Monday, 21 April 2025
สมบัติ_ยะสินธุ์

‘สมบัติ’ จวก!! นโยบายด้านการเกษตรของ รบ.เศรษฐา ‘เลื่อนลอย-ไร้หลักเกณฑ์’ เป็นนโยบาย Metaverse ที่เสมือนจริง แต่ไม่ใช่ความจริง

(12 ก.ย. 66) จากรัฐสภา อภิปรายการแถลงนโยบายรัฐบาลของ ครม.เศรษฐา วันแรก 11 ก.ย. 2566 นายสมบัติ ยะสินธุ์ สส.แม่ฮ่องสอน เขต 2 พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายนโยบายด้านการเกษตรของรัฐบาล ไว้ว่า...

นโยบายด้านการเกษตรของรัฐบาลชุดนี้ ยังกว้าง เลื่อนลอย สร้างความฝัน ไม่มีหลักเกณฑ์ หลักประกันให้แก่พี่น้องเกษตรกร

โดยเฉพาะที่กล่าวไว้เรื่อง นโยบาย 'ตลาดนำ' นำแบบไหน เขียนไว้แต่หัวข้อ วิธีแนวปฏิบัติก็ไม่มี เช่น...

นโยบาย เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มประสิทธิผล ก็เขียนไว้ลอยๆ ทางสมาชิกสภา และคนที่อยู่ทางบ้าน ฟังแล้วก็ไม่เข้าใจ ว่ารัฐบาลจะหาทางออก หรือทำให้เกษตรกรอยู่ดีกินดีได้อย่างไร เกษตรกร รอความหวัง รอทางรอด กันต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายหาเสียง โดยจะทำให้ราคาสินค้า 'ขึ้นยกแผง' และกล่าวว่า รายได้เกษตรกรจะเพิ่มอีก 3 เท่าภายใน 4 ปี

แต่ในคำแถลงนโยบายของท่าน เผยว่า มีเป้าหมายทำให้รายได้ของเกษตรกรทั้งประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ... ตรงไหน คือ 3 เท่า ก็ไม่มีบอก บอกว่าจขึ้นเป็นนัย และนี่คือความไม่ชัดเจนของรัฐบาลชุดนี้

สำหรับพี่น้องเกษตรกร ที่กำลังมีความหวังกับรัฐบาลชุดนี้ แต่กลับต้องมาเจอกับการไม่มีหลักเกณฑ์ใดๆ เพื่อออกมาให้เขาชื่นอกชื่นใจ

ผมขอยกตัวอย่าง พืชเศรษฐกิจ 5 ชนิด (ข้าว, ยางพารา, มันสำปะหลัง, ปาล์มน้ำมัน, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) ซึ่งในที่นี้ขอยกตัวอย่าง 'ข้าว' อย่างเดียวก็ได้ เพราะประเทศไทยเราผลิตข้าวได้มาก

เวลาผลผลิตข้าวออกมาในช่วงฤดู แน่นอนว่าคนย่อมต้องการขาย เยอะกว่าคนต้องการซื้อ แต่ถ้าราคาตกต่ำแล้ว ท่านจะมีมาตรการอย่างไร ที่จะรองรับสถานการณ์ข้าวล้นตลาดได้บ้าง

เพราะตอนข้าวล้นตลาด ท่านก็เคยบอกว่าไม่เอาประกันราคาข้าว ไม่เอาจำนำราคาข้าว แล้วท่านจะมีวิธีการทำให้ข้าวราคาดีได้อย่างไร

สมัยพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล เรามีโครงการ 'ประกันรายได้' ซึ่งได้ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร เฉพาะข้าวอย่างเดียวมากกว่า 4.6 ล้านครัวเรือน และถ้ารวมพืชเศรษฐกิจทั้ง 5 ชนิด เกษตรคนไทยที่ได้รับประโยชน์ก็มีมากกว่า 8 ล้านครัวเรือน สะท้อนให้เห็นถึงการดูแลจากรัฐบาลหลังเกษตรกรปลูกพืชต่างๆ ขึ้นมาแล้ว จะไม่ต้องประสบกับความยากลำบาก

แต่ว่าวันนี้รัฐบาลชุดนี้ มีแต่โยบายภาพลวงๆ กว้างๆ ไม่ชัดเจน ไม่มีแนวปฏิบัติ

ดังนั้น ผมจึงอยากเรียกนโยบายชุดนี้ว่า 'นโยบาย Metaverse อยู่ในโลกเสมือนจริง ที่ไม่ใช่ความจริง'

มีแต่นโยบายที่สร้างให้คนฝัน ปิดสวิตช์เมื่อไร เราก็จะกลับสู่โลกแห่งความจริง ก็คือ 'เกษตรกรลำบากเหมือนเดิม'

อันที่จริงรัฐบาลนี้ ยังมีนโยบายหาเสียงอีกมากมาย แต่กลับไม่ได้นำมาบรรจุไว้ เช่น...

