Monday, 21 April 2025
ลดโลกร้อน

'วิชัย ทองแตง' ปั้นภาคีเครือข่าย 'รัฐ-เอกชน' ดึงกว่า 50 องค์กร ร่วมใจพลิกเชียงใหม่ไร้ฝุ่น PM 2.5

'หยุดเผา เรารับซื้อ' หนึ่งในยุทธศาสตร์ที่ 'ภาคีเครือข่ายเชียงใหม่ ร่วมใจขจัด PM 2.5 และลดโลกร้อน' ผ่านการร่วมกันคิดและทำให้สำเร็จ ด้วยการรับซื้อซังข้าวโพดจากเกษตรกร สกัดการเผาทำลายซังข้าวโพด อันเป็นสาเหตุสำคัญที่เกิด PM 2.5 โดยนำมาแปรรูปเป็นชีวมวลอัดแท่งส่งไปสู่ระบบคาร์บอนเครดิต ด้วยมาตรฐานระดับโลกที่โรงงานต่าง ๆ ทั่วโลก ที่พร้อมจะรับซื้อต่อไปได้

(12 ก.ค.66) ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า “ผมได้ร่วมหารือกับทุกภาคส่วนและกำหนดเป็นวาระเร่งด่วน สำคัญที่สุดในอันที่จะแก้ปัญหานี้ให้ได้ เพื่อปลดเปลื้องความทุกข์ร้อนของพี่น้อง ลูกหลานเราโชคดีเหลือเกินที่เรามีภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง เกิดการร่วมแรงร่วมใจที่ทรงพลังอย่างยิ่ง อย่างที่ไม่เคยปรากฏเหมือนที่ใดมาก่อนเหมือนในวันนี้”

นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า “พวกเราประจักษ์รู้ในความเป็นจริงกันทุกคนว่าแท้จริงแล้ว มันเกิดจากฝีมือมนุษย์เราเอง การเผาป่า เรือกสวน กิ่งไม้ ไร่นา เพื่อพลิกฟื้นผืนดินทำกินของพวกเรากันเอง นั้นเกิดประโยชน์มหึมาแต่ก็เกิดโทษมหาศาล ทางอบจ.เราเองได้จัดงบลงไปปีละหลายสิบล้าน เพื่อแก้ไขปัญหา PM 2.5 บรรเทาทุกข์ให้กับชาวเชียงใหม่ ในวันนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ชาวเชียงใหม่จัดตั้งเป็นภาคีเครือข่าย ซึ่งถือเป็นการแสดงครั้งสำคัญของพวกเรา” 

ด้าน คุณวิชัย ทองแตง นักธุรกิจผู้มีแรงบันดาลใจที่มุ่งหวังให้ จ.เชียงใหม่และภาคเหนือปลอด PM 2.5 ได้กล่าวว่า “ภาคีเครือข่ายนี้ถือเป็นการแสดงพลังของชาวเชียงใหม่ พวกเราต้องเป็นแกนนำผลักดันการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของเชียงใหม่และของประเทศไทย อยู่ที่ทุกท่านร่วมมือร่วมใจกันเดินหน้าไปพร้อมกันในวันนี้ และถือเป็นครั้งแรกที่วันนี้ได้มารวมตัวกัน แม้ผมจะเป็นผู้ริเริ่มแต่การผลักดันให้สำเร็จก็อยู่ที่ท่านทุกคน และผลของความสำเร็จก็จะตกอยู่ที่ชาวเชียงใหม่และประเทศชาติของเรา”

ด้าน ผศ.วีระชัย ลิ้มพรชัยเจริญ ที่ปรึกษาโครงการบริษัท ชีวมวลอัดเม็ด จอมทอง จำกัด กล่าวว่า “ผมเล็งเห็นว่าการที่เกิดปัญหา PM 2.5 เยอะขนาดนี้ แสดงว่าชีวมวลก็เยอะเช่นกัน ทีมงานจึงได้ลงสำรวจพื้นที่ในการแก้ปัญหาเพื่อเสริมแหล่งผลิตชีวมวล ในการรักษาสภาพแวดล้อม โดยเริ่มต้นที่ อ.จอมทอง เพื่อเปลี่ยนเศษซากทางการเกษตร พร้อมขยายเพิ่มอีก 3 จุดในภาคเหนือ โดยนำไปใช้ในอุตสหกรรม เพื่อพลังงานทดแทนสะอาด เป็นชีวมวลอัดเม็ดพร้อมคาดหวังให้ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีรายได้กระจายสู่ชุมชน ถือเป็นความพยายามของภาคเอกชนโดย บริษัท ชีวมวลอัดเม็ด จอมทอง จำกัด ยินดีให้ความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายเชียงใหม่เพื่อลดปัญหา PM 2.5 ให้ได้อย่างยั่งยืน”

