Saturday, 24 May 2025
สุชาติ_ชมกลิ่น

'เสี่ยเฮ้ง' เปิดใจ!! ภูมิใจทุกตำแหน่งที่มีโอกาสได้รับ แค่ได้ทำประโยชน์สุขเพื่อคนในชาติ เป็นพอ

(5 พ.ค.67) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กต่อกรณีที่นักข่าวถามว่า "รู้สึกอย่างไรที่ได้เป็น รมช.?" เพราะรัฐบาลที่แล้ว เป็น 'รมว.' ว่า...

ผมรู้สึกดีใจและภาคภูมิใจกับทุกตำแหน่งที่มีโอกาส มีหน้าที่รับมอบหมายให้ทำงานเพื่อคนในประเทศ ที่ผ่านมา ไม่ว่าผมจะเป็นนักการเมืองท้องถิ่นระดับจังหวัด หรือ สส.ในเขตชลบุรี ผมก็ดีใจ ภาคภูมิใจกับทุกตำแหน่ง เพราะมันสำคัญตรงที่เรามีโอกาสได้ทำเพื่อคนอื่น

ส่วนการได้เป็นรัฐมนตรี จะว่าการ หรือ รัฐมนตรีช่วย ผมมองว่าไม่ใช่สิ่งที่ต้องเอามาเป็นประเด็นในการทำงาน ในวันนี้ผมพร้อมจะสนองนโยบาย นายกรัฐมนตรี และสนองนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และร่วมงานกับข้าราชการและนักการเมืองทุกคน เพื่อจุดหมายปลายทางคือ ประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชน คนในชาติเป็นสำคัญ 

ตำแหน่งที่โตขึ้น ไม่ได้มีไว้เพื่อวัดบารมีในตัวเรา แต่มันเป็นสัญญาณที่บอกว่า เราจะสามารถมีโอกาส มีหน้าที่ในการช่วยเหลือคนอื่นมากขึ้น และไม่ลืมที่จะดูแลคนในพื้นที่จังหวัดชลบุรีบ้านผม ให้ดีเหมือนเดิมไปตลอด

สุดท้ายนี้ ผมภูมิใจมากๆ กับตำแหน่ง 
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ 
ดีใจที่ได้ร่วมงานกับ ท่าน รมว. ภูมิธรรม เวชยชัยครับ

'สุชาติ ชมกลิ่น' จาก 'ก.แรงงาน' สู่ 'ก.พาณิชย์' คิดใหญ่!! ค้าขายไทยดี GDP ต่อประชากรสูง-ร่ำรวย

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยหนึ่งในประเด็นที่เปิดฉาก เป็นการพูดถึงบทบาท จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สู่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ว่ามีความแตกต่างในการบริหารงานหรือไม่? อย่างไร? 

เกี่ยวกับประเด็นนี้ นายสุชาติ กล่าวว่า "ผมมองว่าคล้ายกับกระทรวงแรงงาน ตรงนั้นต้องหางานให้พี่น้องประชาชนคนไทยไปทำงาน ซึ่งมีความต้องการทำงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะต่างประเทศ ที่เราก็ต้องไปเจรจากับคู่ค้าต่างประเทศในการส่งแรงงาน...

"ขณะที่เมื่อมากำกับดูแลกระทรวงพาณิชย์ ก็ต้องดูการเจรจาการค้า ว่าแต่ละประเทศต้องการสินค้าอะไรจากประเทศไทย ซึ่งมีลักษณะคล้ายกัน...

"อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างกันของธรรมชาติในแต่ละกระทรวงฯ ก็มี เช่น ในแง่ของพาณิชย์ สินค้าที่เราส่งไปมีเรื่องของการแข่งขันในระดับโลก รวมถึงมีรายละเอียดมากกว่าในเรื่องราคาตลาดที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาอยู่ด้วย ซึ่งต่างจากบทบาทในเรื่องของแรงงาน"

เมื่อถามถึงบทบาทในปัจจุบันว่าต้องกำกับดูแลหน่วยงานใดเป็นสำคัญ? นายสุชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันได้รับมอบหมายงานจากนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้กำกับดูแลงานของ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ / สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า / และสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) 

โดยในส่วนของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นหน่วยงานสำคัญ เพราะเป็นเรื่องการเปิดประตูพูดคุยการค้าขายระหว่างประเทศ ต้องเปิดประตูให้ได้ ซึ่งนโยบายปัจจุบันมีการส่งออกสินค้าหลักอยู่แล้ว แต่ตนก็พยายามส่งเสริมสินค้ารองให้มากขึ้น 

