Saturday, 19 April 2025
สุวินัย

'นักเศรษฐศาสตร์' เตือนสติคนรุ่นใหม่เล่น 'คริปโต' ไม่ต่างจาก 'ชาวป่าบุชแมน' ที่คลั่งขวดน้ำอัดลม

'ดร.สุวินัย' เตือนสติคนรุ่นใหม่เล่นมือถือเทรด 'คริปโต' ไม่ต่างจาก 'ชาวป่าบุชแมน' ที่คลั่งขวดน้ำอัดลมเปล่าคิดว่าเป็น 'ของวิเศษ-ของขวัญจากฟ้า' คนที่มีปัญญามองเห็นเป็น 'วัตถุชั่วร้าย' ชี้อัลกอริทึมนี้สามารถดักราคาได้แบบกินรวบ

13 พ.ค. 65 - ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความ เรื่อง 'The Gods Must Be Crazy in 2022 : ตลกร้ายภาคเหรียญคริปโต' มีเนื้อหาดังนี้

ในหนังตลกเรื่อง "The Gods Must Be Crazy" (1980) เป็นหนังล้อเลียนชาวป่าบุชแมน ที่อยู่ดีๆ ก็มีขวดน้ำอัดลมเปล่าใบหนึ่งตกลงมาจากท้องฟ้า

ตอนแรกชาวป่าบุชแมนเชื่อว่าวัตถุประหลาดชิ้นนี้มันเป็น "ของวิเศษ" ที่พระเจ้าประทานมาให้พวกเขา

หลังจากนั้นไม่นานวัตถุประหลาดชิ้นนี้ได้กลายเป็นสิ่งกำหนดพฤติกรรมและเปลี่ยนพฤติกรรมของพวกชาวป่าบุชแมนไปโดยไม่รู้ตัว จนทำให้แผ่นดินของชาวป่าบุชแมนไม่มีความสงบสุขเหมือนเช่นเดิมอีกต่อไป

คนที่มีปัญญาที่สุดในหมู่ชาวป่าบุชแมนเริ่มมองเห็น "ของวิเศษ" ชิ้นนี้ เป็น "วัตถุชั่วร้าย" และเอามันไปฝังดิน

แต่สุดท้ายก็มี "เด็กรุ่นใหม่" ไปพบมันเข้า และนำวัตถุประหลาดนี้กลับหมู่บ้านชาวป่าบุชแมนอีกครั้ง และทำให้แผ่นดินของชาวป่าบุชแมนวุ่นวายอีกครั้ง

ที่ผ่านมาคนรุ่นใหม่ทั่วโลกที่เปิดรับเหรียญคริปโตเข้ามาในชีวิต ล้วนมีความเชื่อร่วมกันว่า เหรียญคริปโต คือ "ของขวัญจากฟ้า" ที่สามารถพลิกชีวิตตัวเองให้กลายเป็นคนรวยในช่วงเวลาสั้นๆ ได้ โดยแค่ "แห่เข้าไป" ซื้อเหรียญคริปโต...จากนั้นแค่รอให้มันราคาพุ่งขึ้นอย่างกับติดจรวด แล้วค่อยเทขายทำกำไรจำนวนมหาศาล

ตำนานความเชื่อเรื่องปาฏิหาริย์ของเหรียญคริปโต เป็น "เรื่องเล่า" (story) ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาอย่างแนบเนียน โดยเขียนบทให้สอดคล้องกับบริบทของยุคสมัยด้วยการใช้ชุดศัพท์ภาษาที่แปลกหูสำหรับคนทั่วไป เพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ ผู้คนทั่วโลกจะได้หลงเชื่อและแห่เข้าไปเล่น "เกมการเงินแห่งเหรียญคริปโต" นี้

ถ้าใครที่เคยศึกษาประวัติศาสตร์ฟองสบู่ จะทราบเป็นอย่างดีว่า Story แบบนี้มันเคยเกิดกับดอกทิวลิปที่เรียกว่า "เหตุการณ์คลั่งทิวลิป" (Tulip mania) มาก่อนเมื่อปี ค.ศ. 1634 ก่อนที่จะล่มสลายในปี ค.ศ. 1637
ในช่วงนั้นชาวดัตช์ที่คลั่งทิวลิป ย่อมไม่ต่างอะไรกับชาวป่าบุชแมนที่คลั่งขวดน้ำอัดลมเปล่า เพราะคิดว่าเป็น "ของขวัญจากฟ้า"...แต่นี่คือเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริงๆ มิใช่หนังตลกปี 1980 ที่สร้างขึ้นเพื่อล้อเลียนชาวป่าบุชแมน

