Sunday, 6 July 2025
สว

ว่าที่ ส.ว. ‘นันทนา’ ข้องใจส.ว.ชุดเก่า ‘ขยันอะไรตอนนี้-ก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้ทำอะไร’  ชี้!! โดยมารยาท ควรหยุดทำงานได้แล้ว จี้ กกต.เร่งประกาศรับรองโดยเร็ว

(7 ก.ค.67) ที่อาคารบางซื่อจังชั่น รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส ว่าที่สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้สัมภาษณ์กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่มีการประกาศรับรองส.ว.ชุดใหม่ ว่า กระบวนการเลือกและเสร็จสิ้นลงแล้ว พบว่ามีผู้ร้องคัดค้านค่อนข้างมากกับ แต่ว่าในการเลือกตั้งทุกครั้งจะพบว่าจะต้องมีผู้ร้องคัดค้าน แต่การร้องคัดค้านไม่ได้แปลว่าจะเป็นการล้มกระดานหรือโมฆะ เพราะฉะนั้นกกต.ก็ควรจะพิจารณาว่า การเลือกสิ้นสุดลงแล้ว มีผู้ผ่านการเลือกเข้ามาแล้วควรที่จะรับรองผู้ที่เข้ามาก่อน แล้วคนใดกรณีใดที่มีข้อสงสัยว่า มีการทุจริตในการเข้ามาแบบไม่ตรงกลุ่มอาชีพด้วยวิธีการใดๆ ตรงนี้กกต.สามารถที่จะแขวนเอาไว้ก่อน แต่ว่ากลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่เข้ามาแบบปกติสุจริต ควรรับรองไปก่อน เพราะกระบวนการได้สิ้นสุดลงแล้ว และส.ว.ที่รักษาการอยู่ก็รักษาการมาพอสมควรแล้ว เราควรที่จะเปิดโอกาสให้คณะใหม่เข้ามา เรียกร้องไปยัง กกต.ควรที่จะรับรองไปก่อนแล้วก็สอยทีหลัง

“ไม่แน่ใจว่าส.ว.ชุดรักษาการจะเกิดมาขยันอะไรตอนนี้ เพราะก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้พบว่าทำอะไรสักเท่าไหร่ ตอนนี้น่าจะเปิดให้เป็นเวลาของส.ว.คณะใหม่เข้ามาได้แล้ว และโดยมารยาทการเลือกได้สิ้นสุดลงแล้ว หมดวาระหน้าที่ของส.ว.ชุดปัจจุบันแล้ว ควรจะหยุดปฏิบัติหน้าที่ได้แล้ว เป็นหน้าที่ของชุดใหม่ ” รศ.ดร.นันทนา กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีส.ว.ชุดรักษาการจะมีการนัดประชุมโดยพุ่งเป้าไปที่ส.ว.ชุดใหม่โดยตรงในเรื่องกระบวนการเลือก ส.ว. รศ.ดร.นันทนา กล่าวว่า กระบวนการเลือก ส.ว.ไม่ใช่เรื่องของส.ว.ชุดเก่า ถ้าบุคคลใดมีข้อสงสัยต้องการร้องคัดค้าน ก็ไปร้องคัดค้านที่กกต. ไปตรวจสอบกันตรงนั้น ไม่ใช่บทบาทของส.ว.เก่าที่จะมาตรวจสอบ ตนคิดว่าผิดช่องทาง ผิดภาระหน้าที่ ส.ว.ชุดเก่าควรหยุดปฏิบัติหน้าที่ได้แล้ว

‘กลุ่ม Clean Politic’ เดินหน้าฟ้อง ‘กกต.’ เอาผิดมาตรา 157 เหตุจัดการเลือกตั้ง ’สว.‘ มีมลทิน จ่อเอาใบแดงไปมอบให้พรุ่งนี้

(10 ก.ค.67) นายจาตุรันต์ บุญเบ็ญจรัตน์ เลขาธิการกลุ่ม Clean Politic เปิดเผยว่า ตนในฐานะอดีตผู้สมัคร สว.คนหนึ่ง และได้รับผลกระทบจากการจัดเลือก สว.ที่ผ่านมา เป็นการเลือกที่มีข้อครหามากมาย มีเรื่องร้องเรียนผ่าน กกต.กว่า 700 เรื่อง มีคนร้องเรียนผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน ตนเองไปร้องต่อศาลปกครองสูงสุดให้ไต่สวนฉุกเฉินและคุ้มครองการรับรองผลการเลือกของ กกต.

