Wednesday, 21 May 2025
อังกฤษ

‘ทรัมป์’ เตรียมประกาศ ‘ข้อตกลงการค้าใหม่’ กับประเทศพันธมิตร สัญญาณแรกของการคลี่คลาย ‘สงครามภาษี’ ที่กระทบเศรษฐกิจโลก

(8 พ.ค. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยผ่าน Truth Social ว่าจะมีการแถลงข่าวใหญ่ในเช้าวันพฤหัสบดี (เวลา 23.00 น. ตามเวลาในไทย) เกี่ยวกับข้อตกลงการค้าฉบับสำคัญกับ “ประเทศใหญ่ที่น่าเคารพนับถือ” ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของการผ่อนคลายภาษีศุลกากรระดับสูงที่เคยสร้างความตึงเครียดในเศรษฐกิจโลก

แม้ทรัมป์จะไม่ได้ระบุชื่อประเทศ แต่ฝ่ายบริหารชี้ว่าอยู่ระหว่างการเจรจากับหลายชาติ รวมถึงสหราชอาณาจักร อินเดีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น โดยที่ปรึกษาด้านการค้า ปีเตอร์ นาวาร์โร ชี้ว่าสหราชอาณาจักรอาจเป็นชาติแรกที่ลงนามข้อตกลงกับสหรัฐฯ

แหล่งข่าวจาก Financial Times ระบุว่า ข้อตกลงกับสหราชอาณาจักรอาจครอบคลุมถึงการยกเว้นสหรัฐฯ จากภาษีบริการดิจิทัล และในทางกลับกัน สหรัฐฯ อาจลดภาษีนำเข้าเหล็ก อลูมิเนียม และรถยนต์จากอังกฤษ ซึ่งจะเป็นก้าวแรกของการคลี่คลายมาตรการกีดกันทางการค้า

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เตือนว่าข้อตกลงที่ทรัมป์จะประกาศอาจยังไม่ใช่ “ข้อตกลงการค้าอย่างเป็นทางการ” แต่เป็นเพียงบันทึกความเข้าใจ ซึ่งไม่อาจให้ประโยชน์ระยะยาวเทียบเท่าข้อตกลงที่ผ่านขั้นตอนทางกฎหมายครบถ้วน

การประกาศครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และจีนในเจนีวา โดยรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ระบุว่าการพบปะครั้งนี้จะช่วยลดความตึงเครียด แม้ยังไม่มีสัญญาณว่าจะมีข้อตกลงชัดเจน ขณะที่ทรัมป์ยืนยันจะไม่ลดภาษีนำเข้าสินค้าจีนล่วงหน้า

ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่าหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย สหรัฐฯ อาจเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหากยังคงอัตราภาษีที่สูงซึ่งกระทบทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจทั่วโลก

‘อังกฤษ’ บรรลุข้อตกลงการค้ากับ ‘สหรัฐฯ’ ลดภาษีนำเข้ารถยนต์เหลือ 10% พร้อมผ่อนคลายภาษีเหล็ก–เอทานอล แต่ยังคงภาษีสินค้าสำคัญหลายรายการ

(9 พ.ค. 68) สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรบรรลุข้อตกลงการค้าทวิภาคีในขอบเขตจำกัด โดยยังคงอัตราภาษีนำเข้าสินค้าของอังกฤษไว้ที่ 10% แต่เปิดทางให้ทั้งสองประเทศสามารถเข้าถึงตลาดสินค้าเกษตรได้มากขึ้น พร้อมลดภาษีศุลกากรสำหรับรถยนต์และสินค้าอุตสาหกรรมบางรายการ

ข้อตกลงนี้ถือเป็นก้าวแรกของชุดความร่วมมือทางการค้าหลายฉบับที่รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ วางแผนจะประกาศในเร็วๆ นี้ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ โดยทรัมป์ชื่นชมความร่วมมือจากอังกฤษ ขณะที่นายกรัฐมนตรีคีร์ สตาร์เมอร์ ย้ำว่านี่คือ 'วันประวัติศาสตร์' ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานของทั้งสองชาติ

