้านล้านบาท

E-Commerce ไทย ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค คาดการณ์ ปี 2025 มูลค่าแตะ 1.15 ล้านล้านบาท 

Google, Temasek และ Bain & Company เปิดรายงาน e-Conomy SEA Report ประจำปี 2022 โดยคาดการณ์มูลค่าสินค้ารวม (Gross Merchandise Volume: GMV) ของเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีนี้จะมีมูลค่าทะลุ 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือว่าเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ถึง 3 ปี (ในตอนแรกคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าทะลุ 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2025) 

จีนออกแผนปฏิบัติการ มุ่งเสริมสร้าง 'ระบบพาณิชย์ระดับอำเภอ' ส่งเสริมการพัฒนาแบบบูรณาการ ฟื้นฟูภูมิภาคชนบท

(15 ส.ค.66) สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (14 ) รัฐบาลจีนได้ออกแผนปฏิบัติการระยะ 3 ปี ที่มุ่งเดินหน้าเสริมสร้างระบบพาณิชย์ระดับอำเภอ ภายใต้ความพยายามส่งเสริมการพัฒนาแบบบูรณาการของพื้นที่ในเมืองและชนบท และฟื้นฟูภูมิภาคชนบทของประเทศ แผนดังกล่าวครอบคลุมการสร้างอำเภอ 'แนวหน้า' จำนวน 500 แห่ง ภายในปี 2025 ซึ่งจะมีศูนย์กระจายโลจิสติกส์ระดับอำเภอ ร้านสะดวกซื้อสำหรับประชากรชนบท และศูนย์พาณิชย์ชนบท เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดกลางและขนาดใหญ่ และตลาดผลผลิตการเกษตร พร้อมทั้งแสวงหาการเปิดช่องทางไหลเวียนแบบสองทางอย่างต่อเนื่องสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่จัดส่งสู่ชนบท และสินค้าเกษตรที่จัดส่งสู่เมือง เพิ่มรายได้เกษตรกรรมและยกระดับแนวโน้มการบริโภคของเกษตรกร รวมถึงช่วยตอบสนองความต้องการด้านชีวิตและการผลิตของประชากรชนบท

แผนข้างต้นมีขึ้นท่ามกลางความพยายามของจีนในการเร่งการจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกเชิงพาณิชย์ที่ด้อยพัฒนาในภูมิภาคชนบท พัฒนาระบบกระจายโลจิสติกส์ใน 'หมู่บ้าน-ตำบล-อำเภอ' โดยชี้แนะบริษัทพาณิชย์และโลจิสติกส์ให้มีการเปลี่ยนผ่านและยกระดับ ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาระบบพาณิชย์ที่มีคุณภาพสูงในอำเภอต่างๆ มีการระบุภารกิจเฉพาะมากกว่า 20 ภารกิจใน 7 ด้าน อาทิ การขยายบริการที่ศูนย์การค้าและตลาดชั้นนำสู่หมู่บ้านและตำบล การปรับปรุงศูนย์การค้าและตลาด การยกระดับศูนย์กระจายโลจิสติกส์หรือก่อสร้างขึ้นใหม่ การบ่มเพาะแบรนด์อีคอมเมิร์ซผลผลิตการเกษตรในท้องถิ่น และการเพิ่มขีดความสามารถของโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นสำหรับผลผลิตการเกษตร

อนึ่ง แผนปฏิบัติการนี้ร่วมออกโดยหลายกระทรวงของจีนที่กำกับดูแลงานหลายด้าน อาทิ พาณิชย์ การวางแผนเศรษฐกิจ การคลัง ทรัพยากรธรรมชาติ การเกษตรและกิจการชนบท วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว และบริการไปรษณีย์ โดยจะมีการกำหนดรายชื่ออำเภอแนวหน้าเป็นประจำทุกปีตามคำแนะนำจากหน่วยงานระดับมณฑล เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2023

‘Lazada’ สั่งปลดพนักงานนับร้อยทั่วอาเซียน หวยออก ‘สิงคโปร์’ ถูกปลดออกมากที่สุด

(5 ม.ค. 67) สำนักข่าวซีเอ็นบีซี (CNBC) รายงานว่า ‘ลาซาด้า’ (Lazada) แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในเครือบิ๊กเทคสัญชาติจีน ‘อาลีบาบา’ (Alibaba) ได้เลิกจ้างพนักงานทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายร้อยชีวิตเมื่อวันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมา

