Tuesday, 22 April 2025
หลานม่า

‘วราวุธ’ ชมหนัง ‘หลานม่า’ พร้อมมอบรางวัล ส่งเสริมความสัมพันธ์ครอบครัว ชี้นำเสนอดี แนะให้คนไทย เอาใจใส่บุพการี สร้าง ‘ความรัก-ความอบอุ่น’

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่โรงภาพยนตร์พารากอน ซีนีเพล็กซ์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าชมภาพยนตร์เรื่อง ‘หลานม่า’ ซึ่งเป็นภาพยนตร์ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้สูงอายุและครอบครัว ซึ่งกระทรวง พม. มอบโล่รางวัล ในฐานะส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้สูงอายุและครอบครัว ในฐานะองค์กรเครือข่าย ที่สนับสนุนงานด้านผู้สูงอายุ เนื่องในวันผู้สูงอายุแห่งชาติประจำปี 2567 ว่า เป็นภาพยนตร์ที่ทำให้เข้าใจง่าย ทำให้คิดถึงหลายครอบครัว ที่บางครั้งเราอาจหลงลืมไปบ้างว่าเรายังมีอาม่าให้คิดถึง 

นายวราวุธ กล่าวว่า เมื่อสังคมเปลี่ยนไปผู้คนจะมีการงานทำมากขึ้น จึงมีเวลาให้กับผู้มีพระคุณน้อยลง สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกครอบครัวโดยเฉพาะสังคมในปัจจุบัน สิ่งที่สำคัญคือจะทำอย่างไรที่เราทุกคนจะต้องหาเวลา ติดต่อกับผู้ที่เราเคารพ บุพการีของเรา อย่างตนเองทุกเช้าจะตั้งนาฬิกา 8 โมงเช้าแล้วโทรศัพท์หาคุณแม่แจ่มใส (ศิลปอาชา) เพราะคิดว่าไม่ได้เจอหน้าแต่ได้ยินเสียงกันก็ยังดี เพราะผู้ใหญ่เขามักจะไม่พูดหรอกว่าคิดถึง โดยเฉพาะคนไทยเชื้อสายจีน ที่จะไม่พูดคำว่าคิดถึง หรือมาแสดงความอ่อนแอให้ลูกหลานได้เห็นโดยเด็ดขาด จะไม่มาอ้อนลูกหลาน ฉะนั้นหากลูกหลานยื่นมือไปและแสดงให้เห็นว่าเรามีความห่วงใย เรารัก มีความเคารพ ห่วงหาอาทรกันอยู่ นั่นคือความอุ่นใจ ที่ลูกหลานให้กับท่านได้ เพราะผู้หลักผู้ใหญ่เมื่อมาถึงวันนี้ไม่ต้องการอะไรมากต้องการเพียงสิ่งที่มีความสุขและอบอุ่นใจเท่านั้น

“ผมดูวันนี้ไม่ได้ร้องไห้แต่ภรรยาต่อมน้ำตาแตก โดยเฉพาะตอนที่หลานไปจับมืออาม่าบ้านพักคนชราแล้วบอกว่า กลับบ้านนะ แสดงให้เห็นว่าความห่วงหาอาทรของหลานที่บอกว่ากลับไปอยู่บ้านเราดีกว่า บ้านพักคนชราไม่ใช่เป็นสิ่งไม่ดี แต่ถ้าหากยังมีลูกหลานที่สามารถดูแลกันได้ ในบ้านปลายชีวิตให้เวลากับท่านดีกว่า ดีกว่าที่จะไปให้เวลากับท่านตอนที่อยู่ฮวงซุ้ยแล้ว มันไม่เกิดประโยชน์ หนังเรื่องนี้สอนพวกเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นสถานะใด ยากดีมีจนอย่างไร ปัญหาแบบนี้เกิดกับทุกบ้าน และเป็นเครื่องเตือนสติได้ว่า ในท้ายที่สุดแล้วสถาบันครอบครัว และ ผู้หลัก ผู้ใหญ่ เป็นสิ่งที่ดึงดูด ให้ทุกคนกลับมารวมกัน คนสูงวัยคือหัวใจของครอบครัวและสถาบันครอบครัว ซึ่งวันนี้สถาบันครอบครัวของประเทศไทยเปราะบางเหลือเกิน เรากลับมาหาผู้สูงอายุกันให้ความสำคัญกับท่านและสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมของประเทศไทยให้มีความอบอุ่นและเดินไปข้างหน้าสร้างความหวังให้กับคนรุ่นต่อๆไป”