ดร.ก้องเกียรติ สุริเย ผู้เชี่ยวชาญด้านคาร์บอนเครดิต กล่าวว่า “ผมพร้อมเชื่อมโยงธุรกิจคาร์บอนเครดิตมาช่วยจังหวัดเชียงใหม่ แก้ปัญหา PM 2.5 เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน นับเป็นอีกช่องทางสนับสนุนโดยนำธุรกิจเข้ามาสร้างเม็ดเงินสู่ภาครัฐและภาคประชาชนให้มีรายได้เพียงพอที่จะสามารถกลับมาคิดพร้อมพัฒนาช่วยเรื่องของสิ่งแวดล้อมในเชียงใหม่ได้ ซึ่งประเด็นในเรื่องของคาร์บอนเครดิต ที่เกิดมาจากสภาวะโลกร้อน คือการที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากเกินไป โชคดีที่ประเทศไทยตระหนักในเรื่องของคาร์บอนเครดิตมีการพัฒนากันอย่างต่อเนื่อง ส่วนนี้จึงเป็นที่มาของการเอาคาร์บอนเครดิตมาช่วยสร้างธุรกิจ และเอาธุรกิจนั้นมาสร้างเม็ดเงินป้อนกลับมาสู่จังหวัดเชียงใหม่ แล้วทำให้จังหวัดเชียงใหม่นั้นมีรายได้มากขึ้น เพื่อนำเม็ดเงินนั้นไปพัฒนาสิ่งแวดล้อมแก้ปัญหา PM 2.5 นั้นให้ดีขึ้น โดยสิ่งที่ทางภาคีเครือข่ายต้องโฟกัสคือการจัดการขยะทางการเกษตร และการดูแลรักษาป่าเพื่อธุรกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”

หลังจากนั้นได้มีการเสวนาในหัวข้อ เราจะร่วมใจกันอย่างไรให้เชียงใหม่หมด PM 2.5 โดยมีผู้เข้าร่วมได้แก่ คุณชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ , คุณพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ , คุณพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ กรรมการ บริษัท แอทเซส เวิล์ด คอเปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อดีตอธิบดีกรมสรรพสามิต , คุณอนุชา มีเกียรติชัยกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ , ดร.ณรงค์ชัย ชลภาพ หัวหน้าฝ่ายธุรกิจคาร์บอน องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ , คุณชนนิกานต์ สุพิทยาพร นางสาวไทย ประจำปี 2566 , ผศ.วีระชัย ลิ้มพรชัยเจริญ ที่ปรึกษาโครงการบริษัท ชีวมวลอัดเม็ด จอมทอง จำกัด พร้อมฟังความคิดเห็นจากภาคีเครือข่าย นับเป็นการแสดงพลังครั้งยิ่งใหญ่ของภาคีเครือข่ายที่น่าประทับใจ และพร้อมที่จะพลักดัน หยุดเผา เรารับซื้อ ให้สัมฤทธิ์ผลเป็นลำดับต่อไป

สนใจนำเศษซาก ตอซังข้าวโพด เข้าร่วมโครงการ หยุดเผา เรารับซื้อ ของบริษัท ชีวมวลอัดเม็ด จอมทอง จำกัด สอบถามรายละเอียดได้ที่ 0934165953

‘เอ็กโก กรุ๊ป’ ปักมาตรการ 3 ระยะ บรรเทาปัญหาสภาพภูมิอากาศ ตั้งเป้า ‘บรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์’ ในปี 2050

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป โดย นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ร่วมแบ่งปันประสบการณ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจบูรณาการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติในการดำเนินงาน และเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนตามมาตรฐานในรายงานประจำปี One Report ของบริษัทจดทะเบียน ชูเป้าหมาย SDG13 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการบริหารจัดการพลังงาน (Climate Action) เป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ ในงานสัมมนาเปิดตัว ‘คู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน และมาตรฐานผลกระทบ SDG’ หัวข้อ ‘การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนา ที่ยั่งยืน (SDGs) ใน 56-1 One Report’ ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ โดยภายในงานได้รับเกียรติจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า เอ็กโก กรุ๊ป ดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าและพลังงานอย่างยั่งยืนมากว่า 31 ปี ภายใต้การกำกับกิจการที่ดี โปร่งใส และตรวจสอบได้ และได้บูรณาการเรื่องความยั่งยืน (ESG) ให้อยู่ในทุกกระบวนการการทำงาน 

โดยช่วงแรก เอ็กโก กรุ๊ป ได้จัดทำรายงาน CSR Report ซึ่งเป็นการเปิดเผยข้อมูลด้านการมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนและสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการจัดทำรายงานทั้งแบบแสดงข้อมูลประจำปี (56-1) และรายงานประจำปี (56-2) ตามหลักเกณฑ์ของ ก.ล.ต. 

ต่อมาจึงเริ่มพัฒนาการรายงานเป็น Sustainability Report หรือรายงานความยั่งยืนฉบับแรก โดยแยกเล่ม คู่กับรายงานประจำปี ในปี 2561 จากนั้นได้เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนในรูปแบบ One Report ภาคสมัครใจในปี 2563 หรือล่วงหน้า 1 ปี ก่อนข้อกำหนดของ ก.ล.ต. จะมีผลบังคับใช้ โดยเนื้อหาใน One Report ครอบคลุมถึงการสนับสนุนและการบูรณาการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ ขององค์การสหประชาชาติ เป็นกรอบในการดำเนินงาน ตลอดจนอ้างอิงหลักเกณฑ์ของ ก.ล.ต. รวมทั้งมาตรฐานและข้อกำหนดของการเขียนรายงานที่ถูกต้อง ได้แก่ GRI Standards และ Integrated Reporting โดยข้อมูลที่เปิดเผยใน One Report ได้ผ่านการตรวจสอบและรับรองข้อมูลจากหน่วยงานภายนอก เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียมีความเชื่อมั่นในความถูกต้องของข้อมูล

