Saturday, 19 April 2025
หลอกลวง

‘รัฐบาล’ เตือน!! มิจฉาชีพหลอกทำบัตร ปชช.ผ่านเฟสบุ๊ก สูญเงินฟรี แถมผิดกฎหมายเข้าข่ายปลอมแปลงเอกสาร

(19 ก.ค. 66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเตือนประชาชนว่า อย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพหลอกลวงให้ทำบัตรประจำตัวประชาชน และเอกสารปลอมผ่านเพจเฟสบุ๊ก ทำให้สูญเสียเงินเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากเมื่อทำการตรวจสอบแล้วปรากฎข้อเท็จจริงว่า การโฆษณา และรับทำเอกสารทางราชการปลอมดังกล่าว มีลักษณะเป็นการหลอกลวงให้ผู้หลงเชื่อโอนเงินไปให้และตัดการติดต่อหลังมิจฉาชีพได้เงินไป กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในฐานะหน่วยงานหลักในการดำเนินงานด้านทะเบียน และบัตรประจำตัวประชาชน

ชี้แจงว่า การดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวกับงานทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ต้องดำเนินการทางกฎหมายอย่างรัดกุม ชัดเจน โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ทุกกรณี ทั้งนี้ ดำเนินการได้ ณ สำนักทะเบียนท้องถิ่นหรือสำนักทะเบียนอำเภอเท่านั้น เพื่อป้องกันมิให้ผู้ใดเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอาญา โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

น.ส.รัชดา กล่าวว่า รัฐบาลได้กำชับเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกฝ่ายป้องกันและปราบปราม และสร้างการรับรู้ให้ประชาชน โดยให้เน้นย้ำในเรื่องสำคัญ ดังนี้

1.) ผู้ที่จ้างหรือสั่งทำเอกสารปลอมข้างต้น ถือเป็นตัวการสำคัญในการกระทำความผิดอาญาฐานปลอมเอกสารสิทธิและเอกสารราชการ สำหรับผู้ที่จ้างต้องรับโทษทางอาญาเช่นเดียวกับผู้รับจ้างที่ทำเอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264 265 หรือ 266 แล้วแต่กรณี ซึ่งมีระวางโทษสูง ต้องจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.) ผู้ที่จ้างหรือสั่งทำเอกสารปลอมข้างต้น หรือผู้ใดนำเอกสารปลอมไปใช้หรืออ้างให้ผู้อื่นเชื่อว่าเป็นเอกสารจริงโดยทุจริตและปกปิดข้อเท็จจริง มีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 ต้องระวังโทษเช่นเดียวกับข้อ 1 ข้างต้น ซึ่งมีระวางโทษสูง ต้องจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“การดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับงานทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ต้องดำเนินการทางกฎหมายอย่างรัดกุม ชัดเจน โดยเจ้าหน้าที่รัฐทุกกรณี ซึ่งจะดำเนินการโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในฐานะหน่วยงานหลักในการดำเนินงานด้านทะเบียน และบัตรประจำตัวประชาชนของคนไทย ขอประชาชนอย่าหลงเชื่อคำชักชวน หลอกหลวงผ่านสื่อต่างๆ” น.ส.รัชดา กล่าว

‘ตำรวจ’ บุกทลายเครือข่ายธุรกิจสีเทาข้ามชาติ รวบ ‘กีกี้ แม็กซิม’ ยึดทรัพย์-บ้าน-รถหรูเฉียดพันล้าน

(30 ส.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. สั่งการให้ พล.ต.ต.อธิป พงษ์ศิวาภัย ผบก.ปอท., พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท. และพ.ต.อ.วัชรพันธ์ ศิริพากย์ ผกก.1 บก.ปอท. นำกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ป. บก.ปอศ. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ป.ป.ง. และเจ้าพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด รวมกว่า 200 นาย บุกเข้าตรวจค้นเป้าหมายเพื่อจับกุมและยึดทรัพย์แก๊งคนร้ายชาวจีนที่ร่วมมือกับคนไทยและชาวต่างชาติอื่น ๆ ตั้งเป็นแก๊งหลอกลงทุนเงินดิจิทัล แก๊งโรแมนสแกม และฟอกเงิน โดยนำหมายศาลอาญาเข้าตรวจค้นทั้งหมด 30 เป้าหมายในกรุงทพฯ จ.สมุทรปราการ และ จ.อุดรธานี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หนึ่งในจุดที่เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจค้นเป็นหมู่บ้านหรูย่านถนนกรุงเทพฯ กรีฑา อายัดบ้านพักหรูจำนวน 12 หลัง มูลค่าต่อหลังราว 50 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังเข้าตรวจค้นหมู่บ้านหรูอีก 4 หมู่บ้านในย่านเดียวกันด้วย ทั้งนี้ เชื่อว่าบ้านพักทั้งหมดได้ใช้เงินที่ได้จากการกระทำความผิดซื้อไว้ผ่านบริษัทกฎหมายแห่งหนึ่งที่มีคนจีนเป็นเจ้าของ

