Friday, 23 May 2025
สนามบินสุวรรณภูมิ

'ยูเนสโก' ยก ‘สุวรรณภูมิ’ ติดอันดับ 1 ใน 6 สนามบินสวยที่สุดในโลก ประจำปี 2024

(15 พ.ย. 67) 'สุริยะ' ปลื้ม! 'ยูเนสโก' ยกย่อง 'ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ' ติดอันดับ 1 ใน 6 สนามบินสวยที่สุดในโลก ประจำปี 2567 ด้าน 'อาคาร SAT-1' สุดปัง! ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสถาปัตยกรรมสวยที่สุดของโลก โชว์ความโดดเด่นด้านความงาม-ความคิดสร้างสรรค์ ชูอัตลักษณ์ความเป็นไทย ลุ้นประกาศผล 2 ธ.ค.นี้

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ปัจจุบันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ภายใต้การบริหารงานของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้รับการยกย่องจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ให้ติดอันดับ 1 ใน 6 สนามบินที่สวยที่สุดในโลกประจำปี 2567 (The World’s most beautiful List 2024)

ทั้งนี้ ล่าสุดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ยังได้ถูกเสนอชื่อเข้ารับรางวัล Prix Versailles หมวดหมู่สนามบิน จากคณะกรรมการ The Prix Versailles Selection Committee ซึ่งร่วมกับ UNESCO โดยจะมีการประกาศผลอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 2 ธันวาคม 2567 ณ สำนักงานใหญ่ UNESCO กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยเกณฑ์การให้คะแนนการออกแบบสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นในด้านความงาม ทั้งภายนอก และภายในอาคาร ประกอบด้วย ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม ที่ผสมผสานกับบริบททางสังคมและสิ่งแวดล้อม

สำหรับอาคาร SAT-1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้น เป็นอาคารสูง 4 ชั้น และชั้นใต้ดิน 2 ชั้น มีพื้นที่ 216,000 ตารางเมตร มีประตูทางออกเชื่อมต่อกับหลุมจอดประชิดอาคาร (Contact Gate) จำนวน 28 หลุมจอด ถือว่ามีความโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรม การออกแบบ การสร้างประสบการณ์ให้ผู้โดยสาร รวมทั้งให้ความสำคัญต่อความยั่งยืนทางวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการถ่ายทอดความวิจิตรของเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ไทย สร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศ

นอกจากนี้ ทอท.ยังได้มีการออกแบบที่สวยงาม โดยนำจุดแข็งทางวัฒนธรรมมานำเสนอ ประกอบกับการตกแต่งภายในอาคารเป็นแบบผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมกับศิลปะที่สะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นไทยให้กลมกลืนไปกับโครงสร้างอาคารที่ทันสมัย ครอบคลุมทั้งประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ และวิถีชีวิต โดยมีผลงานการตกแต่งประติมากรรมชิ้นเอกเป็นช้างคชสาร ตั้งอยู่บริเวณโถงกลางของชั้น 3 ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับผู้โดยสารขาออก

ขณะเดียวกัน ภายในชั้น 3 ของอาคารฯ ได้รับการออกแบบให้เป็นสวนตกแต่งด้วยสัตว์หิมพานต์ตามคติความเชื่อไทยแต่โบราณ เช่น กินนร กินรี เหมราช และหงสา ส่วนชั้น 2 ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับผู้โดยสารขาเข้า ได้ออกแบบเป็นสวนสัญจรที่จัดแสดงงานภูมิทัศน์ผสมผสานกับศิลปวัฒนธรรมของไทย เช่น หุ่นละครเล็ก หนังใหญ่ หัวโขน และว่าวไทย เป็นต้น

ในส่วนปลายอาคารทั้ง 2 ด้าน คือ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ติดตั้งสุวรรณบุษบก และรัตนบุษบก ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานองค์พระพุทธปฏิมา ปางมารวิชัย และปางเปิดโลก โดยถอดแบบมาจากวัดผาซ่อนแก้ว เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อสถานที่ ขณะที่ ห้องน้ำ ได้เสนออัตลักษณ์อันงดงามของแต่ละภาค มีภาพจิตรกรรม 4 ภาคของไทย ไปจนถึงประเพณีวัฒนธรรมของไทยมาใช้ออกแบบรูปลักษณ์ภายใน อีกทั้ง สุขภัณฑ์ทั้งหมดยังใช้ระบบอัตโนมัติ เพื่อช่วยในการประหยัดน้ำอีกด้วย