นอกจากนี้ ยังมีภารกิจในการสร้างคนตัวเล็กให้เป็นคนตัวใหญ่ เช่น ผู้ประกอบการธุรกิจ SME ที่จำเป็นต้องส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการส่งออกให้ได้ รวมถึงการขยายตลาดใหม่เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากตลาดจีนเพียงอย่างเดียว เช่น อินเดีย และซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น 

"ปัจจุบันเรามีทูตพาณิชย์ทั่วโลก 58 ประเทศ ซึ่งทูตต้องทำการบ้านให้เราว่าแต่ละประเทศมีกำลังซื้อเป็นอย่างไร เปิดตลาดใหม่ให้มากขึ้นโดยเฉพาะผลไม้ไทย" รมช.พาณิชย์ กล่าวเสริม 

ในส่วนของ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า? นายสุชาติ เผยว่า ก็ต้องลงพื้นที่เก็บข้อมูลการค้าต่าง ๆ จากหอการค้า สภาอุตสาหกรรม หรือผู้ประกอบการธุรกิจ SME เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์แล้วจัดทำนโยบายแผนและยุทธศาสตร์ให้มีข้อมูลรอบด้าน  

สุดท้ายกับ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานที่อบรมให้ความรู้ให้แก่บุคลากรในภูมิภาค เพื่อเสริมศักยภาพด้านการค้าและการพัฒนา ซึ่งทุกหน่วยงานต้องคิดนอกกรอบ เหล่านี้คือภารกิจใต้หมวกผู้ช่วยรัฐมนตรีพาณิชย์ ณ ปัจจุบัน

เมื่อถามถึงความกังวลใจกับภารกิจในการบริหารงานกระทรวงพาณิชย์ที่ค่อนข้างหนัก? นายสุชาติ กล่าวว่า "จริงๆ แล้ว เป็นความ 'ใฝ่ฝัน' ของผมเลย เพราะวันหนึ่งผมเคยทำหลายภารกิจของกระทรวงแรงงานได้สำเร็จ ก็อยากทำเรื่องการค้าขายให้ประเทศไทยร่ำรวย และมี GDP ต่อประชากรสูงๆ ด้วยเช่นกัน"

เมื่อถามถึงประเด็นราคาสินค้าและค่าครองชีพสูงในปัจจุบัน? นายสุชาติ กล่าวว่า "เรื่องนี้ท่านภูมิธรรม ได้มอบนโยบายให้ทางกรมการค้าภายใน โดยท่านอธิบดีลงไปดูหลายเรื่อง ลงไปดูต้นทุนสินค้าจริงๆ ว่าเป็นอย่างไร มันสูงจริงไหม ด้วยเหตุและผล และต้องทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ค่าครองชีพสูงกว่านี้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ต้องดูแลเรื่องราคาสินค้าไม่ให้ผู้ผลิตเอาเปรียบผู้บริโภค และต้องสร้างสมดุลให้ได้ เอาความจริงให้ปรากฏอย่าฟังความข้างเดียว" 

สุดท้าย นายสุชาติ ยังได้ฝากถึงกลุ่มผู้กักตุนสินค้า ด้วยว่า ไม่ควรกักตุน เพราะเป็นการเอาเปรียบประชาชน 

'รมช.สุชาติ' เผยข่าวดี!! เจรจา 'KTEPA ไทย-เกาหลีใต้' รอบแรก จ่อเพิ่มตัวเลขส่งออกไทยไปเกาหลีใต้ได้สูงถึงร้อยละ 77

(11 ก.ค. 67) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามที่ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูมิธรรม เวชยชัย ให้กำกับดูแลกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศนั้น ในการประชุมเจรจาจัดทำความตกลง KTEPA ครั้งที่ 1 ระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ ที่มีการประชุมไปแล้วเมื่อวันที่ 9 - 11 กรกฎาคม 2567 โดยไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ และฝ่ายไทยมีอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะเจรจา และมีผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมคณะด้วย และฝ่ายเกาหลีใต้ มีนายคอนกิ โร เป็นหัวหน้าคณะเจรจา

โดย รมช.สุชาติ ได้กล่าวถึงผลการประชุมความตกลง KTEPA ระหว่างไทยและเกาหลีใต้ ว่า การร่วมกันเจรจาในครั้งนี้จะช่วยยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ โดยคาดว่ามูลค่าการค้าระหว่างกันจะขยายตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งจะมีการลงทุนจากเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นในประเทศไทย