จากเป้าหมาย SDGs ทั้งหมด 17 ข้อ เอ็กโก กรุ๊ป ได้กำหนด 5 เป้าหมายหลักซึ่งสอดคล้องกับบริบทโดยตรงและกิจกรรมหลักของบริษัท ได้แก่ SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี SDG7 การมีพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ SDG8 การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ SDG9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน และ SDG13 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการบริหารจัดการพลังงาน (Climate Action) ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญและแก้ไขอย่างเร่งด่วน 

โดย เอ็กโก กรุ๊ป ได้กำหนดเป้าหมายการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำเพื่อร่วมบรรเทาปัญหาสภาพภูมิอากาศ ภายใต้แนวคิด ‘Cleaner, Smarter, and Stronger to Drive Sustainable Growth’ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่

-เป้าหมายระยะสั้นในปี 2573 (2030) ลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ (Carbon Emissions Intensity) ลง 10% และเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% 
-เป้าหมายระยะกลางในปี 2583 (2040) บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral)
-เป้าหมายระยะยาวในปี 2593 (2050) บรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

“การติดตาม ประเมินผล และเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ใน One Report ของเอ็กโก กรุ๊ป สะท้อนถึง การดำเนินธุรกิจบนแนวทางความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ช่วยสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน รวมถึงมีส่วนช่วยประเมินผลการดำเนินงานภายในองค์กรเองและสามารถนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในการตอบแบบประเมินด้านความยั่งยืน เช่น ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices - DJSI) ซึ่งบริษัทได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิก 3 ปีต่อเนื่อง 

สำหรับ ‘คู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียนและมาตรฐานผลกระทบ SDG’ จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ ภาคธุรกิจขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการวัดและจัดการผลกระทบ ที่สำคัญของธุรกิจที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และบูรณาการเป้าหมาย SDGs ไว้ในกระบวนการตัดสินใจ การรายงาน และการบริหารจัดการภายในทุกระดับ เพื่อบรรเทาผลกระทบเชิงลบและขยายผลกระทบ เชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด โดยยังสามารถบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจและการเงินของบริษัทไปพร้อมกัน” นายเทพรัตน์ กล่าวสรุป

‘กรมการข้าว’ เดินสายติวเข้ม ‘เกษตรกร’ หวังยกระดับการผลิตข้าวแบบลดโลกร้อน

(19 พ.ย.66) นายอานนท์ นนทรีย์ รองอธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า กรมการข้าว มีเป้าหมายนำเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ หรือ Modern Agriculture Technology จากงานวิจัยมาส่งเสริมเกษตรกร เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน รวมถึงเกิดการผลิตข้าวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สอดคล้องกับนโยบายหลักของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และแนวทางปฏิบัติของ นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว ที่เน้นให้เกิดการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ด้วยแนวทาง BCG Model 

“งานวิจัย ถือเป็นภารกิจต้นน้ำของกรมการข้าว แล้วนำมาต่อยอดในช่วงกลางน้ำ ด้วยการขยายผลนำเทคโนโลยีที่ได้มาเผยแพร่ สู่การยอมรับและนำไปใช้ของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร และปลายน้ำเป็นการนำมาปรับใช้และสร้างมูลค่าเพิ่ม ดั่งคำที่ว่าตลาดนำการผลิต และทำน้อยแต่ได้มาก ล้วนแล้วแต่เป็นการนำเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่มาใช้ทั้งสิ้น แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาเราจะมุ่งเน้นเพียงแค่เพิ่มของผลผลิตเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะหากการเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น แต่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคมโดยการทำลายสิ่งแวดล้อมย่อมทำให้การผลิตข้าวไม่ก่อให้เกิดความยั่งยืน” นายอานนท์ กล่าว

การจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง หรือ AWD นับเป็นหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จ ของการส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ โดยเป็นองค์ความรู้ที่กรมการข้าวได้ดำเนินการวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งส่งเสริมให้ชาวนาได้นำไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ปลูกข้าวนาชลประทาน ทั้งนี้ การจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง เป็นการจัดการน้ำที่ใช้น้ำในปริมาณที่ลดลงอย่างมาก ซึ่งจะใช้ประมาณ 850-900 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ต่อฤดูกาลเพาะปลูก

เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้น้ำแบบขังตลอดเวลาจะสามารถใช้น้ำลดลงได้มากถึงร้อยละ 30 แล้วยังเพิ่มผลผลิตข้าวได้อีกถึงร้อยละ10-15 ที่สำคัญเทคโนโลยีนี้ยังสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญอันก่อเกิดภาวะโลกร้อนลงได้ถึงร้อยละ 80 ทั้งนี้ตัวอย่างของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ยกมาให้เห็นนี้เป็นเพียงบางส่วนของงานวิจัยที่กรมการข้าวได้ดำเนินการ และขยายผลสู่เกษตรกรให้มีการผลิตข้าวแบบลดโลกร้อน