สำหรับ 6 สนามบินที่เว็บไซต์ www.prix-versailles.com ได้ประกาศ 6 สนามบินที่สวยที่สุดในโลกประจำปี 2567 ได้แก่ 1. อาคาร SAT-1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประเทศไทย 2. อาคารผู้โดยสาร E ท่าอากาศยานนานาชาติโลแกน (Logan International Airport) สหรัฐอเมริกา 3. อาคารผู้โดยสารที่ 2 ท่าอากาศยานชางงี (Changi Airport) ประเทศสิงคโปร์ 4. ท่าอากาศยานนานาชาติซายิด (Zayed International Airport) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 5. ท่าอากาศยานนานาชาติเฟลิเป แองเจเลส (Felipe Ángeles International Airport) ประเทศเม็กซิโก และ 6. ท่าอากาศยานนานาชาติแคนซัสซิตี้ (Kansas City International Airport) สหรัฐอเมริกา

‘สุวรรณภูมิ’ คว้ารางวัล Prix Versailles 2024 ชูความวิจิตรเอกลักษณ์ไทยอวดสายตาชาวโลก

(4 ธ.ค.67) ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) และนายเอนก ธีระวิวัฒน์ชัย รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานยุทธศาสตร์ เข้ารับรางวัล Prix Versailles ประจำปี 2024 หมวดหมู่ สนามบิน สาขาสถาปัตยกรรมดีเด่นด้านรูปลักษณ์อาคาร (Exterior) ณ สำนักงานใหญ่ UNESCO กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ดร.กีรติ กล่าวว่า อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Midfield Satellite 1: SAT-1) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ได้รับรางวัล Prix Versailles ในฐานะสนามบินสวยที่สุดในโลกประจำปี 2567 (The World’s most beautiful List 2024) จากคณะกรรมการ The Prix Versailles Selection Committee ร่วมกับ United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization หรือ UNESCO ซึ่งอาคาร SAT-1 ทสภ.ได้ถ่ายทอดความวิจิตรของเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ไทยตั้งแต่ก้าวแรกที่นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศ

ด้วยการนำจุดแข็งทางวัฒนธรรมมาออกแบบการตกแต่งภายในอาคารเป็นแบบผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมและศิลปะที่สะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นไทยให้กลมกลืนไปกับโครงสร้างอาคารที่ทันสมัยครอบคลุมทั้งประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิต โดยรางวัลนี้ถือเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของคนไทยทุกคน ไปพร้อมกับการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับนักท่องเที่ยวได้สัมผัสวัฒนธรรมไทยผสานการออกแบบอาคารที่ยั่งยืน (Sustainable Design) ใช้วัสดุการก่อสร้างที่ดูแลรักษาได้ง่าย เพื่อช่วยให้ประหยัดพลังงานและเน้นการใช้แสงธรรมชาติตอบสนองนโยบายสนามบินสีเขียว (Green Airport) ทั้งยังเป็นการตอกย้ำด้านการยกระดับงานบริการ (Level of Service) ของ AOT ซึ่งจะผลักดันให้ท่าอากาศยานไทยก้าวเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค

ดร.กีรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า AOT รู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจเป็นอย่างมาก ซึ่งการได้รับรางวัลนี้จะเป็นการยืนยันถึงความสำคัญของอีกหนึ่งการสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้แก่ผู้โดยสารจากทั่วโลก และเราจะมุ่งมั่นรักษามาตรฐานความสวยงามและประสิทธิภาพในการให้บริการ เพื่อให้ทุกการเดินทางของผู้โดยสารเป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจและจดจำ ซึ่งจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยต่อไป

19 มกราคม 2545 รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ทรงวางศิลาฤกษ์ อาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2545 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ หลังจากพระราชทานชื่อ 'สุวรรณภูมิ' ซึ่งหมายถึง 'แผ่นดินทอง' เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2543 เพื่อใช้แทนชื่อเดิมว่า 'หนองงูเห่า'