“ถ้าพิจารณากันอย่างใช้สามัญสำนึกธรรมดา การเลือก สว.ครั้งนี้ ไม่บริสุทธิ์ เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย ผมจึงเดินหน้าฟ้อง กกต.ฐานผิดมาตรา 157 ปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ”

โดยในวันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม เวลา 10.00 น. ตนจะเดินทางไปยังสำนักงาน กกต. ศูนย์ราชการ อาคาร B เพื่อเอาใบแดงไปมอบให้ กกต.พร้อมกับข้อเรียกร้องให้อดีตผู้สมัคร สว.ทั่วประเทศมอบใบแดงให้กับ กกต.ด้วยการเดินหน้าฟ้อง กกต.ตาม ม.157 เหตุจัดการเลือกตั้งมีมลทิน ในการลงสมัคร ผู้สมัครเชื่อว่า กกต.จะจัดการเลือกให้บริสุทธิ์ โปร่งใส เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย กกต.ก็เคยออกมาบอกว่ารู้ข้อมูลทุกอย่าง จ้องจะฟันโน้นฟันนี้ แต่สุดท้ายไร้น้ำยาเหมือนเดิม เหมือนการจัดเลือกตั้ง สส.คนรู้กันทั้งประเทศว่ามีการซื้อเสียงทุกหย่อมหญ้า แต่ กกต.ไร้น้ำยา ทำอะไรใครไม่ได้เลย ปล่อย สส.มีมลทินเข้าไปเต็มสภา

นายจาตุรันต์ กล่าวอีกว่า การเลือก สว.ก็เหมือนกัน สุดท้ายได้ สว.ที่หนีไม่พ้นบ่วงกรรมวงจรอุบาทว์จากการเมือง ได้คนที่เชื่อมโยงกับกลุ่มก้อนทางการเมือง บางคนก็ไม่ใช่ตัวแทนของกลุ่มอาชีพที่แท้จริง

“กกต.เองก็พอจะรู้บ้างว่าอะไรเป็นอะไร การประชุมเพื่อพิจารณารับรองผลการเลือก สว.ถึงสองวัน จึงยังไม่กล้ามีมติออกมา ต้องให้ฝ่ายสำนักงานไปหาข้อมูลเพิ่มเติมมาชี้แจงอีก” นายจาตุรันต์ กล่าว

'ประธานกกอ.' แจงเคส 'หมอเกศ' กฎหมายทำอะไรได้ลำบาก แต่หากขาดความน่าเชื่อถือ ต้องจี้ตรวจสอบ ก.พ.รับรองวุฒิ

(12 ก.ค. 67) จากกรณี พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย สว.จากกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งที่ได้คะแนนสูงสุดในการเลือกระดับประเทศ เดินทางมารายงานตัว พร้อมชี้แจงกรณีวุฒิการศึกษาของตนเอง โดยยืนยันว่า วุฒิการศึกษาที่ได้มาทั้งหมดเป็นของจริง จบจริง ไม่มีการซื้อปริญญา มหาวิทยาลัยที่จบก็ไม่ใช่มหาวิทยาลัยห้องแถว

ก่อนหน้านี้ไม่ออกมาชี้แจงเพราะเกรงว่าจะผิดต่อระเบียบของ กกต. ซึ่งจริง ๆ โดนตรวจสอบวุฒิการศึกษาตั้งแต่ระดับอำเภอแล้ว และได้ชี้แจงเป็นเอกสารทั้งหมด ปริญญาที่ได้จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียยูนิเวอร์ซิตี้ และใบรับรองที่ได้จากกระทรวงศึกษาธิการ ของสหรัฐอเมริกา และตัวแคลิฟอร์เนียยูนิเวอร์ซิตี้ ก็เป็นมหาวิทยาลัยจริง ๆ ไม่ใช่ห้องแถว ไม่มีการซื้อปริญญานั้น

