Monday, 28 April 2025
สถาบันพระปกเกล้า

สถาบันพระปกเกล้า ชวนเที่ยวงาน “๑๓ ทศวรรษ แผ่นดินพระปกเกล้า ผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ปวงชนชาวไทย”

วันที่ 7 ธันวาคม ที่พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ถ.หลานหลวง กรุงเทพฯ นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าเป็นประธานเปิดงาน “๑๓ ทศวรรษ แผ่นดินพระปกเกล้า ผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ปวงชนชาวไทย” โดยมี ดร.ถวิลวดี บุรีกุล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า นายณัฐพงษ์ รอดมี ผู้ช่วยเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าอาจารย์ กู้เกียรติ ภูมิรัตน์ ประธานการจัดงาน และที่ปรึกษาเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าด้านพลเมืองพร้อมด้วยคณะผู้บริหารสถาบันพระปกเกล้า ศิลปิน ดารา ผู้ประกาศข่าวที่เป็นศิษย์สถาบันพระปกเกล้า ร่วมงานในครั้งนี้ 

นายวิทวัส กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงมีคุณูปการต่ออาณาประชาราษฎร์มากมาย ทั้งการพัฒนาประเทศ การศึกษา การวางรากฐานประชาธิปไตยให้กับราษฎร คุณูปการที่ใหญ่หลวง คือ การที่พระองค์ท่านสละพระราชอำนาจที่มีอยู่เดิมเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นระบอบประชาธิปไตย ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และได้พระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ปวงชนชาวไทย  

ในวาระ 130 ปี พระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เวียนมาบรรจบอีกครั้งในวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และในวาระ 91 ปีที่เรามีรัฐธรรมนูญฉบับแรก สถาบันพระปกเกล้าจึงได้จัดงาน“13 ทศวรรษ แผ่นดินพระปกเกล้า พระผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ปวงชนชาวไทย” ขึ้น ซึ่งมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย ทั้งการเสวนาวิชาการ การบรรยายพิเศษจากผู้ทรงคุณวุฒิ กิจกรรมวิพิธทัศนา และการแสดงต่างๆ เพื่อเป็นการหวนย้อนรำลึกถึงงานฉลองรัฐธรรมนูญในอดีตที่ผ่านมา 

ขอเชิญร่วมเที่ยวชมงาน “๑๓ ทศวรรษ แผ่นดินพระปกเกล้า ผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ปวงชนชาวไทย” ตั้งแต่วันที่ 7-10 ธันวาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 15.30 – 20.30 น. ร่วมกิจกรรมเสวนาวิชาการ รับชมการแสดงวิพิธทัศนา ร่วมย้อนอดีตกับงานฉลองรัฐธรรมนูญ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีต่อปวงชนชาวไทย

สถาบันพระปกเกล้า นำ 4 หลักสูตร “ปปร.25-สสสส.12-ปรม.21-ปศส.20” เข้ารับประกาศนียบัตรชั้นสูง พร้อมเข็มพระปกเกล้า

วันที่ 19 ธันวาคม ที่ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ไปในพิธีมอบประกาศนียบัตรชั้นสูงกิตติมศักดิ์ พร้อมเข็มพระปกเกล้า เข็มกิตติคุณสถาบันพระปกเกล้า และประกาศนียบัตรชั้นสูง พร้อมเข็มพระปกเกล้า 

โดยมี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ในฐานะประธานสภาสถาบันพระปกเกล้า กล่าวรายงานว่า กระผม นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ในฐานะประธานสภาสถาบันพระปกเกล้า พร้อมด้วย คณะกรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้า คณาจารย์ ผู้บริหาร ผู้เข้ารับเข็มกิตติคุณสถาบันพระปกเกล้า และประกาศนียบัตรชั้นสูงพร้อมเข็มพระปกเกล้าและนักศึกษาของสถาบันพระปกเกล้ามีความปลื้มปีติยินดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เป็นล้นพ้น ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์มามอบเข็มกิตติคุณสถาบันพระปกเกล้า และประกาศนียบัตรชั้นสูง พร้อมเข็มพระปกเกล้า ในวันนี้ 

กระผมขอรายงาน การเข้ารับเข็มกิตติคุณ สถาบันพระปกเกล้าและประกาศนียบัตรชั้นสูงพร้อมเข็มพระปกเกล้า ประกอบด้วย

ผู้เข้ารับเข็มกิตติคุณ สถาบันพระปกเกล้า ซึ่งเป็นผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสถาบันพระปกเกล้าอันเป็นที่ประจักษ์ จำนวน 2 ราย ผู้เข้ารับประกาศนียบัตรชั้นสูงพร้อมเข็มพระปกเกล้า รวมหลักสูตรซึ่งเป็นการจัดการศึกษาให้แก่ สมาชิกรัฐสภา ข้าราชการการเมือง ข้าราชการระดับสูง พนักงานรัฐวิสาหกิจระดับบริหารบุคลากรภาคองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภาคประชาสังคมหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐ และภาคเอกชน ตลอดจนสื่อมวลชน และผู้บริหารจากองค์กรพัฒนาเอกชน ประกอบด้วย

หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง (ปปร.) รุ่นที่ 25 จำนวน 133 ราย 

หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการบริหารงานภาครัฐและกฎหมายมหาชน ปรม. รุ่นที่ 21 จำนวน 85 ราย

หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการบริหารเศรษฐกิจสาธารณะสำหรับนักบริหารระดับสูง(ปศส.) รุ่นที่ 20 จำนวน 72 ราย
 
หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเสริมสร้างสังคมสันติสุข (สสสส.) รุ่นที่ 12 จำนวน 73 ราย 

ทั้งนี้ รวมผู้เข้ารับเข็มกิตติคุณสถาบันพระปกเกล้า และประกาศนียบัตรชั้นสูง พร้อมเข็มพระปกเกล้าจำนวน 365 ราย 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีรับประกาศนียบัตรชั้นสูง พร้อมเข็มพระปกเกล้าแล้ว ได้มีงานเลี้ยงให้กับผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเสริมสร้างสังคมสันติสุข (สสสส.) รุ่นที่ 12 ที่อาคารรับรอง เกษะโกมล เขตดุสิต โดยบรรยากาศเป็นอย่างสนุกสนาม

สถาบันพระปกเกล้า ติวเข้มผู้นำเยาวชนพลเมืองดี วิถีประชาธิปไตย มุ่งสู่ผู้นำชุมชนในท้องถิ่น

วันที่ 22 ม.ค.67 สถาบันพระปกเกล้า จัดอบรมโครงการผู้นำเยาวชนพลเมืองดี จ.สงขลา ได้รับเกียรติจาก อ.วิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า บรรยายเรื่อง 'พลเมืองดี วิถีประชาธิปไตย' นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเยาวชนสัมพันธ์ Team Building และการบรรยายเรื่อง “ดิจิทัลกับการพัฒนาสังคมและมรดกทางวัฒนธรรม” โดย อาจารย์กู้เกียรติ ภูมิรัตน์ ที่ปรึกษาเลขาธิการด้านการส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง 

การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากกรรมการศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมืองสถาบันพระปกเกล้า จังหวัดสงขลา และจังหวัดพัทลุง เข้าร่วมสังเกตการณ์ และร่วมให้คำแนะนำ สร้างแรงบันดาลใจ รวมถึงชื่นชมน้องๆ เยาวชน ที่เป็นพลเมืองมีส่วนร่วมพัฒนาโครงการเผยแพร่วัฒนธรรมท้องถิ่น และศูนย์ ฯ จะร่วมเป็นเครือข่ายเผยแพร่ผลงานของน้อง ๆ ต่อไป

โครงการผู้นำเยาวชนพลเมืองดี มีกลุ่มเป้าหมายนักเรียน 60 คน ครูที่ปรึกษา 10 คน จาก 10 โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดสงขลา กิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 มกราคม 2567 ซึ่งมีกิจกรรมที่น่าสนใจ ทั้งการบรรยายเกี่ยวกับ การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการเมืองภาคพลเมือง การเขียนโครงการเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองในพื้นที่ รวมทั้งกิจกรรมการระดมความคิดเห็นเพื่อให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมและขยายผลต่อยอดความเป็นพลเมืองในพื้นที่ด้วย

ด้าน อ.วิทวัส ชัยภาคภูมิ ระบุว่า การเป็นพลเมืองที่ดี ต้องมีทั้ง สิทธิ เสรีภาพ หน้าที่ และคุณลักษณะพลเมืองดีในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 5 ประการ ได้แก่ มีวินัย มีความซื่อสัตย์ มีความรับผิดชอบ มีเหตุผล และมีจิตสาธารณะ

📌สถาบันพระปกเกล้า จัดอบรมโครงการผู้นำเยาวชนพลเมืองดี พื้นที่ภาคเหนือ📌

14 ก.พ.67 : สำนักส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า จัดอบรมโครงการผู้นำเยาวชนพลเมืองดี จ.เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง โดยพิธีเปิด ได้รับเกียรติจาก อ.วิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า บรรยายเรื่อง “พลเมืองดี วิถีประชาธิปไตย” 

📍นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเยาวชนสัมพันธ์ Team Building และการบรรยายเรื่อง “ดิจิทัลกับการพัฒนาสังคมและมรดกทางวัฒนธรรม” โดย อาจารย์กู้เกียรติ ภูมิรัตน์ ที่ปรึกษาเลขาธิการด้านการส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง 

📍การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากกรรมการศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมืองสถาบันพระปกเกล้า  เข้าร่วมสังเกตการณ์ และร่วมให้คำแนะนำ สร้างแรงบันดาลใจ รวมถึงชื่นชมน้อง ๆเยาวชน ที่เป็นพลเมืองมีส่วนร่วมพัฒนาโครงการเผยแพร่วัฒนธรรมท้องถิ่น และศูนย์ ฯ จะร่วมเป็นเครือข่ายเผยแพร่ผลงานของน้อง ๆ ต่อไป

