Friday, 3 May 2024
อาหารไทย

‘บ้านตานิด’ ร้านอร่อยชื่อดังริมน้ำเจ้าพระยา กลิ่นอายพื้นบ้าน บรรยากาศดี อาหารเด็ด เดินทางสะดวกทั้งทางเรือ-ทางบก

อยากอร่อยกับเมนูไทยพื้นบ้าน เหมือนที่เคยลิ้มลองในวัยเด็ก สัมผัสบรรยากาศริมน้ำ กลิ่นอายวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยก่อนที่อาศัยการคมนาคมทางน้ำเป็นหลัก ให้มาที่ ร้านบ้านตานิด ร้านอาหารไทยชื่อดังแห่งอำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเดิมคือบ้านพักอาศัยของครอบครัวเจ้าของร้าน อีกทั้งยังเคยเป็นปั๊มน้ำมันเรือทางน้ำ (ปั๊มเชลล์) สมัยที่ยังไม่มีถนนตัดผ่านย่านนี้เลย

การมาร้านบ้านตานิดในปัจจุบันนี้ ยังคงมาได้ทั้งทางเรือส่วนตัวและทางบก จากกรุงเทพฯ ให้ขึ้นทางด่วนขั้นที่ 2 (ศรีรัช) ต่อด้วยทางพิเศษอุดรรัถยาหรือทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด มาลงที่ทางออก ถนนสาย 346 (บางพูน-รังสิต) เลือกไปทาง ปทุมธานี จากนั้นให้ข้ามแม่น้ำมาตามทางในกูเกิลแมพอีก 10 กม. จนเข้าถนนสาย 4004 หรือถนนเทศบาล 1 (ให้ค้นในกูเกิลแมพว่า ร้านบ้านตานิด) ไปสุดทางที่ริมน้ำตรงตำบลกระแชง อำเภอสามโคก ซึ่งจะมีลานจอดกว้างๆ ให้ถามคนโบกได้เลยว่าร้านบ้านตานิดจอดตรงไหน หรือถ้าอยากเห็นบ้านเรือนและชุมชนใกล้ริมน้ำ สามารถลัดเลาะมาตามถนนเส้นเล็กๆ จากตัวจังหวัดปทุมธานีอีกเส้นทางหนึ่งได้ด้วย

ร้านบ้านตานิดอยู่ในบ้านไม้เก่าแก่ทาสีเขียวที่รักษาสภาพไว้เป็นอย่างดี ส่วนที่นั่งกินข้าวจะอยู่ตรงชานบ้านด้านนอกมีหลังคาคลุมและริมท่าน้ำ ซึ่งจะมีท่าจอดเรือส่วนตัวด้วย โดยก่อนเข้าร้าน ลูกค้าจะต้องถอดรองเท้าและสวมรองเท้าแตะที่จัดไว้ให้เดินเข้าไปอีกที

ก่อนอื่นขอบอกว่ามาร้านบ้านตานิดต้องโทรจองโต๊ะล่วงหน้า เพราะได้รับความนิยมมาก ยิ่งถ้ามาวันสุดสัปดาห์ให้โทรจองก่อนหลายๆ วันเลย

เจ้าของร้านนั้นคือเพื่อนของพี่รอบิ้นรุ่นพี่ของปิ่นโตเถาเล็กเองชื่อว่า พี่มด ซึ่งนำบ้านพักอาศัยของครอบครัวมาทำเป็นร้านอาหาร แต่ก่อนนั้นนอกจากจะเป็นปั๊มน้ำมันเรือแล้ว ยังเป็นร้านขายเครื่องอุปโภคบริโภครวมถึงสินค้าต่างๆ เช่นน้ำมันยาง ชัน ปูนขาวอีกด้วย พอมีการตัดถนนจึงเลิกกิจการเปลี่ยนเป็นบ้านอยู่อาศัยอย่างเดียว

จากนั้นคุณแม่พี่มดก็หันมาทำพริกแกงขายโดยใช้ชื่อว่า บ้านพริกแกง ที่ร้านนี้จึงเก่งเรื่องแกงต่างๆ เพราะทำพริกแกงเอง ใช้วิธีการบดและตำด้วยมือ

จนกระทั่ง พ.ศ. 2559 พี่มดกับน้องสาวจึงได้ดัดแปลงบ้านเป็นที่พักเล็กๆ สำหรับคนที่จะมาเรียนศิลปะ ขายอาหารเฉพาะคนที่จองมาเท่านั้น เป็นเมนูซึ่งพี่มดชอบกินเองที่บ้านอยู่แล้ว พอมีเพื่อนฝูงลูกค้าบอกต่อเยอะจึงหันมาทำร้านอาหารเป็นหลัก (แทบไม่ได้ทำเรื่องห้องพักแล้ว) นำชื่อวาณิชย์ของคุณพ่อมาตั้งเป็นชื่อร้านบ้านตานิด

