Saturday, 19 April 2025
ราชกิจจานุเบกษา

‘ในหลวง ร.4’ โปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์ ‘ราชกิจจานุเบกษา’ เพื่อให้คนไทยได้รู้ข่าวราชการแผ่นดินทั้งใน-นอกประเทศ

‘ราชกิจจานุเบกษา’ ถือเป็นสิ่งพิมพ์ประเภทวารสารฉบับแรกของรัฐไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์ขึ้น เริ่มออกฉบับแรกเมื่อวันจันทร์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 5 ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2401 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกาศคำสั่งทางราชการ โดยเฉพาะในการประกาศกฎหมาย ซึ่งมีการรับรองในกฎหมายว่า กฎหมายทั้งหลายต้องลงเผยแพร่ในหนังสือนี้ก่อนจึงจะมีผลใช้บังคับได้ และเผยแพร่ให้ส่วนราชการและราษฎรได้ทราบทั่วกัน มีกำหนดออกทุก 15 วัน แต่การจัดพิมพ์ราชกิจจานุเบกษาในสมัยเริ่มแรกนี้ ตีพิมพ์เผยแพร่ได้เพียงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ก็ต้องหยุดกิจการไป

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเล็งเห็นความสำคัญของหนังสือราชกิจจานุเบกษา และทรงหวังที่จะให้ราษฎรได้รับทราบข่าวคราวและราชการแผ่นดินทั้งในและนอกประเทศ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ออกหนังสือราชกิจจานุเบกษาอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2417 ในการจัดพิมพ์ครั้งนี้พิมพ์ออกเผยแพร่ด้วยวิธีการจำหน่ายในอัตราปีละ 8 บาท โดยมีกำหนดออกในวันขึ้น 1 ค่ำ ขึ้น 9 ค่ำ แรม 1 ค่ำ และแรม 9 ค่ำ ของทุกเดือน แต่ราชกิจจานุเบกษาที่พิมพ์ออกในสมัยรัชกาลที่ 5 ตอนต้น ก็ออกไม่สม่ำเสมอนัก ต่อมาจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเปลี่ยนแปลงกำหนดออกราชกิจจานุเบกษาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2432 โดยมีกำหนดออกทุกวันอังคาร หลังจากนั้น การจัดทำราชกิจจานุเบกษาก็ได้ดำเนินสืบมาจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ ราชกิจจานุเบกษา ในสมัยแรกเริ่ม สมัยรัชกาลที่ 4 นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพนักงานพิมพ์ พิมพ์ขึ้นในปีมะเมีย สัมฤทธิศก 1220 และปีมะแม เอกศก 1221 ต่อกัน 2 ปี เป็นหนังสือหลายร้อยฉบับ สำหรับพระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาทได้ทราบข้อราชการต่าง ๆ  ครั้นมาถึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ พระดำริว่า “หนังสือราชกิจจานุเบกษา ในรัชกาลที่ ๔ เป็นหนังสือที่มีประโยชน์ไม่ควรให้สูญหายไป” จึงได้ทรงรวบรวมต้นฉบับเท่าที่หาได้มาจัดพิมพ์ขึ้นใหม่เป็นจำนวน 500 เล่ม โดยอักขรวิธีที่พิมพ์ยังคงอยู่ตามเดิมมิได้มีการแก้ไขแต่ประการใด แต่การพิมพ์ราชกิจจานุเบกษาดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ สิ้นพระชนม์เสียก่อน พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าไชยันตมงคล ได้ทรงรับธุระดำเนินงานจนแล้วเสร็จ และได้เย็บผูกเป็นเล่มนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สำหรับพระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายใน ที่เหลือได้จำหน่ายในราคาเล่มละ 5 บาท

ในตอนแรกเริ่มนั้น ราชกิจจานุเบกษา คือ หนังสือหมายประกาศการเล็กน้อยต่าง ๆ จากผู้เป็นพระมหากษัตริย์ มาในวันจันทร์ เดือนห้า ขึ้นหนึ่งค่ำ ปีมะเมีย ยังเป็นนพศก เป็นปีที่แปด ในรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งในรัชกาลปัจจุบันนี้ ให้ข้าราชการทุกตำแหน่งทั้งในกรุงและนอกกรุงและราษฎรทั้งปวงทราบโดยทั่วกันและทำตาม ประพฤติตาม และรู้ความตามสมควร เพื่อไม่ทำให้ประกาศผิดพระราชดำริ พระราชประสงค์ และไปเล่าลือ เข้าใจความผิด ๆ ไป