ผ่านไปเกือบสี่ร้อยปี เหตุการณ์ "คลั่งคริปโต" ที่เหมือนรีเมค "เหตุการณ์คลั่งทิวลิป" ก็เกิดขึ้นมาอีกราวกับเป็นเรื่องตลกร้ายที่ "พระเจ้า" กำลังหยอกเย้าพวกมนุษย์ยุคนี้ ที่ยังคงโง่เขลาและไร้สติอยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

‘อาจารย์สุวินัย’ โพสต์แสดงความอาลัย หลัง ‘โสภณ องค์การณ์’ เดินทางไกล

(25 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รองศาสตราจารย์ ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความแสดงความอาลัยแด่ ‘โสภณ องค์การณ์’ ผู้สื่อข่าวอาวุโส ซึ่งเสียชีวิตวานนี้ ว่า

แด่กัลยาณชน ผู้จากไป

ทุกคนมีกรรมเป็นของตัวเอง 

เหตุแห่งกรรม ส่วนใหญ่ล้วนมาจากการแยกดีแยกชั่วไม่ออก

'แยกแยะดีชั่วได้' เป็นพื้นฐานที่แยกคน (สัตว์ประเสริฐ) กับเดรัจฉาน

ไม่คบคนพาลที่เป็นเดรัจฉานในร่างคน

ไม่ยอมให้คนแบบนี้เข้ามาอยู่ในโลกของตนเด็ดขาด ไม่ว่าในโลกจริง หรือโลกโซเชียล

ก้าวพ้นดีชั่วได้ด้วยจิตที่ตื่นรู้ กับจิตที่รู้ทัน 

สามารถประคองจิตที่เฝ้าดูโดยไม่เข้าไปร่วมเล่นละครชีวิต คือเส้นแบ่งที่แยก 'ปุถุชน' กับ 'กัลยาณชน' ออกจากกัน

ใครที่ฝึกเจริญสติ เจริญปัญญา เราคือกัลยาณมิตรของกันและกัน

>>>กลไกแห่งอัตตา 

ความทุกข์ที่ร้าวรานใจที่สุดของคนเรา คือการที่ตัวเองรู้สึกว่าได้สูญเสียส่วนหนึ่งของตัวตนไป หรือรู้สึกว่าบางส่วนของตัวตนของตนได้ตายไปแล้ว

พวกเราเคยสังเกตเห็นบ้างหรือไม่ว่า โลกของความรู้สึกนึกคิดส่วนใหญ่มักไม่เกี่ยวข้องแม้แต่นิดเดียวกับความเป็นจริงที่แวดล้อมตัวเราในขณะนั้น

ความไม่รู้หรือความหลงผิดที่ใหญ่ที่สุดของคนส่วนใหญ่ คือการหลงเข้าใจผิดว่า การคิด หรือการที่กำลังคิดอยู่เป็นอย่างเดียวกับการมีสติ

แต่จริง ๆ แล้ว ในขณะที่กำลังคิดอยู่นั้น สติมิได้ตั้งอยู่ด้วย ถ้าผู้นั้นมิได้ 'เห็น' ความคิดเป็นพัก ๆ

มนุษย์ส่วนใหญ่ก็จึง 'ขาดสติ' เหมือนกัน 'ไม่รู้' เหมือนกัน และตกอยู่ในอวิชชาเหมือนกัน

เพราะแต่ละคนล้วนถูกพัดพาไปตามกระแสของการ 'รู้สึกนึกคิด' ที่ไหลจากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่งอย่างแทบไม่หยุดหย่อน โดยแตกต่างกันก็แค่ในเนื้อหาและลีลาของอารมณ์เท่านั้น

ในชั่วขณะที่ 'คิด' ได้พลิกมาเป็น 'สติ' เป็นพัก ๆ ด้วยการดูจิต เห็นจิต 

ชั่วขณะนั้นจะเป็นห้วงยามที่ตัวเราตระหนักรู้ได้ว่า ชีวิตไม่จริงจัง ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอย่างที่ความนึกคิดปรุงปั้นให้เราหลงเชื่อ 

ในห้วงยามแห่งสัจจะนั้นเอง คนเราสามารถได้ลิ้มรสอิสรภาพที่แท้จริงช่วงสั้น ๆ เป็นการชั่วคราว... รสชาติของอิสรภาพจากการได้เห็นอุปทานของอัตตาตัวตน

การคิดด้วยสมองอาจเป็นสมบัติที่วิเศษสุดของมนุษย์ แต่มันไม่เพียงพอที่จะทำให้คนเราเข้าถึงความรู้แจ้งได้จริง

