‘อ.ปิติ’ กางตำรา ‘สมรภูมิพลิกอำนาจโลก’ ตีแผ่ชนวนรบ ‘อิสราเอล-ปาเลสไตน์’ การแทรกแซงจากชาติมหาอำนาจ สู่สงครามตัวแทน ‘สหรัฐฯ-มุสลิม’
(8 ต.ค. 66) รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว กรณีสถานการณ์ ‘ภาวะสงคราม’ ระหว่างประเทศอิสราเอล ปะทะกับกลุ่มฮามาสในดินแดนปาเลสไตน์ โดยระบุว่า…
“ความขัดแย้งครั้งล่าสุดในดินแดนตะวันออกกลาง ที่กลุ่ม #ฮามาส #Hamas เรียกร้องให้ ชาว #ปาเลสไตน์ ที่ถูกย่ำยีตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาโดย #ชาวยิว ออกมาใช้ความรุนแรงเพื่อปกป้อง #มัสยิดอัลอักศอ #AlAqsaMosque ในดินแดน #กาซา มีปฐมบทอย่างไร?
ทั้งนี้ เนื่องจาก ได้เห็นข้อความ X (Twitter) ของท่านนายกรัฐมนตรี ‘เศรษฐา ทวีสิน - Srettha Thavisin’ แล้วมีความห่วงกังวลครับ การแสดงออกเรื่องการประณามการใช้ความรุนแรงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องครับ แต่เนื้อความในส่วนต่อจากนั้นที่ค่อนไปทางอิสราเอล อาจไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมนัก เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้น เอาเข้าจริงมีเหตุผลมาจากทั้ง 2 ฝ่าย และต้องอย่าลืมว่า เพื่อนบ้านมุสลิมของไทยสนับสนุนปาเลสไตน์อย่างมาก ดังนั้น การเขียนข้อความที่เลือกข้างอิสราเอลอย่างชัดเจน ทั้งที่ประเทศไทยมีความสัมพันธ์กับทั้ง 2 ฝ่าย อาจถูกตีความได้หลายมิติ
ดังนั้น เพื่อให้พวกเราได้เข้าใจสถานการณ์ ขออนุญาตนำเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ ‘Amidst the Geopolitical Conflict #สมรภูมิพลิกอำนาจโลก’ ที่ ผม ปิติ ศรีแสงนาม และ ‘จักรี ไชยพินิจ Chakkri Chaipinit’ ร่วมกับเขียน และจะวางจำหน่ายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ 12-23 ตุลาคมนี้ โดย Matichon Book - สำนักพิมพ์มติชน มาเผยแพร่ เพื่อความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง สำหรับการติดตามสถานการณ์นะครับ”
“ประเด็นปัญหาเรื่องความขัดแย้งระหว่าง #อิสราเอล และ #ปาเลสไตน์ เป็นปัญหาที่มีรากฐานมาอย่างยาวนานหลายช่วงอายุคน โดยเกี่ยวข้องกับประเด็นด้านศาสนา และเป็นปัญหาที่สะท้อนให้เห็นถึงความวุ่นวายจากการที่ชาติมหาอำนาจเข้ามามีบทบาทในดินแดนบริเวณนี้ และการเขียนประวัติศาสตร์ที่มีทั้งรูปแบบเข้าข้างอิสราเอลและเข้าข้างปาเลสไตน์ ความสลับซับซ้อนของเหตุการณ์ความขัดแย้งนี้ จึงทำให้การเมืองในตะวันออกกลางซับซ้อนไปด้วย
หากย้อนไปเมื่อกว่า 2,000 ปีที่แล้ว ดินแดนอิสราเอลหรือพื้นที่เยรูซาเล็ม ซึ่งเป็นข้อพิพาทในปัจจุบัน เคยอยู่ในการครอบครองของชาวยิวมาก่อน แต่ในฐานะที่อาณาบริเวณแห่งนี้เป็น ‘ทางแยก’ ที่อยู่กลางแผนที่ ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ของทั้งศาสนา #ยูดาห์ #คริสต์ และ #อิสลาม จวบจนกระทั่งจักรวรรดิออตโตมันได้เข้ามาปกครองบริเวณแถบนี้ ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงตั้งชื่อ ‘เยรูซาเล็ม’ และบริเวณโดยรอบว่าเป็น ‘ปาเลสไตน์’ โดยชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในบริเวณแถบนี้ก็ถูกเรียกว่าเป็น ‘ชาวปาเลสไตน์’