‘ยายแต๋ว’ หลานม่าเผย ทำไมผู้สูงวัย ต้องส่งข้อความ ‘สวัสดี’ ให้ทุกวัน ย้ำ อยากให้ลูกหลาน กลับไปหาคนที่อยู่ข้างหลังบ้าง ก่อนที่จะไม่มีโอกาส

(5 เม.ย.67) เข้าฉายแล้วสำหรับภาพยนตร์เรื่อง หลานม่า เรื่องราวความผูกพันระหว่างอาม่าที่กำลังป่วย กับหลานชายที่มาอยู่ดูแลในวาระสุดท้าย ซึ่งล่าสุด ยายแต๋ว อุษา เสมคำ ก็ได้มาพูดถึงหนังเรื่องนี้ในรายการ รอบวัน ทางช่องวัน

ซึ่งในรายการ ได้มีการสัมภาษณ์ท่อนหนึ่งของ ยายแต๋ว อุษา เสมคำ ปัจจุบันอายุ 78 ปี นักแสดงนำจากภาพยนตร์เรื่อง หลานม่า ได้พูดว่า การที่จะทำให้ลูกหลานรายล้อมได้เยอะขนาดนี้ เราก็ต้องรักเขา เราเลี้ยงเขา และมีความผูกพันเมื่อเขาโตแล้วเขาก็ห่างไป แต่หากคิดถึงเราก็โทร หาเขา บางทีลูกไม่มีเวลา เขาก็บอกว่า แม่รอก่อนนะ เราก็รอ

อยากให้ทุกคนไปดูหนังเรื่องนี้ และกลับไปหาคนที่อยู่ข้างหลังบ้าง อย่าให้คนที่เขารอเรานั่งรออยู่ ไม่อยู่ให้รอแล้ว หากมีโอกาสก็ไปดูแลกันบ้าง ไปดูแลคนที่ห่างบ้าง อย่างคนแก่เวลาคิดถึง ก็คิดถึงลูกหลาน ไม่ได้คิดถึงอย่างอื่นเลย

เราบอกทุกคนว่า เวลาเราส่งสวัสดีวันจันทร์ วันอังคาร เพื่อนบางคนเขาก็รำคาญ ไม่อยากส่ง แต่ที่เราส่ง เพื่อบอกว่าเรายังมีชีวิตอยู่ เรายังคิดถึงเขาอยู่ สักวันหนึ่งที่เราไม่ส่ง ก็คือเราไม่อยู่แล้ว คนแก่ไม่มีอะไรมากหรอก คิดถึงลูกหลานแค่นั้น

‘อุษา เสมคำ’ วัย 78 ปี ขึ้นแท่น!! นางเอก 100 ล้าน หลังรายได้ ‘หลานม่า' แค่ 5 วัน พุ่งแรงไม่หยุด

(9 เม.ย.67) ​’หลานม่า’ ภาพยนตร์แฟมิลี่ดรามา จากค่าย GDH สร้างปรากฏการณ์โรงหนังฉ่ำน้ำตา ด้วยกระแสบอกต่อกระหึ่ม จนทำให้รายได้ทั่วประเทศทะลุ 100 ล้าน ในเวลาเพียง 5 วัน แถมผู้ชมยังยกให้เป็นหนังที่คน 3 เจเนอเรชัน มาดู มาซึ้ง มาสนุก ร่วมกันได้ พร้อมทั้งแจ้งเกิดนางเอกหน้าใหม่วัย 78 ปี อย่าง อุษา เสมคำ ผู้รับบทอาม่า ผู้เรียกน้ำตาจากผู้ชมอย่างท่วมท้น