ความคิดสารพันที่วิ่งวนในความคิดของคนเรานั้น เกือบทั้งหมดเป็นกลไกของอัตตาซึ่งก็คือ “ตัวกู ของกู” อันเป็นต้นเหตุพื้นฐานความทุกข์ใจทั้งสิ้นทั้งปวง 

อุบายของอัตตาที่จองจำคนเราให้ 'ขาดสติ' นั้นมีมากมายไม่ว่าจะในเรื่อง ลัทธิบริโภคนิยม การยึดติดกับหัวโขนของตน การเก็บกดบาดแผลทางใจในอดีตจนกลืนกลายเป็นส่วนหนึ่งของทัศนคติและบุคลิกภาพที่บิดเบี้ยว การยึดมั่นในมุมมองและความเชื่อของตนและพรรคพวกตนอย่างสุดโต่ง การติดสวยติดหล่อ การติดสนุก การติดอร่อย ฯลฯ

นอกจากนี้ความไม่อิ่มไม่พอของอัตตายังทำให้มันต้องแสวงหาอะไรต่อมิอะไรมาเติมแต้มตัวมันให้เต็มที่อย่างไม่รู้จบ 

แต่เติมเท่าไรก็ไม่เคยพอเคยเต็ม มันจึงต้องดึงเอาสารพัดสิ่ง เช่น อำนาจ ทรัพย์สิน เงินทอง สิ่งของ การท่องเที่ยว บันเทิง ความรัก ภาพลักษณ์ ความโด่งดัง ความสวย ความสำเร็จ ความทรงจำ ความผูกพัน หรือแม้กระทั่งความรวดร้าว ความเจ็บปวดทรมานใจ ความรู้สึกผิดในใจ ความพ่ายแพ้ ความล้มเหลวมาเป็นส่วนหนึ่งของตัวมัน เพื่อให้ตัวมันเองคงอยู่อย่างเหนียวแน่นยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ

กลไกการเสริมสร้างตัวเองของอัตตานั้นสามารถแบ่งได้ เป็นสองส่วน คือส่วนโครงสร้างของทุกข์ กับส่วนเนื้อหาของทุกข์ 

ความรู้สึกเจ็บปวดโกรธเกรี้ยวระทมทุกข์เชิงโครงสร้างของคนเรานั้นมักจะทัดเทียมกัน ถึงแม้สิ่งที่สูญเสียไปจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในเชิงเนื้อหาก็ตาม 

ส่วนของ 'เนื้อหาของทุกข์' ที่สูญเสียจนทำให้ทรมานใจนั้นอาจเป็น ของเล่น รถยนต์ ชื่อเสียง คนรัก ตำแหน่ง ทรัพย์สิน บุคคลอันเป็นที่รัก หรืออะไรก็ได้ที่ผิดหวัง เพราะเนื้อหาของความทุกข์มันเปลี่ยนแปลงไปตามเรื่องราว แต่ 'โครงสร้างของทุกข์' ไม่เคยเปลี่ยนแปลง 

ความทุกข์ที่ร้าวรานใจที่สุดของคนเรา คือการที่ตัวเองรู้สึกว่าได้สูญเสียส่วนหนึ่งของตัวตนไป หรือว่าตัวเองรู้สึกว่าบางส่วนของตัวตนของตนได้ตายไปแล้ว

แต่ความจริงก็คือว่า มีบางอย่างได้สูญเสียไปแล้วจริง เพียงแต่ถ้าตอนนี้เราตั้งสติ ปล่อยวางความคิด มาอยู่กับความรู้สึกตัว ณ ปัจจุบันของลมหายใจ ของกาย ของใจเราได้ 

ไม่ช้าเราจะรู้สึกสงบ เบาสบายอย่างประหลาด และยังอิ่มเต็มในตัวของตัวเอง โดยที่สิ่งที่สูญเสียไปแล้วมันเป็นคนละส่วนไม่เกี่ยวกันเลย มันไม่เกี่ยวกับกายใจที่เราสัมผัสในความเป็นจริง ณ ปัจจุบันนี้แม้แต่นิดเดียว

การสลายตัวตนของคนเราทำได้แบบนี้ และด้วยวิธีนี้วิธีเดียวเท่านั้น นี่เป็นกระบวนการที่เราต้องฝึกต้องทำให้ช่ำชองชั่วชีวิต

~ สุวินัย ภรณวลัย
Suvinai Pornavalai

‘ดร.สุวินัย’ ซูฮก 'วอร์เรน บัฟเฟตต์' ไม่หลงในเงินตรา หลังบริจาคทรัพย์สินเกือบทั้งหมดให้การกุศล