โดยในวันเดียวกันเจ้าหน้าที่ยังได้เข้าค้นบริษัทกฎหมายดังกล่าวด้วยเพื่อหาหลักฐานเพื่อเติม และเชื่อว่าเป็นบริษัทที่รับฟอกเงินให้จับแก๊งคนร้ายชาวจีนแก๊งนี้ โดยมีคนไทยเป็นตัวเชื่อมและให้ความช่วยเหลือในการเปิดบริษัทนอมินี

สำหรับการเข้าตรวจค้นในครั้งนี้ ชุดสืบสวนยังได้มีเป้าหมายในการจับกุมผู้ร่วมกระทำความผิดทั้งหมด 14 หมายจับ ในจำนวนนี้มี น.ส.จักรีณา ชูขาวศรี หรือ กีกี้ แม็กซิม นางแบบชื่อดัง รวมอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตามจากปฏิบัติการดังกล่าวเจ้าหน้าที่สามารถจับกุม น.ส.จักรีณาและผู้ร่วมขบวนการได้อีกจำนวนหนึ่ง พร้อมยึดทรัพย์เป็นบ้านและรถหรูได้จำนวนมาก รวมมูลค่าเกือบหนึ่งพันล้านบาท โดยรายละเอียดการตรวจค้นและจับกุม ตำรวจสอบสวนกลาง ป.ป.ง. และอัยการจะมีการแถลงร่วมกันให้ทราบต่อไป

มีรายงานว่า สำหรับการตรวจค้นเป้าหมายในวันนี้สืบเนื่องจากชุดสืบสวน บก.ปอท.ได้แกะรอยแก๊งคนร้ายที่มีพฤติกรรมเป็นแก๊งโรแมสแกมหลอกลวงเหยื่อผู้หญิงคนไทยให้ร่วมลงทุนเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือคริปโทเคอร์เรนซี หลังเกิดเหตุผู้เสียหายได้แจ้งความไว้ที่ สภ.สำโรงเหนือ จ.สมุทรปราการ จากการแกะรอยจากบัญชีคริปโทฯ ทำให้พบว่ากลุ่มคนร้ายได้ยักย้ายถ่ายเทเงินไปหลายขั้นตอนก่อนที่จะเปลี่ยนเงินอิเล็กทรอนิกส์เป็นสกุลเงินบาท จากนั้นได้นำเงินไปซื้อทรัพย์สินหลายรายการ รวมทั้งบ้านพักและคอนโดหรูในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีเงินหมุนเวียนทั้งเงินสดและเงินดิจิทัลนับพันล้านบาท

‘บก.ปอศ.’ บุกจับหนุ่มแสบ หลอกตุ๋นเหยื่อลงทุนหุ้น IPO  เสียหายกว่า 3.4 ลบ. เบื้องต้นยังให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

(3 ก.ย. 66) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก.ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมนำโดย พ.ต.ต.หญิง ปวีณวรรณ สินธุชัย สว.กก.๓ บก.ปอศ., ร.ต.อ.หญิง ศณิศา นนธ์พละ, ร.ต.อ.สุรพันธุ์ ตาขันทะ, ร.ต.อ.ศศิวิมล คำนาค รอง สว.กก.3 บก.ปอศ., ร.ต.ท.ขวัญใจ ยิ่งเจริญ รอง สว.ฝอ.ฯ ปฏิบัติราชการ กก.3 บก.ปอศ., ร.ต.ท.ชัยวิทย์ ศรจิตต์, ร.ต.ต.มีสิทธิ์ ม่วงไหมทอง รอง สว.(ป.) กก.3 บก.ปอศ. พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.3 บก.ปอศ.ร่วมกันจับกุม นายวรพจน์ (สงวนนามสกุล) อายุ 29 ปี ในความผิดฐาน “ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ (ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล) โดยไม่ได้รับอนุญาต และฉ้อโกง”

โดยนายวรพจน์ ชักชวนให้กลุ่มผู้เสียหายบุคคลร่วมการลงทุนในหลักทรัพย์ที่เสนอขายต่อประชาชนเป็นครั้งแรก หรือหุ้น IPO ซึ่งแอบอ้างถึงโควตาที่ได้รับจัดสรรก่อน (Pre IPO) ของบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง โดยกระทำการผ่านตัว นายวรพจน์ เอง (ลักษณะเป็นการรับบริหารจัดการการลงทุนของบุคคลเป็นการเฉพาะ)

อ้างถึงผลกำไรที่คาดว่าจะได้รับจากการลงทุน ซึ่งในการรับบริหารจัดการดังกล่าว ผู้ต้องหาจะได้รับค่าตอบแทนในอัตราร้อยละ 10 ของผลกำไรที่ได้ อีกทั้งยังอ้างถึงการได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้กลุ่มผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเป็นการลงทุนที่น่าสนใจและเชื่อถือได้ และได้ร่วมลงทุนซื้อหุ้น IPO ผ่านผู้ต้องหา รวมมูลค่าความเสียหาย 3,497,442 บาท

ซึ่งชุดสืบสวน กก.3 บก.ปอศ. ได้ดำเนินตรวจสอบติดตามความเคลื่อนไหวผู้ต้องหารายดังกล่าว จนสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ในบริเวณหน้าชุมชนซอยสีคาม แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร และควบคุมตัวนำส่งพนักงานสอบสวน กก.3 บก.ปอศ. ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป สอบถามปากคำผู้ต้องหาเบื้องต้นให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย มิจฉาชีพปลอมบัญชีไลน์อาจารย์หลอกลวงนักศึกษาให้กู้ยืมเงิน กยศ.