ทั้งนี้ ​อุษา เสมคำ ได้เปิดเผยว่า “ดีใจมาก ๆ เลยค่ะ ที่หนังหลานม่า ได้เข้าไปอยู่ในใจผู้ชมหลาย ๆ คน วันที่หนังฉาย มีคนเดินเข้ามาหายาย มาชื่นชมหนัง บางคนเดินเข้ามากอด บ้างก็มาขอจับมือ มันทำให้ยายรู้ว่า ผู้ชมที่เป็นลูกหลานเมื่อได้ดูหนังแล้ว เขาก็รู้สึกคิดถึงญาติผู้ใหญ่ ส่วนผู้ชมที่เป็นผู้ใหญ่ดูแล้วก็คิดถึงลูกหลาน มันเป็นหนังที่ทุกคนในครอบครัว ทั้ง 3 เจเนอเรชัน เมื่อมาดูด้วยกันแล้วต่างก็จะได้มองเห็นมุมมองของกันและกัน หนังเรื่องนี้ทำให้ยายรู้ว่า เวลาที่ลูกหลานทำงานจนอาจไม่มีเวลามาหาเรา ถ้าเราคิดถึงเขา เราก็โทรหา ไม่เห็นต้องรอให้เขาโทรมาเลย ความรัก ความผูกพันของครอบครัว บอกกันให้รู้ในวันที่ยังมีชีวิตอยู่ดีที่สุด ยายว่าหนังเรื่องนี้มันมีค่าสำหรับยายมาก ๆ นะคะ ขอบคุณ GDH, พัฒน์ ผู้กำกับ บิวกิ้น, คุณดู๋ สัญญา, คุณเผือก, คุณเจีย ตู ต้นตะวัน นักแสดงและทีมงานทุกคนที่ให้โอกาสยาย คอยช่วยเหลือยาย จนทำให้ยายสวมบทเป็นอาม่า ที่มีคนรักอยู่ในตอนนี้ สำหรับใครที่ยังไม่ได้ไปชม อยากให้ไปชมกันนะคะ ไม่ต้องกลัวว่าจะร้องไห้เพราะความเศร้าเสียใจ ยายว่าน้ำตาที่ไหลออกมา มันอาจเป็นน้ำตาของความสุขที่ได้นึกถึงช่วงเวลาดี ๆ ที่เคยเกิดขึ้นในชีวิตเราก็ได้ค่ะ”

อย่างไรก็ตาม ‘หลานม่า’ กำลังรอทุกคนมาร่วมสร้างความอบอุ่นพร้อมกันในโรงภาพยนตร์

‘โจ มณฑานี’ ชี้ สัญญาณแห่งคุณค่าแบบไทยๆ กำลังกลับมา หลัง ‘หลานม่า’ ทะลุ 100 ล้านบาทใน 5 วัน

(10 เม.ย.67) จากเฟซบุ๊ก 'Jo Montanee' โดยคุณโจ มณฑานี ตันติสุข ดีเจ พิธีกร นักวิจารณ์ นักเขียนและวิทยากรชื่อดัง ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับหนังเรื่อง 'หลานม่า' ที่กำลังนำพาคุณค่าดี ๆ กลับคืนสู่สังคมไทย ระบุว่า...

"อาม่า 5 วัน 100 ล้าน คือสัญญาณที่พี่โจบอกเสมอว่าคุณค่าแบบไทยจะค่อย ๆ กลับมา ขอแค่เราจงอดทน ศรัทธา และไม่ถอดใจ"

ทั้งนี้ หลังโพสต์ดังกล่าว ก็มีชาวเน็ตหลายท่านที่เห็นด้วยได้เข้ามาตอบคอมเมนต์มากมาย อาทิ...

"ศรัทธาและคุณค่าแบบไทย ไม่เคยจางหายไปจากใจเลยค่ะ ยังคงยึดถือและเคารพในตัวตนของเราเองเสมอมา 'ความเป็นไทย' ไม่เคยจางหายไปจากใจ จริง ๆ"

"ชื่นใจ…หอมกลิ่น กตัญญู"

"พอหนังออกโรงแล้ว กระทรวงศึกษาฯ ควรติดต่อขอฉายในสถานที่ศึกษาก็ดี"

"ความดีแบบไทย ๆ ต้องกลับมา เด็กรุ่นบางคน ก็บ้า ๆ บอ ๆ ตามเพื่อนไปเท่านั้น"

ฯลฯ

‘สรยุทธ’ เผย ไม่กล้าดู ‘หลานม่า’ เพราะกลัวร้องไห้ ลั่น!! มีประสบการณ์ส่วนตัว ถ้าได้ไปดู คงตายแน่ๆ

