Sunday, 20 April 2025
สภาลมหายใจกรุงเทพ

สภาลมหายใจกรุงเทพฯ หนุนใช้แอป ‘เตะฝุ่น’ ส่องดัชนีฝุ่นแบบเรียลไทม์รับมือวิกฤตฝุ่น PM 2.5

(5 ก.พ. 68) สภาลมหายใจกรุงเทพฯ ขอนำเสนอแอปพลิเคชัน "เตะฝุ่น"  ที่สามารถแสดงอัตราการระบายอากาศทั่วไทย แบบเรียลไทม์ ช่วยให้เราทราบว่าดัชนีระบายอากาศของจุดที่เราอยู่นั้น ลมแรงลมเบาแค่ไหน พัดจากไหนไปไหน และฝุ่นที่มาที่เรามีต้นทางมาจากไหน และผ่านย่านไหนมาบ้าง

ทั้งนี้ บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำด้านการพัฒนาแพลตฟอร์ม Location Intelligence จับมือร่วมกับสภาลมหายใจกรุงเทพฯ (Breathe Bangkok) เปิดตัวแอปพลิเคชัน “เตะฝุ่น” นวัตกรรมอัจฉริยะที่ใช้เทคโนโลยี GIS ในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลคุณภาพอากาศทั่วประเทศ นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาประยุกต์ใช้อย่างตรงจุด ในการวิเคราะห์และแสดงผลข้อมูลฝุ่น PM2.5 โดยตรง พร้อมติดตามสถานะการระบายฝุ่น และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น จุดความร้อน (Hotspot) และดัชนีการระบายอากาศแบบเรียลไทม์ รวมถึงคาดการณ์ค่าการระบายอากาศและจุดเผาไหม้ล่วงหน้าได้ถึง 7 วัน โดยนำเสนอในรูปแบบแผนที่ดิจิทัลผ่านเว็บไซต์ www.taefoon.com ซึ่งช่วยให้ประชาชนทั่วไปและหน่วยงานต่าง ๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างง่ายดาย ช่วยยกระดับการติดตามและจัดการปัญหาฝุ่นอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตอบโจทย์การบริหารจัดการอย่างยั่งยืน

แอปพลิเคชัน “เตะฝุ่น” เป็นผลจากการบูรณาการข้อมูลสภาพอากาศและฝุ่น PM2.5 โดยใช้เทคโนโลยี GIS เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ ซึ่งสามารถแสดงข้อมูล เช่น ความเข้มข้นของฝุ่น อัตราระบายอากาศ (Ventilation Rate) และจุดความร้อนในรูปแบบแผนที่ดิจิทัล (Map Visualization) ที่ทั้งแม่นยำและเข้าใจง่าย เพื่อช่วยให้ประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ สามารถวางแผนรับมือกับมลพิษทางอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยยกระดับการกำกับดูแลใน 3 ด้านสำคัญ ได้แก่

1. ด้านสิ่งแวดล้อม: ลดการกระจุกตัวของการเผาไหม้ในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้นและลดความเสี่ยงจากมลพิษที่สูงเกินมาตรฐาน

2. ด้านสังคม: ส่งเสริมการวางแผนการเผาไหม้อย่างเหมาะสม ลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และช่วยให้ชุมชนสามารถติดตามและเตรียมตัวรับมือกับปัญหาฝุ่นได้ดีขึ้น

3. ด้านการบริหารจัดการ: ข้อมูลที่เข้าถึงได้อย่างโปร่งใสส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทำให้การจัดการคุณภาพอากาศเป็นไปอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ

‘วีระศักดิ์ โควสุรัตน์’ ชง 6 มาตรการแก้ปัญหา PM 2.5 แนะแต่ละจังหวัดควรมี ‘Mr.ฝุ่น’ ช่วยอ่านทิศทางลม

‘วีระศักดิ์ โควสุรัตน์’ ชง 6 มาตรการแก้ปัญหา PM 2.5 ตั้ง 'คณะกรรมการลุ่มอากาศ'- กลไกการตลาดรวมพลังผู้บริโภคไม่ซื้อสินค้าเชื่อมแหล่งกำเนิดมลพิษ - ยกเว้นภาษีที่ดินให้พื้นที่ใช้พักฟาง แนะควรมี 'Mr.ฝุ่น' ในเมืองและเขตต่าง ๆ ถ้าทุกคนอ่านทิศเป็น เข้าใจเชื้อเพลิงได้ รู้ว่าแต่ละจังหวัดเป็นได้ทั้งเมืองต้นลมและปลายลม จะได้คุยหาทางออกร่วมกัน

ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และประธานสภาลมหายใจกรุงเทพ กล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนา Policy Forum : Policy Dialogue ฝ่าทางตัน 'วาระฝุ่น' 2568 ( 11 ก.พ. 68) โดยได้นำเสนอ 6 มาตรการในการแก้ปัญหาที่มองว่าสามารถทำได้ทันที ไม่จำเป็นต้องรอ พ.ร.บ.อากาศสะอาด ประกอบด้วย

1.ข้อมูลการตลาด ภาคประชาสังคมและพลังผู้บริโภคต้องเข้มแข็ง ด้วยการช่วยกันค้นหาเปิดเผยสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนเชื่อมโยงกับแหล่งกำเนิดPM 2.5 และไม่เลือกซื้อผลิตภัณฑ์นั้น เป็นการลดแหล่งกำเนิดจากการเผาต่าง ๆ เช่น จากโรงงานน้ำตาล 60 แห่งมี 20 แห่งที่ยังรับซื้ออ้อยที่มีการเผา ก็เปิดเผยชื่อโรงงานและยี่ห้อน้ำตาล เป็นต้น 

2.ลดแหล่งกำเนิดจากการใช้รถ เปลี่ยนจากการใช้น้ำมันEURO 5 เป็น EURO 6 ในราคาที่ไม่แพงมากนัก ร่วมกับการกวดขันและติดตามรถควันดำร่วมกับภาคประชาชนยกเว้นภาษีที่ดี พื้นที่พักฟาง

3.ภาคอุตสาหกรรมที่ยังมีการพูดน้อยถึงว่าเป็นแหล่งก่อ PM 2.5 ควรมีการนำโดรนมาบินปลายปล่องโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อวัดปริมาณมลพิษที่ปล่อยออกมาแทนการใช้วิศวกรปีนขึ้นไปวัด

4.ขอให้กระทรวงการคลัง ออกระเบียบเรื่องภาษีที่ดิน ในการกำหนดพื้นที่ยกเว้นภาษีที่ดิน ให้กับพื้นที่พักฟาง ก็จะได้พื้นที่ว่างของภาคเอกชนมาให้เกษตรกรพักฟางทุกตำบลทั่วประเทศจะได้ไม่ต้องมีการเผาพื้นที่เกษตร แต่จะต้องมีการดูแลที่ดีไม่ให้ฟางเกิดไฟไหม้ และรอให้ผู้มาซื้อฟางไปทำอาหารสัตว์ หรือโรงงานไฟฟ้าชีวมวล

5.จัดตั้งคณะกรรมการลุ่มอากาศ ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้แทนจังหวัดที่อยู่ในทิศทางลมทั้ง 3 แบบคือ ลมหนาว, ลมตะวันตกเฉียงใต้ และลมตะเภาที่ส่งผลต่อการพัดพาฝุ่น PM2.5 โดยก่อนที่จะถึงช่วงเวลาของสภาพอากาศและทิศทางลมแต่ละแบบที่จะเกิดขึ้น คณะกรรมการนี้ก็มาบริหารจัดการร่วมกันภายใต้สูตร 8/3/1 โดยร่วมวางแผนลดปัญหาล่วงหน้า 8 เดือน ส่วนช่วง 3 เดือนที่สภาพอากาศปิดเป็นฝาชีก็ไม่ให้มีการเผา และ 1 เดือนหลังจากนั้นใช้ในการถอดบทเรียนเพื่อปรับในปีต่อไป

และ6.ส่งเสริมสนับสนุนการจัดตั้งสภาลมหายใจให้เกิดขึ้นทุกจังหวัด ลงลึกถึงระดับพื้นที่ และนำไปสู่การจัดตั้งสภาลมหายใจCLMV เพื่อร่วมขับเคลื่อนปัญหาระหว่างประเทศ 

