Sunday, 20 April 2025
หลอกลวงประชาชน

ปู่วัย 87 โชคดี!! เกือบสูญทรัพย์นับสิบล้านให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ เอะใจ!! ขึ้นโรงพักถามตำรวจ ก่อนรู้ถูกหลอก รอดหวุดหวิด

(11 ก.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิมาศ หรือเล็ก ทุกข์นิโรธ อายุ 87 ปี อดีตเจ้าหน้าที่สื่อสารระดับ 6 สำนักงานโทรคมนาคมแห่งหนึ่ง เดินทางเข้าพบ พ.ต.ต.ฐิติปกรณ์ คุ้มปานอินทร์ สว.(สอบสวน) สภ.เมืองนนทบุรี เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 67 พร้อมเงินสดจำนวน 200,000 บาท เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบ และอยากจะถามว่าบัญชีตนเองผิดอะไร ทำไมต้องให้ตนเองโอนเงินส่งเงินให้เจ้าหน้าที่ตรวจ ทั้ง ๆ ที่ตนไม่เคยมีบัญชีพัวพันสีเทาหรือสิ่งผิดกฎหมาย แต่ทำไมถึงต้องโทรมาให้ตนส่งเงินไปให้ตรวจสอบ

ทาง พ.ต.ต.ฐิติปกรณ์ จึงอธิบายเหตุผลและชี้แจงว่าคุณปู่เล็ก น่าจะถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรมาหลอกลวง อย่าได้หลงเชื่อเด็ดขาด การที่คุณปู่เล็กมาพบเจ้าหน้าที่ตำรวจถือว่าโชคดี หากโอนเงินไปแล้ว รับรองว่าสูญเงินอย่างแน่นอน และแนะนำให้ปู่เล็กบล็อกเบอร์มือถือเบอร์นี้ อย่าได้พูดคุยติดต่อหรือเชื่อคำพูด ไม่เช่นนั้นจะตกเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ปู่เล็กถึงกับดีใจที่ยังไม่ทันได้เสียท่าให้กับมิจฉาชีพ ถึงกับยกมือไหว้ขอบคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ช่วยตักเตือนให้ในครั้งนี้

นายพิมาศ หรือปู่เล็ก เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ก่อนหน้านี้มีชายคนนึงโทรเข้ามาหาตนเองทางโทรศัพท์มือถือ พร้อมทั้งบอกว่า ตนเองมีบัญชีพัวพันกับธุรกิจสีเทา ต้องส่งไปให้เขาตรวจสอบ โดยจะมีเจ้าหน้าที่จาก ป.ป.ง. กรมสรรพากร เจ้าหน้าที่ตำรวจ โทรเข้ามาติดต่อและชี้แจงข้อระเบียบ หากเงินในบัญชีตรวจสอบแล้วถูกต้องก็จะส่งคืนให้ และมีค่าเสียเวลา ค่าชดเชยกลับมาให้กับปู่เล็กด้วย ตนจึงหลงเชื่อสนิทใจ รีบเอาสร้อยคอทองคำ 3 บาท เลสข้อมือ 2 บาท ไปขาย ได้เงินมา 200,000 บาท และจะนำไปเข้าบัญชีให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ตามที่เขาแนะนำมา เพราะตนเองไม่ได้เล่นไลน์ โอนเงินทางบัญชีไม่เป็น ทางคนที่แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่บอกตนมีทรัพย์สินเท่าไหร่ให้เบิกมา หากพบว่าเป็นเงินสุจริตก็จะส่งคืนให้ในภายหลัง

โชคดีที่เจ้าหน้าที่แนะนำไม่อย่างนั้นคงสูญเงิน 200,000 บาท นี้อย่างแน่นอน ที่สำคัญตนยังมีพันธบัตรที่ซื้อไว้อีกหลายสิบล้าน และเตรียมจะถอนออกมาเป็นเงินสดโอนไปให้มิจฉาชีพ ดีที่ไหวตัวทันอย่างเฉียดฉิวก่อน ตอนที่จะมาโรงพักคิดอย่างเดียวว่าถ้าผิดจริง ๆ ก็ให้มันติดคุกไป เพราะไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย ก็อยากเอาเงิน เอาสมุดบัญชีมาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบให้มันรู้แล้วรู้รอดไปเลย โชคดีที่มารู้ความจริงเสียก่อน ส่วนเงิน 200,000 บาท เดี๋ยวจะกลับไปซื้อทองใหม่ และจะบล็อกเบอร์แก๊งคอนเซ็นเตอร์นี้ไป ไม่รับสายพูดคุยด้วยแล้ว ไม่เช่นนั้นคงตกเป็นเหยื่อแน่