(10 เม.ย.67) เพจเฟซบุ๊ก beartai BUZZ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า…

จากในรายการ ‘กรรมกรข่าว คุยนอกจอ’ ช่วงเมื่อวานที่ผ่านมา พิธีกรรายการอย่าง สรยุทธ สุทัศนะจินดา และ ไบรท์-พิชญทัฬห์ จันทร์พุฒ ได้พูดถึง ‘หลานม่า’ หนังใหม่ล่าสุดจากค่าย GDH ที่ฉายไปเพียงไม่กี่วันก็สามารถทำรายได้ทะลุ 100 ล้านบาท โดยช่วงหนึ่งของรายการ สรยุทธได้พูดถึง ‘หลานม่า’ พร้อมเผยว่าตนเองจะไม่ไปดูหนังเรื่องนี้

“จริง ๆ พี่ก็ตั้งใจแล้วว่าพี่ไม่ดู ไม่ได้แปลว่าอะไรนะ เข้าใจว่าตอนนี้มีกระแสเพราะเข้าฉายไปเมื่อวันที่ 4 เม.ย. เพราะพี่มีประสบการณ์เป็นหลานม่า กูร้องไห้แน่ คือกลัวจะเก็บอาการไม่ได้ ผมเป็นหลานม่าที่ไม่ได้หวังสมบัตินะ ตอนอาม่าพี่เสียทีแรกก็ปกติตอนจัดงาน แต่พอผ่านไปสักพักหนึ่งร้องไห้จนไม่รู้ตัวเหมือนคลั่ง มันออกมาเองแบบไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นถ้าพี่ไปดูเรื่องนี้พี่ตายแน่ เป็นความรู้สึกส่วนตัว เมื่อก่อนผมก็ไปช่วยอาม่าขายของนะ แต่พอเติบโตขึ้นมาเริ่มทำงานแล้วก็ไม่ได้กลับไป มาคิดได้ในวันที่เขาไม่อยู่แล้ว”

อินโดฯ ยก!! ‘หลานม่า’ หนังที่งดงาม จนต้องหลั่งน้ำตา นานาชาติเตรียมต่อคิวดึงเข้าฉาย ไม่เว้นแม้แต่กัมพูชา

(15 พ.ค.67) สร้างปรากฏการณ์น้ำตาท่วมจออีกครั้ง สำหรับภาพยนตร์ ‘หลานม่า’ ค่ายจีดีเอช ผลงานกำกับโดย ‘พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์’ ที่ได้นักแสดงสุดฮอตอย่าง บิวกิ้น พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล, และยายแต๋ว อุษา เสมคำ นางเอกวัย 78 ปี ที่ทำให้ผู้ชมหลงรักในความสัมพันธ์ของหลานกับอาม่ากันทั่วประเทศไทย จนทำรายได้เป็นอันดับ 1 ของหนังจีดีเอชในกรุงเทพฯ เป็นที่เรียบร้อย และกำลังเดินหน้าไปฉายในต่างประเทศทั่วเอเชีย ประเดิมรอบพรีวิวที่แรกในประเทศอินโดนีเซีย ปรากฏว่าในรอบนี้ เหล่าผู้ชมที่เป็นอินฟูเอ็นเซอร์ชื่อดังของอินโดฯ ถึงกับหลั่งน้ำตากล่าวชื่นชมว่าเป็นภาพยนตร์ที่งดงาม เข้าถึงหัวใจผู้ชมเป็นอย่างมาก รายละเอียดของหนังเชื่อมโยงชีวิตตัวเองสะท้อนออกมาบนจอภาพยนตร์ จนทำให้กลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่

​นอกจากฉายที่อินโดนีเซียแล้ว หลานม่า กำลังจะเข้าฉายที่ ฟิลิปปินส์, ลาว, มาเลเซีย, สิงคโปร์, เวียดนาม, กัมพูชา, ไต้หวัน, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ฮ่องกง, จีน, เกาหลีใต้ และกำลังรอสร้างปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ในต่างแดน

