Monday, 21 April 2025
สภาคองเกรส

‘สหรัฐฯ’ จ่อโหวตร่างกม.คว่ำบาตร 'ศาลอาญาโลก' โต้หมายจับ 'เนทันยาฮู' ไม่หวั่น!! แม้ลบหลู่ระเบียบระหว่างประเทศที่ สหรัฐฯมีส่วนช่วยสร้างขึ้นมา

เมื่อวานนี้ (3 มิ.ย. 67) เว็บไซต์ The Hill รายงานว่า คณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกา ได้ผ่านร่างรับตัวกฎหมาย ด้วยคะแนน 9-3 โดยมีวัตถุประสงค์ในการคว่ำบาตร เจ้าหน้าที่ของศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ไอซีซี เป็นการตอบสนองต่อ อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ คาริม เอ. เอ. คาน กับข้อกล่าวหาและความพยายามในการออกหมายจับต่อ นายกรัฐมนตรี นายเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล และ ผู้นำของกลุ่มฮามาส ยายาห์ ซินวา ในฐานะอาชญากรสงคราม

อย่างไรก็ตาม การตอบสนองของทำเนียบขาวก่อนหน้านี้นั้น ไม่ได้สนับสนุนตัวร่างกฎหมาย คารีน ฌอง-ปิแอร์ โฆษกของทำเนียบขาว ได้ออกมาแสดงความเห็นต่อจุดยืนของทำเนียบขาวว่า แม้ว่าจะสนับสนุนการตอบโต้ข้อกล่าวหาที่เสนอโดยไอซีซี แต่ไม่ได้สนับสนุนการคว่ำบาตรต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ

"เราปฏิเสธคำร้องของอัยการไอซีซี ในการออกหมายจับผู้นำอิสราเอล แต่การจะคว่ำบาตรไอซีซีนั้น เราไม่เชื่อว่าเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพหรือเหมาะสม" คารีน กล่าว

นอกจากนี้มีรายงานว่าฝ่ายบริหารในทำเนียบขาว คัดค้านร่างกฎหมายนี้อย่างมาก และมีความเป็นไปได้สูงว่า หากตัวร่างสามารถผ่านสองสภาไปได้จนถึง ประธานาธิบดี โจ ไบเดน มีความเป็นได้สูงว่าประธานาธิบดีไบเดนจะใช้อำนาจวีโต้ของตัวเอง ในการหยุดตัวกฎหมายเอาไว้

ถึงอย่างนั้น มาตรการอื่นที่เป็นตัวเลือกตอบโต้ของสหรัฐฯ ต่อศาลอาญาระหว่างประเทศก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัด เนื่องด้วยสหรัฐฯ ไม่เคยลงสัตยาบันยอมรับอำนาจและหลักการของศาลอาญาระหว่างประเทศมาตั้งแต่ต้น ด้วยเหตุนี้ในทางปฏิบัติแล้ว สหรัฐฯ ไม่เคยอยู่ในอำนาจตุลาการของศาลอาญาระหว่างประเทศ ในขณะเดียวกันรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ก็ไม่ได้มอบเงินทุนสนับสนุนในการปฏิบัติงานของศาลอาญาโลก

โดยรายละเอียดของตัวร่างกฎหมาย ถูกนำเสนอโดยสมาชิกสภาคองเกรส จากรัฐเท็กซัสสังกัด พรรครีพับลิกัน ชิป รอย ด้วยการสนับสนุนจากสมาชิกคองเกรสคนอื่นๆ มากกว่า 60 คน โดยในด้านของรายละเอียดตัวกฎหมายประกอบด้วยมาตรการต่างๆ อย่าง การกีดกันการเคลื่อนย้ายทรัพย์สินในสหรัฐฯ หรือ การเพิกถอนวีซ่าเข้าประเทศสหรัฐฯ และ มาตรการอื่นๆ โดยมีเป้าหมายเป็นเจ้าหน้าที่ของศาลอาญาระหว่างประเทศ ที่ทำการสืบสวน หรือ จับกุม พลเมืองในเขตอำนาจของสหรัฐฯ รวมไปถึงพันธมิตรของสหรัฐฯ