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า ได้รับรายงานจากการตรวจสอบสถิติการรับแจ้งความผ่านศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์พบว่า ในช่วงที่ผ่านมามีผู้เสียหายหลายรายซึ่งเป็นนักศึกษาสถาบันการศึกษาต่างๆ ถูกมิจฉาชีพปลอมบัญชีไลน์แอดมิน แอบอ้างเป็นครูอาจารย์หลอกลวงนักศึกษาที่อยู่ภายในกลุ่ม Line Open Chat แจ้งว่าให้ผู้กู้รายใหม่ปี 2566 มีเงินอยู่ในบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด จำนวน 310 บาท พร้อมกับให้แจ้งชื่อ-นามสกุล และสถานะแอปพลิเคชันของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ผ่านบัญชีไลน์ชื่อ “งานลงทะเบียน” ตามลิงก์ที่ส่งเข้ามาในกลุ่มดังกล่าว เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อทำตามขั้นตอนดังกล่าวแล้ว คนร้ายจะส่งลิงก์ให้ผู้เสียหายกดเพื่อยืนยันทำการโอนเงินผ่านบริษัทที่ให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ อ้างว่าเพื่อเป็นการตรวจสอบบัญชี โดยจะแจ้งผลให้ผู้เสียหายทราบภายในเวลา 2 ชั่วโมง ต่อมาคนร้ายจะแจ้งผู้เสียหายว่าธุรกรรมดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์ จะส่งลิงก์ให้ผู้เสียหายกดเพื่อยืนยันทำการโอนเงินอีกครั้ง จำนวน 1,310 บาท ผู้เสียหายทราบว่าถูกหลอกลวงจึงมาแจ้งความให้ดำเนินคดีกับคนร้ายดังกล่าว 

ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 1 – 31 ส.ค.66 มีประชาชนถูกหลอกลวงให้กู้เงินออนไลน์กว่า 1,578 เรื่อง หรือคิดเป็น 8.97% สูงเป็นลำดับที่ 3 ของจำนวนเรื่องการรับแจ้งความออนไลน์ และมีความเสียหายรวมกว่า 70.6 ล้านบาท บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้เร่งรัดขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงประชาชนให้กู้เงินผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งถือว่าเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันมิจฉาชีพจะฉวยโอกาสปลอมบัญชีสื่อสังคมออนไลน์แอบอ้างเป็นบุคคลต่างๆ เพื่อหลอกลวงให้เหยื่อหลงเชื่อ แล้วก่อเหตุตามแผนประทุษกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในกลุ่ม Line Open Chat ซึ่งผู้ใช้หรือสมาชิกจะสามารถตั้งชื่อหรือใช้ภาพโปรไฟล์ใดก็ได้ มิจฉาชีพมักจะแอบอ้างเป็นผู้ที่ทำหน้าที่แอดมินของกลุ่ม ที่ผ่านมานอกจากการหลอกลวงในเรื่องเงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แล้ว ยังคงพบว่ามิจฉาชีพมักส่งข้อความเข้าไปในกลุ่มแจ้งเตือนว่าจะลบกลุ่มเดิม ให้สมาชิกย้ายหรือติดตามไปยังกลุ่มใหม่ผ่านลิงก์ที่แนบมาให้ เมื่อเข้าไปในกลุ่มของมิจฉาชีพแล้วจะมีบัญชีอวตารหลายบัญชีทำหน้าที่พูดคุยหลอกลวงผู้เสียหายที่เข้ากลุ่มมา ในลักษณะว่าทำงานเสริมออนไลน์แล้วได้รับเงินจริง อย่างไรก็ตามการหลอกลวงให้กู้ยืมเงิน มิจฉาชีพมักแอบอ้างเป็นผู้ให้บริการเงินกู้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย หลอกลวงเหยื่อผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ผ่านข้อความสั้น (SMS) และผ่านการโทรศัพท์ไปยังประชาชน โฆษณาชวนเชื่อในลักษณะต่างๆ เพราะฉะนั้นประชาชนต้องพึงระวังการกู้เงินในลักษณะดังกล่าว ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้ให้บริการได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องหรือไม่ หากจำเป็นต้องกู้เงินควรเลือกกู้เงินจากสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือ และศึกษารายละเอียดของผู้ให้กู้ให้ดี รวมถึงมีสัญญาการกู้ที่ชัดเจนและเป็นธรรม เพื่อป้องกันการถูกเอาเปรียบ หากพบเห็นความผิดปกติ หรือขอเสนอที่ดีเกินไปควรหลีกเลี่ยง อย่าหลงเชื่อว่าตัวเองนั้นโชคดี