'สคบ.' ลั่น!! เอาผิดถึงที่สุด ร้านทองออนไลน์ 'หลอกลวงประชาชน' ด้าน 'ผู้ค้าออนไลน์-อาหารเสริม' งานเข้าด้วย!! จ่อถูกขยายผล

(26 ก.ย. 67) กลุ่มผู้เสียหายกรณีซื้อทองออนไลน์ แม่ตั๊ก-ป๋าเบียร์ เข้าพบขอความเป็นธรรมกับ นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)  

ด้าน น.ส.จิราพร กล่าวว่า สคบ.มีหน้าที่ กำกับดูแลเรื่องสินค้าและบริการ กรณีของการซื้อทอง ที่พบว่านำทองไปขายที่อื่นแล้วไม่ได้ราคา และมีผู้มาร้องเรียน ว่าได้รับความเสียหายจำนวนมาก ทาง สคบ. จึงตั้งคณะทำงาน และลงพื้นที่ไปตรวจสอบที่ร้านทอง ตรวจฉลากและเก็บตัวอย่างทองไปตรวจ โดยส่งไปที่สถาบันอัญมณี ว่าเป็นไปตามโฆษณาว่าเป็นทอง 99.99% หรือไม่ และจะทราบผลภายใน 3 วันนี้ หากทราบผลแล้วไม่ตรงตามที่โฆษณา ก็จะมีความผิด ขอให้ผู้เสียหายทุกคนมั่นใจว่า เราตรวจสอบเข้มข้น หากพบผิดไม่ละเว้น โดย สคบ. ทำงานร่วมกับ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อดูแลเรื่องการเยียวยาหรือคืนทอง และบังคับใช้กฎหมายให้รัดกุม ยืนยันว่า สคบ.ทำงานเต็มที่ และพร้อมดูแลทุกคน และเปิดพื้นที่รับฟังผู้เสียหายและ ประเด็นอื่นที่เกิดในโลกออนไลน์   

น.ส.จิราพร กล่าวว่า นอกจากนั้นจะตรวจสอบการขายสินค้าชนิดอื่นของแม่ค้าคนดังกล่าวด้วย เพราะ สคบ. ต้องดูเรื่องฉลากและการโฆษณา ว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และอาจจะไม่ใช่ดูแค่รายนี้ ต้องดูรายอื่นที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย ขอให้ประชาชนที่เดือดร้อนมาร้องต่อ สคบ.ได้ และทาง สคบ. ได้เชิญเจ้าของร้านมาให้ข้อมูลในวันที่ 27 กันยายนนี้ รอการตอบรับกลับมา และในสัปดาห์หน้าจะเชิญผู้เสียหายมาให้ข้อมูลอีกครั้ง และสั่งการไปแล้วว่าให้เรื่องนี้จบโดยเร็วที่สุด  

"ไม่ต้องกลัว เพราะเรามีทั้ง ปคบ. ตำรวจ ยินดีที่จะดูแลคุ้มครองประชาชน หากพบว่ามีความผิด จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และถึงที่สุด" น.ส.จิราพร กล่าว 

ด้านตัวแทนกลุ่มผู้เสียหาย กล่าวว่า อยากให้ สคบ. ช่วยเข้ามากำกับดูแลการขายของออนไลน์ ทั้งเรื่องของการกำหนดราคา และน้ำหนักของทอง เนื่องจากคนที่ไปซื้อต้องการเก็บไว้เพื่อขายในอนาคต แต่กลับนำไปขายไม่ได้ รวมถึงให้ดูแลเรื่องการโฆษณาชวนเชื่อ เรื่องการออมทอง และการสร้างภาพลักษณ์ให้ประชาชนเชื่อถือ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีทำให้ประชาชนหลงเชื่อ เพราะผู้ซื้อบางคนก็อาจจะไม่ทันกับเทคโนโลยี ในระหว่างที่มีการขายออนไลน์ และขอฝากถึงประชาชนให้ป้องกันสิทธิ์ของตัวเอง ออกมาร้องเรียนเพื่อขอความเป็นธรรมให้กับตัวเอง เพื่อให้คนที่ทำความผิดหรือเอาเปรียบผู้บริโภค ควรต้องคืนสิทธิ์ให้กับประชาชน