ผมชอบของกินร้านนี้มาก เพราะเป็นอาหารไทยพื้นบ้านที่คนกรุงเทพฯรุ่นผมคุ้นเคยเป็นอย่างดี เมนูห้ามพลาดมีมากมาย อย่างเช่น ต้มกะทิสายบัวปลาสลิด (240 บาท+) พี่มดบอกว่าเป็นคนไม่ชอบกินปลาทู จึงใส่ปลาสลิดแทน เคล็ดลับความเค็มหอมมาจากการใช้ปลาเค็มแทนกะปิ เมนูนี้ต้องรีบกินตอนร้อนๆ จะอร่อยมาก

ถ้าชอบรสเผ็ดหน่อยให้สั่ง แกงส้มชะอมไหลบัวกุ้งสด (260-320 บาท+) พริกแกงทำเองรสเข้มข้นครบทุกรสเหมือนที่กินตอนเด็กจริงๆ พี่มดจะต้มกุ้งแล้วนำไปบดใส่ในน้ำแกงจนน้ำข้นคลั่ก โดยเลือกใช้กะปิบังดาษจากเมืองตรังหอมอร่อย

อีกเมนูที่สุดยอดมากๆ คือ ผัดสามเหม็น (240-280 บาท+) ผัดวุ้นเส้นใส่ชะอม สะตอ และกระเทียมดอง กลิ่นหอมฟุ้งเป็นพิเศษเพราะมีเคล็ดลับคือจะซอยเครื่องกระเทียม หอมและพริกสดเมื่อลูกค้าสั่งเท่านั้นทุกๆ จาน

ของไม่เผ็ดต้อง พะโล้ไข่เค็ม (220-280 บาท+) อร่อยไม่ซ้ำใคร ใส่เครื่องสามเกลอ (รากผักชี กระเทียม พริกไทย) เยอะๆ และมีอบเชยกับเครื่องยาจีนด้วย ทำรสหวานนำ แต่จะได้ความเค็มอร่อยลงตัวจากไข่เค็มมาผสมกัน ซึ่งต้องซื้อจากเจ้าประจำในตลาด อ.ต.ก.เท่านั้น (ไม่เค็มเกินไป) นำมาต้มค้างคืน

ส่วนผัดผักที่ห้ามพลาดคือ ผักบุ้งไทยผัดกะปิกุ้งกรอบ (220 บาท+) กุ้งทะเลสดกรอบสมชื่อ พี่มดซื้อจากเจ้าประจำที่ตลาดสามโคก ซื้อเช้าขายบ่าย ซื้อบ่ายขายเย็น และผัดผักบุ้งไทยได้รสชาติถึงใจ เนื่องจากพอผัดเสร็จจะหยอดน้ำพริกกะปิเพิ่มความหอมเข้มอีก 1 ช้อนลงไป

ส่วนถ้าเป็นเครื่องจิ้มต่างๆ ให้สั่ง หลนปลากุเลาหอม (260-340 บาท+) ซึ่งพี่มดทำแบบโบราณใส่ข้าวหมากเพิ่มความหอม โดยจะใช้ทั้งปลากุเลาให้ความหอมและปลาอินทรีให้ความเค็ม นอกจากนี้ ก็มี น้ำพริกกะปิกุ้งสด (280-380 บาท+) อีกเมนูโบราณที่ใส่น้ำพริกกะปิก็คือแกงรัญจวนเนื้อ (260-320 บาท+) ใส่เนื้อน่องลายตุ๋นและแตงโมอ่อนด้วย ไม่กินเนื้อก็มีแกงรัญจวนหมูอีกอย่าง

ของไม่เผ็ดมีหลากหลาย เมนูยอดนิยมคือหมูกรอบคั่วพริกเกลือ (280-380 บาท+) ใส่พริกไทยอ่อน คั่วถึงเครื่องพริกขี้หนูหอมๆ อีกทั้ง ปลาเนื้ออ่อนทอดราดกระเทียม (380-480 บาท+) ตัวเล็กๆ ทอดราดน้ำปลาผสมน้ำตาล ซึ่งกระเทียมที่ร้านจะเจียวเอง เวลากินให้จิ้มน้ำจิ้มซีฟู้ด เนื้อย่างจิ้มแจ่ว (240-320 บาท+) ใส่มะขามเปียก สันคอหมูย่าง (240-320 บาท+) และ หนำเลี้ยบหมูสับคั่วพริกแห้ง (220-280 บาท+) มีแม้กระทั่ง กุ้งแม่น้ำเผา (สอบถามขนาดและราคาได้เลย) ส่วนเครื่องดื่มถ้ามาวันเสาร์-อาทิตย์ให้สั่ง น้ำมะยงชิดปั่น กระท้อนปั่น และ มะม่วงปั่น (145 บาท+ ทุกอย่าง)

ลืมบอกไปว่าที่ร้านบ้านตานิด ถ้ามาวันธรรมดาจะคิดค่าบริการเพิ่ม 5% แต่ถ้ามาวันเสาร์-อาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์จะคิดค่าบริการ 10%

ขอย้ำว่าเนื่องจากร้านบ้านตานิดคือร้านดังที่ได้รับความนิยมมาก ก่อนไปหลายๆ วันต้องโทรไปจองโต๊ะไว้ล่วงหน้าดีที่สุด มิฉะนั้นอาจจะต้องรอโต๊ะนานเป็นชั่วโมง ร้านบ้าน