มีรายงานว่า มีการคาดการณ์และคาดหวังว่าตัวร่างกฎหมายจะผ่านการโหวตไปในสภาคองเกรสไปอย่างง่ายได้ ด้วยที่พรรครีพับลิกันครอบครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีเสียงสนับสนุนของสมาชิกสภาคองเกรสอีกจำนวนหนึ่ง จากพรรคเดโมแครต ที่แสดงจุดยืนอย่างแข็งกร้าวในการสนับสนุนอิสราเอลในสงครามกับฮามาส แต่ว่าจุดยืนของประธานาธิบดี โจ ไบเดน อาจจะมีอิทธิพลต่อ สมาชิกสภาคองเกรสของพรรคเดโมแครตในการตัดสินใจ

แต่ในสภาสูงนั้นเป็นไปในทางตรงกันข้าม เนื่องด้วยที่สภาสูงของสหรัฐ อยู่ในการควบคุมของพรรคเดโมแครต ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าต่อให้ร่างกฎหมายจะผ่านสภาร่างมาได้ ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าจะถูกปัดตกโดยการโหวตของสมาชิกวุฒิสภา

จิม แมคกอฟเวิร์น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคเดโมแครตจากมลรัฐแมสซาชูเซตส์ ให้ความเห็นต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า เป็นร่างกฎหมายที่แย่ โดยให้เหตุผลว่าศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นสถาบันที่สำคัญในการรักษา และ ปกป้องหลักการสิทธิมนุษยชนสากล โดยที่หลักศีลธรรม หรือ หลักการทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ไม่ควรส่งผลต่อการออกแบบนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ในการเข้าไปขัดขวางศาลอาญาระหว่างประเทศในการทำหน้าที่โดยกำเนิดของตัวสถาบัน

โดยแมคกอฟเวิร์น ยังระบุด้วยว่า "ร่างกฎหมายนี้ จะเป็นการลบหลู่ระเบียบระหว่างประเทศ ซึ่งสหรัฐฯ มีส่วนช่วยสร้างมันขึ้นมา"

เรื่องนี้ยังคงต้องจับตา ตัวร่างกฎหมาย ที่จะเข้าสู่การประชุมและโหวตในสภาคองเกรส โดยคาดการณ์ว่าด่านแรกอย่าง สภาคองเกรสจะมีการโหวตภายในสัปดาห์หน้า

‘สภาคองเกรส’ อัด!! ‘มาร์ก’ ปล่อยโฆษณายาเสพติดเกลื่อนเฟซบุ๊ก ด้าน Meta อ้าง!! ระบบถูกออกแบบมาเพื่อตรวจจับผิดอย่างแข็งขัน

(16 ส.ค.67) สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า กลุ่มสมาชิกรัฐสภาจากทั้งพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครต ส่งจดหมายถึง ‘มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของ Meta ซึ่งเป็นเจ้าของ Facebook ว่า ทางบริษัท ‘ล้มเหลว’ ในการป้องกันโฆษณายาเสพติดผิดกฎหมายบนแพลตฟอร์มบริษัท

สมาชิกรัฐสภาได้อ้างถึงรายงานล่าสุดจากหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Tech Transparency Project ซึ่งพบว่า มีโฆษณายาจำนวนมากบน Facebook และ Instagram ที่นำผู้ใช้ไปสู่บริการของบุคคลที่สาม ซึ่งผู้ใช้สามารถซื้อยาตามใบสั่งแพทย์ โคเคน และยาเสพติดเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจอื่น ๆ ได้

“เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2024 วอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานว่า อัยการสหรัฐกำลังสอบสวน Meta ในข้อหาอำนวยความสะดวกในการขายยาเสพติดผิดกฎหมาย” สมาชิกรัฐสภาเขียน “แทนที่จะแก้ไขปัญหานี้โดยเร็วและลบเนื้อหาผิดกฎหมายออกไปทั้งหมด เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2024 วอลล์สตรีทเจอร์นัลได้รายงานอีกครั้งว่า Meta กำลังลงโฆษณาบน Facebook และ Instagram ที่นำผู้ใช้ไปสู่ตลาดออนไลน์สำหรับยาเสพติดผิดกฎหมาย”

สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือ สมาชิกรัฐสภาเขียนว่า Meta ยังคงลงโฆษณาต่อไป แม้ว่าบริษัทกำลังถูกอัยการสหรัฐสอบสวนในข้อหา “อำนวยความสะดวกในการขายยาเสพติดผิดกฎหมาย” ก็ตาม

เหล่าสมาชิกรัฐสภาส่งคำถาม 15 ข้อไปยังซัคเคอร์เบิร์ก เพื่อเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวของบริษัทแม่ Facebook และขอให้เขาตอบกลับภายในวันที่ 6 กันยายน

ด้าน Meta ยืนยันว่าได้รับจดหมายแล้ว โดยแถลงชี้แจงเรื่องนี้ว่า “ผู้ค้ายาเสพติดเป็นอาชญากรที่ทำงานข้ามแพลตฟอร์มและชุมชน เป็นเหตุผลที่เราทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเพื่อต่อสู้กับกิจกรรมผิดกฎหมายเหล่านี้ ระบบของเราถูกออกแบบมาเพื่อตรวจจับ และบังคับใช้กับเนื้อหาที่ละเมิดอย่างแข็งขัน และเรายังปฏิเสธโฆษณาหลายแสนรายการที่ละเมิดนโยบายยาเสพติดของเรา เราลงทุนทรัพยากรอย่างต่อเนื่อง และปรับปรุงการบังคับใช้กับเนื้อหาประเภทนี้ต่อไป เราขอร่วมไว้อาลัยกับผู้ที่ทุกข์ทรมานจากผลกระทบอันน่าเศร้าของการระบาดยาเสพติดเหล่านี้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อหยุดยั้ง”

ไบเดนทิ้งทวนออกกม. ห้ามสส.รับบำนาญหากมีความผิด พร้อมประกาศ 'อินทรีหัวขาว' เป็นนกประจำชาติ

(26 ธ.ค. 67) ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ได้ลงนามบังคับใช้กฎหมายจำนวน 50 ฉบับเมื่อวันอังคารที่ 24 ธันวาคม ซึ่งรวมถึงการประกาศให้อินทรีหัวขาวเป็นนกประจำชาติของสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ และการออกกฎหมายห้ามสมาชิกรัฐสภารับเงินบำนาญหากถูกตัดสินว่ามีความผิดทางอาญา

นอกจากนี้ ไบเดนยังได้ลงนามในกฎหมายที่กำหนดมาตรฐานต่อต้านการรับน้องแบบรุนแรงของรัฐบาลกลางเป็นครั้งแรก เพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงและการเสียชีวิตในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ อีกทั้งยังได้ลงนามในกฎหมายที่ได้รับการสนับสนุนจากปารีส ฮิลตัน ดาราเรียลลิตี้ทีวีและทายาทตระกูลฮิลตัน ซึ่งกำหนดให้ศูนย์บำบัดและสถานดูแลเยาวชนต้องรับผิดชอบต่อความปลอดภัยและคุณภาพการบริการ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ในต้นเดือนนี้ ไบเดนได้ใช้สิทธิ์วีโต้กฎหมายที่เสนอให้แต่งตั้งผู้พิพากษาใหม่ 66 คน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในศาลรัฐบาลกลางทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ไบเดนยังได้ลดโทษประหารชีวิตของนักโทษในแดนประหารจำนวน 37 คน จาก 40 คน และเปลี่ยนเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่รอลงอาญา พร้อมทั้งได้อภัยโทษอย่างเต็มรูปแบบและไม่มีเงื่อนไขให้กับฮันเตอร์ ไบเดน ลูกชายของเขา

