Wednesday, 9 July 2025
รัดเกล้าอินทวงศ์สุวรรณคีรี

‘รัดเกล้า’ เชิญชวนคนไทยร่วมกิจกรรมเทิดพระเกียรติ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ‘ในหลวง-ราชินี’

(30 พ.ค. 67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี 3 มิถุนายน 2567 ตลอดเดือนมิถุนายน นี้ รัฐบาลขอเชิญชวนประชาชน หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ร่วมกิจกรรมเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี โดยสามารถดำเนินการได้ดังนี้

(1) จัดตั้งโต๊ะประดิษฐาน พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี

(2) ติดตั้งเครื่องสักการะ

(3) ประดับธงชาติไทย

(4) ธงตราสัญลักษณ์งานเฉลิมฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 6 รอบ

(5) ธงอักษรพระนามาภิไธย ส.ท.

(6) ประดับผ้าระบายสีเหลืองอยู่ด้านบน สีม่วงอยู่ด้านล่าง โดยพร้อมเพรียงกัน

นางรัดเกล้า ยังเปิดเผยว่า รัฐบาลเชิญชวนให้ประชาชน เริ่มประดับเข็มที่ระลึกตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.นี้ 

โดยสามารถสั่งจองเข็มที่ระลึกตราสัญลักษณ์ฯ ผ่านที่ทำการไปรษณีย์ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสั่งจองผ่านระบบร้านค้าออนไลน์ของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ผ่าน เว็บไซต์ thailandpostmart.com ได้ โดยไม่มีการจำกัดจำนวน รวมถึงที่ บิ๊กซี 208 สาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2567 เป็นต้นไป และสามารถสั่งจองได้ที่บิ๊กซีมินิทุกสาขาทั่วประเทศ (โดยสั่งจองล่วงหน้า 7 วัน) ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสั่งจองเข็มที่ระลึกตราสัญลักษณ์ฯ ได้ที่ Contact Call Center 1756

‘รัดเกล้า’ เผย ‘ดัชนีผลผลิตอุตฯ’ ขยายตัวเป็นบวกครั้งแรก ‘ในรอบ 18 เดือน’ ชี้!! เป็นผลมาจาก ‘เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้น-ภาคส่งออกขยายตัว-ท่องเที่ยวกำลังเติบโต’

(2 มิ.ย.67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยถึงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index- MPI) เดือนเมษายน 2567 ว่า ขยายตัวร้อยละ 3.43 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอยู่ที่ระดับ 90.34 จากที่ก่อนหน้านี้หดตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 18 เดือน ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว การขยายตัวของภาคการส่งออกที่ดีขึ้น และการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวต่อไปว่า อุตสาหกรรมที่ผลักดัน MPI ในเดือนเมษายน 2567 ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรอื่นๆ ที่ใช้งานทั่วไป โดยเฉพาะกับเครื่องปรับอากาศ ที่มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศ ประกอบกับคุณสมบัติเครื่องปรับอากาศใหม่ๆ เช่น ตัวกรองฝุ่น PM2.5 ซึ่งตรงกับความต้องการของผู้ซื้อ อุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น 18.11% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการในการเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงมากขึ้น และอุตสาหกรรมการผลิตปิโตรเลียมก็เพิ่มขึ้น 4.78% เนื่องจากกิจกรรมการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น

นางรัดเกล้า กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ยังต้องเฝ้าระวังปัจจัยลบ ทั้งภายนอกและภายใน เช่น ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่น่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาผลผลิตทางการเกษตร และประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์

“นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ย้ำเสมอในทุกเวทีถึงความพร้อมของประเทศไทยที่จะต้อนรับนักลงทุนและการลงทุนจากต่างประเทศ เวลานี้ ตอนนี้เหมาะสมที่สุดที่จะลงทุนในไทย ซึ่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การส่งเสริมการลงทุน และการท่องเที่ยว รวมทั้งสัญญาณบวกจากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว ภาคการส่งออกที่ขยายตัว และการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลมีความก้าวหน้าในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ” นางรัดเกล้า กล่าวทิ้งท้าย

‘รัดเกล้า’ เผย ‘ครม.’ เห็นชอบมติเอเปกพัฒนาท่องเที่ยวใน ‘เอเชีย-แปซิฟิก’ พร้อมหนุน ‘ท่องเที่ยวใส่ใจธรรมชาติ’ หวังดัน ‘ท่องเที่ยวไทย’ สู่เวทีระดับโลก

