Saturday, 18 May 2024
รังสิมันต์_โรม

'รังสิมันต์' สนควงแขน ‘ผบ.ทบ.’ ดูงานชายแดนไทย ชี้!! งานความมั่นคงค่อนข้างอ่อนแอ ‘ไร้แผน-ทิศทาง’

(29 ธ.ค. 66) นายรังสิมันต์ โรม ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ บอกว่า สนใจงานชายแดนที่ไป 2 พื้นที่ คือช่องจอม จ.สุรินทร์ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากนายทหารที่รับผิดชอบในพื้นที่เป็นอย่างดี และมีการพูดคุยเวทีให้ประชาชนเข้าร่วมด้วย ส่วนพื้นที่อ.สังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ที่มีปัญหาลักลอบนำยางพาราเถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามา ที่อยู่ระหว่างการทำงาน ซึ่งพื้นที่ชายแดนมีปัญหามาก ก็นำมาซึ่งอาชญากรรมต่างๆ ที่ไม่เกิดเฉพาะชายแดน แต่ทำให้อาชญากรรมต่าง ๆ เข้ามาประเทศไทยได้ด้วย เบื้องต้นยินดี ทำงานร่วมกับกองทัพให้งานชายแดนให้มีความมั่นคงและปลอดภัย แก้ปัญหาสิ่งผิดกฎหมายต่าง ๆ ได้

“ตอนนี้ฝั่งชายแดนไทย-เมียนมา ตนมองว่า เป็นพื้นที่นัยสำคัญอย่างมาก คือ ความไม่สงบในเมียนมา ที่มีการเคลื่อนไหวกันอยู่ ประการแรกคือเราจะรับมืออย่างไร ต้องยอมรับว่าในพื้นที่เมียนมามีสิ่งผิดกฎหมายหลายอย่าง เช่น ยาเสพติด คนเข้าเมืองผิดกฎหมาย แก๊งคอลเซ็นเตอร์ คาสิโน ที่คนไทยจำนวนมากไปเล่น ไปเป็นลูกค้า เงินประเทศไทยไหลออก ไม่ได้เป็นสิ่งผิดกฎหมายซะทีเดียว แต่แก๊งคอลเซ็นเตอร์กับคาสิโน อยู่ด้วยกัน เป็นสิ่งที่เราต้องจัดเตรียม วางแผน ล่วงหน้าร่วมกัน ซึ่งพื้นที่ชายแดนหลักคือทหาร ซึ่งผมยินดีมาก หากมีการทำงานร่วมกันระหว่างกองทัพกับกรรมาธิการความมั่นคงฯ ว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร เพราะงานด้านความมั่นคงค่อนข้างอ่อนแอ เพราะไม่มีแผนชัดเจนว่าทิศทางของความมั่นคง ไปในทางไหนกันแน่ที่จะส่งเสริมปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนชาวไทยอย่างแท้จริง”

ต่อข้อถามที่ว่า พื้นที่หลัก ๆ ที่จะไปกับกองทัพช่วงนี้จะเป็นพื้นที่ใด นายรังสิมันต์ ระบุว่า พื้นที่เมียนมาเป็นพื้นที่สำคัญที่เราให้ความสนใจมาก ลองให้จินตนาการ อาทิ เรื่อง ยางพารา ที่เป็นยางเถื่อน ประมาณ แสนตันนั้น อาจส่งผลกับยางพาราในประเทศไทยได้ ซึ่งบางครั้งการลักลอบไม่ใช่เฉพาะยางพารา แต่จะมียาเสพติดที่จะเข้ามาด้วย ที่จะได้แก้ปัญหาไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งทุกคนพูดถึงการแก้ปัญหาแต่รูปธรรมยังไม่มี

เมื่อถามว่า จะติดต่อ ผบ.ทบ.เพื่อดูในพื้นที่และไปด้วยกันหรือไม่ นายรังสิมันต์ ระบุ เจ้ากรมยุทธการทหารบก ประสานงานกันใกล้ชิด กับ ผบ.ทบ. และเป็นที่ปรึกษาของกมธฯ วันนี้เราทำงานใกล้ชิด และประสานการดูแลคนไทยที่มีการค้ามนุษย์ ซึ่งการลงพื้นที่พร้อมกันก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน

'สส.รังสิมันต์' ยอมรับ!! สังคมไม่เห็นด้วยปม 'ตะวัน' ป่วนขบวนเสด็จฯ ยัน!! ก้าวไกลไม่ได้อยู่เบื้องหลังใครและไม่มีใครอยู่เบื้องหลังพรรคได้

