Wednesday, 21 May 2025
สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์สำหรับทุกคน

คุณโอ่ง ณัฐชา ปัทมพงศ์ | THE STUDY TIMES STORY EP.26

บทสัมภาษณ์ คุณโอ่ง ณัฐชา ปัทมพงศ์ ปริญญาตรี Bachelor of Humanities and Arts in International Relations and Music Technology, Carnegie Mellon University, สหรัฐอเมริกา
ทำในสิ่งที่รักและมี Passion จะทำให้มีแรงขับเคลื่อนในการใช้ชีวิตอย่างมีความหมายในทุกวัน

คุณโอ่ง นักร้องนำวง Mellow Motif ปัจจุบันรับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการหลักสูตร ปริญญาโทนานาชาติ ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่องานบันเทิง (Entertainment Innovation Center หรือ EIC) 

ย้อนกลับไปคุณโอ่งเกิดที่อเมริกา แต่กลับมาโตที่เมืองไทย เข้าเรียนโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงชั้นม.3 และไปเรียนต่อไฮสคูลที่อเมริกา หลังจากนั้นได้เข้าเรียนปริญญาตรี Bachelor of Humanities and Arts in International Relations and Music Technology, Carnegie Mellon University สหรัฐอเมริกา

คุณโอ่งเล่าว่า การศึกษาที่อเมริกาส่งเสริมให้คิดนอกกรอบ ให้ลองผสมผสานสิ่งต่างๆ ไม่มีอะไรผิด และการที่ได้เรียนรู้อะไรที่หลากหลาย ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ซึ่งตอนที่เรียนอยู่ยังไม่รู้ว่าจะเอาความรู้ตรงนั้นไปทำอะไร แต่สิ่งที่เขาพยายามส่งเสริมให้ทำ คือการตามหา Passion อะไรที่ชอบ อะไรที่ทำได้ดี เมื่อออกมาทำงานจริงจะรู้ได้ว่าความรู้ที่สั่งสมมา แต่ละคนมีไม่เหมือนกัน ทำให้การแก้ปัญหา หรือหาทางออกทำได้ไม่เหมือนคนอื่น ด้วยความที่เห็นมามากกว่า หรือทำมามากกว่า 

ความจริงแล้วคุณโอ่งไม่ได้อยากเป็นนักร้อง เข้ามหาวิทยาลัยตั้งเป้าที่จะเรียน Fine Art แต่พอขึ้นชั้นปีที่ 2 เกิดอุบัติเหตุตกบันได เส้นประสาทอักเสบ แขนขวาใช้งานไม่ได้ไปประมาณปีกว่า ซึ่งทำงาน Art ไม่ได้ แต่ไม่อยากทิ้งสิ่งที่เรียนมา และด้วยความที่ไม่อยากจบช้า จึงไปตามหาเมเจอร์ใหม่ จากศิลปินที่ไม่สามารถสร้างสรรค์งานศิลปะได้ จึงต้องหันไปทางดนตรีด้วยการเรียนร้องเพลง และเริ่มเรียนคลาสแจ๊สที่มหาวิทยาลัย เรียนจนเกิดความรัก กระทั่งได้มาเป็นนักร้องนำวง Mellow Motif 

คุณโอ่งใช้ชีวิตที่อเมริกานานกว่า 10 ปี ก่อนจะกลับมาทำงานที่ประเทศไทย พบความแตกต่างในด้านการทำงาน ด้วยความที่ปักหมุดไว้กับอาชีพศิลปิน การทำงานในช่วงแรกจะเป็นการทำงานกับวง นักดนตรี ทีมงานคนไทย ซึ่งจากสภาพแวดล้อมที่อเมริกาส่งเสริมให้พูด ทำให้พูดคุณโอ่งเป็นคนเปิดเผย ตรงไปตรงมา แต่สภาพสังคมไทยจะไม่ค่อยคุยกันตรงๆ จึงต้องหาวิธีปรับตัวทางด้านการสื่อสาร

การเป็นนักร้องนำวง Mellow Motif วงแจ๊ซ/บอซซ่าแนวหน้าของเมืองไทย คุณโอ่งได้ใช้ทักษะที่เรียนมาจากอเมริกาแทบทั้งหมด เพราะนอกจากการเป็นนักร้องนำแล้ว คุณโอ่งยังดีลงานภายในวงเอง คุณโอ่งคิดว่าสิ่งที่ทำให้วง Mellow Motif ไปได้ไกล อาจไม่ใช่เรื่องของสกิล แต่เป็นเพราะดนตรีไม่เหมือนใคร มีความพิเศษและเอกลักษณ์เฉพาะตัว

การเป็นนักร้องทำให้ได้เดินทางไปแสดงในหลายๆ ประเทศ คุณโอ่งได้สัมผัสถึงวัฒนธรรมที่หลากหลาย สิ่งที่ประทับใจมากที่สุดคือการไปแสดงที่ประเทศญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ศึกษาและให้ความสำคัญกับศาสตร์นั้นๆ อย่างมาก ทำให้เวลาทัวร์มีความสุข เพราะคนที่นั่นจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรานำเสนอ คนฟังจะเงียบ ฟังเป็น และศึกษามา

ปัจจุบันคุณโอ่งเป็นผู้อำนวยการหลักสูตร ปริญญาโทนานาชาติ ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่องานบันเทิง (Entertainment Innovation Center หรือ EIC) ที่มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยใหม่ที่เกิดจากความร่วมมือของ มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon University) และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) ด้วยความพยายามที่จะทำให้เป็นผู้นำการศึกษาด้านเทคโนโลยี

คุณโอ่งเป็นคนที่รักมหาวิทยาลัยที่จบมาอย่าง Carnegie Mellon University มาก มีความเชื่อและมี Passion ที่อยากให้คนสัมผัสถึงระบบการศึกษาและวัฒนธรรม และด้วยความที่อยู่ในอุตสาหกรรมดนตรีมาอย่างยาวนานทำให้มีคอนเนคชั่น และอยากให้มีโปรแกรมรูปแบบนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นที่มาของบทบาทผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาโทนานาชาติ ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่องานบันเทิง (Entertainment Innovation Center หรือ EIC)

สิ่งที่ช่วยให้คุณโอ่งไม่ละทิ้ง Passion ของตัวเอง โดยที่ไม่ท้อหรือไม่หมดไฟไปก่อน เนื่องจากมีการวางแผนระยะยาว แต่ในภาพใหญ่จะมีเป้าหมายระยะสั้นที่สามารถทำให้สำเร็จได้ สิ่งที่เกิดขึ้นอาจได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่เมื่อผลออกมาแล้วจะต้องหาทางทำให้ผลนั้นเอื้อต่อเป้าหมายต่อไป คุณโอ่งกล่าวว่า บางทีที่เราเดินทางตรงไม่ได้ เพราะทางตัน แต่อย่างน้อยเรารู้ว่าเราต้องไปตรงนี้ เราก็จะยังหาทางไปได้ ถ้าเห็นเป้าหมาย เราจะไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เพราะรู้สึกว่ามันไม่ได้ไกลเกินเอื้อม 


.