ตานิดเปิดบริการตามช่วงมื้ออาหาร กลางวัน 11 โมงครึ่งถึงบ่าย 3 โมง ส่วนมื้อเย็นเปิดตอน 5 โมงเย็นถึง 2 ทุ่ม หยุดทุกวันอังคาร โทรจองโต๊ะได้ที่ 08-1835-0660

'รัดเกล้า' ย้ำ!! ภารกิจใหญ่รัฐบาล ดันไทย 'ศูนย์กลางอาหารฮาลาล' เล็งเดินหน้า 8 มาตรการ พาอาหารฮาลาลไทยสู่เวทีโลก

(18 ต.ค. 66) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) พร้อมมุ่งหน้าผลักดันนโยบายหลักด้านความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงการทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางสำหรับอุตสาหกรรมฮาลาลโลก ซึ่งไทยมีความพร้อมทั้งด้านวัตถุดิบและมีศักยภาพ ที่จะเดินหน้าสู่การเป็นแหล่งผลิตอาหารฮาลาลเติมเต็มความต้องการของหลายประเทศทั่วโลก

นางรัดเกล้ากล่าวว่า ตลาดอาหารฮาลาลเป็นตลาดที่มีศักยภาพ มีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตเฉลี่ย 13.5% ตามสัดส่วนประชากรมุสลิมโลกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย อก. ได้จัดทำ 8 มาตรการสำคัญ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของไทยสู่ตลาดโลก โดยเชื่อมโยงกับ Soft Power ในท้องถิ่น ได้แก่

1.ขับเคลื่อน Soft Power ยกระดับอาหารฮาลาลท้องถิ่นภาคใต้ของไทย เป็นอาหารแนะนำเสิร์ฟบนเครื่องบิน 

2. เชื่อมโยงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฮาลาล กับแหล่งอาหารฮาลาลในพื้นที่ พร้อมร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แนะนำ และขึ้นทะเบียนเมนูอาหาร ตลอดจนส่งเสริมอาหารฮาลาลในเทศกาลต่าง ๆ 

3.ลดข้อจำกัด และอุปสรรคเกี่ยวกับการขอรับรองตราสัญลักษณ์ฮาลาล โดยร่วมกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อลดข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาในการรับรอง 

4.เจรจาความตกลง (MOU) เพื่อเปิดตลาดสินค้าอาหารฮาลาลใหม่ ๆ ในต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สาธารณรัฐทูร์เคีย

5.พัฒนาผู้ผลิตอาหารฮาลาลไทย ให้สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคมุสลิมรุ่นใหม่ 

6.สร้างเครือข่ายความร่วมมืออาหารฮาลาลไทยกับประเทศเป้าหมาย โดยร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์เดินสาย road show ในตลาดศักยภาพ อาทิ อาเซียน ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ 

7.พัฒนานิคมอุตสาหกรรมฮาลาลของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อยกระดับศูนย์พัฒนาสินค้าอาหารของสถาบันอาหารในจังหวัดสงขลา 

8.พัฒนาและจัดทำต้นแบบ (Role Model) ในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อยกระดับสถานประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร ให้ได้มาตรฐานฮาลาลเพื่อการส่งออก รวมทั้งพัฒนาสายพันธุ์วัวใหม่ ๆ ที่มีคุณภาพสูง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการส่งออกสู่ประเทศที่มีกำลังซื้อสูง

“นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เน้นย้ำเสมอถึงความสำคัญของความมั่นคงทางอาหาร ไทยมีวัตถุดิบ และมีศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และพัฒนาคุณภาพของอาหารได้ (Food Technology) เพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหารฮาลาลของหลายประเทศ เชื่อมตลาดไทยสู่ตลาดโลก ปูทางสู่การเป็นศูนย์กลางสำหรับอุตสาหกรรมฮาลาลของไทย” นางรัดเกล้ากล่าว

‘สธ.-สสส.-MBK’ รวมพลังปลุกกระแส ‘อาหารไทยถิ่น กินเป็นยา’ กระตุ้นท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ-เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ-ดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ

(9 พ.ย. 66) นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดงานเสวนาวิชาการและนิทรรศการอาหารเป็นยาครั้งที่ 1/2566 ภายใต้แนวคิด ‘อาหารไทยถิ่น กินเป็นยา’ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-12 พฤศจิกายน 2566 ที่ลาน MBK Avenue A ศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ กรุงเทพมหานคร โดยมี นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รักษาราชการแทนรองปลัด สธ. นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ผู้บริหาร สธ.ภาคีเครือข่ายร่วมงาน พร้อมทั้งมอบป้ายโลโก้อาหารเป็นยา ให้กับสถานประกอบการ ทั้ง 20 แห่ง ที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกผู้จำหน่ายอาหารที่มีเมนูสุขภาพจากวัตถุดิบในท้องถิ่น ปลอดสารพิษ