สำหรับข้อตกลงนี้จะช่วยลดภาษีนำเข้ารถยนต์อังกฤษในสหรัฐฯ จาก 27.5% เหลือ 10% สำหรับโควตา 100,000 คัน และยกเลิกภาษีนำเข้าเหล็กและเอทานอลบางส่วน พร้อมเปิดตลาดเนื้อวัวแบบแลกเปลี่ยน โดยอังกฤษจะได้โควตาปลอดภาษีครั้งแรกสำหรับเนื้อวัว 13,000 เมตริกตัน แต่ยังคงห้ามนำเข้าเนื้อวัวอเมริกันที่ใช้ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต

ภาคธุรกิจบางส่วนในอังกฤษแสดงความผิดหวังที่ยังคงมีอัตราภาษี 10% สำหรับสินค้าหลายประเภท โดยเฉพาะรถยนต์ ขณะที่บริษัทในสหรัฐฯ เช่น เดลต้าแอร์ไลน์และผู้ผลิตเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ ได้รับประโยชน์ทันทีจากการลดภาษี และรัฐบาลอังกฤษย้ำว่าการเจรจายังไม่จบ โดยมีหลายประเด็นสำคัญ เช่น ภาษีบริการด้านดิจิทัล ที่ยังต้องหารือเพิ่มเติม

แม้จะมีข้อจำกัด แต่ข้อตกลงนี้ถูกมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือทางการค้าที่ลึกซึ้งขึ้นในอนาคต โดยรัฐบาลอังกฤษพยายามรักษาสมดุลระหว่างความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ จีน และสหภาพยุโรป หลังเบร็กซิต (Brexit) หรือการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร ในช่วงที่เศรษฐกิจภายในประเทศกำลังเผชิญความท้าทายจากต้นทุนการส่งออกที่สูงและการเติบโตที่ชะลอตัว

‘อังกฤษ’ ออกกฎใหม่!! คุมเข้ม!! คนเข้าเมือง ยกระดับวีซ่าทำงาน!! เทียบเท่าปริญญาตรี