จึงขอฝากประชาสัมพันธ์แนวทางป้องกันการถูกหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว ดังนี้

1.หากผู้ให้บริการเงินกู้รายใด แจ้งให้ผู้กู้โอนเงินก่อน ไม่ว่าจะเป็นค่าใด หรือเพื่อสิ่งใดก็ตาม ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพ
2.ระวังบัญชี Line Open Chat แอดมินปลอม บัญชีแอดมินจริงจะมีไอคอนวงกลมมงกุฎขาวพื้นสีน้ำเงิน หรือมงกุฎน้ำเงินพื้นขาว อยู่ด้านล่างขวาของรูปโปรไฟล์ 
3.บัญชีแอดมินจริงจะอยู่เป็นชื่อลำดับแรกๆ ต่อจากชื่อบัญชีของเราเสมอ 
4.ระวังบัญชีไลน์ทางการปลอม ตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีสัญลักษณ์ยืนยันตัวตนโล่สีเขียว หรือโล่สีน้ำเงิน หรือไม่ 

5.ไม่ควรกู้เงินผ่านแอปพลิเคชัน ที่ถูกส่งลิงก์แนบมากับข้อความสั้น (SMS) หรือสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ
6.ไม่ควรหลงเชื่อเพียงเพราะมีการสร้างความน่าเชื่อ เช่น สอบถามข้อมูลส่วนตัว ให้ทำสัญญาเงินกู้ และขอเอกสารต่างๆ เช่น สำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน สมุดบัญชีเงินฝาก คล้ายกับการขอกู้ที่ธนาคารจริง
7.ช่วยกันแจ้งเตือนผู้อื่น และกดรายงานบัญชีสแปมที่น่าสงสัย โดยการกดรายงานที่รูปโปรไฟล์ของสมาชิกนั้นๆ แล้วกดปุ่ม รายงานปัญหา 

ตำรวจไซเบอร์เปิดปฏิบัติการล่าเครือข่ายผู้ร่วมขบวนการระดับสั่งการแก๊งค์เครื่อง Stingray ที่ส่งข้อความให้กดลิงก์โหลดแอปดูดเงิน

พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒนครบัญชา ผู้บัญชาการ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ สอท. สั่งการให้ พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1 , พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3 , พล.ต.ต.ชรินทร์ โกพัฒน์ตา ผบก.สอท.5 นำกำลังตำรวจไซเบอร์ร่วมกันเปิดปฏิบัติการล่าเครือข่ายผู้ร่วมขบวนการระดับสั่งการแก๊งค์เครื่อง Stingray ที่ส่งข้อความให้กดลิงก์โหลดแอปพลิเคชันดูดเงิน 

สืบเนื่องจากการขยายผลกลุ่มเครือข่ายขบวนการเครื่องกระจายสัญญาณ ที่ใช้อุปกรณ์ส่งข้อความ SMS ให้ประชาชนกดลิงก์ จากนั้นคนร้ายเข้าควบคุมเครื่องโทรศัพท์มือถือแล้วโอนเงินในบัญชีธนาคารที่เชื่อมต่อกับแอปพลิเคชั่น Mobile Banking ในโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหาย โดยตำรวจ สอท.ได้รวบรวมหลักฐานขอศาลอาญาธนบุรีออกหมายจับกลุ่มผู้ต้องหา ซึ่งเป็นขบวนการในระดับสั่งการจัดหาชุดอุปกรณ์เครื่องกระจายสัญญาณ ในความผิดฐาน "ร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเห็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน , ร่วมกัน นำ มีใช้นำเข้า นำออก หรือค้าซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต , ร่วมกันตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต และเป็นอั้งยี่และหรือซ่องโจร”ต่อมาศาลอาญาธนบุรีได้อนุมัติหมายจับกลุ่มผู้ต้องหา ตำรวจไซเบอร์ชุดปฏิบัติการจึงได้วางแผนเข้าจับกุมในคราวเดียวกันทุกจุด เพื่อตัดวงจรของกลุ่มขบวนการดังกล่าว

ตำรวจไซเบอร์นำโดย พ.ต.อ.อภิรักษ์ จำปาศรี ผกก.1 บก.สอท.3 และ พ.ต.อ.มรกต แสงสระคู ผกก.2 บก.สอท.3 นำกำลังตรวจค้น 4 จังหวัด 5 จุด ภายในวันเดียว เมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้แก่ จังหวัดพัทลุง จังหวัดจันทบุรี จังหวัดสระแก้ว และกรุงเทพมหานคร สามารถจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาธนบุรี 5 คน ได้แก่