(6 มิ.ย. 67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 5-9 มิถุนายน 2567 สาธารณรัฐเปรู ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปก ครั้งที่ 12 ขึ้น เพื่อให้ประเทศสมาชิกรับทราบและรับรองผลการดำเนินงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเอเปก ปี พ.ศ. 2563-2567 รวมทั้งมอบนโยบาย และกำหนดทิศทางการดำเนินงานในสาขาความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยในการประชุมจะได้ร่วมกันรับรองร่างเอกสาร 3 ฉบับ ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (4 มิ.ย. 2567) ได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติแล้ว ได้แก่

1.ร่างถ้อยแถลงการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปก ครั้งที่ 12 
2.ร่างข้อเสนอเชิงนโยบายหลักการในการป้องกันและลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหารในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 
และ 3.ร่างแนวคิดโครงการแพลตฟอร์มเอเปกเพื่อเผยแพร่โอกาสความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ร่างถ้อยแถลงฯ มีสาระสำคัญเป็นการเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการใช้นวัตกรรมใหม่ เพื่อรับมือกับความท้าทายในภาคการท่องเที่ยวในปัจจุบัน รวมถึงการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นทางการและการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 

ในขณะที่ ร่างข้อเสนอเชิงนโยบายฯ เป็นโครงการวิจัยที่จัดทำขึ้นโดยสาธารณรัฐเปรู ซึ่งได้ระบุเกี่ยวกับปัญหาของการทำอาหารที่เกี่ยวข้องกับการสร้างขยะอาหารในภาคการท่องเที่ยว และได้มีข้อเสนอแนะ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนหลักการของเอเปกให้เป็นรูปธรรม และร่างแนวคิดโครงการฯ ที่มีเป้าหมายในการสร้างแพลตฟอร์มการจัดการข้อมูลด้านการท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในภาคการท่องเที่ยว อำนวยความสะดวกในการทำงานร่วมกัน การถ่ายทอดความรู้ การแลกเปลี่ยนโอกาสด้านความร่วมมือที่มีอยู่ และการจัดการทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

ทั้งนี้ ร่างเอกสารฯ จำนวน 3 ฉบับ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของเขตเศรษฐกิจเอเปก เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และเป็นการแสดงถึงความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวในการฟื้นฟูการท่องเที่ยว และกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยและภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก อย่างครอบคลุมและยั่งยืน รวมถึงยังเป็นการสนับสนุนบทบาทเด่นของประเทศไทยในเวทีนานาชาติด้วย

“โควิด-19 ได้เปลี่ยนแปลงการท่องเที่ยวในหลายทิศทาง ทั้งแนวความคิดที่มีต่อการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน และใส่ใจรับผิดชอบ และรูปแบบที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมมากขึ้น ซึ่งถือเป็นแนวทางหลักของการประชุมนี้ที่เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการใช้นวัตกรรมใหม่ เพื่อรับมือกับความท้าทายในปัจจุบัน ซึ่งรัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมร่วมเดินหน้ากับเอเปกส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรม วิถีชีวิต และประเพณี สร้างงาน กระจายรายได้ให้แก่ท้องถิ่น” นางรัดเกล้ากล่าว

3 นักการเมืองหญิง 'รวมไทยสร้างชาติ' ร่วมรับฟังข้อเสนอเชิงนโยบาย 'สตรี-เด็ก-คนพิการ' ขยายสิทธิลาคลอด จัดเงินอุดหนุนเด็กเล็ก

(8 มิ.ย.67) พรรครวมไทยสร้างชาติ ภายใต้ความยึดมั่นในหลักการ 'สู้ให้ทุกปัญหา พึ่งพาได้ทุกเรื่อง' ได้มอบหมายตัวแทนพรรคที่เป็นผู้ดูแลเรื่องสิทธิสตรีและเยาวชน ประกอบด้วย...