.

.

 

ศธ. ออกประกาศ ลดค่าเทอม สั่งโรงเรียนยึดหลักคืนเงิน-ผ่อนผัน ลดภาระค่าใช้จ่ายและบรรเทาความเดือดร้อนผู้ปกครอง ปีการศึกษา 2564

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่มีผู้ปกครองร้องเรียนเรื่องการเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่น ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ของสถานศึกษา เข้ามาที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จำนวนมาก ได้รับทราบปัญหาและมีนโยบายให้ต้นสังกัดของโรงเรียนและสถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของ ศธ.ไปดำเนินการแก้ไขปัญหา

“เมื่อวันที่ 27 พ.ค. ที่ผ่านมา ดิฉันได้ลงนามในประกาศ ศธ. เรื่องแนวปฏิบัติการเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นแล้ว โดยในประกาศดังกล่าวระบุว่า อนุสนธิประกาศ ศธ. เรื่องการเลื่อนเวลาเปิดภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2564 ลงวันที่ 19 พ.ค. 2564 เนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของ ศธ. จัดการเรียนการสอนเฉพาะรูปแบบการจัดการศึกษาทางไกล และหากบางโรงเรียนหรือสถานศึกษาที่มีความพร้อมและประสงค์จะจัดการศึกษาในรูปแบบ On-site (เรียนที่โรงเรียน) สามารถทำได้ แต่จะต้องผ่านเกณฑ์การประเมินความพร้อมของระบบ Thai StopCOVID Plus (TSC+) และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดก่อน”

ด้วยรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนดังกล่าว ทำให้มีโรงเรียนหรือสถานศึกษาบางแห่งได้มีการเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นจากผู้ปกครอง ดังนั้น เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ปกครองในสถานการณ์ปัจจุบัน ศธ.จึงกำหนดแนวปฏิบัติการเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่น ให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาในสังกัด หรือในกำกับของ ศธ. ถือปฏิบัติ ดังนี้

1.) กรณีที่ได้มีการเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นไปแล้ว ให้ “คืนเงิน” บำรุงการศึกษาหรือค่าธรรมเนียมในส่วนที่ไม่ได้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนในระหว่างที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

2.) กรณีที่มีความจำเป็นต้องเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่น เพื่อใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน อาจพิจารณา “ผ่อนผันหรือขยายระยะเวลาการเรียกเก็บ” เงินบำรุงการศึกษา หรือค่าธรรมเนียมดังกล่าวตามความเหมาะสมเป็นกรณีไป

3.) พิจารณาให้ความ “ช่วยเหลือ” ในกรณีที่ผู้ปกครองของนักเรียน นักศึกษา ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวตามความจำเป็นเหมาะสม

4.) ให้หน่วยงานต้นสังกัดหรือที่กำกับโรงเรียนหรือสถานศึกษา แจ้งเวียนไปยังสถานศึกษาในสังกัด หรือในกำกับให้ปฏิบัติตามประกาศนี้

ทั้งนี้ ให้เป็นแนวปฏิบัติตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น


ที่มา: https://www.prachachat.net/education/news-680490

คุณเสกฬ์ ดร. ศตเนติ เนติภัทรชูโชติ | THE STUDY TIMES STORY EP.27

บทสัมภาษณ์ คุณเสกฬ์ ดร. ศตเนติ เนติภัทรชูโชติ ปริญญาเอก Ph.D in International Law (Criminal & Human Rights Laws), University of Groningen, เนเธอร์แลนด์ 

เปลี่ยนความผิดหวังให้เป็นพลัง พัฒนาภาษาอังกฤษจาก IELTS 4.00 เป็น 7.5 ภายใน 4 เดือน ชิงทุนเรียนต่อต่างประเทศ

คุณเสกฬ์มีความสนใจ อยากเรียนนิติศาสตร์มาตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนนิติศาสตร์มาจากความเท่ จบมามีเงินช่วยพ่อแม่ ดูพูดจาแล้วมีหลักการ มีความมั่นคง จึงเป็นจุดเริ่มต้นเป็นตัวแทนโรงเรียนแข่งขันตอบปัญหากฎหมาย ถึงไม่เคยได้รางวัล แต่ได้ประสบการณ์

กระทั่งจบชั้น ม.6 สามารถสอบเข้าเรียนต่อคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ โดยเรียนจบด้วยเกียรตินิยมอันดับสอง อีกทั้งยังจบปริญญาโท นิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายอาญา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีกด้วย 

เทคนิคในการเรียนของคุณเสกฬ์ คือ อ่านหนังสือเอง ด้วยความที่ปกติเป็นคนปาร์ตี้ เป็นนักกีฬา มีกิจกรรมเยอะ แทบไม่ค่อยได้เข้าเรียน จึงต้องมีการกำหนดเวลาอ่านหนังสือด้วยตัวเองให้ได้อย่างน้อยวันละ 3-4 ชั่วโมง นอกจากนี้การมีกลุ่มเพื่อนที่ดีถือเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งเรื่องของการแบ่งเลกเชอร์ จับกลุ่มติว แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน สิ่งที่คุณเสกฬ์ยึดมั่นมาตลอดคือ ความมีวินัยในตัวเอง และความเคารพตัวเอง ต้องมีการวางแผนที่ชัดเจน 

หลังจากนั้น คุณเสกฬ์ได้ทุนไปเรียนปริญญาโทอีกใบในหลักสูตร LL.M in International and Comparative Criminal Law and Justice, University of London ที่ประเทศอังกฤษ คุณเสกฬ์เล่าว่า จุดเริ่มต้นในการไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษมาจากแรงผลักดันของแฟนที่มีความสามารถด้านภาษา และทำให้คุณเสกฬ์อยากพัฒนาตัวเองตามไปด้วย ทำให้ตัดสินใจไปสอบ IELTS ทำผลสอบครั้งแรกได้เพียง 4.0 