“กรมการข้าว ได้นำผลงานวิจัยดังกล่าว มาถ่ายทอดสู่เกษตรกร ผ่านการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ‘การถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว’ ซึ่งจัดขึ้น ณ โรงแรมวิสมา โฮเทล จังหวัดราชบุรี

โดยการฝึกอบรมดังกล่าว เป็นการจัดครั้งที่ 2 กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ของกรมการข้าว และเกษตรกรชั้นนำภายใต้กลุ่มศูนย์ข้าวชุมชนในเขตภาคกลาง จำนวน 100 คน เข้าเรียนรู้เกี่ยวกับสายพันธุ์ข้าวที่มีระบบรากแข็งแรงต้านทานภัยแล้ง เทคนิคการปรับพื้นที่ให้ราบเรียบด้วยเลเซอร์ การปลูกข้าวด้วยเครื่องหยอดข้าวงอกและข้าวแห้ง การใช้โดรนฉีดพ่นทางการเกษตรให้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ และการใช้สารอินทรีย์รมกำจัดแมลงศัตรูข้าวในโรงเก็บซึ่งปลอดภัยต่อคนและสภาพแวดล้อมอีกด้วย” นายอานนท์ กล่าว

'อลงกรณ์-ชัชชาติ' ผนึกความร่วมมือ 'กทม.-จีน' แก้ปัญหาพีเอ็ม2.5และลดโลกร้อนพร้อมเดินหน้าโครงการพลังงานสะอาดและยานยนต์ไฟฟ้า

นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานมูลนิธิเวิลด์วิว ไครเมท ประธานที่ปรึกษาและผู้ก่อตั้งมูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทยเปิดเผยวันนี้(15 มี.ค.)ภายหลังนำคณะสมาคมการค้าไทย-จีนและเศรษฐกิจเอเชีย และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจีนด้านพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีกว่า10คนเข้าพบหารือกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและคณะผู้บริหารกทม.ที่ศาลาว่าการ กรุงเทพมหานคร เพื่อกระชับความสัมพันธ์พร้อมหารือความร่วมมือระหว่างกันในด้านของสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาดว่า

การพบปะหารือครั้งนี้เป็นไปด้วยบรรยากาศของความร่วมมือในการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์การเป็น“มหานครโซลาร์เซลล์”และ“กรุงเทพสีเขียว2030 “ของกรุงเทพมหานครโดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ย้ำถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีนและความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครและประเทศจีนถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง 

อีกทั้งประเทศจีนยังเป็นตัวอย่างในที่ดีในเรื่องของการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาดซึ่งกรุงเทพมหานครมีกลไกและแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหาpm.2.5 การส่งเสริมพลังงานสะอาด การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) การมีจุดบริการบรรจุไฟฟ้า(EV Charging points)และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อลดคาร์บอนและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและการพัฒนาเมือง
โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สรุปเป้าหมายของกรุงเทพมหานครในด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาด ซึ่งจะเป็นโครงการที่สามารถประสานความร่วมมือระหว่างกันได้ในอนาคต ได้แก่ 

1. การโปรโมตการใช้รถ EV ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีโครงการเปลี่ยนรถขยะจากระบบน้ำมันมาเป็นระบบ EV จำนวน 2,000 คัน
2. การเพิ่มจุดชาร์จรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งขณะนี้มีการเปิดให้ยื่นข้อเสนอในการติดตั้งจุดชาร์จรถไฟฟ้า 40 จุด
3. การพิจารณาทำโรงเผาขยะเพื่อผลิตไฟฟ้า ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการหาผู้ลงทุนและผู้ดำเนินการ 
4. การทำให้กรุงเทพมหานครเป็นมหานครโซลาร์เซลล์ เนื่องจากพื้นที่กรุงเทพฯ มีแดดทั้งปี โดยมีโครงการจะติดตั้งโซลาร์เซลล์ในทุกหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร 
5. การพิจารณาโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากลม เนื่องจากกรุงเทพฯ มีพื้นที่ชายทะเลอยู่ประมาณ 5 กิโลเมตร ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้มอบหมายให้ประธานที่ปรึกษาฯ ต่อศักดิ์ โชติมงคล เป็นผู้ประสานความร่วมมือหลัก

นายอลงกรณ์ อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศคนที่หนึ่งและอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพานิชย์กล่าวขอบคุณคณะผู้บริหารกทม.และแสดงความชื่นชมผู้ว่ากรุงเทพมหานครและคณะที่ให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาด การขับเคลื่อน“กรุงเทพสีเขียว2030”(Green Bangkok 2030” ความเป็นกลางทางคาร์บอน(Carbon neutrality)และซีโร่คาร์บอน(Zero carbon)โดยเป็นภารกิจของประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายลดโลกร้อนในปีค.ศ.2050และ2065ตามลำดับ ซึ่งความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครกับประเทศจีนในครั้งนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของการปูทางสู่วาระครบรอบ50ปีในความสัมพันธ์ทางการฑูตของ2ประเทศในปี2568นับแต่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีของไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี2518ซึ่งม.ล.สุภาพ ปราโมชผู้ก่อตั้งสมาคมการค้าไทย-จีนและเศรษฐกิจเอเซียได้ร่วมคณะไปด้วยในครั้งนั้นและสานต่อภารกิจอย่างต่อเนื่องด้วยการเดินทางไปจีนถึง148ครั้งเพื่อสานสัมพันธ์2ประเทศจนถึงทุกวันนี้โดยคณะผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจีนด้านพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีได้ตอบตกลงและพร้อมสนับสนุนข้อริเริ่มว่าด้วยความร่วมมือของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอย่างกระตือรือร้นและจะเร่งดำเนินการต่อเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