นายสันติกล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นภาคเศรษฐกิจและสร้างงานให้กับประชาชน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพด้านอาหารที่สร้างรายได้ให้กับประเทศนับแสนล้านบาท

ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ข้อมูลจากกรมการท่องเที่ยว ระบุว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวด้านอาหาร ถึงร้อยละ 20 ของรายได้การท่องเที่ยวทั้งหมด และในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รายได้จากอาหารและเครื่องดื่มจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5.74 สธ.จึงเห็นโอกาสในการขับเคลื่อนนโยบายอาหารเป็นยา เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อมั่น ให้กับประชาชนเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพด้วยการบริโภคอาหาร นำไปสู่สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ

“อาหารไทยได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวอย่างแพร่หลาย ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดรายการอาหารยอดนิยมของนักท่องเที่ยวไว้ จำนวน 6 รายการ ได้แก่ ผัดไทย ต้มยำกุ้ง แกงเขียวหวาน ส้มตำ มัสมั่น ต้มข่าไก่ และยังมีรายการอาหารไทยที่ควรส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักมากยิ่งขึ้น เช่น ผัดกะเพรา ผัดฉ่า เครื่องดื่มสมุนไพรซึ่งมีสรรพคุณตามรสยา เพื่อช่วยให้ร่างกายแข็งแรง และบรรเทาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น” นายสันติกล่าว

นพ.สุรโชค กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือของ สธ.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ และภาคีเครือข่าย เพื่อขับเคลื่อนการนำอาหารไทย สมุนไพรไทย มาช่วยสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ภายใต้แนวคิด ‘อาหารไทยถิ่น กินเป็นยา’ เป็นการสร้างกระแสให้ประชาชนหันมาใส่ใจการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเยาวชนรุ่นใหม่จะได้ตระหนักรู้ว่าอาหารไทย สมุนไพรไทยมีคุณค่า เป็นการผสม ‘ศาสตร์’ การดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย กับ ‘ศิลป์’ ความพิถีพิถัน ความละเอียดอ่อนในการปรุงอาหาร ที่ช่วยสร้างคุณค่าและมูลค่าให้กับอาหารไทย คาดว่าการจัดงานในครั้งนี้จะทำให้เศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนจากการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาชมงานประมาณ 5-6 หมื่นคนต่อวัน

ด้าน นพ.ขวัญชัยกล่าวว่า ที่ผ่านมากรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้จัดกิจกรรมอาหารเป็นยาโดยนำร่องจังหวัดที่เป็นเมืองสมุนไพร อาทิ สงขลา อุดรธานี จันทบุรี สระบุรี เชียงใหม่ เป็นต้น ซึ่งได้การตอบรับเป็นอย่างดี รวมถึงได้ร่วมมือกับ ‘การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย’ (ททท.) มอบป้ายโลโก้ให้ผู้ประกอบการ สตรีทฟู้ด ร้านอาหารเครื่องดื่ม และโรงแรม แล้วกว่า 200 ร้านค้า เพื่อเป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพ และเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่ามีเมนูสุขภาพที่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น ปลอดสารพิษ เป็นการช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย เวทีเสวนาวิชาการ ให้ความรู้เกี่ยวกับสรรพคุณทางสมุนไพรที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย กิจกรรมอาการเป็นยา เช่น กินยังไง? ไม่ให้ป่วย, กินสร้างสุข, กินลดโรค การออกร้านจำหน่ายอาหาร-เครื่องดื่มจากชุมชนทั่วประเทศ

อาหารไทยสุดยอด!! ติด 1 ใน 5 ประเทศ ที่มี 'อาหารดีต่อสุขภาพที่สุดในโลก' ประจำปี 2566

‘ไทย’ คว้าที่ 5 ประเทศที่มีอาหารดีต่อสุขภาพที่สุดในโลก ปี 2566 จากการจัดอันดับของนิตยสาร Insider Money ภายใต้หลักเกณฑ์ 3 ประการ ประกอบด้วย การวัดคุณค่าอาหารในท้องถิ่นว่ามีสุขอนามัยที่ดีเพียงใด, อัตราโรคอ้วน และเบาหวานโดยรวมในแต่ละประเทศ ซึ่งอ้างข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO)

สำหรับเหตุผลที่จัดให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 5 นั้น เพราะส่วนใหญ่อาหารไทยมีรสชาติเผ็ดร้อน และเครื่องเทศบางชนิดที่โดดเด่นสำหรับการปรุงอาหาร ได้แก่ ขมิ้น, กระเทียม, หัวหอม และตะไคร้ เป็นที่รู้กันว่า มีคุณสมบัติ 'ต้านการอักเสบ' และ 'ต้านมะเร็ง' 

นอกจากนี้ ไทยยังขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ด้วยผักสีเขียว และอาหารทะเล อีกด้วย

‘ผัดกะเพรา’ คว้าอันดับ 3 อาหารที่ดีที่สุดในโลกปี 2023 ‘ข้าวซอย-พะแนง-ต้มข่าไก่-มัสมั่น’ ไม่น้อยหน้า!! ติดมาด้วย

