Tuesday, 29 April 2025
อสังหาริมทรัพย์

'คลัง' เผย!! มาตรการกระตุ้นศก.ด้านอสังหาฯ แค่ 3 เดือน สร้างเม็ดเงินใหม่กว่า 65,000 ล้าน

(11 ก.ค. 67) นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงผลสัมฤทธิ์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ ในส่วนมาตรการสินเชื่อ และค่าธรรมเนียม ดังนี้

1. มาตรการค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรม ลดค่าโอนจากร้อยละ 2 เหลือ 0.01 และลดค่าจำนองจากร้อยละ 1 เหลือ 0.01 มีจำนวนผู้ใช้สิทธิ์ 40,372 ราย แบ่งเป็นโอนอสังหาริมทรัพย์ 29,047 ราย และโอนห้องชุด 11,325 ราย (ตัวเลขถึงวันที่ 31 พ.ค.)

2. มาตรการส่งเสริมกิจการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ได้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี สำหรับการก่อสร้างที่อยู่อาศัยให้บุคคลธรรมดา ราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท (รวมค่าที่ดิน) จนถึงวันที่ 10 มิ.ย. มูลค่าโครงการรวมแล้วถึง 33,278.69 ล้านบาท

3. โครงการสินเชื่อบ้าน Happy Home (วงเงิน 20,000 ล้านบาท ) ให้ผู้มีรายได้น้อยหรือปานกลางที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท อนุมัติสินเชื่อแล้ว 12,576 ราย เป็นจำนวนเงิน 17,812 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 89.06 ของวงเงินโครงการ

4. โครงการสินเชื่อบ้าน Happy Life (วงเงิน 20,000 ล้านบาท) ให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง หรือไถ่ถอนจำนองจากสถาบันการเงินอื่น ดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรก ร้อยละ 2.98 ต่อปี วงเงินต่อรายตั้งแต่ 2.5 ล้านบาทขึ้นไป อนุมัติสินเชื่อแล้ว 8,141 ราย เป็นจำนวนเงิน 15,588 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 77.94 ของวงเงินโครงการ

'กรณ์' แนะ!! แนวทางบรรเทาหนี้ครัวเรือนไทย หลังพุ่งแตะอันดับ 9 ของโลก ชี้!! ส่วนใหญ่ยืมมาเพื่อใช้จ่าย ไม่ใช่ลงทุนในสินทรัพย์ที่เพิ่มมูลค่า

เมื่อวานนี้ (4 ก.ย. 67) นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ 'วิกฤตเศรษฐกิจไทยในวันที่ต้องรอด' ในงานประชุมใหญ่สมาคมอสังหาริมทรัพย์ฉะเชิงเทรา ที่จัดขึ้น ณ โรงแรมวันธาราเวลเนส รีสอร์ท แอนด์ โฮเทล ต.คลองนา อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา โดยมีสมาชิกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จากทั่วประเทศเข้าร่วม

โดยนายกรณ์ได้กล่าวถึงหนี้รัฐบาลว่ายังถือเป็นเรื่องที่น่าจะแบกรับได้ เมื่อเทียบกับภาระการชดใช้ดอกเบี้ยและเงินต้นของรัฐบาล ที่เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของ GDP

แต่สิ่งที่กำลังเป็นปัญหาของรัฐบาลคือการที่หนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ซึ่งหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554-2556 พบว่า หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นจาก 50 เปอร์เซ็นต์ของ GDP เป็น 80 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ในระยะเพียง 5 ปี ถือว่าเร็วที่สุดเมื่อเทียบกับเกือบทุกประเทศในโลก

ขณะที่ในวันนี้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ประมาณ 86.9 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ซึ่งติดอยู่ในกลุ่มหนี้ครัวเรือนที่สูงที่สุดในโลก หรือติดอยู่ในลำดับที่ 9 ใน 10 ของโลก และที่น่าแปลกใจคือ ประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนสูงที่สุด คือ สวิตเซอร์แลนด์ ที่เคยถูกมองว่าเป็นประเทศที่ร่ำรวยและไม่คิดว่าประชากรของประเทศนี้จะกู้หนี้ยืมสินมากเป็นอันดับ 1 ของโลก คือ 128.3 เปอร์เซ็นต์ของ GDP