(12 พ.ค. 68) Amthaipaper (หนังสือพิมพ์ไทยในอังกฤษ) รายงานว่า รัฐบาลสหราชอาณาจักรภายใต้การนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อีเว็ตต์ คูเปอร์ ประกาศปฏิรูประบบตรวจคนเข้าเมืองครั้งใหญ่ โดยมีเป้าหมายหลักในการลดจำนวนผู้อพยพอย่างจริงจัง  
ประเด็นสำคัญในนโยบายใหม่นี้  
•  ยกระดับเกณฑ์วีซ่าทำงาน (Skilled Worker Visa)
จากเดิมที่พิจารณาจากระดับทักษะต่ำ จะปรับขึ้นเป็น RQF ระดับ 6 เทียบเท่าปริญญาตรี เท่านั้น
•  จำกัดวีซ่าทำงานทักษะต่ำ อนุญาตเฉพาะตำแหน่งงานที่ ขาดแคลนอย่างมาก และจะเป็นการอนุญาตแบบ ชั่วคราว เท่านั้น
•  ส่งเสริมการจ้างงานคนในประเทศ
รัฐบาลจะสนับสนุนให้นายจ้าง ฝึกอบรมแรงงานภายในประเทศ มากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาแรงงานจากต่างชาติ
•  ตั้งกลุ่มวิเคราะห์ตลาดแรงงาน (LMEG) จัดตั้ง Labour Market Evidence Group (LMEG) เพื่อวิเคราะห์ปัญหาด้านทักษะแรงงาน และเสนอแนะแนวทางแก้ไข
•  เร่งรัดการส่งกลับผู้พำนักผิดกฎหมาย
มีการดำเนินการส่งกลับผู้ที่พำนักอยู่ในสหราชอาณาจักรโดยไม่มีสิทธิ์แล้วกว่า 24,000 คน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2024
•  ยังคงเปิดรับผู้มีทักษะสูง
รัฐบาลยืนยันว่าจะยังคงเปิดรับ “ผู้มีทักษะสูง” จากต่างประเทศ แต่ต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถเป็นที่ต้องการจริง
•  ขยายระยะเวลาขอสัญชาติ
ผู้ยื่นขอสัญชาติจะต้องอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรเป็นเวลา 10 ปี (จากเดิม 5 ปี)
•  Fast-track สำหรับผู้มีส่วนร่วมสูง
ผู้ที่มี "ส่วนร่วมสูง" ต่อเศรษฐกิจและสังคม เช่น แพทย์ พยาบาล หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง จะสามารถยื่นขอสัญชาติได้เร็วขึ้น
ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับคนไทยในสหราชอาณาจักร   
•  ผู้ถือวีซ่าทำงานต่ำกว่าระดับปริญญา
คนไทยที่ทำงานสายงานที่ไม่จำเป็นต้องมีวุฒิปริญญา เช่น ผู้ดูแลผู้สูงอายุ (care workers), แม่บ้าน, พนักงานบริการร้านอาหาร อาจ ไม่สามารถต่อวีซ่า หรือขอวีซ่าใหม่ ได้ง่ายเหมือนเดิม
•  โอกาสทำงานของนักเรียนไทยลดลง
น้องๆ นักเรียนไทยที่เรียนจบและต้องการอยู่ทำงานต่อ อาจต้องแสดงให้เห็นว่าได้งานใน ระดับปริญญา และได้รับ ค่าจ้างตามเกณฑ์ที่สูงขึ้น
•  ธุรกิจไทยในสหราชอาณาจักร
ร้านอาหารไทย หรือธุรกิจไทยขนาดเล็กที่พึ่งพาแรงงานจากไทย อาจประสบปัญหา
•  แรงกดดันด้านกฎหมายและวีซ่า
คนที่อยู่ในสหราชอาณาจักรโดย ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรืออยู่เกินระยะวีซ่า อาจถูก ตรวจสอบและผลักดันออกนอกประเทศ เข้มงวดมากขึ้น
•  การปรับตัวของชุมชนไทย
พี่น้องคนไทยอาจต้อง พัฒนาทักษะและวุฒิการศึกษา ให้สูงขึ้น หรือพิจารณา เปลี่ยนประเภทวีซ่า เช่น วีซ่านักเรียน วีซ่าคู่สมรส หรือวีซ่าธุรกิจ
คำแนะนำสำหรับพี่น้องคนไทย
•สำหรับผู้ที่ถือวีซ่าทำงานในปัจจุบัน ควรตรวจสอบเงื่อนไขวีซ่าของตนเองอย่างละเอียด และเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น
• น้องๆ นักเรียนไทย ควรวางแผนการศึกษาและเส้นทางอาชีพในอนาคต โดยคำนึงถึงนโยบายใหม่นี้
• ธุรกิจไทยควรพิจารณาแผนการจ้างงานในระยะยาว และอาจต้องลงทุนในการฝึกอบรมพนักงานที่มีอยู่
• หากต้องการขอสัญชาติ ควรวางแผนการอยู่ในสหราชอาณาจักรในระยะยาว และพิจารณาแนวทางการพัฒนาทักษะเพื่อเพิ่มโอกาสในการเป็น "ผู้มีส่วนร่วมสูง"

นายกฯ อังกฤษ ประกาศแผนคุมเข้มการย้ายถิ่นฐาน หวังลดจำนวนผู้อพยพลงหลักแสนภายใน 4 ปี

(13 พ.ค. 68) เซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์ นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร ประกาศแผนปรับกฎวีซ่าและมาตรการตรวจคนเข้าเมืองชุดใหม่ โดยตั้งเป้าลดการย้ายถิ่นฐานลงภายในสี่ปีข้างหน้า พร้อมเน้นว่าระบบใหม่จะ “ยุติธรรม” และ “เลือกสรร” มากขึ้น เพื่อควบคุมการเข้ามาของผู้อพยพอย่างรัดกุม

รัฐบาลสหราชอาณาจักรจะยุติโครงการวีซ่าที่เปิดรับพนักงานดูแลสุขภาพจากต่างประเทศ และบังคับให้นายจ้างจ้างคนในประเทศก่อน พร้อมปรับเกณฑ์คุณสมบัติแรงงานให้เข้มขึ้น เช่น ต้องมีวุฒิปริญญา และยกระดับทักษะภาษาอังกฤษ โดยกระทรวงมหาดไทยคาดว่า แผนนี้อาจลดผู้อพยพได้ปีละราว 100,000 คนภายในปี 2029

