Wednesday, 15 May 2024
สร้างอนาคตไทย

สร้างอนาคตไทย สนับสนุนกีฬาหมากรุกไทย ส่งเสริมเป็นวิชาชีพติดตัว พร้อมเสนอเป็นนโยบายพรรค

(18 กันยายน 2565) ดร.อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย และนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ รองหัวหน้าพรรค ได้ร่วมงาน การแข่งขันกีฬาหมากรุกสากลและกีฬาหมากรุกไทย ประเภทเกมส์เร็ว ภายใต้โครงการ 'สร้างอนาคตไทยหมากรุกไทยและสากล' ณ เซ็นทรัล อีสวิลล์ 

นายสุรนันทน์ ได้ร่วมการเสวนา 'สร้างอนาคตหมากรุกไทย' โดยกล่าวว่า กีฬาหมากรุกไทยเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง จึงอยากรักษาสืบทอดให้คงอยู่สืบไป อยากที่จะผลักดันกฎหมายกีฬาหมากรุกไทยให้ถูกต้องและอยากให้รัฐสนับสนุนทุนการศึกษาและผลักดันเพื่อให้เป็นหนึ่งในหลักสูตรของการศึกษา ทั้งในโรงเรียนของรัฐและเอกชน เพื่อให้เยาวชนที่มีความสนใจใช้เป็นวิชาชีพติดตัวได้ในอนาคต รวมไปถึงจะสนับสนุนให้มีการแข่งขันทุกระดับทั้งท้องถิ่นและระดับชาติ

'สร้างอนาคตไทย' กระทุ้ง 'รัฐบาล' บริหารดูแลความเดือดร้อน ปชช. เปิด นโยบาย 4 โซลาร์ แก้วิกฤตค่าไฟฟ้าแพง สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ทวงถามใครแตะเบรกโรงไฟฟ้าชุมชน

วันนี้ (22 ก.ย. 65) ที่พรรคสร้างอนาคตไทย นำโดย ดร.อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค ดร.สันติ กีระนันทน์ รองหัวหน้าพรรค และประธานนโยบาย  และนายนริศ เชยกลิ่น รองหัวหน้าพรรค และโฆษกพรรค ร่วมแถลงข่าว “ชำแหละประเด็น ค่าไฟแพง แก๊สแพง ใครทำร้ายประชาชน” 

โดยดร.อุตตม กล่าวว่า สถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับต้นทุนราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น สาเหตุทั้งที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย ยูเครนที่ยืดเยื้อ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้คนไทยทั่วประเทศเดือดร้อนอย่างหนัก ขณะที่ภาครัฐควรต้องดูแลช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนดังกล่าว พร้อม จัดเตรียมมาตรการเพื่อให้ประเทศสามารถพลิกฟื้นได้ในช่วงเวลาต่อไป อย่างไรก็ตามมาตรการดูแลประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการในระยะแรกอย่างเร่งด่วนนั้น กลับยังไม่มีให้เห็นอย่างชัดเจน เช่น กรณีราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ติดต่อกันหลายเดือน กระทบกับประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ทั้งที่รัฐบาลสามารถช่วยเหลือได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

“นโยบายจะไปในทิศทางไหน รวมถึงมาตรการระยะสั้นจะดูแลอย่างไร นี่ถือเป็นโอกาสที่จะนำเรื่องพลังงานมาทบทวนกันใหม่ รื้อโครงสร้างใหม่ เพราะต้องเอาประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง และต้องทำอย่างจริงจัง เพราะพลังงานเกี่ยวข้องกับเรื่องต้นทุนการผลิต การบริการ ต้องดูแลอย่างต่อเนื่อง และยึดโยง สุดท้ายแล้วหนีไม่พ้นว่าภาครัฐต้องเป็นผู้ที่กำหนดนโยบายให้ส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องทำงานสอดคล้องกันในช่วงวิกฤติเช่นนี้ หวังว่ายังไม่ช้าเกินไปที่เราทั้งภาคประชาชน และภาครัฐจะมาช่วยกันปรับเปลี่ยนดูแลให้ประเทศผ่านวิกฤติช่วงนี้ไปให้ได้” ดร.อุตตม กล่าว