อาคารผู้โดยสารของสนามบินสุวรรณภูมิเป็นอาคารเดี่ยวที่มีความกว้างใหญ่ ไม่มีเสากลางอาคาร มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 563,000 ตารางเมตร และประกอบด้วย 9 ชั้น รวมทั้งชั้นใต้ดิน 2 ชั้น โดยมีสถานีรถไฟฟ้า สถานีรถโดยสาร ห้องโถงผู้โดยสารขาเข้าและขาออก รวมถึงสำนักงานของสายการบินต่างๆ

สนามบินสุวรรณภูมิเริ่มเปิดให้บริการทดลองใช้เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2549 และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 กันยายน 2549 โดยมีงบประมาณในการก่อสร้างทั้งโครงการประมาณ 155,000 ล้านบาท

ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้รับพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2543 เพื่อใช้แทนชื่อเดิม 'หนองงูเห่า' ท่าอากาศยานแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ถนนเทพรัตนและทางพิเศษบูรพาวิถี ในเขตตำบลหนองปรือและตำบลราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 25 กิโลเมตร

อาคารผู้โดยสารของสนามบินสุวรรณภูมิออกแบบโดยสถาปนิกชาวอเมริกัน-เยอรมัน 'เฮลมุต ยาห์น' โดยใช้เหล็กและแก้วเป็นโครงสร้างหลัก ซึ่งยาห์นกล่าวว่าเป็น "สถาปัตยกรรมแห่งศตวรรษที่ 21" ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในวันที่ 28 กันยายน 2549 และเป็นสนามบินหลักของประเทศไทยแทนท่าอากาศยานดอนเมือง โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางการบินในทวีปเอเชีย

นอกจากนี้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิยังมีหอควบคุมที่สูงที่สุดในโลก (132.2 เมตร) และอาคารผู้โดยสารเดี่ยวที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก (563,000 ตารางเมตร) โดยสามารถรองรับเที่ยวบินได้ถึง 76 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และมีความสามารถในการรองรับผู้โดยสารถึง 45 ล้านคนต่อปี พร้อมทั้งเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศที่สามารถรองรับสินค้าได้มากกว่า 3 ล้านตันต่อปี

9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 ในหลวง ร.9 พระราชทานชื่อ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นภาษาอังกฤษว่า ‘Suvarnabhumi Airport’

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นภาษาอังกฤษว่า 'Suvarnabhumi Airport' และพระราชทานความหมายของคำว่า 'สุวรรณภูมิ' คือ 'แผ่นดินทอง' แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า 'Golden Land'

สำหรับประวัติความเป็นมาของสนามบินสุวรรณภูมินั้น เริ่มขึ้นตั้งแต่รัฐบาลทหารของจอมพลถนอม กิตติขจร ได้ซื้อที่ดินหนองน้ำ 20,000 ไร่ บริเวณหนองงูเห่า จังหวัดสมุทรปราการในปี พ.ศ. 2516 สำหรับสร้างสนามบินใหม่

จากนั้นเป็นระยะเวลาเกือบ 30 ปีต่อมา รัฐบาลของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้เห็นว่า สนามบินมีความสำคัญต่อการส่งเสริมและพัฒนาความเจริญด้านเศรษฐกิจ สังคม การท่องเที่ยว และด้านอื่นของประเทศเป็นอย่างมาก รัฐบาลจึงกำหนดให้ การก่อสร้าง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องร่วมกันดำเนินการแบบบูรณาการ เพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมาย จึงได้เร่งการก่อสร้างตั้งแต่เดือน มกราคม พ.ศ. 2545

สนามบินได้เปิดทดลองใช้ในเช้าวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 โดยมีสายการบินภายในประเทศ 6 สายการบินร่วมทดลอง ได้แก่ การบินไทย นกแอร์ ไทยแอร์เอเชีย บางกอกแอร์เวย์ พีบีแอร์ และ โอเรียนท์ไทย โดยมีจำนวนผู้โดยสาร 4,800 คน จาก 24 เที่ยวบิน โดย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เดินทางจากสนามบินดอนเมืองมายังสนามบินสุวรรณภูมิ 

ต่อมา ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร คณะรัฐประหารตัดสินใจยึดกำหนดการเปิดสนามบินอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2549 ตามเดิม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top