การลงนามในกฎหมายต่างๆ เกิดขึ้นในช่วงที่ไบเดนกำลังเร่งผลักดันนโยบายสำคัญในช่วงโค้งสุดท้ายของการดำรงตำแหน่ง ก่อนที่จะส่งมอบอำนาจให้กับโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ในวันที่ 20 มกราคม 2568

ทั้งนี้ ไบเดนยังอยู่ในช่วงสรุปโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สภาคองเกรสอนุมัติไว้ก่อนหน้านี้ รวมถึงการจัดสรรเงินทุนสำหรับการจัดหาอาวุธให้กับยูเครนก่อนที่เขาจะหมดวาระการดำรงตำแหน่ง

‘ลัดดา แทมมี่ ดักเวิร์ธ’ หญิงแกร่งแห่งคองเกรส สตรีเชื้อสายไทยผู้พิชิตทุกขีดจำกัดหัวใจแกร่ง

ลัดดา แทมมี่ ดักเวิร์ธ วุฒิสมาชิกตัวตึง หญิงแกร่งสายเลือดไทยหนึ่งเดียวแห่งสภาคองเกรสสหรัฐ หากติดตามการเมืองอเมริกาในช่วง 10 ปีหลัง นับตั้งแต่สมัยปลายยุคโอบามา เข้าสู่ทรัมป์ 1.0 เปลี่ยนมาเป็น โจ ไบเดน ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยเปลี่ยนถ่ายอำนาจเข้าสู่ทรัมป์ 2.0 หนึ่งในนักการเมืองดาวรุ่งที่มีผลงานโดดเด่นต่อเนื่องมาโดยตลอดคงหนีไม่พ้น วุฒิสมาชิกจากรัฐอิลลินอยส์ สังกัดพรรคเดโมแครต ลัดดา แทมมี่ ดักเวิร์ธ หรือ พี่แทมมี่ของน้อง ๆ คนไทยในอเมริกาท่านนี้นั่นเอง

ใดๆ digest ขอพาผู้อ่านย้อนดูประวัติของคุณแทมมี่สักเล็กน้อย โดยเธอเกิดที่กรุงเทพนี่เองครับ ในวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2511 เป็นลูกครึ่งไทย-อเมริกันในครอบครัวที่คุณพ่อเป็นทหารผ่านศึกชาวอเมริกันสงครามโลกครั้งที่สองและสงครามเวียตนามชื่อ ร้อยเอกแฟรงก์ แอล. ดักเวิร์ธ กับ คุณแม่ชาวไทยเชื้อสายจีนจากเชียงใหม่ชื่อ คุณละไม สมพรไพลิน ในวัยเด็กคุณแทมมี่ต้องย้ายที่อยู่บ่อยครั้งในหลายประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เนื่องจากต้องติดตามคุณพ่อซึ่งทำงานเป็นเจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติ 

ซึ่งจากการที่คุณแทมมี่เคยอาศัยอยู่ในหลายประเทศนี่เอง ทำให้นอกจากใช้อังกฤษเป็นภาษาหลักแล้ว เธอยังใช้ภาษาไทยได้ในระดับดีมาก และภาษาบาฮาซาในระดับสื่อสารได้เข้าใจอีกด้วย ทางด้านการศึกษา คุณแทมมี่ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยและอินโดนีเซียและจบชั้นมัธยมปลายจากโรงเรียนในสหรัฐอเมริกา, สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีด้านรัฐศาสตร์จาก มหาวิทยาลัยฮาวายวิทยาเขตมานัว, ปริญญาโทสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน และปริญญาเอกสาขาบริการประชาชนจากมหาวิทยาลัยคาเปลลา คุณแทมมี่เดินตามรอยเท้าคุณพ่อด้วยการเข้ารับราชการทหารในกองทัพสหรัฐ 