🎯โครงการผู้นำเยาวชนพลเมืองดี มีกลุ่มเป้าหมายนักเรียน 67 คน ครูที่ปรึกษา 11 คน จาก 11 โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดลำปาง กิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-16 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งมีกิจกรรมที่น่าสนใจ ทั้งการบรรยายเกี่ยวกับ การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการเมืองภาคพลเมือง การเขียนโครงการเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองในพื้นที่ รวมทั้งกิจกรรมการระดมความคิดเห็นเพื่อให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมและขยายผลต่อยอดความเป็นพลเมืองในพื้นที่ด้วย

ปปร.26 สถาบันพระปกเกล้า บินลัดฟ้าศึกษาเมืองเศรษฐกิจนครซัวเถา-ย้อนรอยต้นตระกูล 'แซ่แต้' ของพระเจ้าตาก

คณะหลักสูตร ประกาศนียบัตรชั้นสูงการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับผู้ บริหารระดับสูง (ปปร.) รุ่นที่ 26 นำโดย…ดร.วิกร ภูวพัชร์ ประธานรุ่น ปปร.26 พร้อมด้วย นายสมชาย ศุภสัญญา กรรมการรุ่น และรองปธ.สภา วัฒนธรรมไทยจีน นำคณะนักศึกษาหลักสูตร ปปร.26 ศึกษาดูงานที่นครซัวเถา มณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน 

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยเชื้อสายจีนและ สมาคมคนจีนโพ้นทะเลของนครซัวเถา

ทั้งนี้ได้มีผู้แทนจากนครซัวเถา ให้การต้อนรับ และอธิบายถึงประวัตินครซัวเถา หรือซานโถว (汕头) เป็นเมืองท่าชายฝั่งตะวันออกของจีน ตั้งอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง ในสมัยราชวงศ์ซ้อง นครซัวเถาเคยเป็นเมืองท่าของเมืองถัวเจียง ในปี พ.ศ. 2106 (ค.ศ. 1563) นครซัวเถาเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอเฉิงไห่ หรือเถ่งไฮ่ (ภาษาแต้จิ๋ว) ในเมืองเฉาโจวหรือเมืองแต้จิ๋วในปัจจุบัน 

ในอดีตนครซัวเถาเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ เมื่อเริ่มมีการขยายตัวของเมืองและเป็นท่าเรือในการคมนาคม เริ่มมีร้านค้ากิจการต่างๆ จนต่อมาถูกยกระดับฐานะขึ้นเป็นเมืองท่านานาชาติ ในศตวรรษที่ 18 ก่อนจะกลายมาเป็น 1 ใน 4 เมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีนในปัจจุบัน

นอกจากศึกษาดูงานที่ทำการนครซัวเถาแล้ว ได้ดูงานที่เมืองแต้จิ๋ว และเยี่ยมชม สุสานพระเจ้าตากสินมหาราช

สำหรับที่เถ่งไฮ่ ซัวเถา เป็นบ้านเกิดบิดาของพระเจ้าตากสินมหาราช คนจีนแต้จิ๋วในยุคนั้น จึงภูมิใจและรักพระเจ้าตากสินดังเช่นคนไทย ชื่อจีนของพระเจ้าตากสินมีชื่อว่า แต่อ๊วง ตระกูลของพระเจ้าตากสินจึงมีแซ่ว่า ”แต้”
ที่เมืองนี้มีหลุมฝังศพของพระเจ้าตากสิน แม้ว่าจะเรียกว่าเป็นหลุมศพ แต่เป็นเพียงที่ฝังเสื้อผ้าของท่านเท่านั้น สุสานแห่งนี้จึงมีความหมายต่อใจของคน ในเถ่งไฮ่ เพราะอุตส่าห์ส่งเสื้อผ้าของท่านข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากไทย เพื่อมาสร้างหลุมศพที่นี่ ก็แสดงให้เห็นว่าคนจีนในไทยให้ความสำคัญกับพระเจ้าตากสินมาก

ดร.วิกร ภูวพัชร์ กล่าวถึงการศึกษาดูงานครั้งนี้ว่า เป็นโอกาสที่คณะนักศึกษาหลักสูตร ปปร.26 ได้ศึกษาประวัติศาสตร์และการเจริญเติบโตวิวัฒนาการของ นครซัวเถา เมื่อครั้งในอดีตเคยเป็นพื้นที่ที่ยากจน อีกทั้งเป็นแหล่งกำเนิดคนไทยเชื้อสายจีน ที่อพยพไปอยู่ในประเทศไทยเมื่อราว 100 ปีก่อน พร้อมทั้งเยี่ยมชมโรงงานผลิตพลาสติกตัวต่อที่ทันสมัยควบคุมด้วยระบบโรบอตและเอไอ ที่ใหญ่ อันดับต้นๆของจีน