1. น.ส.พรรธช์ธนกรณ์ จับกุมที่บ้านเลขที่ 28/2 ถ.อุบลนุสรณณ์ ต.คูหาสวรรค์ อ.เมืองพัทลุง จ.พัทลุง 
2. นายชิษณุพงษ์ จับกุมที่หอพักนักศึกษาชาย ห้อง 103 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี หมู่ 10 ต.พลวง อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี 
3. นายศุภชัย จับกุมที่บ้านเลขที่ 95 หมู่ 3 ต.ท่าข้าม อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว 
4. น.ส.บุญรอด จับกุมที่บ้านเลขที่ 55/5 ถ.บ้านวังปาตอง ต.อรัญประเทศ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว 
5. นายภูริช จับกุมที่บ้านเลขที่ 18/108 ซอยประชาอุทิศ 60 แขวงทุ่งครุ เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร 

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 66 เจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.สอท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จับกุมตัวผู้ต้องหาในขบวนการแก๊งค์เครื่อง Stingray 6 ราย พร้อมยึดของกลางรถยนต์ 4 คัน ที่มีการติดตั้งเครื่องจำลองสถานีฐาน (False Base Station) ดำเนินคดีตามกฎหมาย ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.สอท. ได้ขยายผลกลุ่มเครือข่ายขบวนการ จนกระทั่งสามารถจับกุมผู้ต้องหาระดับสั่งการเป็นผู้ว่าจ้าง จัดหาและขนส่งเครื่อง Stingray และหลังจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.สอท.จะร่วมกันสืบสวนจับกุมผู้ต้องหาที่ร่วมขบวนการที่เหลือมาดำเนินคดีตามกฎหมายให้หมดทั้งขบวนการต่อไป

‘สาวแสบ’ กุเรื่องป่วยหาเงินรักษา-หลอกขายแบรนด์เนม  ด้านเหยื่อสงสาร หลงโอนเงินให้ สุดท้ายไม่ได้ของ!!

เมื่อวันที่ 2 พ.ย. พ.ต.อ.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ รรท.ผบก.ปคบ., สั่งการ พ.ต.อ.ไกรวิศท์ แสนทวีสุข ผกก.1 บก.ปคบ. พ.ต.ท.กฤษณ์ พิพัฒน์พูนสิริ สว.กก.1 บก.ปคบ. จับกุม นางอโณมา  อายุ 30 ปี ตามหมายจับศาลอาญา ที่ 3651/2566 ลง 25 ต.ค. 2566 ข้อหา “ฉ้อโกงประชาชน, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ” ได้ที่ หน้าวัดเจดีย์หลวง ถ.พระปกเกล้า ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

เนื่องจากผู้ต้องหารายนี้มีพฤติกรรมโพสต์ข้อความตามสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ อ้างว่า ตนเอง หรือ สามีป่วย ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล จำเป็นต้องใช้เงิน ก่อนเสนอขายสินค้าจำพวกเสื้อผ้า กระเป๋าแบรนด์เนม ยี่ห้อต่างๆในราคาถูกราคาท้องตลาดทั่วไป จนมีผู้หลงเชื่อโอนเงินสั่งซื้อเพราะอยากช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก แต่สุดท้ายกลับไม่ได้รับสินค้าตามที่ตกลงกันไว้ จึงเชื่อว่าเรื่องทั้งหมดเป็นการกุเรื่องขึ้นมาเพื่อหลอกลวงเงิน จึงรวมตัวเข้าแจ้งความไว้ที่ กก.1 บก.ปคบ. จนมีการออกหมายจับ และนำมาสู่การตามจับกุมตัวได้ดังกล่าว 

สอบสวน นางอโณมา ให้การปฏิเสธ เบื้องต้นจึงนำตัวส่งพนักงานสอบสวน กก.1 บก.ปคบ.ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป 

สตม.รวบหนุ่มบราซิล Overstay แอบซุกเกาะพีพี พบประวัติกระทำผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกง หลอกลวงในบราซิล

ตม.จว.กระบี่ จับกุม MR.LUAN หรือนายลวน (นามสมมุติ) อายุ 25 ปี สัญชาติบราซิล โดยกล่าวหาว่า “เป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด” (Overstay 54 วัน) นำตัวส่งพนักงานสอบสวน  สภ.เกาะพีพี จว.กระบี่ ดำเนินคดีตามกฎหมาย สถานที่จับกุม หน้าร้านแห่งหนึ่งในเกาะพีพี ต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ จว.กระบี่