ในปี พ.ศ. 2535 และเลือกที่จะเป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์ และได้เข้าร่วมรบในสงครามอิรักโดยมีหน้าที่ขับเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงยุทโธปกรณ์และนำทหารที่บาดเจ็บจากแนวหน้ามารับการรักษาในแนวหลัง แต่โชคร้ายที่เครื่องเฮลิคอปเตอร์ ที่เธอเป็นนักบินผู้ช่วย ถูกยิงลูกระเบิดเข้ามาในเครื่อง และเกิดระเบิดตรงที่เธอนั่ง ทำให้คุณแทมมี่สูญเสียขาทั้งสองข้างและแขนข้างขวาบาดเจ็บสาหัสทันที อย่างไรก็ตามแพทย์ก็ได้ทำการต่อแขนข้างขวาให้แก่เธอ แต่ก็ทำให้คุณแทมมี่ต้องต้องใช้ขาเทียมทั้งสองข้าง รวมทั้งมีแขนซ้ายที่ใช้การได้ดีเพียงข้างเดียว 

ในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน จากเหตุการณ์ที่ต้องสูญเสียขาทั้งสองข้างไปนี่เองทำให้คุณแทมมี่ เกษียณตัวเองจากตำแหน่งนักบิน แต่ยังคงรับราชการเป็นนายทหารในสังกัดกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิแห่งรัฐอิลลินอยส์ โดยเน้นการทำงานเพื่อทหารผ่านศึกและผันตัวสู่เส้นทางการเมือง ด้วยการลงสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรัฐอิลลินอยส์ เป็นครั้งแรกในปี 2549 จากนั้นในปี 2552 ได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้าฝ่ายกิจการทหารผ่านศึกประจำรัฐ และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงกิจการทหารผ่านศึกของสหรัฐ ต่อมาในปี พ.ศ. 2559 คุณแทมมี่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งสนามใหญ่ และสร้างประวัติศาสตร์กลายเป็นสมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐอย่างเต็มภาคภูมิ 

ผลงานอันโดดเด่นและการสร้างประวัติศาสตร์ในฐานะ 'คนแรก' ของคุณแทมมี่นั้นมีอยู่มากมายอาทิเช่น 
- เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตขึ้นกล่าววิพากษ์วิจารณ์นโยบายด้านการทหารและสงครามต่าง ๆ ของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช และ ประธานาธิบดี โดนัล ทรัมป์หลายครั้ง

- เป็นหนึ่งในสองตัวเลือกสุดท้ายคู่กับกมลา แฮริสในตำแหน่งรองประธานาธิบดีสมัยประธานาธิบดีโจ ไบเดน 
- ได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดนให้ดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการบริหารพรรคเดโมแครต โดยจะอยู่ในตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหารพรรคเดโมแครต
- เป็นตัวแทนวุฒิสมาชิกสหรัฐตั้งคำถามและซักฟอกผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญในคณะบริหารของประธานาธิบดีหลายครั้ง โดยล่าสุดก็ได้ทำการซักถามว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พีท เฮ็กเซ็ทที่ได้รับการเสนอชื่อโดยทรัมป์อย่างถึงพริกถึงขิงเรื่องการขาดความรู้เกี่ยวกับกลุ่มประเทศอาเซียนนั่นเอง 
- นอกจากการได้รับเหรียญตราเชิดชูเกียรติมากมายจากทั้งกองทัพและรัฐบาลสหรัฐในฐานะทหารผ่านศึกที่กล้าหาญและการอุทิศตัวทำงานเพื่อส่วนรวมแล้ว คุณแทมมี่ยังได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประถมาภรณ์มงกุฎไทย ชั้นที่ 1 จากรัฐบาลไทยอีกด้วย
- เป็นสุภาพสตรีเชื้อสายไทยคนแรกที่ได้รับการเลือกตั้งเข้าสู่สภาคองเกรสทั้งในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิก รวมทั้งเป็นคนแรกที่เกิดในแผ่นดินไทยที่ได้รับการเลือกตั้งเข้าสู่สภาอันมีเกียรติประวัติยาวนานของสหรัฐอเมริกาแห่งนี้ด้วย
- เป็นบุคคลทุพพลภาพคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับเลือกตั้งเข้าสู่สภาคองเกรส และยังนับเป็นผู้พิการอวัยวะมากกว่าหนึ่งอย่างคนแรกอีกด้วย
- เป็นวุฒิสมาชิกคนแรกที่ให้กำเนิดบุตรในขณะที่ดำรงตำแหน่ง

