Sunday, 20 April 2025
สุขภาพ

‘BOI’ ชี้!! ลงทุนสุขภาพ ปี 67 เติบโตก้าวกระโดด รับ ‘เทรนด์สูงวัย-โรคอุบัติใหม่-ท่องเที่ยวการแพทย์’

(21 ม.ค. 67) นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า การลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพในปีนี้ยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลายด้าน อาทิ กระแสการดูแลสุขภาพ การเข้าสู่สังคมสูงวัย อัตราการเจ็บป่วยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นและเป็นโรคที่ซับซ้อนมากขึ้น การเกิดโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ รวมทั้งการขยายตัวของตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์

โดยในช่วงที่ผ่านมามีกลุ่มการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ส่วนใหญ่สนใจเข้ามาในกิจการผลิตเครื่องมือแพทย์และอาหารทางการแพทย์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่จากประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น จีน สหรัฐและยุโรป

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ เป็นสาขาที่ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการเป็นผู้นำของภูมิภาค ด้วยจุดแข็งในด้านคุณภาพการรักษาพยาบาลเป็นที่ยอมรับในระดับโลก ความพร้อมของโรงพยาบาลที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน JCI กว่า 60 แห่ง มากเป็นอันดับ 4 ของโลก อันดับ 1 ของอาเซียน รวมทั้งมีค่ารักษาพยาบาลที่แข่งขันได้

ดังนั้น อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพจึงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่บีโอไอให้ความสำคัญ โดยมีแพ็กเกจให้สิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุนแบบครบวงจร ทั้งด้านการผลิตและการให้บริการ ทั้งในรูปแบบสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3-8 ปี ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบสำหรับการผลิตเพื่อส่งออก ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับของที่นำมาใช้ในการวิจัยและพัฒนา

รวมทั้งสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งจะใช้อำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุน เช่น สิทธิในการถือครองที่ดินเพื่อประกอบกิจการ การอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน เป็นต้น

โดยสิทธิประโยชน์จะครอบคลุมกิจการ ตั้งแต่การผลิตเครื่องมือแพทย์ เวชภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยา อาหารทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมถึงการให้บริการทางการแพทย์ เช่น โรงพยาบาล ศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์การแพทย์แผนไทยหรือแผนไทยประยุกต์ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ ตลอดจนการวิจัยทางคลินิก (Clinical Research) และการพัฒนาซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชันทางการแพทย์

โดยในปี 2566 มีโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมในอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ จำนวน 65 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 16,000 ล้านบาท ในแง่เงินลงทุน ส่วนใหญ่อยู่ในกิจการโรงพยาบาล 10 โครงการ เงินลงทุน 9,000 ล้านบาท รองลงมาเป็นกิจการผลิตเครื่องมือแพทย์และชิ้นส่วน 24 โครงการ 2,700 ล้านบาท กิจการศูนย์การแพทย์เฉพาะทางต่างๆ เช่น โรคไต โรคมะเร็ง และจิตเวช 9 โครงการ 1,600 ล้านบาท และกิจการผลิตยา 12 โครงการ 1,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน บีโอไอได้มีการประชุมหารือกับบุคลากรในวิชาชีพอย่างสม่ำเสมอ ให้มีการปรับปรุงนโยบายและมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในอนาคตอาจมีการพิจารณาเพิ่มประเภทกิจการใหม่ที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาให้เกิดการต่อยอดในอุตสาหกรรมการแพทย์ และหากเป็นกิจการเฉพาะ (นิช มาร์เก็ต) ที่ประเทศไทยมีศักยภาพ จะช่วยสนับสนุนการสร้าง Ecosystem ที่จำเป็นต่อการเป็น Medical Hub ของประเทศไทย เช่น กิจการบริการเดลิเวอรี่ทางการแพทย์ การผลิตไบโอพอลิเมอร์สำหรับการแพทย์ เป็นต้น

'บลูเทค ซิตี้' ร่วมสนับสนุนโครงการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ เขต อบต. สะอ้าน ประจำปี 2567

เมื่อวันที่ (26 ม.ค. 2567) ทีมงานฝ่ายความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) โครงการนิคมอุตสาหกรรม ฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ ได้เข้าร่วมกิจกรรมพร้อมสนับสนุนน้ำดื่ม จำนวน 30 แพ็ค ข้าวสาร 5 กิโลกรัม จำนวน 30 ถุง ให้แก่ โครงการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ณ วัดท่าสะอ้าน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โดยมี นายสนชัย แดงมี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าสะอ้าน เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ เขต อบตท่าสะอ้าน ประจำปี 2567