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาเบื้องต้นของไทย ประเมินว่า ความตกลง KTEPA จะช่วยเปิดตลาดการค้าสินค้าและบริการ และการลงทุนเพิ่มเติมจาก FTA ที่มีอยู่เดิม ได้แก่ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ (AKFTA) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) โดยมีกลุ่มสินค้าที่คาดว่าไทยจะส่งออกไปเกาหลีใต้มากขึ้น อาทิ ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และประมง (อาทิ เนื้อไก่แช่แข็งและแปรรูป อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป) ผลไม้เมืองร้อน (อาทิ มะม่วง ฝรั่ง และมังคุด) ผลิตภัณฑ์อาหารอื่น ๆ (อาทิ แป้ง ซอสและของปรุงรส) ผลิตภัณฑ์ไม้ (อาทิ ไม้แปรรูป พาติเคิลบอร์ด ไม้อัดพลายวูด) และเคมีภัณฑ์ 

นอกจากนี้ ยังมีสาขาบริการที่คาดว่าไทยจะได้ประโยชน์จากการเปิดตลาดการค้าบริการของเกาหลีใต้ อาทิ บริการด้านธุรกิจ บริการการขนส่ง คลังสินค้า และบริการด้านโรงแรมและภัตตาคาร โดยคาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น 1,282 - 1,788 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.32 - 0.44 ซึ่งเหล่านี้ จะส่งผลบวกต่อการส่งออกของไทยไปเกาหลีใต้ โดยจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 2,420 - 4,654 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 40.15 - 77.21

รมช.สุชาติ เผยอีกว่า ในการประชุมเจรจาจัดทำความตกลง KTEPA ครั้งที่ 1 นี้ มีประชุมในระดับคณะทำงาน ทั้งหมด 13 คณะ ประกอบด้วย 

1) การค้าสินค้า 
2) มาตรการเยียวยาทางการค้า 
3) กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า 
4) พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 
5) มาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช 

6) อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า 
7) การค้าบริการข้ามพรมแดน 
8) การลงทุน 
9) การค้าดิจิทัล 
10) การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 

11) ทรัพย์สินทางปัญญา 
12) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย 
และ 13) ประเด็นทางกฎหมายและสถาบัน โดยคณะทำงานต่าง ๆ ได้หารือแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องแต่ละฝ่าย และเริ่มเจรจาข้อบทภายใต้ความตกลง KTEPA ในส่วนที่เกี่ยวข้อง 

นอกจากนี้ สองฝ่ายยังได้มีการจัดทำแผนงานการเจรจา โดยเบื้องต้นกำหนดให้มีการเจรจาทั้งหมด 7 รอบและตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2568 ทั้งนี้ เกาหลีใต้จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจรจาจัดทำความตกลง KTEPA ครั้งที่ 2 ในเดือนกันยายน 2567 ณ กรุงโซล

ในปี 2566 เกาหลีใต้เป็นคู่ค้าอันดับ 12 ของไทย การค้าระหว่างกันมีมูลค่า 14,736.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปเกาหลีใต้ 6,070.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำตาลทราย แผงวงจรไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม และไทยนำเข้าจากเกาหลีใต้ 8,666.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สำหรับในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 (เดือนมกราคม - พฤษภาคม) การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 6,303.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออกจากไทย 2,514.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการนำเข้าจากเกาหลีใต้ 3,789.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

‘สุชาติ’ หารือ ‘ทูตโมซัมบิก’ ผลักดันอุตสาหกรรม-การค้าอัญมณี เล็งแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญ-วัตถุดิบในการทำเครื่องประดับ

(1 ส.ค. 67) ณ กระทรวงพาณิชย์ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูมิธรรม เวชยชัย ให้การต้อนรับและหารือกับนายเบลมีรู จูแซ มาลาตี (H.E. Mr. Belmiro José Malate) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐโมซัมบิกประจำประเทศไทย ถิ่นพำนัก ณ กรุงจาร์กาตา ในโอกาสเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วม ‘พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗’ 

โดยโมซัมบิกเป็นประเทศที่ตั้งอยู่บริเวณแอฟริกาตอนใต้ เป็นเมืองท่าสำคัญ สามารถเป็นประตูการค้าไปสู่ทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะกลุ่มประเทศแอฟริกาตอนใต้ อาทิ แอฟริกาใต้ มาลาวี ซิมบับเว แซมเบีย และเอสวาตินี 