(12 ก.พ. 67) ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่มีการหาว่าพรรคก้าวไกล เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง กลุ่มทะลุวังที่มีการบีบแตรใส่ขบวนเสด็จฯ ว่า ความคิดที่บอกว่ากลุ่มต่าง ๆ มีพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลัง ไม่ใช่เรื่องใหม่เกิดขึ้นแล้วหลายครั้ง ซึ่งไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาสังคม รวมถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น หลายครั้งที่พรรคก้าวไกลถูกปรักปรำในลักษณะนี้ อะไรคือหลักฐานว่าเราอยู่เบื้องหลัง และในช่วงเวลาที่ผ่านมาที่เราอยู่ท่ามกลางวิกฤตทางการเมือง 

ในอดีตเราหลายคนอาจจะไปประกันตัว อาจจะไปเป็นนายประกันให้ แต่การทำในลักษณะนั้นต้องแยกออกจากการที่เขาขับเคลื่อน ซึ่งเหตุผลที่เราไปเป็นนายประกันให้คือสามารถทำได้ตามกฎหมาย รวมถึงให้สิทธิ์เขาในการต่อสู้คดี ไม่ได้หมายความว่าคนที่ไปประกันตัวจะเห็นด้วยกับการกระทำ ไม่เช่นนั้นการประกันตัวที่เกิดขึ้นเต็มไปหมดในเรื่องต่างๆ เท่ากับคนที่ไปประกันตัวจะต้องไปเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย หากคิดอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา ถือว่าเป็นการคิดที่ผิด

นายรังสิมันต์ กล่าวว่า การเชื่อมโยงกลุ่มต่างๆกับพรรคก้าวไกลมีเหตุผลคืออาจจะเป็นกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มทะลุวัง และต้องการสร้างความชอบธรรมหรือการดิสเครดิตกลุ่มทะลุวัง และต้องการทำลายพรรคก้าวไกลเช่นเดียวกัน ซึ่งไม่ควรจะไปมองแบบนั้น

“ผมยืนยันว่าเราไม่ได้ไปอยู่เบื้องหลังใครและใครก็ไม่มาอยู่เบื้องหลังเรา พรรคก้าวไกลก็คือพรรคก้าวไกล ที่ทำหน้าที่โดยมีจุดยืนในเรื่องของสิทธิมนุษยชน เราเชื่อในศักยภาพในการแสดงออก ส่วนเมื่อเขาแสดงออกไปแล้ว จะมีคนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก็เป็นสิทธิ์ของทุกคนที่จะแสดงความคิดเห็นได้ แต่จุดยืนของพรรคก้าวไกลคือเราไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง ในการแสดงออกแบบนั้นคือการสร้างสังคมแห่งความหวาดกลัว เรามีบทเรียนมาแล้ว และไม่ได้ทำให้สังคมไทยดีขึ้นมาเลยแม้แต่น้อย” นายรังสิมันต์ กล่าว

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า การกระทำของน.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน กลุ่มทะลุวัง สร้างเสียงวิจารณ์อยู่แล้ว ซึ่งสรุปยากว่าท้ายที่สุดสังคมจะเห็นไปในทิศทางไหน ต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่ามีสังคมไม่เห็นด้วยกับการที่น.ส.ทานตะวัน แสดงออกและอาจจะมีคนเห็นด้วย ซึ่งแน่นอนในเรื่องของการอารักขาบุคคลสำคัญ ต้องมีมาตรการทั้งหมดก็นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ แต่จุดยืนสำคัญที่พรรคก้าวไกลแสดงคือไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง ส่วนที่มีการมุ่งเป้าไปที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น

“สิ่งที่เราพยายามทำคือให้สติทุกคน ในการที่เราไปเป็นนายประกัน หรือการเคยเป็นนายประกันในอดีต เท่ากับเราอยู่เบื้องหลังเลยหรือ คุณเชื่อขนาดนั้นจริงๆหรือ สุดท้ายคนที่แสดงออกทางการเมืองในทุกรูปแบบ เขาก็เป็นตัวของเขา เขาก็มีจุดยืนของเขา เราเห็นด้วยหรือไม่ก็ต้องแยกเป็นกรณีไป ซึ่งถึงที่สุด เขาก็มีสิทธิ์ต่อสู้คดีในศาล สุดท้ายกลไกกฎหมาย ก็ต้องว่ากันไปตามแต่ที่มันควรจะเป็น ซึ่งก็ต้องได้สัดส่วนที่ควรจะเป็นด้วย สังคมของเราอยู่กันแบบนั้น อย่าไปสร้างสังคมแห่งความ หวาดกลัว อย่าให้เราต้องสร้างปีศาจตนใหม่ สร้างผีตนใหม่ขึ้นมา ซึ่งเหตุการณ์เดือนตุลาเคยสร้างบทเรียนให้เราแล้ว อย่าทำซ้ำอีกเลย มันไม่คุ้มกัน” นายรังสิมันต์ กล่าว