เนื่องจากปัจจุบันผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผู้สูงอายุจำนวนมากที่ต้องอยู่บ้าน เนื่องจากลูกหลานไปทำงานนอกบ้าน ทำให้ผู้สูงอายุต้องอยู่เพียงลำพัง ประกอบกับปัญหาด้านสุขภาพที่เสื่อมสภาพไปตามวัย และการเกิดโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือดทำให้ส่งผลทางด้านจิตใจ ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคภาวะซึมเศร้าได้ หากผู้สูงอายุได้มีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมต่าง ๆ มีการพบปะพูดคุยกัน จะทำให้ผู้สูงอายุได้ผ่อนคลายความเครียด และยังมีความรู้ใหม่ ๆ สามารถปฏิบัติตนให้ถูกต้องในด้านการดูแลสุขภาพ

ดังนั้นชมรมผู้สูงอายุตบลท่าสะอ้าน จึงได้จัดทำโครงการสร้างเสริม สุขภาพสำหรับผู้สูงอายุในเขต อบต.ท่าสะอ้าน ประจำปีงบประมาณ 2567 ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้สูงอายุได้มีความรู้ในการปฏิบัติตนในด้านสุขภาพและยังการรวมกลุ่มพบปะพูดคุยผ่อนคลายความตึงเครียด อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งของชมรมผู้สูงอายุองค์การบริหารส่วนตำบลท่าสะอ้าน โดยการอบรมในครั้งนี้ จะมีกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้สูงอายุ จำนวน 160 คน และมีอีก ส่วนที่เราต้องติดตามเยี่ยมผู้ป่วยที่ติดเตียง

รพ.ตร. เปิด 'โครงการตำรวจไทยไร้พุงประจำปี 2567' เน้นคัดกรองตำรวจที่มีความเสี่ยงอ้วนลงพุง ให้ความรู้ด้านโภชนาการ ควบคู่การออกกำลังกาย

วันนี้ ( 29 มิ.ย.67) พล.ต.ต หญิง นิรมล ปัณฑวนันท์ นายเเพทย์(สบ 7) เปิดเผยว่า โรงพยาบาลตำรวจ ได้จัด 'โครงการตำรวจไทยไร้พุงประจำปี 2567' โดยเปิดโครงการเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.67 ณ ห้องประชุมชัยจินดา 1 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ ชั้น 20 มี พ.ต.อ หญิง พิลาสินี ชปารังษี โภชนากร(สบ 4)กลุ่มงานโภชนาการ โรงพยาบาลตำรวจและนักโภชนาการให้การต้อนรับ

“โครงการตำรวจไทยไร้พุงประจำปี 2567” จัดขึ้นโดยกลุ่มงานโภชนาการ โรงพยาบาลตำรวจ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้าราชการตำรวจเเละบุคลากรในสังกัดโรงพยาบาลตำรวจคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงอ้วนลงพุง ได้ตระหนักถึงการดูแลตนเองด้านโภชนาการ และการออกกำลังกาย รวมถึงการดูเเลด้านจิตวิทยา เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดี ภายในงานมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมาบรรยายให้ความรู้ในหลายหัวข้อ อาทิ “วางแผนอย่างไรให้ตำรวจไทยห่างไกลโรคอ้วน” โดย น.ส.รุ่งทิพย์ ฟักขาว นักโภชนาการกลุ่มงานโภชนาการ โรงพยาบาลตำรวจ, “จิตวิทยากับการควบคุมน้ำหนัก” โดย พ.ต.อ.วินัย ธงชัย นักจิตวิทยา(สบ5)โรงพยาบาลตำรวจ, “Body Fit Body Balance"  โดย ร.ต. บุรณิน เกตุนิล ประจำ Jett Fitness ประจำสาขา รัชดาภิเษก

โครงการนี้จัดในรูปแบบ Onsite Training และ Online Training (ระบบ ZOOM) มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากทั่วประเทศให้ความสนใจในการเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ เพื่อให้ข้าราชการตำรวจที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงได้รับความรู้ในการวางแผนการควบคุมน้ำหนัก ให้มีสุขภาพดี หุ่นดี ห่างไกลโรค และไร้พุง นอกจากการบรรยาย ยังมีการจัดบูธกิจกรรมต่างๆ เช่น การชั่งน้ำหนัก วัดเส้นรอบเอว เเละbody composition ให้ความรู้ทางด้านโภชนาการเชิงรุก โดยได้นำโมเดลอาหาร การลดหวาน ลดมัน ลดเค็ม มาจัดเเสดงอีกด้วย