สถาบันพระปกเกล้า นำนักศึกษาปกขส.รุ่น 6 ศึกษาการจัดการน้ำจืดน้ำเค็ม ชุมชนสมุทรสงคราม

วันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า โดย นายศุภณัฐ เพิ่มพูนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนัก พร้อมด้วยนักวิชาการ และเจ้าหน้าที่หลักสูตร นำนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี (ปกขส.) รุ่นที่ 6 ศึกษาดูงาน ณ จังหวัดสมุทรสงคราม 

โดยเดินทางไปยังชุมชนแพรกหนามแดง จังหวัดสมุทรสงครามลงพื้นที่ศึกษาภูมิปัญญาการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ และวิถีชีวิตแห่งสายน้ำ จากนั้น เดินทางไปยัง วิทยาลัยการอาชีพอัมพวา เพื่อรับฟังการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประเด็น “การจัดการน้ำจืดน้ำเค็ม กรณีประตูกั้นน้ำแพรกหนามแดง และการจัดการน้ำเสียจากฟาร์มเลี้ยงสุกร” ณ วิทยาลัยการอาชีพอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม 

นอกจากนี้คณะนักศึกษายังลงพื้นที่ศึกษาดูงานประตูกั้นน้ำ การบริหารพื้นที่ของชุมชน  บรรยายโดย นายปัญญา โตกทอง กรรมการลุ่มน้ำเพชรบุรีประจวบ, นายสมศักดิ์ ริ้วทอง กรรมการกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์และสวัสดิการชุมชน ตำบลแพรกหนามแดง และนายประสงค์ สุขศรี ผู้ประสานงานชลประทานตำบลแพรกหนามแดง 

การศึกษาดูงานดังกล่าว มุ่งเน้นให้นักศึกษานำความรู้และประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการแลกเปลี่ยนกับบุคคลจากภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อนำความรู้มาใช้ในการถอดบทเรียนต่อไป

จัดยิ่งใหญ่! สถาบันพระปกเกล้า-วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เปิดสนามศุภชลาศัย เตรียมระเบิดศึก ฟุตบอลประเพณี “รักเมืองไทย” ครั้งที่ 2

เมื่อวานนี้ (14 ส.ค.67) ที่ โรงแรม Siam At Siam Hotel รศ.ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ รองเลขาธิการ ในฐานะ (ผู้แทนเลขาธิการ) สถาบันพระปกเกล้า พล.ท.ทักษิณ สิริสิงห ผู้อำนวยการ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร คุณอรรถพล เสื้อคำรณ ประธานจัดงาน ปปร.27 พล.ท.ฐิตวัชร์ เสถียรทิพย์ อดีตประธานรุ่น และประธานที่ปรึกษา วปอ.66 คุณวิกร ภูวพัชร์ ประธานจัดงาน วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร พ.ต.อ.อาภากร โกมลสุทธิ หัวหน้าทีมฟุตบอล สถาบันพระปกเกล้า และ พลเรือตรี วิชาญ วันทนี่ยกุล หัวหน้าทีมฟุตบอล วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ร่วมแถลงข่าวการแข่งขันฟุตบอลประเพณี "รักเมืองไทย" ครั้งที่ 2 โดย สถาบันพระปกเกล้า และ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร

รศ.ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ รองเลขาฯ สถาบันพระปกเกล้า เปิดเผยว่า กิจกรรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อ และสร้างจิตสำนึกให้สังคมเห็นถึงความปรองดองสมานฉันท์ นำพาประเทศ ก้าวข้ามความขัดแย้งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ เนื่องจากทั้ง 2 สถาบัน เป็นสถาบันหลักของประเทศที่ให้ความรู้ และผลิตบุคลากรของชาติ ระดับคุณภาพอย่างมากมาย ซึ่งการแข่งขัน ยึดรูปแบบฟุตบอลประเพณี "จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์" ที่โด่งดังมาช้านาน เป็นโมเดล

ด้าน พล.ท.ทักษิณ สิริสิงห ผู้อำนวยการ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
เปิดเผยว่า การแข่งขันฟุตบอลประเพณี “รักเมืองไทย” ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นจากความสำเร็จจากกิจกรรมครั้งที่ 1 เป็นการสร้างโอกาสให้นักศึกษาในอดีตและปัจจุบันของทั้งสองสถาบัน ได้พบปะและสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น พร้อมเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านประชาธิปไตยและความปรองดองในสังคม ผ่านกีฬาฟุตบอลเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ 

งานนี้เป็นความร่วมมือจากนักศึกษาทั้ง 2 สถาบัน โดยเฉพาะ นักศึกษาหลักสูตร ปปร. รุ่น 27 และ วปอ. รุ่น 66 ที่เป็นเหมือนเจ้าภาพและแกนหลักการจัดงาน รวมถึงพลังความร่วมมือจากนักศึกษาหลักสูตรต่างๆจากสองสถาบัน อาทิ สสสส. ปรม. ปศส. ปนป. SML วปอ.บอ.