รายงานข่าวระบุว่า การเลิกจ้างครั้งนี้ส่งผลกระทบกับพนักงานในสิงคโปร์มากที่สุด แต่ส่งผลกระทบถึงพนักงานในประเทศอื่น ๆ ที่ Lazada ได้ให้บริการเช่นกัน ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

โดยพนักงานที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือพนักงานที่อยู่ในฝ่ายการขาย ค้าปลีก และการตลาด

ตัวแทนของ Lazada สิงคโปร์ กล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า บริษัทกำลังปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรเพื่อเร่งการทำงานแบบเชิงรุก และพัฒนาบริการให้คล่องตัวมากขึ้น พร้อมต่อการตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนรายดังกล่าวยังไม่ยืนยันเกี่ยวกับรายละเอียดการปรับลดพนักงานในครั้งนี้

ทั้งนี้ การปลดพนักงานของ Lazada เกิดขึ้นท่ามกลางการแข่งขันอย่างรุนแรงของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นช้อปปี้ (Shopee) และ TikTok Shop ที่บุกตลาดเข้ามาเรื่อย ๆ พร้อมทั้งมีทิศทางการเติบโตของแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง

‘เศรษฐา’ สั่ง ‘ดีอี-ตำรวจ-สรรพากร’ ตรวจสอบแพลตฟอร์มจากจีน ย้ำ!! ต้องยึดกฎหมายเป็นหลัก มาทำการค้าบ้านเรา ก็ต้องเสียภาษีให้เรา

(3 ส.ค.67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังลงพื้นที่จ.นราธิวาส ถึงกรณีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Temu ของจีนเข้ามาตีตลาดไทย รวมถึงตลาดอื่นทั่วโลก จึงกังวลว่าเงินจะถูกส่งกลับจีน โดยไม่ได้มีการจ่ายภาษีให้กับประเทศไทยว่า ก็ต้องมีการตรวจสอบและได้มีการกำชับไปที่กรมสรรพากร และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี)แล้ว เพราะตอนนี้ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาใหญ่ ความก้าวหน้าเทคโนโลยีมีสูงมาก ฉะนั้นเราต้องเตรียมการให้ทัน

เมื่อถามว่า จะมีแนวทางแก้ปัญหาอย่างไร ที่จะไม่ให้มีการตีตลาดบ้านเรา นายกฯ กล่าวว่า แน่นอนถ้าเกิดมาทำการค้าบ้านเราต้องเสียภาษีที่เรา ตรงนี้ต้องยึดกฎหมายเป็นหลัก เมื่อถามย้ำว่า ต้องดูให้เขาเสียภาษีใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า แน่นอน แน่นอนอยู่แล้วครับ

เมื่อถามต่อว่า ตอนนี้ได้มีการตรวจสอบแพลตฟอร์มดังกล่าวแล้วหรือยัง นายกฯ กล่าวว่า มีครับ ได้สั่งการไปที่ดีอีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) และกรมสรรพากรด้วย เรื่องนี้ได้มีการพูดคุยกันตลอด เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญ อย่างเรื่องของสินค้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) ก็ถือเป็นส่วนหนึ่ง เพราะเอสเอ็มอีของเราเป็นภาคส่วนที่เปราะบาง เราเองต้องช่วยปกป้อง

เมื่อถามว่า หากพบมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง นายกฯ กล่าวว่า คำตอบมันอยู่ในตัวอยู่แล้วว่า รัฐบาลชุดนี้ควบคุมเรื่องนี้ ถ้าพิสูจน์ทราบได้ แต่เราต้องให้ความเป็นธรรมกับข้าราชการด้วย แต่ถ้าหากพิสูจน์ได้ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายขั้นเด็ดขาด

'รมว.ปุ้ย' สั่ง สมอ.คุมเข้ม 'สินค้าด้อยคุณภาพ-ราคาถูก' แพลตฟอร์มข้ามชาติ พร้อมเดินหน้าจัดเก็บภาษี 'อีคอมเมิร์ซ' สร้างความเป็นธรรมในการแข่งขัน

(14 ส.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากกรณีที่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติได้เข้ามาบุกตลาดสินค้าไทย ได้ส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อธุรกิจ SME รวมถึงความไม่ปลอดภัยของประชาชนจากการใช้สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน กระทรวงอุตสาหกรรม ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และเร่งดำเนินการตามภารกิจ 'Quick win' เพื่อสกัดกั้นสินค้าไม่ได้มาตรฐานเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าที่ สมอ. ควบคุม ทั้ง 144 รายการ ที่ สมอ. สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมายเพื่อความปลอดภัยของประชาชน 