(14 ธ.ค.66) จากเพจ ‘Travel360 เที่ยวรอบทิศ’ โพสต์ข้อความระบุว่า…

อาหารไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก เมื่อ ‘TasteAtlas’ จัดอันดับ 100 เมนูอาหารที่ดีที่สุดในโลกปี 2023 ซึ่ง ‘ผัดกะเพรา’ ได้อันดับ 3 มาครอง

ไม่เพียงเท่านั้นยังมีอาหารไทยอีก 4 เมนู ที่ติดมาใน 100 อันดับในครั้งนี้ด้วย ได้แก่…

อันดับ 6 ข้าวซอย 
อันดับ 10 แกงพะแนง
อันดับ 15 ต้มข่าไก่ 
อันดับที่ 73 แกงมัสมั่น

‘ต้มยำกุ้งหม้อไฟ’ สุดยอดเมนูคลายหนาว ขายดีในยูนนาน แถมชาวจีนที่เคยทาน เริ่มหัด ‘ทำกินเองที่บ้าน’ แล้วด้วย

(21 ธ.ค. 66) สำนักข่าวซินหัว, คุนหมิง ห้วงยามฤดูหนาวที่อากาศเย็นเยือก ‘ฟ่าน จื้อเหวิน’ เจ้าของร้านอาหารแห่งหนึ่งในนครคุนหมิง มณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ได้ออกเมนู ‘ต้มยำกุ้งหม้อไฟ’ ที่มีเครื่องต้มยำกุ้งของไทยเป็นส่วนประกอบหลัก เสิร์ฟพร้อมเนื้อสัตว์ อาหารทะเล และผักสด กลายเป็นที่โปรดปรานของลูกค้าจำนวนไม่น้อย

‘ฟ่าน’ วัย 35 ปี เผยว่า ต้มยำกุ้งถือเป็นเมนูยอดนิยมที่สั่งกันทุกโต๊ะ ส่วนต้มยำกุ้งหม้อไฟเป็นอีกหนึ่งเมนูที่มีลูกค้าสั่งกันเยอะในฤดูหนาว โดยร้านอาหารกลุ่มชาติพันธุ์ไต-อาหารไทยของเขา มักออกสารพัดเมนูตามฤดูและเทศกาล เช่น ฤดูร้อนมีเมนูรสชาติเผ็ดเปรี้ยว ฤดูหนาวมีเมนูหม้อไฟ และมีเมนูพิเศษต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ด้วย

ทั้งนี้ ฟ่านผู้เริ่มต้นทำธุรกิจร้านอาหารไทยมาตั้งแต่ปี 2015 มองว่า ชาวอวิ๋นหนานชื่นชอบต้มยำกุ้งหม้อไฟกันไม่น้อย หลายคนหาซื้อวัตถุดิบกลับไปทำกินเองที่บ้าน ทำให้เป็นเมนูที่ขาดไม่ได้สำหรับร้านอาหารไทยในคุนหมิง

เมนูต้มยำกุ้งหม้อไฟที่มีน้ำซุปอุ่นร้อนให้ซดนั้น เป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นอีกในช่วงอากาศหนาวเย็นจัด โดยข้อมูลจากเหม่ยถวน (Meituan) และเตี่ยนผิง (Dianping) พบว่าช่วงวันที่ 1-13 ธ.ค. ร้านอาหารในอวิ๋นหนานออกเมนู ‘ต้มยำกุ้งหม้อไฟ’ หรือ ‘หม้อไฟไทย’ เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าเมื่อเทียบปีต่อปี และยอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 74

ขณะที่การแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ การค้า และวัฒนธรรมระหว่างจีน-ไทย ที่พัฒนาดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แปรเปลี่ยนแนวทางรับประทานอาหารไทยของผู้บริโภคชาวจีนจาก ‘หากินที่ร้าน’ เป็น ‘ทำกินเองที่บ้าน’

ข้อมูลจากเหม่ยถวน ระบุว่า ปริมาณการค้นหาคำว่า “หม้อไฟไทย” และ “ต้มยำกุ้งหม้อไฟ” บนแอปพลิเคชันสั่งอาหารในอวิ๋นหนานเพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่เข้าสู่เดือนธันวาคม โดยการค้นหาคำว่า “หม้อไฟไทย” เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.4 ส่วนคำว่า “ต้มยำกุ้งหม้อไฟ” เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 912.7

ด้านจำนวนร้านอาหารที่มีเมนูหม้อไฟไทยบนแพลตฟอร์มของเหม่ยถวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.5 ยอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 170.4 และยอดการซื้อขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 68.6

‘พาณิชย์-ททท.’ ชูแคมเปญ ‘เที่ยว ฟิน กิน Thai SELECT’ เดินหน้าหนุนอาหารไทยสู่ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ทั้งใน-นอกประเทศ