'ประเสริฐ' เผย 2 เดือน 'ดีอี' ปิดแพลตฟอร์ม 'ปลอมโครงการเติมเงิน 10,000 บาท' ได้แล้วถึง 312 บัญชี เร่งกวาดล้าง 'โจรออนไลน์' สร้างข้อมูลเท็จ หลอกลวงประชาชน  

เมื่อวานนี้ (4 ต.ค.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย (Anti Fake New Center หรือ AFNC) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินสถานการณ์การกระทำที่เข้าข่ายการก่ออาชญากรรมออนไลน์ พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม - 30 กันยายน 2567 ได้ดำเนินการประสานปิดกั้นแพลตฟอร์ม 'ทางรัฐ' และ 'โครงการเติมเงิน 10,000 บาท' ปลอม แล้ว 312 บัญชี  โดยแบ่งเป็น บัญชี Facebook จำนวน 297 บัญชี และบัญชี Tiktok จำนวน 15 บัญชี  พร้อมเฝ้าระวังการกระทำความผิดอย่างต่อเนื่อง 

ขณะเดียวกันยังพบว่า มิจฉาชีพใช้วิธีการหลอกลวงประชาชน ส่งข่าวปลอม และข้อมูลอันเป็นเท็จ และบิดเบือน โดยแอบอ้างโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ของรัฐบาล ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานเติมเงินให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบางที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และบัตรประจำตัวผู้พิการ อยู่อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพบกรณีข่าวปลอม ที่ได้รับความสนใจ และมีการส่งต่อข้อมูลเป็นจำนวนมาก อาทิ “ผู้พิการที่ทำบัตรผู้พิการหลัง 31 สิงหาคม 2567 จะไม่ได้รับสิทธิ์เงินดิจิทัล 10,000 บาท” และ “รัฐบาลเปิดให้ลงทะเบียนเงินดิจิทัลวอลเล็ตใหม่ สำหรับคนที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนสามารถลงทะเบียนได้ที่ ธ.ออมสิน ธกส. และกรุงไทย” เป็นต้น

สำหรับข่าวปลอมดังกล่าวข้างต้น ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่าทั้งหมดเป็น “ข้อมูลเท็จ” โดยประเด็นเรื่องของสิทธิ์ผู้พิการในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ขยายเวลาลงทะเบียนให้กับคนพิการทุกคนทั่วประเทศ จนถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2567 โดยเพื่อที่จะให้ผู้พิการทุกคนได้รับสิทธิ์ในการรับเงิน 10,000 บาท 

ในส่วนการเปิดให้ประชาชนทั่วไปลงทะเบียนใหม่ในโครงการลงทะเบียนเงินดิจิทัลวอลเล็ต ขณะนี้รัฐบาลยังไม่ได้มีการเปิดให้ลงทะเบียนเพิ่มเติมผ่านธนาคารของรัฐแต่อย่างใด

"กระทรวงดีอีได้ดำเนินมาตรการบังคับใช้กฎหมาย ดำเนินคดีร้องทุกข์กล่าวโทษกับผู้ที่นำข้อมูลเท็จ ข้อมูลบดเบือน ไม่เป็นความจริง เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ จำนวน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ข่าวปลอมเรื่อง 'ประกาศยกเลิกการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท แล้ว' โดยดำเนินการประสานข้อมูลร่วมกับกระทรวงการคลัง และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.)  , 2.ข่าวปลอมเรื่อง 'การโหลดแอปพลิเคชันยืนยันตัวตนรับเงินดิจิทัลวอลเล็ต ทำให้ถูกดูดเงินหมดบัญชี และเรื่องมีการติดต่อจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์จำนวนมาก หลังจากที่ลงทะเบียนแอปพลิเคชันทางรัฐ' โดยดำเนินการประสานข้อมูลร่วมกับ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หรือ DGA  , 3.ข่าวปลอมเรื่อง 'มีการติดต่อจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์จำนวนมาก หลังจากที่ลงทะเบียนแอปพลิเคชันทางรัฐ' ซึ่งได้มีการพิจารณาดำเนินคดี โดยร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เพื่อดำเนินการต่อไป" นายประเสริฐ กล่าว

