Saturday, 24 May 2025
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

สศค. เปิดยอด 'คนละครึ่ง' สั่งอาหารผ่านฟู้ดเดลิเวอรี่วันแรกเฉียด 12 ล้านบาท

5 ต.ค. 64 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า จากข้อมูล ณ วันที่ 3 ตุลาคม 2564 โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 มีผู้ใช้สิทธิสะสมจำนวน 24.52 ล้านราย จากผู้เข้าร่วมโครงการรวม 27.31 ล้านราย โดยมียอดการใช้จ่ายสะสมรวม 72,726 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่ายสะสม 37,004.3 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 35,721.7 ล้านบาท และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ มีประชาชนผู้ใช้สิทธิจำนวน 78,451 คน จากจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ 496,336 ราย โดยมียอดใช้จ่ายสะสมรวมทั้งหมด 2,444 ล้านบาท โดยมีมูลค่าการใช้จ่ายสะสมที่นำมาคำนวณสิทธิ e-Voucher 1,911 ล้านบาท และคิดเป็นมูลค่าสะสม e-Voucher ทั้งสิ้นกว่า 208 ล้านบาท และมูลค่าการใช้จ่ายส่วน e-Voucher 102 ล้านบาท 

นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงการคลังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในวันนี้ (4 ตุลาคม 2564) ประชาชนผู้ได้รับสิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ (โครงการฯ) สามารถใช้สิทธิซื้ออาหาร และเครื่องดื่มจากร้านอาหารและเครื่องดื่มที่เข้าร่วมโครงการฯ ผ่านผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มได้เป็นวันแรก ซึ่งขณะนี้มีผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มที่ได้รับอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการฯ แล้ว 2 ราย ได้แก่ Grab และ LINEMAN และมีผู้ประกอบการร้านอาหารและเครื่องดื่มในโครงการฯ สามารถขายอาหารและเครื่องดื่ม ผ่านผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มแล้วกว่า 47,000 ราย จากผู้ลงทะเบียน 57,000 ราย โดยประชาชนสามารถใช้บริการ เวลา 06.00 - 20.00 น. ของทุกวัน ตามขั้นตอนดังนี้

1.) เข้าแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” กดแถบแบนเนอร์ (Banner) ฟู้ดเดลิเวอรี่ในหน้าแรก หรือสามารถเข้าผ่าน g-Wallet กด Banner โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 หรือโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ แล้วจึงกด Banner ฟู้ดเดลิเวอรี่

2.) กด “สั่งผ่านฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์ม” บนแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” แล้วจึงเลือกผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มที่ต้องการใช้งาน หรือสามารถกด “ค้นหาเมนูหรือร้านอาหาร” เพื่อเลือกซื้ออาหาร/เครื่องดื่มได้ 

3.) หลังจากเลือกตามข้อ 2 ระบบจะเชื่อมไปที่แอปพลิเคชันฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มเพื่อสั่งอาหาร/เครื่องดื่มจากร้านอาหาร/เครื่องดื่มที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยประชาชนจะต้องชำระค่าส่งที่แอปพลิเคชันฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มก่อน 

4.) ประชาชนจะได้รับการแจ้งเตือนให้ชำระค่าอาหาร/เครื่องดื่มบน g-Wallet และกดปุ่มชำระค่าอาหาร/เครื่องดื่มพร้อมใช้สิทธิผ่าน g-Wallet โดยต้องชำระเงินภายใน 5 นาที

'คลัง' ยันเสถียรภาพ ศก.ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ดัชนีเชื่อมั่นโต อัตราเงินเฟ้อลด

(27 ก.พ. 66) นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และสูงสุดในรอบ 26 เดือน ขณะที่แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อลดลงต่อเนื่อง โดยความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 51.7 จากระดับ 49.7 ในเดือนก่อน

ทั้งนี้ สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น หลังจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น ส่วนเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ในเดือนมกราคม 2566 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -7.3% แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 6.6%

ขณะที่ เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนมกราคม 2566 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่10.1% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 2.1%

'รัดเกล้า' เผย!! สศค.เล็งทบทวน มาตรการช่วยอสังหาฯ เพิ่มเงินกู้บ้านล้านหลังเป็น 2 ล้านบาท พร้อมลดค่าจด-โอน เหลือ 0.01%

(30 มี.ค.67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง เตรียมพิจารณาทบทวนมาตรการช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ ให้เติบโตขึ้น โดยพิจารณามาตรการลดค่าจดทะเบียนการโอนจากเดิม 2% เหลือ 1% คำจดจำนองจากเดิม 1% เหลือ 0.01% สำหรับอสังหาฯที่ราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 3 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน3 ล้านบาท โดยจะขยายให้ราคาซื้อขายเกิน 3 ล้านบาทมีสิทธิเข้าร่วมมาตรการด้วย แต่ให้สิทธิเฉพาะ 3 ล้านบาทแรก

