Thursday, 22 May 2025
ศูนย์ลดอุบัติเหตุทางถนน

'ผบ.ตร.' เปิดศูนย์ลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 ส่งตำรวจกว่า 50,000 นาย คอยความอำนวยการจราจร พี่น้องประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนา เข้มงวดความเร็ว เมาสุรา ลดอุบัติเหตุบนถนน”

วันนี้ (28 ธ.ค.65) เวลา 09.30 น. ที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ,พล.ต.อ.รอย  อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. ,พล.ต.ท.ธนา  ชูวงศ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ,พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.วีระ  จิรวีระ รอง จตช. และผู้บังคับบัญชาของศูนย์บริหารงานจราจร (ศจร.ตร.) แถลงเปิด "ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2566" เพื่อกำกับดูแลและสั่งการ ในการอำนวยการจราจรและแก้ไขสถานการณ์อุบัติเหตุ ในช่วง 7 วันควบคุมเข้มข้น (29 ธ.ค.65 ถึง 4 ม.ค.66)  

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ฯ กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ได้สั่งเตรียมความพร้อมกำลังพลกว่า 50,000 นาย เพื่ออำนวยความสะดวกการจราจร และดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนา รวมถึงการป้องปรามไม่ให้มีการฝ่าฝืนกฎหมายจราจร ด้วยการบังคับใช้กฎหมายเพื่อลดอุบัติเหตุ โดยจะปฏิบัติงานตลอดช่วงเทศกาลไม่มีวันหยุด สำหรับวันนี้ เป็นวันแรกที่เปิด ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนฯ ได้สั่งการให้ บช.น. ภ.1-9 และ บก.ทล. ปฏิบัติ ดังนี้
1) อำนวยความสะดวกการจราจรเพื่อให้ประชาชนเดินทางอย่างปลอดภัย โดยคาดการณ์ว่าปีนี้จะมีรถเดินทางเข้าออก กทม. มากถึงจำนวน 7.3 ล้านคัน โดยปริมาณรถขาออกมากที่สุด วันที่ 29 และ 30 ธ.ค.65 และปริมาณรถขาเข้ามากที่สุด วันที่ 2 และ 3 ม.ค.66 จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยประสานเจ้าของถนนคืนพื้นผิวการจราจร จุดที่มีการก่อสร้าง ซ่อมแซม เป็นเหตุให้รถชะลอตัว โดยสามารถคืนพื้นผิวได้ทั้งหมด 408 จุดทั่วประเทศ จัดตำรวจอำนวยการจราจร ตามจุดสำคัญที่มีปัญหาการจราจร รวมถึงแหล่งท่องเที่ยว และในกรณีเกิดอุบัติเหตุ ให้มีชุดเคลื่อนที่เร็วพร้อมอุปกรณ์ เช่น รถยก รถสไลด์  เข้าถึงที่เกิดเหตุและคลี่คลายการจราจรได้ทันที นอกจากนี้ยังได้ออกข้อบังคับเปิดช่องทางพิเศษเพื่อเร่งระบายรถ ทั้งขาเข้าและออก กทม. 9 เส้นทาง 10 จังหวัด รวมระยะทาง 450 กม. โดยตำรวจทางหลวงจะเปิดช่องทางพิเศษตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปตามสภาพการจราจร และได้ออกข้อบังคับห้ามรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป เดินในถนน 7 เส้นทาง เพื่อลดความหนาแน่นของการจราจรรวมระยะทาง 194 กม. สำหรับรถบรรทุกที่มีความจำเป็นต้องเดินรถ เช่น รถขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง อาหารสด สามารถยื่นคำขออนุญาตผ่านระบบออนไลน์ ของ บก.ทล. ได้ที่ www.hwpdth.com  

2) การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน กำหนดเป้าหมายให้ทุก ภ.จว. ลดจำนวนอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ จากค่าเฉลี่ยปีใหม่ 3 ปีย้อนหลัง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 โดยมีมาตรการให้ทุกหน่วยทำบัญชีกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่เพื่อเข้าไปรณรงค์ประชาสัมพันธ์ป้องปรามกลุ่มเป้าหมาย และตั้งจุดตรวจเพื่อกวดขันจับกุมการกระทำผิดกฎจราจรที่ เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ โดยเริ่มบังคับใช้กฎหมายตั้งแต่ 22 ธ.ค.65 เป็นต้นมา เน้นหนักใน 4 ข้อหา ตามนโยบายของรัฐบาล ได้แก่ ขับรถในขณะเมาสุรา ขับรถเร็วเกินกำหนด ไม่สวมหมวกนิรภัย และไม่รัดเข็มขัดนิรภัย ซึ่งตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค.65 – 27 ธ.ค.65 ที่ผ่านมามีการจับกุมทั้ง 4 ข้อหารวมแล้วทั้งสิ้น 9,364 ราย และนอกจากนั้น บก.ทล. มีการออกใบสั่งกล้องตรวจจับความเร็วทั่วประเทศอีกจำนวน 115,906 ราย โดยในห้วง 7 วันควบคุมเข้มข้น (29 ธ.ค.65 ถึง 4 ม.ค.66) ตร. ได้สั่งการให้เพิ่มความเข้มในการกวดขันวินัย  โดยมีการตั้งจุดตรวจทั่วประเทศรวม 3,771 จุด แบ่งเป็น จุดตรวจกวดขันวินัยจราจร  2,142 จุด (กำลังพล 19,699 นาย) จุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ 1,629 จุด (กำลังพล 13,726 นาย) นอกจากนั้น กรณีที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น และมีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต จะทำการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ทุกรายเพื่อประกอบสำนวนการสอบสวน หากผู้ขับขี่ปฏิเสธไม่ยอมให้ทดสอบปริมาณแอลกอฮอล์ จะถูกกฎหมายสันนิษฐานว่าเมาแล้วขับ ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 ตั้งแต่ 28 ธ.ค.65 ถึง 5 ม.ค.66 กำหนดให้มีการประชุมติดตามสถานการณ์อุบัติเหตุและการจราจรทุกวัน ในช่วง 7 วันควบคุมเข้มข้น โดยมอบหมาย พล.ต.อ.รอยฯ พล.ต.ท.ธนาฯ พล.ต.ท.ประจวบฯ และ พล.ต.ท.วีระฯ เป็นประธานการประชุมตลอด 7 วัน และวันนี้เป็นการประชุมเปิดศูนย์ฯ เพื่อสั่งการทุกหน่วยให้เตรียมความพร้อมขั้นสุดท้ายก่อนเริ่มภารกิจจริง  

ผบ.ตร. กล่าวอีกว่า การจะลดอุบัติเหตุบนถนนได้อย่างมีนัยสำคัญ ต้องสร้างจิตสำนึกการขับขี่ปลอดภัยตามกฎหมายจราจรให้กับสังคม ซึ่ง ตร. ได้ทำโครงการ อาสาตาจราจร ร่วมกับมูลนิธิเมาไม่ขับ บ.วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) จส.100 และ สวพ.91 เพื่อให้ประชาชนส่งคลิปกล้องหน้ารถ หรือคลิปจากกล้องโทรศัพท์มือถือ ที่บันทึกเหตุการณ์การกระทำผิดกฎจราจรสำคัญที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคคลอื่น หรือบันทึกอุบัติเหตุสำคัญและสามารถใช้เป็นพยานหลักฐานในทางคดีของตำรวจได้เพื่อช่วยคนดีชี้คนผิด โดยสำหรับในเทศกาลปีใหม่นี้ จะมีแคมเปญพิเศษ “7 วัน 7 คลิป 7 หมื่น” ให้ประชาชนส่งคลิปในช่วง 7 วันควบคุมเข้มข้นของเทศกาลปีใหม่ 2566 จากคลิปที่ส่งมาทั้งหมด จะมีการคัดเลือกให้เหลือ 7 คลิป และจะมีรางวัลให้คลิปละ 10,000 บาท รวมเป็นเงิน 70,000 บาท โดยได้รับสนับสนุนเงินรางวัลจาก บ.วิริยะประกันภัย ฯ
 

''ผบ.ตร.เปิดศูนย์ลดอุบัติเหตุทางถนน วันสงกรานต์''