ทางด้าน คุณวิกร ภูวพัชร์ ประธานจัดงาน วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เปิดเผยว่า การแข่งขันฟตบอลประเพณี "รักเมืองไทย" ครั้งที่ 1 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2566 ณ สนามศุภชลาศัย กรีทาสถานแห่งชาติ แข่งขันกัน 2 ประเภท คือ Junior กับ Senior ในครั้งนี้มีการแข่งขันประเภท Young เพิ่มเข้ามา เพื่อผลักดันคนรุ่นใหม่ ที่มีความสามารถในทางกีฬา และเพื่อสืบสานเจตนารมณ์ของรุ่นก่อน สืบไปในอนาคต

คุณอรรถพล เสื้อคำรณ ประธานจัดงาน ปปร.27 เปิดเผยว่า ฟุตบอลประเพณี "รักเมืองไทย" ครั้งที่ 2 เริ่มแข่งขันวันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน พ.ศ.2567 ณ สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ เริ่มตั้งแต่เวลา 15:30 น. จะมีการแข่งขันฟุตบอลคู่แรก ประเภท Young และการแข่งขันฟุตบอลคู่ที่ 2 ประเภท Junior ในเวลา 16.45 น. และจะทำพิธีเปิดการแข่งขันพร้อมการแสดงขบวนพาเหรดของศิษย์ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร - สถาบันพระปกเกล้า และการแสดงมินิคอนเสิร์ตจากศิลปิน ก่อนจะมีการแข่งขันฟุตบอลคู่ที่สาม ประเภท Senior ในเวลา 19.00 น และพิธีมอบรางวัล ในเวลา 20.35 น.

‘รัดเกล้า’ โพสต์เฟซ!! โต้กลับ ‘แบงค์ ศุภณัฐ’ ชี้!! เป็น ‘โรคระแวง การสร้างคอนเนคชั่น’

(30 พ.ย. 67) ‘เนเน่’ หรือ นางสาวรัดเกล้า สุวรรณคีรี อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ในฐานะศิษย์เก่าของสถาบันพระปกเกล้า และสถาบัน วปอ. โดยมีใจความว่า ...

#ปปร และ #วปอบอ เป้านิ่ง อคติทางการเมือง

เอาจริงๆ โรคระแวงการสร้างคอนเนคชั่นของกลุ่มนักการเมืองในสังคมไทยนี่นับว่าอยู่ในระดับเรื้อรัง เป็นโรคที่มีมากันยาวนานแล้วนะคะ ซึ่งเอาจริงๆ ก็คงโทษประชาชนไม่ได้ที่จะมีอคติมองว่าการสร้างคอนเนคชั่นเป็นเรื่องไม่ดี มันก็คงเป็นเพราะเขาโดนมาเยอะ เจ็บมาแยะ กับการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องเพื่อประโยชน์ส่วนตนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ฉะนั้น จริงๆ แล้วเป็นโจทย์ที่นักการเมืองรุ่นใหม่ทุกคน ทุกพรรค ควรรับไว้เป็นการบ้าน คือต้องช่วยกันแก้อคติด้วยการประพฤติดี ใช้คอนเนคชั่นและเครือข่ายที่มีเพื่อส่งเสริมบรรยากาศการทำงานร่วมกัน สร้างการเมืองสร้างสรรค์ สร้างประโยชน์ให้กับประเทศและประชาชน หากทุกคนร่วมกันทำเช่นนี้ ทำไปหลายๆ ปี แน่นอนว่ามันจะช่วยบรรเทาโรคระแวงของประชาชนได้ค่ะ อย่างไรก็ตาม ในสภาวะที่อาการโรคระแวงนี้ยังไม่ทุเลา หลักสูตรดัง เช่น การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (ปปร.) และ การป้องกันราชอาณาจักรสำหรับผู้บริหารแห่งอนาคต (วปอ.บอ.) ก็ไม่ต่างอะไรกับการเป็น #เป้านิ่ง ให้คนยิงเป้า จับผิด ตำหนิ ติติง ระบายความระแวงใจ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้... อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่นักการเมืองรุ่นใหม่ไม่ควรทำต่อความระแวงของประชาชน คือการ #ขว้างงูไม่พ้นคอ ทำให้โรคระแวงมันแย่ลงด้วยการเอาอคติทางการเมืองของตนเองมายัดเยียด ป้ายสีใส่กลุ่มการเมืองฝั่งตรงข้าม มุ่งหวังให้ประชาชนหันไปรุมคนอื่นแทนนะคะ 

ในโพสต์นี้ เนเน่ในฐานะศิษย์เก่าของทั้งสถาบันพระปกเกล้าและสถาบัน วปอ. ขอตอบคำถามและให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับทาง ส.ส. แบงค์ ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ เกี่ยวกับ หลักสูตร วปอ.บอ. นะคะ ทั้งนี้เพื่อสร้างความกระจ่างในข้อมูลที่ผิดเพี้ยน ที่อาจสร้างความเข้าใจผิดต่อสถาบันเหล่านี้ และมิหน่ำซ้ำ ยังอาจจะตอกย้ำโรคระแวงในใจของประชาชนให้อาการแย่ลงไปอีกค่ะ

ข้อที่ 1. ที่ถามว่า... คนที่เข้าไปเรียนใช้สิทธิอะไรในการถูกคัดเลือกเข้าไปเรียน...