“แต่เหตุใดคนสวิสจึงไม่เดือดร้อนในเรื่องของปัญหาหนี้ครัวเรือน นั่นก็เพราะ 99 เปอร์เซ็นต์ของหนี้สินคนสวิสคือ หนี้ซื้อบ้านซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่ประเทศไทย หนี้ภาคครัวเรือนเป็นหนี้ที่ยืมมาเพื่อใช้จ่าย อีกทั้งรายได้ของประเทศไทยยังน้อย จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้กำลังซื้อของคนไทยหายไป”

นายกรณ์ ยังเผยอีกว่า ที่ผ่านมาตนได้เคยฝากความเห็นไปยังรัฐบาล ‘เศรษฐา’ เกี่ยวกับเรื่องที่มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย แก้ปัญหาเรื่องหนี้ว่าปัญหาหนี้ต้องแก้ด้วยเงิน และกระทรวงที่มีเงินคือ กระทรวงการคลัง ที่มีธนาคารของรัฐอยู่ในมือจึงเหมาะจะเป็นเจ้าภาพ ทั้งธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.

แต่ไม่ได้หมายความว่าเรื่องหนี้จะแก้ได้โดยง่าย เพราะเป็นปัญหาที่สะสมมานาน และที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาหนี้ไม่ใช่การพักหนี้หรือยกหนี้ให้ แต่เป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ลูกหนี้ ด้วยการทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ถ้าเศรษฐกิจดีขึ้นเราจะสามารถแบกรับภาระหนี้เหล่านี้ได้

“หาก GDP โตสัดส่วนหนี้ต่อ GDP จะค่อยๆ ลดลงไปเอง วิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนที่สุด คือทำให้ GDP โต ฉะนั้นประเด็นคือเราจะทำให้เศรษฐกิจของเราโตขึ้นได้อย่างไร ซึ่งจะต้องรอดูและให้เวลาต่อรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะขับเคลื่อนอย่างไร เช่น การมีนโยบายส่งเสริมพัฒนาส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC ต่อหรือไม่ หรือจะหันไปสนใจในเรื่องแลนด์บริดจ์ที่เป็นนโยบายของรัฐบาลนี้โดยตรง”

ทั้งนี้ เหตุผลหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตเมื่อ 40 ปีก่อนคือการที่ญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตมาที่ไทย เนื่องจากญี่ปุ่นมีปัญหาด้านการค้ากับอเมริกา ขณะที่เงินเยนแข็งค่าเกินไปจึงต้องการส่งออกสินค้ากับประเทศที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเทียบกับสหรัฐฯ ที่ไม่ได้มีการปรับในระดับเดียวกับญี่ปุ่น

ซึ่งเงินบาทของไทยในขณะนั้นยังผูกอยู่กับเงินดอลลาร์สหรัฐ จึงตรงกับความต้องการของนักลงทุนญี่ปุ่น อีกทั้งยังมีการก่อสร้างทางอุตสาหกรรม จึงมีแรงงานที่เป็นปัจจัยในทางบวกกับประเทศไทยอย่างมาก

แต่ในวันนี้การลงทุนจากต่างประเทศของไทยลดลงเหลือแค่เพียงประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น EEC จึงมีความสำคัญในการดึงการลงทุนให้ไหลกลับคืนเข้ามา

4 บิ๊กอสังหาหั่นเป้าปี 67 จากยอดปฏิเสธสินเชื่อพุ่ง!! REIC ชี้ กำลังซื้อซึบซม แต่มีแสงสว่างที่ภูเก็ต-สงขลา

(22 ต.ค. 67) จากกระแสข่าวถึงสภาวะตลาดของกลุ่มธุรกิจหมวดอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มซบเซาอย่างต่อเนื่อง ย้อนไปไม่นานนี้ในการประกาศผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 มีธุรกิจผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อย่างน้อย 4 เจ้าด้วยกันที่ได้ประกาศปรับลดเป้าต่าง ๆ ของบริษัทลง 

บริษัทแรก คือ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน)โดย ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ ได้เปิดเผยว่า ได้มีการปรับลดเป้าหมายการเปิดตัวของโครงการจาก 17 โครงการในปีนี้เหลือ 13 โครงการ เนื่องมาจากปัญหาอัตราการปฏิเสธสินเชื่อของธนาคารที่สูงมาก 

