Wednesday, 23 April 2025
หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

‘เลขาฯ ไบโอไทย’ โดนหมายเรียกปม ‘ปลาหมอคางดำ’ ‘สตช.’ แจ้งข้อหา ‘หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา’

(7 ก.ย.67) เฟซบุ๊กเพจ ‘BIOTHAI’ ของ ‘มูลนิธิชีววิถี’ โพสต์ข้อความ ระบุว่าหมายเรียกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งแจ้งความดำเนินคดี นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) มาถึงแล้ว โดยแจ้งว่าเป็นการฟ้องในข้อหา หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

ในหมายเรียกแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาเดินทางไปที่สถานีตำรวจภูธรรัตนาธิเบศร์ ในวันที่ 12 กันยายน 2567 เวลา 13.00 น.

อนึ่งเลขาธิการไบโอไทยให้ข้อมูลว่า เพิ่งได้รับหมายเรียกนี้เมื่อเย็นวานนี้ (วันที่ 6 กันยายน 2567 หลังจากประชาชนชาวจังหวัดสมุทรสงครามพร้อมสภาทนายความเดินทางไปยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายบริษัทเอกชนเมื่อวันที่ 5 กันยายน เพียง 1 วัน) โดยที่หัวจดหมายระบุว่าเป็นหมายเรียกครั้งที่ 2 โดยมีเพียงเอกสารแผ่นเดียว ไม่พบ ‘รายละเอียดปรากฏตามเอกสารแนบท้ายหมายเรียกผู้ต้องหา’ แต่อย่างใด

โดยเลขาธิการไบโอไทยได้แจ้งรายละเอียดการได้รับหมายเรียกนี้แล้วแก่ทีมทนายความที่นำโดย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม(EnLaw) ซึ่งได้รับมอบอำนาจ เป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับคดีนี้ต่อไป

‘ผู้สร้าง 2475’ ลั่น!! ต้องรับผิดชอบต่อคำพูด หลังศาลรับฟ้อง ‘ประชาไท’ หมิ่นประมาท

(19 เม.ย. 68) เพจ iLaw รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2568 ศาลอาญามีคำสั่งรับฟ้องคดีที่บริษัท นาคราพิวัฒน์ จำกัด ผู้ผลิตแอนิเมชัน ‘2475 Dawn of Revolution’ เป็นโจทย์ ยื่นฟ้องเว็บไซต์ประชาไทและผู้แชร์ข่าว รวม 6 ราย ฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1)

คดีดังกล่าวเกิดขึ้นจากโพสต์ของเพจประชาไท เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567 ซึ่งระบุว่า “ผ่านไป 1 วัน ยอดวิวแอนิเมชัน ‘2475 Dawn of Revolution’ ทะลุ 3 แสน ขณะที่เช็คผ่าน ACT AI พบเจ้าของแอนิเมชันรับโครงการทำสื่อแบบวิธีเฉพาะเจาะจง 11 สัญญา ระหว่าง 2563 ถึง 2565” โดยมีภาพประกอบสรุปประเด็นเดียวกัน

โจทย์เห็นว่าข้อความดังกล่าวอาจชี้นำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าแอนิเมชันเรื่องนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐในการผลิตโดยตรง ซึ่งไม่เป็นความจริง และอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของผู้ผลิต

ภายหลัง iLaw เผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับคำสั่งรับฟ้อง นาย วิวัธน์ จิโรจน์กุล เจ้าของบริษัท นาคราพิวัฒน์ จำกัด และเป็นหนึ่งในผู้เขียนบทของแอนิเมชัน ได้โพสต์ข้อความชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า

> “ก็ถ้าคนอ่านข่าวเข้าใจผิดเป็นจำนวนมาก แสดงว่าต้นทางข่าวทำให้เข้าใจผิดไงครับ… ควรถามประชาไทดูนะครับ ว่าตอนไต่สวนมูลฟ้อง พยานให้เหตุผลอะไร ทนายไปพูดแบบไหน ศาลจึงตัดสินใจรับฟ้อง คือมันมีมูลเหตุให้ ‘ศาลรับฟ้อง’ ไง... ต่อจากนี้ก็เป็นเรื่องของหลักฐานที่จะนำสืบกันต่อไปครับ”

เขายังกล่าวเพิ่มเติมว่า ประชาไทเคยนำเสนอเนื้อหาในประเด็นนี้แล้วเมื่อปลายเดือนมีนาคม หลังศาลมีคำสั่งรับฟ้อง และล่าสุดทาง iLaw ได้นำเสนอซ้ำในลักษณะที่ใกล้เคียงเดิม

ในช่วงท้ายของโพสต์ นายวิวัธน์ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก โดยระบุข้อความเต็มว่า

> **“เสรีภาพในการแสดงออกไม่ใช่ใบอนุญาตให้ทำร้ายใครโดยไม่ต้องรับผิดชอบ
การอ้างเสรีภาพเพื่อปกป้องการกระทำที่ทำให้ผู้อื่นเสียหาย ไม่ว่าจะด้วยข้อมูลบิดเบือน คำพูดชี้นำ หรือการเผยแพร่โดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของสิทธิขั้นพื้นฐานนี้

เสรีภาพนั้นมีคุณค่า เพราะอยู่ภายใต้กรอบของความรับผิดชอบ ไม่ใช่เพราะใครอยากพูดอะไรก็พูดได้โดยไม่ต้องใส่ใจผลกระทบต่อผู้อื่น

ถึงเวลาแล้วที่สังคมควรแยกให้ออกระหว่าง ‘เสรีภาพ’ กับ ‘การละเมิด’ เพราะถ้าเราใช้สิทธิเพื่อกดทับสิทธิของคนอื่น สังคมที่ควรเปิดกว้าง ก็จะกลายเป็นพื้นที่แห่งความอยุติธรรมที่ถูกอ้างด้วยชื่อของประชาธิปไตย”**

ศาลได้นัดตรวจพยานหลักฐานในคดีนี้อีกครั้งในวันที่ 19 พฤษภาคม 2568 เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top