นอกจากนี้ โมซัมบิกยังเป็นแหล่งวัตถุดิบอัญมณีและก๊าซธรรมชาติที่สำคัญของไทย ขณะเดียวกัน ไทยมีศักยภาพในการส่งออกสินค้าเกษตร และเครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งโมซัมบิกมีความต้องการใช้ภายในประเทศสูง จึงได้ฝากเชิญชวนนักธุรกิจโมซัมบิกเข้าร่วมงานแสดงสินค้าของไทย อาทิ Bangkok Gems & Jewelry Fair (อัญมณีและเครื่องประดับ) งาน Bangkok RHVAC and E&E (สินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์) และงาน THAITHAM (เครื่องจักรกลการเกษตร) เพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าศักยภาพของไทยเข้าสู่ตลาดโมซัมบิก ขณะเดียวกัน โมซัมบิกได้ฝากเชิญชวนนักธุรกิจไทยเข้าร่วมงาน FACIM ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าขนาดใหญ่ของโมซัมบิก จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 สิงหาคม - 1 กันยายน 2567 ณ กรุงมาปูโต 

“ผมได้พูดคุยหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของทั้งสองประเทศ
ซึ่งมีผลประโยชน์เกื้อกูลกัน โดยโมซัมบิกมีความประสงค์ที่จะเรียนรู้ทักษะการเจียระไนจากไทยซึ่งมีความเชี่ยวชาญ ขณะที่ไทยมีความต้องการวัตถุดิบอัญมณี โดยเฉพาะพลอยแดงและพลอยเนื้ออ่อนจากโมซัมบิก ซึ่งถือเป็นแหล่งกำเนิดพลอยคุณภาพดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ผมจึงเสนอให้ทั้งสองฝ่ายจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านอัญมณีและเครื่องประดับระหว่างกัน และในโอกาสเดียวกัน ผมได้แจ้งท่านเอกอัครราชทูตว่า ขอเรียนเชิญนายการ์โลส ซาคาเรียส (H.E. Mr. Carlos Zacarias) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรณีและพลังงานโมซัมบิก เดินทางเยือนประเทศไทย ในช่วงที่กระทรวงพาณิชย์มีการจัดงานแสดงสินค้า Bangkok Gems & Jewelry Fair ในเดือนกุมภาพันธ์และกันยายนของทุกปี เพื่อต่อยอดความสัมพันธ์ด้านการค้าอัญมณีระหว่างสองประเทศต่อไป” นายสุชาติกล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ โมซัมบิกเป็นคู่ค้าอันดับที่ 56 ของไทย และอันดับที่ 6 ในทวีปแอฟริกา โดยในปี 2566 การค้าระหว่างกันมีมูลค่า 693.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (24,254.61 ล้านบาท) โดยไทยส่งออกไปโมซัมบิก 181.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (6,264.90 ล้านบาท) และไทยนำเข้าจากโมซัมบิก 511.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (17,989.71 ล้านบาท) สำหรับการค้าระหว่างกันในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 มีมูลค่า 299.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (10,765.76 ล้านบาท) โดยไทยส่งออกไปโมซัมบิก 134.93 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (4,813.16 ล้านบาท) และไทยนำเข้าจากโมซัมบิก 164.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (5,952.60 ล้านบาท) สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ข้าว น้ำมันสำเร็จรูป รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และเคหะสิ่งทอ สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น ก๊าซธรรมชาติ อัญมณี ถ่านหิน สินแร่โลหะ และกุ้งแช่เย็นแช่แข็ง

‘สุชาติ’ ยกย่อง ‘ภูมิธรรม’ มุ่งมั่นทำเพื่อชาติบ้านเมือง ยก!! เป็นคนดี-มีวิสัยทัศน์-เป็นผู้นำ ยินดีนั่งกลาโหม

(10 ก.ย. 67) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุผ่านแฟนเพจ ‘สุชาติ ชมกลิ่น’ เผยความประทับใจที่ได้ร่วมงานกับ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อครั้งนายภูมิธรรมดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ 

โดยระบุว่า “ช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ที่ผมได้อยู่ใต้ร่มเงา ‘พี่อ้วน ภูมิธรรม’ ซึ่งเป็นเจ้ากระทรวงพาณิชย์ ผมมีเพียงความรู้สึกประทับใจในบทบาทการทำงาน ที่พี่ทำไว้เป็นแบบอย่าง เป็นต้นแบบการทุ่มเทกำลังแรงใจ เพื่อชาติเพื่อบ้านเมืองได้เป็นอย่างดี ความเป็นผู้นำและวิสัยทัศน์ ทำให้พี่อ้วนเป็นเจ้ากระทรวงที่ดีมาก ๆ คนหนึ่ง และผมขอแสดงความยินดีกับการไปดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม ครับ…