ล่าสุด วันที่ 12 ก.ค.67 นายประดิษฐ์ วรรณรัตน์ ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า การจบปริญญาจากต่างประเทศแล้วใช้คำว่า ดร.นำหน้า ไม่ถือว่าเป็นตำแหน่งที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ ดังนั้น ใครได้ ดร.มาจากไหนแล้วจะใช้เป็นคำนำหน้าก็ถือเป็นเรื่องส่วนบุคคล ขณะที่ตำแหน่งทางวิชาการ ทั้งผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) รองศาสตราจารย์ (รศ.) และศาสตราจารย์ (ศ.) ต้องผ่านการพิจารณาจากสภามหาวิทยาลัย โดยเฉพาะตำแหน่ง ศ. เป็นตำแหน่งที่ต้องได้รับการโปรดเกล้าฯ

ประธาน กกอ.กล่าวต่อว่า กรณีกลุ่มที่จบปริญญาโท-เอก จะเข้ามาทำงานในประเทศไทย จะต้องได้รับการรับรองวุฒิจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งทาง ก.พ.จะมีรายชื่อมหาวิทยาลัยในต่างประเทศที่ ก.พ.รับรองวุฒิฯ อยู่แล้ว หากไม่ได้รับรองก็ไม่สามารถทำงานในหน่วยงานราชการได้ แต่ยังสามารถไปทำงานในบริษัทเอกชนได้ ไม่มีปัญหา

ส่วนตำแหน่งทางวิชาการที่ได้รับการรับรองจากต่างประเทศนั้น หากจะนำมาใช้เพื่ออ้างอิงการทำงานในหน่วยงานราชการของไทย ต้องผ่านการเทียบจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ถ้า อว.รับรองตำแหน่งทางวิชาการก็สามารถนำไปใช้อ้างอิงเพื่อเข้าทำงานในหน่วยงานราชการได้

“แต่ถ้า อว.ไม่รับรองก็ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย กรณีนี้ไม่เหมือนกับกลุ่มแพทย์ที่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ไม่สามารถแอบอ้างได้ แต่ตำแหน่งทางวิชาการไม่ถึงขั้นนั้น เพียงแต่ไม่สามารถใช้ในการเข้าทำงานในหน่วยงานราชการได้ ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งกรณีของหมอเกศ ทางกฎหมายคงเข้าไปดำเนินการอะไรได้ลำบาก แต่ถ้ามีการตรวจสอบในเชิงลึก ตัวผู้ถูกร้องเรียนเองขาดความน่าเชื่อถือ” นายประดิษฐ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีใช้ตำแหน่ง ศ.หรือ ดร. ในการดำรงตำแหน่ง สว. จะถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่ นายประดิษฐ์กล่าวว่า ตรงนี้ต้องไปดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กรณีวุฒิการศึกษาของ สว. หากมีการร้องเรียนไปที่ อว.ก็ต้องดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งก็ต้องไปดูว่า มหาวิทยาลัยที่ผู้ถูกกล่าวหาจบออกมาได้รับการรับรองวุฒิฯ จาก ก.พ.หรือไม่ ส่วน กกอ.จะเข้าไปดำเนินการอะไรได้หรือไม่นั้น ในการประชุม กกอ.นัดแรก วันที่ 18 กรกฎาคมนี้ ตนจะหารือที่ประชุมเพื่อดูว่าบทบาทของ กกอ.ที่มีอยู่สามารถดำเนินการอะไรในเรื่องนี้ได้บ้าง

‘สมชัย’ แฉ!! กระบวนการปั้นดีกรี 'ดร.-ศ.-รศ.' เพื่อบรรดาผู้มีสตางค์ แต่ไร้วุฒิ เปิดบริษัทตั้งชื่อเหมือนมหาวิทยาลัยดัง ทำให้ทุกอย่าง เหมาจ่ายไม่ถึงล้าน

(16 ก.ค.67) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'ปั่นไปไหน - สมชัย ศรีสุทธิยากร' ใจความดังนี้...