“ผบ.ตร.เปิดศูนย์ลดอุบัติเหตุทางถนน สงกรานต์ ส่งตำรวจกว่า 1 แสนนาย ดูแลความปลอดภัย เข้มงวดจราจร รถเร็ว เมาขับ สวมหมวก นั่งรถกระบะเล่นน้ำ หวังลดอุบัติเหตุ ชวนฝากบ้าน 4.0 พบมียอดฝากแล้ว 1,012 หลัง” 

วันนี้ (10 เม.ย.66) เวลา 13.30 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. พล.ต.อ.รอย  อิงคไพโรจน์  รอง ผบ.ตร. พล.ต.อ.ต่อศักดิ์  สุขวิมล รอง ผบ.ตร. พล.ต.ท.ธนา ชูวงศ์  ผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.วีระ  จิรวีระ รอง จตช. และผู้บังคับบัญชาของศูนย์บริหารงานจราจร (ศจร.ตร.) ร่วมแถลงเปิด "ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2566" เพื่อกำกับ ดูแลและสั่งการ ในการอำนวยการจราจรและแก้ไขสถานการณ์อุบัติเหตุ ในช่วง 7 วันควบคุมเข้มข้น (11 – 17 เม.ย.66)  

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ฯ ผบ.ตร. กล่าวว่า “ตามนโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ห่วงใยความปลอดภัยพี่น้องประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ให้ทุกหน่วยบูรณาการร่วมปฏิบัติทุกมิติ 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งเตรียมกำลังพลกว่า 100,000 นาย เพื่อดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน พร้อมอำนวยความสะดวกการจราจร ให้กับประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนา รวมถึงการป้องปรามไม่ให้มีการฝ่าฝืนกฎหมายการบังคับใช้กฎหมายเพื่อลดอุบัติเหตุ  โดยจะปฏิบัติงานตลอดช่วงเทศกาลไม่มีวันหยุด สำหรับวันนี้ เป็นวันแรกที่เปิด ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนฯ ได้สั่งการให้ บช.น. ภ.1-9 และ บก.ทล. ปฏิบัติดังนี้

1) มาตรการอำนวยความสะดวกการจราจรให้ประชาชนเดินทางอย่างปลอดภัย  ซึ่งปีนี้คาดว่าจะมีรถเดินทางเข้าออก กทม. มากถึงจำนวน 7 ล้านคัน ซึ่งมากกว่าปีที่แล้ว 5.3% โดยคาดการณ์ปริมาณรถขาออกมากที่สุด วันที่ 12 และ 13 เม.ย.66 และปริมาณรถขาเข้ามากที่สุด วันที่ 16 และ 17 เม.ย.66  จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยประสานเจ้าของถนนคืนพื้นผิวการจราจร จุดที่มีการก่อสร้าง ซ่อมแซม เป็นเหตุให้รถชะลอตัว โดยสามารถคืนพื้นผิวได้ทั้งหมด 536 จุดทั่วประเทศ รวมระยะทางกว่า 1,595 กม. จัดตำรวจอำนวยการจราจร ตามจุดสำคัญที่มีปัญหาการจราจร รวมถึงแหล่งท่องเที่ยว และในกรณีเกิดอุบัติเหตุ ให้มีชุดเคลื่อนที่เร็วพร้อมอุปกรณ์ เช่น รถยก รถสไลด์  เข้าถึงที่เกิดเหตุและคลี่คลายการจราจรได้ทันที นอกจากนี้ ยังได้ออกข้อบังคับเปิดช่องทางพิเศษเพื่อเร่งระบายรถ ทั้งขาเข้าและออก กทม. 9 เส้นทาง 16  จังหวัด รวมระยะทาง 457 กม. โดยตำรวจทางหลวงได้เปิดช่องทางพิเศษไปแล้วตั้งแต่เมื่อวาน และจะดำเนินการต่อเนื่องตามสภาพการจราจร  มีการได้ออกข้อบังคับห้ามรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป เดินในถนน 7 เส้นทาง เพื่อลดความหนาแน่นของการจราจรรวมระยะทาง 194 กม. สำหรับรถบรรทุกที่มีความจำเป็นต้องเดินรถ เช่น รถขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง อาหารสด สามารถยื่นคำขออนุญาตผ่านระบบออนไลน์ ของ บก.ทล. ได้ที่  www.hwpdth.com 

2) มาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน กำหนดเป้าหมายให้ทุก ภ.จว. ลดจำนวนอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ จากค่าเฉลี่ยสงกรานต์ 3 ปีย้อนหลัง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 โดยมีมาตรการให้ทุกหน่วยทำบัญชีกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่เพื่อเข้าไปรณรงค์ประชาสัมพันธ์ป้องปรามกลุ่มเป้าหมาย และตั้งจุดตรวจเพื่อกวดขันจับกุมการกระทำผิดกฎจราจรที่ เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ โดยเริ่มบังคับใช้กฎหมายตั้งแต่ 4 เม.ย.66 เป็นต้นมา  เน้นหนักใน 10 ข้อหา ด้านความปลอดภัย โดยเฉพาะ ขับรถในขณะเมาสุรา ขับรถเร็วเกินกำหนด ไม่สวมหมวกนิรภัย และไม่รัดเข็มขัดนิรภัย ซึ่งตั้งแต่วันที่ 4 – 9 เม.ย.66 (รวม 6 วัน) ที่ผ่านมามีการจับกุม 10 ข้อหา รวมทั้งสิ้น 171,539 โดยมีข้อหาขับรถในขณะเมาสุรา 443 ราย โดยในห้วง 7 วันควบคุมเข้มข้น (11-17 เม.ย.66) ตร. ได้สั่งการให้เพิ่มความเข้มในการกวดขันวินัย

โดยมีการตั้งจุดตรวจทั่วประเทศรวม 3,820 จุด แบ่งเป็น จุดตรวจกวดขันวินัยจราจร  2,183 จุด (กำลังพล 20,605 นาย) จุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ 1,637 จุด (กำลังพล 14,821 นาย) นอกจากนั้น กรณีที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น และมีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต  จะทำการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ทุกรายเพื่อประกอบสำนวนการสอบสวน  หากผู้ขับขี่ปฏิเสธไม่ยอมให้ทดสอบปริมาณแอลกอฮอล์ จะถูกกฎหมายสันนิษฐานว่าเมาแล้วขับ ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522

สำหรับวิธีการปฏิบัติตนในการนั่งท้ายกระบะ ตร. ได้มีประกาศ เรื่อง การยกเว้นให้คนโดยสารไม่ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยในรถบางประเภท พ.ศ.2566 ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่ 19 มี.ค.66 โดยกำหนดจำนวน นั่งท้ายรถกระบะไม่เกิน 6 คน   นั่งใน Space cab ไม่เกิน 3 คน  และการนั่งท้ายกระบะต้องไม่นั่งริมขอบกระบะ และต้องปิดฝากระบะ รวมทั้งต้องขับชิดซ้ายใช้ความเร็วไม่เกิน 60 กม./ชม.  จึงขอประชาสัมพันธ์ในช่วงสงกรานต์ หากจะมีการใช้รถกระบะบรรทุกคนโดยสารเล่นน้ำ จะต้องนั่งไม่เกิน จำนวนดังกล่าว เพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุ

ผู้ที่ใช้รถใช้ถนน ต้องการสอบถามเส้นทาง แจ้งอุบัติเหตุ หรือ ขอความช่วยเหลือ โทร. 1193 (ทางหลวงทั่วประเทศ) หรือ 1197 (กทม. และปริมณฑล) หรือ 191 และ 1599

ทั้งนี้ ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 ตั้งแต่ 10 เม.ย.66 ถึง 18 เม.ย.66 กำหนดให้มีการประชุมติดตามสถานการณ์อุบัติเหตุและการจราจรทุกวัน ในช่วง 7 วันควบคุมเข้มข้น โดยมอบหมาย พล.ต.อ.รอยฯ พล.ต.ท.ธนาฯ พล.ต.ท.ประจวบฯ และ พล.ต.ท.วีระฯ เป็นประธานการประชุมตลอด 7 วัน และวันนี้เป็นการประชุมเปิดศูนย์ฯ  เพื่อสั่งการทุกหน่วยให้เตรียมความพร้อมขั้นสุดท้ายก่อนเริ่มภารกิจจริง”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top