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี หรือ เนเน่ รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ และรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยอดีตผู้สมัคร สส.กทม. พรรครวมไทยสร้างชาติ ประกอบด้วย ดร.ณัฐวรินธร บวรภัควุฒิสิริ หรือ อิ๊กคิว และ ดร.กาญจนา ภวัครานนท์ หรือ ฟลุค เข้าร่วมรับฟังข้อเสนอเชิงนโยบายจากตัวแทนคณะนักเคลื่อนไหวและนักวิจัย นำทัพโดย นางเรืองรวี พิชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา (Gender and Development Research Institue หรือ GDRI) ที่มาร่วมกับตัวแทนจาก มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย และ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก

ทั้งนี้ ผู้นำเสนอ ได้นำรายงานวิจัยและข้อเสนอเชิงนโยบาย 3 ฉบับมายื่น ได้แก่ 1) รายงานวิจัยเศรษฐศาสตร์ของความเป็นมารดาในประเทศไทย  2) รายงานข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อยุติความรุนแรงในครอบครัวที่มีต่อผู้หญิงและเด็ก และ 3) รายงานผลการสำรวจสถานการณ์คนพิการที่ถูกกระทำความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศและความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งรายงาน 2 ฉบับแรกเป็นการทำวิจัยภายในโครงการ 'เสียงของผู้หญิงต่อการทำนโยบายทางสังคมต่อรัฐบาลและพรรคการเมือง' อีกด้วย 

นางรัดเกล้า กล่าวว่า ข้อเสนอเชิงนโยบายที่คณะที่มาเยือนได้นำเสนอนั้น มีข้อเสนอที่น่าสนใจอยู่ในหลายส่วน ซึ่งมีการคละระหว่างการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค ทั้งนี้อยู่ภายใต้ประเด็นหลัก 3 ประเด็น ได้แก่ 1) การเล็งเห็นว่าสตรีเป็นส่วนสำคัญในกลไกของเศรษฐศาสตร์ และความเป็นมารดาไม่ควรเป็นอุปสรรคในการทำงาน 2) การเปลี่ยนแปลงเชิงกฎหมายและโครงสร้าง เพื่อยุติความรุนแรงในครอบครัวที่มีต่อผู้หญิงและเด็กอย่างมีประสิทธิภาพ และ 3) การขยายกรอบนโยบายเดิม เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้กับเด็กวัย 0-6 ขวบ

ในรายละเอียดของข้อเสนอแนะ ประกอบเนื้อหาบางส่วนดังนี้...

1. การรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิความเป็นมารดา รวมถึงกำหนดให้ผู้เป็นมารดามีสิทธิลาคลอด 180 วัน และให้ผู้เป็นบิดาสามารถลาเพื่อดูแลภรรยาคลอดบุตรได้ 30 วัน โดยได้รับค่าจ้างตาม จ่ายจริง 100% รวมถึงการผลักดันนโยบายที่จะอำนวยให้มารดาสามารถทำงานควบคู่กับการเป็นแม่ได้ เช่น การมีมุมนมแม่ในที่ทำงาน และมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของรัฐ ที่ครอบคลุมการรับเลี้ยงเด็ก 0-6 ปี มีเวลาเปิดปิดที่สอดคล้องกับเวลางานของบิดา-มารดา และมีการตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงที่ทำงาน โดยเฉพาะในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ

2. การรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 190 ว่าด้วยการขจัดความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงานโดยเฉพาะการเลิกจ้างหญิงตั้งครรภ์ รวมถึงการแก้ไข พรบ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ให้มีความเข้มแข็งมาขึ้น ให้ครอบคลุมว่าการล่วงละเมิดทางเพศให้เป็นคดีอาญาที่ยอมความไม่ได้

4. เพิ่มความเท่าเทียมและถ้วนหน้าให้กับเด็ก ด้วยนโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 0-6 ปี อ้างอิงสถิติปี 2565 ที่มีเด็กที่ได้รับเงินอุดหนุนเพียงจำนวน 2.3 ล้านคน ในขณะที่ประชากรเด็กไทยมีอยู่ที่ 4.3 ล้านคน หากรับมอบเงินอุดหนุนถ้วนหน้า จะเป็นการเพิ่มงบประมาณอีกเพียง 14,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้ความเท่าเทียมกับเด็กอีก 2 ล้านคนที่ปัจจุบันนี้ไม่ได้รับเงินสนับสนุน 