เรื่องมันมีอยู่ว่า บรรดาคนมีสตางค์ แต่ไม่มีวุฒิ อยากมี ดร. นำหน้า หรือ มี ศ. รศ. นำ ยิ่งเท่

บังเอิญมีบริษัทรับเทียบโอนวุฒิในอเมริกา ตั้งชื่อเหมือนมหาวิทยาลัย เปิดบริการรับเทียบโอนวุฒิ  เช่น เธอส่งใบปริญญามาฉันก็เทียบวุฒิให้ แต่หน้าตาใบเทียบวุฒิดูเผิน ๆ จะเหมือนใบปริญญา

บริษัทนั้นยังเปิดโอกาสว่า ถ้าเธอมีประสบการณ์อะไรก็ส่งหลักฐานมา ฉันเทียบโอนตำแหน่งวิชาการให้ 3 ชิ้นเป็น รศ. หากจะเป็น ศ. ขอ 5 ชิ้น

เรื่องเดินต่อว่า มี อ.ที่ไม่สังกัดมหาวิทยาลัย เห็นว่า เป็นช่องทางสร้างคนสร้างรายได้ เลยชักชวนแบบบอกต่อ ใครสนใจบ้าง   

ทำวิจัยไม่เป็นเดี๋ยวสอน สอนแล้วยังทำไม่เป็นหาคนช่วยทำ ทำแล้วเขียนไม่ถูกหาคนช่วยเขียน  แปลไม่ได้ช่วยแปล หาที่ลงวารสารต่างประเทศไม่ได้เดี๋ยวจัดให้ แต่มีค่าใช้จ่าย รวม ๆ ยังไงก็ไม่ถึงล้าน ดีกว่าบินไปเรียน 5 ปี 10 ล้าน ยังอาจไม่จบ

ผู้มีสตางค์ที่อยากได้ปริญญา อยากได้ ดร. อยากได้ ศ. รศ. เลย เห็นว่านี่คือ ทางลัด ประหยัด ไม่เหนื่อยแรง แต่ไม่รู้ว่า สิ่งนี้ ไม่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานที่มีมาตรฐาน

ลงเฟซ ลงติ๊กต๊อก สร้างภาพสวย ๆ ไม่น่าจะมีปัญหา คนเห็นก็กดไลก์ กดหัวใจให้ ยิ่งปลื้มกันใหญ่ แต่พอเอามาใช้กับอะไรที่เป็นทางการมาก ๆ น่าจะเรื่องยาว

เพื่อนผมที่เป็นหมอบอกว่า นี่คือ อาการ Pathological Lair คือ โกหกในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้ตัวว่าโกหก

ปัญหาคือ หากยังดึงดันและฟ้องกราดปิดปากใครต่อใคร เรื่องถึงศาล ฝ่ายถูกฟ้องเขาขอให้ศาลเรียกเอกสารวิชาการทุกชิ้นมาตรวจสอบ

อาการหนาวจะยิ่งกว่าทวีปอาร์กติก

ประธานวุฒิสภา กล่าวเปิดและปาฐกถาพิเศษ ในโครงการสัมมนาเครือข่ายผู้นำนักประชาธิปไตยประจำภูมิภาค ประจำปีพุทธศักราช 2567

นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสัมมนาเครือข่ายผู้นำนักประชาธิปไตยประจำภูมิภาค ประจำปี พุทธศักราช 2567 พร้อมปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "วุฒิสภากับการพัฒนาประชาธิปไตย" ให้กับผู้เข้าร่วมโครงการสัมมนาฯ พร้อมด้วย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่เข้าร่วมพิธีเปิด ประกอบด้วย พันเอกหญิง ธณตศกร บุราคม, นายภาณุพงษ์ เต็งวงษ์วัฒนะ, นายสุทนต์ กล้าการขาย, นางสาวอัจฉรพรรณ หอมรส, พลตํารวจตรี อังกูร คล้ายคลึง และ นายเปรมศักดิ์  เพียยุระ โดยมีผู้บริหารของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เข้าร่วมในพิธีเปิด ประกอบด้วย นายพีระพจน์ รัตนมาลี รองเลขาธิการวุฒิสภา, นายสาธิต วงศ์อนันต์นนท์ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ และ นางรักชนก  เกสรทอง ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2567 เวลา 09:00 นาฬิกา ณ ห้องประชุม 402 - 403 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา(ฝั่งวุฒิสภา) ถนนสามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 

โดยผู้เข้าร่วมโครงการสัมมนาฯ ประกอบด้วย กรรมการเครือข่ายผู้นำนักประชาธิปไตยวุฒิสภาจากจังหวัดลำพูน พร้อมด้วย กรรมการเครือข่ายผู้นำนักประชาธิปไตยวุฒิสภาจากจังหวัดต่างๆ ที่ดำเนินการจัดโครงการฯ ร่วมกับทางสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ในปี พุทธศักราช 2567 และอาจารย์สังคมศึกษา/ประธานสภานักเรียนโรงเรียน โรงเรียนที่ทำบันทึกความร่วมมือ หรือ Memorandum of Understanding(MOU) ในแต่ละภูมิภาค รวมจำนวนทั้งสิ้น 124 คน 

ทั้งนี้ ก่อนเริ่มพิธีเปิดฯ ผู้เข้าร่วมโครงการสัมมนาฯ ได้สักการะพระราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ชั้น MB1 อาคารรัฐสภา และในเวลา 14:00 - 16:00 นาฬิกา คณะฯ เข้าเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้องค์กรต้นแบบสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ชั้น 1 เข้าชมห้องประชุมวุฒิสภา เพื่อรับฟังการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 4 และหอสมุดรัฐสภา ชั้น 9

ต่อมาเวลา 18:30 นาฬิกา ณ โรงแรมเอสดี อเวนิว SD Avenue Hotel ถนนบรมราชชนนี แขวงบางบำหรุ เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้แบ่งกลุ่มเรียนรู้ออกเป็น 
กลุ่มที่ 1 "ถอดบทเรียนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดกิจกรรม"
กลุ่มที่ 2 "การเรียนรู้เรื่องวุฒิสภาและประชาธิปไตยผ่านเกมส์" 

โดยมีผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา นายสาธิต วงศ์อนันต์นนท์ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ร่วมสังเกตการณ์ พบปะพูดคุย และให้แนวทางในการนำความรูัความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตยฯ ไปต่อยอดขยายผลในรูปแบบที่หลากหลายให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ดำเนินรายการ โดย วิทยากรกลุ่มงานเผยแพร่ประชาธิปไตยฯ

ทั้งนี้ การจัดโครงการสัมมนาเครือข่ายผู้นำนักประชาธิปไตยประจำภูมิภาค ประจำปี พุทธศักราช 2567 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 ถึง 23 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรมเอสดี อเวนิว และ อาคารรัฐสภา กรุงเทพมหานคร 

กรรมาธิการวุฒิสภา 'ยัน' พรบ.ประชามติ 2 ชั้น ค้านไม่เอาเงื่อนไขการเลือกตั้ง อบจ.เงื่อนไขรับฟังประชามติ ปชช. ทางออกตั้งกรรมาธิการร่วม 2 สภา

นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เปิดเผยว่า จากการประชุมนัดสุดท้ายของ สว.ในการพิจารณา พรบ.ประชามติ ยังมีหลายประเด็นที่คณะกรรมาธิการพบว่าจำเป็นต้องมีการทบทวนแก้ไข  จึงไม่ควรเอาเงื่อนไขของเวลาการเลือกตั้ง อบจ.ในเดือน ก.พ.68 เป็นเงื่อนไขในการรับฟังประชามติประชาชนได้ โดยเหตุผลประหยัดงบประมาณ