‘เฮ้ง’ สุชาติ ชมกลิ่น”

‘รมช.สุชาติ’ ผลักดันแนวคิด ‘ข้าวไทย สู่อาหารโลก’ พร้อมพัฒนาเป็น ‘สินค้าพรีเมียม’ แข่งขันในตลาดโลก

(18 ก.ย. 67) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงาน Thai Rice Networking Forum 2024 ซึ่งเป็นงานที่กรมการค้าต่างประเทศจัดขึ้นต่อเนื่องทุกปี เพื่อส่งเสริมและผลักดันตลาดข้าวไทยและให้ผู้ส่งออกไทยและผู้นำเข้าได้มีเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลตลาดค้าข้าวที่มีการเปลี่ยนแปลงไปว่า…

สินค้าข้าวของไทยเป็นข้าวที่มีคุณภาพ และถือว่าเป็นสินค้าพืชเศรษฐกิจหลักสำคัญของประเทศ ที่สร้างรายได้ให้กับชาวนาและรายได้ให้กับประเทศ และการจัดงานครั้งนี้เพื่อเป็นการเชื่อมโยงการค้าข้าว และรับรู้สถานการณ์การค้าข้าวทั่วโลก

นอกจากนี้ นโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ยังต้องการส่งเสริมการค้าการส่งออกข้าวไทยไปต่างประเทศ และข้าวไทยยังเป็นสินค้าส่งออกสำคัญระดับต้น ๆ ของโลก จึงมีความจำเป็นที่ไทยจะต้องรักษาคุณภาพข้าวไทยเพื่อแข่งขันในตลาด ดังนั้น เพื่อต้องการขยายตลาดการค้าข้าวของไทย จำเป็นจะต้องพัฒนาและเพิ่มศักยภาพ มาตรฐานข้าวไทยในตลาดโลกให้ได้ และต้องให้ทันกับโลกสมัยใหม่

“ต้องให้ตลาดหรือผู้นำเข้า เวลาคิดถึงข้าวให้คิดถึงประเทศไทย พร้อมชูข้าวไทย สู่อาหารโลก”

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยจำเป็นจะต้องประชาสัมพันธ์ข้าวไทย เพื่อผลักดันการส่งออก แต่ละปีไทยส่งออกข้าวเฉลี่ยปีละกว่า 8 ล้านตัน และการส่งออกข้าวไทยในปี 2567 นี้มั่นใจว่าไทยจะสามารถส่งออกข้าวได้ถึง 9 ล้านตัน เพราะผลผลิตของเราในปีนี้เพิ่มขึ้น และอนาคตกระทรวงพาณิชย์มองว่าสินค้าเกษตรของไทยจะต้องพัฒนาให้เป็นสินค้าพรีเมี่ยม เราจะต้องค้าขายไม่เน้นปริมาณ แต่เพื่อคุณภาพที่จะส่งเสริมรายได้ให้กับเกษตรกร

“โดยที่ผ่านมาผมได้มีการประชุมและหารือกับทุกฝ่าย ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายด้านสินค้าเกษตรที่ต้องการยกระดับให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น สินค้าต้องเป็นสินค้าที่ Premium และการสื่อสารเป็นสิ่งจำเป็น ทุกคนเห็นถึงความสำคัญว่าสินค้าเกษตรไทย ต้องเร่งผลักดัน เพื่อให้ประเทศไทยแข่งขันกับต่างประเทศได้”

สำหรับกรณีปัญหาน้ำท่วมในหลายจังหวัดที่กระทบต่อพื้นที่ทางการเกษตร ต้องยอมรับว่ามีผลกระทบและสร้างความเสียหาย แต่อนาคตรัฐบาลพร้อมที่จะหามาตรการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดโซนนิ่งในการปลูกพืชเกษตรที่ให้ความเหมาะสม โดยกระทรวงพาณิชย์พร้อมจะให้ข้อมูลด้านการตลาด เพื่อผลักดันเพื่อการส่งออกข้าวไทยโต ส่วนความเสียหายพื้นที่นาข้าวอาจจะกระทบผลผลิตและมีผลต่อการส่งออกบ้าง แต่น้อยมาก เพราะเราส่งออกตุนมามากแล้ว และไม่กระทบเป้าส่งออกข้าวไทยทั้งปี 2567