ทางด้านชีวิตครอบครัว คุณแทมมี่ได้สมรสกับอดีตเพื่อนทหารผ่านศึกในสงครามอิรักพันตรีไบรอัน ดับเบิลยู โบล์สบีย์ เจ้าหน้าที่กองพลสื่อสาร และมีลูกสาวที่น่ารักด้วยกัน 2 คน 

เรื่องราวชีวิตและผลงานของคุณแทมมี่ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนมากมายทั่วโลกโดยเฉพาะผู้พิการและผู้มีสายเลือดไทยทุกคน เธอได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดและผลลัพธ์แห่งความพยายามทุ่มเททำงานหนักตามแนวทางอุดมคติแบบ American Dream ว่าเป็นไปได้จริง และที่สำคัญคือในวันนี้คุณแทมมี่ก็ยังคงเปี่ยมไปด้วยพลังและไฟในการทำงานที่ไม่เคยมอดดับลงไป 

ใดๆ digest ขอร่วมส่งกำลังใจให้เธอพร้อมทั้งเฝ้าติดตามความเป็นไปได้มากมายที่คุณแทมมี่จะสร้างให้เกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วยครับ

‘โดนัลด์ ทรัมป์’ สั่งยุบ!! หน่วยงานรัฐบาล 7 แห่ง รวมถึง ‘Voice of America’ กลุ่มผู้สนับสนุนเสรีภาพสื่อ มอง!! บ่อนทำลายสื่อมวลชนที่ ‘อิสระ-เสรี’

(16 มี.ค. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อยุบหน่วยงานรัฐบาลกลาง 7 แห่ง รวมถึง U.S. Agency for Global Media (USAGM) ซึ่งเป็นหน่วยงานแม่ของ Voice of America (VOA) และสื่ออื่น ๆ ที่ได้รับทุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ

คำสั่งดังกล่าวกำหนดให้หน่วยงานที่ได้รับผลกระทบลดการดำเนินงานให้เหลือเพียงขั้นต่ำสุดตามที่กฎหมายกำหนด ส่งผลให้พนักงานของ VOA ถูกสั่งพักงานโดยได้รับค่าจ้าง และมีการระงับทุนสนับสนุนสำหรับ Radio Free Europe/Radio Liberty และ Radio Free Asia

การตัดสินใจนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มผู้สนับสนุนเสรีภาพสื่อ โดย Mike Balsamo ประธาน National Press Club กล่าวว่า การกระทำดังกล่าว "บ่อนทำลายความมุ่งมั่นของอเมริกาต่อสื่อมวลชนที่เสรีและเป็นอิสระ"

นอกจาก USAGM แล้ว คำสั่งของทรัมป์ยังมีผลกระทบต่อหน่วยงานอื่น ๆ เช่น Federal Mediation and Conciliation Service, Woodrow Wilson International Center for Scholars, Institute of Museum and Library Services, U.S. Interagency Council on Homelessness, Community Development Financial Institutions Fund และ Minority Business Development Agency