จุดเปลี่ยนที่สำคัญเกิดขึ้นเมื่อ สงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ปะทุขึ้น อังกฤษได้ให้คำมั่นสัญญากับชาวยิวว่า หากให้ความช่วยเหลือกับอังกฤษจนได้รับชัยชนะในสงคราม พวกเขาจะได้รับดินแดนปาเลสไตน์เป็นการตอบแทน บทสรุปของสงครามทำให้ชาวยิวได้เข้าไปอาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้ตามสัญญา อย่างไรก็ดี จุดเริ่มต้นของสถานะชาวยิวในดินแดนแถบนี้ก็มาพร้อมกับความขัดแย้งระหว่างยิวและอาหรับอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ความสลับซับซ้อนของสถานการณ์ยิ่งทวีความเข้มข้นขึ้น เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ทำให้ชาวยิวสามารถสถาปนารัฐเอกราชได้สำเร็จในวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ.1948 ในชื่อว่า ‘อิสราเอล’ การเกิดขึ้นขององค์การสหประชาชาติเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการแบ่งดินแดนออกเป็นของชาวยิวและชาวอาหรับ โดยมีเยรูซาเล็มเป็น ‘#ดินแดนร่วม (common land)’ สำหรับทั้ง 2 ฝ่ายตามมติ ค.ศ.1947
ในสายตาของ ‘องค์การสหประชาชาติ’ การแบ่งแยกดินแดนนี้เป็นการยุติปัญหาอย่างสันติ แต่กลับกลายเป็นว่า ความขัดแย้งระหว่างชาวยิวและชาวอาหรับได้ยกระดับกลายเป็น ‘สงครามระหว่างประเทศ’ ที่มีคู่ขัดแย้งหลักคืออิสราเอลและปาเลสไตน์ โดยมีพันธมิตรจากโลกตะวันตกและจากโลกมุสลิมเป็นฉากทัศน์ของความขัดแย้งที่ดำเนินไปนี้
ตลอดช่วงสงครามเย็น ความขัดแย้งของทั้ง 2 ฝ่ายดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แต่ผลลัพธ์ของการต่อสู้นั้น ฝ่ายอิสราเอลได้รับประโยชน์โดยได้ดินแดนที่เพิ่มขึ้น ปาเลสไตน์ที่เพลี่ยงพล้ำในการรบ จึงได้จัดตั้ง #องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (#PLO) เพื่อเคลื่อนไหวแบบกองโจรในการขับไล่อิสราเอล กระนั้นก็ตาม ในเหตุการณ์สำคัญอย่าง ‘#สงครามหกวัน’ ใน ค.ศ.1967 อิสราเอลก็สามารถผนวกเอาฉนวนกาซา และเขตเวสต์แบงก์ซึ่งเคยเป็นดินแดนที่ไม่มีเจ้าของ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตนเองได้สำเร็จ
หลังจากนั้น ทั้ง 2 ฝ่ายก็มีการปะทะกันอย่างต่อเนื่อง อาทิ #วิกฤติการณ์อินทิฟาดา (#Intifada) ครั้งที่ 1 (ค.ศ.1987-1993) และครั้งที่ 2 (ค.ศ.2000-2005) รวมไปถึงการเกิดขึ้นของกองกำลังฮามาส (Hamas) ซึ่งมีวิธีการรบที่ดุดันมากกว่ากลุ่มองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ ถึงแม้ว่านานาชาติจะพยายามไกล่เกลี่ยผ่านข้อตกลงสำคัญ เช่น #การเจรจาที่แคมป์เดวิด (ค.ศ.1978) #ข้อตกลงออสโล (ค.ศ.1993 และ 1995) แต่ก็ไม่เป็นผล ทั้ง 2 ฝ่ายมีแนวโน้มการใช้อาวุธหนักมากกว่าเดิม ขณะเดียวกัน จำนวนผู้เสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเวลาผ่านไป
ปัจจุบันความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ทำหน้าที่เสมือนเป็นสงครามตัวแทนระหว่างสหรัฐฯ และโลกมุสลิมไปโดยปริยาย ความขัดแย้งที่ดำเนินมากว่า 7 ทศวรรษจะคลี่คลายหรือดำเนินไปในลักษณะใด ย่อมส่งผลโดยตรงต่อหน้าตาของภูมิรัฐศาสตร์ใหม่แบบสามก๊กอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
รูปที่นำมาให้ชมคือ แผนที่แสดงภาพการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ระหว่างปี ค.ศ. 1917-2020 ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจว่าเพราะเหตุใดกลุ่ม Hamas ถึงเรียกร้องว่า ชาวปาเลสไตน์ถูกกดดันย่ำยีตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา เพราะบ้านของพวกเขาถูกยึดเอาไปทีละน้อยๆ และพื้นที่ศักสิทธิ์สุดท้ายที่พวกเขาต้องปกป้องคือ ‘มัสยิดอัลอักศอ’ (Al-Aqsa Mosque) 1 ใน 3 สถานที่สำคัญสูงสุดของชาวมุสลิม (ร่วมกับ มัสญิดอัลฮะรอม ในนครมักก๊ะฮฺ ซึ่งเป็นที่ตั้งของก๊ะอฺบ๊ะฮฺ และ มัสญิดนะบะวีย์ หรือ ‘มัสญิดของท่านนบีมุฮัมมัด’ ซึ่งตั้งอยู่ที่นครมะดีนะฮฺ)
และในขณะเดียวกัน ชาวยิวก็เชื่อว่าสถานที่เดียวกันนี้คือที่ตั้งของ Temple Mount ซึ่งคัมภีร์ฮีบรูระบุว่าพระเจ้าโซโลมอน (สุไลมาน) ราชโอรสแห่งกษัตริย์เดวิด โปรดให้สร้างพระวิหารแรก (First Temple) ซึ่งเป็นศูนย์กลางของศาสนายูดาห์ตามบทบันทึกคัมภีร์ฮีบรู
ถามว่า แล้วพวกเขาจะไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติเลยหรือ?
คำตอบคือ ได้ครับ และได้มาตลอดหลายร้อยปีด้วย โดยผมมีแผนที่ยืนยัน
ดูจากแผนที่แสดงการแบ่งเขตพื้นที่การอยู่ร่วมกันของพหุวัฒนธรรมในเขตเยรูซาเล็ม ก่อนการเกิดขึ้นของรัฐอิสราเอล นี่คือ ‘การอยู่ร่วมกันอย่างสันติในดินแดนศักดิ์สิทธิ์’ ก่อนที่จะมีการแทรกแซงของมหาอำนาจอย่างอังกฤษและสหรัฐภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
นอกจากดินแดนแห่งนี้แล้ว ในหนังสือเล่มนี้ พวกเรายังพิจารณาว่า ทั่วโลกยังมีจุดปะทุที่คนไทยต้องให้ความสนใจอีก 8 แห่ง ได้แก่
1.) NATO vs รัสเซีย : สงครามเย็นที่ไม่สิ้นสุด
2.) เอเชียใต้ : ดินแดนแห่งตัวแปรของภูมิรัฐศาสตร์
3.) แอฟริกา : กาฬทวีปที่ถูกมองข้าม
4.) ตะวันออกกลาง : ทางแยกของแผนที่โลก
5.) คาบสมุทรเกาหลี : ภูมิรัฐศาสตร์เก่าในบริบทใหม่ (บทความพิเศษ โดย Seksan Anantasirikiat)
6.) ช่องแคบไต้หวัน : การช่วงชิงพื้นที่ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา
7.) ทะเลจีนใต้ : เขตอิทธิพลของจีนกับประเด็นพิพาทของอาเซียน
8.) Zomia : จากดินแดนแห่งเทือกเขาสู่พื้นที่ยุทธศาสตร์การเมืองในเมียนมา