ทั้งนี้ การส่งออกข้าวไทยในปีนี้อยู่ในทิศทางที่ดี โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2567 (เดือนมกราคม-กรกฎาคม) ไทยส่งออกข้าวแล้วปริมาณ 5.68 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 21.97 และมีมูลค่า 132,396 ล้านบาท (ประมาณ 3,703 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 50.97 เป็นผลมาจากผู้นำเข้าข้าวมีความต้องการนำเข้าข้าว เพื่อใช้บริโภคและเก็บเป็นสต๊อกเพื่อความมั่นคงทางอาหาร ประกอบกับอินเดียยังคงใช้มาตรการควบคุมการส่งออกข้าว จึงคาดการณ์ว่าในปี 2567 ไทยจะสามารถส่งออกข้าวได้เกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 8.20 ล้านตัน

'สุชาติ' หารือ 'ออสซี่' ชวนลงทุน EEC 'ด้านการศึกษา-พลังงานหมุน' พร้อมขอลดข้อจำกัด-อุปสรรคทางการค้า เอื้อสินค้าไทยไปออสเตรเลีย

(24 ก.ย. 67) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานร่วมการประชุมยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1 กับผู้ช่วยรัฐมนตรีด้านการค้าเครือรัฐออสเตรเลีย (นายทิม แอร์) ในวันที่ 23 กันยายน 2567 ณ กรุงเทพฯ โดยทั้งสองฝ่ายต่างยินดีที่การค้าไทยออสเตรเลียมีมูลค่าสูงสุดอย่างไม่เคยมีมาก่อน พร้อมเดินหน้าขยายการค้าการลงทุน ยกระดับผู้ประกอบการให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะประเด็นการค้าใหม่ ๆ เช่น การค้าดิจิทัล และสิ่งแวดล้อม

นายสุชาติ กล่าวว่า ไทยได้ขอให้ออสเตรเลียร่วมมือกับไทยในหลากหลายด้านภายใต้วาระการดำเนินการของยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและออสเตรเลีย หรือ เซก้า ทั้งเรื่องการยกระดับการเกษตรไทยโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย การส่งเสริม Soft Power ของไทย การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพและการแพทย์ การส่งเสริมการท่องเที่ยว และการดึงดูดการลงทุนออสเตรเลียเข้ามาในไทย การส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต และความร่วมมือด้านพลังงานไฮโดรเจนสีเขียว ซึ่งถือเป็นเทรนด์ใหม่ที่จะช่วยรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทั้งหมดนี้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและแนวทางผลักดันทางการค้าของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายพิชัย นริพทะพันธุ์) ที่เน้นเรื่องการขยายการค้าการลงทุนกับประเทศคู่ค้า การเร่งเจรจาจัดทำ FTA และการยกระดับความสามารถของผู้ประกอบการไทย

นายสุชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยได้ขอให้ออสเตรเลียร่วมมือในการลดข้อจำกัดและอุปสรรคทางการค้าเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านกฎระเบียบ ข้อบังคับ และมาตรฐานในการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปยังออสเตรเลีย และขอให้ออสเตรเลียพิจารณาใช้มาตรการที่กำหนดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรถยนต์นำเข้าจากไทยไปยังออสเตรเลียอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เวลากับภาคอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ไทยได้มีเวลาปรับตัว และเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในอุตสาหกรรมดังกล่าว

“ออสเตรเลียกับไทยมีความสัมพันธ์อย่างยาวนานกว่า 70 ปี ผมได้ขอให้ออสเตรเลียเข้ามาลงทุนใน EEC ทั้งด้านการศึกษาและพลังงานหมุนเวียน อีกทั้งทั้งสองประเทศยังเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรหลัก จึงมีหารือในการส่งเสริมด้านการเกษตรทั้งใน WTO และในรูปแบบทวิภาคีด้วย” นายสุชาติกล่าว

ในส่วนของความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ออสเตรเลีย หรือ ทาฟต้า (TAFTA) มีส่วนสำคัญที่ทำให้การค้าสองฝ่ายเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 200 และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยทั้งสองฝ่ายพร้อมที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินการต่อไป ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ไทยและออสเตรเลียจึงได้ร่วมตัดเค้กเพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จที่ FTA ไทย-ออสเตรเลีย (ทาฟต้า) จะครบรอบ 20 ปี ในวันที่ 1 มกราคม 2568 ด้วย

ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-กรกฎาคม) การค้าระหว่างไทยและออสเตรเลีย มีมูลค่า 10,827.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปออสเตรเลีย มูลค่า 7,234.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 10.07 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และไทยนำเข้าจากออสเตรเลีย มูลค่า 3,593.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ และพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เป็นต้น

‘สุชาติ’ มอบตรา ‘Thai SELECT’ แก่ร้านอาหารไทยในเกาหลีใต้ ส่งเสริมการรับรู้-ยกระดับภาพลักษณ์ ‘อาหารไทย’ ในต่างประเทศ

