Monday, 28 April 2025
วปอ

‘รัดเกล้า’ โพสต์เฟซ!! โต้กลับ ‘แบงค์ ศุภณัฐ’ ชี้!! เป็น ‘โรคระแวง การสร้างคอนเนคชั่น’

(30 พ.ย. 67) ‘เนเน่’ หรือ นางสาวรัดเกล้า สุวรรณคีรี อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ในฐานะศิษย์เก่าของสถาบันพระปกเกล้า และสถาบัน วปอ. โดยมีใจความว่า ...

#ปปร และ #วปอบอ เป้านิ่ง อคติทางการเมือง

เอาจริงๆ โรคระแวงการสร้างคอนเนคชั่นของกลุ่มนักการเมืองในสังคมไทยนี่นับว่าอยู่ในระดับเรื้อรัง เป็นโรคที่มีมากันยาวนานแล้วนะคะ ซึ่งเอาจริงๆ ก็คงโทษประชาชนไม่ได้ที่จะมีอคติมองว่าการสร้างคอนเนคชั่นเป็นเรื่องไม่ดี มันก็คงเป็นเพราะเขาโดนมาเยอะ เจ็บมาแยะ กับการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องเพื่อประโยชน์ส่วนตนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ฉะนั้น จริงๆ แล้วเป็นโจทย์ที่นักการเมืองรุ่นใหม่ทุกคน ทุกพรรค ควรรับไว้เป็นการบ้าน คือต้องช่วยกันแก้อคติด้วยการประพฤติดี ใช้คอนเนคชั่นและเครือข่ายที่มีเพื่อส่งเสริมบรรยากาศการทำงานร่วมกัน สร้างการเมืองสร้างสรรค์ สร้างประโยชน์ให้กับประเทศและประชาชน หากทุกคนร่วมกันทำเช่นนี้ ทำไปหลายๆ ปี แน่นอนว่ามันจะช่วยบรรเทาโรคระแวงของประชาชนได้ค่ะ อย่างไรก็ตาม ในสภาวะที่อาการโรคระแวงนี้ยังไม่ทุเลา หลักสูตรดัง เช่น การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (ปปร.) และ การป้องกันราชอาณาจักรสำหรับผู้บริหารแห่งอนาคต (วปอ.บอ.) ก็ไม่ต่างอะไรกับการเป็น #เป้านิ่ง ให้คนยิงเป้า จับผิด ตำหนิ ติติง ระบายความระแวงใจ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้... อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่นักการเมืองรุ่นใหม่ไม่ควรทำต่อความระแวงของประชาชน คือการ #ขว้างงูไม่พ้นคอ ทำให้โรคระแวงมันแย่ลงด้วยการเอาอคติทางการเมืองของตนเองมายัดเยียด ป้ายสีใส่กลุ่มการเมืองฝั่งตรงข้าม มุ่งหวังให้ประชาชนหันไปรุมคนอื่นแทนนะคะ 

ในโพสต์นี้ เนเน่ในฐานะศิษย์เก่าของทั้งสถาบันพระปกเกล้าและสถาบัน วปอ. ขอตอบคำถามและให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับทาง ส.ส. แบงค์ ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ เกี่ยวกับ หลักสูตร วปอ.บอ. นะคะ ทั้งนี้เพื่อสร้างความกระจ่างในข้อมูลที่ผิดเพี้ยน ที่อาจสร้างความเข้าใจผิดต่อสถาบันเหล่านี้ และมิหน่ำซ้ำ ยังอาจจะตอกย้ำโรคระแวงในใจของประชาชนให้อาการแย่ลงไปอีกค่ะ

ข้อที่ 1. ที่ถามว่า... คนที่เข้าไปเรียนใช้สิทธิอะไรในการถูกคัดเลือกเข้าไปเรียน...

