Tuesday, 29 April 2025
สานพลังลดความเหลื่อมล้ำนำไทยยั่งยืน

‘วปอ.รุ่น 66’ เป็นเจ้าภาพ จัดงานสัมมนาใหญ่ ประสานความร่วมมือ 6 สถาบัน ‘วปอ.-TEPCoT-วตท.-บ.ย.ส.-ปปร.-พตส.’ สานพลังเพื่อแก้ปัญหาให้ประเทศ

(22 ก.ค.67) สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ‘รวยกระจุก จนกระจาย’ ยังคงเป็นปัญหาสั่งสม หนักหน่วง รุนแรงเพิ่มขึ้น ถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศมาอย่างต่อเนื่องในทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะช่วงหลังวิกฤติโควิด-19 ที่เศรษฐกิจเกิดการชะงักงันชะลอตัว กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือคนระดับรากหญ้าต่อเนื่องมาถึงคนชั้นกลาง หนี้ภาคครัวเรือนของไทยขยับขึ้นสูงถึงกว่า 90% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ความยากจนยิ่งซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำให้ถ่างออกกว้างขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำในด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา รายได้ สาธารณสุข การเมือง รวมไปถึงด้านความยุติธรรม

ปัญหาความเหลื่อมล้ำ จึงยังคงเป็นประเด็นท้าทายที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องร่วมมือกันออกนโยบายและหาทางแก้ปัญหาในการลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อทำให้สังคมและเศรษฐกิจไทยพัฒนาได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ขององค์การสหประชาชาติ ที่ต้องลดความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ

โจทย์ใหญ่นี้ ยังได้ถูกโยนลงมากลางวงจาก นายกรัฐมนตรี ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ในงานปาฐกถาพิเศษ ให้กับนักศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ที่ผู้เข้ารับการอบรมล้วนเป็นผู้นำระดับสูงจากองค์กรต่างๆ โดยขอให้ช่วยเหลือประเทศ ลดความไม่เสมอภาค และความเหลื่อมล้ำของสังคม ช่วยคนตัวเล็กให้ยืนอยู่ในสังคมได้

ทำให้โจทย์นี้ ได้ถูกนำมาขยายวงให้หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงที่สำคัญอีก 5 หลักสูตร ได้ร่วมกันจัดทำรายงานการศึกษาปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทยในด้านต่างๆ พร้อมข้อเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหา

ประกอบด้วย หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ, หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการค้าและการพาณิชย์ (TEPCoT) สถาบันวิทยาการการค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, หลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการ ศาลยุติธรรม วิทยาลัยการยุติธรรม, หลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง (ปปร.) สถาบันพระปกเกล้า, หลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.) สถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ก่อนที่จะนำผลงานทางวิชาการของทั้ง 6 สถาบัน มาเผยแพร่แลกเปลี่ยน สัมมนาและต่อยอดความคิดเห็นระหว่างผู้เข้ารับการอบรมทั้ง 6 หลักสูตร ร่วมมือผนึกกำลังกัน เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ และให้เกิดพลังแห่งการพัฒนาประเทศชาติ และสังคมไทยอย่างยั่งยืน โดยปีนี้ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ วปอ.รุ่น 66 เป็นเจ้าภาพในการสัมมนาร่วม 6 สถาบัน ในหัวข้อ ‘สานพลังลดความเหลื่อมล้ำนำไทยยั่งยืน’ หรือ The POWER Of SIX

ซึ่งในที่นี้ จะขอหยิบยกข้อสรุปรายงานการศึกษาเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ มานำเสนอดังนี้คือ

‘ขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย ลดความเหลื่อมล้ำ’ หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่น 66

นายวันฉัตร สุวรรณกิตติ
รองเลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

แม้ประเทศไทยมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมมาตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรก แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำในมิติต่าง ๆ ยังคงปรากฏอยู่ และส่งผลต่อการพัฒนาประเทศมาทุกยุคทุกสมัย

ผลการศึกษาของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) พบว่า เด็กจากครอบครัวที่มีฐานะดีที่สุด มีโอกาสศึกษาต่อมัธยมศึกษาตอนปลาย และปริญญาตรีสูงกว่าเด็กจากครอบครัวที่มีฐานะต่ำสุดหลายเท่า การเข้าถึงบริการสาธารณสุขยังเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ส่วนโครงสร้างทางภาษี ที่ยังไม่สามารถกระจายรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจรุนแรงขึ้น