“การรับฟังผลวิจัย ข้อเสนอแนะ และมีโอกาสหารือร่วมกันในครั้งนี้มีประโยชน์เป็นอย่างมาก ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ได้รับมาวันนี้ไม่ใช่การคิดขึ้นมาลอย ๆ แต่เป็นแนวคิดที่กลั่นกรองมาจากสถิติและผลการวิจัย ด้วยเป้าประสงค์ที่อยากผลักดันให้เกิดประโยชน์ต่อสตรี เด็ก และคนพิการในประเทศไทย  ในฐานะตัวแทนพรรค พวกเรา 3 คน ขอสร้างความมั่นใจว่าประเด็นปัญหาเหล่านี้ ตรงกับนโยบายและความสนใจของพรรครวมไทยสร้างชาติที่ยึดมั่นในหลักการ 'สู้ให้ทุกปัญหา พึ่งพาได้ทุกเรื่อง' อยู่แล้ว นอกจากนี้ หนึ่งในปัญหาที่เป็นเรื่องเร่งด่วนและสำคัญมาก คือเรื่องของสังคมสูงวัยและจำนวนประชากรที่ลดลงของประเทศไทย นโยบายที่ส่งเสริมให้ผู้หญิงสามารถทำงานควบคู่กับการเป็นแม่ได้ และนโยบายที่ส่งเสริมการดึงศักยภาพด้วยการเลี้ยงดูเด็กอย่างมีคุณภาพ เหล่านี้เป็นนโยบายสำคัญที่ต้องได้รับการผลักดันอย่างเร่งด่วน” นางรัดเกล้า กล่าวเสริม

‘รัดเกล้า’ ชวนคนไทย นับถอยหลังอีก 2 วัน ร่วมฉลอง ‘ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม’ ย้ำ!! รัฐบาลให้ความสำคัญ ชาว LGBTQIAN+ เปิดโอกาสให้เพศเดียวกัน ได้แต่งงานกัน

(16 มิ.ย.67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า 17.00 น. ของวันอังคารที่ 18 มิ.ย. นี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะจัดงานเลี้ยงรับรอง เพื่อแสดงความยินดีกับจุดเริ่มต้นของกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่สนามหญ้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล หลังจากกรรมาธิการวุฒิสภามีการประชุมเรื่องนี้เสร็จแล้วและเตรียมเปิดประชุมวุฒิสภา พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. …. หรือ ‘ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม’ ในวันอังคารที่ 18 มิถุนายนนี้ โดยในงานจะมีทั้งคณะรัฐมนตรี เอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทยที่ให้ความสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ผู้ก่อตั้งและคณะทำงานบางกอกไพร์ด หน่วยงานราชการองค์กรเอกชนและภาคประชาสังคมผู้สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ เครือข่ายพันธมิตรสีรุ้ง ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ และสื่อมวลชนอีกมากมาย

อังคารที่ 18 มิถุนายน 2567ถือเป็นวันดีเดย์แห่งชาติ ที่คนไทยจับตาดูหลายเรื่องซึ่งหนึ่งในเรื่องนั้นคือ การที่ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะเดินหน้าเข้าสู่เส้นชัย โดยหากที่ประชุมวุฒิสภาเห็นชอบ ร่างกฎหมายดังกล่าว จะส่งมายัง ครม. และ นายกรัฐมนตรี จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ โดยและจะมีผลใช้บังคับ หลังกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 120 วัน หรือประมาณในช่วงปลายปีนี้

“งานฉลองที่สนามหญ้าตึกไทยคู่ฟ้านั้นเป็นเพียงการคิ๊กออฟของการเฉลิมฉลอง ณ เวลา 18:00 น. ขบวนพาเหรดของภาคประชาชนจะเดินหน้าไปที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (Bacc) เขตปทุมวัน เพื่อเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ มีทั้งการแสดงแดรกโชว์ การแสดงดนตรี การรวมตัวกันของคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศที่จะเป็นอนาคตของครอบครัวภายใต้สมรสเท่าเทียมนี้ มีการประกาศถ้อยแถลงชัยชนะของการสมรสเท่าเทียมกัน และ มีการเปิดสัญลักษณ์สมรสเท่าเทียมกัน อีกด้วย” รองโฆษกฯ รัดเกล้ากล่าวทิ้งท้าย

‘รัดเกล้า’ เผยข่าวดี!! 'ไทย-ติมอร์' เดินหน้าส่งเสริมความสัมพันธ์รอบด้าน ร่วมลงนาม ‘Free visa’ กระชับความร่วมมือ ‘ท่องเที่ยว-ศก.-วัฒนธรรม’