(7 ม.ค. 67) นโยบายผลักดัน Soft Power ของไทยสู่ตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยใช้ ‘อาหาร’ เป็นสินค้า ‘Soft Power’ ของไทยที่สำคัญ เพราะอาหารไทยถือเป็นหนึ่งในอาหารยอดนิยมของคนทั่วโลก ซึ่งเห็นได้ชัดจากการจัดอันดับของเว็บไซต์ที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับอาหารต่างๆ อาทิ CNN Travel ที่ได้จัดอาหารไทยเป็นอาหารที่ดีที่สุด อันดับที่ 8 ของโลก และ Taste Atlas Awards 2023/2024 ที่ได้ยกย่องให้ 5 เมนูอาหารไทย ได้แก่ ผัดกะเพรา, ข้าวซอย, แกงพะแนง, ต้มข่าไก่ และแกงมัสมั่น เป็นเมนูที่ดีที่สุดของโลกที่ติดอันดับ 100 เมนูแรก จากรายการอาหารทั้งหมด 10,927 เมนู

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ให้ข้อมูลว่า ปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้ความนิยมอาหารไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดในต่างแดน มาจากการสนับสนุนของภาครัฐ ซึ่งตั้งแต่ปี 2002 รัฐบาลได้ยกระดับ ‘การทูตผ่านอาหาร’ หรือ ‘Gastrodiplomacy’ ผ่านโครงการ ‘Global Thai Restaurant Company’ ส่งผลให้จำนวนร้านอาหารไทยในต่างประเทศเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่า จาก 5,500 ร้าน เป็น 15,000 ร้าน รวมทั้ง กระทรวงพาณิชย์ ยังมีส่วนช่วยสนับสนุนความน่าเชื่อถือด้วยการมอบตราสัญลักษณ์ Thai SELECT เพื่อรับรองมาตรฐานร้านอาหารไทยทั้งในและต่างประเทศ 

ปัจจุบันแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจร้านอาหารไทยในต่างประเทศเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่จะช่วยเผยแพร่และขับเคลื่อน Soft Power ไทยสู่สากล และเป็นช่องทางการสร้างโอกาสทางธุรกิจ และเสริมรายได้ให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ของไทย ซึ่งการเติบโตของร้านอาหารไทยในต่างประเทศ จะส่งผลให้อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้รับอานิสงส์ทั้งทางตรงและทางอ้อมตามไปด้วย

ในส่วนของการส่งเสริมอาหารไทยเป็น ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ (Soft Power) ประเทศ จำเป็นต้องอาศัยร้านอาหารไทยเป็นช่องทางหลักในการรับรู้ กระทรวงพาณิชย์ ได้มีนโยบายและแผนงานในการผลักดันให้ร้านอาหารไทยในต่างประเทศได้รับตราสัญลักษณ์ ‘Thai SELECT’ จะเป็นเครื่องมือช่วยการันตีคุณภาพความเป็นไทย ให้แก่ร้านอาหารไทยที่เปิดขายในต่างแดน และรวมถึงร้านอาหารไทยในประเทศด้วย ซึ่งจะเป็นจุดขายให้ต่างชาติได้ทำความรู้จักคุ้นชิน รวมทั้งจัดให้ร้านอาหารไทยเป็นเหมือนศูนย์จัดแสดงสินค้า (Showroom) และถ่ายทอดผลงานสะท้อนภูมิปัญญาของไทย อีกทั้งสนับสนุนการตกแต่งร้านอาหารที่แสดงถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย เพื่อส่งเสริม Soft Power ในทุกมิติ

สำหรับ ‘Thai SELECT’ เป็นตราสัญลักษณ์ที่กระทรวงพาณิชย์ มอบให้กับร้านอาหารไทย และผลิตภัณฑ์อาหารไทยสำเร็จรูป ที่ให้บริการและจำหน่ายอาหารไทยรสชาติไทยแท้ ผ่านกระบวนการและขั้นตอนของการปรุงอาหารด้วยส่วนผสมตามตำรับอาหารไทย จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศพบว่า ปัจจุบันมีจำนวนร้านอาหารไทยในต่างประเทศรวม 17,478 ร้าน ทั่วโลก โดยสหรัฐอเมริกามีจำนวนร้านอาหารไทยมากที่สุดในโลก รวมทั้งสิ้นราว 6,850  กระจายตัวอยู่ทั่วสหรัฐฯ คิดเป็น 39% ของจำนวนร้านอาหารไทยในต่างแดนทั้งหมด ส่วนร้านอาหารไทย Thai Select ทั่วโลกมีจำนวน 1,546 ร้าน

ขณะที่ในประเทศ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จับมือกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประแทศไทย (ททท.) จัดโครงการ ดัน ‘อาหารไทย Thai SELECT’ เป็น Soft Power ประเทศ ด้วยแคมเปญส่งเสริมการตลาดร่วมกัน ทั้งการส่งเสริมร้านอาหาร Thai SELECT ผ่านแคมเปญ ‘เที่ยว ฟิน กิน Thai SELECT’ กิจกรรมร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และศูนย์การเรียนรู้ชุมชนในแต่ละท้องถิ่น เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าไป ณ ชุมชนมากขึ้น