ไขความลับ 'อาหารแนวเมดิเตอร์เรเนียน' ปลายทาง 'อายุยืน' ที่คนจาก 5 พื้นที่การันตี

(29 ส.ค. 67) เพจเฟซบุ๊ก ‘Healme’ ผู้เผยแพร่เรื่องราว Health & Wellness ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสุขภาพที่ดีระยะยาว ได้เผยแพร่วิดีโอในหัวข้อ ‘อาหารแบบไหน ช่วยอายุยืน อิงจากการทานอาหารในรูปแบบวิถีชีวิตของชาว Blue Zone ชาวกลุ่มพื้นที่ ที่มีอายุ 100 ปีขึ้นไปมากที่สุดในโลก’ โดยระบุว่า…

กินอาหารแบบ Mediterranean Food ช่วยอายุยืนได้ เพราะจะช่วยส่งเสริมสุขภาพได้มากที่สุด จากการสำรวจที่เข้าไปดูพื้นที่ Blue Zone กลุ่มคนที่อายุยืนมากที่สุดในโลกที่มีอายุ 100 ปีขึ้นไป พบว่าคนกลุ่มนี้ทานอาหารใกล้เคียงกับแบบ Mediterranean Food ที่สุด 

สำหรับพื้นที่ Blue Zone คือพื้นที่ที่มีคนอายุ 100 ปีมากที่สุดในโลก ได้แก่ โอกินาวา ญี่ปุ่น / ซาร์ดิเนีย อิตาลี / โลมาลินดา สหรัฐอเมริกา / นิโคยา คอสตาริกา / อิคาเรีย กรีซ และเมื่อไปดูวิถีชีวิต อาหารการกินจะพบว่าคนกลุ่มเหล่านี้กินใกล้เคียงกันมาก นั่นก็คือแบบ Mediterranean Food อันได้แก่

1.ไม่กินอาหารแปรรูป เน้นกินอาหารที่มองแล้วรู้เลยว่าเป็นวัตถุดิบอะไร 

2.กินผักผลไม้หลากหลาย รวมทั้งเมล็ดธัญพืชต่าง ๆ 

3 กินกรดไขมันดีเยอะ เช่น โอเมก้า 3 จากปลา หรือมะกอก หรือน้ำมันมะกอก 

สำหรับ ‘น้ำมันมะกอก’ เป็นหนึ่งในอาหารหลักของอาหารแบบ Mediterranean Food ในน้ำมันมะกอกมีสารไฮดรอกซีไทโรซอล (Hydroxytyrosol) ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่มีค่า ORAC สูงที่สุด โดยมีค่า ORAC มากกว่าแอสต้าแซนทีน 2.4 เท่า และมากกว่าวิตามินซี 7.3 เท่า (ORAC หรือ Oxygen Radical Absorbance Capacity คือการวัดค่าประสิทธิภาพของสารต้านอนุมูลอิสระ) 

อาหารที่มีค่า ORAC สูงจะมีประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันโรคที่มีสาเหตุมาจากอนุมูลอิสระ เช่น โรคหลอดเลือด หัวใจ มะเร็ง นอกจากนี้ยังช่วยปกป้องเซลล์ให้ปลอดภัยจากการถูกทําลายด้วย

สารไฮดรอกซีไทโรซอล (Hydroxytyrosol) ขึ้นชื่อว่าเป็น Anti-Aging / AntiCancer ช่วยปกป้องร่างกายของได้ดีมาก ๆ โดยจะช่วยดูแลหลอดเลือด และช่วยต้านการอักเสบในร่างกาย ควบคุมระดับความดัน และช่วยปกป้องสมอง เช่น ระบบไฮโพธาลามัส ซึ่งเป็นศูนย์ควบคุมความสมดุลของร่างกาย 

ฉะนั้นถ้าอยากอายุยืนจะต้อง (1) ลดอาหารแปรรูป เลือกทานอาหารที่รู้ว่าคืออะไร (2) หลีกเลี่ยงน้ำตาล ลดแป้ง และเลือกกินอาหารที่มีโอเมก้า 3 มากขึ้น กินกรดไขมันที่ดีมากขึ้น หลีกเลี่ยงพวกโอเมก้า 6 