(22 มิ.ย.67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์–เลสเต เดินหน้ากระชับความร่วมมือและส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศ ผ่านร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราประเภทท่องเที่ยวสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดา ซึ่งได้มีการลงนามในช่วงการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความมั่นคงของติมอร์ ระหว่างวันที่ 20-21 มิ.ย.ที่ผ่านมา

รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ติมอร์มีความประสงค์จะจัดทำความตกลงฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างประชาชนของไทยและติมอร์เพื่อการท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำหรับการเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์ ติมอร์จึงได้เสนอขอจัดทำความตกลงฯ เพื่อขอให้ฝ่ายไทยพิจารณา ซึ่งที่ประชุม ครม. (18 มิ.ย.67) ได้มีมติเห็นชอบแล้วตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ โดยมีสาระสำคัญ อาทิ ความตกลงฉบับนี้มีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกให้บุคคลสัญชาติไทยและบุคคลสัญชาติติมอร์เดินทางเข้าดินแดนของภาคีอีกฝ่ายหนึ่งด้วยวัตถุประสงค์เพื่อการท่องเที่ยว โดยไม่ต้องมีการขอรับการตรวจลงตรา เป็นระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน มีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 วันนับจากวันที่ได้รับการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งสุดท้ายโดยคู่ภาคีว่าได้ปฏิบัติตามขั้นตอนภายในที่จำเป็นของตนเพื่อให้ความตกลงฉบับนี้มีผลบังคับใช้จนกว่าจะถูกบอกเลิกโดยคู่ภาคีอีกฝ่ายหนึ่ง

นางรัดเกล้า กล่าวอีกว่า ภาคีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจระงับการปฏิบัติตามความตกลงฉบับนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ การรักษาความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ หรือสาธารณสุข โดยการระงับและการเพิกถอนการระงับดังกล่าวจะต้องทำโดยการบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรต่อภาคีอีกฝ่ายหนึ่งผ่านช่องทางการทูตอย่างน้อย 30 วันล่วงหน้า เป็นต้น โดยความตกลงฯ ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกในการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ โดยจะมีผลเชิงบวกต่อการส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย - ติมอร์ ในภาพรวมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนความสัมพันธ์ระดับประชาชน

รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ทั้งนี้ กต. แจ้งว่า ร่างความตกลงฯ มีถ้อยคำและบริบทที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้น ร่างความตกลงฯ จึงเป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งจะต้องขอความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีก่อนการลงนามและดำเนินการให้มีผลผูกพัน แต่ไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างความตกลงฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไว้ ขอให้ กต. สามารถดำเนินการได้ โดยนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว

‘รัดเกล้า-มินิ วปอ.รุ่นที่ 1’ ลงพื้นที่ภาคอีสาน 5 จว. รับฟังปัญหา ปชช. พร้อมเดินหน้าเซ็น MOU ผลักดันอุตฯ-ผลิตภัณฑ์เลือดอีสานสู่เวทีโลก

(26 มิ.ย. 67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะสื่อสารของหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรสำหรับผู้บริหารในอนาคต หรือ วปอ.บอ. หรือที่รู้จักกันในนาม ‘มินิ วปอ. รุ่นที่ 1’ ได้เปิดเผยกำหนดการการลงพื้นที่ครั้งที่ 2 ของหลักสูตรที่มีกำหนดการเดินทางต่อเนื่อง 5 วัน ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายนจนถึง วันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2567 

โดยการเดินทางครอบคลุม 5 จังหวัดในแดนอีสาน เริ่มต้นตั้งแต่จังหวัดเลย เดินสายต่อไปที่จังหวัดอุดรธานี จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย และปิดท้ายด้วยจังหวัดนครราชสีมา 

ซึ่งกำหนดการมีทั้งเนื้อหาของการลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้ปัญหาเชิงลึก การฟังการบรรยายในหัวข้อที่หลากหลาย เช่น การพัฒนาการท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืน และผลกระทบการบริหารจัดการลุ่มแม่น้ำโขง ที่ได้เรียนรู้ถึงผลกระทบต่อสภาวะโลกร้อนที่มีต่อจังหวัดเลย ที่มุ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ และเรียนรู้ถึงความกังวลใจของประชาชนที่ใช้ชีวิตอยู่บริเวณชายแดนแม่น้ำโขงที่ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อน เพื่อผลิตไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงของประเทศลาว โดยเฉพาะชาวประมงที่จะพบเจอการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศที่ส่งผลให้มีจำนวนปลาน้อยลง จำนวนสาหร่ายเพิ่มขึ้น เป็นต้น