สำหรับการประชุมหารือเมื่อวันที่14มีนาคม2567มีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร นายภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม นางสาวพรรณราย จริงจิตร ผู้อำนวยการสำนักงานการต่างประเทศ และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ คณะสมาคมการค้าไทย-จีนและเศรษฐกิจเอเชีย และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจีนด้านพลังงานสะอาด ซึ่งนำโดยนายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศคนที่หนึ่ง และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพานิชย์ หม่อมหลวงสุภาพ ปราโมช ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมการค้าไทย-จีนและเศรษฐกิจเอเชีย นางสาวประจงจิต พลายเวช รองประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมฯ นางสาวอภิญญา ปราโมช นายกสมาคมฯ นายธัชธรรม พลบุตร และนายเมฆินทร์ เอี่ยมสะอาด กรรมการบริหารมูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทย

ภารกิจสุดท้าทาย 'รัฐสภาไทย' เดินหน้าลดโลกร้อน ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2050

รายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ได้สัมภาษณ์พูดคุยผู้บริหารของหน่วยงานต่าง ๆ ในสัปปายะสภาสถาน ถึงทิศทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีเป้าหมายเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ท้าทายมาก

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทาง ดร.ก้องเกียรติ สุริเย ประธานกรรมการ บริษัท จีอาร์ดี จำกัด และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการในการเดินหน้าเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของรัฐสภาไทย ได้กล่าวถึงความเป็นมาของภารกิจนี้ ว่า...

"รัฐสภาไทยมีคณะกรรมการเรื่องของ สภาสีเขียว ในการผลักดันให้รัฐสภาไทยเป็นต้นแบบสำคัญในการลดโลกร้อน ซึ่งมีการประชุมและตั้งเป้าหมายในเบื้องต้นเพื่อมุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายใน ปี ค.ศ. 2050 ซึ่งท้าทายมาก ในขณะที่ประเทศไทยได้ตั้งเป้าบนเวทีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) ประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2065 ปัจจุบันรัฐสภาไทย มีการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นต์ (Carbon Footprint) ประมาณ 22,000 ตันต่อปี มาจากการใช้พลังงานไฟฟ้า รองลงมาคือ กระดาษ และขยะ ซึ่งวันนี้หน่วยงานต่าง ๆ ในรัฐสภาได้ขับเคลื่อนอย่างจริงจังเพื่อลดคาร์บอนฟุตพริ้นต์ เช่น หอสมุดรัฐสภา และสำนักการพิมพ์รัฐสภา เป็นต้น"

ด้าน คุณศิริพร โหตรภวานนท์ ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานหอสมุดรัฐสภา กล่าวว่า หอสมุดรัฐสภาได้เริ่มดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 เนื่องจากได้เข้าร่วมกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มจากจัดการสิ่งแวดล้อมภายในหอสมุด เช่น การจัดการขยะ การรีไซเคิล (Recycle) การรียูส (Reuse) 

"ในปัจจุบันได้แบ่งงบประมาณจัดซื้อหนังสือจากเดิมในรูปแบบกระดาษเป็นรูปแบบอีบุ๊ก (e-Book) มากขึ้น นอกจากนี้ยังรณรงค์สร้างการตระหนักรู้ไปยังข้าราชการรัฐสภา เจ้าหน้าที่ของหอสมุด โดยมีการนำวัสดุอุปกรณ์ใช้แล้วมารียูส กระตุ้นเตือนเรื่องปิดไฟเมื่อไม่ได้ใช้งาน ใช้กระดาษ 2 หน้าอย่างคุ้มค่า จัดโซนแยกขยะต่าง ๆ โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า หอสมุดเรามีถุงผ้าใส่หนังสือให้บริการ และมีการดิจิไทเซชั่น (Digitization) หนังสือ เอกสารแปลงเป็นไฟล์ดิจิทัลจำนวนมาก เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงได้ทางเว็บไซต์ โดยไม่ต้องเดินทางมายังหอสมุด โดยหอสมุดรัฐสภาได้เข้าร่วมโครงการสำนักงานสีเขียวของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาสและสิ่งแวดล้อม และได้รับเครื่องหมาย G-green ระดับดีเยี่ยม (G-ทอง) ระดับประเทศใน ปี พ.ศ. 2566"

ด้าน คุณวารุณี แก้วสอาด ผู้อำนวยการสำนักการพิมพ์รัฐสภา กล่าวถึงแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสำนักการพิมพ์รัฐสภาว่า หลัก ๆ จะมุ่งเน้นการลดกระดาษในการพิมพ์ ซึ่งปัจจุบันลดลงประมาณครึ่งหนึ่งแล้ว โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย

"ในอดีตรัฐสภาไทย ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นต์ กว่า 1,000 ตัน หรือประมาณบอลลูน 1 ลูก แต่ปัจจุบันสำนักการพิมพ์สามารถลดลงมาได้ 50% เหลือเพียง 500 ตัน นอกจากนี้สำนักการพิมพ์รัฐสภาได้จัดทำโครงการ ใต้ร่มสีเขียว เพื่อสร้างความตระหนักรู้และรณรงค์การลดโลกร้อนให้กับข้าราชการรัฐสภา เจ้าหน้าที่ในสำนักการพิมพ์ประมาณ 100 คน เป็นโครงการที่สร้างการมีส่วนร่วมในการลดโลกร้อน โดยทุกคนสามารถนำเสื้อผ้าของใช้มาแบ่งปัน หรือสินค้าเกษตรที่ปลูกอยู่สามารถนำมาขายได้ อีกประเด็นคือเรื่องน้ำเสียที่ปล่อยคาร์บอน ประมาณ 500 ตัน ซึ่งสำนักการพิมพ์เรามีบ่อพักน้ำเสียของเราเอง โดยมีการจัดการน้ำเสียอย่างถูกต้อง ถูกกรรมวิธีเกี่ยวกับการลดโลกร้อน นอกจากนี้เรายังได้นำอุปกรณ์เหลือใช้จากไม้พาเลทมาทำประโยชน์ เช่น ทำโต๊ะ เก้าอี้ ซุ้มกาแฟ และอื่น ๆ อีกมากมาย โดยสำนักการพิมพ์รัฐสภา ได้เข้าร่วมโครงการสำนักงานสีเขียวของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมและได้รับเครื่องหมาย G-green ระดับดีเยี่ยม (G-ทอง) ระดับประเทศใน ปี พ.ศ. 2565"

ท้ายสุด ดร.ก้องเกียรติ ได้กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐสภาไทย มีพื้นที่ประมาณ 500,000 ตารางเมตร และมีพื้นที่สีเขียวประมาณ 100,000 ตารางเมตร คิดเป็น 20% ของพื้นที่รวม ซึ่งถือว่าเป็นรัฐสภาที่มีพื้นที่สีเขียวอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งการมีพื้นที่สีเขียวมีประโยชน์ เนื่องจากต้นไม้ช่วยดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ช่วยลดโลกร้อนได้เป็นอย่างดี อีกทั้งการตื่นตัวและการมีส่วนร่วมของข้าราชการรัฐสภา เจ้าหน้าที่ และหน่วยงานต่างๆ อย่างจริงจัง จึงเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่สำคัญเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ของรัฐสภาไทย ภายใน ปี ค.ศ. 2050 หรืออาจจะเร็วกว่านั้น

คำถามชวนถก "ผู้บริโภคคิดอย่างไร? คิดค่าจอดรถหน้าเซเว่น-เก็บค่าถุงพลาสติก" ทัวร์ลงฉ่ำ!! เป็นสิทธิของเจ้าของที่และทุกค่าถุงจ่ายเข้ากองทุนโลกร้อน

(25 ก.ย. 67) จากกรณีเพจ 'สภาองค์กรของผู้บริโภค' ได้โพสต์ตั้งคำถามว่า "ผู้บริโภคคิดอย่างไร คิดค่าจอดรถหน้า 7-11 ก่อนหน้านี้ ไม่ให้ถุงพลาสติกเพื่อรณรงค์ลดการใช้พลาสติก ปัจจุบันมีถุงพลาสติกขายให้ผู้บริโภค" นั้น

ล่าสุดโลกโซเชียลที่ได้พบเห็นข้อความดังกล่าว ก็มีความเห็นเป็นมติเอกฉันท์ถึงเรื่องนี้ อาทิ...

- "บางทีก็สมควร เพราะเห็นบ่อยมากพวกจอดรถที่เซเว่นแล้วไปธุระที่อื่น"

- "15 นาทีแรกสำหรับคนมาจอดรถฟรี ก็ถ้าคนซื้อของจริง ๆ ใครมันจะเดินเล่นในเซเว่นเป็นชั่วโมงล่ะฮิ อยากด่าเขาก็หามุมที่เข้าท่ากว่านี้หน่อยเหอะ"

- "พื้นที่จอดรถก็เป็นของเอกชนเขา ถ้าไม่ซื้อของเขา ก็ควรถูกเก็บเงินบ้าง ไม่แปลกอะไร ส่วนเก็บเงินค่าถุงพลาสติก ก็โอเคกันนะ ต่างประเทศเขาก็ทำกัน"

- "ถุง 1 บาท เค้าจ่ายเข้ากองทุนโลกร้อนนะ"

- "คนไทยพอเจอกฎเกณฑ์ ก็จะเป็นจะตายเสียให้ได้"

- "ที่เขาทำแบบนี้ เพราะบางคนจอดทิ้งไว้ข้ามวันข้ามคืน ลูกค้าจะเข้าไปซื้อของแต่ไม่มีที่จอด ในห้างใหญ่ ๆ เขาก็ทำกัน"

