13 มกราคม ของทุกปี กำหนดเป็น ‘วันการบินแห่งชาติ’ จุดเริ่มต้นการบินของไทย
วันที่ 13 มกราคม 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จทอดพระเนตรการบิน จึงกำหนดให้วันนี้เป็นวัน ‘การบินแห่งชาติ’
วันการบินแห่งชาตินั้น เริ่มต้นมาจากปี พ.ศ. 2454 ที่ จอมพล สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ถึงความจำเป็นและประโยชน์ของเครื่องบินที่ต้องมีไว้เพื่อป้องกันประเทศ จึงมีคำสั่งให้นายทหาร 3 นาย คือ พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ, นาวาอากาศเอก พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์ และนาวาอากาศเอก พระยาทะยานพิฆาต ไปเรียนวิชาการบินที่ประเทศฝรั่งเศส
ในระหว่างที่นายทหารทั้ง 3 นายเดินทางไปศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศสนั้น ทางการก็ได้สั่งซื้อเครื่องบินเป็นครั้งแรกจากฝรั่งเศส มาจำนวน 7 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบินแบบเบรเกต์ปีก 2 ชั้น จำนวน 3 เครื่อง และเครื่องบินแบบนิเออปอร์ตปีกชั้นเดียว จำนวน 4 เครื่อง เข้าไว้ประจำการ นอกจากนี้ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ยังได้อุทิศทรัพย์ส่วนตัว ซื้อเครื่องบินแบบเบรเกต์ให้ราชการไว้ใช้งานอีก 1 ลำ ด้วยเห็นว่าเครื่องบินสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในทางราชการได้ ทำให้ในยุคแรก ประเทศไทยมีเครื่องบินประจำการ จำนวน 8 ลำ
หลังสำเร็จการศึกษานายทหาร นักบินทั้ง 3 นาย ได้กลับมาทดลองบินครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2456 ซึ่งนายทหารนักบินทั้ง 3 นาย สามารถขับเครื่องบินและร่อนลงจอดได้เป็นอย่างดี ท่ามกลางเสียงชื่นชมของผู้ชมจำนวนมากที่มารอชม เนื่องจากในสมัยนั้น การขึ้นบินบนท้องฟ้าถือเป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง ผู้ที่สามารถขับเครื่องบินได้จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้กล้าหาญ และถือเป็นเกียรติประวัติที่ควรได้รับการสรรเสริญ