หลังจากนั้นมีรุ่นพี่นักฟุตบอลที่เคยได้คะแนน IELTS ประมาณนี้มาก่อน แต่เคยไปอยู่ที่เมืองนอก คุณเสกฬ์จึงสอบถามว่าทำอย่างไรถึงได้ไป รุ่นพี่แนะนำว่า ให้ใช้คะแนน IELTS ที่ได้ยื่นไปก่อน และจะมีการนำคะแนนไปยื่นที่โรงเรียนภาษาของมหาวิทยาลัยให้อีกครั้ง เนื่องจากมหาวิทยาลัยในอังกฤษจะมี Pre-sessional Course หลักสูตรการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ที่เปิดสอนสำหรับนักเรียนต่างชาติ ที่มีคะแนน IELTS ไม่ถึงตาม requirement ของมหาวิทยาลัย ซึ่งคุณเสกฬ์ก็ได้เดินทางไป และใช้เวลาเรียนเพียง 3 เดือน สามารถทำคะแนน IELTS ได้ถึงตามเกณฑ์

ต่อมาคุณเสกฬ์ได้ทุนเรียนต่อปริญญาเอก Ph.D in International Law (Criminal & Human Rights Laws), University of Groningen ที่ประเทศเนเธอแลนด์  ซึ่งการเรียนปริญญาเอกที่เนเธอแลนด์จะมีฐานะเป็น employee ทำงานให้กับมหาวิทยาลัยหรือรัฐบาลของเขา

คุณเสกฬ์เล่าว่า เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ดีที่สุดในโลก ระบบการศึกษาในประเทศใช้ภาษาอังกฤษทั้งหมด ด้านความแตกต่างของระบบการศึกษาระหว่างไทยและต่างประเทศ สิ่งที่สังเกตได้คือ ในข้อสอบของเมืองนอก ข้อสอบจะเป็นแบบ Analyze ถึงเปิดหนังสือก็ตอบไม่ได้ เป็นความพิเศษอย่างหนึ่งของประเทศในยุโรป ที่สามารถเนรมิตข้อสอบให้ดีดออกไปจากตำราและความจำ ข้อสอบที่เนเธอร์แลนด์จะเป็นการ Apply มุมความรู้ไปกับเคส และความคิดเห็น

ปัจจุบันคุณเสกฬ์เป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ อยู่ที่มหาวิทยาลัยสยาม เป็นอาจารย์ที่หลักสูตรอินเตอร์ของมหาวิทยาลัย เขียนหลักสูตรปริญญาโทของคณะนิติศาสตร์ นอกจากนี้ยังเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับการร่างกฎหมายกัญชา

คุณเสกฬ์ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า คนที่ปิดกั้นตัวเองว่าไม่ไปเรียนเมืองนอก เพราะกลัวภาษา จากประสบการณ์ ภาษาเป็นสิ่งที่น่ากลัว แต่เอาชนะได้ ด้วยการอยู่กับมัน และรักมัน ถ้ามีใจ เปลี่ยน Mindset ตัวเองว่าไม่ต้องกลัว เดินหน้าเข้าหามัน ผิดช่างมัน มุ่งหน้าทำ มุ่งหน้าเรียนรู้ พยายามหาเพื่อนฝรั่ง พยายามอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ ช่วยได้เยอะมาก หลักๆ คือ การมีวินัยในตัวเอง และอย่าเป็นคนขี้แพ้ 

.


.

.

.

เก่งหยุดไม่อยู่!! นักเรียนมัธยมเมทนีดล จังหวัดขอนแก่น สร้างผลงานชิ้นที่สอง “โรบอทใบหม่อน” ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ปราบโควิด-19

มัธยมเมทนีดลเรียนล้ำหน้าเกินห้องเรียน หลังสร้างนวัตกรรมสุดล้ำ “โรบอทใบหม่อน” ผลงานชิ้นที่สอง หุ่นยนต์เคลื่อนที่ส่งของพร้อมปราบโควิด-19 ด้วยรังสี UVC ที่มีคุณสมบัติพิเศษ เคลื่อนที่เสถียร 360 องศา บังคับด้วยรีโมทผ่านจอทันสมัย ปลอดภัยต่อผู้ใช้ มีประสิทธิภาพฉายรังสี UVC Sterilizer ลดการแพร่กระจายเชื้อด้วย UVC light disinfection robot ทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรค เชื้อจุลชีพ แบคทีเรียในห้องปฏิบัติการ และไวรัสโคโรนา 2019 พร้อมบริการส่งของและดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ลดความเสี่ยงให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19

โดยผู้อำนวยการโรงเรียนเมทนีดลผู้นำพลังปัญญาเชิงบวก ดร.อรทัย สันติเมทนีดล พร้อมคณะคุณครูต่างชาติ-ไทย นักเรียนและบุคลากร รายงานว่า โรงเรียนเมทนีดลมองการณ์ไกลไปมาก และเรามีวิสัยทัศน์ชัดเจน ต้องการมุ่งสร้างนักเรียนที่ดี เก่ง ทั้งคนและงาน เป็นพลโลกที่สมบูรณ์ทั้งกายใจ

โดยนำวิชา AI : Artificial Intelligence หรือวิชาปัญญาประดิษฐ์ และวิชา Health and Medical Education หรือสุขอาชีวะอนามัยศึกษาและการแพทย์เบื้องต้น เข้าสู่กระบวนการจัดการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษา เพื่อให้นักเรียนได้แสดงศักยภาพและสร้างสรรค์ผลงานร่วมกับความรู้ในศาสตร์อื่นๆ ได้ หรือการช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิต หรือต่อยอดสู่สังคมและโลกของเราได้อย่างยั่งยืน

ซึ่งคงไม่มีใครคาดคิดว่า ไม่นานนักเรียนต้องเรียนรู้ด้านการเเพทย์ เเละยังช่วยเหลือบุคลากรทางการเเพทย์ได้อีก ทั้งวิชาปัญญาประดิษฐ์ที่เมทนีดลดำเนินงานหลายปีก่อนหน้าการเเพร่ระบาดนั้น ทั้งงาน AI สิ่งประดิษฐ์และงานวิจัยที่เผยแพร่เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนมาเสมอ และความปลอดภัยคือหัวใจสำคัญของเรา

ในสถานการณ์และวิกฤตการณ์โลกการแพร่ระบาดโคโรน่าไวรัส-19 นี้ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนได้สร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้อย่างตั้งใจขึ้นอีกครั้ง และโรงเรียนเมทนีดลได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือที่เข้มแข็งด้วยดีเสมอมา จากอาจารย์คเณศ ถุงออด ประธานหลักสูตรภาควิชาเมคาทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ ผศ.ดร.เกสร วงศ์เกษม อาจารย์ประจำภาควิชาเมคาทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสารคาม ที่ได้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิและสอนการสร้างหุ่นยนต์ แก่นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ในวิชา AI : ปัญญาประดิษฐ์

และโรงเรียนเมทนีดลพร้อมแบ่งปันน้ำใจแด่องค์กรที่รักเราและดูแลเราด้วยดีเสมอมา คุณหมอเเละบุคลากรทางการเเพทย์ต้องปลอดภัย เพื่อได้ดูแลพลเมืองของเราต่อไป โรงเรียนเมทนีดลเคียงข้างเสมอ ดร.อรทัย กล่าว