นางรัดเกล้า เผยเพิ่มเติมว่า วันนี้ (26 มิ.ย. 67) พลโท ศักดิ์สิทธิ์ แสงชนินทร์ ที่ปรึกษาสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กรรมการบริหารการศึกษา และ ผู้อำนวยการหลักสูตร วปอ.บอ. นำทัพเดินทางมาจังหวัดบึงกาฬเพื่อฟังการบรรยายเรื่อง ‘ประตูการค้าสู่อินโดจีน’ และคณะนักศึกษาได้ประกอบกิจกรรมเพื่อพัฒนาสังคม (CSR) รวมถึงการลงนามเซ็นในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) ในการให้คำปรึกษาเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการของจังหวัดบึงกาฬไปสู่เวทีโลกภายใต้แนวคิด Connect to the future: Moving forward together ซึ่งจะเป็นการลงนามระหว่าง 5 ฝ่ายได้แก่ หลักสูตร วปอ.บอ. จังหวัดบึงกาฬ องค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ หอการค้าจังหวัดบึงกาฬ และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดบึงกาฬ 

นางสาวธนนนท์ นิรามิษ ประธานคณะกรรมการฝ่ายพัฒนาสังคม CSR นักศึกษาหลักสูตร วปอ.บอ. รุ่นที่ 1 ชี้แจงภายหลังจากการร่วมลงนามใน MOU ว่า สาระสำคัญใน MOU คือการทำงานร่วมกันเชิงบูรณาการ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าหรือบริการของจังหวัดบึงกาฬไปสู่เวทีโลก อันจะนำไปสู่การพัฒนาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของจังหวัดบึงกาฬอย่างยั่งยืน 

โดยนักศึกษา วปอ.บอ. รุ่นที่ 1 จะช่วย Connect จังหวัดบึงกาฬไปสู่อนาคตที่สดใส ภายใต้แนวคิด Moving forward together ขับเคลื่อนทำงานร่วมกันกับอีก 4 ฝ่ายในจังหวัดบึงกาฬ ผ่านการให้คำปรึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าหรือบริการของจังหวัดที่ประสบปัญหาในการสร้างรายได้ให้สามารถเพิ่มรายได้อย่างยั่งยืนและเป็นที่รู้จักในระดับประเทศและนานาชาติ ร่วมกันให้คำปรึกษาในการพัฒนาและขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของไทยไปสู่เวทีโลก รวมถึงการขยายช่องทางการค้าและส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกันอีกด้วย

"ในอีก 2 วันที่เหลือของการเดินทาง คณะจะเดินทางไปหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) เพื่อฟังการบรรยายเกี่ยวกับ ‘การรักษาความสงบตามแม่น้ำโขง’ และ ‘การจัดการและพัฒนาแหล่งน้ำทรัพยากรและผลกระทบลุ่มแม่น้ำโขง’ ตามด้วยการทำ MOU อีกฉบับร่วมกับจังหวัดหนองคาย จังหวัดอุดรธานี สภาอุตสาหกรรมจังหวัดหนองคาย และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ในการผลักดันกลุ่มอุตสาหกรรมลุ่มแม่น้ำโขงสู่เวทีโลก โดยในการลงพื้นที่ก่อนหน้านี้ได้มีการเซ็น MOU ลักษณะเดียวกันที่จังหวัดสุโขทัยและจังหวัดตากอีกด้วย จะเห็นได้ว่าการลงพื้นที่ของ หลักสูตร วปอ.บอ. จะมีกำหนดการและเนื้อหาสาระที่อัดแน่น และมีการพ่วงกิจกรรมเพื่อพัฒนาสังคมทุกครั้ง เหตุเพราะหลักสูตร วปอ.บอ. นี้เป็นการรวมตัวของผู้นำแห่งอนาคตที่มุ่งหวังรวมตัวกันทำการดี เป็นการสร้างเครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่ต้องการร่วมกันพัฒนาประเทศไทยที่ดีขึ้น" นางรัดเกล้า กล่าวเสริม

‘รัดเกล้า’ เผย ‘เศรษฐา’ เตรียมนำทีม ครม. สวมเสื้อผ้าไหมมัดหมี่ ประชุมที่โคราช ชี้!! นี่คือ ‘ของดีปักธงชัย’ ลวดลายเรียบง่าย แต่แฝงด้วยความประณีตสวยงาม