ด้านนายสนธิรัตน์ กล่าวว่า พรรคมีความจำเป็นต้องแถลงเรื่องนี้ เราจะปล่อยให้สถานการณ์ค่าครองชีพ เป็นแบบนี้ต่อไปไม่ได้ อีก 6-7 เดือนจะเลือกตั้ง คิดว่าประชาชนจะลำบาก วันนี้ประชาชนแบกภาระค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น เรามีไฟฟ้าส่วนเกินเกือบครึ่งที่ประชาชนต้องแบกภาระบางส่วน และการเปลี่ยนผ่านสัมปทานการผลิตก๊าซที่ทำให้ปริมาณลดลงกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงาน

“ปัจจุบันกำลังการผลิตแก๊สในอ่าวไทยลดลงตามลำดับ ผมเคยส่งสัญญานเตือนแล้วว่าแก๊สในอ่าวไทยจะมีปัญหาจากการเปลี่ยนผ่านที่ไม่ราบรื่น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาแก๊สที่สูงขึ้น เพราะการบริหารการเปลี่ยนผ่านที่ล้มเหลว ทำให้เราต้องนำเข้าแอลเอ็นจีจากต่างประเทศ ซึ่งแอลเอ็นจีในตลาดโลกมีราคาสูงมาก” นายสนธิรัตน์ กล่าว

นายสนธิรัตน์ กล่าวต่อไปว่า ด้านอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากราคาแก๊สที่แพงขึ้นมา 33 เปอร์เซ็นต์ สถานการณ์แบบนี้จะยังไม่หยุดจนถึงมีนาคมปีหน้า ที่ประชาชนต้องมาแบกรับภาระจากนโยบายพลังงาน และการบริหารที่ผิดพลาด กำลังการผลิตไฟฟ้าส่วนเกินที่เกิดขึ้น ใครได้ประโยชน์ ธุรกิจแอลเอ็นจีวันนี้ใครได้ประโยชน์สูงสุด เอกชนหรือรัฐ หรือค่าการกลั่นที่สูงมากและไม่ได้รับการแก้ไข พรรคเราเรียกร้องตลอดว่าเมื่อเกิดวิกฤติให้เอาต้นทุนจริงออกมาดู หากพรรคสร้างอนาคตไทยเข้าไปบริหารเราจะเอาประชาชนเป็นตัวตั้งในการแก้ปัญหา คำถามคือวันนี้รัฐบาลทำอะไรอยู่ น้ำมัน แก๊ส ค่าไฟฟ้า เคยพิจารณาต้นทุนจริงหรือไม่ ภายใต้ต้นทุนที่แท้จริงมีอะไรทับซ้อนอยู่ วันนี้คือวิกฤต ในสมัยที่พวกตนบริหารกระทรวงการคลัง และกระทรวงพลังงาน ในช่วงสถานการณ์โควิด เรามีมาตรการช่วยเหลือประชาชนเร่งด่วนทันที เช่น มาตรการลดค่าไฟฟ้าทันที ซึ่งวันนี้ก็ยังคงเป็นแนวคิดการแก้ปัญหาที่พรรคสร้างอนาคตไทยพร้อมที่จะทำ 

“ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประชาชนจะมีส่วนเป็นเจ้าของพลังงาน หรือที่เรียกว่า Energy for all วันนี้โรงไฟฟ้าชุมชนที่ผมริเริ่มไว้เป็นเวลา 2 ปีแล้ว วันนี้ผมอยากถามว่าใครแตะเบรกโรงไฟฟ้าชุมชน และทำเพื่ออะไร ทั้งที่โรงไฟฟ้าชุมชนสามารถช่วยทั้งพี่น้องประชาชน และเกษตรกรที่เป็นเศรษฐกิจฐานราก แต่กลับไม่ได้รับการสานต่อเพื่อประโยชน์ของประชาชน ถึงเวลารื้อโครงสร้างพลังงานครั้งใหญ่ เราจะไม่ปล่อยให้ปตท.ทำงานแบบใช้โอกาสเกื้อกูล เติบโต และข่มเหงประชาชน” นายสนธิรัตน์ กล่าว

'สร้างอนาคตไทย' เรียกร้อง กกต.รีบแบ่งเขตเลือกตั้ง เพื่อความเท่าเทียมและพร้อมจะเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้กลับมาลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง

วันพุธที่ 28 กันยายน 2565 นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย ในฐานะประธานภาคกรุงเทพฯ และนายสันติ กีระนันทน์ รองหัวหน้าพรรค เปิดศูนย์ประสานงานพรรค เขตยานนาวา บางคอแหลม ซึ่งมีนายพงศพัศ กตคุณวิสิทธิ์ เป็นผู้ประสานงานพรรคในพื้นที่

นายสุรนันทน์ ได้กล่าวว่า ศูนย์ประสานงานพรรค ไม่ใช่ศูนย์อำนวยการเลือกตั้ง ศูนย์ฯ จะต้องทำงานต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะไม่ได้รับการเลือกตั้ง เพราะเราตั้งใจเปิดศูนย์ฯ ขึ้นมาเพื่อเป็นตัวกลางในการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ พรรคสร้างอนาคตไทยได้มีชุดความคิดใหม่ ๆ เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แก้ปัญหาความไม่ยุติธรรมและความเหลื่อมล้ำทางการเมืองและสังคม และระหว่างพบปะประชาชน ก็ได้รับเรื่องร้องทุกข์เกี่ยวกับปัญหายาเสพติดในพื้นที่ ที่นับวันจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมไปถึงปัญหาชุมชนที่อยู่อาศัยที่ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย พรรคฯ จะนำปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ เข้าที่ประชุมเพื่อร่วมกันพิจารณาหาทางแก้ไขต่อไป โดยเฉพาะปัญหายาเสพติด เรายืนยันว่า จะต่อต้านยาเสพติดทุกประเภท  และจะร่วมกันขจัดให้หมดสิ้นไปจากสังคมไทยทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย 

นายสุรนันทน์ ยังได้เรียกร้องไปยัง กกต. อีกด้วยว่า ถึงแม้จะออกกฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ มามากมาย แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือควรรีบแบ่งเขตพื้นที่การเลือกตั้งทั้ง 400 เขตให้ชัดเจน เพราะขณะนี้ผู้ที่ลงสมัครหน้าใหม่ก็จะเสียเปรียบเจ้าของพื้นที่เดิม เนื่องจากไม่สามารถรู้ได้ว่าพื้นที่ของตัวเองมีขอบเขตแค่ไหน เพราะฉะนั้น กกต. จะต้องเร่งในเรื่องนี้ เพื่อที่ทุกคนจะได้มีโอกาสในการแนะนำตัวให้ประชาชนรู้จักอย่างเท่าเทียมกัน

'ธันวา' สวน ศรีสุวรรณ 'สร้างอนาคตไทย' เล่นตามกติกา ขออย่าเลือกปฏิบัติ หากจะตรวจสอบควรทั่วถึง