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการของกระทรวงอุตสาหกรรม ยังไม่ครอบคลุมสินค้าที่มีการซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ที่มีจำนวนกว่า 1,000 รายการ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนร่วมดำเนินการควบคุมและกำกับติดตาม ทั้งกระทรวงการคลัง, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงดิจิทัลฯ,  กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ไม่มีคุณภาพหรือเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค รวมทั้ง พิจารณาให้มีการจัดเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขัน โดยการกำหนดนโยบายการจัดเก็บภาษีที่เหมาะสมสำหรับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติ เพื่อให้บริษัทเหล่านี้เสียภาษีอย่างถูกต้องและไม่เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สมอ. ได้เร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งภารกิจ 'Quick win' กวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาด และทางออนไลน์ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 จนถึง เดือนกรกฎาคม 2567 ได้ยึดอายัดสินค้าไม่ได้มาตรฐานเป็นมูลค่า 322,420,097 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้ เป็นสินค้าไม่ได้มาตรฐานที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน มูลค่า 92,767,374 บาท คิดเป็น 29% จากทั้งหมด

นอกจากนี้ สมอ. ยังได้กำหนดมาตรฐานสินค้าเพิ่มในปีนี้อีกจำนวนกว่า 1,400 มาตรฐาน จากเดิมที่ประกาศใช้แล้วจำนวน 2,722 มาตรฐาน และอยู่ระหว่างดำเนินการประกาศเป็นสินค้าควบคุมอีกจำนวน 52 มาตรฐาน เพิ่มเติมจากเดิมจำนวน 144 มาตรฐาน ครอบคลุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เช่น ภาชนะและเครื่องใช้สแตนเลส กระทะ/ตะหลิว/หม้อ/ช้อน/ส้อม/ปิ่นโต/ถาดหลุม/ถุงพลาสติกสำหรับบรรจุอาหาร/ถุงพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับอุ่นในไมโครเวฟ/เตาหุงต้มในครัวเรือนใช้กับก๊าซปิโตรเลียมเหลว/ท่อยางและท่อพลาสติกสำหรับใช้กับก๊าซหุงต้ม/ฟิล์มติดกระจกสำหรับรถยนต์/ภาชนะพลาสติกสำหรับบรรจุน้ำบริโภค/ที่รองนั่งไฟฟ้าสำหรับโถส้วมนั่งราบ/ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก และแผงโซลาร์เซลล์ เป็นต้น 

นอกจากการดำเนินการข้างต้น สมอ. ยังมีแนวทางการดำเนินงานเพื่อป้องกันการเข้าถึงแพลตฟอร์มออนไลน์รายใหม่เพิ่มเติม ดังนี้...

1) เร่งทำความเข้าใจและชี้แจงข้อกฎหมายกับผู้ประกอบการที่ให้บริการขนส่งสินค้า และให้บริการดำเนินพิธีการศุลกากร (Shipping) เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 
2) สร้างความตระหนักให้ประชาชนเลือกซื้อสินค้าที่มีเครื่องหมายมาตรฐานบนแพลตฟอร์มออนไลน์ 
3) บูรณาการการทำงานร่วมกับกรมศุลกากร เพื่อการนำเข้าสินค้าที่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานจากแพลตฟอร์มออนไลน์ 
4) บูรณาการการทำงานร่วมกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เกี่ยวกับการควบคุมแพลตฟอร์มออนไลน์  
และ 5) บูรณาการการทำงานกับสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างยั่งยืน

ไอเดียจีนสร้างฮับดิจิทัลกว่างซี เชื่อมอีคอมเมิร์ซอาเซียนที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์

เมื่อไม่นานนี้ ตำบลอูเจิ้น มณฑลเจ้อเจียงทางตะวันออกของจีน ได้จัดการประชุมสุดยอดอินเทอร์เน็ตโลก (WIC) แห่งอูเจิ้น ปี 2024 โดยส่วนหนึ่งเป็นการประชุมศูนย์สารสนเทศจีน-อาเซียน หัวข้อสร้างเส้นทางสายไหมดิจิทัล แบ่งปันอนาคตดิจิทัลร่วมกัน

