Wednesday, 7 May 2025
อธิบดีกรมอุทยานฯ

อธิบดีกรมอุทยานฯ สั่งชุดพญาเสือล่านายทุนสั่งเต่าปูลู ส่งนอกหลังจับผู้กระทำผิดได้ที่อุทยานผาแดง เกรงลุกลามไปในพื้นที่ป่าอื่นๆล่าสุดพบหลักฐานทั้งคนกลางและชาวต่างชาติคนสั่งซื้อ

วันที่ 18 เมษายน 2567 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่าได้รับรายงานจากนายกริชสยาม คงสตรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่ โดยเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2567 ที่ผ่านมานายประกาศิต  ระวิวรรณ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติผาแดง ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติผาแดง ร่วมกับชุดทหารชุดเฉพาะกิจไชยานุภาพ บก.ผาดง ร่วมกันตั้งจุดสกัดเพื่อคัดกรองคนเข้าป่า ตามยุทธการเสือเฝ้าป่าบริเวณบ้านรินหลวง หมู่ 3 ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ 

กระทั่งเวลาประมาณ 21.30 น. ของวันดังกล่าว พบชายขับรถจักรยานยนต์เพื่อจะผ่านด่านตรวจ มีท่าทางพิรุธ เจ้าหน้าที่จึงทำการตรวจค้น พบ เต่าปูลู ในกระสอบปุ๋ยซุกซ่อนอยู่ในกระเป๋าเป้ที่สะพายอีกชั้นหนึ่ง จำนวน 17 ตัว (16 ตัวยังมีชีวิตอยู่ 1 ตัว ได้ตายไปแล้ว) น้ำหนักรวม 7.8 ก.ก. เจ้าหน้าที่จึงทำการจับกุมชายดังกล่าวไว้เนื่องจากเต่าปูลูเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 พร้อมทำการสอบสวนขยายผล ทราบชื่อผู้ต้องหาภายหลัง ชื่อนาย ยูดะ อายุ 50 ปี ราษฎรบ้านแกน้อย (หย่อมบ้านนาศิริ) ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ 

จากคำให้การของนายยูดะ ฯ ให้การว่า ตนได้รับการว่าจ้างจากนายแดง ไม่ทราบนามสกุล คนอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งรู้จักตอนไปทำงานด้วยกันที่ในเมืองเชียงใหม่เมื่อประมาณเดือนที่แล้ว ซึ่งได้ติดต่อกันผ่านช่องทาง messager โดยนายแดงใช้ชื่อดาเนียล  ซึ่งจากการตรวจสอบพบข้อความการสนทนาซื้อขายเต่าปูลูและการนัดหมายส่งของ โดยนายแดงได้ว่าจ้างให้หาเต่าปูลู โดยจะให้ค่าจ้างหลังส่งเต่าเสร็จ ในราคากิโลกรัมละ 2,400 บาท ซึ่งนายยูดะ ฯ ได้ทำการล่าตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.67 เป็นต้นมาใช้เวลาล่าอยู่ประมาณ 10 วัน และได้นัดหมายส่งเต่าปูลูกันที่บ้านห้วยป่าฮ่อม หมู่ 5 ต.ทุ่งข้าวพวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ แต่มาโดนเจ้าหน้าที่จับเสียก่อน เจ้าหน้าที่ได้ขอเพื่อตรวจสารเสพติด โดยการตรวจปัสสาวะหาสารเสพติดเบื้องต้น ผลตรวจเป็นบวก คือ พบสารเสพติดหรือพิษในร่างกาย ซึ่งรับสารภาพว่าเสพยาบ้า 1เม็ดครึ่ง เมื่อ4วันที่แล้ว ในระหว่างการล่าเต่าปูลู 