นายธันวา ไกรฤกษ์ รองโฆษกพรรคสร้างอนาคตไทย โพสต์เฟสบุ๊กสวนกลับนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กรณีไปยื่นคำร้องขอให้ กกต.ตรวจสอบป้ายหาเสียงของพรรคสร้างอนาคตไทย โดยกล่าวหาว่าไม่เป็นไปตามระเบียบว่าด้วยการหาเสียง ปี 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 23 กันยายน ที่ผ่านมาได้กำหนดไว้ โดยระบุว่า การที่นายศรีสุวรรณจะดำเนินการฟ้องร้องพรรคใดนั้นก็ถือเป็นสิทธิของนายศรีสุวรรณ แต่การที่พรรคสร้างอนาคตไทยเอาป้ายใหญ่ซึ่งมีขนาดเกินที่กำหนดไว้ในระเบียบดังกล่าวลงตั้งแต่ก่อนเริ่มนับกรอบเวลา 180 วันนั้น พรรคได้แสดงเจตนาชัดเจนว่าเราพร้อมทำตามกฎหมาย

ส่วนกรณีตามที่ถูกยื่นร้อง ถ้าเข้าใจไม่ผิดน่าจะเป็นป้ายของผู้เสนอตัวลงสมัครในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีแถวบ้านนายศรีสุวรรณ ตนได้ตรวจสอบแล้วได้ข้อเท็จจริง ดังนี้

'สร้างอนาคตไทย' เปิดศูนย์บางขุนเทียน เน้นท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อมและระบบสาธารณสุข

วันศุกร์ที่ 30 กันยายน 2565 นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย ในฐานะประธานภาคกรุงเทพฯ, นายสุวัฒน์ ม่วงศิริ อดีต ส.ส. กทม.  และทีมงานสร้างอนาคตไทย ได้ร่วมเปิดศูนย์ประสานงานพรรคเขตบางขุนเทียน  ซึ่งมีนายเศรษฐสรร จันทร์ทอง เป็นผู้ประสานงานพรรคในพื้นที่

นายสุรนันทน์ กล่าวว่า วันนี้ขอฝากคนรุ่นใหม่ ไฟแรง นายเศรษฐสรร ให้พี่น้องไว้พิจารณาด้วย ถึงแม้จะเป็นคนรุ่นใหม่ แต่ก็ขยันทำงาน ที่สำคัญเป็นคนในพื้นที่เติบโตและอาศัยมาในเขตบางขุนเทียน จึงมั่นใจว่าจะสามารถเข้ามาเป็นตัวกลางในการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้อย่างแน่นอน พื้นที่บางขุนเทียนมีทะเลบางขุนเทียนเป็นจุดเด่นในเรื่องของการท่องเที่ยว ซึ่งสามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้เป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการช่วยกันดูแลในเรื่องของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะผืนดิน ในเรื่องนี้เราต้องร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหา ด้วยการปลูกป่าชายเลน เพราะจะเป็นการสร้างระบบนิเวศชายฝั่งทะเลตามธรรมชาติ และแก้ไขปัญหาการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งได้โดยไม่ไปกระทบกับระบบนิเวศ และไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ด้วย

'สันติ' ชำแหละ พ.ร.บ. EEC เน้นเฉพาะให้แรงจูงใจผู้ลงทุน หนนเฉพาะทุนต่างชาติขนาดใหญ่

'สันติ' ชำแหละ พ.ร.บ. EEC ชี้ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน มองรัฐบาลปัจจุบันไม่ตอบโจทย์ เน้นเฉพาะให้แรงจูงใจผู้ลงทุน ไม่แก้ข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรค รวมถึงกระแสสนับสนุนเฉพาะทุนต่างชาติขนาดใหญ่ ขาดการคำนึงถึงความครบวงจรในระบบนิเวศ 

ดร.สันติ กีระนันทน์  รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงประเด็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กับความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ว่าตนได้อ่านข่าวที่เกี่ยวกับแนวคิด “เขตธุรกิจใหม่” เปรียบเทียบกับ “เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า EEC แล้ว ก็อยากจะแสดงความคิดเห็น โดยเก็บข้อมูลจากพระราชบัญญัติ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ประกอบกับประสบการณ์ที่ได้เคยทำงานในฐานะผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำกระทรวงอุตสาหกรรม ยุคที่เริ่มต้นของ EEC และช่วงที่เป็นเลขานุการ คณะกรรมาธิการ การเงิน การคลัง สถาบันการเงิน และตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้ให้ความสนใจเรื่อง EEC โดยทำการศึกษา และได้เชิญผู้บริหารของ EEC มาให้ข้อมูลอยู่หลายครั้ง