บริษัทต่อมา คือ บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) ที่นายอุเทน โลหพิชิตพิทักษ์ ประธษนเจ้าหน้าที่บริหาร ได้ประกาศปรบลดโครงการใหม่จาก 30 โครงการเหลือ 29 โครงการ พร้อมทั้งปรับยอดขายในปีนี้จาก 27,000 ล้านบาทเหลือ 22,400 ล้านบาท

นอกจากนี้ทางพฤกษายังได้ปรับกลยุทธ์ด้วยการเน้นทำตลาดอังหาริมทรัพย์ระดับพรีเมี่ยมมากขึ้น เพื่อเอาตัวรอดจากสถานการณ์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้ 

บริษัทที่ 3 ได้แก่ บริษัท พร็อพ เพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด(มหาชน) โดยนายวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาค กรรมการผู้จัดการ ได้แจ้งว่า จากสถานการณ์ของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีภาวะชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากการปฏิเสธสินเชื่อของธนาคาร จึงทำให้ทางบริษัทต้องปรับลดเป้าการเปิดตัวโครงการใหม่จาก 7 โครงการ เลือ 1 โครงการ สำหรับโครงการอื่น ๆ จะเลื่อนการเปิดตัวไปในปีหน้า 

บริษัทสุดท้าย คือ บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด(มหาชน) ที่ใช้เวที Opportnity Day เปิดเผยผ่าน นางสาวกนกไพลิน วิไลแก้ว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน ว่า ทางบริษัทมีการปรับเป้าหมายรายได้ของปีนี้เหลือ 1.5 หมื่นล้านบาท จากที่เคยตั้งเป้าไว้ที่ 1.7 หมื่นล้านบาท 

จากข้อมูลทั้งหมดสอดคล้องกับรายงาน ‘สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ ไตรมาส 2 ปี 2567 และครึ่งแรกปี 2567’ ของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ที่เปิดเผยว่า 

ภาวะของตลาดที่อยู่อาศัยทั้งด้านความต้องการซื้อ(อุปสงค์)ลดลงซึ่งส่งผลให้ด้านการเปิดตัวโครงการ(อุปทาน)ลดลงตามไปด้วย อันเป็นผลมาจากดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับสูง(รายงานฉบับนี้ออกก่อนที่ กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย) ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัย 

นอกจากนี้รายงานฉบับดังกล่าวยังเปิดเผยอีกว่า สินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ทั่วประเทศในไตรมาสที่ 2 นั้นลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน คือ ไตรมาส 2 ของปี 2566 ถึง 10.1%

อย่างไรก็ดีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ในบางจังหวัด เช่น ภูเก็ต และสงขลา มีการขยายตัวทั้งจำนวนหน่วยอสังหาริมทรัพย์และมูลค่า

จากทั้งหมดที่กล่าวมาทำให้กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต่างแสดงข้อเรียกร้องผ่านสมาคมต่าง ๆ เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยผ่อนปรนมาตรการ LTV หรือมาตรการที่บังคับให้วางเงินดาวน์บ้าน กรณีซื้อบ้านหลังที่ 2 ขึ้นไป เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ 

จากสถานการณ์ของตลาดอสังหาริมทรัพย์คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ว่าเมื่อไหร่จะสามารถผ่านพ้นสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะจากที่เคยเป็นอสังหาริมทรัพย์ยุครุ่งเรืองกลับกลายเป็นอสังหาริมทรัพย์ยุคอัสดงไปเสียแล้ว 

‘ดร.โสภณ’ เปิดข้อมูลเชิงลึก อสังหามือหนึ่งถึงจุดสูงสุด เตรียมรับมือเทรนด์ใหม่ ‘บ้าน-คอนโด’ มืองสองราคาไม่แรง

(28 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย(AREA) ได้เปิดเผยว่า

ในขณะนี้ประเทศไทยมีบริษัทพัฒนาที่ดินยักษ์ใหญ่ ครองส่วนแบ่งตลาดเกือบครึ่งหนึ่งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล แต่ท่านเชื่อหรือไม่บริษัทที่ดินยักษ์ใหญ่เหล่านี้มีอนาคตอันมืดมน ทำไมจึงจะเป็นเช่นนี้

