Saturday, 19 April 2025
วิษณุ_เครืองาม

‘วิษณุ’ ฟันธงศึกซักฟอกรอบนี้ผ่านฉลุย เหตุ รมต. แต่ละคนล้วนชำนาญการอภิปราย

(19 ก.ค. 2565) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมประชุมสภาเพื่อร่วมรับฟังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่า ในวันนี้ตนเองเป็นเพียงเพื่อนเจ้าบ่าว ตนไม่ได้ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ อย่างไรก็ตามในฐานะที่เป็นฝ่ายกฎหมายไม่ได้มีความเป็นห่วงรัฐมนตรีที่ไม่เคยถูกอภิปรายแต่อย่างใด เพราะในฐานะที่เป็น ส.ส.ย่อมเคยอภิปรายคนอื่นมาบ้างแล้ว วิปได้จัดสรรเวลาแล้วก็ไม่น่าจะมีปัญหา ส่วนกรณีที่ต่างฝ่ายต่างโปรโมทด้วยอินโฟร์กราฟฟิกเหมือนโปรโมทภาพยนตร์นั้นตนไม่ทราบเรื่อง ไม่ได้เห็นจึงไม่ทราบ

ผู้สื่อข่าวถามว่าอยากให้คำแนะนำในเรื่องของข้อมูลหรือเทคนิคในการอภิปรายและชี้แจงอย่างไรหรือไม่ รองนายกฯเผยว่า ไม่มีอะไรแนะนำ ตนไม่กล้าแนะนำเพราะแต่ละคนเก่งแล้ว ซึ่งการพูดคุยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมาเป็นเพียงการพูดคุยและสอบถามตนถึงเรื่องราวในอดีต ตนไม่ได้ไปติวอะไรให้ใคร จะมีปัญญากล้าไปติวได้อย่างไร ก็ได้แต่เล่าเรื่องราวในอดีตให้ฟังเท่านั้นเอง พูดให้ฟังว่าในอดีตเกิดอะไรขึ้นบ้างเนื่องจากตนอยู่ในเหตุการณ์อภิปรายไม่ไว้วางใจมาแล้ว 10 กว่าครั้ง อย่างไรก็ตามการอภิปรายในครั้งนี้เชื่อว่าจะผ่านไปด้วยดี และได้ทราบว่ารัฐมนตรีแต่ละคนเตรียมตัวเตรียมข้อมูลกันเอง จึงไม่ทราบว่าแต่ละคนมีความพร้อมอย่างไร

นายกฯ เซ็นตั้ง ‘วิษณุ' นั่งที่ปรึกษานายกฯ 'ด้านกฎหมาย-ระเบียบราชการ' คอยตรวจสอบกลั่นกรอง กม.ก่อนเข้าครม. - ให้คำปรึกษาทางกม.แก่นายกฯ

(30 พ.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงาน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 204/2567 เรื่อง การแต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมายและระเบียบปฏิบัติราชการ มีเนื้อหาสรุปว่า เพื่อให้การบริหารราชการ การขับเคลื่อนนโยบายสำคัญเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อให้คำปรึกษา เสนอความเห็น และประสานความร่วมมือกับหน่วยราชการต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาศัยอำนาจตามมาตรา 11(6) แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน สมควรแต่งตั้ง นายวิษณุ เครืองาม เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมายและระเบียบปฏิบัติราชการ เพื่อให้คำปรึกษาและพิจารณาเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่าง ๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.)ในฐานะที่ปรึกษาของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

โดยมีหน้าที่และอำนาจ ตรวจสอบและกลั่นกรองร่างกฎหมาย และร่างอนุบัญญัติที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีร่วมกับ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายหรือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(สลค.)ร้องขอ  ให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นทางกฎหมายแก่นายกรัฐมนตรีตามที่มอบหมาย เชิญเจ้าหน้าที่ส่วนราชการ ผู้แทนหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมหรือให้ข้อมูลรายละเอียดหรือจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานได้ตามที่เห็นสมควร ให้ข่าวสารในประเด็นที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความเข้าใจต่อสาธารณชนได้ตามความจำเป็น ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย และ แต่งตั้งคณะทำงานหรืออนุกรรมการเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานได้ตามความจำเป็น

โดยให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.)สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.)สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.) และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.)สนับสนุนการดำเนินการ สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยให้เบิกจ่ายจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ถือว่านายวิษณุ มีอำนาจหน้าที่เทียบเท่ากับรองนายกรัฐมนตรี คนหนึ่ง

'เนติบริกร' สะกิด!! 'บิ๊กโจ๊ก' ไม่ควรฟ้องนายกฯ ควรรอ 'ก.พ.ค.ตร.' ถ้าไม่พอใจค่อยไปศาลปกครอง

(25 มิ.ย.67) นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. จะยื่นฟ้อง ม.157 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี หากไม่เปลี่ยนแปลงคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ว่า มีสิทธิฟ้อง เพราะเป็นการฟ้องส่วนตัว แต่ไม่ควรฟ้อง ที่สำคัญ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ยังมีช่องทางที่จะบำบัดหรือได้รับการเยียวยาหลายช่องทาง ซึ่งควรจะไปใช้ช่องทางปกติ โดยสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ก็ยื่นฟ้องเช่นกัน เช่น ทางคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) ที่ได้เขียนเอาไว้ว่า หากใครได้รับความเดือดร้อนจากผู้บังคับบัญชาก็สามารถยื่นร้องทุกข์ได้ ต้องปล่อยให้หน้าที่ ก.พ.ค.ตร.ในการตัดสิน หากตัดสินอย่างไรให้เป็นไปตามนั้น เวลานี้เรื่องทั้งหมดอยู่ที่ ก.พ.ค.ตร. ฉะนั้น ที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ระบุว่า อนุ ก.ตร.ไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ต้องถูกส่งไป ก.พ.ค.ตร. เพื่อวินิจฉัยในเร็ววันนี้ 

ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ควรรอคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร.ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ทุกคนควรจะรอ เว้นแต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะไปแก้ไขเยียวยาเอง ส่วนจะนานหรือไม่นั้น มันนาน แต่ว่า ก.พ.ค.ตร.ได้รับเรื่องไว้นานแล้ว ฉะนั้น เวลาน่าจะเหลือจะประมาณ 1 เดือน เมื่อถามว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์มีการอ้างมติ ครม.ปี 2482 ว่า หน่วยงานใดที่หารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา หน่วยงานนั้นต้องทำตามนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า มีอยู่จริง ออกมาตั้งแต่สมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม และใช้ตั้งแต่นั้นมา 

เมื่อถามว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์จะยึดความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาในการต่อสู้ และมีสิทธิจะชนะใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้ชี้ถูกชี้ผิด ยิ่งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณะเกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องคดีของบุคลากรภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มีนายฉัตรชัย พรหมเลิศ เป็นประธาน ยิ่งไม่ได้ชี้ถูกชี้ผิด และในวันที่ตนแถลงข่าวก็ไม่ได้ชี้ถูกชี้ผิด แค่มาเล่าให้ฟังเท่านั้นว่าคณะกรรมการทั้งสองชุดว่าอย่างไร ซึ่งในวันนั้นมีผู้สื่อข่าวถามว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ยังเป็นแคนดิเดตผบ.ตร.ได้อยู่หรือไม่ ตนจึงตอบว่าใครก็ตามที่ดำรงตำแหน่ง พล.ต.อ. และเป็นรองผบ.ตร. ก็มีโอกาสทั้งนั้น แต่สุดท้ายจะได้เป็นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งมติ ก.ตร. และอยู่ที่นายกฯจะเสนอชื่อใคร เหมือนเช่นตอนที่เสนอชื่อ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เมื่อถามว่า แต่เป็นเหตุผลที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์หยิบขึ้นมาอ้าง นายวิษณุ กล่าวว่า ทุกคนก็เอาสิ่งที่ตนได้ประโยชน์มาอ้าง ไม่มีใครอ้างในสิ่งที่เป็นโทษ 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้กลายเป็นว่า มีการเอาผลสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายฯ ที่มีนายฉัตรชัย เป็นประธาน ที่ทำท่าจะจบ แต่ไม่จบ เพราะมีการไปต่อยอด ฟ้องร้องกัน นายวิษณุ กล่าวว่า ก็เป็นคดีใหม่ ส่วนคดีเก่าคือ คดีของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ซึ่งเรื่องจบไปแล้วส่วนหนึ่ง ส่วนกรณี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ไปยื่นฟ้อง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร รองผบ.ตร. และคนอื่น ๆ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นธรรมดาเหมือนคดีทั่วไป ที่จบอีกเรื่องก็มีอีกเรื่องหนึ่งขึ้นไป และถือเป็นเรื่องตัวบุคคล ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล ไม่เกี่ยวกับองค์กร ไม่เกี่ยวกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และขอย้ำประโยคนี้ว่า เขาออกแบบไว้ให้ ก.พ.ค.ตร.เป็นผู้ตัดสินปัญหา ก็ต้องใช้ช่องทางนี้ หากผลตัดสินของ ก.พ.ค.ตร.ไม่เป็นที่พอใจ ก็ไปร้องศาลปกครองได้อีก 

เมื่อถามว่า ตอนนี้ตกลง พล.ต.อ.สุรเชษ์ฐ สามารถกลับเข้ามาเป็นแคนดิเดต ผบ.ตร.ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าดูจากวันนี้เดี๋ยวนี้ตอบได้ว่ามี แต่ถ้าต่อไป อาจมีการแก้เกมอย่างอื่นจนไม่ได้เป็นก็ได้ เพราะมันยังมีช่องกฎหมายอีกเยอะ ซึ่งตามช่องที่คณะกรรมการกฤษฎีกาบอกว่ากระบวนการไม่ชอบ และเป็นเอกฉันท์ด้วย

เมื่อถามย้ำว่า กระบวนการทั้งหมดจะไม่สามารถดำเนินการได้หากยังไม่มีการนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ใช่ เมื่อถามอีกว่า มีโอกาสที่จะไม่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เขาจะไม่นำขึ้นทูลเกล้าฯ แน่ เว้นแต่ ก.พ.ค.ตร.จะสั่งลงมา แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาก็ไม่ได้บอกว่าไม่ให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่เขาบอกว่า หนังสือที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ นั้นมีข้อสังเกตว่า ควรจะถูกต้องตามกระบวนการ เพราะมีตัวอย่างมาแล้วนับ 10 เรื่องที่กระบวนการไม่ถูก แล้วถูกส่งกลับมาดังนั้น ต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้องก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างขึ้นอยู่กับ ก.พ.ค.ตร.และรัฐบาลเองก็ฟัง ก.พ.ค.ตร. จะเอาอย่างไรก็เอาตามนั้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top