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า เราควรใช้เวทีของสภาฯ ใช้พื้นที่ทางการเมืองในการคลี่คลายหาทางออก และเข้าใจว่านายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี และโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ พยายามจะพูดเรื่องนี้ ซึ่งตนมองว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่สภาฯ จะพิจารณาพูดคุยหาทางออก และการที่ปล่อยให้ไปคุยกันตามท้องถนนถ้านำไปสู่การสร้างพื้นที่ที่อันตรายก็ไม่คุ้ม ทางหนึ่งที่ตนคิดว่าเป็นทางออกคือกฎหมายนิรโทษกรรม

เมื่อถามว่ามีหลายฝ่ายมองว่าควรนำเรื่องเกี่ยวกับผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ออกจากร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เราเคยหาเสียงเอาไว้ เมื่อเราได้รับการเลือกตั้งมาก็พยายามทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ซึ่งเราไม่ได้มีนโยบายแก้มาตรา 112 เท่านั้น ทางสว. อาจจะมีความคิดว่าเราไม่ควรทำแบบนั้น แต่ในจุดยืนของเราต้องกลับมาตั้งต้นว่าวันนี้ปัญหาของประเทศชาติคืออะไร เราต้องยอมรับว่ามีคนถูกดำเนินคดีในเรื่องมาตรา 112 จะมีหนทางแก้ไขอย่างไร

"ออฟชั่นเรามีอะไรบ้าง เอาเขาเข้าไปขัง ปล่อยพวกเขา นิรโทษกรรมให้พวกเขาหรืออะไร ถ้าเอากันแบบสุดโต่งเลยคือการเอาไปขัง ต้องถามว่าช่วยให้บ้านเมืองดีขึ้นอย่างไร ถึงที่สุดคนเหล่านี้ก็มีญาติพี่น้องและเขารู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ความคิดเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กลุ่มนิสิตนักศึกษาหรือคนรุ่นใหม่เท่านั้น มิตรประเทศที่เขามองมายังประเทศไทยรู้สึกไม่สบายใจกับการดำเนินคดีที่มีความรุนแรง และไม่ได้ส่งผลกระทบแค่สิทธิเสรีภาพ

มีการตั้งคำถามในเชิงภาคธุรกิจ ความมั่นใจว่าหากมีการดำเนินคดีในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นกับคดีอื่นได้หรือไม่ สิ่งเหล่านี้เป็นความมั่นใจทั้งหมดที่สามารถส่งผลกระทบต่อประเทศได้ ถ้าเราตั้งโจทย์ว่ามีปัญหาเกิดขึ้นเราก็ควรเริ่มต้นเปิดประตูให้กว้าง ถ้าเราบอกว่าการนิรโทษกรรมไม่รวมมาตรา 112 ถ้าเริ่มจากตรงนี้ จะแก้ปัญหาการเมืองได้จริงหรือไม่ ไม่มีประโยชน์ถ้าแก้ปัญหาไม่ได้ การนิรโทษกรรมก็ไม่มีประโยชน์"นายรังสิมันต์ กล่าว

‘โรม’ โต้!! ‘เต้ อาชีวะ’ ปมภาพบู๊ตำรวจปี 57 ยัน!! ปกป้องร่างกายตามสิทธิ - กฎหมาย

(16 ก.พ. 67) ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกลุ่มภาคีราชภักดียื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้สอบจริยธรรม กรณีนำภาพขึ้นมาอภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฏรพิจารณาญัตติด่วนด้วยวาจาเกี่ยวกับการทบทวนมาตรการอารักขาขบวนเสด็จ เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา อาจมีการตัดแปะ บิดเบือนว่า ตนยินดีเลย แต่ผู้ร้องต้องไม่ลืมว่ามีสิทธิ์แค่ร้องคนอื่น แต่ต้องรับผิดชอบในการร้องเช่นกัน ยืนยันว่าไม่มีการตัดต่อภาพ การที่ตนนำภาพประกอบขึ้นสภาฯ ในวันนั้น ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการในสภาฯ แล้ว แล้วมีการอนุมัติจากนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุมขณะนั้น รวมถึงกฎหมาย PDPA หรือพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ได้บังคับใช้ครอบคลุมมาถึงการทำหน้าที่ในสภาฯ

