Tuesday, 22 April 2025
สายสีแดง

บอร์ดรฟท. อนุมัติค่าโดยสารสายสีแดง กำหนดราคา 12-42 บาท เป็นเวลา 3 ปี

19 ต.ค. 64 - นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในฐานะประธานกรรมการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม บอร์ด รฟท.วันนี้ ได้อนุมัติในหลักการ กำหนดอัตราค่าโดยสาร รถไฟชานเมืองสายสีแดง ตลิ่งชัน-บางซื่อ และบางซื่อ-รังสิต โดยกำหนดอัตราที่ค่าแรกเข้า 12 บาท และเก็บสูงสุด ไม่เกิน 42 บาท โดยจะจัดเก็บอัตราดังกล่าวไปเป็นเวลา 3 ปี 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอนุมัติอัตราค่าโดยสารของบอร์ดรฟท. เป็นการกำหนดอัตราค่าแรกเข้า 12 บาท และเก็บตามระยะอีก กม.ละ 1.50 บาท สูงสุดไม่เกิน 42 บาท  อย่างไรก็ตาม เนื่องจากก่อนหน้านี้นายศักดิ์สยาม  ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคม ได้ให้นโยบายว่า การกำหนดอัตราค่าโดยสารนั้น ต้องเกิดประโยชน์แก่ผู้ใช้บริการ เป็นธรรมกับทุกฝ่าย และไม่เป็นภาระกับองค์กร (รฟท.) ในอนาคต  

รฟท. เตรียมชงครม. ลุยส่วนต่อขยาย ‘สายสีแดง’ คาดเปิดประมูลปลายปี 65 วงเงิน 7.93 หมื่นลบ.

การรถไฟแห่งประเทศไทย เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาส่วนต่อขยายรถไฟชานเมืองสายสีแดง 4 เส้นทาง วงเงิน 7.93 หมื่นล้าน คาดว่าจะสามารถดำเนินการประมูลได้ในปี 2565 และจะสามารถทยอยเปิดให้บริการได้ในปี 2569 - 2571

วันนี้ (22 ธ.ค. 64) นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการส่วนต่อขยาย รถไฟชานเมืองสายสีแดงว่า ขณะนี้ผลการศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการ จัดทำเอกสารประกวดราคาและการดำเนินงาน ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 จำนวน 4 โครงการ วงเงิน 7.93 หมื่นล้านบาท เสร็จเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย

ช่วงที่ 1 บางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และ ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง

ช่วงที่ 2 รังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

ช่วงที่ 3 ตลิ่งชัน-ศาลายา

ช่วงที่ 4 ตลิ่งชัน-ศิริราช

พระราชทานชื่อ รถไฟสีแดง-สถานีกลางบางซื่อ ‘นครวิถี-ธานีรัถยา’ และ ‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์’

พระราชทานชื่อรถไฟชานเมืองสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) "นครวิถี" สีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) “ธานีรัถยา” หมายถึง เส้นทางของเมือง สถานีกลางบางซื่อ “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองยิ่งแห่งกรุงเทพมหานคร เผย (8 ก.ย. 65) ผู้โดยสารทำนิวไฮ 2.2 หมื่นคน

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า จากที่กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ขอพระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟ โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) และสถานีกลางบางซื่อ โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) มีหนังสือที่ นร 0508/ท 4784 ลว. 2 กันยายน 2565 แจ้งกระทรวงคมนาคมทราบว่า สลค.ได้ขอให้ราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทต่อไปแล้ว และได้รับแจ้งจากสำนักพระราชวังว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟฯ และสถานีกลางบางซื่อ ดังนี้

1. พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) ระยะที่ 1 ว่า "นครวิถี" อ่านว่า “นะ-คอน-วิ-ถี” (Nakhon Withi) หมายถึง เส้นทางของเมือง

2. พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) ระยะที่ 1 “ธานีรัถยา” อ่านว่า “ทา-นี-รัด-ถะ-ยา” (Thani Ratthaya) หมายถึง เส้นทางของเมือง

3. พระราชทานชื่อสถานีกลางบางซื่อว่า “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” อ่านว่า “สะ-ถา-นี-กลาง-กรุง-เทบ-อะ-พิ-วัด” (Krung Thep Aphiwat Central Terminal) หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองยิ่งแห่งกรุงเทพมหานคร

สำหรับโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) ระยะทาง 15 กิโลเมตร จำนวน 3 สถานี ใช้เวลาเดินทาง 15 นาที โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) ระยะทาง 26 กิโลเมตร จำนวน 10 สถานี ใช้เวลาเดินทาง 25 นาที

ผลสำรวจความพึงพอใจผู้ใช้บริการ ‘รถไฟฟ้าสายสีแดง’ 1/2567 ‘บริการ-ตรงเวลา-คุณภาพ-สะดวก’ อยู่ในเกณฑ์ ‘พึงพอใจมาก’

(26 มี.ค. 67) นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้สำรวจความพึงพอใจผู้โดยสารในการใช้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ประจำปี 2567 ครั้งที่ 1 เพื่อให้สามารถรวบรวมข้อมูล และเข้าถึงความต้องการของผู้โดยสาร สำหรับนำข้อมูลมาประยุกต์ใช้ในการยกระดับการให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้าโพล) ซึ่งเป็นสถาบันที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการสำรวจและวิจัย เป็นผู้ออกแบบ และลงพื้นที่สำรวจความพึงพอใจจากผู้ใช้บริการทั้ง 13 สถานี 