ด้านเด็กชายณัฎฐ์ นาคบรรพต จิตร์โต นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ตัวแทนนักเรียนกล่าว่า สำหรับการสร้างโรบอทใบหม่อน เพื่อช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในครั้งนี้ผมภูมิใจมากๆ เพราะว่านอกจากผมได้เรียนรู้และสนุกไปด้วย ผมได้ช่วยคุณหมอที่โรงพยาบาลและช่วยผู้ป่ายโควิดที่ต้องการกำลังใจมากๆ ครับ และผมภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยเหลือในสถานการณ์วิกฤตโลกนี้ด้วย และผมจะตั้งใจศึกษาเรียนรู้ต่อยอดงานด้าน AI ต่อไป เพื่อได้ช่วยเหลือผู้คนต่อไปครับ

TCAS 64 จุฬาลงกรณ์ รอบที่ 4 (Direct Admission) รับสมัครวันนี้-4 มิ.ย. 64

คุณสมบัติของผู้สมัคร

- กำลังศึกษาอยู่ หรือ สำเร็จการศึกษาชั้น ม. 6 หรือ เทียบเท่า ในไทยหรือต่างประเทศ

- GPAX ตามที่กำหนด

- มีคะแนนสอบวัดความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษ หรือ ผลการทดสอบ ตามเกณฑ์ที่กำหนด ใช้ผลคะแนนย้อนหลัง ไม่เกิน 2 ปี

คณะที่เปิดรับ ดังนี้

- คณะรัฐศาสตร์ สาขาวิชาการเมืองและโลกสัมพันธ์ศึกษา (นานาชาติ) จำนวนรับ 25 คน 
https://pgschula.org/new-page-1

- คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาเคมีประยุกต์ (นานาชาติ) จำนวนรับ 50 คน 
https://bsac.chemcu.org/wp-content/uploads/2021/05/Admission-announcement-2021_R3.pdf

เกณฑ์การพิจารณา

- สอบสัมภาษณ์ออนไลน์ 

การสมัคร

- สมัครผ่านเว็บไซต์ ตามเว็บไซต์ที่โครงการสมัครกำหนด
.
กำหนดการ

รับสมัคร

27 พ.ค.-04 มิ.ย. 64

รายละเอียดเพิ่มเติม
http://www.atc.chula.ac.th/TCAS/TCAS4.html


ขอบคุณที่มา : https://www.trueplookpanya.com/tcas/quotanews?id=7624&fbclid=IwAR21k8ll7Xcrs7ev1IwBaP6vF_TtEQNkp9y9wkBhD0ioGgW8sMCOLGiMKyw
 

คุณแพรวา กัลยรัตน์ ธุระกิจเสรี | THE STUDY TIMES STORY EP.28

บทสัมภาษณ์ คุณแพรวา กัลยรัตน์ ธุระกิจเสรี นักศึกษาคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอู่ฮั่น ประเทศจีน
HSK ระดับ 6 ตั้งแต่อายุ 17 ปี ใช้เวลาว่างช่วงปิดเทอมแปลนิยายและสอนภาษาจีน

ปัจจุบันคุณแพรวาเรียนอยู่ชั้นปี 3 คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอู่ฮั่น ประเทศจีน แต่เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ปรับรูปแบบเป็นการเรียนออนไลน์แทน

คุณแพรวาเรียนภาษาจีนมาตั้งแต่ระดับชั้นม.ต้น สอบได้ HSK6 ตั้งแต่อายุ 17 ปี ในช่วงม.5 มีเพื่อนแนะนำให้ไปสอบทุน AFS จนได้เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่เมืองหานตาน ประเทศจีน นาน 10 เดือน เมื่อไปอยู่พบว่านักเรียนที่ประเทศจีนเรียนหนักมาก ตั้งแต่เช้าถึงดึก มีกฎระเบียบที่เคร่งครัด และเมืองหานตานที่ไปอยู่ค่อนข้างชนบท ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก แต่สิ่งที่ค้นพบคือนักเรียนที่นี่เรียนเก่ง สอบได้คะแนนสูงแทบทุกคน

คุณแพรวาประทับใจการใช้ชีวิตที่ประเทศจีน ชื่นชอบบรรยากาศ ผู้คน และชินกับการใช้ชีวิต เสน่ห์ของจีนที่ค้นพบคือ ในปัจจุบันจีนสะอาดมาก เป็นประเทศที่พัฒนาได้เร็ว จนท้ายที่สุดคุณแพรวาเลือกยื่นคะแนนเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยอู่ฮั่น ประเทศจีน

ตอนปี 1 คุณแพรวาเรียนในคณะรัฐศาสตร์ ซึ่งในมหาวิทยาลัยมีคนไทยเพียงแค่ 2 คนที่เรียน การเรียนการสอนเป็นภาษาจีนทั้งหมด ซึ่งเรียนหนักมาก เริ่มเรียนตั้งแต่ 8 โมงเช้า ทุกวันจันทร์-ศุกร์ การเรียนตอนนั้นเครียดมาก ถึงแม้ว่าจะได้ HSK6 แต่เมื่อเลือกคณะนี้แล้วยังรู้สึกว่าภาษาจีนยาก เนื่องจากมีคำศัพท์เฉพาะทางที่เกี่ยวกับการเมืองและกฎหมาย คุณแพรวาจึงตัดสินใจว่าจะเรียนภาษาจีนให้แน่นกว่านี้ก่อน 

นอกจากเรียนออนไลน์แล้ว ช่วงนี้คุณแพรวายังทำงานพิเศษ ทั้งแปลนิยาย แปลซีรีส์ละครจีน สอนพิเศษภาษาจีน ครั้งแรกที่รับงานแปลได้รับโจทย์ 12,000 ตัว ต้องทำให้เสร็จภายในสองวัน รู้สึกติดขัด เพราะยังไม่เคยทำ ต้องทำทั้งคืน หลังจากนั้นก็รับงานมาทำมาเรื่อย ๆ นอกจากนี้ยังรับสอนพิเศษภาษาจีนให้กับคนที่สนใจอีกด้วย โดยเริ่มจากการสอนเพื่อนที่เรียนศิลป์จีนมาด้วยกันตอนม.ปลาย หลังจากนั้นจึงเริ่มเปิดรับสมัคร

คุณแพรวากล่าวว่า ภาษาจีนเป็นภาษาที่สองได้ จากประสบการณ์พบว่าภาษาจีนสามารถสื่อสารได้ทั่ว สำหรับใครที่อยากจะคล่องภาษาจีน ต้องฝึกอย่างน้อย 2-3 ปี การเรียนหนึ่งภาษา ไม่มีทางได้ภายในปีเดียว นอกเสียจากจะไปอยู่ที่ประเทศจีน

สำหรับใครที่อยากไปเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยที่ประเทศจีน คุณแพรวาแนะนำให้เตรียมตัวเรียนภาษาจีนเบื้องต้นไปก่อน เพราะไม่เช่นนั้นจะต้องไปเริ่มใหม่ ทั้งๆ ที่คนอื่นแซงหน้าไปก่อนแล้ว

.

