Tuesday, 29 April 2025
ระเบียบโลกใหม่

ปรากฏการณ์เท 'ระเบียบโลกใหม่' จุดจบที่คืบคลาน หลัง 'ทั่วโลก-ไทย' เริ่มก้าวออกจากกรงขังของตะวันตก

'พล.ท.นันทเดช' ชี้ระเบียบโลกใหม่ของชาวตะวันตกกำลังใกล้ถึงจุดจบแล้ว พรรคการเมืองต่างๆ พร้อมใจกัน 'เท' พรรคก้าวไกล คนไทยส่วนใหญ่ก็พร้อมออกจากกรงขังของวัฒนธรรมตะวันตก ยกเว้นบางคนที่ยังตกเป็น 'ทาส ความคิด' ทำตัวเหมือนปลาทองหัววุ้น

(26 ต.ค. 65) พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์เฟซบุ๊กมีเนื้อหาดังนี้...

'เมื่อพรรคการเมืองต่าง ๆ พร้อมใจกัน 'เท' พรรคก้าวไกล'

เมื่อปลายศตวรรษที่ 20 สงครามเย็นใน ทวีป เอเซีย ได้ยุติลงอย่างแน่นอนแล้ว ได้ส่งผลทำให้ภูมิทัศน์ทางการเมืองระหว่างประเทศ เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เพราะกลุ่มประเทศตะวันตก ได้ส่งออก 'ประชาธิปไตยแบบตะวันตก' และ 'ระบบการค้าเสรี' ออกมาควบคุมโลกตะวันออก ตอนนั้นเรียกกันว่า 'ระเบียบโลกใหม่'

'ระเบียบโลกใหม่' นี้ได้สร้างความอึดอัดใจให้ กับประเทศในเอเซียเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะขัดต่อขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมตะวันออกแล้ว กติกาทางการค้า มาตราการอื่น ๆ ก็ถูกทางตะวันตกเป็นผู้กำหนดตามอำเภอใจตัวเอง แต่ก็ยังมีนักวิชาการบางส่วนที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของโลกตะวันตกยังชื่นชมมันอยู่ ดังนั้น กระแสการต่อต้าน 'ระเบียบโลกใหม่' จึงค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นทั่วเอเซีย

ส่วนในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้นั้น เมื่อภาพยนตร์จีนกำลังภายใน เรื่องกระบี่เย้ยยุทธจักร (เดชคัมภีร์เทวดา) ซึ่งมี 'ตงฟางปุ๊ป้าย' ซึ่งเป็นชื่อแปลเป็นไทย ว่า 'บูรพาไม่แพ้' เป็นตัวละครเอก ออกมาฉาย และถูกผลิตซ้ำแล้วซ้ำอีก คำว่า 'บูรพาไม่แพ้' จึงถูกนำมาอ้างอย่างแพร่หลาย โดยใช้เป็นสัญลักษณ์ เพื่อคัดค้านระเบียบโลกของชาวตะวันตก โดยเริ่มจาก สิงค์โปร์, มาเลเซีย และไทย

ปัจจุบันนี้ เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ระเบียบโลกใหม่ ของชาวตะวันตก กำลังจะกลายเป็นระเบียบโลกเก่า เพราะมันกำลังใกล้มาถึงจุดจบแล้ว การเอารัดเอาเปรียบ จากการออกกติกาต่าง ๆ ของตะวันตกในเรื่องการค้า การเงิน การแสวงประโยชน์ และการตักตวงทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ จะต้องหมดไปในไม่ช้านี้

ระเบียบโลกเฉพาะของตะวันออก ซึ่งได้เริ่มต้นขึ้นมาอย่างช้าๆ จะเข้ามาแทนที่ จากการรวมตัวกันของ อินเดีย, จีน, รัสเซีย ฯลฯ

‘พิมพ์ภัทรา’ ชี้ภาพรวมอุตสาหกรรมไทย ต้องเร่งปรับตัวรับระเบียบโลกใหม่ ตามเทรนด์ความยั่งยืนและดิจิทัล ยัน!! รัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รับมือการเปลี่ยนแปลง

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังเป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาประจำปี OIE Forum 2566 ‘MIND: set for Sustainability ปรับมุมคิด พลิกอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน’ เมื่อวันที่ 13 พ.ย.2566 จัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ว่า แนวโน้มการลงทุนภาคอุตสาหกรรมในครึ่งปีหลังที่มีนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เซลส์แมนประเทศเดินทางเจรจาเชิงรุกเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ในไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการร่วมประชุมเอเปคที่สหรัฐ และติดตามความคืบหน้าการลงทุนที่สนใจเข้ามาตั้งฐานผลิตในไทย โดยเฉพาะพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมถึงการเชิญชวนลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ซึ่งจะเป็นเมกะโปรเจกต์โครงสร้างพื้นฐานใหม่ของประเทศ

โดยไทยมีความเข้มแข็งในเรื่องซัพพลายเชนในประเทศที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีมาตรการสิทธิประโยชน์ที่ส่งเสริมนักลงทุนใหม่ทั้งด้านภาษี และไม่ใช่ภาษี รวมถึงมาตรการที่สนับสนุนนักลงทุนในประเทศโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

สำหรับการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ปัจจุบันมีรายใหม่ที่เข้ามาในประเทศไทย ทั้งค่ายรถยนต์และซัพพลายเชน โดยไทยจะยังดำเนินมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการยานยนต์เดิม และซัพพลายเชนในประเทศควบคู่กันไป