เฉกเช่นที่ สส.แบงค์ ออกมาปกป้องหลักสูตร ปปร. ว่าผู้จัดหลักสูตรมีการจัดสรรโควต้าให้กับ สส. 40 คน ทาง วปอ.บอ. เองก็มีโควต้าทางการเมือง 10 คนค่ะ บ้างก็เป็น สส. บ้างก็เป็นข้าราชการการเมือง (ซึ่งก็มีเนเน่ ที่เป็นรองโฆษกรัฐบาล ในช่วงนั้น) อย่างไรก็ตาม ผู้สมัครที่ผ่านเกณฑ์ทั้งสิ้นเกือบ 500 คน จำเป็นต้องผ่านการสอบสัมภาษณ์โดยคณะกรรมการของหลักสูตร เพื่อกลั่นกรองหา 150 คนที่มีทัศนคติที่เหมาะสมและมีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้นำในอนาคตได้จริงๆ เท่านั้นค่ะ (ซึ่งจริงๆคณะกรรมการหลักสูตรเคยเล่าให้เนเน่ฟังอยู่หลายครั้งนะคะว่าเขาเสียดายมากๆ ที่ไม่มีตัวแทนจากพรรคก้าวไกล (ตอนนั้นยังไม่เปลี่ยนชื่อพรรค) เข้ามาเรียน ความจริงมีคนมาสมัครนะคะ แต่อายุเกินบ้าง อายุขาดบ้าง เลยกลายเป็นว่าผู้สมัครจากพรรคก้าวไกลล้วนไม่ผ่านเกณฑ์เบื้องต้น เลยไม่มีใครได้เรียนค่ะ ...เล่าให้ฟัง จะได้ระงับดราม่าไว้ก่อนค่ะ ว่าทำไมไม่มีคนจากพรรคก้าวไกลมาเรียนเลย... อาจารย์อยากให้พวกคุณมาเรียนจริงๆ นะคะ ท่านเชื่อว่าการมามีส่วนร่วมจะช่วยให้คนในพรรคของคุณเข้าใจเรื่องของความมั่นคงมากขึ้น ขนาดตอนที่นักเรียน วปอ.บอ. รุ่น 1 เรียนจบแล้วมีนำเสนอผลงานทางวิชาการ ทางหลักสูตรยังส่งจดหมายเชิญไปที่พรรคประชาชน (ตอนนั้นเปลี่ยนชื่อแล้ว) แต่สุดท้ายแล้ว ก็ไม่มีการส่งตัวแทนรับฟังค่ะ)

ทั้งนี้ในเรื่องคุณสมบัติของคนที่เข้าเรียน ที่ ส.ส.แบงค์ ทำให้หลายคนกังขาว่าคนที่มาเรียน "ไม่มีอะไรโดดเด่นเป็นพิเศษ" เกรงว่าคนจะเข้าใจผิด เหมารวม นึกว่าหมายถึงนักเรียนทั้งหมด ...ในฐานะเพื่อนร่วมชั้น เนเน่ขอชี้แจงว่านักเรียนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มหัวกะทิ บ้างมีโปรไฟล์เป็นถึงนักวิชาการที่มีชื่อเสียง บ้างเคยเป็นถึงนักเรียนเกียรตินิยมจากโรงเรียนชั้นนำ บ้างเป็นผู้บริหารในองค์กรระดับประเทศ อีกทั้ง ทางฝั่งข้าราชการพลเรือน ทหาร และตำรวจ ส่วนใหญ่ล้วนเป็นตัวท็อปในหน่วยงานของตัวเองกันทั้งนั้นค่ะ เนเน่ได้เรียนรู้หลายเรื่องจากเพื่อนๆ เหล่านี้ ไม่น้อยไปกว่าที่ได้เรียนจากวิทยากรเลยค่ะ เขาเก่งกันจริงๆ นะคะ วอนหยุดเอาอคติทางการเมืองที่คับแคบมาตัดสิน มาด้อยค่าเพื่อนๆ ร่วมสถาบันของเนเน่เลยค่ะ ข้อ 2. ที่ถามว่าคนที่มาเรียนนั้นได้ จ่ายเงินค่าหลักสูตรหรือไม่ เพราะที่กองทัพให้ข้อมูลมาคือค่าใช้จ่ายหลักสูตรนี้ #เรียนฟรี และได้รับการสนับสนุนจากกองบัญชาการกองทัพไทย แปลว่าใช้ #ภาษีกู แบบเต็มๆ ...