.

.

คิดแปลกแหวกแนว! หนุ่มจบการศึกษาแค่ ม.6 ลูกชาวสวนมะนาว ลงทุนปลูกแคคตัสไลฟ์สดขาย ได้เงินล้าน!!

อาชีพปลูกแคคตัสไม้ประดับของคนมีตังค์ที่กำลังเป็นกระแสนิยมมาแรง หนุ่มเมืองชาละวัน จบการศึกษาแค่ ม.6 พ่อแม่เป็นชาวสวนปลูกมะนาว แต่ลูกชายคิดแปลกแหวกแนวปลูกแคคตัสขาย ในขณะที่พ่อ-แม่ คนรุ่นเก่าไม่เห็นด้วย ลูกชายตัดสินใจขายสร้อยคอทองคำของตนเองเพื่อลงทุนใช้เวลา 3 ปี ปัจจุบันนี้มีต้นแคคตัสจำนวนนับหมื่นต้นมูลค่ากว่า 20 ล้านบาท 

เผยวิธีขายไลฟ์สดผ่านโลกออนไลน์ มีผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศ แถมมีแอดมินเพจจากประเทศจีนจับเสือมือเปล่ามานั่งไลฟ์สดขายแคคตัสของตนไปยังตลาดจีน

เส้นทางการทำมาหากินในยุค New Normal วันนี้ผู้สื่อข่าวขอพาไปที่ CP CACTUS ซึ่งเป็นของ นายธนารัตน์ เมืองฤทธิ์ “แชมป์” อายุ 28 ปี อยู่บ้านเลขที่ 140 หมู่ 9 บ้านท่าช้าง ต.ท่าบัว อ.โพทะเล จ.พิจิตร ซึ่งเป็นลูกชายของ นายสมชาย เมืองฤทธิ์ อายุ 51 ปี  อาชีพทำสวนมะนาว 70 ไร่ 

โดย นายธนารัตน์  “แชมป์” เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่ตนเองจะก้าวเข้ามาเป็นเจ้าของกิจการ CP CACTUS ตนเองจบการศึกษาแค่ ม.6 จะไปเรียนต่อปริญญาตรี แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จด้านการเรียน จึงกลับมาอยู่บ้านช่วยพ่อทำสวนมะนาวและปลูกกล้วยขาย ทำอยู่ 2-3 ปี จากนั้นก็ลงทุนไปซื้อโดรนมารับจ้างพ่นสารเคมีในนาข้าวของเพื่อนบ้านในแถบนั้นอยู่ระยะหนึ่งก็เซ้งกิจการให้ผู้อื่นทำต่อ เพราะไม่ใช่แนวของตนเองที่ถนัดหรือชื่นชอบ

จึงเริ่มค้นหาความเป็นตัวตนว่าตนเองชอบอาชีพอะไรแน่ จากนั้นเริ่มลองผิดลองถูก จนกระทั่งราว พ.ศ.2560 เริ่มสนใจศึกษาเรื่องการปลูกแคคตัสจากโลกออนไลน์ แม่เห็นว่าตนเองชอบก็เลยไปซื้อต้นแคคตัสมาให้เลี้ยง 10 ต้น ตนเองก็เริ่มขยายพันธุ์เลี้ยงต้นแคคตัสจนโตและขายบนโลกออนไลน์ได้เงินหลักพัน หลักหมื่น จนมั่นใจว่า แคคตัสปลูกแล้วขายได้ จึงอ้อนวอนขอเงินพ่อ-แม่ จะเอามาลงทุนแค่พ่อกับแม่ ซึ่งเป็นคนรุ่นเก่าไม่เห็นด้วยบอกว่าเอาเงินไปลงทุนปลูกกล้วยขายดูจะทำง่ายและได้กำไรดีกว่า

นายธนารัตน์ “แชมป์” จึงตัดสินใจเอาเงินที่สะสมและเอาสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท ไปขายได้เงินรวม 3 หมื่นบาทเศษ มาเป็นทุนตั้งต้นในการลงทุนปลูกแคคตัสขายแบบลองผิดลองถูก ค้นคว้าหาความรู้จากเพื่อนๆ ในกลุ่มเฟซบุ๊ก ใช้เวลาจากวันนั้นถึงวันนี้รวม 3 ปี ปัจจุบันมีโรงเรือนเพาะเลี้ยงแคคตัสอยู่ในเรือนเพาะชำขนาดต่างๆ 4 หลัง ใช้ชื่อ CP CACTUS ซึ่งมีแคคตัสเกือบ 20 สายพันธุ์ โดยตนเองคิดวิธีผสมข้ามสายพันธุ์ จนได้ต้นแคคตัสที่มีสีสันแปลกแหวกแนวและสวยงามไม่เหมือนกับที่อื่น โดยทุกวันนี้มีจำนวนกว่า 1 หมื่นต้น ถ้าคิดเป็นมูลค่าประมาณ 20 ล้านบาท  

นายธนารัตน์  “แชมป์” บอกถึงเรื่องการตลาดว่าตนเองใช้ชื่อเฟซบุ๊ก Champ Tanarat ทำการไลฟ์สดขายต้นแคคตัส ซึ่งก็ได้รับความนิยมมียอดสั่งซื้อทั้งในและต่างประเทศ บางวันเคยมีรายได้หลักแสนก็ยังมี นอกจากนี้ก็ยังมีพ่อค้าคนกลางชาวจีนมาตั้งโต๊ะไลฟ์สดแบบจับเสือมือเปล่าเอาสินค้าจาก CP CACTUS ไลฟ์สดขายสินค้าไปยังกลุ่มชาวจีนที่นิยมชื่นชอบแคคตัสอีกด้วย 

นายธนารัตน์  “แชมป์” กล่าวปิดท้ายว่าทุกวันนี้ประสบความสำเร็จมีรายได้เป็นกอบเป็นกำและยังเชื่อมั่นว่าตลาดของแคคตัสยังคงไปได้ต่ออีกนาน

สำหรับท่านใดที่สนใจอยากแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดูงานสามารถติดต่อได้ที่ เฟซบุ๊ก Champ Tanarat หรือโทร 098-6989698 , 064-5644665

สิทธิพจน์  พิจิตร 

วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ตรงกับวันที่ ๓ มิถุนายน ของทุกปี

สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๑ ณ ตำบลบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีพระนามเดิมว่า สุทิดา ติดใจ เป็นธิดาของคำ ติดใจ กับคุณหญิงจั่งเฮียง ติดใจครอบครัวของพระองค์เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน ทรงเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยสมบูรณ์กุลกันยา

จากนั้นจึงทรงเข้าศึกษาหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต ณ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จนจบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ต่อมาทรงเข้าเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน บริษัท แจลเวย์ จำกัด เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓ - พ.ศ. ๒๕๔๖ และทรงเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๖ - พ.ศ. ๒๕๕๑

วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต จึงทรงได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระราชินีสุทิดา ทรงดำรงตำแหน่งพระอิสริยยศ ฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินี ทรงพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี

เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้วันที่ ๓ มิถุนายนของทุกปี เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เป็นวันหยุดราชการประจำปี ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอ


ที่มา: https://www.m-culture.go.th/phatthalung/ewt_news.php?nid=2462&filename=index

คุณตอง ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล | THE STUDY TIMES STORY EP.29

บทสัมภาษณ์ คุณตอง ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล ปริญญาโท International Journalism (เกียรตินิยมอันดับ 1), Cardiff University, แคว้นเวลส์ สหราชอาณาจักร
ไม่แข่งกับใคร แข่งกับตัวเองเท่านั้น ยกระดับความสามารถและวิชาชีพสื่อมวลชน

ปัจจุบันคุณตองเป็นบรรณาธิการดิจิทัลของสำนักข่าว เกี่ยวกับด้านต่างประเทศ ทำคอนเท้นต์ต่างประเทศเป็นหลัก เพื่อให้ผู้ชมมีพื้นที่ในการเสพข่าวต่างประเทศในเชิงลึก มีทั้งบทวิเคราะห์ การนำเสนอภาพนิ่ง และวิดีโอที่ครอบคลุมรอบด้าน

ย้อนกลับไป คุนตองมีความชื่นชอบภาษาอังกฤษเป็นทุนเดิม หลังจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ตัดสินใจเรียนต่อปริญญาตรี คณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จบด้วยเกียรตินิยมอันดับ 2

นอกจากนี้ช่วงที่เรียน คุณตองได้ต่อยอดทักษะภาษาอังกฤษด้วยการไปทำงานร้านอาหารอิสราเอล ต้องคุยกับฝรั่งทุกวัน ไปสอนคุมอง นำสิ่งที่ได้เรียนไปใช้ในชีวิตจริง จบมาคิดว่าได้ประสบการณ์ในส่วนที่กล้าพูดภาษาอังกฤษกับชาวต่างชาติได้อย่างไม่เคอะเขิน 

ช่วงปี 3 ได้ไป Work & Travel ที่ลาสเวกัส 3-4 เดือน ทำงานเก็บเงินไปเที่ยวที่ต่างๆ ได้ฝึกทักษะภาษาอังกฤษมากยิ่งขึ้น จนกลับมาปี 4 ได้ไปฝึกงานที่ช่อง 7 ในโต๊ะข่าวต่างประเทศ หลังจากนั้นเมื่อเรียนจบ ได้ไปทำงานเกี่ยวกับด้าน management แต่ค้นพบว่าตนเองมีความชอบและความสนใจด้านการสัมภาษณ์ พูดคุยกับแหล่งข่าว เขียนข่าวมากกว่า จนรุ่นพี่ที่ฝึกงานได้ชวนมาทำงานที่ช่อง 7 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นนักข่าว 

หลังจากทำงานที่ช่อง 7 ได้ประมาณ 2 ปี ค้นพบว่าได้ใช้ทักษะภาษาในการเขียนข่าว แปลข่าว วิเคราะห์ข่าว จนมาถึงจุดที่นั่งคิดว่าตัวเองทำได้มากกว่าการนั่งโต๊ะ เกิดแรงบันดาลใจที่จะเป็นนักข่าวภาคสนาม การเปิดหน้าทีวีกลายเป็นความฝันใหม่ อยากใช้ทักษะภาษาอังกฤษที่มี นำข้อมูลจากต่างประเทศมาสื่อสารให้ผู้ชม ขวนขวายตัวเองจนได้ไปต่างประเทศบ้าง แต่กลายเป็นว่าการเป็นผู้สื่อข่าวภาคสนามยังไม่โดดเด่นมากพอที่ช่องใหญ่จะนำผลงานมาออกอากาศให้ผู้ชมดู เกิดเป็นความรู้สึกบอบช้ำที่ว่า ‘ฉันยังไม่ดีพอ’ แต่อย่างน้อยได้เปิดโลกใหม่ของการถ่ายเอง ทำเอง เปิดหน้าเอง และตัดต่อเอง

จนมีคนที่เล็งเห็นถึงความพยายามและความสามารถ ชักชวนให้มาเป็นนักข่าวภาคสนามสายต่างประเทศที่สปริงนิวส์ อยู่ในจุดที่ทำแล้วต้องออกอากาศ กลายเป็นแรงผลักให้คุณตองเป็นผู้สื่อข่าวภาคสนามสายต่างประเทศที่ทำได้จริง เปิดหน้ารายงานสดได้จริง สามารถนิยามตัวเองว่าเป็นผู้สื่อข่าวภาคสนามได้ 

สิ่งที่ทำให้ผ่านช่วงเวลาแห่งความผิดหวังมาได้ คุณตองเล่าว่า มาถึงวันนี้มองกลับไป เข้าใจว่าเราทำดีไม่มากพอให้เขาเห็น ความชอกช้ำหรือความผิดหวังที่ว่าเราทำเต็มที่แต่ไม่ได้ผลในสิ่งที่ต้องการ บางครั้งก็สามารถกลายเป็นแรงผลักได้ เป็นพลังลบที่ถีบเรา ทำให้เราก้าวข้ามอะไรบางอย่างไปได้

งานสื่อสารมวลชนไม่ได้ทำเพื่อให้ตัวเองเติบโต หรือมีหน้ามีตาในสังคมสื่อ แต่ทำเพื่อให้ผู้ชมดู ทำแล้วเป็นประโยชน์อะไรต่อผู้ชม ความคิดนี้เองที่ทำให้คุณตองอยู่ในอาชีพนี้ต่อไปได้   