นโยบายโคขุนเงินล้าน ... หายไปไหนครับ? เกษตรกรที่อยากรวยเงินล้าน เขารอท่านอยู่ แต่กลับไม่มีอยู่ในเนื้อนโยบายแถลง

นโยบายทุเรียนล้านไร่ ... อยู่ไหนครับ? 

นโยบายปลูกพืชทดแทน ... พืชตัวไหนราคาตกต่ำ จะหาพืชมาทดแทนให้ คำถามคือ ชนิดไหนบ้าง หรือแม้แต่เลี้ยงสัตว์ทดแทนชนิดไหนบ้าง ที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้จริง

นโยบายสนับสนุนประมงพื้นบ้าน ... ไม่มีครับในคำแถลง

ทั้งหมดเป็นคำพูด เป็นนโยบายที่สวยหรู เพื่อขอคะแนนจากพี่น้องประชาชน ให้ชนะเลือกตั้งเท่านั้นหรือไม่ ท่านไม่ได้มุ่งมั่นตั้งใจที่จะแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริงใช่หรือไม่

ผมหวังให้พวกท่านหลุดออกจาก Metaverse แล้วกลับมาสู่โลกแห่งความเป็นจริง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไทยได้อย่างตรงจุดและเป็นความหวังให้พวกเขาได้จริงๆ

'สมบัติ-ปชป.' ขอรัฐบาลตื่นจากฝัน หากยังจัดงบฯ แบบผู้ใหญ่ลอกการบ้านเด็ก

(5 ม.ค. 67) นายสมบัติ ยะสินธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดแม่ฮ่องสอน พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยระบุว่า...

พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ไม่ตรงไม่สอดคล้องกับนโยบายที่ให้ไว้แห่งนี้ แล้วเป็นงบประมาณที่เหมือนเดิม คือ จัดแบบขาดดุลเหมือนเดิม ตั้งแต่ได้ยินการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย หรือว่าพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลว่า เป็นรัฐบาลพูดมาตลอดว่า คิดใหญ่ทำเป็น อยากทราบว่าในงบประมาณชุดนี้ คิดใหญ่อะไรบ้าง อยากทราบในงบประมาณชุดนี้จะทำอะไรบ้าง บอกให้พี่น้องประชาชนทราบว่าคิดใหญ่อะไรบ้างแล้วทำเป็น ทำอะไรบ้าง ทำแบบไหน ช่วยชี้แจงด้วย

งบประมาณของแต่ละกระทรวง ทำงบประมาณแบบเดิม คือ เหมือนทุกปีที่ผ่านมาเพิ่ม 5% 7% หรือ 10% บางกระทรวงลดนิดหน่อย เสนอมาการจัดงบประมาณไม่มียุทธศาสตร์หรือว่าจุดเด่น ๆ ที่จะทำให้กระตุ้นเศรษฐกิจได้เลย 

สโลแกน คือ คิดใหญ่ทำเป็น ควรจะเปลี่ยนเป็น ฝันใหญ่ตื่นไม่เป็น คิดว่าการจัดงบประมาณนั้น มันมีหลักเกณฑ์ มีขั้นตอนอยู่ คิดว่าจะทำอะไรมันไม่ได้ โฆษณาเอาไว้อย่างนั้น ควรตื่นมาดูความเป็นจริง   

นโยบายของเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ เป้าหมายสำคัญในการแก้ปัญหาของพรรคเพื่อไทย คือ ลดความรุนแรงน้ำ ต้องไม่ท่วม ไม่แล้ง ประชาชนต้องมีน้ำดื่มน้ำ ใช้ตลอดปี ในงบประมาณน้ำท่วมน้ำแล้ง ซึ่งเกิดขึ้นทุกปี ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง มีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นทุกปี เวลาน้ำท่วมมีผลกระทบต่อบ้านเรือนทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนตลอด บางครั้งต้องเสียชีวิต พอน้ำแล้งก็ไม่มีน้ำใช้น้ำดื่มเกษตรกรที่ทำงานเกษตรก็ไม่ได้ทำ สุดท้ายก็ต้องรัฐบาลเยียวยา โดยใช้งบกลางอยู่ดี ถ้าเกิดว่าเราแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วม ซึ่งปัญหาน้ำท่วม มันมีวิธีป้องกันหรือลดความรุนแรงได้ ด้วยการสร้างเขื่อน เพราะการสร้างเขื่อนนั้นเป็นประโยชน์อย่างมากเลย เวลาฝนตกมาเก็บน้ำไว้ เพื่อไม่ให้น้ำท่วม รองรับน้ำไว้พอถึงฤดูแล้ง เราก็เอาน้ำในเขื่อนไปปล่อยให้พี่น้องเกษตรกรหรือชาวบ้านได้ใช้