ซูเปอร์ซอฟต์พาวเวอร์!! ‘หลานม่า’ ทัชใจข้ามชาติ กระแสแรงในประเทศเอเชีย สร้างรายได้ถล่มทลาย จนชาติยุโรปเรียกร้องให้นำไปฉายบ้าง

เมื่อวานนี้ (9 มิ.ย.67) ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ‘Watthana Saen-u-dom’ ได้โพสต์ข้อความตอกย้ำกระแสภาพยนตร์ ‘หลานม่า’ หลังโกอินเตอร์ออกไปฉายที่ต่างประเทศนั้น โดยระบุว่า…

*เวียดนามก็ไม่รอด!!! หนัง ‘หลานม่า’ เปิดตัวขึ้นอันดับ 1 Box Office ประเทศเวียดนาม กวาดรายได้ 3 วันไปกว่า 5 พันล้านดอง หรือ ประมาณ 7 ล้านบาท

*มาเลเซีย ฉายไป 1 สัปดาห์ กวาดไป 65 ล้านบาท คาดรายได้แตะ 100 ล้านบาท เร็ว ๆ นี้

*สิงคโปร์ ฉายไป 9 วัน กวาดรายได้ไปกว่า 1 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือกว่า 27 ล้านบาท ล่าสุดเพิ่มโรงฉายเกือบเท่าตัว

*อินโดนีเซีย ยังคงเดินหน้าทำรายได้ต่อเนื่องคาดทะลุ 300 ล้านบาท ในอีกไม่กี่วัน และอาจแซงรายได้รวมในประเทศไทย

*ด้านประเทศจีน ทนกระแสทั่วเอเชียไม่ไหว ซื้อไปฉายอีกประเทศ คาดทุบสถิติหนังไทยทุกเรื่อง ที่ไปฉายในประเทศจีน

*ญี่ปุ่น ไต้หวัน ก็ไม่น้อยหน้า ซื้อไปฉายแล้วต่อจากจีน

*และขณะนี้กระแสเริ่มลามไปทางฝั่งอเมริกา และยุโรป จากไวรัลในโซเชียล เรียกร้องให้ไปฉายเช่นกัน

'2 สื่อยักษ์' ตีข่าว ปรากฏการณ์ 'หลานม่า' ไวรัลแรงจนเกิดกระแสชาเลนจ์ในหลายประเทศ

(17 มิ.ย. 67) จากเพจ 'Thailand Box office and Entertainment' เผยว่า เว็บไซต์ข่าว BBC ของอังกฤษ และ South China Morning Post ของฮ่องกง รายงานปรากฏการณ์ของหลานม่า ที่สั่นสะเทือนไปทั้งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการขึ้นแท่นอันดับ 1 หนังทำเงิน 

พร้อมกับมีมุมมองว่า #หลานม่า ประสบความสำเร็จพร้อมกับกระแสไวรัลใน Tiktok ในหลายประเทศ ที่หลายคนแข่งกันทำชาเลนจ์ ดูหนังเรื่องนี้ยังไงไม่ให้เสียน้ำตา รวมถึงไวรัลแจกกระดาษซับน้ำตา และ รีแอคของคนดูหลังดูหนังจบที่ตาบวมกันเป็นแถว 

ถือเป็นการตอกย้ำว่า เนื้อหาของหนังเข้าถึงคนดูในอาเซียนและเอเชียเป็นวงกว้างไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

‘หลานม่า’ โดนใจผู้ชมนานาชาติ คว้ารางวัล ‘Audience Award’ ในงานเทศกาลหนัง ‘New York Asian Film Festival 2024’ สหรัฐฯ

(5 ส.ค. 67) นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าผลักดันอุตสาหกรรม Soft Power ทั้ง 11 สาขา โดยนำความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาประยุกต์กับทุนทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของประเทศ ซึ่งอุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็นหนึ่งในนโยบายขับเคลื่อน Soft Power ของรัฐบาลตามยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ Thailand creative content agency (THACCA) กับ 11 กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในปี 2567 กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) จึงร่วมกับคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านภาพยนตร์ สนับสนุนภาพยนตร์ไทยเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์ในต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากลและสอดคล้องกับนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล

“เมื่อเร็วๆ นี้ วธ. โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ร่วมสนับสนุนภาพยนตร์ไทย จำนวน 6 เรื่อง ได้แก่ หลานม่า, แดนสาป, เพื่อน (ไม่) สนิท, สมมติ, Pattaya Heat ปิดเมืองล่า และ Operation Undead (ช.พ.1 สมรภูมิคืนชีพ) เข้าร่วมฉายในเทศกาลภาพยนตร์เอเชียนิวยอร์ก (New York Asian Film Festival) (NYAFF) ซึ่งปรากฏว่าภาพยนตร์ไทยที่เข้าร่วมเทศกาลดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก ซึ่งเป้าหมายในการผลักดันภาพยนตร์ไทยเพื่อโปรโมตผลงานภาพยนตร์ไทยและสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับผู้สร้างภาพยนตร์ไทย ทั้งนี้เทศกาลภาพยนตร์ฯ ถือว่าเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่ถือกำเนิดมายาวนานต่อเนื่องกว่า 20 ปี และเป็นอีกหนึ่งเวทีที่ช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์จากเอเชีย สู่การรับรู้ของผู้ชมทางฝั่งตะวันตก ที่สำคัญคือหนังไทยที่เป็น Soft Power ของประเทศเรานั้น ไม่เคยห่างหายจากเทศกาลระดับโลกนี้เลย สำหรับ NYAFF ปีนี้ มีหนังทั้งเก่าและใหม่นำมาเข้าฉายให้ชมกันกว่า 60 เรื่อง เพื่อเผยแพร่ความเป็นเอเชียในภาพยนตร์ให้ออกสู่สายตาชาวโลกมากขึ้นทั้งยังเปิดโอกาสให้หนังเอเชียเข้าถึงผู้ชมทุกกลุ่มอีกด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว    

อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์ที่ได้รับการสนับสนุนครั้งนี้แต่ละเรื่องมีความโดดเด่นและน่าสนใจเฉพาะตัว เช่น ‘หลานม่า’ ที่สะท้อนความอบอุ่นและความสัมพันธ์ในครอบครัว, ‘แดนสาป’ ที่เล่าเรื่องราวลึกลับในดินแดนห่างไกล, ‘เพื่อน (ไม่)สนิท’ ที่เน้นเรื่องราวความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนในกลุ่มเพื่อน ‘สมมติ’ การนำเสนอเรื่องราวที่มีความลึกซึ้งและสร้างสรรค์ การใช้ภาพและเสียงที่มีความละเอียดอ่อนเพื่อสื่อถึงความรู้สึกและอารมณ์ของตัวละครระหว่างโลกแห่งความจริงและจินตนาการ ‘Pattaya Heat ปิดเมืองล่า’ ภาพยนตร์แนวแอคชั่นที่เล่าเรื่องราวของการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในเมืองพัทยาซึ่งมีฉากแอคชั่นที่ตื่นเต้นและการไล่ล่าที่มันส์สะใจ และ ‘Operation Undead (ช.พ.1 สมรภูมิคืนชีพ)’ ภาพยนตร์แนวสยองขวัญและแอคชั่นที่เล่าเรื่องราวของการต่อสู้กับซอมบี้ในสมรภูมิที่เต็มไปด้วยอันตราย สยองขวัญและการต่อสู้ที่ตื่นเต้น เรื่องราวที่เต็มไปด้วยความลุ้นระทึกและการเอาตัวรอดในสถานการณ์ที่เลวร้าย

ทั้งนี้ เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างมาก เนื่องจากได้รับรายงานว่า ภาพยนตร์เรื่อง ‘หลานม่า’ ได้คว้ารางวัล Audience Award จากเทศกาลภาพยนตร์ New York Asian Film Festival ซึ่งถือว่าภาพยนตร์ไทยโดยคนไทยเรื่องแรกที่คว้ารางวัลดังกล่าวจากเทศกาลภาพยนตร์ New York Asian Film Festival 2024 ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้แก่ภาพยนตร์ในเทศกาลที่ได้รับการโหวตจากผู้ชมมากที่สุด จากภาพยนตร์ที่เข้าร่วมฉายในเทศกาลนี้มากกว่า 100 เรื่อง