ชิงทุน Chevening Scholarships
ตอนนั้นคุณตองทำงานที่สปริงนิวส์ได้ปีที่ 2 รุ่นพี่บรรณาธิการแนะนำว่าถ้าอยากดันตัวเองให้โตได้เร็วต้องไปศึกษาต่อปริญญาโท โดยเฉพาะในต่างประเทศ โชคดีที่คุณตองมีพื้นฐานภาษาอังกฤษ พยายามทำข้อสอบ mock-up ทุกวัน ฟังเพลงภาษาอังกฤษ ดูข่าว BBC เตรียมตัวพร้อมมาก แต่สอบสองปีไม่ผ่านในรอบสัมภาษณ์ ซึ่งคุณตองไม่เคยท้อ งานข่าวทำให้รู้สึกว่าต้องเดินหน้าต่อไป กระทั่งสมัครสอบทุนปีที่ 3 รู้สึกว่าชีวิตตัวเองอยู่ในจุดที่ดีมาก ลงตัว สามารถนำเสนอคอนเทนต์ด้วยตัวคนเดียวได้ จนท้ายที่สุดผ่านทุน ได้เข้าเรียนปริญญาโท สาขาวารสารศาสตร์ระหว่างประเทศ MA International Journalism, Cardiff University, แคว้นเวลส์ สหราชอาณาจักร คว้าเกียรตินิยมอันดับ 1

ประสบการณ์ทำงานกับ BBC World 
ก่อนจะไปเรียนต่อคุณตองทำงานเป็น Video Journalist ที่ BBC Thai อยู่ก่อนแล้ว ด้วยความที่มีอุปกรณ์พร้อมทำงาน ช่วงไปเรียนต่อที่สหราชอาณาจักร มีรุ่นพี่ชักชวนให้ไปช่วยงานที่ BBC World เริ่มจากตัดต่อง่ายๆ เขียนคอนเทนต์ จนไปช่วยถ่ายงานใหญ่ที่กรุงลอนดอน ได้ประสบการณ์ที่หลากหลาย โดยระบบการทำงานใน BBC มีลักษณะ “One man, One job”

หลังกลับมาเมืองไทย คุณตองได้เข้ามาทำงานในตำแหน่ง บรรณาธิการข่าวดิจิทัล กับช่องใหญ่ช่องหนึ่ง มีเป้าหมาย คือ ทำอย่างไรให้สำนักข่าวต่างประเทศที่มีคนไทยทำ ทำคอนเทนต์ที่คนไทยเข้าถึงได้ และประสบความสำเร็จ ทำให้คนไทยสนใจข่าวต่างประเทศ มองสิ่งที่อยู่นอกประเทศได้มากขึ้น เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศเป็นกระจกสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมไทย การเสพข่าวอาจเกิดชุดความคิดที่นำไปสู่ทางออกที่ดีขึ้นได้ 

อีกเป้าหมายหนึ่งคือ อยากสร้างทีม ถ่ายทอดทักษะต่างๆ ที่มีให้กับทีมนักข่าวหน้าใหม่ที่ปลุกปั้นขึ้นมาเอง ฝึกฝนบุคลากรสื่อที่อยากทำสิ่งดีๆ ให้สังคม และสุดท้ายคุณตออยากพิสูจน์ตัวเองว่าลิมิตของการเป็นบุคลากรสื่อสามารถเป็นหัวหน้าคนได้ไหม สามารถเป็นคนกำหนดทิศทางการทำงานให้กับน้องๆ สร้างคนที่อาจจะได้โอกาสอย่างเราได้หรือไม่

สุดท้ายสิ่งที่คุณตองอยากผลักดันด้านการศึกษาสื่อสารมวลชนในประเทศไทย อย่างแรกคือ ไม่อยากเห็นแค่คนจากสายวิชาการมาสอนด้านสื่อ อยากจะเห็นบุคลากรด้านสื่อจริงๆ มาเป็นเทรนเนอร์ เมนเทอร์ให้กับน้องๆ รวมทั้งผลักดันเรื่องของ Critical Thinking และนอกเหนือจากเรื่องวิชาการและทักษะที่อาจารย์ได้ถ่ายทอด ควรจะหาโมเดลให้กับลูกศิษย์ เพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรสื่อได้ฟูมฟักสื่อมวลชนรุ่นใหม่ ให้เป็นสื่อที่ดีในอนาคต

.


.

.

คุณนุ่น สุภาวดี สิริฤกษ์วิภาส | THE STUDY TIMES STORY EP.30

บทสัมภาษณ์ คุณนุ่น สุภาวดี สิริฤกษ์วิภาส ได้รับทุนพัชรกิติยาภาเพื่อการศึกษากฎหมาย Cornell University - LL.M, สหรัฐอเมริกา 
จากนักกิจกรรมตัวยง สู่นักเรียนทุนสายกฎหมาย เพราะความสนใจด้านภาษา ช่วยพัฒนาศักยภาพ

ปัจจุบันคุณนุ่นทำงานในตำแหน่ง Associate ที่ Law Firm ทำเกี่ยวกับ corporate รวมถึงการควบรวมกิจการต่างๆ 

ประสบการณ์เรียนภาษาที่ออสเตรเลีย
ด้วยความที่คุณพ่อคุณแม่ของคุณนุ่นสนใจในภาษา จึงสนับสนุนให้คุณนุ่นเรียนด้านภาษาตั้งแต่เด็ก ช่วงมัธยมคุณพ่อคุณแม่ส่งไปเรียนใน English Program เรียนอาทิตย์แรกถึงกับเป็นไมเกรน เพราะตามไม่ทันจากที่เรียนโรงเรียนไทยมาตลอด แต่พยายามปรับตัว สุดท้ายเริ่มเข้าใจในสิ่งที่อาจารย์สอน 

กระทั่งจบชั้นม.1 คุณแม่ส่งให้ไปเรียนภาษาที่ออสเตรเลีย จากตอนแรกที่ฟังอะไรไม่รู้เรื่อง แต่พอไปอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนั้น ทำให้พัฒนาทั้งสมอง และหูสามารถปรับรับกับภาษาได้ เกิดความสนใจด้านภาษาอย่างมาก เพราะภาษาอังกฤษเป็นตัวเปิดโลกให้กว้างขึ้น ทำให้เรียนรู้อะไรได้มากกว่า สามารถอ่านวรรณกรรมที่นอกเหนือจากวรรณกรรมไทย หรือบทความภาษาไทย 

เรียนแลกเปลี่ยนสหรัฐอเมริกา จุดก้าวกระโดดทักษะการฟังภาษาอังกฤษ
หลังจากนั้นคุณนุ่นได้สอบชิงทุนไปเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ไปอยู่เท็กซัส 1 ปี ถึงแม้จะเรียน English Program มา แต่เรียนเฉพาะในแง่ของวิชาการ หลายๆ อย่างยังต้องพัฒนา ที่สำคัญคือการพูดตัวอักษร L R V แต่โชคดีที่โฮสมัมซึ่งเป็นอาจารย์จะมาฝึกพูดให้ทุกวัน รวมทั้งฝึกภาษาจากการดูหนังภาษาอังกฤษแบบไม่เปิดซับ  