เฉกเช่นที่ สส.แบงค์ ออกมาปกป้องหลักสูตร ปปร. ว่าผู้จัดหลักสูตรมีการจัดสรรโควต้าให้กับ สส. 40 คน ทาง วปอ.บอ. เองก็มีโควต้าทางการเมือง 10 คนค่ะ บ้างก็เป็น สส. บ้างก็เป็นข้าราชการการเมือง (ซึ่งก็มีเนเน่ ที่เป็นรองโฆษกรัฐบาล ในช่วงนั้น) อย่างไรก็ตาม ผู้สมัครที่ผ่านเกณฑ์ทั้งสิ้นเกือบ 500 คน จำเป็นต้องผ่านการสอบสัมภาษณ์โดยคณะกรรมการของหลักสูตร เพื่อกลั่นกรองหา 150 คนที่มีทัศนคติที่เหมาะสมและมีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้นำในอนาคตได้จริงๆ เท่านั้นค่ะ (ซึ่งจริงๆคณะกรรมการหลักสูตรเคยเล่าให้เนเน่ฟังอยู่หลายครั้งนะคะว่าเขาเสียดายมากๆ ที่ไม่มีตัวแทนจากพรรคก้าวไกล (ตอนนั้นยังไม่เปลี่ยนชื่อพรรค) เข้ามาเรียน ความจริงมีคนมาสมัครนะคะ แต่อายุเกินบ้าง อายุขาดบ้าง เลยกลายเป็นว่าผู้สมัครจากพรรคก้าวไกลล้วนไม่ผ่านเกณฑ์เบื้องต้น เลยไม่มีใครได้เรียนค่ะ ...เล่าให้ฟัง จะได้ระงับดราม่าไว้ก่อนค่ะ ว่าทำไมไม่มีคนจากพรรคก้าวไกลมาเรียนเลย... อาจารย์อยากให้พวกคุณมาเรียนจริงๆ นะคะ ท่านเชื่อว่าการมามีส่วนร่วมจะช่วยให้คนในพรรคของคุณเข้าใจเรื่องของความมั่นคงมากขึ้น ขนาดตอนที่นักเรียน วปอ.บอ. รุ่น 1 เรียนจบแล้วมีนำเสนอผลงานทางวิชาการ ทางหลักสูตรยังส่งจดหมายเชิญไปที่พรรคประชาชน (ตอนนั้นเปลี่ยนชื่อแล้ว) แต่สุดท้ายแล้ว ก็ไม่มีการส่งตัวแทนรับฟังค่ะ)

ทั้งนี้ในเรื่องคุณสมบัติของคนที่เข้าเรียน ที่ ส.ส.แบงค์ ทำให้หลายคนกังขาว่าคนที่มาเรียน "ไม่มีอะไรโดดเด่นเป็นพิเศษ" เกรงว่าคนจะเข้าใจผิด เหมารวม นึกว่าหมายถึงนักเรียนทั้งหมด ...ในฐานะเพื่อนร่วมชั้น เนเน่ขอชี้แจงว่านักเรียนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มหัวกะทิ บ้างมีโปรไฟล์เป็นถึงนักวิชาการที่มีชื่อเสียง บ้างเคยเป็นถึงนักเรียนเกียรตินิยมจากโรงเรียนชั้นนำ บ้างเป็นผู้บริหารในองค์กรระดับประเทศ อีกทั้ง ทางฝั่งข้าราชการพลเรือน ทหาร และตำรวจ ส่วนใหญ่ล้วนเป็นตัวท็อปในหน่วยงานของตัวเองกันทั้งนั้นค่ะ เนเน่ได้เรียนรู้หลายเรื่องจากเพื่อนๆ เหล่านี้ ไม่น้อยไปกว่าที่ได้เรียนจากวิทยากรเลยค่ะ เขาเก่งกันจริงๆ นะคะ วอนหยุดเอาอคติทางการเมืองที่คับแคบมาตัดสิน มาด้อยค่าเพื่อนๆ ร่วมสถาบันของเนเน่เลยค่ะ ข้อ 2. ที่ถามว่าคนที่มาเรียนนั้นได้ จ่ายเงินค่าหลักสูตรหรือไม่ เพราะที่กองทัพให้ข้อมูลมาคือค่าใช้จ่ายหลักสูตรนี้ #เรียนฟรี และได้รับการสนับสนุนจากกองบัญชาการกองทัพไทย แปลว่าใช้ #ภาษีกู แบบเต็มๆ ...