สืบเนื่องจาก ตม.จว.กระบี่ ได้รับเบาะแสว่า มีคนต่างด้าวสัญชาติบราซิล มีพฤติการณ์ต้องสงสัยว่าอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด เข้ามาพักอาศัยอยู่ในพื้นที่เกาะพีพี เจ้าหน้าที่ ตม.จว.กระบี่ จึงได้ลงพื้นที่สืบสวนหาข่าวและเฝ้าติดตามเพื่อจับกุมตัว จนกระทั่งได้สืบทราบรูปพรรณสัณฐานและที่พักอาศัยของคนต่างด้าวดังกล่าว จึงได้เข้าไปตรวจสอบ เมื่อไปถึงพบคนต่างด้าวเพศชายลักษณะรูปพรรณสัณฐานคล้ายกับผู้ต้องสงสัยนั่งอยู่บริเวณหน้าร้านแห่งหนึ่งในเกาะพีพี จึงได้เข้าไปแสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ และขอตรวจสอบเอกสารหนังสือเดินทาง ทราบชื่อคือ MR.LUAN หรือนายลวน (นามสมมุติ) อายุ 25 ปี สัญชาติบราซิล จากการตรวจสอบข้อมูลในระบบสารสนเทศ สตม. พบว่า การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้สิ้นสุดแล้ว เจ้าหน้าที่ ตม.จว.กระบี่ จึงได้จับกุมดำเนินคดีในข้อหาดังกล่าว และจากการขยายผลพบว่า MR.LUAN หรือนายลวน มีประวัติกระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกง หลอกลวง ในสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ซึ่งจะได้ประสานงานกับสถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ประจำประเทศไทย เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

สตม. ขอเรียนให้ท่านทราบว่า สตม. มีมาตรการในการตรวจสอบ กวดขัน และปราบปรามการกระทำความผิด ในด้านต่าง ๆ รวมถึงการเฝ้าระวังบุคคลทั้งสัญชาติไทยและสัญชาติอื่น ๆ ที่มีหมายจับ และการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทย หากประชาชนท่านใดพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิด กรุณาแจ้งมายัง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง อาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระชนมพรรษา 60 พรรษา เลขที่ 904 หมู่ที่ 6 ต.บ้านใหม่  อ.ปากเกร็ด จว.นนทบุรี 11120 หรือติดต่อตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดในพื้นที่ หรือที่ www.immigration.go.th จักขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง

‘ดีอี’ แจ้งเตือนพี่น้องประชาชนลงทะเบียน ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ผ่าน ‘แอปทางรัฐ’ เท่านั้น ระมัดระวังอย่าหลงเชื่อโจรออนไลน์ ฉวยโอกาสส่งลิงก์ปลอมหลอกลวงประชาชน

(25 ก.ค.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า รัฐบาลโดย กระทรวงการคลัง ได้แถลงอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการลงทะเบียนของประชาชน ในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2567  โดยจะมีการเปิดให้มีการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการอย่างเป็นทางการ ตามกำหนดเวลา ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 เป็นต้นได้ ซึ่งแยกกลุ่มผู้ลงทะเบียนเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่  1.ประชาชนกลุ่มที่มีสมาร์ตโฟน เริ่มลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม – 15 กันยายน 2567 , 2.ประชาชนกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ตโฟน สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน – 15 ตุลาคม 2567 , 3.ร้านค้า เบื้องต้นเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป และจะเริ่มใช้จ่ายสินค้าด้วยเงินดิจิทัลได้ภายในไตรมาส 4 ของปี 2567

สำหรับคุณสมบัติของประชาชนผู้เข้าร่วมโครงการ มีดังนี้ 
- สัญชาติไทย มีชื่อและที่อยู่ในทะเบียนบ้าน 
- อายุ 16 ปีขึ้นไป ณ วันที่ปิดรับลงทะเบียน (15 กันยายน 2567) 
- เป็นผู้มีรายได้ไม่เกิน 840,000 บาท/ปี (นับตามปีภาษี 2566) 
- เงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท เป็นเงินฝาก ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 
- ไม่เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างต้องโทษจำคุกในเรือนจำ 
- ไม่เป็นผู้ที่ถูกระงับสิทธิหรือถูกเรียกเงินคืนในมาตรการ/โครงการอื่น ๆ ของรัฐ 
- ไม่เป็นผู้ฝ่าฝืนเงื่อนไขของมาตรการ/โครงการอื่น ๆ ของรัฐ 

ทั้งนี้ประชาชนกลุ่มที่มีสมาร์ตโฟน สามารถดำเนินการผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” โดยไม่มีการจำกัดจำนวน ซึ่งรัฐบาลได้ประมาณการประชาชนเข้าร่วมโครงการไว้จำนวน 45 - 50 ล้านคน ขณะเดียวกันประชาชนสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” พร้อมลงทะเบียนยืนยันตัวตน สมัครใช้งานแอปพลิเคชันได้ก่อนล่วงหน้า เพื่อความสะดวก และรวดเร็ว ก่อนที่จะลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต ในวันที่ 1 สิงหาคม 2567 ต่อไป โดยสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ได้โดยตรงจากแอปพลิเคชัน “App Store” สำหรับระบบปฏิบัติการไอโอเอส (iOS) และแอปพลิเคชัน “Google Play” สำหรับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) บนโทรศัพท์สมาร์ตโฟน

สำหรับประชาชนที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเตรียมการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ได้ที่เว็บไซต์ www.digitalwallet.go.th หรือ www.กระเป๋าเงินดิจิทัล.รัฐบาล.ไทย และสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมผ่านศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน (Call Center) สายด่วน โทร. GCC 1111 พร้อมให้บริการและคำแนะนำปรึกษาแก่ประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง  