แรงบันดาลใจในการเลือกเรียน ‘นิติศาสตร์’
ตอนป.3 คุณแม่ของเพื่อนสนิทเป็นผู้พิพากษาและมีญาติเป็นทนายความ คุณนุ่นได้ไปสัมผัสแล้วรู้สึกว่าเป็นผู้หญิงที่เท่มาก จึงมีเขาเป็นไอดอล รู้สึกว่าอยากเป็นแบบนี้ พยายามหาข้อมูลจนรู้สึกว่านิติศาสตร์เป็นอะไรที่เป็นเหตุเป็นผล สามารถเข้าใจได้ และปรับใช้ได้กับทุกอย่างในชีวิตประจำวัน จึงตัดสินใจสอบตรงเข้านิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 

คุณนุ่นเล่าว่า การเรียนกฎหมายไม่ใช่แค่อ่านตัวบทแล้วจะเข้าใจตัวกฎหมาย ต้องมองไปถึงวิธีการตีความ บัญญัติออกมาเป็นอย่างไร เอามาปรับใช้กับข้อเท็จจริงอย่างไร หากใครมีโอกาส คุณนุ่นแนะนำให้ลองทำกิจกรรมต่างๆ ที่มี เพื่อศึกษาถึงการนำกฎหมายมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน

กิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คุณนุ่นเป็นคนที่ทำกิจกรรมเยอะมาก ด้วยความที่ชื่นชอบภาษา จะเลือกทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาษาอังกฤษ และด้วยความที่เด็กนิติฯ ส่วนใหญ่มีความกลัวภาษาอังกฤษ เป็นการเปิดโอกาสให้กับคนที่ไม่กลัวภาษา ซึ่งการทำกิจกรรมสามารถเปิดโลกกว้าง และเปิดมุมมองที่แตกต่าง การแบ่งเวลาของคุณนุ่นคือ ในช่วงปี 1 – ปี 3 ลุยทำกิจกรรมในคณะ และปี 4 ลองออกไปทำกิจกรรมนอกคณะ อย่างการเป็นหลีดมหาวิทยาลัย 

ซึ่งข้อดีของการทำกิจกรรมในรั้วมหาลัย เวลาที่ไปสมัครงาน ไปสัมภาษณ์ ผู้สัมภาษณ์จะเห็นว่าเราสามารถทำสิ่งอื่นได้นอกเหนือจากสิ่งที่เรียนในห้อง มีทักษะที่หลากหลายด้าน

คุณนุ่นเคยผ่านการคัดเลือกเป็น Kbank e-Girls เป็นตัวแทน 8 คน จากผู้สมัคร 8,000 คน โดยเริ่มจากดูว่าเขาต้องการอะไร ต้องการคนที่สามารถนำเสนอได้ มีความสมาร์ท ผู้หญิงที่มีความสามารถ ปราดเปรียว รู้สึกว่าอาจจะเหมาะกับคาแรคเตอร์ เลยลองไปสมัคร ตอนนั้นคิดว่าสิ่งที่ทำให้ได้โอกาส มาจากการที่เคยทำกิจกรรม รู้จักนำเสนอ รู้จักคุยกับคนอื่น หลังจากนั้นคุณนุ่นยังใช้ทักษะที่มีไปคว้าตำแหน่งผู้ประกาศข่าวหน้าใหม่ของช่อง 9 มาได้อีกด้วย

คุณนุ่นแนะนำว่า การที่เราไม่มีประสบการณ์ในด้านไหน เราก็สามารถไปคว้าโอกาสดีๆ มาได้ ถ้าเรามีความพยายาม และการฝึกฝน บางทีที่คนต้องการเห็นจากเรา คือความพยายาม และหากเรามีแวว มีความสามารถ เราสามารถไปต่อได้

Cornell University - LL.M (ทุนพัชรกิติยาภาเพื่อการศึกษากฎหมาย)
คุณนุ่นเล่าว่า ในการสมัครทุนพัชรกิติยาภาเพื่อการศึกษากฎหมาย ต้องมีคะแนน TOEFL และต้องได้เนติบัณฑิต เพราะเป็นทุนของเนติบัณฑิตยสภา ภายใต้ชื่อทุนพัชรกิติยาภาเพื่อการศึกษากฎหมาย แต่ละปีจะคัดเลือกไป 1 คนต่อหนึ่งปี เป็นทุนให้เปล่า

เมื่อตรวจเอกสารเรียบร้อย หากใครได้เข้ารอบสัมภาษณ์ จะต้องเขียนแนวทางชีวิต ว่าต้องการทำอะไรต่อ จะทำอะไรให้สังคมได้บ้างในอนาคต และประวัติส่วนตัวสามหน้า ให้เวลาหนึ่งอาทิตย์ และในวันสัมภาษณ์จะต้องเขียน Essay ตามหัวข้อที่ได้มาภายในเวลา 30 นาที โดยกรรมการจะสัมภาษณ์จากในทุกอย่างที่เราเขียนส่งไป

คุณนุ่นคิดว่าสิ่งที่ทำให้ตัวเองได้รับทุนนี้ เพราะประสบการณ์ที่สั่งสมมา และมีจุดมุ่งหมายที่แน่ชัดว่าอยากทำอะไร สิ่งที่มีมากกว่าคนอื่นคือประสบการณ์และสิ่งที่สะสมไว้จากตอนทำกิจกรรมมากมายในรั้วมหาวิทยาลัย

Cornell University 
คุณนุ่นเล่าว่า การเรียนที่ Cornell University ต่างจากที่ไทยมาก เพราะเน้นให้ฉุกคิด เรียกให้ตอบในห้องเรียน ทำให้นักเรียนอเมริกันมีความกล้าแสดงออก กล้าคิดนอกกรอบ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การศึกษาพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและมีประโยชน์ต่อตัวผู้เรียน

สิ่งที่คุณนุ่นประทับใจที่สุดใน Cornell University คืออาจารย์และเพื่อน อาจารย์จะสอนให้ฝึกคิดและมีแนวให้ฝึกปฏิบัติ นำกฎหมายไปปรับใช้ในชีวิตจริง ส่วนเพื่อนแต่ละคนกว่าที่จะมาถึงจุดนี้ก็ผ่านหลายประสบการณ์มา เมื่อได้แลกเปลี่ยนความคิดกัน พบว่าตัวเองได้ก้าวกระโดดด้านความคิด มีเพื่อนที่จะสามารถแลกเปลี่ยนความรู้กันได้ตลอดชีวิตหลังจากนี้

คุณนุ่นฝากทิ้งท้ายไว้ว่า อยากให้นักกฎหมายตามกฎหมายอยู่เรื่อยๆ ตามแนวทางการตีความ เบื้องหลังการออกกฎหมายต่างๆ พัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา

.


.

.


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top