ทั้งนี้ สศอ. ได้ประมาณการอัตราการขยายตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) และอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) อุตสาหกรรมปี 2567 จะขยายตัวได้ 2-3% เป็นผลมาจากการขยายตัวของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนในเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงาน รวมทั้งผลจากการฟื้นฟูของภาคการท่องเที่ยวที่ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่า เช่น อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ยารักษาโรค อุตสาหกรรมแฟชั่น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งระหว่างประเทศภาระหนี้สินครัวเรือน และภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูงท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ย ที่เป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ และความสามารถในการชำระหนี้ของคนไทย โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีซึ่งจะมีการผลักดันเรื่องการพักหนี้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีตามนโยบายรัฐบาล โดยหาแนวทางการช่วยเหลือที่เหมาะสม เช่น การพักเงินต้น การพักดอกเบี้ย โดยไม่สร้างปัญหาการจงใจผิดชำระหนี้ของลูกหนี้ (Moral Hazard)

ขณะที่ ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคเกษตร และส่งผลต่อเนื่องมายังวัตถุดิบที่จะเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะพื้นที่อ่อนไหวสูงที่ต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกันระหว่างภาคเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรอื่นๆ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างทันท่วงที

พระราชไมตรีระหว่าง ‘ไทย - ภูฏาน’ ท่ามกลางระเบียบโลก ที่เปลี่ยนแปลง สองประเทศเล็ก ที่เชื่อมั่นในความพอเพียง จะก้าวเดินร่วมกัน โดยไม่หวั่นไหว

กลางหุบเขาสูงเสียดฟ้าแห่งราชอาณาจักรภูฏาน ภาพแห่งมิตรภาพที่งดงามได้บังเกิดขึ้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จเยือนราชอาณาจักรภูฏานอย่างเป็นทางการ ตามคำทูลเชิญของ สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก พร้อมด้วยการต้อนรับที่เปี่ยมด้วยไมตรีจิตและวัฒนธรรมอันงดงาม

กิจกรรมที่สะท้อนสายสัมพันธ์แน่นแฟ้น

ตั้งแต่การเสด็จฯ ถึงสนามบินพาโรที่ยากที่สุดในโลก
การตรวจแถวกองเกียรติยศ ณ ป้อมทาชิโช
การร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ณ พระพุทธรูปดอร์เดนมา
ทอดพระเนตรโครงการหลวงเดเชนโชลิง และนิทรรศการผลิตภัณฑ์ชุมชน
เยี่ยมชมศิลปวัฒนธรรมภูฏาน การยิงธนู และหัตถกรรมท้องถิ่น
ตลอดจนการพบหารือกับผู้นำรัฐบาลภูฏาน

ทุกกิจกรรมไม่ได้เป็นเพียงพิธีการ แต่เป็นการถักทอสายใยแห่งพระราชไมตรีอย่างแท้จริง — สัมผัสได้ถึงความอบอุ่น เสมือนพี่น้องที่เข้าใจหัวใจกันโดยไม่ต้องเอื้อนเอ่ยถ้อยคำมากนัก

จับมือกัน... ท่ามกลางโลกที่สั่นไหว

ในห้วงเวลาที่ระเบียบโลกเก่ากำลังสั่นคลอน — เมื่อมหาอำนาจแข่งขันกันอย่างรุนแรง ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และเทคโนโลยี ประเทศเล็กและกลางต้องเลือกระหว่าง การไหลตามกระแส หรือ การวางรากฐานให้มั่นคงด้วยตนเอง

ไทยและภูฏานต่างเลือกหนทางที่คล้ายกัน คือ การพึ่งตนเองอย่างพอเพียง ไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใด และสร้างภูมิคุ้มกันผ่านการพัฒนาจากภายใน ไม่ใช่การไขว่คว้าตัวเลข GDP ที่ว่างเปล่า

การเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้จึงเป็นมากกว่าการเยือน แต่คือ การประกาศเจตจำนงเงียบ ๆ ว่า ไทยและภูฏานจะไม่เป็นแค่เบี้ยตัวหนึ่งในเกมโลก แต่จะยืนหยัดอย่างมีศักดิ์ศรี โดยจับมือกันไว้ เดินไปด้วยกัน บนเส้นทางที่มั่นคงจากภายในสู่ภายนอก

บทเพลงที่พูดแทนใจสองชาติ

การที่ชาวภูฏานเลือกเพลง 'จับมือไว้' ของไทย มาใช้ในการแสดงต้อนรับเสด็จ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หากคือสัญญะสำคัญ — ว่าในวันที่โลกวุ่นวายที่สุด มนุษย์สองประเทศเล็กกลางหุบเขา ก็ยังสามารถ จับมือกันไว้ ด้วยหัวใจที่เชื่อมั่นในสันติ ความพอเพียง และการก้าวเดินร่วมกันอย่างไม่หวั่นไหว

บทสรุป
ในวันที่ความขัดแย้งและความโลภฉุดกระชากโลกให้ปั่นป่วน
สองราชอาณาจักรเล็ก ๆ อย่างไทยและภูฏาน เลือกจะไม่แย่งชิงบทบาท
แต่เลือกที่จะยืนยัน — ด้วยรอยยิ้ม ด้วยมิตรภาพ และด้วยเศรษฐกิจพอเพียง — ว่าความมั่นคงที่แท้จริงนั้น ไม่ได้วัดด้วยขนาดหรืออำนาจ แต่ด้วยรากฐานของหัวใจที่ไม่หวั่นไหว

"จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน" จึงไม่ใช่แค่ทำนองเพลง แต่คือพันธสัญญาร่วมกันในโลกที่กำลังเปลี่ยน"


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top