นอกจากนี้รัฐบาลเมืองผู้ดีเตรียมขึ้นค่าธรรมเนียมสำหรับนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างชาติสูงสุดถึง 6,600 ปอนด์ (ราว 290,749 บาท) และพิจารณาเก็บภาษีใหม่จากนักศึกษาต่างชาติ มหาวิทยาลัยและวิทยาลัยจะถูกตั้งเป้าให้มีอัตราเริ่มเรียนและจบการศึกษาของนักเรียนต่างชาติสูงกว่า 90%

ด้านฝ่ายค้านและภาคธุรกิจวิจารณ์ว่า แผนดังกล่าวอาจกระทบแรงงานภาคดูแลและการศึกษาอย่างรุนแรง ขณะที่นักการเมืองฝ่ายซ้ายกล่าวหารัฐบาลว่ากำลังปลุกปั่นกระแสต่อต้านผู้อพยพ ส่วนพรรคอนุรักษ์นิยมและพรรครีฟอร์มโจมตีว่าแผนยังอ่อนเกินไป 

นายกรัฐมนตรีย้ำว่า แผนทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดจากความหวั่นไหวต่อพรรครีฟอร์ม แต่เป็นเพราะรัฐบาลต้องการควบคุมการย้ายถิ่นฐานอย่างแท้จริง โดยมุ่งเน้นให้สหราชอาณาจักรมีระบบตรวจคนเข้าเมืองที่สมดุล และสนับสนุนการเติบโตภายในประเทศ

ไฟไหม้บ้านหรู 2 ล้านปอนด์ของนายกฯ อังกฤษ ตำรวจเร่งสอบสวนหาสาเหตุ-ยังไม่ตัดประเด็นวางเพลิง

(13 พ.ค. 68) ตำรวจเมืองผู้ดีกำลังเร่งหาสาเหตุของเพลิงไหม้ เมื่อคืนนี้ (13 พ.ค. 68) ช่วงเวลาประมาณ 01.11 น. ตามเวลาท้องถิ่น ที่บ้านราคา 2 ล้านปอนด์ (ราว 87 ล้านบาท) ของเซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงลอนดอน โดยเจ้าหน้าที่ดับเพลิงควบคุมเพลิงได้ภายใน 20 นาที ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ อย่างไรก็ตามบ้านได้รับความเสียหายบางส่วนบริเวณทางเข้า

เจ้าหน้าที่นิติเวชและตำรวจนครบาลยังคงอยู่ในพื้นที่ตลอดทั้งวันเพื่อสอบสวนสาเหตุของเพลิงไหม้ โดยมีการปิดล้อมบริเวณอย่างเข้มงวด ขณะที่เพื่อนบ้านรายหนึ่งเล่าว่า ได้ยินเสียง “ปัง” ก่อนเกิดเหตุไฟไหม้ และเห็นเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานสวมชุดเอี๊ยมอยู่ที่เกิดเหตุตลอดทั้งวัน

เจ้าหน้าที่ตำรวจเผยว่าทางเข้าบ้านได้รับความเสียหาย ขณะที่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้เกิดจากอะไร และยังไม่มีหลักฐานเชื่อมโยงกับเหตุวางเพลิงรถยนต์ที่เกิดขึ้นใกล้บริเวณเดียวกันเมื่อไม่กี่วันก่อน ตำรวจขอให้ประชาชนที่มีเบาะแสติดต่อเข้ามาเพื่อแจ้งข้อมูลเพิ่มเติม

ด้านนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ขอบคุณเจ้าหน้าที่ฉุกเฉินที่เข้าช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว แต่ปฏิเสธให้ความเห็นเพิ่มเติมเนื่องจากอยู่ระหว่างการสอบสวน ซึ่งเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าวเกิดขึ้นในวันเดียวกับที่เซอร์เคียร์ แถลงนโยบายใหม่ด้านการย้ายถิ่นฐาน พร้อมย้ำว่าจะลดจำนวนผู้อพยพเข้าสหราชอาณาจักร 100,000 คนภายในปี 2029

ชาวยูเครนวัย 21 ส่อถูกตั้งข้อหาหนัก วางเพลิงบ้านเก่า ‘สตาร์เมอร์’ นายกฯ เมืองผู้ดี