นอกจากนี้ยังสามารถเปลี่ยนมาใช้น้ำมันมะกอกในการทำอาหารได้ด้วย โดยใช้วิธีที่เรียกว่า Slow Cooking Low Temperature ไม่ต้องใช้อุณหภูมิสูงมาก ก็สามารถใช้ทําอาหารได้ หรือเปลี่ยนจากน้ำสลัดมายองเนส มาเป็นน้ำมันมะกอกก็ได้ แต่ต้องเป็น Extra Virgin Olive Oil น้ำมันมะกอกแบบสกัดเย็น เพื่อจะได้ประโยชน์มาก ๆ และมีสารต้านอนุมูลอิสระที่สูง

เชียงใหม่-คณะพยาบาลศาสตร์ มช. ร่วมกับ 8 มหาวิทยาลัยต่างประเทศ จัดการประชุมวิชาการนานาชาติ Global Health Recalibration 2024

(4 ก.ย.67) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ 8 มหาวิทยาลัยต่างประเทศ จัดประชุมวิชาการนานาชาติ ‘การเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพโลก’: การสร้างความเข้มแข็งด้านผลลัพธ์ทางสุขภาพ การศึกษา การปฏิบัติทางคลินิก และวิจัย (Global Health Recalibration: Strengthening Outcomes, Education, Clinical Practice, and Research) โดยมี นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ให้เกียรติเป็นประธานพิธีเปิดการประชุม พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทพ.พิริยะ เชิดสถิรกุล  รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธานี แก้วธรรมานุกูล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตลอดจนนักวิชาการ นักวิจัยด้านสุขภาพ นักศึกษาจากประเทศไทยและต่างประเทศ  เข้าร่วมประชุม ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติ โรงแรมดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำ จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ 1) University of Adelaide 2) Columbia University 3) Duke University 4) University of Illinois at Chicago 5) Johns Hopkins University 6) Kagawa University 7) University of Michigan และ 8) Taipei Medical University ได้จัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง การเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพโลก: การสร้างความเข้มแข็งด้านผลลัพธ์ทางสุขภาพ การศึกษา การปฏิบัติทางคลินิก และวิจัย (Global Health Recalibration: Strengthening Outcomes, Education, Clinical Practice, and Research) กำหนดจัดในระหว่างวันที่ 4 – 6 กันยายน 2567 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติ โรงแรมดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่ 

ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นักวิชาการ นักวิจัยด้านสุขภาพ รวมทั้งนักศึกษาจากประเทศไทยและต่างประเทศ รวมทั้งสิ้น 433 คน จากทั่วโลก ได้แก่ ออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาชนจีน จีนไทเป เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มัลดีฟส์ นิวซีแลนด์ ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ศรีลังกา สหรัฐอเมริกา เวียดนาม และไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออภิปรายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพโลก ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผลลัพธ์ทางสุขภาพที่เข้มแข็ง การศึกษา การปฏิบัติทางคลินิก และวิจัย รวมถึงโอกาสและความท้าทาย ของการสร้างผลลัพธ์ที่เข้มแข็งทางด้านสุขภาพ ผ่านความร่วมมือระหว่างสหวิชาชีพ นอกจากนั้น ยังเป็นเวทีสำหรับสหวิชาชีพ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพในการสร้างเครือข่าย อันจะนำไปสู่การพัฒนาทีมสุขภาพและการพัฒนาสุขภาพโลกในระดับภูมิภาคและระดับโลก 

การประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง การเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพโลก: การสร้างความเข้มแข็งด้านผลลัพธ์ทางสุขภาพ การศึกษา การปฏิบัติทางคลินิก และวิจัยในครั้งนี้ นับเป็นการจัดประชุมวิชาการนานาชาติครั้งที่ 7 ที่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุม ซึ่งจะเป็นการสานต่อ และพัฒนาองค์ความรู้ ด้านการส่งเสริมสุขภาพของโลกต่อเนื่องมาจากการจัดประชุมวิชาการนานาชาติที่คณะพยาบาลศาสตร์ได้จัดไปแล้ว จำนวน 6 ครั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2544, พ.ศ. 2547, พ.ศ. 2551, พ.ศ. 2555, พ.ศ. 2559, และ พ.ศ. 2563 (จัดทุก 4 ปี) ซึ่งประสบผลสำเร็จอย่างมาก ซึ่งจะเห็นได้จากการที่มีผู้เข้าร่วมการประชุมมาจากทั่วโลก ทั้งนี้ยังได้ดำเนินกิจกรรมพบปะสนทนาระหว่างผู้แทนจากเครือข่ายของศูนย์ความร่วมมือทางการพยาบาลและการผดุงครรภ์ขององค์การอนามัยโลก The Global Network of WHO Collaborating Centers จากนานาประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กระชับความสัมพันธ์ และส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างศูนย์ความร่วมมือและสมาชิกพันธมิตร