“ในอนาคต วธ. มีแผนที่จะสนับสนุนภาพยนตร์ไทยเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติอีกหลายแห่ง เช่น เทศกาลภาพยนตร์ลอคาร์โน สวิตเซอร์แลนด์, เทศกาลภาพยนตร์เวนิส อิตาลี, เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตรอนโต แคนาดา, เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเซบาสเตียน สเปน และเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี นอกจากนี้ยังมีแผนการสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในอีกหลายมิติ เช่น การสนับสนุนการผลิตภาพยนตร์ไทย การพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และการสนับสนุนให้เกิดเทศกาลภาพยนตร์ในประเทศและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมศักยภาพและความสามารถของผู้สร้างภาพยนตร์ไทยในการแข่งขันในตลาดโลก เพราะการส่งเสริมภาพยนตร์ไทยไม่เพียงแต่เป็นการโปรโมตวัฒนธรรมไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล แต่ยังเป็นการเสริมสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืน” นางสาวสุดาวรรณกล่าว

'จีน' ยก 'หลานม่า' สร้างอารมณ์ร่วมในหมู่ผู้ชม-ทุบคะแนนหนังสูงเป็นสถิติ ด้านชาวจีนปลื้ม!! หนังพาคิดถึงวันวาน-สะท้อนวิถีครอบครัวเอเชียตะวันออก

(27 ส.ค. 67) สำนักข่าวซินหัว เปิดเผยความรู้สึกชาวจีนหลังจากเมื่อวันศุกร์ (23 ส.ค. 67) ภาพยนตร์ไทยเรื่อง 'หลานม่า' ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วแผ่นดินใหญ่ของประเทศจีน 

เฉินเย่ว์ ชาวเมืองหนานหนิง เปิดเผยความรู้สึกหลังชมภาพยนตร์จบว่า รูปแบบการเล่าเรื่องที่สงบและอบอุ่น ผ่านเรื่องราวที่ดำเนินไป ทำให้ตนหวนนึกถึงความทรงจำที่มีกับครอบครัว พร้อมกล่าวว่ารูปแบบการเล่าเรื่องนั้นชวนให้น้ำตาคลอ การตีแผ่ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว และการนำเสนอประเด็นทางสังคมอย่างแยบคายก็ชวนให้ผู้ชมขบคิดตาม

สำหรับ 'หลานม่า' เป็นภาพยนตร์ที่ครองแชมป์การจำหน่ายบัตรชมภาพยนตร์ หรือบ็อกซ์ออฟฟิศ (box office) ของไทยประจำปีนี้ โดยกวาดรายได้จากการจำหน่ายบัตรชมภาพยนตร์ทะลุ 300 ล้านบาท หลังเข้าฉายในไทยเมื่อวันที่ 4 เม.ย. ที่ผ่านมา ต่อมา ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เข้าฉายในออสเตรเลีย, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์ และประเทศอื่นๆ โดยได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลามจากผู้ชมในต่างประเทศ

ขณะที่ภายหลังจากภาพยนตร์เรื่อง 'หลานม่า' เข้าฉายในแผ่นดินใหญ่ เว็บไซต์โต้วป้าน (Douban) แหล่งรวมรีวิวและคำวิจารณ์ภาพยนตร์สัญชาติจีน ก็ได้ให้คะแนนภาพยนตร์ไทยเรื่องนี้สูงถึง 9.0 ถือเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ไทยที่มีคะแนนสูงที่สุดในปัจจุบัน 

นอกจากนี้ ประเด็นจริยธรรมในความสัมพันธ์ของสมาชิกครอบครัวในเรื่องหลานม่า เป็นที่พูดถึงอย่างมากบนสื่อสังคมออนไลน์ของจีน และจวบจนวันอาทิตย์ (25 ส.ค.67) ที่ผ่านมา 'หลานม่า' กวาดรายได้จากการจำหน่ายบัตรชมภาพยนตร์ในแผ่นดินใหญ่ทะลุ 30 ล้านหยวน (ราว 150 ล้านบาท) แล้วเรียบร้อย