อันที่จริง ก็ต้องแสดงความดีใจที่มีแนวคิดเขตธุรกิจใหม่เกิดขึ้น แสดงถึงการเห็นคุณประโยชน์ของการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างจริงจัง ดังที่ตนได้พยายามนำเสนอมาโดยตลอดหลายปีนี้ แต่รัฐบาลปัจจุบันก็คงจะไม่ค่อยเข้าใจความจำเป็น จึงไม่ได้ให้ความสนใจเรื่องดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า EEC ยังไม่ตอบโจทย์หลายประการนั้น เช่น เน้นเฉพาะการให้แรงจูงใจด้วยการเสนอสิทธิประโยชน์ให้ผู้ลงทุนเท่านั้น ไม่มีการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรค หรือนำเสนอชุดกฎหมายใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกให้เกิดเขตธุรกิจใหม่ได้จริง หรือประเด็นที่คลาดเคลื่อนว่า EEC จะให้การสนับสนุนเฉพาะทุนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนักลงทุนต่างชาติเท่านั้น รวมไปถึงความเข้าใจที่ว่า EEC นั้น ไม่ได้คำนึงถึงความครบวงจรในระบบนิเวศ (ecosystem) ที่เอื้ออำนวยให้เกิดเขตธุรกิจใหม่ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีความเข้าใจว่า EEC จะให้การสนับสนุนเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีการ hard code ไว้ในพระราชบัญญัติเท่านั้น และความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอีกบางประการ

ดร.สันติ ย้ำว่า เป็นสิ่งที่ดี  ที่มีความพยายามเสนอแนวความคิดให้เกิดเขตธุรกิจใหม่ เพื่อผลักดันให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจของประเทศไทย เกิดพลังในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และไม่สร้างปัญหาแก่การดำเนินชีวิตของผู้คนทั่วไป หรืออาจจะพูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นมิตรกับผู้คน

ทั้งนี้ หากได้อ่านพระราชบัญญัติ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 โดยละเอียดแล้ว จะพบว่า ความเข้าใจเหล่านั้น มีความคลาดเคลื่อนดังที่ผมได้ชี้แจงเริ่มต้นไป เพราะจะเห็นได้ว่า พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ให้ความยืดหยุ่น (flexibility) ในการสร้างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และมีการกำหนด “เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ” (มาตรา 4) ไว้ โดยครอบคลุมทุกเรื่อง และหากมีกฎหมายอะไรที่เป็นอุปสรรค ก็ยังกำหนดไว้ในมาตรา 9 เพื่อเปิดช่องให้มีการปรับปรุงกฎหมายหรือ “ชุดกฎหมาย” ได้โดยรวดเร็ว ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเรื่องการกำหนด “สิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจ” นักลงทุนเท่านั้น 

ประเด็นนี้ทำให้ EEC มีความแตกต่างจาก Eastern seaboard อย่างมากมาย  ยิ่งไปกว่านั้น EEC ไม่ได้สนับสนุนเฉพาะทุนใหญ่เท่านั้น ดังจะเห็นได้ว่า EEC มีการกำหนดเขตย่อยเป็น EEC-D (digital economy), EEC-I (innovation) เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง EEC-I นั้น มุ่งเน้นให้เกิดวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ startup ขึ้นในพื้นที่ ดังตัวอย่างที่ ปตท. ได้มีการลงทุนสร้าง วังจันทร์ valley เพื่อให้เกิด ecosystem คล้าย ๆ กับ Silicon Valley ใน California ซึ่งแน่นอนว่า คงจะไม่ใช่ทุนขนาดใหญ่ (ในตอนเริ่มต้น) และแม้กระทั่งความพยายามส่งเสริมให้เกิด fruit corridor เพื่อสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ให้เกิดการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่า และเพิ่มคุณภาพชีวิตของเกษตรกร เป็นต้น 