และเชื่อมเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ในทุกๆ วัน ที่จะช่วยส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ชุมชน ร้านอาหารไทย Thai SELECT ในพื้นที่ ผ่านกิจกรรม ‘ของเด่นพื้นที่ ของดีพื้นถิ่น’ เพื่อสร้างจุดเด่นและความแตกต่างรวมทั้ง จัดทำเส้นทางท่องเที่ยวเมืองหลักและเมืองรองร้านอาหาร Thai SELECT ในทุกภูมิภาค

การชู ‘อาหารไทย’ เป็น Soft Power ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะเป็นจุดขายสำคัญให้กับประเทศ และสร้างโอกาสในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ตามนโยบายของรัฐบาล

Thai SELECT หมุดเอกลักษณ์แห่งอาหารไทยแท้ที่ต่างชาติต้องปลื้ม แค่พบเห็น ก็การันตี 'รสชาติ-สุขภาพ-พิถีพิถัน-สะอาด'

ไม่นานมานี้ เอกอัครราชทูตอุรษา มงคลนาวิน และนางเมทินี ศิริสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงวอร์ซอ ได้เดินทางไปมอบเกียรติบัตรตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ที่เมือง Wroclaw ให้แก่ร้านอาหารไทย 'Chai Thai' ซึ่งผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการว่าเป็นร้านอาหารไทยที่มีการขายอาหารที่มีความเป็นไทยแท้ รสชาติอาหารอร่อย มีบริการตามแบบฉบับไทย และมีบรรยากาศภายในร้านสะอาดสวยงามสะท้อนความเป็นไทย

ร้านอาหาร Chai Thai ตั้งอยู่ที่ถนน Waclawa Berenta 68/LU3 เมือง Wroclaw ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของโปแลนด์ ห่างจากกรุงวอร์ซอไปทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศโปแลนด์ มีบริการอาหารไทยหลากหลายรูปแบบ ที่มาพร้อมกับรสชาติที่เข้มข้นและหอมสมุนไพรไทย ทุกเมนูมาจากวัตถุดิบที่คัดสรรมาอย่างพิถีพิถัน โดยใช้เทคนิคและเคล็ดลับอย่างพิถีพิถันจากเชฟไทย ทำให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์การกินอาหารไทยที่สนุกสนานและอร่อยที่สุด

ทั้งนี้จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ได้มีการระบุเพิ่มเติม ว่า...

1. ปัจจุบัน มีร้านอาหารไทยที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT จากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ที่ตั้งอยู่ในประเทศโปแลนด์จำนวน 13 แห่ง โดยอยู่ในกรุงวอร์ซอจำนวน 5 แห่ง และกระจายอยู่ตามเมืองหลักของโปแลนด์ โดยในช่วง 1 - 2 ปีที่ผ่านมา มีร้านอาหารไทยในโปแลนด์ให้ความสนใจสมัครขอรับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะมีร้านอาหารไทยในโปแลนด์ที่ได้รับตราสัญลักษณ์ อีกไม่ต่ำกว่า 2 ร้านภายในปี 2567 นี้

2. ตราสัญลักษณ์ Thai SELECT จะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคอาหารไทยว่า จะได้รับบริการอาหารไทย ซึ่งเป็นอาหารที่มีเอกลักษณ์และรสชาติเฉพาะตัว มีส่วนผสมและวัตถุดิบในการปรุงที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ มีความหลากหลาย จะทำให้ร้านอาหารไทยเป็นที่ยอมรับ ตลอดจน ส่งเสริมให้เกิดความนิยมบริโภคอาหารไทยอย่างยั่งยืน จึงควรมีการประชาสัมพันธ์กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหารและเครื่องปรุงรสไทยในสื่อประเภทต่างๆ ของโปแลนด์มากขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างการรับรู้อาหารไทยและตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ของผู้บริโภคโปแลนด์ให้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

'ผัดกะเพรา' ครองสุดยอด 'อาหารประเภทผัด' อันดับ 1 ของโลก (2023)

เว็บไซต์อาหาร เทสต์แอตลาส (TasteAtlas) จัดอันดับอาหารจานผัดที่ดีที่สุดในโลก 50 อันดับ จากการรีวิวของผู้ใช้ ปรากฏว่า ‘ผัดกะเพรา’ คว้าอันดับ 1 ไปครอง

ทั้งนี้ ทางเว็บไซต์ดังกล่าวได้อธิบายถึงผัดกะเพราว่า เป็นเมนูผัดดั้งเดิมของไทยที่นำเนื้อสัตว์ที่สับแล้ว หรืออาหารทะเล มาผัดกับใบกะเพราและวัตถุดิบอื่น ๆ กระเทียม พริก และปรุงรสด้วยซีอิ๊ว น้ำตาล และน้ำปลา มักจะเสิร์ฟพร้อมข้าว ไข่ดาว และพริกน้ำปลา

แน่นอนว่านอกจากผัดกะเพราแล้ว ยังมีอาหารจานผัดของไทยอีกอย่างที่ติดอยู่ใน 10 อันดับแรกด้วย ก็คือ ‘ผัดไทย’ โดยอยู่ที่อันดับ 8 ขณะที่ใน 50 อันดับ มีอาหารไทยติดอันดับอีก 3 อย่าง คือ ผัดซีอิ๊ว (อันดับ 19) คั่วกลิ้ง (อันดับ 23) และไก่ผัดเม็ดมะม่วงหิมพานต์ (อันดับ 44)