จากผลการสำรวจล่าสุด ณ กลางปี 2567 ของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส พบว่า 10 บริษัทมหาชนและบริษัทในเครือครองส่วนแบ่งตลาด (จากการเปิดตัวหน่วยขายใหม่ๆ ในครึ่งแรกของปี 2567) สูงสุดถึง 62% ของมูลค่าการพัฒนาทั้งหมดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล นับว่ามีขนาดใหญ่มากถึงเกือบหนึ่งในสามของทั้งตลาด

ในขณะที่ในแง่จำนวนหน่วย 10 บริษัทแรกที่ใหญ่ที่สุด ครองส่วนแบ่งตลาดถึง 53% ของทั้งหมด ส่วนบริษัทที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม คาดว่าจะมีสัดส่วนเพียง 15% ของหน่วยขายที่เปิดใหม่ทั้งหมด ถ้าหมายรวมทั้งปี มูลค่าการพัฒนาของบริษัทมหาชน 10 แห่งแรก จะมีมูลค่ารวมกันประมาณ 262,802 ล้านบาท ซึ่งนับว่ามีขนาดใหญ่มากจริงๆ

แต่หากเทียบกับบริษัทพัฒนาที่ดินจีน ไทยยังมีขนาดเล็กมาก

จะเห็นได้ว่ามูลค่าการพัฒนาของบริษัทมหาชน 10 แห่งแรกของไทยที่ประมาณการไว้ทั้งปี 2567 จะเป็นเงินรวมกันเพียง 262,802 ล้านบาท ยังเล็กกว่าบริษัทที่เล็กที่สุดใน 9 อันดับแรกของจีนที่เมื่อปี 2566 ผลิตที่อยู่อาศัยมีมูลค่ารวมกันถึง 813,011 ล้านบาท (บริษัท Longfor Properties) ดังนั้นหากบริษัทพัฒนาที่ดินจีนเข้ามาในประเทศไทย ก็จะถึงคราวหายนะของบริษัทพัฒนาที่ดินไทยอย่างแน่นอน และมูลค่ารวมของบริษัทพัฒนาที่ดินจีน 9 แห่งที่ใหญ่ที่สุดเป็นเงินสูงถึง 11,950,280 ล้านบาท หรือราวสองในสามของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของไทยที่ราวๆ  18 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ตามโดยที่ตลอดช่วงที่ผ่านมา ทั้งจีนและไทยต่างสร้างที่อยู่อาศัยออกมามากมาย ความต้องการที่อยู่อาศัยใหม่ก็จะลดลง กลายเป็นตลาดบ้านมือสองแทน  จากการสำรวจของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส พบว่าประเทศไทยในวาระครบรอบ 200 ปี (พ.ศ.2525) มีที่อยู่อาศัยรวมกันในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลประมาณ 1 ล้านหน่วย แต่พอถึงปี 2567 หรืออีก 42 ปีต่อมา มีการผลิตที่อยู่อาศัยใหม่ 3 ล้านกว่าหน่วย (มากกว่าช่วง 200 ปีแรกถึง 2 เท่าตัวหรือมีที่อยู่อาศัยรวมเป็น 3 เท่าของที่อยู่อาศัยเดิม) ทำให้ในอนาคต ความต้องการสร้างบ้านใหม่ๆ จะลดน้อยลง เพราะสามารถนำบ้านมือสองมาซื้อขายต่อกันได้ เพราะบ้านมือสองมักจะถูกกว่า ทำเลที่ตั้งดีกว่า แม้จะต้องซ่อมแซมบ้างก็ตาม

เมื่อหันมามองบริษัทพัฒนาที่ดินที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาที่สร้างบ้านจัดสรรและอาคารชุดขาย ณ ปี 2565 จะพบใน 10 บริษัทแรก มีมูลค่าการพัฒนาโดยรวม 3.6155 ล้านล้านบาท เล็กกว่า 9 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดของจีน โดยมีขนาดเป็นเพียง 30% ของจีนเท่านั้น  หลายบริษัทพัฒนาที่ดินมานับร้อยปีในสหรัฐอเมริกา ก็ไม่ได้เติบโตอย่างก้าวกระโดดมากนัก เพราะการสร้างที่อยู่อาศัยให้มีแบรนด์เป็นที่ยอมรับกันทั่วประเทศถึง 50 มลรัฐเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก

จะเห็นได้ว่าบริษัทนายหน้าใหญ่ๆ ในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะ 10 บริษัทแรก มีการขายทรัพย์สินรวมกันถึง 1,293,872 หน่วย มากกว่าของบริษัทพัฒนาที่ดินที่ขายอยู่ 258,800 หน่วยเสียอีก และยิ่งพิจารณาในแง่มูลค่าของสินค้าที่ขาย ก็สูงถึง 28.787 ล้านล้านบาท 

เมื่อบริษัทพัฒนาที่ดินใหญ่ที่สุดที่มียอดขายรวมกัน 3.6155 ล้านล้านบาท หากสมมติว่าได้กำไรปีละ 8% ก็เป็นเงินประมาณ 280,000 ล้านบาท แต่ในกรณีบริษัทนายหน้าที่มียอดขาย 28.787 ล้านบาท สมมติได้กำไรสุทธิเพียง 2% จากค่านายหน้าประมาณ 6% ก็เป็นเงินถึง 570,000 ล้านบาท สูงกว่าของบริษัทพัฒนาที่ดินเสียอีก

ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าบริษัทพัฒนาที่ดินใหญ่ๆ ก็จะค่อยๆ ลดบทบาทลง เพราะความต้องการบ้านใหม่จะลดลง การซื้อขายบ้านมือสองจะมีราคาถูกกว่า ได้ทำเลดีกว่า กิจการนายหน้าจะเฟื่องฟูขึ้นมา และรวมศูนย์เป็นบริษัทนายหน้าขนาดยักษ์มากยิ่งขึ้น ส่วนบริษัทพัฒนาที่ดินรายย่อยก็อาจมีบทบาทมากขึ้นในท้องถิ่นต่างๆ แต่เป็นบริษัทเล็กๆ ที่มีออร์เดอร์จากการสั่งสร้างมากกว่าการสร้างบ้านและห้องชุดจำนวนมากๆ ออกมาขายเช่นเดิม

และด้วยอำนาจของเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ (AI) บริษัทนายหน้าใหญ่ที่สามารถจัดหาเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ดีและมากกว่า ก็จะกลายเป็นเจ้าตลาดไปในอนาคต

ดาต้าเซ็นเตอร์-โลจิสติกส์ โตรับตลาดอีวีในไทย ส่วนนิคมอุตฯได้อานิสงส์ 'ทรัมป์ 2.0' ดันราคาที่ดินพุ่ง

(27 พ.ย.67) เจแอลแอล (JLL) บริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับโลก จัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 35 ปีการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย พร้อมเผยความสำเร็จในการบริหารจัดการพื้นที่เช่าที่ยอดเยี่ยม โดยคาดว่าผลรวมพื้นที่เช่าของบริษัทในสิ้นปีนี้จะถึง 7.5 ล้านตารางเมตร นอกจากนี้ยังได้เปิดมุมมองในแง่ของเทรนด์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย โดยระบุว่า ตลาดอาคารสำนักงานไม่น่ากังวล แต่กำลังเห็นการย้ายจากอาคารเก่าที่คุณภาพต่ำไปยังอาคารใหม่ที่มีมาตรฐานสูงขึ้น ส่วนในภาคอุตสาหกรรม การพัฒนา ‘ดาต้าเซ็นเตอร์’ ยังถือว่าเป็นช่วงเริ่มต้น แม้กระแสความต้องการจะร้อนแรงก็ตาม

นายไมเคิล แกลนซี่ กรรมการผู้จัดการ เจแอลแอล ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ในยุคแรก ๆ โครงการอสังหาริมทรัพย์ในไทยส่วนใหญ่จะเป็นโครงการที่มีการใช้งานแบบเดี่ยว ๆ แต่ต่อมาได้มีการพัฒนาไปเป็นโครงการมิกซ์ยูส (Mixed-Use) ที่นำอสังหาริมทรัพย์ประเภทต่าง ๆ มาผสมผสานกันอย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ โดยมีการพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสที่มีความทันสมัย ทั้งในแง่ของเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่สามารถตอบโจทย์การใช้งานในหลากหลายรูปแบบของผู้เช่า

สำหรับตลาดอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ นายไมเคิลกล่าวว่า อาคารเก่าในกรุงเทพฯ จำนวนมากกำลังเผชิญกับความท้าทายในการแข่งขันกับอาคารใหม่ที่มีคุณภาพสูงขึ้น ทำให้เจ้าของอาคารเก่าต้องทำการปรับปรุงหรืออัปเกรด เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาด ซึ่งเทรนด์ Flight to Quality หรือการย้ายไปยังอาคารที่มีคุณภาพดีกว่า จะยังคงเป็นกระแสที่แข็งแกร่งในตลอดปี 2024 และปี 2025

นายไมเคิลเสริมว่า แม้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2024 จะมีความท้าทาย แต่ตลาดอาคารสำนักงานกลับคึกคัก โดยหลายบริษัทเริ่มย้ายจากอาคารเก่ามายังอาคารใหม่ที่มีคุณภาพดีกว่า ซึ่งแนวโน้มนี้คาดว่าจะดำเนินต่อไปในปี 2025 เนื่องจากมีโครงการใหม่ ๆ ที่จะเปิดตัวในปีหน้า และหลายบริษัทเตรียมย้ายออฟฟิศ

"แม้ราคาค่าเช่าจะสูงขึ้น แต่เทรนด์ Flight to Quality จะยังคงมีความสำคัญอย่างมาก โดยบริษัทต่าง ๆ ยังต้องการย้ายออกจากอาคารเก่าไปยังออฟฟิศใหม่ที่มีมาตรฐานสูง การเติบโตของอาคารสำนักงานในประเทศไทยจะยังเป็นไปในทิศทางที่ดี โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอย่างสิงคโปร์และฮ่องกง" 

นอกจากนี้นายแกลนซี่ ยังกล่าวถึงแนวโน้มธุรกิจและอุตสาหกรรมที่มาแรงในปี 2568 ว่า ในปีหน้าต้องยกให้ธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์มาเป็นอันดับหนึ่ง เนื่องจากมีนักลงทุนเข้ามาสนใจเข้ามาลงทุนในไทยเป็นอย่างมาก สะท้อนจากการที่มีนักลงทุนเข้ามาดูทำเลในเขตนิคมขนาดใหญ่ เช่น พื้นที่ EEC พื้นที่ย่านสมุทรปราการ รวมถึงตอนเหนือของกรุงเทพฯ 

ส่วนธุรกิจรองลงมาคือ ภาคอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สืบเนื่องจากอานิสงส์ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าที่เข้ามาทำตลาดในไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชลบุรีและระยอง ซึ่งมีความต้องการใช้พื้นที่ตั้งแต่ 20 ถึง 1,000 ไร่

นายแกลนซี่ ยังกล่าวถึง ผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาลทรัมป์ 2.0 จะทำให้หลายภาคอุตสาหกรรมพิจารณาย้ายฐานการผลิตบางส่วนมายังอาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทย คาดว่าจะส่งผลให้ราคาที่ดินในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของไทยปรับตัวสูงขึ้นไปอีก

อีกสองธุรกิจที่มีแนวโน้มน่าจับตาคือ ธุรกิจโรงแรม และอาคารสำนักงาน โดยธุรกิจโรงแรมได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งเปิดใหม่และซื้อกิจการอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการท่องเที่ยวฟื้นตัว ขณะที่อาคารสำนักงานให้เช่า จะเติบโตจากการเปิดโครงการขนาดใหญ่ที่มีความทันสมัยในพื้นที่ใจกลางกรุง

ส่วนตลาดที่อยู่อาศัยปี 2568 จะเป็นปีแห่งการฟื้นตัวของคอนโดมิเนียม โดยเฉพาะตลาดเช่า เนื่องจากปัญหาการกู้สินเชื่อไม่ผ่านยังสูง และเทรนด์คนรุ่นใหม่สนใจเช่ามากกว่าซื้อ คาดว่าจะดันราคาเช่าคอนโดในเขตกรุงเทพสูงอีก 40%


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top