นายไชยยงค์ฯ ยังเปิดเผยว่า มีถ้วนคำฟุ่มเฟื่อย และมาตรา 13 ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของ พรบ.ประชามติ หากปล่อยไปโดยไม่มีการทบทวนหรือแก้ไขจะเป็นปัญหาตามมา เนื่องจากต้องนำไปใช้กับโครงการใหญ่ที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและประโยชน์ของประเทศ  ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อาทิ โครงการก่อสร้างเขื่อน  ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน บ่อนกาสิโน โรงงานกำจัดขยะ

“ในการแก้การออกเสียงประชามติเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและเป็นผลกระทบต่อประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนดังนั้น หากกำหนดให้การออกเสียงประชามติถือเอาเพียงเสียงข้างมากของผู้ออกเสียงอาจจะไม่สามารถสะท้อนความเห็นหรือเจตจำนงที่แท้จจริงของประชาชนทั้งประเทศได้”

นายไชยยงค์ฯ นังเปิดเผยต่ออีกว่า แต่อย่างไรก็ตาม การกำหนดให้การทำประชามติทุกเรื่องไม่ว่าเรื่องเฉพาะกลุ่ม เฉพาะพื้นที่ต้องใช้เกณฑ์เสียงเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้นทั้งหมดกับทุกกรณี ก็อาจจะเป็นเคร่งครัดจนเกินไป อาจทำให้การออกเสียงประชามติเรื่องอื่น ๆ เกิดขึ้นได้ยาก เช่นการจัดโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน การจัดคาสิโน การทำเหมืองแร่ จึงเห็นสมควรกำหนดคะแนนเสียงที่จะถือว่าเป็นข้อยุติในการออกเสียงเป็น 2 รูปแบบ โดยเทียบเคียงการจำแนกรูปแบบการออกเสียงตามมาตรา 9 มาตรา 30 และมาตรา 31

นายไชยยงค์ฯ เปิดเผยอีกว่า รูปแบบที่ 1 การออกเสียงเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือคณะรัฐมนตรีเห็นสมควรเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญตามมาตรา 9 (1)และ(2) ซึ่งเป็นผลกระทบต่อประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือกระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงควรใช้เกณฑ์คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้นตามกฎหมายปัจจุบัน

"รูปแบบที่ 2 การออกเสียงกรณีคณะรัฐมนตรีเห็นสมควร หรือตามที่กฎหมายกำหนด หรือรัฐสภาเห็นสมควร หรือประชาชนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 9 (2 ) (3 )(4 )และ(5 )สามารถผ่อนคลายจำนวนที่จะถือว่าได้ข้อยุติจากเกณฑ์คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้น เป็นคะแนนเสียงข้างมากธรรมดาได้ จึงให้มีการตั้งกรรมาธิการร่วม 2 สภาเพื่อหาทางออก ส่วนมาตราอื่นๆนั้นแก้ไขคำที่ฟุ่มเฟือยเท่านั้น"

สว.'ชี้'คดีตากใบโหมไฟใต้ 23-26 ต.ค. หน่วยความมั่นคงบูรณาการปกครองรับมือ ป้องกันเหตุร้าย สถานที่ราชการ ฐานปฏิบัติการณ์ จุดตรวจ ร้านค้า ปั้มน้ำมัน ชุมชนไทยพุทธ

(25 ต.ค.67) นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวว่าแน่นอนแล้วว่ารัฐไม่สามารถจะนำตัวผู้ต้องหาที่ศาลออกหมายจับคดีตากใบ มาเข้าสู่ขบวนการยุติธรรมได้แน่นอนแล้ว ทำให้กลุ่มขบวนการ บีอาร์เอ็น. เอากรณีที่รัฐไม่สามารถจับผู้ต้องหาคดีตากใบ มาดำเนินคดี  ซึ่งวันสุดท้ายคดีหมดอายุความในวันนี้ ( 25 ต.ค.) มีการโฆษณาปลุกระดม 