(16 พ.ค. 68) ตำรวจนครบาลลอนดอนเผยว่า โรมัน ลาฟรินโนวิช (Roman Lavrynovych) สัญชาติยูเครน อายุ 21 ปี ถูกตั้งข้อหาวางเพลิงโดยมีเจตนาเป็นอันตรายต่อชีวิต โดยหนึ่งในเหตุการณ์คือการจุดไฟเผาประตูหน้าบ้านหลังเก่าของนายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ (Sir Keir Starmer) ในย่านเคาน์เตสโรด ทางเหนือของกรุงลอนดอน ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

บ้านหลังดังกล่าวเป็นที่พักอาศัยของนายกรัฐมนตรีสตาร์เมอร์มานานเกือบ 20 ปี ก่อนย้ายไปยังบ้านพักนายกฯ ที่ดาวน์นิงสตรีท ปัจจุบันเขาให้เช่าบ้านหลังนี้ ขณะที่ตำรวจระบุว่า ลาฟรินโนวิชยังเชื่อมโยงกับเหตุวางเพลิงอีก 2 จุด ได้แก่ เหตุการณ์ไฟไหม้รถยนต์ในวันที่ 8 พ.ค. และอาคารพักอาศัยอีกแห่งในวันที่ 12 พ.ค.

ตำรวจหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายเข้าร่วมสอบสวนคดีนี้ เนื่องจากทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายมีความเกี่ยวข้องกับบุคคลสาธารณะระดับสูง โดยลาฟรินโนวิชถูกจับกุมเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม และยังคงถูกควบคุมตัวระหว่างรอการพิจารณาคดี

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่กำลังเร่งรวบรวมหลักฐานเพิ่มเติม เนื่องจากเชื่อว่าเหตุวางเพลิงทั้ง 3 ครั้งอาจมีเป้าหมายมุ่งร้ายต่อบุคคลสำคัญของประเทศอย่างชัดเจน

‘อังกฤษ’ หั่นสัมพันธ์การค้า ตอบโต้ปฏิบัติการกาซา คว่ำบาตรผู้นำนิคมเวสต์แบงก์–เรียกทูตอิสราเอลพบด่วน

(21 พ.ค. 68) เพจเฟซบุ๊ก ปราชญ์ สามสี โพสต์ข้อความว่า…อังกฤษฟาดแรง! ระงับเจรจาการค้าอิสราเอล-คว่ำบาตรผู้นำตั้งถิ่นฐาน ตอบโต้ความโหดร้ายในกาซา

รัฐบาลสหราชอาณาจักรประกาศระงับการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับอิสราเอล พร้อมเรียกเอกอัครราชทูตอิสราเอลเข้าพบ เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการปฏิบัติการทางทหารที่รุนแรงในฉนวนกาซา และการปิดกั้นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ยืดเยื้อกว่า 11 สัปดาห์

นายเดวิด แลมมี รัฐมนตรีต่างประเทศของสหราชอาณาจักร กล่าวในรัฐสภาว่า การกระทำของรัฐบาลอิสราเอลในกาซาและเวสต์แบงก์นั้น 'ไม่สามารถยอมรับได้' และ 'ขัดต่อค่านิยมของประชาชนชาวอังกฤษ'

พร้อมกันนี้ สหราชอาณาจักรได้ประกาศคว่ำบาตรบุคคลและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงของผู้ตั้งถิ่นฐานชาวอิสราเอลในเวสต์แบงก์ รวมถึงอดีตนายกเทศมนตรีของนิคม Kedumim และองค์กรที่สนับสนุนการตั้งถิ่นฐานใหม่ในพื้นที่พิพาท

นายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ กล่าวเสริมว่า "ระดับความทุกข์ทรมานของเด็กๆ ในกาซานั้นไม่สามารถยอมรับได้" และเรียกร้องให้มีการหยุดยิงทันที รวมถึงการเปิดทางให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าสู่พื้นที่

ทางด้านกระทรวงการต่างประเทศของอิสราเอลตอบโต้โดยระบุว่า "แรงกดดันจากภายนอกจะไม่ทำให้อิสราเอลเปลี่ยนเส้นทางในการต่อสู้เพื่อดำรงอยู่และความมั่นคงของตนจากศัตรูที่พยายามทำลายล้าง"

สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรและอิสราเอล ท่ามกลางวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่รุนแรงในฉนวนกาซา


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top