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริตริตรองในการที่จะทำนุบำรุงแผ่นดินให้เรียบร้อยสำเร็จประโยชน์ทั่วถึงให้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน จึงทรงพระวิตกว่าราชการต่าง ๆ ซึ่งสั่งให้กรมวังให้สัสดีและทะลวงฟัน เดินบอกตามหมู่ตามกรมต่าง ๆ นั้นก็ดี การที่ยังบังคับให้นายอำเภอมีหมายป่าวประกาศแก่ราษฎรในแขวงนั้น ๆ ก็ดี พระราชบัญญัติใหม่ ๆ ตั้งขึ้นเพื่อที่จะห้ามสิ่งที่ไม่ควรทำ หรือบอกสิ่งที่ควรทำก็ดี การเตือนสติให้ระลึกและถือพระราชกำหนดกฎหมายเก่าก็ดี ตั้งขึ้นและเลิกอากรภาษีต่าง ๆ และพิกัดภาษีนั้น ๆ และลดหย่อนลงหรือขึ้นพิกัดของภาษีนั้น ๆ ก็ดี การเกณฑ์และขอแรงและบอกบุญก็ดี ว่าโดยสั้น ๆ คือเหตุใด ๆ การณ์ใด ๆ ที่ควร ช้าราชการทั้งปวงและราษฎรทั้งหลายพึงรู้โดยทั่วกันนั้น แต่ก่อนเป็นแต่ทำหมายหรือคำประกาศเขียนด้วยดินสอสีดำลงประกาศส่งกันไปส่งกันมา และให้ลอกต่อกันไปผิด ๆ ถูก ๆ ก็เพราะหนังสือ หรือคำประกาศนั้นมีน้อยฉบับ ผู้ที่ได้อ่านและเข้าถึงมีน้อยทำให้ไม่ทั่วถึง ว่าการพระราชประสงค์และประสงค์ของผู้ใหญ่ในแผ่นดิน จะบังคับมาและตกลงประการใด ข้าราชการทั้งปวงและราษฎรทั้งปวงก็ไม่ทราบทั่วกัน ได้ยินแต่ว่ามีหมายประกาศบังคับมา เมื่อการณ์นั้นเกี่ยวข้องกับตัวใครก็เป็นแต่ถามกันต่อไป ผู้ที่จะได้อ่านต้นฉบับน้อยคน บางคนถึงจะได้อ่านก็ไม่เข้าใจ

เพราะราษฎรที่รู้หนังสือในขณะนั้นมีน้อยกว่าผู้ที่ไม่รู้หนังสือ หนังสือก็อ่านไม่ออก ดวงตราของขุนนางในตำแหน่งก็ดูไม่เป็น ซึ่งจะบังคับใช้เรื่องอะไรก็ดูไม่เป็น เห็นตราแดง ๆ ก็พากันกลัว ผู้ที่ถือหนังสือว่าว่าอย่างไรก็เชื่อหมด เพราะฉะนั้นจึงมีคนคดโกง แต่งหนังสือเป็นท้องตราอ้างว่ารับสั่งจากวังหลวงและวังหน้า และเจ้านายเสนาบดีที่เป็นที่นับถือเคารพยำเกรงของราษฎร แล้วก็บังคับหลอกลวงไปต่าง ๆ นานา ด้วยการไม่เป็นธรรม ทำให้ราษฎรเดือดร้อน และเสียพระเกียรติยศของพระเจ้าแผ่นดิน และพระนามเจ้านาย และชื่อขุนนาง เพราะฉะนั้นพระราชดำริที่ให้มีการออกพระราชกิจจานุเบกษาก็เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้น จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการตีพิมพ์หนังสืออย่างหนึ่ง มีชื่อภาษาสันสฤตว่า ‘ราชกิจจานุเบกษา’ แปลว่าหนังสือเป็นที่เพ่งดูราชกิจ มีตรารูปพระมหามงกุฎและฉัตรขนาบสองข้างดวงใหญ่ ตีในเส้นดำกับหนังสือนำหน้าเป็นอักษรตัวใหญ่ว่า ‘ราชกิจจานุเบกษา’ อยู่เบื้องบนบรรทัดทุกฉบับ เป็นสำคัญ แจกมาแก่คนต่าง ๆ ที่ควรรู้ทุกเดือน ทุกปักษ์