(25 ก.ย. 67) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังมอบตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ณ กรุงโซล ให้แก่ร้านอาหารไทย 4 แห่งในเกาหลีใต้โดยมี Mr.Stanley Park ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์การค้าระหว่างประเทศ และ น.ส.โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมด้วย ว่า…

กระทรวงพาณิชย์มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลกตามนโยบายรัฐบาล และผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ของไทยผ่านอาหารไทยและร้าน Thai SELECT ซึ่งจะช่วยยกระดับภาพลักษณ์และขยายการรับรู้ในตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ของกลุ่มผู้บริโภคในตลาดเกาหลีใต้ ภายใต้นโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ในเรื่องของแผนงาน ‘อาหารไทย อาหารโลก’ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินการกระตุ้นการบริโภคอาหารไทยในต่างประเทศผ่านตราสัญลักษณ์ Thai SELECT เพื่อยกระดับการให้บริการอาหารไทยของร้านอาหารไทยในต่างประเทศ ส่งเสริมให้ร้านอาหารไทย สร้างมูลค่าให้แก่อาหารไทยสู่ผู้บริโภคที่มีอยู่ทั่วโลก อันเป็นการส่งเสริมธุรกิจบริการร้านอาหารไทยและยกระดับอาหารไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลอย่างต่อเนื่องและกว้างขวาง 

โดยได้มอบให้แก่ ร้านอาหารไทย 4 แห่ง ในเกาหลีใต้ ได้แก่ 
1) ร้านครัวไทย (Krua Thai) 
2) ร้านเลมอนกราส ไทย สาขา Isu (Lemongrass Thai) 
3) ร้านนานา แบงคอก (Nana Bangkok) 
4) ร้านสุขุมวิท 19 (Sukhumvit 19) 

นอกจากนี้ ยังมีร้านอาหารไทยที่เคยได้รับ Thai SELECT แล้วอีก 3 ร้านได้แก่ ร้าน คนไทย ร้าน ครับผม และร้าน สยาม มาร่วมในการมอบตราสัญลักษณ์ด้วย

ตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ที่มอบให้แก่ร้านอาหารไทยในต่างประเทศมี 3 ประเภท ตามเกณฑ์รูปแบบของร้าน การตกแต่งร้าน คุณภาพของอาหารและการบริการ คือ

1. Thai SELECT Signature มอบให้ร้านอาหารไทยในต่างประเทศที่ให้บริการอาหารไทยแท้คุณภาพยอดเยี่ยม มีการตกแต่งร้านสวยงาม และการให้บริการที่เป็นเลิศ เป็นร้านที่มีความโดดเด่นในภาพลักษณ์และเอกลักษณ์ของอาหารไทย

2. Thai SELECT Classic มอบให้ร้านอาหารไทยในต่างประเทศที่ให้บริการอาหารรสชาติตามมาตรฐานอาหารไทย คุณภาพอาหารรวมถึงการให้บริการและการตกแต่งร้านในระดับที่ดี

3. Thai SELECT Casual มอบให้ร้านอาหารไทยในต่างประเทศที่ให้บริการอาหารที่มีรสชาติไทย แต่มีข้อจำกัดในด้านบริการ (Limited Service Restaurant) หรือเป็นร้านที่มีขนาดเล็ก และ/หรือมีความเรียบง่าย ให้ความรู้สึกสะดวกสบายในการใช้บริการ เช่น ร้านอาหารไทยในฟู้ดคอร์ท ร้าน Fast Food ร้านอาหารที่มีที่นั่งจำกัดหรือไม่มีที่นั่งหน้าร้าน Food Truck หรือเป็นร้านอาหารไทยที่มีเมนูไม่มากแต่ล้วน เป็นอาหารไทยที่มีรสชาติตามต้นตำรับไทย หรือเป็นร้านที่ให้บริการอาหารไทยแนว Street Food เป็นต้น

ปัจจุบัน มีร้านอาหารไทยถึง 320 แห่งในเกาหลีใต้ โดยเป็นร้านอาหารไทยที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT จำนวน 50 แห่ง เป็นร้านอาหารแบบ signature 9 ร้าน แบบ classic 37 ร้าน และแบบ casual 4 ร้าน ซึ่ง สคต. ณ กรุงโซล ตั้งเป้าที่จะขยายจำนวนร้านอาหาร Thai SELECT ให้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการบริโภคในร้านอาหาร Thai SELECT อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเชิญ Influencers ที่เป็นที่รู้จักในเกาหลีใต้ มารับประทานอาหารที่ร้านอาหารไทยเพื่อสร้างกระแสความนิยมในอาหารไทยมากยิ่งขึ้น