คณะเจ้าหน้าที่รัฐจากจีนและกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น ลาว มาเลเซีย และเมียนมา ได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองกับเหล่าผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการวงการอินเทอร์เน็ตจากทั้งในและต่างประเทศด้วยเป้าหมายส่งเสริมการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างจีนกับอาเซียน เพื่ออนาคตใหม่ของเส้นทางสายไหมดิจิทัลที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์

อนึ่ง จีนและกลุ่มประเทศอาเซียนมุ่งใช้โอกาสการพัฒนาใหม่จากกระแสดิจิทัลมาทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเขตปกครองตนเอง 'กว่างซี' ทางตอนใต้ของจีน ซึ่งเป็นภูมิภาคเดียวของจีนที่เชื่อมต่อกับอาเซียนทางบกและทางทะเล ได้เร่งพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและเปิดกว้างความร่วมมือเส้นทางสายไหมดิจิทัลกับอาเซียน

กว่างซีได้ทำหน้าที่แกนกลางของศูนย์สารสนเทศจีน-อาเซียน ซึ่งดำเนินงานเชื่อมต่อเครือข่าย แลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงสร้างความร่วมมือและผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงทางดิจิทัลและสร้างเส้นทางสายไหมดิจิทัลในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ศูนย์สารสนเทศจีน-อาเซียน ได้ดำเนินโครงการความร่วมมือกับกลุ่มประเทศอาเซียนในด้านรัฐบาลดิจิทัล วิถีชีวิตดิจิทัล และอุตสาหกรรมดิจิทัลเกือบ 20 โครงการ โดยแพลตฟอร์มบริการข้อมูลสินเชื่อข้ามพรมแดนจีน-อาเซียนของศูนย์ฯ ครอบคลุมผู้ประกอบการในกลุ่มประเทศอาเซียนถึง 7.87 ล้านราย และร่วมมือกับธนาคารในและต่างประเทศ 16 แห่ง

นอกจากนั้นศูนย์ฯ ส่งเสริมการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล ทั้งการสื่อสาร การสำรวจระยะไกล พลังการประมวลผล และการนำทาง รวมถึงมีการวางเคเบิลออปติกภาคพื้นดินระหว่างประเทศ 12 เส้น พร้อมจัดตั้งศูนย์สารสนเทศ 38 แห่งใน 9 ประเทศอาเซียน เช่น ลาว กัมพูชา และเมียนมา

กว่างซีได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการสร้างศูนย์สารสนเทศจีน-อาเซียน ดึงดูดแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำอย่างลาซาด้าและชอปปีมาจัดตั้งศูนย์โลจิสติกส์ และสร้างฐานการไลฟ์ตรีมมิงอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนสำหรับอาเซียน

ขณะเดียวกันกว่างซีเร่งสร้างนิคมอุตสาหกรรมปลายทางอัจฉริยะ 5G (ชินโจว) จีน-อาเซียน เดินหน้านิคมอุตสาหกรรมเศรษฐกิจดิจิทัลจีน-อาเซียน และลงนามข้อตกลงการลงทุนกับบริษัทเกือบ 30 แห่ง ส่งผลให้ยอดจำหน่ายอุปกรณ์จัดเก็บและเทคโนโลยีสารสนเทศที่ผลิตโดยผู้ประกอบการท้องถิ่นกว่างซีตั้งแต่ปี 2023 สูงเกิน 20 ล้านหยวน (ราว 94 ล้านบาท)

ฐานหลักของศูนย์สารสนเทศจีน-อาเซียนในนครหนานหนิงได้รวบรวมบริษัทผู้ประกอบการเศรษฐกิจดิจิทัลมากกว่า 7,200 แห่ง เมื่อนับถึงสิ้นปี 2023 และปริมาณนำเข้าและส่งออกอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของหนานหนิงสูงเกิน 1 หมื่นล้านหยวน (ราว 4.76 หมื่นล้านบาท) ติดต่อกัน 2 ปี

ทั้งนี้ ปริมาณการค้าระหว่างจีนกับอาเซียนเพิ่มขึ้นจากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.44 ล้านล้านบาท) ในปี 2004 เป็น 9.12 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 31.37 ล้านล้านบาท) ในปี 2023 โดยทั้งสองฝ่ายต่างเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกันและกันติดต่อกัน 4 ปี พร้อมเดินหน้าความร่วมมือด้านเทคโนโลยีดิจิทัล พลังงานสีเขียวและคาร์บอนต่ำ และยานยนต์พลังงานใหม่


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top