(29 มิ.ย. 67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมนำทีมคณะรัฐมนตรีสวมใส่ ผ้าไหมพื้นเรียบสีทองและผ้าไหมมัดหมี่หางกระรอกประยุกต์สีทอง ร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 4/2567 หรือครม. สัญจร ที่จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 1-2 กรกฎาคม 2567 นี้

โดยจังหวัดนครราชสีมา มีนโยบายในการพัฒนาและส่งเสริมให้ใช้ผ้าลายเอกลักษณ์ ประจำจังหวัดนครราชสีมา จึงได้จัดประชุมระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อค้นหาภูมิปัญญาผ้าทอพื้นถิ่นของจังหวัดนครราชสีมา ที่สามารถสื่อถึงเอกลักษณ์ของจังหวัด จนมีมติให้ ‘ผ้าหางกระรอก’ เป็นผ้าเอกลักษณ์ ประจำจังหวัดนครราชสีมา

โดยผ้าไหมพื้นเรียบสีทองและผ้าไหมมัดหมี่หางกระรอกประยุกต์สีทอง ทอโดยอำเภอปักธงชัย สำหรับให้คณะรัฐมนตรีสวมใส่ ส่วนผ้าไหมมัดหมี่หางกระรอก สีชมพูกะปิ สำหรับผู้เข้าร่วมประชุม ครม. สวมใส่ ทอโดยกลุ่มทอผ้าไหมบ้านแฝกโนนสาราญ อำเภอสีดา

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้งนี้ ลายหางกระรอก เป็นลวดลายเรียบง่าย แต่แฝงด้วยความประณีตและงดงาม ใช้เทคนิคการทอผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าไท คือ ‘การควบเส้น’ ที่นำเส้นพุ่งพิเศษ 2 เส้น 2 สี มาตีเกลียวควบเข้าด้วยกัน ให้เป็นเส้นเดียว ที่เรียกว่า เส้นลูกลาย หรือเส้นหางกระรอก

ทอด้วยความชำนาญของแต่ละพื้นที่ ผ้าที่ได้จะมีลักษณะลวดลายเล็ก ๆ ในตัวมีสีเหลือบมันวาวระยับดูคล้ายเส้นขนของหางกระรอก ตามคำขวัญเดิมของจังหวัดที่ว่า ‘นกเขาคารม อ้อยคันร่ม ส้มขี้ม้า ผ้าหางกระรอกดอกสายทอง แมวสีสวาท’

นอกจากนี้ในเย็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ช่วงงานเลี้ยงรับรอง นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจะร่วมสวมใส่เสื้อแขนสั้นลำลองลายโคราชโมโนแกรม (KORAT Monogram) ที่ถือเป็น 1 ใน soft power ของจังหวัด

ซึ่งลวดลายโคราชโมโนแกรมนี้สื่อถึงจังหวัดนครราชสีมา โดยมีรูปแมวโคราช (Korat Cat) สัตว์ประจำจังหวัดนครราชสีมา ส่วนรูปด้านบนของแปลนผังพื้นอนุสาวรีย์ย่าโม หันทางทิศตะวันตก (On the Top) ผัดหมี่โคราช (Recommended Menu) ปราสาทหินพิมาย (Ancient) ประตูชุมพล (Twain) และดอกสาธร ดอกไม้ประจำจังหวัด

ประกอบรวมกันเป็นคำว่า โคราช ในภาษาอังกฤษ (KORAT) ซึ่งประชาชนที่สนใจสามารถเข้าไปชมลวดลาย KORAT Monogram ได้ทางเพจเฟซบุ๊ก KORAT Monogram ได้ทีนี่ https://www.facebook.com/koratmonogram นางรัดเกล้า กล่าว

'รัดเกล้า' เตือน!! ข่าวโปรโมชัน ปตท.เติมน้ำมัน 245 บาท เป็นเฟกนิวส์ แนะ!! ควรตรวจสอบแหล่งที่มาให้แน่ชัด ก่อนเชื่อหรือส่งต่อ

(9 ส.ค. 67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่พบว่ามีการนำเสนอโปรโมชันเติมน้ำมัน 245 ฟรี 245 บาท ผ่านข้อความ SMS และให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์เพื่อรับสิทธิ์ โดยมีการใช้ชื่อ ปตท. นั้น บริษัท ปตท. น้ำมัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) กระทรวงพลังงาน ชี้แจงว่า ปตท. ไม่ได้จัดทำประชาสัมพันธ์หรือโปรโมชัน และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการดังกล่าวนี้แต่อย่างใด