รมช.พณ. ได้เน้นย้ำถึงนโยบายของรัฐบาลไทยที่มุ่งส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งอาหารไทยเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ศักยภาพของไทย และการมอบตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ให้กับร้านอาหารไทยโดยกระทรวงพาณิชย์ เป็นการการันตีคุณภาพและมาตรฐานของการประกอบกิจการอาหารไทย รวมถึงเป็นการส่งเสริมการส่งออกวัตถุดิบและเครื่องปรุงไทยไปยังต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งหากร้านอาหารไทยมีความนิยมจากผู้บริโภคมากขึ้น ก็อาจจะส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานพ่อครัว/แม่ครัวไทยมากขึ้นเช่นกัน 

ดังนั้น รมช.พณ. จึงเห็นว่า อาหารไทยและร้านอาหารไทยเปรียบเสมือนทูตวัฒนธรรมที่ทำให้คนเกาหลีใต้ ตลอดจนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเกาหลีใต้ได้ลิ้มลองและสัมผัสความเป็นไทย วิถีชีวิต และวัฒนธรรมต่าง ๆ ของไทยอีกด้วย ดังนั้น จึงขอฝากให้ร้านอาหารไทยทั้งที่ได้รับรางวัล Thai SELECT และร้านที่ยังไม่ได้รับในเกาหลีใต้คงรักษามาตรฐานและความเป็นอัตลักษณ์ของอาหารไทยไว้ต่อไป เพื่อให้ร้านอาหารไทยเป็นที่แพร่หลายและนิยมไปทั่วโลก

‘สุชาติ’ หารือ ‘รมช. การค้าตุรกี’ ผลักดันเจรจา FTA ต่อ สานสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนไทย-ตุรกี

(5 พ.ย. 67) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตนได้พบหารือทวิภาคีกับนายมุสตาฟา ตุซคู (H.E. Mr. Mustafa Tuzcu) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าสาธารณรัฐตุรกี ในห้วงการเดินทางเยือนตุรกี เพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการถาวรว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า (COMCEC) ครั้งที่ 40 ภายใต้องค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ระหว่างวันที่ 4-5 พฤศจิกายน 2567 ณ นครอิสตันบูล 

นายสุชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สองฝ่ายได้หารือถึงแนวทางที่จะเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างกัน โดยเฉพาะการกลับเข้าสู่การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ตุรกี ซึ่งได้หยุดชะงักลงตั้งแต่ปี 2565 หลังจากการเจรจาร่วมกันมา 7 รอบโดยขอให้คณะเจรจาสองฝ่ายกลับเข้าสู่การเจรจา FTA ระหว่างกันโดยเร็ว โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่ายนอกจากนั้น ฝ่ายตุรกียังได้แสดงความพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า หรือ Joint Trade Committee (JTC) ระดับรัฐมนตรี ณ กรุงอังการา ซึ่งเป็นกลไกการหารือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับตุรกี ที่สองฝ่ายได้จัดตั้งไว้แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่เคยมีการประชุมระหว่างกัน 

“ผมแจ้งฝ่ายตุรกีว่าไทยพร้อมเข้าร่วมประชุม JTC ไทย-ตุรกี ครั้งที่ 1 เพื่อจะได้หารือถึงแนวทางกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศให้เกิดผลเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ผมได้เชิญชวนฝ่ายตุรกีให้เข้ามาลงทุนในไทยโดยเฉพาะในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ EEC ขณะเดียวกัน ฝ่ายตุรกีก็เชิญชวนไทยเข้าไปลงทุนในตุรกี ซึ่งผมได้แจ้งว่าประเทศไทยมีศักยภาพสูงในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการ และผมจะส่งเสริมให้นักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนในตุรกีต่อไป  ส่วนการเจรจา FTA ที่ค้างอยู่ ผมขอให้ทีมเจรจาสองฝ่ายพูดคุยกันต่อ เพื่อผลักดันให้การเจรจาเดินหน้าต่อไป ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าจะเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันของทั้งสองประเทศ“ นายสุชาติกล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ ตุรกีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 33 ของไทยในตลาดโลก และอันดับที่ 4 ในตะวันออกกลาง ในระยะ 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) ของปี 2567 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 1,221 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง และเส้นใยประดิษฐ์ และสินค้านำเข้า ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องประดับอัญมณี น้ำมันดิบ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top