“กระทรวง ดีอี ขอแจ้งเตือนไปยังพี่น้องประชาชน ผู้มีสมาร์ตโฟนที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมผ่านแอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ เท่านั้น อย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพ หลอกลวงส่งลิงก์ หรือแพลตฟอร์มปลอมต่างๆ โดยอ้างว่าเป็นช่องทางการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งอาจส่งผลกระทบทำให้เกิดการหลุดรอดของข้อมูลส่วนบุคคล หรือสูญเสียทรัพย์สินได้ หรือหากมีการส่งต่อ แชร์ลิงก์ปลอมดังกล่าวไป อาจส่งผลให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างต่อประชาชนในสังคม” นายประเสริฐ กล่าว

'ประเสริฐ' เผย 2 เดือน 'ดีอี' ปิดแพลตฟอร์ม 'ปลอมโครงการเติมเงิน 10,000 บาท' ได้แล้วถึง 312 บัญชี เร่งกวาดล้าง 'โจรออนไลน์' สร้างข้อมูลเท็จ หลอกลวงประชาชน  

เมื่อวานนี้ (4 ต.ค.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย (Anti Fake New Center หรือ AFNC) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินสถานการณ์การกระทำที่เข้าข่ายการก่ออาชญากรรมออนไลน์ พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม - 30 กันยายน 2567 ได้ดำเนินการประสานปิดกั้นแพลตฟอร์ม 'ทางรัฐ' และ 'โครงการเติมเงิน 10,000 บาท' ปลอม แล้ว 312 บัญชี  โดยแบ่งเป็น บัญชี Facebook จำนวน 297 บัญชี และบัญชี Tiktok จำนวน 15 บัญชี  พร้อมเฝ้าระวังการกระทำความผิดอย่างต่อเนื่อง 

ขณะเดียวกันยังพบว่า มิจฉาชีพใช้วิธีการหลอกลวงประชาชน ส่งข่าวปลอม และข้อมูลอันเป็นเท็จ และบิดเบือน โดยแอบอ้างโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ของรัฐบาล ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานเติมเงินให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบางที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และบัตรประจำตัวผู้พิการ อยู่อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพบกรณีข่าวปลอม ที่ได้รับความสนใจ และมีการส่งต่อข้อมูลเป็นจำนวนมาก อาทิ “ผู้พิการที่ทำบัตรผู้พิการหลัง 31 สิงหาคม 2567 จะไม่ได้รับสิทธิ์เงินดิจิทัล 10,000 บาท” และ “รัฐบาลเปิดให้ลงทะเบียนเงินดิจิทัลวอลเล็ตใหม่ สำหรับคนที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนสามารถลงทะเบียนได้ที่ ธ.ออมสิน ธกส. และกรุงไทย” เป็นต้น

สำหรับข่าวปลอมดังกล่าวข้างต้น ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่าทั้งหมดเป็น “ข้อมูลเท็จ” โดยประเด็นเรื่องของสิทธิ์ผู้พิการในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ขยายเวลาลงทะเบียนให้กับคนพิการทุกคนทั่วประเทศ จนถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2567 โดยเพื่อที่จะให้ผู้พิการทุกคนได้รับสิทธิ์ในการรับเงิน 10,000 บาท 

ในส่วนการเปิดให้ประชาชนทั่วไปลงทะเบียนใหม่ในโครงการลงทะเบียนเงินดิจิทัลวอลเล็ต ขณะนี้รัฐบาลยังไม่ได้มีการเปิดให้ลงทะเบียนเพิ่มเติมผ่านธนาคารของรัฐแต่อย่างใด

"กระทรวงดีอีได้ดำเนินมาตรการบังคับใช้กฎหมาย ดำเนินคดีร้องทุกข์กล่าวโทษกับผู้ที่นำข้อมูลเท็จ ข้อมูลบดเบือน ไม่เป็นความจริง เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ จำนวน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ข่าวปลอมเรื่อง 'ประกาศยกเลิกการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท แล้ว' โดยดำเนินการประสานข้อมูลร่วมกับกระทรวงการคลัง และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.)  , 2.ข่าวปลอมเรื่อง 'การโหลดแอปพลิเคชันยืนยันตัวตนรับเงินดิจิทัลวอลเล็ต ทำให้ถูกดูดเงินหมดบัญชี และเรื่องมีการติดต่อจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์จำนวนมาก หลังจากที่ลงทะเบียนแอปพลิเคชันทางรัฐ' โดยดำเนินการประสานข้อมูลร่วมกับ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หรือ DGA  , 3.ข่าวปลอมเรื่อง 'มีการติดต่อจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์จำนวนมาก หลังจากที่ลงทะเบียนแอปพลิเคชันทางรัฐ' ซึ่งได้มีการพิจารณาดำเนินคดี โดยร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เพื่อดำเนินการต่อไป" นายประเสริฐ กล่าว