อันนี้ เกรงว่าแหล่งข่าวในกองทัพของ สส.แบงค์ คงจะพูดไม่ครบนะคะ อันนี้ ถ้าไม่ทราบจริงๆ ก็ไม่ว่ากัน แต่ขอเพิ่มเติมข้อมูลเพื่อให้เข้าใจให้ตรงกันนะคะ ว่าผู้เรียนกลุ่มเอกชน และข้าราชการการเมืองต้องจ่ายเงินเอง 130,000 บาทเพื่อใช้ในการดูงานในประเทศและต่างประเทศค่ะ (ที่ว่าเรียนฟรีนี้ สำหรับบุคลากรของรัฐ เช่น ข้าราชการพลเรือน ทหาร และตำรวจ ที่ทางหน่วยงานส่งตัวแทนมาเรียนเท่านั้นค่ะ) ...ฉะนั้นขอย้ำนะคะว่า นอกเหนือจากที่เราไม่ได้เบียดเบียนภาษีประชาชนแล้ว เราได้ตัดสินใจใช้เงินส่วนตัวลงทุนเพื่อรับความรู้ผ่านหลักสูตรนี้ค่ะ

อ่อ... และที่ถามว่า ‘กล้าเอารูปมาโพสต์’ ไหม ... ในคอมเมนท์ เนเน่ขอเอารูปตอน วปอ.บอ. ไปทำ CSR ด้วยเงินส่วนตัวที่พวกเราระดมกัน นำไปช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่สุโขทัย มาให้ดูเป็นตัวอย่างให้ดูนะคะว่าเราก็รวมตัวกัน ‘ก่อการดี’ ไม่ต่างอะไรกับ คณะนักศึกษา ปปร. ของ สส.แบงค์ ค่ะ มาช่วยกันคลายโรคระแวงการสร้างคอนเนคชั่นในสังคมไทยด้วยการเมืองสร้างสรรค์กันดีกว่านะคะ

มินิ วปอ. สนับสนุนกิจกรรมการกุศลงานกาชาดประจำปี 2567

เมื่อวานนี้ (2 ธ.ค.67) คณะตัวแทนนักศึกษาหลักสูตร วปอ.บอ. รุ่นที่ 1 หรือที่รู้จักในนาม มินิ วปอ. นำโดย นางสาวณัฐธิดา เทพสุทิน (ที่ 4 จากกลาง) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี  (กลาง) และนางชนิดา คล้ายพันธ์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ บริษัท ติ๊กต๊อก เทคโนโลยีส์ จำกัด (กลางซ้าย) นำสิ่งของมูลค่า 185,000 บาท มอบให้กับสมาคมแม่บ้านกองบัญชาการกองทัพไทย ณ สมาคมแม่บ้านกองบัญชาการกองทัพไทย โดยการมอบมีนางปัญญดา หนุนภักดี นายกสมาคมแม่บ้านกองบัญชาการกองทัพไทย (กลางขวา) ให้เกียรติเป็นตัวแทนสมาคมฯ รับมอบสิ่งของ เพื่อนำไปสนับสนุนกิจกรรมการกุศลงานกาชาดประจําปี 2567 ที่จะมีการจัดขึ้นทั้งหมด 12 วัน 12 คืน ตั้งแต่วันที่ 11-22 ธันวาคม 2567

สิ่งของที่ คณะตัวแทนนักศึกษาหลักสูตร วปอ.บอ. รุ่นที่ 1 นำมามอบมีหลากหลาย เช่น จักรยานจาก ดร.ณัฐนัย อนันตรัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน), ปลากระป๋อง จากนางสาววรรณศิริ เหล่าศิริชน กรรมการบริหารบริษัทซี เวลท์ โฟรเซ่น ฟู้ด จำกัด อีกทั้ง เครื่องใช้ไฟฟ้า จากนายพสุ ลิปตพัลลภและนาย สกลกรย์ สระกวี บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด เป็นต้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top