‘ในหลวง’ พระราชทานพระยศทหาร โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เจ้าฟ้าหญิงสิริวัณณวรีฯ พระราชทานพระยศเป็น ‘พลโทหญิง’

(22 ก.ค.67) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศเรื่อง ให้นายทหารรับราชการและพระราชทานพระยศทหาร เมื่อ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2567 ว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง พลตรีหญิง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงดำรงตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก และพระราชทานพระยศเป็น พลโทหญิง

‘ก่อแก้ว พิกุลทอง’ เลื่อนลำดับนั่งเก้าอี้ สส.ปาร์ตี้ลิสต์ หลัง ‘สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล’ ยื่นใบลาออก

(3 ส.ค.67) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่องให้ผู้มีชื่ออยู่ในลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง เลื่อนขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่าง ฉบับลงวันที่ 2 สิงหาคม โดยมีเนื้อหาดังนี้

ตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2566 ซึ่งได้ประกาศให้ น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล ผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 21 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นั้น

บัดนี้ น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล ได้มีหนังสือขอลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 เป็นเหตุให้สมาชิกภาพของนางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล สิ้นสุดลงตามมาตรา 101 (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 105 (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จึงประกาศให้ผู้มีชื่อในลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย เลื่อนขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทน คือ นายก่อแก้ว พิกุลทอง

ป.ป.ช. ปรับหลักเกณฑ์อยู่กินฉันสามีภริยา แต่ไม่จดทะเบียน หากเข้าข่าย 3 พฤติการณ์หลัก ให้ถือว่าเป็น ‘คู่สมรส’

ราชกิจจาฯ ประกาศ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ออกหลักเกณฑ์ใหม่ 'อยู่กินฉันสามีภริยา' โดยมิได้จดทะเบียนสมรส ยก '3 พฤติการณ์หลัก' ถือว่าเป็นคู่สมรส มีผลบังคับใช้แล้ว

(11 มี.ค.68) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่อง หลักเกณฑ์ของผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสอันถือว่าเป็นคู่สมรส (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2568 ลงนามโดย นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

ประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ของผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสอันถือว่าเป็นคู่สมรส พ.ศ.2561

ทั้งนี้ เพื่อให้การประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ของผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสอันถือว่าเป็นคู่สมรสดังกล่าว สอดคล้องกับพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ.2567

ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ของผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสอันถือว่าเป็นคู่สมรส (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2568”

ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2568 เป็นต้นไป

สาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ ให้ยกเลิกความในข้อ 3 แห่งประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ของผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสอันถือว่าเป็นคู่สมรส พ.ศ.2561 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 3 บุคคลซึ่งอยู่กินกันฉันคู่สมรสโดยมิได้จดทะเบียนสมรสกับเจ้าพนักงานของรัฐ และมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ให้ถือเป็นคู่สมรสตามมาตรา102 วรรคสอง และมาตรา 126 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561

1.ได้ทำพิธีมงคลสมรสหรือพิธีอื่นใดในทำนองเดียวกันกับเจ้าพนักงานของรัฐ โดยมีบุคคลในครอบครัวหรือบุคคลภายนอกรับทราบว่าเป็นการอยู่กินเป็นคู่สมรสกันตามประเพณี

2.เจ้าพนักงานของรัฐแสดงให้ปรากฏว่ามีสถานะเป็นคู่สมรสกัน หรือมีพฤติการณ์เป็นที่รับรู้ของสังคมทั่วไปว่ามีสถานะดังกล่าว

ทั้งนี้ ให้หมายความรวมถึงบุคคลซึ่งจดทะเบียนสมรสกับเจ้าพนักงานของรัฐและต่อมา ได้จดทะเบียนหย่าขาดจากกันตามกฎหมาย แต่ยังแสดงให้ปรากฏหรือมีพฤติการณ์ซึ่งเป็นที่รับรู้ของสังคมทั่วไปว่ามีสถานะเป็นคู่สมรสกัน”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top