สำหรับการจัดประชุมวิชาการนานาชาติ Global Health Recalibration 2024 จะเป็นการเผยแพร่ให้ความรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากวิทยากร/ผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงในระดับโลก จำนวน 15 คน นอกจากนี้ ในการประชุม ได้มีการนำเสนอผลงานวิจัย จำนวน 236 เรื่อง แบ่งเป็นการนำเสนอแบบปากเปล่า (Oral Presentation) 120 เรื่อง และนำเสนอด้วยโปสเตอร์ 116 เรื่อง และได้มีการจัดนิทรรศการวิชาการจากสถาบันการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถเลือกชมกิจกรรม และความก้าวหน้าของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ อีกด้วย 

วิจัยเผยมนุษย์แก่ตัวแบบไร้กฎเกณฑ์ อวัยวะแต่ละส่วนเสื่อมสภาพไม่พร้อมกัน

(27 พ.ย. 67) ซินหัว เผยว่าคณะนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดค้นพบว่าความแก่ตัว (aging) เกิดขึ้นอย่างไร้กฎเกณฑ์มากกว่าที่คาดกันไว้มาก โดยอาจเริ่มต้นจากส่วนต่างๆ ของร่างกายในเวลาแตกต่างกันไป และอาจเกิดมาเนิ่นนานก่อนที่เจ้าของร่างกายจะทันคิดเรื่องความแก่ตัวเสียอีก

“ความแก่ตัวยังเป็นเรื่องปัจเจก มันเกิดขึ้นในระดับโมเลกุลภายในตัวเราแต่ละคน และเราอาจควบคุมกระบวนการนี้ได้เพียงบางส่วน” รายงานระบุ พร้อมเสริมว่าเมื่อเรารู้ว่าอวัยวะแก่ตัวลงอย่างไร เราอาจสามารถหยุดยั้งหรือเร่งกระบวนการนั้นได้ผ่านวิถีการดำเนินชีวิต

คณะนักวิทยาศาสตร์ได้ใช้ชีววิทยาโมเลกุลขั้นสูง พันธุศาสตร์ และคลังข้อมูลขนาดใหญ่มาวิเคราะห์ตัวอย่างเลือดจากคน จนสามารถบอกได้ว่าผู้คนบางส่วนมี “หัวใจแก่” ที่หมายความว่าหัวใจของพวกเขาแก่กว่าส่วนอื่นๆ ของร่างกายเป็นอย่างมาก หรือมี “สมองแก่” หรือ “สมองอ่อนวัย” ซึ่งหมายถึงมีสมองค่อนข้างอ่อนวัยกว่าอวัยวะอื่นในร่างกาย และอาจมี “กล้ามเนื้อแก่” หรือ “ตับอ่อนวัย” ซึ่งอวัยวะแทบทุกส่วนสามารถเป็นอวัยวะแรกที่ชี้ให้เห็นถึงสัญญาณของความแก่ตัวเร็วกว่าปกติได้

รายงานชี้ว่าผลสืบเนื่องจากความแก่ตัวต่อสุขภาพมนุษย์นั้นมีอยู่จำนวนมาก โดยในผลการศึกษาเกี่ยวกับการแก่ตัวลงของอวัยวะในมนุษย์ครั้งใหญ่สุดครั้งหนึ่ง คณะนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดพบว่าผู้มีหัวใจแก่มีแนวโน้มเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวมากกว่าคนอื่น ขณะผู้มีสมองอ่อนวัยมีโอกาสเกิดภาวะสมองเสื่อมช่วงบั้นปลายชีวิตน้อยกว่าผู้มีสมองปกติหรือสมองแก่ประมาณร้อยละ 80

ด้านแฮมิลตัน เซ-ฮวี โอ นักวิจัยหลังปริญญาเอก ผู้นำการศึกษาวิจัยระหว่างศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยฯ กล่าวว่าผลลัพธ์ข้างต้นตอกย้ำว่า “ความแก่ตัวเป็นเรื่องซับซ้อนเพียงใด” และถือเป็นหนึ่งในข้อสรุปแรกๆ ที่เป็นไปได้จากในบรรดาศาสตร์ด้านการแก่ตัวลงของมนุษย์ที่มักถูกพูดถึงแบบเกินจริงไปมาก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top