โดยเมื่อวันที่ 17เม.ย.67 เจ้าหน้าที่ให้นายยูดะ ฯ พาไปชี้จุดเกิดเหตุว่าจับเต่าปูลูมาจากที่ใด ครั้นจนมาถึงจุดที่นายยูดะฯ พามา คือป่าต้นน้ำบ้านนาศิริ บริวณลำห้วยน้ำเฮื้อง หรือลำห้วยผาแดง พิกัด 485753E 2176440 N ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติผาแดง โดยเต่าปูลูเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 ตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ห้ามผู้ใดล่า ค้า หรือครอบครอง รวมทั้งซากของสัตว์ป่าดังกล่าว ผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่จึงนำตัวผู้ต้องหา ส่งพนักงานสอบสวน สภ.นาหวาย เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายและแจ้งข้อกล่าว ดังนี้ 

1. ฐาน ร่วมกัน นำสัตว์ป่าออกไปหรือกระทำให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ป่าด้วยประการใด ๆ ในเขตอุทยานแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 19 (3) และ มาตรา 43 ผู้ใดฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือ ปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 2. ฐาน เข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้สั่งให้ปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 20 และ มาตรา 47 ตามประกาศอุทยานแห่งชาติผาแดง ฉบับลงวันที่ 31 มกราคม 2567 เรื่องห้ามเข้าไปในเขตป่าอุทยานแห่งชาติผาแดง ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษ ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

 3. ฐาน ร่วมกัน ล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 12 และ มาตรา 89 ผู้ใดฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือ ปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

4. ฐาน ร่วมกัน มีไว้ครอบครองซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 17 และมาตรา 92 ผู้ใดฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือ ปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

5.ฐาน ร่วมกัน ค้าสัตว์ป่าคุ้มครอง ซากสัตว์ป่าดังกล่าว หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าดังกล่าวตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 29 และมาตรา 89 ผู้ใดฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือ ปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ นายอรรถพลฯ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้กำชับสั่งการให้หัวหน้าหน่วยงานพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทุกแห่ง เข้มงวดสอดส่องดูแลการล่าสัตว์ในพื้นที่โดยเฉพาะเต่าปูลู ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองหายาก เพื่อป้องกันขบวนการลักลอบจับเต่าปูลู โดยหากพบการกระทำผิด ให้จับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเฉียบขาดทุกราย ล่าสุดได้สั่งชุดพญาเสือดำเนินการสืบสวนหาตัวกลุ่มนายทุนผู้อยู่เบื้องหลังที่สั่งเต่าปูลูส่งนอก หลังจับกุมผู้กระทำผิดได้ที่อุทยานแห่งชาติผาแดง เกรงลุกลามไปในพื้นที่ป่าอื่นๆ เนื่องจากพบหลักฐานทั้งคนกลางและชาวต่างชาติซึ่งเป็นคนสั่งซื้อ

อธิบดีกรมอุทยานฯ ร่วมรับฟัง การนำเสนอกิจกรรมถอดบทเรียน (AAR) ไฟป่าในพื้นที่จังหวัดแพร่และจังหวัดน่าน

วันที่ 26 พ.ค. 2567 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นประธานการประชุมถอดบทเรียน (After Action Review : AAR) “การแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและpm2.5ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ สังกัด สบอ.13(แพร่)ท้องที่จังหวัดแพร่และจังหวัดน่าน” โดยมีผู้เข้าร่วมได้แก่ นายกมล นวลใย ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่13 ผู้อำนวยการส่วนแต่ละส่วน หัวหน้าพื้นที่ป่าอนุรักษ์และหน่วยงานร่วมบูรณาการฯ เพื่อร่วมกันสะท้อนปัญหา และทบทวนกระบวนการต่าง ๆ นำมาเป็นแนวทางการจัดทำแผนและการปฏิบัติงานในปีถัดไปให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น โดยมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานในแต่ละพื้นที่ป่าอนุรักษ์