โดยผลปรากฏว่าจากคะแนนเต็ม 5 ผู้โดยสารมีความพึงพอใจด้านการให้บริการ 4.48, ด้านความปลอดภัย 4.46, ด้านความน่าเชื่อถือต่อความตรงต่อเวลา ความถี่ และคุณภาพในการเดินรถไฟฟ้า 4.38, ด้านการประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูล 4.45, ด้านคุณภาพและสิ่งอำนวยความสะดวกบนสถานีและในขบวนรถ 4.36, ด้านเหรียญโดยสาร/บัตรโดยสาร และกิจกรรมส่งเสริมการตลาด 4.38 ซึ่งผลสำรวจดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าผู้โดยสารมีความเชื่อมั่นต่อการให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเป็นอย่างมาก

การที่ผลสำรวจความพึงพอใจของผู้โดยสารที่มีต่อรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงในด้านต่าง ๆ อยู่ในระดับพึงพอใจมาก แสดงให้เห็นว่าผู้โดยสารมีความเชื่อมั่นต่อการให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงมากยิ่งขึ้น อีกทั้งในปัจจุบัน หลังจากได้ดำเนินนโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 20 บาท ส่งผลให้มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และบริษัทฯ ได้ดำเนินนโยบาย มาตรการต่าง ๆ ที่เป็นการยกระดับการให้บริการ รวมถึงการรักษาความปลอดภัยมาโดยตลอด โดยเฉพาะมาตรฐานการให้บริการที่บริษัทฯ ได้ผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO 9001 : 2015 ขอบเขตการปฏิบัติการเดินรถไฟฟ้า ความปลอดภัย และวิศวกรรมซ่อมบำรุง จากหน่วยรับรอง Bureau Veritas (BV) ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้บริการด้านการตรวจประเมินและออกใบรับรองในด้านคุณภาพ อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในระดับโลก

ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่น พัฒนาองค์กรสู่การเป็นผู้นำในการให้บริการเดินรถไฟฟ้าด้วยมาตรฐานระดับสากล มุ่งเน้นการสร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ผู้ใช้บริการอย่างเต็มความสามารถ

โดยท่านสามารถติดตามรายละเอียดได้ทางโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์ม Facebook Fan Page, Twitter, Instagram, Youtube, Tiktok พิมพ์ชื่อ ‘RED Line SRTET’

รฟฟท. จัดโครงการ 'พี่หนูแดงพาน้องนั่งรถไฟไปเปิดโลกกว้าง' เสริมการเรียนรู้ผ่านการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าสายสีแดง

(13 ก.พ.68) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด จัดโครงการ CSR 'พี่หนูแดงพาน้องนั่งรถไฟไปเปิดโลกกว้าง ปี 2' เปิดโลกแห่งการเรียนรู้ผ่านเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดง เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ของเด็ก ๆ ในชุมชนตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง

นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง เปิดเผยว่า โครงการ 'พี่หนูแดงพาน้องนั่งรถไฟไปเปิดโลกกว้าง' ถือเป็นโครงการที่ได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักเรียนและชุมชนในปี 2566 ที่ผ่านมา และในปี 2568 บริษัทฯ มีความยินดีที่จะสานต่อโครงการดีดีอย่างนี้ให้พัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – 6 จำนวน 100 คน จากโรงเรียนชุมทางตลิ่งชัน ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดง ได้ทัศนศึกษาโดยการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า ซึ่งเริ่มต้นที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ไปจนถึงสถานีหลักหก (ม.รังสิต) และเดินทางต่อไปยังพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ อ.คลองห้า จ.ปทุมธานี

โดยการเดินทางในครั้งนี้ เด็ก ๆ จะได้เห็นและสัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ นอกห้องเรียนผ่านการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนระบบรางที่มีมาตรฐานอย่างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง และเด็ก ๆ จะได้สัมผัสการเรียนรู้นอกตำรา ผ่านกิจกรรมที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ซึ่งมีการจัดแสดงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในหลากหลายแง่มุม อาทิ วิทยาศาสตร์พื้นฐาน ฟิสิกส์ เคมี คณิตศาสตร์ การทดลองทางวิทยาศาสตร์ และการศึกษาเรื่องราวของร่างกายมนุษย์ นอกจากนี้ยังมีการเรียนรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาของไทยและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นประสบการณ์ที่ดีแห่งการเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจให้น้อง ๆ ต่อไป โดยกำหนดการจะจัดขึ้นในวันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568

ทั้งนี้ การจัดกิจกรรม 'พี่หนูแดงพาน้องนั่งรถไฟไปเปิดโลกกว้าง ปี 2' ในครั้งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ในการเป็นองค์กรที่รับผิดชอบต่อสังคม โดยไม่เพียงแต่เป็นผู้ให้บริการขนส่งมวลชนระบบรางที่มีคุณภาพเท่านั้น แต่ยังมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและโอกาสทางการศึกษาของเยาวชน เพื่อเป็นการเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคตต่อไปอย่างยั่งยืน โดยบริษัทฯ จะดำเนินกิจการเคียงข้างประชาชน และจะมุ่งมั่นพัฒนาองค์กรสู่การเป็นผู้นำในการให้บริการรถไฟฟ้าด้วยมาตรฐานระดับสากล สร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ผู้ใช้บริการ รักษามาตรฐานการปฏิบัติงานในด้านการเดินรถ และซ่อมบำรุง รวมทั้งรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจขององค์กร ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตชานเมืองอย่างยั่งยืนต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top