นายไชยยงค์ กล่าวว่า โดยอ้างว่าพรรคเพื่อไทย และรัฐบาลไม่มีความจริงใจที่จะเอาตัวผู้ต้องหามาเข้าสู่ขบวนการยุติธรรม มาเป็นเงื่อนไขในการปลุกระดมมวลชน และสร้างสถานการณ์ร้ายในพื้นที่ชายแดนใต้ เช่นคาร์บอมม์ อ.ปานาเระ จ.ปัตตานี และอีกหลายจุดที่เกิดเหตุร้าย ส่วนรัฐบาลจะออก พรก.ขยายเวลาคดีตากใบนั้นไม่สามารถกระทำได้

นายไชยยงค์ กล่าวว่า สมาชิกวุฒิสภามีความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่ได้รับรายงานข่าวจากหน่วยงานความมั่นคงชายแดนใต้ ว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 26 ต.ค.67 จึงขอให้หน่วยงานความมั่นคงบูรณาการกับฝ่ายปกครอง ในพื้นที่ชายแดนใต้ เข้ามาดูแลเพื่อป้องกันทรัพย์สินของทางราชการ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่  สำนักงาน ฐานปฏิบัติการ จุดตรวจ จุดสกัด ร้านค้า ปั้มน้ำมันและชุมชนคนไทยพุทธ

สว. ลงมติคว่ำ ‘สิริพรรณ - ชาตรี’ นั่งตุลาการศาล รธน. หลังประชุมลับถกรายงานสอบประวัติกว่า 2 ชั่วโมง

มติ ‘วุฒิสภา’ ไม่เห็นชอบให้ 'สิริพรรณ นกสวน สวัสดี' และ 'ชาตรี อรรจนานันท์' นั่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หลังประชุมลับถกรายงานสอบประวัติกว่า 2 ชั่วโมง

(18 มี.ค. 68) ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา (สว.) ที่มีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 2 คน คือ น.ส.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี นักวิชาการรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายชาตรี อรรจนานันท์  อดีตอธิบดีกรมการกงสุล และอดีตเอกอัครราชทูต ประจำกรุงเฮก แทนตำแหน่งที่ว่าง 

หลังจากที่ที่ประชุมวุฒิสภาได้พิจารณาเป็นการลับ ต่อรายงานของคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม นานกว่า 2 ชั่วโมง 20 นาที แล้วจึงเป็นการลงมติว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่

นายมงคล ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า บุคคลที่จะได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสว.ที่มี ปัจจุบันมี สว.ทำหน้าที่ 199 คน ดังนั้นต้องได้ 100 คะแนนขึ้นไป 

สำหรับการลงคะแนนจะใช้การลงคะแนนลับด้วยเครื่องออกเสียง จากนั้นจึงให้ สว.แสดงตน โดยพบว่า มี สว. ที่แสดงตนจำนวน 189 คน

สำหรับผลการลงมติพบว่า 

น.ส.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี
ได้รับคะแนนเห็นชอบ 43 เสียง 
ไม่เห็นชอบ 136 เสียง 
งดออกเสียง 7 เสียง 
และไม่ลงคะแนน 1 เสียง 
จาก สว.ที่ลงมติทั้งสิ้น 187 คน

นายชาตรี อรรจนานันท์
ได้รับคะแนนเห็นชอบ 47 เสียง 
ไม่เห็นชอบ 115 เสียง 
งดออกเสียง 22 เสียง 
ไม่ลงคะแนน 3 คน 
จากสว.ที่ลงมติทั้งสิ้น 187 คน

นายมงคล แจ้งว่า การลงคะแนนดังกล่าวถือว่า น.ส.สิริพรรณ และนายชาตรี ไม่ได้รับความเห็นชอบ เพราะได้คะแนนน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสว.

ทั้งนี้ ที่ประชุมวุฒิสภา ยังมีมติต่อว่า "มิให้เปิดเผย" บันทึกการประชุมจำนวน 5 ครั้ง และรายงานลับของกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยคะแนน 147 ต่อ 33 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top