อันนี้ เกรงว่าแหล่งข่าวในกองทัพของ สส.แบงค์ คงจะพูดไม่ครบนะคะ อันนี้ ถ้าไม่ทราบจริงๆ ก็ไม่ว่ากัน แต่ขอเพิ่มเติมข้อมูลเพื่อให้เข้าใจให้ตรงกันนะคะ ว่าผู้เรียนกลุ่มเอกชน และข้าราชการการเมืองต้องจ่ายเงินเอง 130,000 บาทเพื่อใช้ในการดูงานในประเทศและต่างประเทศค่ะ (ที่ว่าเรียนฟรีนี้ สำหรับบุคลากรของรัฐ เช่น ข้าราชการพลเรือน ทหาร และตำรวจ ที่ทางหน่วยงานส่งตัวแทนมาเรียนเท่านั้นค่ะ) ...ฉะนั้นขอย้ำนะคะว่า นอกเหนือจากที่เราไม่ได้เบียดเบียนภาษีประชาชนแล้ว เราได้ตัดสินใจใช้เงินส่วนตัวลงทุนเพื่อรับความรู้ผ่านหลักสูตรนี้ค่ะ

อ่อ... และที่ถามว่า ‘กล้าเอารูปมาโพสต์’ ไหม ... ในคอมเมนท์ เนเน่ขอเอารูปตอน วปอ.บอ. ไปทำ CSR ด้วยเงินส่วนตัวที่พวกเราระดมกัน นำไปช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่สุโขทัย มาให้ดูเป็นตัวอย่างให้ดูนะคะว่าเราก็รวมตัวกัน ‘ก่อการดี’ ไม่ต่างอะไรกับ คณะนักศึกษา ปปร. ของ สส.แบงค์ ค่ะ มาช่วยกันคลายโรคระแวงการสร้างคอนเนคชั่นในสังคมไทยด้วยการเมืองสร้างสรรค์กันดีกว่านะคะ

สถาบันพระปกเกล้า เปิดอบรม หลักสูตรเสริมสร้างสังคมสันติสุข(สสสส.)รุ่นที่ 15 มุ่งแก้ปัญหาความขัดแย้งทุกระดับ

เมื่อวานนี้ (2 ธ.ค.67) สถาบันพระปกเกล้า โดยสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล จัดพิธีเปิดการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเสริมสร้างสังคมสันติสุข (สสสส.)รุ่นที่ 15 โดยได้รับเกียรติจาก นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เป็นประธานเปิดการศึกษาอบรม 

นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ กล่าวว่า สถาบันพระปกเกล้า เปิดการศึกษาอบรมหลักสูตรดังกล่าวขึ้น เพื่อเป็นพื้นที่ที่เอื้อต่อการแสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนกันได้อย่างสร้างสรรค์ ด้วยการให้เกียรติและเคารพความหลากหลายของความคิด ความเชื่อ โดยเน้นให้ผู้เข้ารับการศึกษาจะนำความรู้ด้วยการลงไปดูปัญหาจริง จากพื้นที่จริง เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในระดับต่างๆ ได้อย่างแท้จริง

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่างว่า หลักสูตร เสริมสร้างสังคมสันติสุข (สสสส.)รุ่นที่ 15 จัดขึ้นเพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสภาพความขัดแย้ง สาเหตุ และวิธีแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ความขัดแย้งทางการเมือง ความขัดแย้งจากการจัดการฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และความขัดแย้งในสังคม พหุลักษณ์ ให้ผู้เข้าอบรมมีทักษะเบื้องต้นในการสร้างสันติสุขในสังคม ในมิติของการป้องกันความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น การจัดการและแก้ไขความขัดแย้ง การแปรเปลี่ยนความขัดแย้งที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้กลายเป็นความรุนแรง การเยียวยาสร้างความสมานฉันท์ให้กลับคืนสู่สังคมภายหลังความขัดแย้งสิ้นสุดลง 

มีเจตคติที่ยอมรับและเห็นคุณค่าของความแตกต่างหลากหลายในสังคม รวมทั้งยึดมั่นสันติวิธีทั้งในสำนึกและพฤติกรรม โดยเน้นการสร้างสันติวัฒนธรรม เพื่อทำให้สังคมไทยพัฒนาเปลี่ยนแปลงได้ก้าวหน้าสู่สันติวิธีได้ดียิ่งขึ้น 

อีกทั้งให้ผู้เข้าอบรมนำความรู้และประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการแลกเปลี่ยนกับบุคคลจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งในชั้นเรียนและในพื้นที่มาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางแก้ไขความขัดแย้งและสร้างสันติสุขในสังคมอย่างเป็นระบบ พร้อมนำเสนอต่อสังคมและผู้เกี่ยวข้องเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการแก้ไขปัญหาต่อไป และให้ผู้เข้าอบรมเกิดความเข้าใจอันดีระหว่างผู้เข้าอบรมที่มีภูมิหลังที่แตกต่างกัน อันจะเป็นการสานต่อพลังในการเสริมสร้างสังคมสันติสุขในรูปของเครือข่ายผู้เข้ารับการศึกษาอบรมอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ นายศุภณัฐ เพิ่มพูนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล กล่าวแนะนำกรรมการบริหารหลักสูตรฯ คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ประจำหลักสูตร และร่วมกันพูดคุยเนื้อหาเกี่ยวกับหลักสูตรพร้อมรับฟังการแนะนำการใช้งาน Application KPI-KIT โดย เจ้าหน้าที่ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ แนะนำการใช้ห้องสมุด โดยพนักงานบรรณารักษ์และสารสนเทศ