นายประเสริฐ กล่าวว่า กระทรวงดีอีห่วงใยพี่น้องประชาชนต่ออันตราย และความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโจรออนไลน์ ซึ่งได้อาศัยการเผยแพร่ข่าวปลอมและข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวข้องกับ 'โครงการเติมเงิน 10,000 บาท' และการใช้งานแอปพลิเคชัน 'ทางรัฐ' ซึ่งขณะนี้กระทรวงฯ ได้ทำการปิดกั้นแพลตฟอร์มปลอม พร้อมกับการตรวจสอบข่าวปลอม และข้อมูลบิดเบือนที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับดำเนินการตามกฎหมายอย่างถึงที่สุด โดยถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรง เนื่องจากส่งผลกระทบต่อ ประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง และขอให้ประชาชน ยึด 'หลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน' พร้อมกับไม่แชร์ข้อมูลที่บิดเบือนในทุกช่องทางสังคมออนไลน์

‘รองนายกฯ ประเสริฐ’ สั่งเดินหน้าพัฒนาแพลตฟอร์ม ‘DE fence’ เร่งสกัด ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์-โจรออนไลน์’ ป้องกัน ‘โทร-SMS’ หลอกลวงประชาชน

 

เมื่อวานนี้ (18 พ.ย.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า กระทรวงดีอี ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดการป้องกันและปราบปรามการก่ออาชญาการรมทางเทคโนโลยี ผ่านการร่วมดำเนินโครงการ ‘DE-fence platform’ (หรือ แพลตฟอร์มกันลวง) เพื่อป้องกัน “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” โทรหลอกลวงประชาชน 

นายประเสริฐ กล่าวว่า จากสถิติของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 - 30 ก.ย. 2567 (12 เดือน) พบว่า มีการรับแจ้งความออนไลน์คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จำนวนทั้งสิ้น 3.3 แสนคดี หรือคิดเป็นมูลค่าความเสียหายมากกว่า 3.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือเป็นความเสียหายรุนแรงที่เกิดขึ้นกับประชาชน และปัจจุบันยังคงเกิดการหลอกลวงโดย 'แก๊งคอลเซ็นเตอร์' อยู่อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการที่มิจฉาชีพได้พัฒนาการก่อเหตุโดยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และปรับเปลี่ยนรูปแบบการหลอกลวงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการหลอกลวงผ่านการโทรศัพท์และส่ง SMS ถึงผู้เสียหาย 

ทั้งนี้จากการหารือแนวทางการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ระหว่างกระทรวงดีอี กสทช. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยฯ  สมาคมธนาคารไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เห็นชอบในการจัดตั้งโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มป้องกันการโทรหลอกลวง 'DE-fence platform' เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มป้องกันการโทรหลอกลวง รวมทั้ง ส่ง SMS หลอกลวง เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้ในการแจ้งเตือนประชาชน ช่วยในการคัดกรองสายเรียกเข้า และข้อความสั้น ของคนร้าย รวมถึงช่วยยืนยันเบอร์จากหน่วยงานสำคัญ เช่น ตำรวจ หรือ สถาบันการเงิน เป็นต้น ภายใต้ชื่อ 'DE-fence platform' (หรือ แพลตฟอร์มกันลวง) ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการใช้งานป้องกันปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับ DE-fence platform เป็นการบูรณาการการทำงานผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ทั้งกลุ่มผู้ให้บริการโทรคมนาคม กสทช ผู้บังคับใช้กฎหมาย อาทิ ตำรวจ และ กระทรวงดีอี เพื่อสอดรับกับนโยบายภาครัฐที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาแก๊งคอลเตอร์ และข้อความสั้น (SMS) หลอกลวง 

