Monday, 5 May 2025
อัปเดตอาการ

‘ทีมแพทย์’ อัปเดตอาการ ‘พลายศักดิ์สุรินทร์’ พบ ‘ตาขวาเป็นต้อ-ขาหน้าซ้ายงอไม่ได้’ แต่กินได้ดี

(4 ก.ค. 66) หลังจากที่พลายศักดิ์สุรินทร์ได้เดินทางมาถึงประเทศไทย และเข้ากักตัวที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง เรียบร้อยแล้วนั้น

ล่าสุด โรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย อัปเดตสถานการณ์อาการของพลายศักดิ์สุรินทร์หลังจากที่ทีมแพทย์ได้เข้าไปตรวจสอบเบื้องต้น โดยเพจเฟซบุ๊กของโรงพยาบาลช้าง ระบุว่า

หลังจากเดินทางไกลกว่า 2,400 กิโลเมตร จากประเทศศรีลังกาสู่ประเทศไทย ใช้เวลาเดินทางรวมทั้งสิ้นกว่า 16 ชั่วโมง พลายศักดิ์สุรินทร์ก็ถึงที่หมายเป็นที่เรียบร้อยแล้วนะคะ เมื่อมาถึงคุณหมอได้ทำการตรวจสุขภาพเบื้องต้นพบว่าช้างอ่อนเพลียจากการเดินทางเล็กน้อย กินน้ำและอาหารที่จัดเตรียมไว้ได้ดี การขับถ่ายปกติ สามารถล้มตัวลงนอนและลุกขึ้นเองได้ พบปัญหาสุขภาพเบื้องต้นคือขาหน้าซ้ายงอไม่ได้ ปัญหาเล็บและฝ่าเท้า พบแผลฝีที่สะโพกทั้งสองข้างและตาขวาเป็นต้อกระจก

หลังจากทำการตรวจสุขภาพแล้ว คุณหมอก็ได้เก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจโรคติดต่อต่าง ๆ โดยถ้าหากพ้นระยะกักโรคตามกฎหมายแล้วจึงจะทำการย้ายช้างเข้าสู่กระบวนการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป

กิจวัตรประจำวันของสุดหล่อในช่วงกักตัวจะเป็นการทำความคุ้นเคยกับพี่ควาญ ฝึกเรียนรู้คำสั่งภาษาไทยและฝึกการใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมใหม่ โดยในช่วงแรกเพื่อความปลอดภัยของตัวช้างซึ่งยังไม่คุ้นเคยกับสถานที่และการป้องกันโรคติดต่อไปสู่ช้างเชือกอื่น จึงต้องมีการจำกัดบริเวณกันซักเล็กน้อย เมื่อเกิดความคุ้นเคยดีแล้วทางทีมงานก็จะได้ปรับกิจกรรมประจำวันให้เหมาะสมกับช้างต่อไปค่ะ

‘รพ.ช้าง’ อัปเดตอาการ ‘พลายศักดิ์สุรินทร์’ พบข้อเสื่อม-ศอกอักเสบ ทำให้งอขาไม่ได้-กล้ามเนื้อหัวไหล่ฝ่อลีบ ล่าสุดเตรียมวางแผนรักษาแล้ว

(8 ก.ย.66) โรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง เปิดเผยความคืบหน้าการรักษาพลายศักดิ์สุรินทร์ ว่า ทีมงานได้มีการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของขาหน้าซ้ายพลายศักดิ์สุรินทร์โดยละเอียด พบว่า การวัดและวิเคราะห์การก้าวย่าง ใช้ระบบวิเคราะห์การเดินของช้างเอเชีย

โดยวิธีการใช้หน่วยวัดแรงเฉื่อย (Inertial Measurement Unit : IMU) ซึ่งจะมีการติดเซนเซอร์ที่ตำแหน่งต่างๆ บนร่างกายช้าง ให้ช้างเดินบนทางราบเป็นระยะทางประมาณ 25 เมตร แล้วจึงนำข้อมูลที่ได้ไปประมวลผล

พบว่าขาหน้าซ้ายมีจังหวะการก้าวย่างสั้นกว่าขาข้างอื่น และพบการเหยียดของขาหน้าซ้ายท่อนบนมากกว่าส่วนอื่น นอกจากนี้ยังพบว่า มีการใช้ขาหน้าขวา เพื่อชดเชยการทำงานของขาหน้าซ้าย ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดโครงสร้างผิดรูปได้ในอนาคต

จากการถ่ายภาพรังสี (x-ray) ขาหน้าซ้าย เพื่อดูความผิดปกติของกระดูก โดยเฉพาะในส่วนของข้อต่อ พบว่า บริเวณข้อศอกผิวกระดูกมีความขรุขระ และมีช่องว่างระหว่างข้อแคบกว่าปกติ ซึ่งเป็นสัญญาณของข้อเสื่อม (Osteoarthritis ; OA)

การตรวจกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasonography) พบว่า เอ็นบริเวณข้อศอกด้านซ้ายมีการอักเสบเรื้อรัง เกิดเป็นพังผืด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ช้างไม่สามารถงอขาได้ และพบว่ากล้ามเนื้อหัวไหล่ด้านซ้ายมีการฝ่อลีบเนื่องมาจากไม่ได้ใช้งานเป็นเวลานาน

เมื่อทำการวินิจฉัยจนพบสาเหตุของความเจ็บป่วยแล้ว ทีมงานจึงได้วางแผนการรักษา ดังนี้

1. กำหนดให้ช้างเดินออกกำลังกายในทางราบโดยให้เดินข้ามสิ่งกีดขวางเพื่อกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อขาหน้าซ้าย วันละ 30 นาที

2. ทำการนวดบริเวณข้อศอกซ้ายด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound therapy) เพื่อรักษาพังผืดในบริเวณดังกล่าว

3. กระตุ้น/เสริมสร้างกล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่ด้านซ้ายด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Peripheral Magnetic Stimulation ; PMS)

โดยจะมีการติดตามและประเมินผลการรักษาทุกๆ 30 วัน ทั้งนี้ขอขอบคุณคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ Ams Cmu คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ร่วมตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษาร่วมกันในครั้งนี้ และขอขอบคุณ BTL Medical Thailand (บริษัท บีทีแอล เมดิคอล เทคโนโลจีส์ จำกัด) สำหรับอุปกรณ์เครื่อง PMS


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top