"สภาลมหายใจ เราเสนอว่าควรมี 'Mr.ฝุ่น' ในเมือง และเขตต่าง ๆ เพราะลมเปลี่ยนทิศ และป่าแห้งตามช่วงเวลา ซึ่งแต่ละจังหวัดเป็นได้ทั้งเมืองต้นลมและเมืองปลายลม ในขณะเดียวกัน ต้องทำให้ทุกคนรู้ด้วยว่า ถ้าเขาอ่านทิศทางเป็น เข้าใจเชื้อเพลิงได้ อย่างฝุ่นของเราเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มาจากหมู่บ้านนั้นอำเภอนี้ จังหวัดนั้น แล้วที่จังหวัดนั้นเขาปลูกอะไร หรือเป็นช่วงเทศกาลอะไรอยู่ ทำให้เราต้องรับฝุ่นแบบนี้ จะได้คุยกับเมืองต้นลมถูก

ในเดือนมกราคม, มีนาคม และเมษายน อย่างน้อยทิศทางลมจะเปลี่ยน 3 หน จึงอยากชวนรัฐบาลกลางพิจารณาว่าควรจะตั้งคณะกรรมการที่ให้จังหวัดปลายลมและข้างเคียงรวมตัวเป็นฝ่ายหัวโต๊ะ แล้วชวนจังหวัดต้นลม ตั้งแต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือลงมา มานั่งหัวโต๊ะ อธิบายให้เข้าใจว่าท่านกำลังปลูกอะไร แล้วอยากให้เมืองปลายลมช่วยอะไร เพราะถ้าจังหวัดปลายลมไม่อยากรับลมนั้น จะได้ระดมพลังประชาชนมาช่วยแก้กัน โดยต้องดำเนินตามหลัก '8-3-1' 

‘วีระศักดิ์ โควสุรัตน์’ ประธานสภาลมหายใจกรุงเทพ จับมือ ‘AFD’ จากฝรั่งเศส เดินหน้า!! แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อให้คนไทย มีลมหายใจที่สะอาด

(16 ก.พ. 68) นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรรมการบริหาร มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง ยามยาก สภากาชาดไทย ประธานสภาลมหายใจกรุงเทพ ได้ร่วมกับ AFD หน่วยงานของกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส เดินหน้าทำโครงการร่วมพัฒนาคุณภาพอากาศในอาเซียน โดยนำคณะทำงานของอาเซียนมาร่วมกันศึกษาการพยายามแก้ไขมลพิษทางอากาศในไทย ร่วมงานกับทั้งหน่วยงานรัฐและภาคประชาสังคม อย่างสภาลมหายใจกรุงเทพฯ เพื่อให้ประชาชนได้มีอากาศสะอาด

‘ดร.วีระศักดิ์’ ร่วมถก กสม. หาแนวทางแก้ไขปัญหา PM2.5 ก่อนจัดทำข้อเสนอแนะให้รัฐบาลนำไปแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

กสม. จัดประชุมรับฟังข้อมูลและความเห็นประกอบการจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่น PM2.5

เมื่อวันที่ (6 มี.ค. 68) ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานสภาลมหายใจกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนายไพโรจน์ พลเพชร และนางสาวมณีรัตน์ มิตรปราสาท ที่ปรึกษาประจำ กสม. นางสาวหรรษา หอมหวล เลขาธิการ กสม. รวมทั้งเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. ประชุมรับฟังแลกเปลี่ยนข้อมูลและความเห็นเพื่อประกอบการจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่น PM2.5 โดยรับฟังข้อมูลจากผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ รวมทั้งภาคประชาสังคม ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมอนามัย กรมควบคุมโรค กรมอาเซียน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สภาลมหายใจกรุงเทพมหานคร และสภาลมหายใจเชียงใหม่ ณ ห้องประชุม 709 สำนักงาน กสม.

ในการประชุมดังกล่าว ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการของหน่วยงานในปีที่ผ่านมาเพื่อรับมือสถานการณ์ไฟป่าและฝุ่นละออง รวมทั้งการเตรียมความพร้อมสำหรับฝุ่นละอองสำหรับปี 2568 เช่น การกำหนดนโยบายหรือมาตรการเพื่อควบคุมและลดการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิด แนวทางแก้ไขปัญหามลพิษข้ามพรมแดน ความพร้อมของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหา การมีส่วนร่วมของชุมชน การจัดการและแจ้งเตือนข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ รวมทั้งการป้องกันและดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชน ทั้งนี้ กสม. จะรวมรวบข้อมูลและความเห็นที่ได้จากการประชุมเพื่อประกอบการจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่น PM2.5 ในภาพรวมเสนอรัฐบาลต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top