“ผมไม่ได้เป็นห่วงอะไรเลย ถ้าจะร้องก็ร้องได้ ยินดี แต่อย่าลืมว่าผู้ร้องมีภาระหน้าที่ทางกฎหมาย ผมยืนยันว่าทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เกิดขึ้นปรากฎตามข้อมูลที่ถูกต้อง ผมไม่ได้ไปตัดต่อ ปลอมแปลง” นายรังสิมันต์ กล่าว

นายรังสิมันต์ ยังกล่าวชี้แจงกรณีที่นายอัครวุธ ไกรศรีสมบัติ หรือ เต้ อาชีวะ ประธานกลุ่มภาคีราชภักดี เปิดเผยข้อมูลในช่วงที่ยังที่ทำกิจกรรมชุมนุมทางการเมืองปี 2557 หลังมีการรัฐประหาร และมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมย้อนว่าจะมาสอนให้รักสงบได้อย่างไรว่า ในช่วงนั้นตนชุมนุมที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพฯ ยืนยันว่าการชุมนุมขณะนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบหรือขัดขวางการจราจร ต่อมามีการสลายการชุมนุม จับกุมผู้ที่มาร่วมชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จากนั้นทหารได้ใช้วอดำทุบไปที่มือของผู้ชุมนุมเพื่อให้เขาปล่อยไม้ที่ถือไว้ โดยปกติถ้าเราเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกกฎหมาย เราสามารถป้องกันตัวเองได้ และตนพยายามเดินคล้องแขนกับกลุ่มเพื่อนไปหาเพื่อนเราที่ถูกจับกุม ตนแทบไม่ได้ทำอะไรเลย และไม่คิดจะทำอะไรด้วย แต่ตนจำเป็นต้องปกป้องตัวเองตามสิทธิ์ที่จะต้องปกป้องร่างกาย และตนไม่ได้มีการตัดสินถึงขนาดจำคุกในคดีเลย คนที่รัฐประหารต่างหากที่ผิด เพราะทำไมต้องนิรโทษกรรมตัวเอง

เมื่อถามว่า กลุ่มภาคีราชภักดี ยังเปิดรูปที่ถ่ายร่วมกับแกนนำกลุ่มทะลุวัง อย่างน.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ อาจถูกมองว่าเป็นการอยู่เบื้องหลังหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ในขณะนั้นตนอยู่ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมายการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาฯ ถ้า กมธ. ไม่ลงพื้นที่ไปติดตามข้อมูล เราจะทำหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนได้อย่างไร ยืนยันว่าตนทำหน้าที่ โดยไม่จำเป็นต้องรอคำสั่งใด ๆ หากมีประเด็นอะไร ตนก็สามารถนำเข้าที่ประชุม กมธ. ได้ ต่อให้ตนไปร่วมชุมนุม มันก็ไม่ได้หมายความว่าตนเป็นท่อน้ำเลี้ยง ไม่ได้หมายความว่าม็อบนี้จะเกิดขึ้นได้เพราะตน เท่าที่ทราบกลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าวไม่เคยได้รับสิทธิพิเศษทางกฎหมายใด ๆ ทุกวันนี้นิสิตนักศึกษาที่ออกมาชุมนุมยังต่อสู้คดีอยู่เลย

“ยืนยันว่าไม่ได้เป็นเบื้องหลังแน่นอน ในวันที่ผมเป็นผู้ชุมนุมทางการเมือง ก็ยืนยันว่าไม่มีใครอยู่เบื้องหลังผม ในวันที่ผมมาเป็นการนักการเมืองก็ไม่ได้ไปอยู่เบื้องหลังใคร เยาวชนคนรุ่นใหม่ยุคนี้เขาไม่ยอมให้ใครมาอยู่เบื้องหลัง ตรงกันข้ามผม ผมไม่แน่ใจว่ากลุ่ม ศปปส. ที่ไปทำร้ายร่างกายประชาชนใจกลางเมืองหลวง ผมไม่แน่ใจว่ามีการแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีใด ๆ ไปแล้วบ้าง ผมไม่ทราบ” นายรังสิมันต์ กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top