นายประเสริฐ กล่าวว่า กระทรวงดีอีห่วงใยพี่น้องประชาชนต่ออันตราย และความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโจรออนไลน์ ซึ่งได้อาศัยการเผยแพร่ข่าวปลอมและข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวข้องกับ 'โครงการเติมเงิน 10,000 บาท' และการใช้งานแอปพลิเคชัน 'ทางรัฐ' ซึ่งขณะนี้กระทรวงฯ ได้ทำการปิดกั้นแพลตฟอร์มปลอม พร้อมกับการตรวจสอบข่าวปลอม และข้อมูลบิดเบือนที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับดำเนินการตามกฎหมายอย่างถึงที่สุด โดยถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรง เนื่องจากส่งผลกระทบต่อ ประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง และขอให้ประชาชน ยึด 'หลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน' พร้อมกับไม่แชร์ข้อมูลที่บิดเบือนในทุกช่องทางสังคมออนไลน์

เจาะ Model สามองค์กรคล้ายแชร์ลูกโซ่ ? ใช้การตลาดนำ แต่ตั้งอยู่บนความว่างเปล่า

(25 ต.ค. 67) กระแสข่าวในช่วงที่ผ่านมาคงไม่มีใครสามารถหลบความมาแรงของข่าว บอส...บอส ของ The iCon Group ได้พ้น 

เพราะอานิสงส์จากคดีนี้แทรกไปในทุกวงการไม่ว่าจะเป็น วงการบันเทิง วงการการเมือง วงการสีกากี หรือแม้กระทั่งวงการสงฆ์

หัวใจของกลเกมจาก The iCon Group ไม่ใช่เรื่องที่ลึกล้ำอะไรมากนัก เพราะธุรกิจของกลุ่มนี้ล้วนทำมาหากินบน ‘อคติ 4’ อันประกอบด้วย ‘รัก โลภ โกรธ หลง’ ที่เป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์

ถ้าพูดตามตำรา MBA แล้วต้องบอกว่าธุรกิจนี้สามารถจี้ไปยัง Pain Point ของลูกค้าได้อย่างตรงจุด ไม่ว่าจะเป็นกระตุ้นความโลภ ให้ทุกคนอยากรวยไปด้วยกัน โดยใช้เทคนิคทางการตลาดต่าง ๆ หว่านล้อม

แต่สุดท้าย พอถึงเวลาอันสมควร สิ่งที่กลวงเปล่าขององค์กรก็ปรากฏตัวขึ้น บนความเสียหายมหาศาล ที่เพิ่งเห็นข่าวสารผ่านตาว่ามีผู้เสียหายไม่น้อยกว่า 8,000 คน

ดูละครแล้วย้อนดูตัว 

การตลาดนำโดยจี้ไปที่ Pain Point ในสังคมไทย สังคมโลก ‘The iCon’ เป็นแค่หนึ่งในผู้ที่ฉกฉวยเอาเทคนิคนี้มาใช้เท่านั้น 

ในวงการการเมือง พรรคสีส้ม ๆ บางพรรคก็ได้ใช้การตลาดนำ จี้ไปที่ความต้องการของผู้คน เช่น บำนาญผู้สูงอายุ 3,000 บาทต่อเดือน, รวมถึง ‘นโยบายทุ่มเงิน’ ภายใต้ชุดที่ถูกเรียกว่า ‘รัฐสวัสดิการ’ 

เพราะจากสถานการณ์ปัจจุบัน 10,000 บาทของเพื่อไทย กว่าจะสามารถทำได้ก็ต้องออกแรงเข็นกันจนเลือดตาแทบกระเด็น 

หากใช้มุมมองแบบ Bird Eyes View กว้างออกไปสุดลูกหูลูกตา ประเทศพี่ใหญ่ที่ตั้งอยู่บนทวีปอเมริกาก็คงไม่ต่างกัน 

ไม่ว่าจะเป็นภาพลวงตาที่ชื่อว่า ‘ประชาธิปไตย’ หรือ ‘สิทธิมนุษยชน’ ที่ส่งออกไปยังหลายประเทศ โดยมีบางประเทศถึงระดับ ‘รัฐล้มเหลว’ จนสุดท้ายแหล่งทรัพยากรถูกแทรกแซงโดยบริษัทต่างชาติที่ปฏิบัติการภายใต้หน้ากากทุนนิยม ไม่ใช่พวกเดียวกับ ประชาธิปไตย 

หรือแม้กระทั่งเงินดอลลาร์ที่ตนเองใช้อำนาจและบารมีบีบคั้น จนไม่ต้องผูกกับอะไรนอกจาก ‘พันธบัตร’ ที่ออกโดยรัฐบาลสหรัฐฯ

ทำให้ทุก ๆ ปีต้องมีการออกพันธบัตรใหม่เพื่อใช้หนี้พันธบัตรเก่าอยู่ไม่รู้จบ และจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามอัตราดอกเบี้ย 

ละครเรื่อง The iCon ยังไม่จบ ละครในวงการการเมืองไทย และการเมืองโลกก็ยังไม่จบเช่นกัน

โปรดติดตามโดยใจระทึกพลัน 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top