- "ถ้าจะไม่พอใจการกระทำของ 7-11 คุณลองไปดูสถานที่ราชการที่เก็บค่าจอดรถบ้างครับ เช่นที่ จ.กาฬสินธุ์ ที่สำนักงานเทศบาลเมืองหลังเก่า นำเอาที่ลานจอดรถมาบริการให้ประชาชนไปจอด แต่เก็บค่าที่จอดรถคิดเป็นรายชั่วโมง ประเด็นมันคือ สถานที่ราชการที่นำเงินภาษีของประชาชนมาใช้ควรจะบริการประชาชนฟรี แล้วนี่กลับเก็บเงินค่าที่จอดรถกับประชาชนอย่างนี้ไม่น่าจะถูกต้องครับ ส่วนของ 7-11 นี้ ผมคิดว่ามันเป็นสิทธิ์ของเขานะครับ เพราะที่ดินนั้นมันเป็นกรรมสิทธิ์ของเขา เขาจะดำเนินการอย่างไรก็แล้วแต่เขา เขามีเหตุผลของเขาครับ"

- "คาบ้าน มติเอกฉันท์"

‘BCPG’ ชวนน้องๆ ร่วมกิจกรรม ‘มือเปื้อนโคลน เพื่อป่าชายเลน ปี 2’ เพิ่มแหล่งดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนฯ บรรเทาปัญหาโลกร้อน

(26 ก.ย. 67) บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) โดยคุณชาญวิทย์ ตรังอดิศัยกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการลงทุน พี่ ๆ อาสาบีซีพีจี พร้อมด้วยน้อง ๆ จากโรงเรียนโคกสำโรงวิทยา จังหวัดลพบุรี โรงเรียนในพื้นที่โรงไฟฟ้าของบริษัทฯ จำนวนรวมกว่า 80 คน ร่วมปลูกป่าชายเลน เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว แหล่งดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไชด์ให้กับโลก ลดความรุนแรงของปัญหาโลกร้อน ในกิจกรรม ‘มือเปื้อนโคลน เพื่อป่าชายเลน ปี 2’ ณ อำเภอคลองโคน จังหวัดสมุทรสงคราม

ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นรักษาความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและชะลอผลกระทบที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่อง การจัดกิจกรรม ‘มือเปื้อนโคลน เพื่อป่าชายเลน ปี 2’ เพื่อปลูกฝังเยาวชนให้มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อีกทั้งป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ ยังสามารถเสริมสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน และส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกด้วย 

'รัฐมนตรีเฉลิมชัย' เดินหน้าป่าชุมชนยั่งยืนลดโลกร้อนมอบ 'อลงกรณ์-ปรพล' ถอดรหัส สระบุรี แซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำสร้างโมเดลป่าชุมชน-ป่าคาร์บอนต้นแบบก่อนขยายผลทั่วประเทศ

นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ. ประธานมูลนิธิเวิลด์วิว ไครเมทและรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม กล่าวในงานสัมมนาเวิร์คช็อป พลเมืองเคลื่อนรัฐครั้งที่ 3 หัวข้อ 'ป่าชุมชนสระบุรีเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน' ว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีนโยบายให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ การฟื้นฟู การใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืนเพื่อชุมชนและนโยบายลดโลกร้อนโดยเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อบรรลุเป้าหมายสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี2050และคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี2565ถือเป็นนโยบายเรือธงเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน

การประชุมผนึกความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ ภาควิชาการ ผู้นำท้องถิ่นและภาคประชาชนในจังหวัดสระบุรี ซึ่งมีเจตนารมย์ร่วมกันให้จังหวัดสระบุรีเป็นต้นแบบ 'เมืองคาร์บอนต่ำ' หรือ 'SARABURI LOW CARBON CITY' โดยเน้นใน 5 ภาคส่วน คือ ภาคอุตสาหกรรม ภาคพลังงาน ภาคการกำจัดขยะของเสีย ภาคเกษตรกรรม และภาคการเพิ่มพื้นที่สีเขียวถือเป็นตัวอย่างต้นแบบการบูรณาการทุกภาคส่วนที่น่าชื่นชมโดยเฉพาะการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาป่าชุมชนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน (Forests for the Sustainable Future)จำนวน 45 แห่งในจังหวัดสระบุรี 

ภายใต้เครือข่ายคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนแห่งละ 15 คน รวมทั้งสิ้นประมาณ 675 คนและขยายความร่วมมือกับอาสาสมัครของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเช่นเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) อีกราว 2,000 คน เครือข่ายที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติ และที่ปรึกษาเขตห้ามล่าสัตว์ป่า จำนวน 100 คนจะเป็นการขับเคลื่อนที่มีพลังสู่ความสำเร็จด้วยการบูรณาการของภาคีภาคส่วนต่างๆรวมทั้งหน่วยงานสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในจังหวัดสระบุรี ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสระบุรี สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 5 สระบุรี  สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สระบุรี  สำนักสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 7  สำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 2 สระบุรี  สำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 3 สระบุรี 

ป่าชุมชนนอกจากมีอรรถประโยชน์ใช้สอยเพื่อชุมชนแล้วยังมีความหลากหลายทางชีวภาพ(Biodiversity)เพื่อเดินหน้าสู่ไบโอเครดิต(Bio Credit)ทั้งยังเป็นแหล่งอาหารของชุมชน(Community Food Bank)และสามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง รวมทั้งสามารถดำเนินการเรื่องคาร์บอนเครดิตเพื่อเศรษฐกิจสีเขียวอีกด้วย