และไม่มีทีท่าว่าความเหลื่อมล้ำจะหมดไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเปรียบเทียบระหว่างคนกลุ่มต่าง ๆ ที่มีความแตกต่างกัน แนวทางการแก้ปัญหานี้ จึงไม่ใช่การทำให้คนทุกกลุ่มเท่ากัน แต่เป็นการดำเนินการบนหลักการของขั้นการพัฒนาคือ “อยู่รอด พอเพียง ยั่งยืน” บนหลักการของการมีส่วนร่วมของภาคีการพัฒนาต่าง ๆ

โดยหลักการของ “การอยู่รอด” คือ ทำให้คนไทยได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานที่พึงมี โดยมีมาตรฐานขั้นต่ำตามแต่ละบรรทัดฐาน เช่น จัดสวัสดิการสังคมให้ทุกคนเข้าถึงได้ “พอเพียง” คือ คนไทยทุกคนได้รับการพัฒนาศักยภาพจนพึ่งพาตนเองได้ หลุดพ้นกับดักความเหลื่อมล้ำ และ ‘ความยั่งยืน’ คือ ไทยมีระบบโครงสร้างที่ไม่สร้างความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ และพัฒนาคนไทย สังคมไทยให้มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง ที่จะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ

คณะนักศึกษาหลักสูตร วปอ. รุ่นที่ 66 จึงนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำผ่านการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคม ที่ครอบคลุมทุกช่วงวัย การปรับปรุงระบบการศึกษาเพื่อให้เข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม การส่งเสริมการเข้าถึงบริการสาธารณสุข และการปรับปรุงนโยบายภาษี เพื่อให้กระจายรายได้ที่เป็นธรรม

โดย ‘การอยู่รอด’ นั้น จะพัฒนาแอปพลิเคชันการรับรู้สิทธิและการเข้าถึงสิทธิทั้งหมดที่บุคคลพึงมี เพื่อให้เข้าถึงบริการต่างๆ ของรัฐ โดยต่อยอดแอปฯที่มีอยู่คือ ThaiD รวมถึงช่วยสร้างโอกาสเข้าถึงทรัพยากรที่มีผลต่อการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย เข้าถึงโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพ เพื่อตัดวงจรความยากจน หลุดพ้นกับดักความยากจนข้ามรุ่น และเป็นบันไดสู่การเลื่อนลำดับชั้นในสังคม

ส่วนการลดความเหลื่อมล้ำในขั้น 'พอเพียง' จะบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในการให้บริการ และพัฒนากลุ่มเป้าหมายแบบ ‘พุ่งเป้า’ เช่น ปรับโครงสร้างจัดสรรงบประมาณภาครัฐ โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์มากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพนโยบายการคลังเพื่อลดเหลื่อมล้ำ โดยปรับปรุงระบบจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้จัดเก็บทั่วถึงและเป็นธรรม ผลักดันประชาชนทุกกลุ่มเข้าสู่ระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

นอกจากนี้ ยังทบทวนแนวทางจัดสรรงบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัดให้ครอบคลุมองค์ประกอบด้านความเหลื่อมล้ำ เชื่อมโยงกับสภาพปัญหา และความต้องการของพื้นที่ โดยให้ความสำคัญกับสถานะทางเศรษฐกิจของประชาชน เช่น รายได้ครัวเรือน สัดส่วนคนจน จำนวนประชากรกลุ่ม

ส่วนขั้น ‘ยั่งยืน’ กลไกต่างๆต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการลดความเหลื่อมล้ำ เช่น กฎหมาย กฎระเบียบต่าง ๆ ต้องทบทวนให้เป็นไปตามบริบทของการพัฒนาและเอื้อต่อการลดความเหลื่อมล้ำ ใช้มาตรการทางการคลังลดความยากจนและสร้างความเท่าเทียม โดยภาครัฐต้องลงทุนอย่างเหมาะสม เพื่อยกระดับบริการสาธารณะให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งต้องบริหารจัดการงบประมาณอย่างพุ่งเป้า เพื่อให้แก้ปัญหาเหลื่อมล้ำได้อย่างตรงเป้าหมายมากขึ้น

‘แต่การดำเนินการเหล่านี้ จะต้องดำเนินการอย่างบูรณาการ และครอบคลุมทุกมิติของปัญหา เพื่อนำประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง’


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top