(27 พ.ย. 67) ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่าบั้นปลายของ "เทพสมบัติ" อันดับหนึ่งของโลก

'วอร์เรน บัฟเฟตต์' ปิดฉากอาณาจักรความมั่งคั่งของเขา ด้วยการ บริจาคเงินทั้งหมดของเขาให้การกุศล โดยเขาได้บริจาคเงินให้การกุศลเพิ่มอีก 1.1 พันล้านดอลลาร์ และตั้งทรัสตี 3 คนรับไม้ต่อจากลูกทั้ง 3 เพื่อบริหารเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะเขาไม่วางใจคนรุ่นต่อไปว่าจะบริหารสินทรัพย์ได้ดีแค่ไหน

วอร์เรน บัฟเฟตต์ หนึ่งในนักลงทุนที่ร่ำรวยที่สุดในโลก และผู้ก่อตั้งบริษัทเบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ (Berkshire Hathaway) ได้แสดงให้เห็นถึงมุมมองที่แตกต่างจากมหาเศรษฐีหลายคน ด้วยการตัดสินใจ ไม่สร้างอาณาจักรความมั่งคั่ง ให้กับทายาทของตนเอง

เพราะแทนที่จะส่งต่อทรัพย์สินมหาศาลให้ลูกหลานโดยตรง บัฟเฟตต์กลับเลือกที่จะแต่งตั้งผู้ดูแลทรัพย์สินอิสระ 3 คนเพื่อให้มั่นใจว่าทรัพย์สินของเขาจะถูกนำไปใช้เพื่อการกุศลอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง หลังจากที่เขาและภรรยาเสียชีวิตลง พร้อมกับบริจาคหุ้น Berkshire Hathaway เพิ่มอีก 1,100 ล้านดอลลาร์ให้กับมูลนิธิทั้ง 4 แห่งของครอบครัว เพื่อสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของเขา

ก่อนหน้านี้ บัฟเฟตต์ได้ให้สัญญามาโดยตลอดว่าจะบริจาคเงิน 99% ของสินทรัพย์ทั้งหมดที่ได้มาตั้งแต่ปี 1965 แทนที่จะทิ้งเป็นมรดกให้กับลูกทั้ง 3 คน เพราะเขามองว่ามรดกอาจทำให้ขาดแรงผลักดันในการพัฒนาตนเอง และสร้างความแตกแยกในครอบครัว 

นอกจากนี้ การที่ทรัพย์สินมหาศาลตกทอดไปยังคนรุ่นหลัง อาจก่อให้เกิดความไม่แน่นอนทางสังคมได้เนื่องจากไม่สามารถคาดเดาได้ว่าคนรุ่นถัดไปจะเลือกกระจายทรัพย์สินเหล่านี้อย่างไร

บัฟเฟตต์ไม่ได้ต้องการสร้างอาณาจักรธุรกิจมอบให้ลูกหลาน แต่เลือกที่จะบริจาคทรัพย์สินให้กับการกุศลแทน เนื่องจากกังวลว่ารุ่นต่อ ๆ ไปอาจไม่สามารถบริหารจัดการความมั่งคั่งมหาศาลได้อย่างเหมาะสม

คนบางคนเกิดมาเพื่อเป็น "เทพสมบัติ" โดยแท้ 
คือเป็นผู้ที่มีอำนาจจิตที่เหนือเงินตรา เป็นนายของเงินตรา 
โดยที่เงินตราเป็นข้ารับใช้ที่ดีของเขาเท่านั้น
คนแบบนี้น่าจะมีแค่หนึ่งในพันล้าน
ทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อเป็น "ผู้ชนะถาวร" อย่างชนิดอยู่เหนือเกมการเงิน
แต่กลับกินอยู่อย่างสมถะ ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ไม่ติดหรู ไม่อวดรวย ไม่ฟุ้งเฟ้อ 
เพราะมีปัญญาญาณที่มองทะลุถึง 'มายาของเงินตรา'
ภายหลังจากประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่แล้ว กลับบริจาคเงินเกือบทั้งหมด (99%) ให้กับการกุศล เพื่อบำเพ็ญทานบารมีอันยิ่ง

นี่คือการใช้ชีวิตดุจ "เทพเจ้าแห่งความมั่งคั่ง" อย่างแท้จริง
เพราะกระทำเช่นนี้ เรื่องราวของเขาจักเป็นตำนานตลอดไปอีกนานเท่านาน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top