Sunday, 20 April 2025
อันวาร์อิบราฮิม

‘นายกฯอิ๊งค์’ เผย ‘ทักษิณ’ คุย ‘อันวาร์’ หลายเรื่อง เน้นหารือสถานการณ์ความสงบในเมียนมา

เมื่อวันที่ (3 ก.พ. 68) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร ในฐานะที่ปรึกษาประธานอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ เดินทางไปประเทศมาเลเซียเพื่อพบนายนายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ เมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา จะนำผลดีต่อการพูดคุยเรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไรว่า ก็เป็นการคุยในเรื่องความร่วมมือต่างๆที่ทั้งสองประเทศสามารถสนับสนุนกันได้

“ที่ได้คุยโทรศัพท์กับนายทักษิณ สั้นๆกันเมื่อคืนวันที่ 2 ก.พ. การพูดคุยเน้นในเรื่องของเมียนมา นายอันวาร์ เป็นประธานอาเซียน การดูแลช่วยเหลือเมียนมาเป็นเรื่องที่สำคัญของอาเซียนมากๆ ซึ่งในการประชุมในอาเซียนทุกครั้งจะได้รับการยืนยันว่าอยากให้เมียนมาเกิดความสงบสุข และในเมียนมาเองเขาก็อยากให้เกิดความสงบสุขเช่นกัน ฉะนั้นการเข้ามาคุยกันแบบนี้ทำให้เกิดประโยชน์กับภาครวมของอาเซียน และพัฒนาเรื่องอื่นได้อีก ไม่ว่าจะเรื่องฝุ่น PM2.5 ที่ได้มาคุยกันเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีช่วยเหลือกัน และมีอีกหลายเรื่อง แต่การไปรอบนี้มีการพูดคุยเรื่องเมียนมาเยอะหน่อย เห็นนายทักษิณอัพเดทมาอย่างนั้น”

ประธานอาเซียน วอนสมาชิกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผนึกกำลัง ย้ำความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว รับมือภาษีศุลกากรสุดโหดจากสหรัฐฯ

(9 เม.ย. 68) นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซียและประธานอาเซียนประจำปี 2568 ได้แถลงเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมมือกัน เพื่อรับมือกับความท้าทายจากการเรียกภาษีศุลกากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการดำเนินนโยบายการค้าโดย ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งได้ใช้มาตรการภาษีศุลกากรที่เข้มงวดต่อสินค้าจากหลายประเทศ 

ในคำแถลงที่ออกมาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นายอันวาร์กล่าวว่า “อาเซียนต้องยืนหยัดในฐานะกลุ่มที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในการเผชิญกับนโยบายการค้าและภาษีศุลกากรที่ไม่เป็นธรรมจากประเทศภายนอก” 

เขายังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการ “ระลึกถึงประวัติศาสตร์ที่ประเทศในอาเซียนมีร่วมกัน” และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวที่มีความสำคัญในการรักษาผลประโยชน์ร่วมของภูมิภาคในยุคที่การค้าโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

สำหรับการดำเนินนโยบายภาษีศุลกากรของทรัมป์ ถูกมองว่าเป็นการสร้างอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศต่าง ๆ และได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของหลายประเทศ รวมถึงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหรัฐฯ อย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะในด้านการส่งออกสินค้าทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเทคโนโลยี

นายอันวาร์กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวของสหรัฐฯ มีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจของประเทศในอาเซียน โดยการหักหลังนโยบายการค้าเสรีจากบางประเทศจะทำให้การค้าระหว่างประเทศ ที่เคยเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของภูมิภาคได้รับผลกระทบอย่างหนัก

ทั้งนี้ อาเซียนถือเป็น ผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่เป็นอันดับ 4 ไปยังสหรัฐฯ รองจากแคนาดา เม็กซิโก และจีน โดยในปี 2566 มูลค่าการค้ารวมกับสหรัฐฯ สูงถึง 3.96 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 11.2% ของการค้าทั้งหมดของอาเซียนกับทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม การเก็บภาษีศุลกากรจากสหรัฐฯ ในปัจจุบันมีผลกระทบอย่างมากต่อบางประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะ กัมพูชา ซึ่งเผชิญภาษีศุลกากรสูงถึง 49% ขณะที่ ลาว และ เวียดนาม ต้องเผชิญภาษีที่ 48% และ 46% ตามลำดับ ขณะที่ มาเลเซีย เองก็ไม่รอดจากการเก็บภาษีที่สูงถึง 24% จากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นอัตราภาษีที่สูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top