แปลกใจ!! 'นทท.ต่างชาติ' วิจารณ์อาหารถุงของไทย บอก!! 'เสิร์ฟกันยังงี้หรือ?' คาด!! ไม่รู้ว่านี่คือ Take Away

เมื่อไม่นานมานี้ จากช่องติ๊กต็อก ‘David William’ หรือที่รู้จักกันในนาม ‘ครูเดวิด วิลเลียม’ ได้โพสต์คลิปวิดีโอกรณีสาวจีนรายหนึ่งขณะกำลังวิจารณ์วิธีการกินที่มัดใส่ถุงของคนไทย โดยระบุว่า…

‘อยู่ที่ไทยสั่งอาหาร เกลียดที่สุดเลยก็คือ พวกเขาชอบใส่ถุงมาให้แบบนี้ ไม่มีถ้วยเลย (พร้อมถอนหายใจ) ใส่มาแบบนี้ดูสิอย่างกับอะไร อยากจะอ้วกจริง ๆ นะ รู้สึกกินไม่ลงเลยสั่งอาหารใส่ถุงหมดเลย…น่ากลัว’

ซึ่งด้าน ‘ครูเดวิด วิลเลียม’ ได้แสดงความคิดเห็นและมุมมองต่อคลิปนี้ว่า…

“ไม่เข้าใจจริง ๆ …ช่วงนี้เจอแต่คอนเทนต์แนวนี้เยอะมากที่มีชาวต่างชาติมาเที่ยวประเทศไทยและชอบหาว่าคนไทยน่าเกลียด กินแปลก ๆ หรือมีการตําหนิไม่หยุด อย่างเคสเมื่อกี้ที่บ่นไปเรื่อยว่าทําไมคนไทยชอบเสิร์ฟอาหารในถุงแบบนี้ มันดูสกปรก นู้นนี่นั่น แต่ขออนุญาตเลยนะ ก็คุณสั่ง Take Away หรือเปล่า? แล้วคุณจะให้ส่งอาหารให้คุณยังไง? หรือคุณอยากได้ชามทองคําเหรอ แล้วอีกอันที่ทําให้รู้สึกงงมาก ซึ่งไม่รู้ว่าคิดไปเองหรือเปล่า แต่เจ้าของร้านที่เขาให้ถุงกับคุณอย่างนั้นน่ะ เขาไม่ได้ต้องการให้กินจากถุง คือคุณต้องเอาถุงเทใส่ชามแทน”

จากนั้น ‘ครูเดวิด วิลเลียม’ ก็ได้สาธิตวิธีการกินและแกะจากถุงให้ดู พร้อมระบุต่อว่า “คุณอย่าเพิ่งไปกินจากถุงแบบนี้ ไม่มีคนไทยคนไหนกินจากถูกเลย ซึ่งสิ่งที่พวกเราจะทําคือจะเอาถุงแกงที่ได้มาเทใส่ชาม แล้วในเมื่อเทใส่ชามเสร็จปุ๊บ เราก็จะกินกันอย่างเอร็ดอร่อย”

‘ครูเดวิด วิลเลียม’ ได้กล่าวต่อว่า ดูเหมือนตนจะเล่นเยอะใช่ไหม แต่จริง ๆ แล้วรู้สึกทุกข์มากด้วยเนื้อหานั้น คือคุณเพิ่งมาประเทศไทยหรือเปล่า แล้วคุณยังไม่ทันศึกษาวัฒนธรรม อาหาร หรือว่าวิธีการกินของเรา แล้วคุณจะมาดูถูกและต่อว่าพวกเราขนาดนี้ได้ยังไง? และอีกอย่างที่ต้องพูดคือ จริง ๆ แล้วอาหารไทยและวิธีการกินของคนไทยเป็นสิ่งที่ขึ้นชื่อทั่วโลกเลยนะ ด้วยความงดงาม ความน่าสนใจ และด้วยความอร่อยของอาหารนั้น ที่คุณมาประเทศไทยก็คือเพราะคุณอยากเจอสิ่งใหม่ไม่ใช่เหรอ? คือถ้าบ้านเราเหมือนบ้านคุณเป๊ะ ๆ เนี่ย คุณจะขึ้นเครื่องบินมาหาพวกเราไปพร่ำเพื่ออะไร

เพราะฉะนั้นขอสรุปว่า ไม่รู้ว่าฝรั่งคนอื่นเขาว่ายังไง แต่สําหรับตนแล้วในฐานะชาวต่างชาติคนหนึ่งซึ่งเคยได้โอกาสไปเที่ยวหลายประเทศทั่วโลก วันนี้สามารถพูดได้เต็มปากเต็มคําว่าอาหารไทยและวิธีการกินของคนไทยเป็นสิ่งที่ปังไม่หยุดจนมันหาที่เปรียบเทียบได้ยากมากทั่วโลก


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top