สำหรับหลักสูตรดังกล่าว มีผู้เข้ารับการศึกษาอบรม ประกอบด้วย ข้าราชการพลเรือน รัฐวิสาหกิจ องค์กรอิสระ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทหาร ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน ผู้นำศาสนา และสื่อมวลชน จำนวนทั้งสิ้น 90 คน โดยมีระยะเวลาการศึกษาอบรมตั้งแต่ เดือนธันวาคม 2567 ถึง เดือนธันวาคม 2568

'สถาบันพระปกเกล้า' จัดงานครองราชย์ สู่ 100 ปี พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อวานนี้ (6 ม.ค.68) พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาบันพระปกเกล้า จัดแถลงข่าวเปิดตัวโครงกาเฉลิมพระเกียรติในโอกาส '99 ปี แห่งการครองราชย์  สู่ 100 ปี พระราชพิธีบรมราชาภิเษก' พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 

นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นายกู้เกียรติ ภูมิรัตน์ กรรมการพิพิธภัณฑ์ฯ ประธานกรรมการจัดการแสดงเฉลิมพระเกียรติฯ และ คณะกรรมการ 

นอกจากนั้น ภายในงานยังมีกิจกรรม เสวนาพูดคุยประเด็นที่มาและความสำคัญของการจัดงาน โดย นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการพิพิธภัณฑ์ฯ นายศิริพงษ์ ทวีทรัพย์ นาฏศิลปินทักษะพิเศษ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการสังคีต กรมศิลปากร และ ผศ.ดร.มณิศา วศินารมณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ดำเนินรายการโดย นายณัฐธีร์ โกศลพิศิษฐ์ นักศึกษาหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย รุ่นที่ 27 สถาบันพระปกเกล้า (ปปร.27)

พร้อมทั้งได้รับเกียรติจาก ผู้บริหารสถาบันฯ ดร.ถวิลวดี บุรีกุล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และนายณัฐพงศ์ รอดมี ผู้ช่วยเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า

เนื่องในโอกาสอันสำคัญแห่งการครบรอบ 100 ปี การขึ้นครองราชย์ และพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ.2569 สถาบันพระปกเกล้า โดยพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงจัดโครงการเฉลิมพระเกียรติ “99 ปี แห่งการครองราชย์ สู่ 100 ปี พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอด 2 ปี นับตั้งแต่นี้จนถึงปี 2569 

โครงการประกอบด้วย งานเสวนาวิชาการ บรรยายพิเศษ การจัดแสดงนิทรรศการ และงานการแสดงเฉลิมพระเกียรติ ที่ได้หยิบยกเอาดนตรีนาฏกรรมอันทรงคุณค่าและเกี่ยวเนื่องในรัชสมัย โดยเฉพาะงานสมโภชพระนคร 150 ปี ซึ่งเป็นงานสำคัญงานหนึ่ง มาร้อยเรียงเป็นชุดการแสดงที่จะจัดให้มีขึ้นตลอด 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 10 - 12 มกราคม 2568 ระหว่างเวลา 17.00 – 20.30 น. ณ อาคารใหม่สถาบันพระปกเกล้า หลานหลวง และพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 

กิจกรรมที่น่าสนใจภายในงานพบกับ การแสดงเฉลิมพระเกียรติจาก สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ร่วมสนุกไปกับกิจกรรมพิเศษมากมาย เชิญชวนแต่งกายชุดไทยเพื่อร่วมเก็บภาพบรรยากาศงามสมโภชอย่างจุใจ ถ่ายภาพย้อนยุคด้วย AI ร่วมกิจกรรมเวิร์คชอป ทำยาดม ต้นโพธิ์เงินโพธิ์ทอง มาลัยลูกปัด และดอกไม้โปรยทาน ชม ชิม อาหารย้อนยุค รวทั้งบูธสินค้าชุมชนจากนักศึกษาสถาบันพระปกเกล้า หลักสูตรธรรมาภิบาลกับการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศสำหรับผู้บริหาร (GGE) รุ่นที่ 2 และหลักสูตรผู้นำทางการแพทย์ (ปนพ.) รุ่นที่ 1

กิจกรรม workshop พิเศษต่างๆ อาทิ  กิจกรรมสาธิตการทำยาดม การทำพุ่มดอกบัว  เปิดลงทะเบียนเพียง 5 รอบเท่านั้น 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top