ชาวเน็ตจีนรายหนึ่งได้เขียนแสดงความคิดเห็นบนเว็บไซต์โต้วป้านว่า ในวัฒนธรรมของชาวเอเชียตะวันออก ครอบครัวถือเป็นหนึ่งเดียวกัน และความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวเน้นย้ำถึงคุณค่าของครอบครัว รวมไปถึงความกตัญญูกตเวที และการเคารพผู้อาวุโส ซึ่ง 'หลานม่า' ได้ชวนให้ผู้ชมได้ขบคิดถึงประเด็นทางสังคมหลายด้าน เช่น การเลี้ยงดูลูก การดูแลบุพการี และสภาวะ 'นอนราบ' ของคนหนุ่มสาว ผ่านภาพของครอบครัวชาวเอเชียตะวันออกที่ยึดถือคุณค่าเรื่องครอบครัวและความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน อันช่วยเพิ่มมิติที่ลึกซึ้งให้กับภาพยนตร์ และกระตุ้นให้เกิดการถกเถียงเป็นวงกว้างไปพร้อมๆ กับการสร้างอารมณ์ร่วมในหมู่ผู้ชม

ด้าน พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ผู้กำกับภาพยนตร์ ให้สัมภาษณ์ว่า ทีมงานพยายามสอดแทรกกลิ่นอายของครอบครัวเอเชียตะวันออกเข้าไปในภาพยนตร์ นำเสนอความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์อันละเอียดอ่อนระหว่างผู้คน เพื่อทำให้แต่ละตัวละครมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน ซึ่งสิ่งนี้อาจเป็นเหตุผลว่า "ทำไมผู้ชมจึงหวนนึกถึงคนที่พวกเขารัก"

นอกเหนือจากอารมณ์ของภาพยนตร์ที่ชวนให้ซึ้งกินใจแล้ว ภูมิหลังที่เกี่ยวกับชาวจีนโพ้นทะเลจากแต้จิ๋วและองค์ประกอบทางวัฒนธรรมในพิธีศพของชาวจีนตอนใต้ที่ปรากฏในภาพยนตร์ ยังทำให้ผู้ชมชาวจีนรู้สึกเข้าถึงและคุ้นเคย ทั้งยังสื่อให้เห็นถึงการเคารพและการสืบสานอารยธรรมตะวันออก

ด้าน เซี่ยงอวี๋ มัคคุเทศก์ชาวจีนในไทย กล่าวว่าตัวละครอาม่าในภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นคนไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว พูดภาษาแต้จิ๋วได้ และชอบดูงิ้ว ในหนังยังมีการใส่เพลงกล่อมเด็กภาษาแต้จิ๋ว รวมถึงประเพณีการปัดกวาดสุสานในช่วงเทศกาลเช็งเม้งเข้าไปด้วย สะท้อนถึงความสัมพันธ์อันชิดใกล้ระหว่างวัฒนธรรมจีนกับไทย ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังแสดงให้เห็นถึงการรักษาขนบธรรมเนียมและค่านิยมดั้งเดิมของชาวจีนโพ้นทะเลในต่างประเทศ ไปพร้อมๆ กับการสร้างอัตลักษณ์ของตนเองในขณะปรับตัวเข้ากับสังคมท้องถิ่น

หลายปีมานี้ ผลงานภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ของจีนและไทยมีบทบาทในการสานสัมพันธ์ของประชาชนสองประเทศ การเผยแพร่ผลงานเหล่านี้ในต่างประเทศได้สร้างคุณูปการต่อการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ยกตัวอย่างจากภาพยนตร์ไทยเรื่อง 'ฉลาดเกมส์โกง' ที่เข้าฉายในจีนเมื่อปี 2017 ได้กวาดรายได้จากการจำหน่ายบัตรชมภาพยนตร์ไปกว่า 1.35 พันล้านบาท นอกจากนี้ ภาพยนตร์และละครไทยยังมีส่วนช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เสื้อผ้า, ขนม, ผลไม้ ฯลฯ

ด้าน เหลยเสี่ยวหัว นักวิจัยประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา สังกัดสถาบันสังคมศาสตร์เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง กล่าวว่า ไม่กี่ปีมานี้ การแลกเปลี่ยนและความร่วมมือใกล้ชิดกันมากขึ้นระหว่างจีน-ไทย อันรวมถึงการเผยแพร่ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ ได้ช่วยส่งเสริมการพูดคุยข้ามวัฒนธรรม และกระตุ้นศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top