การยุบหน่วยงานเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของทรัมป์ในการลดขนาดรัฐบาลกลาง อย่างไรก็ตาม การกระทำดังกล่าวอาจนำไปสู่การท้าทายทางกฎหมาย เนื่องจากหน่วยงานหลายแห่งถูกจัดตั้งขึ้นโดย ‘สภาคองเกรส’

‘ทรัมป์’ ลงนาม ปูทางยุบกระทรวงศึกษาฯ ฝ่ายค้านเตือนเตรียมรับผลกระทบที่ร้ายแรง

(21 มี.ค. 68) ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามในคำสั่งบริหารที่อาจเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของประเทศไปตลอดกาล โดยมีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การยุบกระทรวงศึกษาธิการของสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักของรัฐบาลกลาง

คำสั่งดังกล่าวมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “คำสั่งปรับปรุงผลลัพธ์ทางการศึกษา ด้วยการส่งเสริมผู้ปกครอง รัฐ และชุมชน” โดยทรัมป์ย้ำว่า การปิดกระทรวงศึกษาธิการเป็น “สิ่งที่ถูกต้อง” และรัฐบาลจะดำเนินการให้เร็วที่สุด

ภายใต้คำสั่งนี้ รัฐบาลกลางจะ ลดบทบาทของตนในด้านการศึกษา และ กระจายอำนาจ ไปยังระดับรัฐและท้องถิ่นมากขึ้น ซึ่งทรัมป์เชื่อว่า รัฐและผู้ปกครองควรเป็นผู้กำหนดแนวทางการศึกษาเอง มากกว่าถูกกำกับโดยรัฐบาลกลาง

“เราต้องให้พ่อแม่ ชุมชน และรัฐบาลท้องถิ่นมีอำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับการศึกษาของเด็กๆ ไม่ใช่ข้าราชการในวอชิงตัน” ทรัมป์กล่าวระหว่างการลงนาม

แผนการนี้ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่มองว่า กระทรวงศึกษาธิการของสหรัฐฯ มีบทบาทมากเกินไปและไม่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีในการเรียนการสอน 

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายตรงข้ามรวมถึงพรรคเดโมแครต และองค์กรด้านการศึกษาออกมาคัดค้านอย่างหนัก โดยเตือนว่า การยุบกระทรวงอาจส่งผลให้การศึกษาขาดมาตรฐานและเพิ่มความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษา

สหพันธ์ครูแห่งอเมริกาออกแถลงการณ์ว่า “ไม่มีใครชอบระบบราชการ และทุกคนก็เห็นด้วยกับประสิทธิภาพที่มากขึ้น ดังนั้นเรามาหาวิธีการทำให้สำเร็จกันดีกว่า แต่อย่าใช้การ 'ทำสงครามกับคนตื่นรู้' เพื่อโจมตีเด็กที่อาศัยอยู่ในความยากจนและเด็กพิการ”

เบ็ตซี่ เดวอส อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนแนวคิดการกระจายอำนาจทางการศึกษา กล่าวว่าการยุบกระทรวงเป็น 'ก้าวที่กล้าหาญ' ที่จะคืนอำนาจให้กับประชาชน ขณะที่นักวิจารณ์มองว่า อาจทำให้โครงการช่วยเหลือนักเรียนในพื้นที่ด้อยโอกาสได้รับผลกระทบ

แม้ว่าคำสั่งบริหารฉบับนี้จะเป็นก้าวแรกสู่การปิดกระทรวงศึกษาธิการ แต่การดำเนินการจริงจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจาก 'สภาคองเกรส' ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อแผนของทรัมป์

ขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนเกี่ยวกับการปิดกระทรวง แต่ฝ่ายบริหารของทรัมป์ยืนยันว่าจะผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ท่ามกลางเสียงถกเถียงที่ร้อนแรงในวงการการศึกษาและการเมืองของสหรัฐฯ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top