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอให้ตรวจสอบข้อมูลข่าวสารจากแหล่งที่เชื่อถือได้ โดยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ และบริการจากบริษัท ปตท. น้ำมัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) กระทรวงพลังงาน สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.pttor.com หรือ โทร. 02-196-5959

ทั้งนี้ รัฐบาล โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) มีความห่วงใยประชาชนถึงข่าวปลอม (fake news) ที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย ซึ่งหากขาดความรู้ และมีการส่งต่ออาจทำให้ได้รับข้อมูลที่ผิด และส่งผลกระทบกับประชาชนที่หลงเชื่อ โดยประชาชนสามารถติดตามข่าวสาร และชี้แจงเบาะแสข่าวปลอมได้ที่เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/ หรือโทรสายด่วนศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม GCC 1111 ต่อ 87 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

‘รัดเกล้า’ ชวนชม-ช้อปงาน ‘แพรพัสตรา บรมราชินีนาถ’ 12-18 ส.ค. ณ สยามพารากอน สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ‘พระพันปีหลวง’ ยกระดับ ‘ผ้าไทย’ สู่สายตานานาชาติ

เมื่อวานนี้ (12 ส.ค. 67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันแม่แสนคึกคัก คนพาแม่มาเดินงาน ‘แพรพัสตรา บรมราชินีนาถ’ จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) แค่ช่วงเช้าวันแรกแล้วหลายพันคน

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า วธ. ร่วมกับหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายทางวัฒนธรรม จัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2567 ในชื่องาน ‘แพรพัสตรา บรมราชินีนาถ’ ระหว่างวันที่ 12 - 18 สิงหาคม 2567 เวลา 11.00 - 21.00 น. ณ ลานพาร์ค พารากอน ชั้นเอ็ม ศูนย์การค้าสยามพารากอน

โดยการจัดงานภายใต้ชื่องาน ‘แพรพัสตรา บรมราชินีนาถ’ เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทย ทรงอนุรักษ์ ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมของชาติ ส่งเสริมงานหัตถศิลป์ และงานหัตถกรรมของไทย รวมถึงทรงอนุรักษ์ ส่งเสริมมรดกภูมิปัญญา ‘ผ้าไทย’ ยกระดับผ้าไทยให้มีความโดดเด่นจนเป็นที่ประจักษ์แก่สายตานานาชาติ

ทั้งนี้ ภายในงานยังจัดให้มีนิทรรศการนำเสนอความเป็นมาของวันผ้าไทยแห่งชาติ รวมถึงจัดแสดงผ้าไทยลายอัตลักษณ์ 76 จังหวัด อาทิ ผ้าลายดอกสัก จังหวัดแพร่ ภาคเหนือ / ผ้าลายแก้วมุกดา จังหวัดมุกดาหาร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ / ผ้าลายราชบุรี หรือลายกาบโอ่งนกคู่ จังหวัดราชบุรี ภาคกลาง และผ้าลายปะการังและท้องทะเล จังหวัดภูเก็ต ภาคใต้ เป็นต้น

ตลอดจนนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม (CPOT) ที่สร้างสรรค์ต่อยอดจากผ้าไทย รวมถึงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ถึงพระราชกรณียกิจของพระองค์ที่มีต่องานหัตถศิลป์ งานหัตถกรรมของไทย และผ้าไทยนานัปการ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมให้ชม ช้อป และเพลิดเพลินไปกับการแสดงและสาธิตศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ อีกด้วย

“เชิญชวนประชาชนพาคุณแม่ และครอบครัวไปเที่ยวงานแพรพัสตรา บรมราชินีนาถ กันเยอะ ๆ มีเวลาเที่ยวได้จนถึง 18 สิงหาคมนี้ โดยภายในงานมีกิจกรรมมากมายทั้งนิทรรศการ การแสดงศิลปวัฒนธรรม แฟชันโชว์ผ้าไทย เพื่อร่วมรักษาและต่อยอดศิลปวัฒนธรรมของชาติ นำต้นทุนทางวัฒนธรรมสร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น ร่วมยกระดับผ้าไทยสู่สายตาชาวโลก” นางรัดเกล้า กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top