EEC ไม่ได้ตั้งใจจะส่งเสริมเฉพาะการลงทุนจากทุนต่างประเทศเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากมาตรา 7 (2) ที่เขียนไว้ชัดว่าให้การสนับสนุนทั้งผู้ประกอบกิจการทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาใช้พื้นที่ และการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายนั้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะที่เขียนในพระราชบัญญัติเท่านั้น แต่ให้อำนาจคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สามารถกำหนดเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนแปลงได้ด้วย

และในมาตร 7(1) หากอ่านให้ดี ก็จะเห็นว่า ไม่ได้เน้นเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ต้องการให้เกิดการพัฒนาให้เป็น Smart city หรือเมืองอัจฉริยะไปพร้อมกัน ซึ่งแสดงถึงการพัฒนาอย่างครบวงจร ไม่ได้จำกัดเพียงการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่าง Eastern seaboard ที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญในการพัฒนาประเทศไทยให้พวกเราได้ลืมตาอ้าปากมาได้ และเมื่อมาขยายการพัฒนาให้ครบวงจรมากขึ้นอย่างแนวคิด EEC แล้ว หากรัฐบาลปัจจุบันเข้าใจแนวคิด และดำเนินการอย่างจริงจัง จะสร้างคุณประโยชน์ให้ประเทศมากเพียงใด ... แค่หลับตาก็คงพอนึกออกแล้ว 

ดังนั้นแนวคิดของ EEC จึงไม่ได้ถูกจำกัด อย่างที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน ซึ่งการดำเนินการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้น อาจจะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง ก็คือกำหนดไว้เฉพาะเพียงภาคตะวันออก 3 จังหวัดเท่านั้น ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง แต่อย่างไรก็ดี คณะกรรมการนโยบาย อาจจะกำหนดเพิ่มเติมได้ แต่หากให้เกิดความคล่องตัวมากกว่าเดิม อาจจะต้องใช้แนวคิดตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ขยายวงให้เกิดเขตพัฒนาพิเศษในภาคอื่น ๆ ได้ โดยอาจจะใช้ EEC เป็นต้นแบบ ซึ่งกระบวนการแก้พระราชบัญญัติก็ไม่ได้ยุ่งยากมากเกินไป (อย่างน้อยก็ง่ายกว่า การยกร่างพระราชบัญญัติใหม่ทั้งฉบับ) โดยเรียนรู้จาก prototype อย่าง EEC

'สร้างอนาคตไทย' พร้อมรวมพรรค 'ไทยสร้างไทย' ย้ำ!! แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคต้อง 'สมคิด' 

(15 ต.ค. 65) นายนริศ เชยกลิ่น โฆษกพรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) ให้สัมภาษณ์ถึงความชัดเจนการรวมกันของพรรค สอท. และพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) โดย น.ต.ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรค ทสท. ได้ตั้งเงื่อนไขว่าอุดมการณ์ต้องชัด และไม่เป็นนั่งร้านให้เผด็จการ ว่า นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค สอท. ย้ำจุดยืนในเรื่องนี้แล้ว จะไม่เป็นนั่งร้านให้กับใคร และมีจุดยืนเป็นของตัวเอง โดยเสนอ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานพรรค สอท. เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค

อุตตมเผยการรวมพรรคกับไทยสร้างไทยยังพูดคุยกันเป็นระยะ

อุตตมเผย การรวมพรรคระหว่างสร้างอนาคตไทยกับไทยสร้างไทย ยังมีการพูดคุยกันเป็นระยะ ชี้การร่วมเป็นพันธมิตรระหว่างพรรคการเมือง ถือเป็นเรื่องปกติในภาวะที่การเมืองไม่มีความแน่นอนสูง ยึดหลักหากรวมพรรคต้องส่งผลให้การทำงานเพื่อประชาชนมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคไทย เปิดเผยถึงกระแสข่าวการรวมพรรคว่า การหารือระหว่างพรรคการเมืองเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่การเมืองมีความไม่แน่นอนสูง ที่ผ่านมาพรรคสร้างอนาคตไทยก็มีการพูดคุยกับพรรคการเมืองอื่นด้วย ส่วนที่เป็นข่าวเกี่ยวข้องกับพรรคไทยสร้างไทยนั้น พรรคสร้างอนาคตไทยก็มีการพูดคุยกับพรรคไทยสร้างไทยเป็นระยะๆเช่นกัน ซึ่งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานพรรคสร้างอนาคตไทย กับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ต่างมีความคุ้นเคยรู้จักกันอย่างดี เพราะผ่านเวทีการเมืองมาด้วยกันตั้งแต่อดีต

‘สร้างอนาคตไทย - ไทยสร้างไทย’ หารือไม่คืบหน้า เผยเป็นพันธมิตรการเมือง แต่ไม่ชัดเจน ‘ควบรวมพรรค’

(29 ธ.ค. 65) จากกระแสการเมือง ซึ่งเป็นที่น่าจับตา กรณีการนัดหารือ ระหว่างพรรคสร้างอนาคตไทย และพรรคไทยสร้างไทย ในช่วงเช้าของวันนี้ นำโดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานพรรคสร้างอนาคตไทย และ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย พร้อมด้วยนายโภคิน พลกุล ประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยสร้างไทย, นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคไทยสร้างอนาคตไทย ที่ได้ร่วมพูดคุยหารือเกี่ยวกับทิศทางการเมือง 

โดยทันทีที่แกนนำทั้งหมด เดินทางมาถึงร้านอาหาร Corner ซอยสุขุมวิท 26 ได้เข้าไปหารือกันแบบส่วนตัวในห้องอาหาร ก่อนออกมาตั้งโต๊ะนั่งร่วมกันแถลงข่าวให้กับบรรดาสื่อมวลชน จำนวนมากที่มาเฝ้ารอติดตามความคืบหน้า การควบรวมของทั้ง 2 พรรค

โดยนายโภคิน กล่าวเป็นคนแรกว่า ทั้ง 2 พรรคมีการหารือกันมาแล้วเป็นระยะ ในฐานะเพื่อนเก่าที่สนิทคุ้นเคย และทำงานร่วมกันมาตั้งแต่อดีต ซึ่งมีความเห็นตรงกันว่าบ้านเมืองกำลังมีปัญหา คิดว่า อำนาจเงิน อำนาจรัฐ ระบบราชการ ไม่ตอบสนองต่อประชาชน แต่ตอบสนองผู้มีอิทธิพล นักธุรกิจสีเทา 

ทั้งนี้ตลอดเวลาที่ผ่านมา มีแต่ความขัดแย้ง ทำให้ประเทศเดินไปไม่ได้ จึงมองว่า หากปล่อยสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป จะทำให้ประชาชนไม่มีอนาคต ประเทศไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ จึงนัดมาพูดคุยหาทางออกให้ประเทศ ควรเอาจริงเอาจริงในการแก้ไขปัญหา และการร่วมแรงร่วมใจ โดยสิ่งแรกที่เห็นตรงกัน คือ การมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ไม่เช่นนั้น ประชาชนจะไม่มีส่วนร่วม หรือมีอำนาจอย่างแท้จริงได้ เพราะไม่อยากเห็นทุกคนจำนนต่ออำนาจรัฐ อำนาจเงิน หากเริ่มต้นตรงนี้ได้ เรื่องอื่นจะตามมาเอง