ส่วนมาตรการการเงิน โครงการบ้านล้านหลัง เฟส 3 ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่กำหนดให้กู้ได้เฉพาะผู้ซื้อบ้านก่อสร้างและวงเงินกู้สูงสุดต่อรายต่อหลักประกันไม่เกิน1.5 ล้านบาทนั้น จะขยายเป็นราคาสูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท เพราะที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท หาได้ยากและไม่ได้เสี่ยงมาก ส่วนการทบทวนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้มา 5-6 ปีแล้ว กระทรวงการคลัง และกระทรวงมหาดไทย กำลังศึกษาร่วมกันเพื่อทบทวนให้เหมาะสม เช่นการจัดระเบียบประเภทที่ดินให้ชัดเจนมากขึ้นรวมทั้งการให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ปัจจุบันให้ อปท. ใช้ดุลพินิจได้ตามความเหมาะสม เช่น ที่ดินเปล่าที่เจ้าของปลูกต้นไม้ทำสวน แต่ไม่ถึงเกณฑ์เป็นที่ดินเพื่อการเกษตรนั้นได้ให้ อปท.ตัดสินใจได้เลยว่าจะเข้าเกณฑ์ใดส่วนอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยังไม่มีแนวคิดปรับเพิ่มขึ้น ทั้งนี้การปรับมาตรการกล่าว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ โดย นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เตรียมรายละเอียดเพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมครม.ในเร็ว ๆ นี้

‘กระทรวงการคลัง’ เตรียมเสนอ!! ‘อารีย์ สกอร์’ เข้าครม. กลางปี 68 หวังช่วยปชช. เข้าถึงสินเชื่อ!! ผ่านแบงก์รัฐ ไม่ต้องพึ่งหนี้นอกระบบ

(3 พ.ค. 68) นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน MOF Journey 150 ปี เส้นทางการคลังไทย หัวข้อ Ari Score Sandbox ว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการจัดทำ Ari Score ( อารีย์ สกอร์ )

ซึ่งเป็นนวัตกรรมการทำเครดิตสกอริ่ง ( คะแนนเครดิต ) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างคะแนนเครดิตหรือข้อมูลเครดิตที่สามารถใช้ในการเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น สำหรับกลุ่มคนเหล่านี้ที่มักจะมีรายได้ไม่แน่นอน มีเงินออมและสินทรัพย์น้อย รวมถึงมีภาระค่าใช้จ่ายสูง

ทั้งนี้ อารีย์ สกอร์ ใช้ข้อมูลจากหลายแหล่ง เช่น ข้อมูลจากสวัสดิการแห่งรัฐ,ข้อมูลภาษี,หนี้สิน,เงินฝาก และข้อมูลเครดิตบูโร เพื่อประเมินความสามารถในการชำระหนี้และวินัยทางการเงินของผู้ใช้บริการ มุ่งหวังที่จะช่วยให้คนกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบ คาดเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) กลางปีนี้หรือไม่เกินมิ.ย.2568

“อารีย์ สกอร์ จะช่วยให้ประชาชนตัวเล็ก เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน สินเชื่อ เพื่อใช้ประกอบอาชีพหรือการดํารงชีวิต เพื่อจะไม่ได้เกิดเรื่องของสุญญากาศทางการเงินของครอบครัวต่อไป”

นายพรชัย กล่าวว่า ปัจจุบันคลังมีข้อมูลคนไทย จาก 3 แหล่งมาพัฒนาเวอร์ชันแรกเป็นอารีย์สกอร์ Gen 0-0.5 เช่น ทรัพย์สิน รายได้ และการรับสวัสดิการของรัฐ ซึ่งรวบรวมมาจากเครดิตบูโร สถาบันคุ้มครองเงินฝาก และกรมภาษีทั้งหมด

ซึ่งมีข้อมูลจากประชาชนที่มาลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจนถึงปี 2565 ประมาณ 19 ล้านคน รวมทั้งดูความสามารถประชาชนจากประวัติการชำระค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ เพื่อมาจัดทำเป็นคะแนนเครดิต

ทั้งนี้ในระยะต่อไปจะมีการพัฒนาเป็น อารีย์สกอร์ Gen 1 โดยใช้ข้อมูลจาก Data Lake ที่มีอยู่ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น ข้อมูลจากไปรษณีย์ ข้อมูลนิติบุคคลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งจะมีการขอข้อมูลจากทางกองทุนเพื่อการกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) มาใช้ประกอบด้วย

สำหรับโดยสถาบันการเงินที่จะนำอารีย์ สกอร์ ไปใช้ในการอนุมัติสินเชื่อกลุ่มแรก คือ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top