”จากผลการประชุมในวันนี้จะถอดรหัส สระบุรี แซนด์  บ็อกซ์(Saraburi Sandbox) เมืองคาร์บอนต่ำเพื่อสร้างโมเดลป่าชุมชน-ป่าคาร์บอนต้นแบบโดยจะนำเสนอต่อดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทส. พิจารณาขยายผลไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศต่อไป” นายอลงกรณ์กล่าวในที่สุด

ในการสัมมนาเวิร์คช็อปครั้งนี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้วยมอบหมายนายอลงกรณ์ พลบุตร คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายปรพล อดิเรกสาร ที่ปรึกษาสมาคมการท่องเที่ยวสระบุรีเเละหน่วยงานสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในสระบุรีเข้าประชุมงานสัมมนาเวิร์คช็อป 'พลเมืองเคลื่อนรัฐครั้งที่ 3' หัวข้อ 'ป่าชุมชนสระบุรีเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน' 

จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(กพร.)และมูลนิธิคอนราด อเดนาวร์เมื่อวันที่11 พ.ย.ที่ผ่านมาที่ลีลาวดีรีสอร์ต อ.เมือง จ.สระบุรีร่วมกับนายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ กพร. ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ นายบุญมี สรรพคุณ หนึ่งในผู้ริเริ่มสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ นายเสกสรร กวยะปาณิก รักษาการผู้อำนวยการสำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้และภาคีภาคส่วนต่างๆเช่นจังหวัดสระบุรี สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ. )องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก กองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ(สพภ.BEDOThailand) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(อพท.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โรงงานและบริษัทต่างๆในพื้นที่เช่น เอสซีจี. เคมีแมน สยามฟูรูกาว่า ซีพีเมจิ ทีพีไอโพลีน เบทาโก เป็นต้นและเครือข่ายป่าชุมชนเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนสระบุรีให้เป็นเมืองคาร์บอนต่ำ ( SARABURI LOW CARBON CITY )ภายใต้แนวทางOpen Gov. for SRI สระบุรี เเซนด์บ็อกซ์ (Saraburi Sandbox)ด้วยโครงการ 'ป่าชุมชนสระบุรีเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน'

ข้อมูลประกอบ:
ประเทศไทยมีการจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่กรมป่าไม้ 12,231 แห่ง เนื้อที่ 6,308,712 ไร่ นอกจากนั้น ยังมีป่าชุมชนในพื้นที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ชุมชนที่ดูแลรักษาป่าชุมชนจะถูกโน้มน้าวให้เข้าร่วมโครงการ โดยมีเงินทุนสนับสนุน และมีการแบ่งปันผลประโยชน์จากการค้าคาร์บอนเครดิตจำนวนหนึ่ง

ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2566 พบว่า ป่าชุมชน 211 แห่ง ในพื้นที่ 18 จังหวัด กำลังกลายเป็นป่าคาร์บอน โดยเป็นป่าชุมชน (ป่าบก) 129 แห่ง ป่าชุมชนชายเลน 82 แห่ง รวมปริมาณการดูดกลับก๊าซคาร์บอน ประมาณ 1,904,463 ตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ข้อมูลในปี 2564 ป่าธรรมชาติและป่าเศรษฐกิจในประเทศไทยมีการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกรวมกัน 100 ล้านตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ดังนั้น ยังเหลือตามเป้าหมายอีก 20 ล้านตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภท ร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศ รวมเนื้อที่ 177.94 ล้านไร่ ภายใน พ.ศ. 2580 เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอน และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ในขณะที่ปัจจุบันมีพื้นที่สีเขียว ร้อยละ 39.60 รวมเนื้อที่ 128.12 ล้านไร่ ดังนั้น ต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียว ประมาณ 49.82 ล้านไร่

'เฉลิมชัย' หนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อพลังงานสะอาด ลดโลกร้อน

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ให้การต้อนรับคณะผู้บริหารของ บริษัท บีวายดี ออโต้ (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบด้วย Mr.Harry Xiao ผู้อำนวยการใหญ่ประจำประเทศไทย Mr.Benson Ke ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายการตลาดและการขาย นายสินชัย ลีธนาเศรษฐ ผู้บริหารงานด้านรัฐกิจสัมพันธ์ และนายประวิทย์ วิจิตรธนกูล ผู้จัดการฝ่ายพาณิชย์ ที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

ในโอกาสขอเข้าพบเพื่อแนะนำตัวและหารือถึงแนวนโยบายในการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อสนับสนุนการรักษาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยเป็นฐานการผลิตนอกประเทศเป็นที่แรกของ BYD ที่มีการผลิตและจำหน่ายในประเทศไทยและมีแผนในอนาคตที่จะส่งออกจากไทยประมาณ 40% ในการนี้ ดร.เฉลิมชัย  กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยินดีให้การสนับสนุนธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดในประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เป้าหมายการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดปัญหาภาวะโลกร้อน (26 ธันวาคม 2567)


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top