ด้านคุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวเสริมว่า ส่วนตัวและนายสมคิด เคยทำงานร่วมกันมานาน หลาย 10 ปี จากประสบการณ์ที่ผ่านมา และเคยทำนโยบายที่สำคัญให้กับประเทศจนสำเร็จ ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ ลูกหลานจะอยู่อย่างไร ดังนั้น ภารกิจครั้งนี้ คือ การสร้างพรรคการเมือง เพื่อส่งมอบประเทศไทยให้คนรุ่นต่อไป 

จึงมาหารือร่วมกันว่าจะร่วมงานการเมืองกันต่ออย่างไร ที่ไม่ใช่การแย่งชิงตำแหน่ง แย่งชิงอำนาจ โดยตกลงกันว่า จะพยายามแสวงหาทางออกให้บ้านเมือง และร่วมมือเป็น ‘พันธมิตร’ ยุติความขัดแย้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

ส่วนนายอุตตม กล่าวว่า ความท้าทายที่เกิดขึ้นนั้น ทำให้ทั้ง 2 พรรค ต้องมาผนึกกำลังเป็นพันธมิตรเฝ เพื่อบ้านเมือง เพราะปัญหาบ้านเมืองขณะนี้ใหญ่เกินกว่าที่คนไม่กี่คนจะแก้ได้ จึงต้อง ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ

'อุตตม-สนธิรัตน์' นำทีม 'สร้างอนาคตไทย' พร้อมลูกพรรค หวนคืนรัง 'พปชร.' ร่วมหนุน 'บิ๊กป้อม' นั่งนายกฯ คนที่ 30

(15 ก.พ. 66) ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค, นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค, นายอุตตม สาวนายน อดีตรมว.คลัง, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรมว.พลังงาน และคณะกรรมการบริหารพรรค ร่วมกันแถลงข่าว 'สร้างอนาคตไทย คืนสู่เหย้าพลังประชารัฐ' พร้อมเปิดตัวสมาชิกพรรค 8 คน ที่กลับเข้ามาร่วมงานกับพรรค ได้แก่ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ทั้ง 8 คน ประกอบด้วย

1.) นายประจวบเหมาะ ภักดีชน จ.นครศรีธรรมราช
2.) พ.ต.อ.ภคพล ทวิชศรี จ.ชุมพร
3.) นายกานต์ เพชรบูรณ์ จ.พังงา
4.) นางปวีณา นิลแย้ม จ.ลพบุรี
5.) นางศรัณยา สุวรรณพรหม จ.หนองบัวลำภู
6.) นายมนตรี พึ่มชัย จ.อุดรธานี
7.) นายประวัติ กองเมืองปัก จ.มหาสารคราม
8.) นายทวีศักดิ์ ประทุมลี จ.มุกดาหาร

นายวิรัช กล่าวว่า ขอต้อนรับทุกคนที่มาในวันนี้ บุคคลที่เข้ามาช่วยเสริมสร้างให้พรรคพลังประชารัฐมีความคิด ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรเราเข้าใจเดียวกัน เมื่อมาอยู่ในบ้านเดียวกันเป็นหน้าที่ของทุกคนในพรรคพลังประชารัฐที่จะทำให้บ้านเราเข้มแข็ง เป็นตัวหลักในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งหน้าส่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ต่อไป

นายไพบูลย์ กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่อดีตสมาชิกที่เคยอยู่กับพรรคพลังประชารัฐและออกไปหาประสบการณ์ข้างนอก และยังระลึกถึงความอบอุ่นตามที่ พล.อ.ประวิตร ที่เป็นสำหรับที่จะเข้ามาร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ ภายใต้การนำของ พล.อ.ประวิตร เป็นความเข้มแข็งให้กับพรรคพลังประชารัฐ ทุกคนที่มาในวันนี้มีความสำคัญ มีความสามารถ มีบทบาท จึงขอต้อนรับกลับมาร่วมงาน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top