สถานการณ์การเกิดไฟป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ในสังกัด สบอ 13(แพร่) ท้องที่จังหวัดแพร่และจังหวัดน่านในปีงบประมาณพ.ศ.2566 พบว่ามีพื้นที่เผาไหม้(Burnsca) 1,433,503 ไร่ และปี 2567 พบพื้นที่เผาไหม้  647,466 ไร่ ลดลง คิดเป็น 54.83% จำนวนจุดความร้อน(Hotspot)ในปี 2566 พบจำนวน 6,415 จุด และปี 2567 พบจุดความร้อน 3,474จุด พบว่าพบว่าลดลง 46.80%

ในบางพื้นที่ป่าอนุรักษ์พบจุด hotspot ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาแต่มีพื้นที่ที่ถูกเผาไหม้ลดลง เช่น อุทยานแห่งชาติแม่ยม จังหวัดแพร่ พบจุดhotspot ในปี 2566จำนวน 550 จุด ในปี 2567 พบ 480จุด ลดลงร้อยละ 12.7% แต่ในปี 2566 พบว่ามีพื้นที่เผาไหม้ 193,560 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 63.94ของพื้นที่ทั้งหมด แต่พื้นที่เผาไหม้ใน ปี2567 พบเพียงแค่จำนวน 93,613(ไร่) โดยคิดเป็นร้อยละ 30 ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งจะสังเกตได้ว่าเป็นผลการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ภาคสนามที่ปฏิบัติตามข้อสั่งการ “เห็นไว เข้าถึงไว ควบคุมและดับได้ไว“ 

อุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในท้องที่จังหวัดแพร่ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดลำปางบางส่วน ไม่มีหน่วยงานร่วมบูรณาการในพื้นที่ และไม่มีสถานีควบคุมไฟป่าแต่อย่างใด ดำเนินการโดยใช้กำลังเจ้าหน้าที่เพียง 45 นาย โดยอาศัยการสร้างภาคีเครือข่าย จิตสำนึกอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความร่วมของชุมชนเครือข่ายรอบอุทยานสามารถลดจำนวนจุด hotspot ในพื้นที่ได้ถึง 50.9 %เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

อุทยานแห่งชาติดอยภูคา เป็นอุทยานแห่งชาติในท้องที่จังหวัดน่านมีพื้นที่รับผิดชอบขนาดใหญ่จำนวน1,065,000 ไร่ ครอบคลุม 8 อำเภอ 24 ตำบล มีหน่วยงานร่วมบูรณาการจำนวน 38 หน่วยงาน ได้มีการ จัดทำแผนปฏิบัติการแบบบูรณาการเชิงพื้นที่ป่าอนุรักษ์โดยแบ่งเขตการจัดการจำนวน4 เขต เพื่อให้ทุกหน่วยงานในพื้นที่ร่วมบรูณการเข้ามามีบาทในการดำเนินแก้ไขปัญหาร่วมกัน พบว่า จำนวนจุดhotspotปี2566พบ 1,706 จุด ส่วนในปี 2567 พบจำนวน 615 จุด ลดลงคิดเป็นร้อยละ 63.96 ซึ่งเป็นตามนโยบายของทส.ที่ได้กำหนดไว้

อุทยานแห่งชาติศรีน่าน พบว่าเมื่อเทียบกับปี 2566 จุด hotspot ลดลงคิดเป็นร้อยละ 13.9 แต่มีพื้นที่เผาไหม้ลดลงคิดเป็นร้อยละ 62.84ของพื้นที่ทั้งหมด เกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ผู้นำชุมชนและชุมชนในพื้นที่ร่วมกันบริหารจัดการแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่าและpm 2.5 ทำให้สถานการณ์ภาพรวมดีขึ้น

สรุปจากข้อมูลดังกล่าวสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่รับผิดชอบปี2567 สามารถบริหารจัดการแก้ไขปัญหาได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น จากการบูรณาการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ป่าอนุรักษ์และความร่วมมือของหน่วยงานภายนอก

ทั้งนี้นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานฯ ได้ให้แนวการปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และpm2.5 นำไปวางแผนในการปฏิบัติงานต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top