“มาตรการนี้เป็นการป้องกัน ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์’ ที่ใช้การโทรและ ส่ง SMS หลอกลวงประชาชน ควบคู่กับมาตรการลงทะเบียนผู้ให้บริการส่ง SMS ใหม่ทั้งระบบ ภายในปี 2567 นี้ และต้องมีการลงทะเบียนทุกๆ ปี เพื่อให้สามารถระบุว่า ผู้ให้บริการ และ ผู้ส่ง SMS คือใคร รวมทั้งการลงทะเบียนการส่ง SMS แนบลิงก์ จะต้องระบุรายละเอียดของข้อความ และลิงก์ เพื่อให้ผู้ให้บริการเครือข่าย ตรวจสอบลิงก์ ก่อนที่จะส่ง SMS ไปยังผู้ใช้บริการ (End user)” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าว 

ด้านนายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ ในฐานะรักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (สดช.) ได้กล่าวว่า เมื่อสิ้นเดือน ตุลาคม 2567 รองนายกฯ ประเสริฐ ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (สดช.) เร่งพัฒนา DE-fence platform ให้พร้อมใช้ในต้นปี 2568 

สำหรับจุดเด่น ของ DE-fence platform คือ การเชื่อมต่อฐานข้อมูลระหว่างผู้ประกอบการโทรคมนาคม เพื่อให้ได้ข้อมูลเลขหมายที่เป็นปัจจุบันมากที่สุด รวมถึงการเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของ ตร. สำนักงาน ปปง. ศูนย์ AOC 1441 และ กระทรวงดีอี เพื่อใช้ในการเตือนประชาชน ทำให้ประชาชนทราบข้อมูลของผู้โทรเข้าว่า เป็นมิจฉาชีพหรือไม่ ความเสี่ยงของเบอร์โทรอยู่ระดับใด ก่อนรับสายหรืออ่านข้อความ SMS รวมถึงสามารถตรวจหาความผิดปกติของ Link ที่แนบมากับ SMS ได้ เมื่อผู้รับต้องการตรวจสอบ นอกจากนี้ยังมีระบบการแจ้งความออนไลน์ และการแจ้งอายัดบัญชีคนร้าย ผ่านโทรสายด่วน AOC 1441 พร้อมระบบการยืนยันตัวตนของผู้ใช้งาน เพื่อส่งข้อมูลให้กับ ตร. ดำเนินการปราบปรามการกระทำผิดของมิจฉาชีพได้ทันที 

DE-fence platform จะใช้หลักการในการแบ่งสายโทรเข้า รวมถึง SMS ที่ได้รับ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มสี คือ 1) Blacklist หรือ สีดำ ซึ่งเป็นหมายเลขการติดต่อจากคนร้ายที่ได้รับการยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว และแนะนำให้ผู้ใช้บริการเลือก Block หรือ ปิดกั้นแบบอัตโนมัติ , 2) Greylist หรือ สีเทา เป็นการติดต่อจากหมายเลขที่ต้องสงสัย ซึ่งติดต่อจากต่างประเทศ หรือ ติดต่อจากอินเตอร์เน็ต โดยระบบจะแจ้งเตือนให้ผู้ใช้บริการได้รู้ถึงระดับความเสี่ยงของสายโทรเข้า หรือ SMS ดังกล่าว , 3) Whitelist หรือ สีขาว เป็นหมายเลขที่ได้รับการยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าเป็นหมายเลขของหน่วยงานรัฐ หรือ หมายเลขหน่วยงานที่ลงทะเบียนถูกต้อง รวมถึงเป็นหมายเลขที่ผู้ใช้บริการ platform ยืนยันว่าเป็นหมายเลขที่ต้องการรับสาย หรือ ยินยอมรับข้อความ
ทั้งนี้ ระบบ จะมีการทำงานแบบ Real time เพื่อเป็นข้อมูลให้กับ ตร. และ หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ในการวิเคราะห์ และวางแผนในการปราบปรามและป้องกันการหลอกลวงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตามการพัฒนา DE-fence platform ในระยะแรกจะเน้นที่เบอร์โทร และ SMS ก่อน โดยเฉพาะ whitelist ที่เป็นของหน่วยงานรัฐ ที่คนร้ายชอบใช้ก่อน และในระยะต่อไปจะขยาย whitelist ให้ครอบคลุมมากขึ้น พร้อมทั้งขยายการป้องกันและแจ้งเตือนสำหรับการติดต่อทางโซเชียลมีเดีย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top