กรมชลประทานตั้งมา 108 ปี ได้แค่ 35 ล้าน ได้ที่เหลืออีก 100 กว่าล้านไร่ เราจะต้องใช้เวลาอีกกี่ปี ถึงจะได้ครบพื้นที่ถ้าเราจัดงบประมาณแบบเดิม ๆ ไม่มียุทธศาสตร์แบบนี้ กรมชลประทานปีนี้ ของบมา 237,594 ล้านบาท แต่ได้รับบรรจุในร่างงบประมาณปีนี้ 75,879 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าหน่วยงานเขาขอมาเยอะ แต่ว่าเราไม่มีงบประมาณที่จะพอที่จะมาทำให้เขาได้ 

จากสถิติพบว่าเกษตรกรแต่ที่อยู่ในระบบชลประทานมีรายได้มากกว่าเกษตรกรที่อยู่นอกระบบชลประทาน 3-4 เท่า น้ำมีความสำคัญและยกระดับให้เกษตรกรมีรายได้ให้เพิ่มมากขึ้น อีกกรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำคือกรมทรัพยากรน้ำปีนี้เขาเสนอมาอยู่ 505 โครงการเป็นเงินอยู่ 10,700 ล้านบาทแต่ว่าปีนี้เขาได้รับงบประมาณแค่ 7,200 ล้านบาทจะเห็นได้ว่าหน่วยงานเค้ามีความพร้อมทั้งพื้นที่ทั้งอะไรแต่ว่าเราไม่มีงบประมาณให้เขา ก็ขอให้ทางรัฐบาลช่วยดูให้หน่อยว่าน้ำเป็นสิ่งที่จำเป็นในการที่จะทำให้พี่น้องเกษตรกรดีขึ้น

เรื่องน้ำดื่มน้ำใช้ ที่ตามที่นโยบายของทางพรรคเพื่อไทย เขาให้ไว้ว่า แต่มีหน่วยหลายหน่วยงานรับผิดชอบ ประปานครหลวง ซึ่งดูแลในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้จัดสรรงบประมาณอุดหนุนไปปีนี้ ในร่าง 29.1 ล้านบาท มีประปาส่วนภูมิภาคอีก ได้รับจัดสรรอยู่ 3,352.8 ล้านบาท เห็นว่า 2 หน่วยงานนี้ เขาบริหารจัดการไม่มีปัญหาเพียงแต่ว่าเวลาพี่น้องประชาชน อยากขยายมันไม่มีกำลังเงินที่จะไปขยาย ทั้งที่เขาบริหารจัดการได้ดี 

แต่ที่น่าเป็นห่วงที่ทั้งประเทศเรามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งได้รับความปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่มีจำนวนที่อยู่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ 69,014 ที่นั้น ใช้การไม่ได้เลยประมาณ 2,000 แห่ง แล้ว 60,000 กว่าแห่ง ใช้การได้แต่ไม่ได้มาตรฐานอีก 20,000 แห่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีภาระมาก ต้องดูแลน้ำประปาถึง 60,000 กว่าแห่ง แต่ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเราได้รับงบประมาณจากส่วนกลาง 29.1% เท่านั้น ทั้งๆ ที่ภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีมากมายไม่ว่าจะเป็น ถนน ไฟฟ้าและอื่นๆ อีก โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับโครงการที่ถ่ายโอนจากส่วนราชการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ถึงเวลาหรือยังที่เราจะต้องผลักดันงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ถึง 35% สักที

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศแล้ว เป็นคนที่ดูแลพี่น้องชาวไทยเรามาตลอด แต่กลับถูกตัดงบประมาณถึง 9,500 ล้านบาท ฝากให้รัฐบาลตอนแปรญัตติวาระ 2 ลองดูเพิ่มให้กระทรวงเกษตรด้วย เพราะว่าเขาต้องดูแลพี่น้องประชาชนแล้วเขาต้องการที่จะให้ไปพัฒนาให้คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top